ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

[แก้ไข]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2551
เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ รวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 36 มาตรา 39 มาตรา 41 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1

[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551”

มาตรา 2

[แก้ไข]

[1]พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3

[แก้ไข]

ให้ยกเลิก

  • (1) พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505
  • (2) พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522
  • (3) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2528
  • (4) พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535
  • (5) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
  • (6) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540
  • (7) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541
  • (8) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522
  • (9) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526
  • (10) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528
  • (11) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
  • (12) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535
  • (13) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540
  • (14) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2540
  • (15) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541

มาตรา 4

[แก้ไข]

ในพระราชบัญญัตินี้

  • ธุรกิจสถาบันการเงิน หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และให้หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ
  • ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ซึ่งมิใช่การรับฝากเงินหรือรับเงินไว้ในบัญชีที่จะเบิกถอนโดยใช้เช็ค และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด
  • ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่จะจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
    • (1) การให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์
    • (2) การรับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝาก
  • ธุรกิจทางการเงิน หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือธุรกิจอื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • การให้สินเชื่อ หมายความว่า การให้กู้ยืมเงิน หรือซื้อ ซื้อลด รับช่วงซื้อลดตั๋วเงินเป็นเจ้าหนี้เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้า หรือเป็นเจ้าหนี้เนื่องจากได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือภาระผูกพันอื่น
  • ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ หมายความว่า ธุรกรรมแฟ็กเตอริง ธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลีสซิ่ง และธุรกรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • หลักทรัพย์ หมายความว่า หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  • สถาบันการเงิน หมายความว่า
    • (1) ธนาคารพาณิชย์
    • (2) บริษัทเงินทุน
    • (3) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
  • ธนาคารพาณิชย์ หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์
  • ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการแก่ประชาชนรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีข้อจำกัดการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ตราสารอนุพันธ์และธุรกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งถือหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่ต่ำกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
  • สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ หมายความว่า สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
  • บริษัทเงินทุน หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน
  • บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  • เงินกองทุน หมายความว่า เงินในลักษณะดังต่อไปนี้
    • (1) ทุนชำระแล้วซึ่งรวมทั้งส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่สถาบันการเงินได้รับและเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของสถาบันการเงินนั้น
    • (2) ทุนสำรอง
    • (3) เงินสำรองที่ได้จัดสรรจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นงวดการบัญชีตามมติที่ประชุมผู้ ถือหุ้น หรือตามข้อบังคับของสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงเงินสำรองสำหรับการลดค่าของสินทรัพย์และเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้
    • (4) กำไรสุทธิคงเหลือหลังจากการจัดสรร
    • (5) เงินสำรองจากการตีราคาสินทรัพย์ เงินสำรองอื่น หรือ
    • (6) เงินที่สถาบันการเงินได้รับเนื่องจากการออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือตราสารหรือเงินอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • บริษัท หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
  • บริษัทแม่ หมายความว่า บริษัทที่มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในลักษณะดังต่อไปนี้
    • (1) มีหุ้นในบริษัทหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
    • (2) มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทหนึ่ง
    • (3) มีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้มีอำนาจในการจัดการหรือกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดในบริษัทหนึ่ง หรือ
    • (4) มีอำนาจควบคุมกิจการในลักษณะอื่นใดตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
      การมีหุ้นในบริษัทหนึ่งตั้งแต่ร้อยละยี่สิบขึ้นไปของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีอำนาจควบคุมกิจการ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีอำนาจควบคุมกิจการ
  • บริษัทลูก หมายความว่า
    • (1) บริษัทที่มีบริษัทอื่นเป็นบริษัทแม่ หรือ
    • (2) บริษัทลูกของบริษัทตาม (1) ต่อไปทุกทอด
  • บริษัทร่วม หมายความว่า บริษัทลูกที่มีบริษัทแม่ร่วมกัน
  • ผู้มีอำนาจในการจัดการ หมายความว่า
    • (1) ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ กรรมการที่เป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินหรือบริษัท แล้วแต่กรณี หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
    • (2) บุคคลซึ่งสถาบันการเงินหรือบริษัททำสัญญาให้มีอำนาจในการบริหารงานทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ
    • (3) บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีอำนาจควบคุมหรือครอบงำผู้จัดการหรือกรรมการ หรือการจัดการของสถาบันการเงินหรือบริษัท ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบายหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงินหรือบริษัท
  • กรรมการที่เป็นผู้บริหาร หมายความว่า กรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานในสถาบันการเงินหรือบริษัทตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • ผู้ที่เกี่ยวข้อง หมายความว่า บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับอีกบุคคลหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้
    • (1) เป็นคู่สมรส
    • (2) เป็นบุตรหรือบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
    • (3) เป็นบริษัทที่บุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) มีอำนาจในการจัดการ
    • (4) เป็นบริษัทที่บุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
    • (5) เป็นบริษัทที่บุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) มีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ
    • (6) เป็นบริษัทลูกของบริษัทตาม (3) หรือ (4) หรือ (5)
    • (7) เป็นบริษัทร่วมของบริษัทตาม (3) หรือ (4) หรือ (5)
    • (8) เป็นตัวการ ตัวแทน หรือ
    • (9) บุคคลอื่นที่มีลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
      ในกรณีที่บุคคลใดถือหุ้นในบริษัทใดตั้งแต่ร้อยละยี่สิบขึ้นไปของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริษัทนั้นเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หมายความว่า บุคคลที่ถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินเกินร้อยละห้าของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
  • รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5

[แก้ไข]

การประกอบกิจการใดที่มีลักษณะเป็นการระดมเงินจากประชาชนโดยการรับฝากเงินหรือโดยวิธีอื่นใด ให้สินเชื่อ หรือธุรกิจทางการเงิน หากกิจการนั้นมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมและมิได้มีกฎหมายที่ควบคุมการประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการเฉพาะแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดให้การประกอบกิจการประเภทนั้นอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าวด้วยก็ได้

มาตรา 6

[แก้ไข]

การระดมเงินจากประชาชนโดยการขายหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มิให้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 7

[แก้ไข]

ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 8

[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ประกาศตามวรรคหนึ่งเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

รัฐมนตรีอาจกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นรายงานข้อมูลที่ได้รับจากการดำเนินการตามรายการที่รัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ จะให้ยื่นตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวและจะให้ทำคำชี้แจงข้อความเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานนั้นก็ได้

หมวด 1 การจัดตั้งและการขอรับใบอนุญาต

[แก้ไข]

มาตรา 9

[แก้ไข]

การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์จะกระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการอนุญาตดังกล่าวรัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์ตามที่เห็นสมควรก็ได้

การยื่นคำขอจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับความเห็นชอบในการจัดตั้งจากรัฐมนตรีก่อน

เมื่อได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ให้บริษัทมหาชนจำกัดนั้นยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดต่อรัฐมนตรีโดยผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา 10

[แก้ไข]

ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจะตั้งสาขาเพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้ได้ เมื่อได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการอนุญาตดังกล่าว รัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์ตามที่เห็นสมควรก็ได้

ในการขอรับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศแสดงหนังสือยินยอมให้ยื่นคำขอจัดตั้งสาขาจากหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศนั้นต่อรัฐมนตรีโดยผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตลอดจนเสียค่าธรรมเนียมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา 11

[แก้ไข]

สถาบันการเงินต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “ธนาคาร” “บริษัทเงินทุน” หรือ “บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” นำหน้า ตามที่ระบุในใบอนุญาต แล้วแต่กรณี

มาตรา 12

[แก้ไข]

ห้ามผู้ใดนอกจากสถาบันการเงินใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินว่า “ธนาคาร” “เงินทุน” “การเงิน” “การลงทุน” “เครดิต” “ทรัสต์” “ไฟแนนซ์” “บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น

มาตรา 13

[แก้ไข]

การจัดตั้ง หรือย้ายสำนักงานใหญ่หรือสาขา หรือการเลิกสาขาของสถาบันการเงินต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 14

[แก้ไข]

การตั้งสำนักงานผู้แทนของสถาบันการเงินในต่างประเทศ และการตั้งสำนักงานผู้แทนของสถาบันการเงินต่างประเทศในประเทศ จะกระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

สำนักงานผู้แทนตามวรรคหนึ่ง จะรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ไม่ได้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

หมวด 2 โครงสร้างสถาบันการเงิน

[แก้ไข]

ส่วนที่ 1 หุ้นและผู้ถือหุ้น

[แก้ไข]

มาตรา 15

[แก้ไข]

หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของสถาบันการเงินต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือมีมูลค่าของหุ้นไม่เกินหุ้นละหนึ่งร้อยบาท และข้อบังคับของสถาบันการเงินต้องไม่มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น เว้นแต่จะเป็นข้อจำกัดเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

สถาบันการเงินอาจออกหุ้นบุริมสิทธิที่ไม่มีสิทธิออกเสียง หรือหุ้นบุริมสิทธิอื่นได้เมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติก็ได้

มาตรา 16

[แก้ไข]

สถาบันการเงินต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจอนุญาตให้บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้มีกรรมการที่เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่าหนึ่งในสี่แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะการดำเนินการหรือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินใด หรือเพื่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจผ่อนผันให้มีจำนวนหุ้นหรือกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดตามวรรคสองได้ ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้

มาตรา 17

[แก้ไข]

บุคคลใดถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด บุคคลนั้นต้องรายงานการถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

จำนวนหุ้นตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลตามวรรคหนึ่งถืออยู่หรือมีไว้ด้วย

หุ้นตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิที่ไม่มีสิทธิออกเสียง

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งไม่รายงานตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้นำความในมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่หุ้นที่ไม่รายงานนั้น โดยอนุโลม

มาตรา 18

[แก้ไข]

ห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

จำนวนหุ้นตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลตามวรรคหนึ่งถืออยู่หรือมีไว้ด้วย

หุ้นตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิที่ไม่มีสิทธิออกเสียง

มาตรา 19

[แก้ไข]

บุคคลใดได้มาซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งจนเป็นเหตุให้จำนวนหุ้นที่ตนถืออยู่หรือมีไว้เป็นไปโดยฝ่าฝืนมาตรา 18 บุคคลนั้นจะต้องนำหุ้นในส่วนที่เกินออกจำหน่ายแก่บุคคลอื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหุ้นนั้นมา เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจะผ่อนผันได้อีกไม่เกินเก้าสิบวัน

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งไม่จำหน่ายหุ้นในส่วนที่เกินภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ขายหุ้นในส่วนที่เกินดังกล่าวได้ และถ้าศาลเห็นว่าการถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นนั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นก็ได้

มาตรา 20

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินจำหน่ายหุ้นของตนแก่บุคคลใดจนเป็นเหตุให้จำนวนหุ้นที่บุคคลนั้นถืออยู่หรือมีไว้เป็นไปโดยฝ่าฝืนมาตรา 18

การนับจำนวนหุ้นตามวรรคหนึ่ง ให้นับรวมถึงหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลตามวรรคหนึ่งถืออยู่หรือมีไว้ด้วย

ทุกครั้งที่มีการชี้ชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้นของสถาบันการเงินใด ให้สถาบันการเงินนั้นระบุหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 19 ไว้ในคำชี้ชวนด้วย

มาตรา 21

[แก้ไข]

บุคคลใดถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินใดโดยฝ่าฝืนมาตรา 18 บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินนั้นใช้ยันต่อสถาบันการเงินดังกล่าวมิได้ และสถาบันการเงินนั้นจะจ่ายเงินปันผลหรือผลตอบแทนอื่นใดให้แก่บุคคลนั้น หรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินมิได้

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้รับหุ้นมาโดยสุจริตจากการรับมรดก หากสถาบันการเงินนั้นได้ประกาศจ่ายเงินปันผลในช่วงระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหุ้นมาหรือภายในระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ให้มีสิทธิรับเงินปันผลในหุ้นส่วนที่เกินร้อยละสิบตามมาตรา 18 ได้ แต่บุคคลนั้นจะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินมิได้

มาตรา 22

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 19 ให้สถาบันการเงินตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกครั้งก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นหรือก่อนจ่ายเงินปันผลหรือผลตอบแทนอื่นใดแก่ผู้ถือหุ้น แล้วให้แจ้งผลการตรวจสอบต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นรายใดฝ่าฝืนมาตรา 18 ให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นดำเนินการจำหน่ายหุ้นในส่วนที่เกินภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 19 พร้อมกับแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบด้วย

มาตรา 23

[แก้ไข]

มิให้นำมาตรา 15 ถึงมาตรา 22 มาใช้บังคับกับสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

ส่วนที่ 2 กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ

[แก้ไข]

มาตรา 24

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินแต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน

(1) เป็นบุคคลล้มละลายหรือพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายมาแล้วไม่ถึงห้าปี

(2) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม

(3) เคยถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐฐานทุจริตต่อหน้าที่

(4) เคยเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

(5) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ตามมาตรา 89 (3) หรือมาตรา 90 (4) หรือตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

(6) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินแห่งอื่นอีกในเวลาเดียวกัน เว้นแต่ได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

(7) เป็นผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการนอกเหนือจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทที่ได้รับสินเชื่อหรือได้รับการค้ำประกันหรืออาวัลหรือมีภาระผูกพันอยู่กับสถาบันการเงินนั้น เว้นแต่

(ก) เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงินซึ่งไม่ใช่กรรมการที่เป็นผู้บริหาร

(ข) เป็นกรณีที่ได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(8) เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นใดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(9) เป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่พ้นจากการเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เว้นแต่ได้รับแต่งตั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เข้าไปแก้ไขฐานะการเงินหรือการดำเนินการของสถาบันการเงิน หรือเป็นการดำรงตำแหน่งในสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งนี้ พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้ที่พ้นจากการเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ยังต้องห้ามไม่ให้รับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังกล่าว ไม่มีสิทธิที่จะได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นของสถาบันการเงินนั้น

(10) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 25

[แก้ไข]

การแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งบุคคลใหม่หรือแต่งตั้งบุคคลเดิมให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

ในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หากธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้แจ้งผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนั้นแล้ว

ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิกถอนการให้ความเห็นชอบที่ได้ให้ไว้แล้ว

มาตรา 26

[แก้ไข]

ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี สถาบันการเงินมีหน้าที่แจ้งหรือแสดงให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบเกี่ยวกับผลประโยชน์และค่าตอบแทนที่กรรมการ ผู้จัดการ และผู้มีอำนาจในการจัดการได้รับจากสถาบันการเงิน และมีหน้าที่แจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบถึงการเป็นกรรมการในธุรกิจอื่นด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการมีหน้าที่แจ้งการเป็นกรรมการในธุรกิจอื่นแก่สถาบันการเงิน

มาตรา 27

[แก้ไข]

ในการดำเนินกิจการของสถาบันการเงิน กรรมการต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง และต้องรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารงานสถาบันการเงินนั้น ซึ่งรวมถึงเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(2) การจัดทำและเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสถาบันการเงิน โดยต้องเปิดเผยให้ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(3) การให้สถาบันการเงินเรียกประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่เดือนนับแต่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือน เมื่อปรากฏว่าสถาบันการเงินนั้นประสบการขาดทุนจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาหกเดือนตามมาตรา 67 ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของทุนที่ชำระแล้ว และให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนที่ชำระแล้วเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินตามความเป็นจริง

มาตรา 28

[แก้ไข]

กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อผู้ถือหุ้น หรือผู้ฝากเงิน หรือผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการระดมเงินจากประชาชนของสถาบันการเงิน เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ตรวจการสถาบันการเงินสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ทุจริตหรือมีส่วนในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

หมวด 3 การกำกับสถาบันการเงิน

[แก้ไข]

ส่วนที่ 1 การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์

[แก้ไข]

มาตรา 29

[แก้ไข]

สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุนรวมทั้งหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินกองทุนของสถาบันการเงิน

มาตรา 30

[แก้ไข]

สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นใดตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

การประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดเป็นการทั่วไปให้สถาบันการเงินดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นใด ตามขนาดหรือประเภทของสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงรวมทุกประเภทหรือแต่ละประเภทได้ หรือในกรณีที่ปรากฏว่าสถาบันการเงินใดมีความเสี่ยงสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสั่งการให้สถาบันการเงินนั้นดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา 31

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินหรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 32

[แก้ไข]

สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องดำรงสินทรัพย์ไว้ในประเทศไทยหรือมีหลักทรัพย์ในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้ถือว่าสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงินกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้

สินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

(1) เงินที่นำเข้ามาจากสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นของสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกประเทศไทย

(2) เงินสำรองต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงเงินสำรองสำหรับการลดค่าของสินทรัพย์และเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้ หรือ

(3) เงินกำไรสุทธิแต่ละรอบปีบัญชีของสาขาหลังจากหักผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในทุกรอบปีบัญชีแล้ว และให้รวมถึงเงินกำไรที่ได้โอนไปเป็นส่วนของสำนักงานใหญ่ในทางบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร

ส่วนที่ 2 การลงทุนของสถาบันการเงิน

[แก้ไข]

มาตรา 33

[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา 34 และมาตรา 35 ให้สถาบันการเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 34

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินถือหรือมีหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทใดเกินอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(1) ร้อยละยี่สิบของเงินกองทุนทั้งหมดของสถาบันการเงินนั้น สำหรับการถือหรือมีหุ้นในทุกบริษัทรวมกัน

(2) ร้อยละห้าของเงินกองทุนทั้งหมดของสถาบันการเงินนั้น สำหรับการถือหรือมีหุ้นในบริษัทแต่ละราย หรือ

(3) ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดอัตราขั้นสูงในการถือหรือมีหุ้นให้ต่ำกว่าที่กำหนดตามวรรคหนึ่งได้ แต่ต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

ในกรณีที่สถาบันการเงินจำเป็นต้องถือหรือมีหุ้นในบริษัทใดอันเนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้ การบังคับชำระหนี้ การประกันการให้สินเชื่อ หรือเพื่อดำเนินธุรกิจอันเป็นการสนับสนุนกิจการของสถาบันการเงิน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจผ่อนผันการถือหรือมีหุ้นเกินกว่าอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่งได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการผ่อนผันไว้ด้วยก็ได้

ให้นำหุ้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินถืออยู่นับรวมเป็นหุ้นที่สถาบันการเงินถือหรือมีหุ้นตามบทบัญญัตินี้ด้วย

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับกรณีตามมาตรา 58 วรรคสาม

มาตรา 35

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินถือหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้

(1) หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของสถาบันการเงินอื่นที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน เว้นแต่เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือการประกันการให้สินเชื่อซึ่งต้องจำหน่ายภายในเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้มา หรือเป็นการซื้อหรือได้มาโดยได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการผ่อนผันไว้ด้วยก็ได้

(2) หลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของสถาบันการเงินนั้นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ส่วนที่ 3 การประกอบธุรกิจ

[แก้ไข]

มาตรา 36

[แก้ไข]

ให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ประกอบธุรกิจได้เฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศกำหนดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นโดยแยกตามประเภทสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์แต่ละชนิดก็ได้ และจะกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นนั้นด้วยก็ได้

มาตรา 37

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินเปิดทำการ ณ สำนักงานของสถาบันการเงินนั้นอย่างน้อยตามวันและเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติเป็นประการอื่นจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติด้วยก็ได้

ในปีหนึ่ง ๆ ให้สถาบันการเงินมีวันหยุดตามประเพณีตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ให้สถาบันการเงินประกาศวันและเวลาเปิดและหยุดทำการไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 38

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น รวมทั้งข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับสถาบันการเงินนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสถาบันการเงิน เพื่อให้ประชาชนและลูกค้าที่มาติดต่อหรือใช้บริการในสถานที่นั้นทราบข้อมูลดังกล่าว และให้รายงานพร้อมส่งสำเนาประกาศหรือข้อมูลนั้นให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ให้สถาบันการเงินประกาศข้อมูลตามวรรคหนึ่งในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 39

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินประเภทหนึ่งประเภทใดถือปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การรับฝากเงิน การรับเงินจากประชาชน การกู้ยืมเงิน การลงทุน การให้สินเชื่อ การก่อภาระผูกพัน และการประกอบธุรกิจอื่นที่สถาบันการเงินนั้นดำเนินการได้

(2) การทำนิติกรรมหรือสัญญากับประชาชน ผู้บริโภค หรือลูกค้ารายย่อยในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ซึ่งมีทุนทรัพย์หรือมูลค่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ไม่ว่าจะเป็นในเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์หรือแบบสัญญา

(3) การทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล โดยให้มีการระบุวงเงินของต้นเงินในสัญญา หรือมิให้มีการทำข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน

ในกรณีที่เป็นการค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลาที่มีกำหนดแน่นอน และสถาบันการเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่ไม่สามารถจะตกลงกันได้ภายในเวลาหกเดือน ให้สถาบันการเงินแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ

(4) ข้อที่ต้องปฏิบัติหากนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นให้สิทธิแก่สถาบันการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ฝ่ายเดียว

(5) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน

มาตรา 40

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินแจ้งและแสดงวิธีการและรายละเอียดในการคำนวณอัตราค่าบริการรายปีให้ประชาชนและลูกค้าผู้มาขอสินเชื่อทราบ

อัตราค่าบริการรายปีตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากประชาชนและลูกค้าต่อปีในการให้สินเชื่อ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ย ส่วนลด และค่าบริการ

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการรายปีให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติได้

มาตรา 41

[แก้ไข]

ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับฝากเงิน รับเงินจากประชาชน ให้สินเชื่อ กู้ยืมเงิน ลงทุน ก่อภาระผูกพัน ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด หรือซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

การกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดตามประเภทของเงินฝากหรือเงินกู้ยืมประเภทของบุคคลประเภทของเอกสารการรับฝากเงินหรือการกู้ยืม หรือประเภทของตราสารก็ได้

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงินและเพื่อการตรวจสอบของผู้ตรวจการสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้ได้

(1) การทำนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน

(2) การตรวจสอบและการควบคุมภายในสถาบันการเงิน

(3) การบริหารและการจัดการของสถาบันการเงิน

มาตรา 42

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) กำหนดวงเงินที่สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รับรอง หรือรับอาวัลตั๋วเงินสำหรับกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รับรอง รับอาวัลตั๋วเงิน หรือเป็นอัตราส่วนกับเงินกองทุนของสถาบันการเงินหรือยอดเงินที่ได้กู้ยืมและรับจากประชาชน ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้

(2) ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อในกิจการประเภทใด ๆ เพิ่มขึ้นหรือสูงกว่าอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อในแต่ละกิจการ ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้

มาตรา 43

[แก้ไข]

การดำเนินการต่อไปนี้ สถาบันการเงินจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

(1) ขายหรือโอนกิจการของสถาบันการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่นตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

(2) ซื้อหรือรับโอนกิจการบริษัทอื่นทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญมาเป็นของสถาบันการเงินตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

(3) ทำสัญญา ยินยอม หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของสถาบันการเงิน มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของสถาบันการเงิน หรือรวมกิจการกับบุคคลอื่น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน

การให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินปฏิบัติด้วยก็ได้ และให้รายงานต่อรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา 44

[แก้ไข]

สถาบันการเงินนอกจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จะรับฝากเงินที่ต้องจ่ายเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้โดยวิธีออกบัตรเงินฝากก็ได้

บัตรเงินฝากต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(1) คำบอกชื่อว่าเป็นบัตรเงินฝาก

(2) ชื่อสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเงินฝาก

(3) จังหวัดที่ตั้งของผู้ออกบัตรเงินฝาก

(4) วันที่ออกบัตรเงินฝาก

(5) ข้อตกลงอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินเป็นจำนวนที่แน่นอนพร้อมด้วยดอกเบี้ย (ถ้ามี)

(6) วันถึงกำหนดจ่ายเงิน

(7) สถานที่จ่ายเงิน

(8) ชื่อของผู้ฝากเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ

(9) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามแทนสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเงินฝาก

มาตรา 45

[แก้ไข]

ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 ถึงมาตรา 766 มาตรา 899 ถึงมาตรา 907 มาตรา 911 มาตรา 913 (1) และ (2) มาตรา 914 ถึงมาตรา 916 มาตรา 917 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 918 ถึงมาตรา 922 มาตรา 925 มาตรา 926 มาตรา 938 ถึงมาตรา 942 มาตรา 945 มาตรา 946 มาตรา 948 มาตรา 949 มาตรา 959 มาตรา 967 มาตรา 971 มาตรา 973 มาตรา 986 มาตรา 994 ถึงมาตรา 1000 มาตรา 1006 ถึงมาตรา 1008 มาตรา 1010 และมาตรา 1011 มาใช้บังคับกับบัตรเงินฝากโดยอนุโลม

มาตรา 46

[แก้ไข]

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่อาจเรียกได้

(2) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่อาจจ่ายได้

(3) ค่าบริการที่อาจเรียกได้

(4) เงินมัดจำที่อาจเรียกได้

(5) หลักประกันเป็นทรัพย์สินที่ต้องเรียก

(6) ผลประโยชน์ที่อาจเรียกได้จากการทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ

(7) เบี้ยปรับที่อาจเรียกได้

บรรดาเงิน ทรัพย์สิน หรือสิ่งอื่นที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ซึ่งผู้ฝากเงินหรือบุคคลใดได้รับจากสถาบันการเงิน พนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันการเงิน เนื่องจากการรับฝากเงิน กู้ยืมเงิน หรือรับเงินหรือที่สถาบันการเงิน พนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันการเงินนั้นได้รับเนื่องจากการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ย ส่วนลด หรือค่าบริการ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ค่าบริการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม (3) มิให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ตาม (1)

การกำหนดตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดตามประเภทของธุรกิจ การกู้ยืมเงิน การรับเงินจากประชาชน หรือกิจการที่สถาบันการเงินอาจจ่ายหรือเรียก หรือกำหนดวิธีการคำนวณและระยะเวลาการจ่ายหรือเรียกเก็บก็ได้

มาตรา 47

[แก้ไข]

สถาบันการเงินอาจใช้บริการจากบุคคลภายนอกในการประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ส่วนที่ 4 ข้อห้ามในการให้สินเชื่อ

[แก้ไข]

มาตรา 48

[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา 59 ห้ามมิให้สถาบันการเงินไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

  • (1) ให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ หรือประกันหนี้แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่การให้สินเชื่อในรูปของบัตรเครดิตตามอัตราขั้นสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หรือการให้สินเชื่อเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคคลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • (2) รับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นผู้สั่งจ่าย ผู้ออกตั๋ว หรือผู้สลักหลัง
  • (3) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งมิใช่บำเหน็จ เงินเดือน รางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ
  • (4) ขาย ให้ หรือให้เช่าทรัพย์สินใด ๆ แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว หรือรับซื้อ หรือเช่าทรัพย์สินใด ๆ จากบุคคลดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
  • (5) ให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 49

[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา 59 ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือแก่กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ในแต่ละรายเกินร้อยละห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใดของสถาบันการเงินนั้น หรือเกินร้อยละยี่สิบห้าของหนี้สินทั้งหมดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ ให้นับการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้นด้วย

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราขั้นสูงในการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือแก่กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องให้สูงกว่าอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

การให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หมายความว่า บริษัทที่สถาบันการเงิน กรรมการของสถาบันการเงิน ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น

มาตรา 50

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่บุคคลหลายคนรวมกันในโครงการหนึ่งโครงการใด หรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

การกำหนดตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดเป็นจำนวนเงินหรืออัตราส่วนต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ก็ได้

ในกรณีที่สถาบันการเงินใด ควบรวมกิจการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือจำหน่าย จ่ายโอนสินทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือกรณีมีเหตุอันสมควรอื่นใด ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจผ่อนผันให้สถาบันการเงินนั้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งเป็นการชั่วคราวได้

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัท จำนวนเงินที่ให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ต้องไม่เกินอัตราส่วนกับทุน หรือเงินกองทุนของบริษัทนั้นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ในกรณีที่มีการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่นิติบุคคลใด ให้นับรวมการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วม เป็นของนิติบุคคลนั้นด้วย

ในกรณีที่มีการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลใด ให้นับรวมการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น เป็นของบุคคลนั้นด้วย

การให้สินเชื่อโดยรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการให้สินเชื่อแก่ผู้ทรงซึ่งขายตั๋วเงินและบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินทุกทอดด้วย เว้นแต่เป็นตั๋วเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดได้รับการประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทอื่นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้ถือว่าสถาบันการเงินนั้นให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทผู้ประกันความเสี่ยงดังกล่าวตามวรรคหนึ่งด้วย

มาตรา 51

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจแต่ละประเภทเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนหรือสินทรัพย์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 52

[แก้ไข]

มิให้นำความในมาตรา 50 และมาตรา 51 มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินในกรณีดังต่อไปนี้

  • (1) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนที่ได้รับการค้ำประกัน
  • (2) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
  • (3) ลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินราคาที่ตราไว้
  • (4) ให้สินเชื่อโดยมีเงินฝากของสถาบันการเงินนั้น หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นประกัน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนเงินฝากที่เป็นประกันหรือราคาหลักทรัพย์ที่ตราไว้
  • (5) ค้ำประกันการขายหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • (6) ให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • (7) ให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยหรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าหลักทรัพย์รัฐบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • (8) ออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการค้า

ส่วนที่ 5 กลุ่มธุรกิจทางการเงิน

[แก้ไข]

มาตรา 53

[แก้ไข]

กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ประกอบด้วยสถาบันการเงินและบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนธุรกิจทางการเงินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • (1) กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบด้วยสถาบันการเงินเป็นบริษัทแม่และมีบริษัทอื่นเป็นบริษัทลูกบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท หรือ
  • (2) กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบด้วยบริษัทแม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแต่มีสถาบันการเงินเป็นบริษัทลูก โดยจะมีบริษัทลูกเพียงบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทเป็นบริษัทร่วมก็ได้

มาตรา 54

[แก้ไข]

ห้ามมิให้จัดตั้งกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 55

[แก้ไข]

ให้นำความในมาตรา 16 ถึงมาตรา 22 มาใช้บังคับกับการถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นในบริษัทแม่ของสถาบันการเงิน โดยอนุโลม

ให้นำความในมาตรา 25 มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทแม่ของสถาบันการเงินและบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน โดยอนุโลม

มิให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับบริษัทแม่หรือบริษัทลูกของสถาบันการเงินในกรณีที่มีกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของบริษัทแม่หรือบริษัทลูกของสถาบันการเงินกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

มาตรา 56

[แก้ไข]

บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะประกอบธุรกิจได้แต่เฉพาะธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดเท่านั้นแต่จะประกอบการค้าหรือธุรกิจอื่นมิได้

ในการประกอบธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจดังกล่าวไว้ด้วยก็ได้ เว้นแต่กฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้นจะได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

มาตรา 57

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมของสถาบันการเงินนั้นในลักษณะเหมือนกับเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เว้นแต่กฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้นจะได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนหรือทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้นเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นใด หรือกำหนดอัตราส่วนอื่น ๆ ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินเปิดเผยข้อมูลระหว่างกันได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 58

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินจัดตั้งหรือมีบริษัทลูก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย

การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใดให้สถาบันการเงินหรือบริษัทลูกต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ห้ามมิให้สถาบันการเงินซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทลูกโดยมีมูลค่าของหุ้นรวมกันทั้งสิ้นเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมดหรือเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 59

[แก้ไข]

สถาบันการเงินอาจให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมกับบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมของสถาบันการเงินได้ แต่จะให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมเกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย

การทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึง

  • (1) การซื้อหรือขายสินทรัพย์ และรวมถึงสินทรัพย์ที่มีสัญญาซื้อคืนจากบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วม
  • (2) การรับหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมเป็นหลักประกันการให้สินเชื่อ หรือการออกหนังสือคํ้าประกัน หรือเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อบริษัทแม่ บริษัทลูกหรือบริษัทร่วม
  • (3) การทำธุรกรรมใด ๆ ที่เป็นผลให้บริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมได้รับประโยชน์

การให้สินเชื่อหรือการทำธุรกรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วม ให้ถือว่าเป็นการให้สินเชื่อหรือการทำธุรกรรมกับบริษัทดังกล่าวด้วย

ส่วนที่ 6 การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง

[แก้ไข]

มาตรา 60

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินจัดชั้นสินทรัพย์และภาระผูกพันที่เสียหายหรืออาจเสียหายและให้ตัดออกจากบัญชีหรือกันเงินสำรองไว้สำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ในกรณีที่ปรากฏว่า เมื่อนำสินทรัพย์จัดชั้นหรือภาระผูกพันในส่วนที่ยังมิได้ตัดออกจากบัญชีหรือกันเงินสำรองไว้มาหักออกจากเงินกองทุนแล้ว เงินกองทุนมีจำนวนต่ำกว่าที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา 30 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สถาบันการเงินนั้นถือปฏิบัติจนกว่าจะได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง

หากหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่งมีผลให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มการตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีหรือเพิ่มการกันเงินสำรอง จะต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

มาตรา 61

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันอื่นที่ไม่เสียหายตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้จะกำหนดอัตราเกินร้อยละห้าของสินทรัพย์และภาระผูกพันอื่นที่ไม่เสียหายมิได้

มาตรา 62

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินระงับการรับรู้และยกเลิกรายการดอกเบี้ยค้างรับที่เคยรับรู้เป็นรายได้สำหรับสินทรัพย์ที่ถูกจัดชั้นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ส่วนที่ 7 การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

[แก้ไข]

มาตรา 63

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพัน ให้มีความสัมพันธ์กับการรับฝากเงิน การกู้ยืมเงิน หรือการรับเงินจากประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 64

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินรับฝากหรือยอดเงินกู้ยืมทั้งหมดหรือแต่ละประเภทในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแต่เพียงบางประเภทหรือทุกประเภท หรือประกาศกำหนดอัตราส่วนของแต่ละประเภทในอัตราใดเป็นการทั่วไป หรือในกรณีที่มีเหตุอันสมควรจะกำหนดเป็นการเฉพาะรายก็ได้

การประกาศกำหนดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีผลให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง จะต้องประกาศล่วงหน้าก่อนวันใช้บังคับไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

มาตรา 65

[แก้ไข]

สินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่

  • (1) เงินสด
  • (2) เงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • (3) เงินฝากสุทธิที่สถาบันการเงินอื่น
  • (4) บัตรเงินฝากที่ปราศจากภาระผูกพัน
  • (5) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ปราศจากภาระผูกพัน
  • (6) หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ค้ำประกันเฉพาะต้นเงินหรือรวมทั้งดอกเบี้ย และปราศจากภาระผูกพัน
  • (7) สินทรัพย์อื่นใดที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน รับภาระสุดท้ายที่จะชดใช้ความเสียหาย ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • (8) สินทรัพย์อื่นที่มีสภาพคล่องและความน่าเชื่อถือตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

สินทรัพย์สภาพคล่องตาม (4) (5) (6) และ (8) ต้องสามารถโอนเปลี่ยนมือได้

ส่วนที่ 8 การจัดทำบัญชี การรายงาน และผู้สอบบัญชี

[แก้ไข]

มาตรา 66

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินจัดทำบัญชีเพื่อแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง โดยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบและตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 67

[แก้ไข]

ให้สถาบันการเงินจัดทำงบการเงินทุกรอบระยะเวลาหกเดือนและรอบระยะเวลาสิบสองเดือนอันเป็นรอบปีบัญชีของสถาบันการเงินนั้น ตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดและต้องมีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีในรอบปีบัญชีนั้นด้วย

ให้สถาบันการเงินประกาศงบการเงินที่จัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่ง ที่ผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีและรับรองความถูกต้องโดยกรรมการของสถาบันการเงินไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของสถาบันการเงินนั้น รวมทั้งในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

การจัดทำงบการเงินสำหรับงวดบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนแรกของปีบัญชีตามวรรคหนึ่ง การตรวจสอบและการแสดงความเห็นตามวรรคหนึ่ง และการประกาศและการเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามวรรคสอง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นงวดบัญชี

การจัดทำงบการเงินสำหรับงวดประจำปีบัญชีตามวรรคหนึ่ง การตรวจสอบและการแสดงความเห็นตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเสนอที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และการประกาศและการเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามวรรคสอง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินแล้ว ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการทั้งหมดต้องไม่เกินสี่เดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชีนั้น

บทบัญญัติตามมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

มาตรา 68

[แก้ไข]

ให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศประกาศงบการเงินของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศประกาศงบการเงินไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศนั้นด้วย

ให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจัดทำงบการเงินทุกรอบระยะเวลาสิบสองเดือนอันเป็นรอบปีบัญชีของสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศนั้น ตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศประกาศงบการเงินที่จัดทำขึ้นตามวรรคสอง ที่ผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศนั้น รวมทั้งในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดและให้เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

มาตรา 69

[แก้ไข]

ผู้สอบบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบตามมาตรา 67 ต้องรักษามารยาทและปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี รวมทั้งข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้แสดงความเห็นในงบการเงินให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่สถาบันการเงินนั้นสามารถที่จะปฏิบัติตามกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 67 ได้

ในกรณีที่สถาบันการเงินได้ทำเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือลงบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริงให้ผู้สอบบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของบัญชีที่มีผลกระทบต่องบการเงินไว้ในรายงานการสอบบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความเห็น รวมทั้งรายงานพฤติการณ์นั้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ

ผู้สอบบัญชีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีตามมาตรา 67 ได้

มาตรา 70

[แก้ไข]

ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในสถาบันการเงินใด ให้ผู้สอบบัญชีแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ พร้อมทั้งส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในทันที

มาตรา 71

[แก้ไข]

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดให้สถาบันการเงิน บริษัทแม่ บริษัทลูก บริษัทร่วม หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้น ส่งรายงานหรือข้อมูลไม่ว่าในรูปสื่อใด ๆ หรือแสดงเอกสารใดตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด รวมทั้งให้ชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความรายงานหรือข้อมูล หรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีคำสั่งให้สถาบันการเงินต้องจัดให้กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงิน มาให้ถ้อยคำแสดงข้อมูล บัญชี เอกสารและหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการของสถาบันการเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

งบการเงิน รายงาน ข้อมูล เอกสาร หรือคำชี้แจงที่ส่งหรือแสดงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง สถาบันการเงินต้องทำให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริง ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่างบการเงิน รายงาน ข้อมูล เอกสารหรือคำชี้แจงที่สถาบันการเงินส่งหรือแสดงตามวรรคหนึ่ง มีข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือมีข้อความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าจำเป็นหรือสมควร ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการตรวจสอบและรายงานผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ โดยให้สถาบันการเงินนั้นเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย

ส่วนที่ 9 การควบ โอน และเลิกกิจการ

[แก้ไข]

มาตรา 72

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดควบกิจการเข้ากับสถาบันการเงินอื่นให้มีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 73

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดประสงค์จะควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่น หรือโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่หรือจากสถาบันการเงินอื่น หรือในกรณีที่สถาบันการเงินใดหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสถาบันการเงินใดประสงค์จะซื้อหรือมีไว้ซึ่งหุ้นในสถาบันการเงินอื่น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินประเภทเดียวกันหรือต่างประเภท เพื่อควบหรือโอนหรือรับโอนกิจการอันจะเป็นผลให้สถาบันการเงินมีฐานะหรือดำเนินกิจการมั่นคงยิ่งขึ้น ให้สถาบันการเงินหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสถาบันการเงิน แล้วแต่กรณี ยื่นโครงการแสดงรายละเอียดการดำเนินงานเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศการให้ความเห็นชอบดังกล่าว ทั้งนี้ จะกำหนดระยะเวลาดำเนินการและหลักเกณฑ์ใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

ในการดำเนินการตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ถ้าสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

  • (1) มาตรา 237 มาตรา 1117 มาตรา 1119 มาตรา 1145 มาตรา 1185 มาตรา 1220 มาตรา 1222 มาตรา 1224 มาตรา 1225 มาตรา 1226 มาตรา 1238 และมาตรา 1240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • (2) มาตรา 31 มาตรา 33 วรรคสอง มาตรา 52 มาตรา 54 วรรคสอง มาตรา 102 มาตรา 107 มาตรา 136 (2) มาตรา 137 มาตรา 139 มาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 146 มาตรา 147 และมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
  • (3) มาตรา 114 และมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน เนื่องจากการควบหรือรับโอนกิจการ

ในการดำเนินการตามวรรคสอง ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลใด สถาบันการเงินที่ควบกันหรือที่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

มาตรา 74

[แก้ไข]

เมื่อได้มีประกาศการให้ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 73 แล้ว ให้สถาบันการเงินที่จะควบ โอนหรือรับโอนกิจการ ทั้งหมดหรือบางส่วน จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการควบ โอนหรือรับโอนกิจการ ในการนี้ มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อการควบ โอนหรือรับโอนกิจการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ

การประชุมผู้ถือหุ้นตามวรรคหนึ่ง ให้สถาบันการเงินงดรับลงทะเบียนการโอนหุ้นเมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันที่มีประกาศการให้ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 73 จนถึงวันประชุมผู้ถือหุ้นและเรียกประชุมผู้ถือหุ้น โดยจัดส่งหนังสือนัดให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ต้องไม่เกินสิบสี่วัน ทั้งนี้ ให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ในการประชุม ถ้ามีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม ให้ถือว่าการควบ โอนหรือรับโอนกิจการนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมีหุ้นในสถาบันการเงินใดตั้งแต่ร้อยละเก้าสิบขึ้นไป เมื่อได้มีประกาศการให้ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 73 แล้ว ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และการควบโอนหรือรับโอนกิจการนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นตามวรรคหนึ่ง

ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องสถาบันการเงินตามมาตรา 73 เป็นคดีล้มละลายในระหว่างการดำเนินการเพื่อควบ โอนหรือรับโอนกิจการตามที่ได้มีประกาศการให้ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 73

มาตรา 75

[แก้ไข]

สถาบันการเงินที่ดำเนินการตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง หากมีการโอนสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันซึ่งย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วให้หลักประกันอย่างอื่นนั้นตกแก่สถาบันการเงินที่ควบกันหรือที่รับโอนกิจการ แล้วแต่กรณี

มาตรา 76

[แก้ไข]

สถาบันการเงินที่ดำเนินการตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง ถ้ามีการฟ้องร้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้สถาบันการเงินที่ควบกันหรือที่รับโอนกิจการ แล้วแต่กรณีเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น

มาตรา 77

[แก้ไข]

ในการโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการได้ตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และการโอนสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนกิจการดังกล่าว ไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่ตัดสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 78

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการ หรือหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว สถาบันการเงินนั้นต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 79

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้แล้วให้รายงานต่อรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

ส่วนที่ 10 การกำกับทั่วไป

[แก้ไข]

มาตรา 80

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินกระทำการดังต่อไปนี้

  • (1) ลดทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการลดทุนไว้ด้วยก็ได้ และมิให้นำมาตรา 1117 มาตรา 1225 และมาตรา 1226 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 139 วรรคหนึ่งและมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
  • (2) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่
    • (ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการประกอบธุรกิจ หรือเป็นที่พัก หรือเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของสถาบันการเงินนั้นตามสมควร โดยได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วยก็ได้
    • (ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้ การประกันการให้สินเชื่อ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นรับจำนองไว้จากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในห้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของสถาบันการเงิน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายเวลาการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วยก็ได้
    • (ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนที่ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ซื้อหรือมีไว้เพื่อประกอบธุรกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
  • (3) รับหุ้นของสถาบันการเงินนั้นเป็นประกัน หรือรับหุ้นของสถาบันการเงินประเภทเดียวกันจากสถาบันการเงินอื่นที่เป็นสถาบันการเงินประเภทเดียวกันเป็นประกัน

มาตรา 81

[แก้ไข]

ในกรณีที่มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้สถาบันการเงินแจ้งเป็นหนังสือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว

  • (1) แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของสถาบันการเงิน
  • (2) เปลี่ยนแปลงกรรมการ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน

มาตรา 82

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยให้สถาบันการเงินจัดเก็บข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สิน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 83

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดไม่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตในปริมาณที่สถาบันการเงินพึงประกอบตามปกติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งให้สถาบันการเงินนั้นประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ในการนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้ และหากสถาบันการเงินไม่ดำเนินการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินนั้นก็ได้

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินและให้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น

หมวด 4 การตรวจสอบสถาบันการเงิน

[แก้ไข]

มาตรา 84

[แก้ไข]

เพื่อให้สถาบันการเงินมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตลอดจนมีอำนาจกำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

มาตรา 85

[แก้ไข]

ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจการสถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของสถาบันการเงิน บริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วม และบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตลอดจนลูกหนี้และผู้ที่เกี่ยวข้องของสถาบันการเงินนั้น เป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะก็ได้

ให้ผู้ตรวจการสถาบันการเงินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • (1) สั่งให้กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันการเงิน ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงิน และผู้รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของสถาบันการเงินด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือด้วยอุปกรณ์อื่นใด มาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงิน ส่งสำเนาหรือแสดงข้อมูลบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่น
  • (2) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน หรือในสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนแก่สถาบันการเงิน เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติของสถาบันการเงินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
  • (3) เข้าไปในสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจสอบในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการประกอบธุรกิจอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือมีหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้น และเมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
  • (4) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี ในการออกคำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวจะต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และสิทธิของผู้ถูกยึดหรืออายัดนั้น
  • (5) เข้าไปตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัทแม่ บริษัทลูก บริษัทร่วม และบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินนั้น รวมทั้งสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ส่งสำเนาหรือแสดงข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินก็ได้
  • (6) เข้าไปตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานในสถานที่ประกอบการของลูกหนี้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน รวมทั้งสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือแสดงข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สิน ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าสถาบันการเงินกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 66 หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดโดยทุจริตในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน

ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ตรวจการสถาบันการเงินมีอำนาจมอบหมายให้บุคคลใดทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือตนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการสถาบันการเงินได้

ให้ผู้ตรวจการสถาบันการเงินรายงานการตรวจสอบตามวรรคหนึ่งต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 86

[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการสถาบันการเงินและบุคคลตามมาตรา 85 วรรคสาม ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา 87

[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 85 ผู้ตรวจการสถาบันการเงินต้องแสดงบัตรประจำตัวที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวผู้ตรวจการสถาบันการเงินให้เป็นไปตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา 88

[แก้ไข]

ให้ผู้ตรวจการสถาบันการเงินเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด 5 การแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

[แก้ไข]

มาตรา 89

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงิน กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการได้กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อกำหนดหรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

  • (1) มีหนังสือเตือนไปยังสถาบันการเงินหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ระงับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
  • (2) มีคำสั่งห้ามการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือข้อกำหนดหรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
  • (3) มีคำสั่งถอดถอนกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการคนหนึ่งคนใดหรือทุกคน โดยให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมของผู้ถือหุ้น

ในกรณีที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการถูกถอดถอนตาม (3) หากบุคคลดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจแต่งตั้งบุคคลนั้นเข้าดำรงตำแหน่งเดิมได้

มาตรา 90

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

  • (1) มีคำสั่งให้สถาบันการเงินแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงาน
  • (2) มีคำสั่งให้สถาบันการเงินลดทุน เพิ่มทุน หรือทั้งลดทุนและเพิ่มทุนภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่สถาบันการเงินได้รับแจ้งคำสั่ง ถ้าสถาบันการเงินไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ได้ตามกำหนด ให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่ครบกำหนดในคำสั่ง เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อพยุงฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีคำสั่งให้สถาบันการเงินลดทุน เพิ่มทุน หรือทั้งลดทุนและเพิ่มทุนทันทีได้ โดยให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 1117 มาตรา 1220 มาตรา 1222 มาตรา 1224 มาตรา 1225 มาตรา 1226 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 136 วรรคสอง (2) มาตรา 137 มาตรา 139 และมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับกับการลดทุนหรือเพิ่มทุน หรือการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน
  • (3) มีคำสั่งให้สถาบันการเงินระงับการดำเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • (4) มีคำสั่งให้สถาบันการเงินถอดถอนกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการคนใดคนหนึ่งหรือทุกคน และแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าไปดำรงตำแหน่งแทนในทันทีตามที่เห็นสมควรโดยให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  • (5) มีคำสั่งควบคุมสถาบันการเงิน หรือมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้น

ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานการดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และหากธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่ง (5) ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้นด้วย

มาตรา 91

[แก้ไข]

ผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นลูกจ้าง เพราะถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการตามมาตรา 89 (3) หรือมาตรา 90 (4) ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นใดตามสัญญาจ้างอันเนื่องมาจากการออกจากงาน เว้นแต่สิทธิประโยชน์อันพึงได้รับตามข้อตกลงภายใต้กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

มาตรา 92

[แก้ไข]

กรณีดังต่อไปนี้ให้ถือว่าสถาบันการเงินมีฐานะหรือการดำเนินงานในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน

  • (1) สถาบันการเงิน กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 89 (2)
  • (2) สถาบันการเงิน กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 30 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 60 มาตรา 61 มาตรา 63 หรือมาตรา 64
  • (3) สถาบันการเงิน กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ ไม่จัดทำบัญชีเพื่อแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงตามมาตรา 66 หรือลงข้อความเท็จหรือปลอมบัญชี เอกสาร ซึ่งทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าสถาบันการเงินนั้นมีฐานะการเงินและการดำเนินงานที่มั่นคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงินกองทุน สินทรัพย์ สินทรัพย์สภาพคล่อง การกันเงินสำรอง การจัดชั้นสินทรัพย์ และเรื่องอื่น ๆ ในพระราชบัญญัตินี้
  • (4) สถาบันการเงินหยุดทำการจ่ายเงินตามที่มีหน้าที่จะต้องชำระคืน
  • (5) สถาบันการเงินมีผลประกอบการขาดทุน และธนาคารแห่งประเทศไทยมีเหตุอันควรคาดได้ว่าสถาบันการเงินนั้นไม่อาจดำรงเงินกองทุนได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามมาตรา 96 หรือไม่

มาตรา 93

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดหยุดทำการจ่ายเงินตามที่มีหน้าที่ต้องชำระคืนให้สถาบันการเงินนั้นแจ้งการหยุดทำการจ่ายเงินพร้อมเหตุผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทันที และห้ามมิให้ดำเนินกิจการใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งผู้ตรวจการสถาบันการเงินเพื่อทำการสอบสวนกรณีตามวรรคหนึ่ง และเมื่อได้รับรายงานการสอบสวนจากผู้ตรวจการสถาบันการเงินแล้ว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ควบคุมสถาบันการเงิน ปิดกิจการของสถาบันการเงิน หรือสั่งการตามที่เห็นสมควร

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคสองแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 94

[แก้ไข]

ห้ามมิให้สถาบันการเงินจ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือค่าตอบแทนที่มีผลทำให้เงินกองทุนเหลือต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา 30 ในกรณีดังต่อไปนี้

  • (1) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแก่ผู้ถือหุ้นเป็นการคืนส่วนทุน
  • (2) จ่ายค่าตอบแทนในการบริหารหรือผลประโยชน์อื่นใดซึ่งมิใช่ค่าจ้างตามปกติแก่กรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการสถาบันการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจอนุญาตให้สถาบันการเงินซื้อคืน ไถ่ถอน สละ หรือได้มาซึ่งหุ้นหรือผลประโยชน์ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น อันจะมีผลเป็นการลดภาระทางการเงินหรือแก้ไขฐานะการเงินของสถาบันการเงินนั้นได้

มาตรา 95

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดมีเงินกองทุนเหลือต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามมาตรา 30 ให้สถาบันการเงินนั้นเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อขอความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ดังนี้

  • (1) การเสนอโครงการต้องกระทำภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สถาบันการเงินทราบ
  • (2) โครงการตาม (1) อย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้
    • (ก) ขั้นตอนที่จะทำให้มีเงินกองทุนเพียงพอ
    • (ข) ระดับเงินกองทุนที่คาดว่าจะดำรงในแต่ละไตรมาสภายในระยะเวลาของโครงการ
    • (ค) แผนธุรกิจ
    • (ง) ระยะเวลาการดำเนินการให้สำเร็จตามโครงการซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่สถาบันการเงินทราบว่ามีเงินกองทุนต่ำกว่าที่ต้องดำรงตามมาตรา 30

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับโครงการแล้ว จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับโครงการ และให้แจ้งสถาบันการเงินทราบภายในเวลาดังกล่าว ในการนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้

ในกรณีที่สถาบันการเงินไม่เสนอโครงการภายในกำหนดเวลาตาม (1) หรือโครงการที่เสนอไม่ได้รับความเห็นชอบ หรือไม่ดำเนินการตามโครงการ หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบหรือตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามวรรคสอง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรหรือมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้น

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคสามแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 96

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินดำรงเงินกองทุนต่ำกว่าร้อยละหกสิบของอัตราตามที่กำหนดในมาตรา 30 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งเข้าควบคุมสถาบันการเงินนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าการมีคำสั่งควบคุมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง หรือสถาบันการเงินนั้นจะดำเนินการเพื่อแก้ไขให้มีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจยังไม่สั่งควบคุมสถาบันการเงินก็ได้

นอกจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีคำสั่งให้สถาบันการเงินนั้นเลิกกิจการบริษัทลูกและชำระบัญชี หากปรากฏว่าสินทรัพย์ของบริษัทลูกไม่พอกับหนี้สิน หรือบริษัทลูกไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นปกติติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่าสามเดือนหรือมีคำสั่งอื่นใดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสมควร

มาตรา 97

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินดำรงเงินกองทุนต่ำกว่าร้อยละสามสิบห้าของอัตราตามที่กำหนดในมาตรา 30 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าการมีคำสั่งปิดกิจการจะก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจยังไม่สั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินก็ได้

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 98

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินใดตามมาตรา 90 (5) มาตรา 93 มาตรา 95 หรือมาตรา 97 และรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตแล้วให้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 99

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้สถาบันการเงินดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือได้รับรายงานเกี่ยวกับสถาบันการเงินตามความในหมวดนี้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า

หมวด 6 การเข้าควบคุมสถาบันการเงิน

[แก้ไข]

มาตรา 100

[แก้ไข]

ในหมวดนี้

“สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” หมายความว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

มาตรา 101

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งควบคุมสถาบันการเงินใดแล้ว ให้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากและสถาบันการเงินนั้นทราบ และปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสถาบันการเงินนั้น รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ในกรณีที่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือแก่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

มาตรา 102

[แก้ไข]

เมื่อมีการออกคำสั่งควบคุมสถาบันการเงินใดแล้ว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินนั้น ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน โดยให้มีกรรมการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากเสนอชื่ออย่างน้อยหนึ่งคน

ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 103

[แก้ไข]

กรรมการควบคุมสถาบันการเงินจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการของสถาบันการเงินตามมาตรา 24 และไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน

ให้กรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรรมการของสถาบันการเงิน

มาตรา 104

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งคำสั่งควบคุมแก่สถาบันการเงินใดห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง ของสถาบันการเงินดำเนินกิจการของสถาบันการเงินนั้นต่อไปเว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน

ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานควบคุมสถาบันการเงินคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งควบคุมได้ทุกประการ และให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของสถาบันการเงินนั้น

ให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้าง ของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุม

  • (1) จัดการเพื่อปกปักรักษาทรัพย์และประโยชน์ของสถาบันการเงินไว้
  • (2) รายงานกิจการและมอบสินทรัพย์พร้อมด้วยข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินให้แก่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินโดยไม่ชักช้า

ให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารของสถาบันการเงินแจ้งการครอบครองให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา 105

[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นว่า เงินฝากของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมมีภาระดอกเบี้ยสูงเกินสมควรและไม่เป็นธรรม คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีอำนาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ต้องประกาศให้ผู้ฝากเงินทราบก่อน และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เมื่อพ้นระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันประกาศ

มาตรา 106

[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นว่า ความผูกพันตามสัญญาของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินอาจทำความตกลงกับเจ้าของทรัพย์สิน คู่สัญญา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อลดภาระดังกล่าวได้

มาตรา 107

[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นว่า สัญญาจ้างผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมมีเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม หรือกำหนดค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์สูงเกินสมควร หรือสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมได้รับความเสียหายจากการบริหารหรือการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้บริหารสถาบันการเงิน ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจเลิกจ้าง ระงับหรือลดการจ่ายค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้บริหารดังกล่าวได้

มาตรา 108

[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นสมควรให้มีการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงิน ในการควบหรือโอนกิจการดังกล่าวให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 9 การควบ โอน และเลิกกิจการของหมวด 3 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ถือว่ามติของคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินมีอำนาจดำเนินการแทนคณะกรรมการของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 109

[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยว่าสมควรจะให้สถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งควบคุมดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ พร้อมทั้งข้อมูลทางการเงินและเหตุผลประกอบ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเห็นสมควรให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการต่อไปให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเสนอโครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินดังกล่าวต่อธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้

  • (1) ขั้นตอนที่จะทำให้มีเงินกองทุนเพียงพอ
  • (2) ระดับเงินกองทุนที่คาดว่าจะดำรงในแต่ละไตรมาส
  • (3) แผนธุรกิจ
  • (4) ระยะเวลาการดำเนินการให้สำเร็จตามโครงการซึ่งจะต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามวรรคหนึ่ง
  • (5) แผนการควบรวมกิจการหรือโอนกิจการ (ถ้ามี)

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับรายงานจากคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา 110

[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานว่าสมควรจะให้สถาบันการเงินที่ถูกคำสั่งควบคุมดำเนินกิจการต่อไปได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน

ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการไปตามโครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินเสนอ ในการนี้ จะมีคำสั่งเลิกควบคุมก็ได้ และให้ประกาศคำสั่งเลิกควบคุมในราชกิจจานุเบกษาและในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งไม่เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือโครงการแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้น

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคสามแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 111

[แก้ไข]

กรณีที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินรายงานว่าสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินนั้นและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในสื่อใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 112

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินใดตามมาตรา 110 วรรคสาม หรือมาตรา 111 วรรคหนึ่ง และรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตแล้วให้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 113

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินถูกควบคุมหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ห้ามมิให้ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่น หรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของสถาบันการเงินนั้นในภายหลังเหตุดังกล่าวนำหุ้นกู้ ตราสารหนี้ หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอนมานั้น มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ผู้นั้นมีอยู่กับสถาบันการเงิน

มาตรา 114

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการเข้าควบคุมสถาบันการเงินตามหมวดนี้ ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินที่ได้รับมอบอำนาจมีอำนาจสั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้แสดง หรือส่งข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมภายในเวลาที่คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินกำหนด

มาตรา 115

[แก้ไข]

ให้กรรมการควบคุมสถาบันการเงินและพนักงานควบคุมสถาบันการเงินได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

มาตรา 116

[แก้ไข]

ค่าใช้จ่ายและเงินค่าตอบแทนในการควบคุมสถาบันการเงินใดให้จ่ายจากสินทรัพย์ของสถาบันการเงินนั้น

มาตรา 117

[แก้ไข]

มิให้นำบทบัญญัติในหมวด 3 การกำกับสถาบันการเงิน เว้นแต่ส่วนที่ 8 การจัดทำบัญชี การรายงาน และผู้สอบบัญชี มาใช้กับสถาบันการเงินในระหว่างที่ถูกควบคุมตามหมวดนี้

มาตรา 118

[แก้ไข]

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้สถาบันการเงินดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือได้รับรายงานเกี่ยวกับสถาบันการเงินตามความในหมวดนี้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า

หมวด 7 การกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

[แก้ไข]

มาตรา 119

[แก้ไข]

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่

  • (1) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
  • (2) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด


มาตรา 120

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาจมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ตามที่กฎหมายได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้รักษาการได้

  • (1) กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น
  • (2) มีอำนาจสั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น รวมทั้งแต่งตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบและรายงานกิจการหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • (3) มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคคลใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่บุคคลดังกล่าว
  • (4) กำหนดแนวนโยบายเพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการหรือถือปฏิบัติ
  • (5) มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องปฏิบัติหรือยับยั้งการกระทำของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี

ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องปฏิบัติเพิ่มเติมหรือให้นำบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นได้

หมวด 8 บทกำหนดโทษ

[แก้ไข]

มาตรา 121

[แก้ไข]

ผู้ใดประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 122

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 123

[แก้ไข]

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา 124

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 37 มาตรา 81 หรือมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 37 หรือมาตรา 82 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 125

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง มาตรา 22 มาตรา 38 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มาตรา 41 มาตรา 44 มาตรา 47 หรือมาตรา 84 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดตาม มาตรา 38 มาตรา 39 มาตรา 40 วรรคสอง มาตรา 41 มาตรา 46 มาตรา 47 หรือมาตรา 84 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 126

[แก้ไข]

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 มาตรา 54 หรือมาตรา 56 หรือบริษัทแม่ของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 55 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปีหรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ แล้วแต่กรณี

มาตรา 127

[แก้ไข]

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 128

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 มาตรา 24 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 43 มาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 60 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 68 มาตรา 71 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง มาตรา 74 มาตรา 78 มาตรา 80 มาตรา 93 มาตรา 94 หรือมาตรา 95 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 16 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 60 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 71 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง มาตรา 74 วรรคสอง มาตรา 78 มาตรา 80 มาตรา 89 มาตรา 90 (1) (3) และ (4) มาตรา 95 หรือมาตรา 96 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 129

[แก้ไข]

ในกรณีที่มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 34 มาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี โดยที่สถาบันการเงินสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังด้วยความรอบคอบในการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ไม่สามารถทราบและป้องกันมิให้เกิดการฝ่าฝืนดังกล่าวได้ ให้ถือว่าสถาบันการเงินมิได้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว

มาตรา 130

[แก้ไข]

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 131

[แก้ไข]

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 104 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินหรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินตามมาตรา 114 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา 132

[แก้ไข]

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 121 หรือมาตรา 123 เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น

ภายใต้บังคับมาตรา 139 ในกรณีที่สถาบันการเงินกระทำความผิดตามมาตรา 122 มาตรา 124 มาตรา 125 หรือมาตรา 128 กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น

มาตรา 133

[แก้ไข]

ความผิดตามมาตรา 122 มาตรา 124 มาตรา 125 มาตรา 128 และมาตรา 132 วรรคสอง ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา 156 ภายในสองปีนับแต่วันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจพบการกระทำความผิด หรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 134

[แก้ไข]

ผู้ใดให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อผู้ตรวจการสถาบันการเงินหรือคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135

[แก้ไข]

ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการสถาบันการเงิน คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงิน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 136

[แก้ไข]

ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ตรวจการสถาบันการเงิน บุคคลตามมาตรา 85 วรรคสาม คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงิน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 137

[แก้ไข]

ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายซึ่งผู้ตรวจการสถาบันการเงิน คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 138

[แก้ไข]

ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ อันผู้ตรวจการสถาบันการเงิน คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน หรือพนักงานควบคุมสถาบันการเงินได้ยึด อายัด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะรักษาทรัพย์สินหรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่นส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 139

[แก้ไข]

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 มาตรา 50 มาตรา 66 มาตรา 80 มาตรา 93 มาตรา 94 หรือมาตรา 95 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 มาตรา 36 มาตรา 50 มาตรา 66 มาตรา 71 มาตรา 80 มาตรา 90 หรือมาตรา 95 กรรมการ ผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น

มาตรา 140

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แก่ประชาชนทราบ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 141

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินหรือทรัพย์สินที่สถาบันการเงินเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของสถาบันการเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 142

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของสถาบันการเงินหรือซึ่งสถาบันการเงินเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 143

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินอันสถาบันการเงินมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของสถาบันการเงิน ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา 144

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ โดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่น ซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้สถาบันการเงินบังคับการชำระหนี้จากสถาบันการเงิน หรือใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

  • (1) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของสถาบันการเงิน หรือ
  • (2) ลงบัญชีหรือกระทำการอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏว่าสถาบันการเงินเป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง

มาตรา 145

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่สถาบันการเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 146

[แก้ไข]

กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินผู้ใดกระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้เพื่อลวงให้สถาบันการเงินหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

  • (1) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสารหรือหลักประกันของสถาบันการเงินหรือที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน
  • (2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของสถาบันการเงิน หรือ
  • (3) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง

มาตรา 147

[แก้ไข]

ความผิดตามมาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 142 มาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 145 หรือมาตรา 146 หากผู้กระทำเป็นพนักงานของสถาบันการเงินต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 148

[แก้ไข]

ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประเมินราคา หรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านผู้ใดปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หรือทำรายงานเท็จหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 หรือมาตรา 70 หรือมาตรา 71 หรือประเมินราคาทรัพย์สินโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 149

[แก้ไข]

ผู้ใดก่อให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านของสถาบันการเงิน กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 142 มาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 145 มาตรา 146 หรือมาตรา 148 ไม่ว่าด้วยการใช้ สั่ง ขู่เข็ญ จ้าง หรือด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 150

[แก้ไข]

ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ผู้สอบบัญชี หรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านของสถาบันการเงิน กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 142 มาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 145 มาตรา 146 หรือมาตรา 148 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ เว้นแต่ผู้นั้นมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น

มาตรา 151

[แก้ไข]

ความผิดมาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 142 มาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 145 มาตรา 146 หรือมาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 150 เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคาหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้เสียหายด้วย และให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล

มาตรา 152

[แก้ไข]

ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 142 มาตรา 143 มาตรา 144 มาตรา 145 มาตรา 146 หรือมาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 150 และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น หรือตามพฤติการณ์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถฟ้องคดีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ ศาลที่มีเขตอำนาจอาจสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของธนาคารแห่งประเทศไทยได้

ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง

การกำหนดวิธีการในการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการกำหนดจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวของบุคคลที่ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ โอนให้แก่บุคคลอื่นหรือกระทำการใด ๆ ให้เสียหายแก่ทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

มาตรา 153

[แก้ไข]

ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลตามมาตรา 152 จะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ศาลอาญาโดยคำร้องขอของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้

ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยคำร้องขอของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย มีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลตามมาตรา 152 ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญาตามวรรคหนึ่งหรือของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามวรรคสองหรือผู้ให้ความช่วยเหลือบุคคลดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

มาตรา 154

[แก้ไข]

ผู้ใดล่วงรู้กิจการของสถาบันการเงินใดเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมายหรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณี ดังต่อไปนี้

  • (1) การเปิดเผยตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
  • (2) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
  • (3) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงินนั้นหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับสถาบันการเงินนั้น
  • (4) การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับสถาบันการเงิน หรือธุรกิจทางการเงิน ตามข้อตกลงที่มีระหว่างกัน
  • (5) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น
  • (6) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
  • (7) การเปิดเผยความลับของลูกค้าสถาบันการเงินที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว
  • (8) การเปิดเผยความลับของลูกค้าของสถาบันการเงินซึ่งลูกค้าดังกล่าวให้ความยินยอมแล้ว
  • (9) การเปิดเผยให้แก่บริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเดียวกัน
  • (10) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

มาตรา 155

[แก้ไข]

ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของสถาบันการเงินโดยเหตุที่เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการหรือเป็นพนักงาน และเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการเปิดเผยตามกรณีในมาตรา 154 วรรคสอง

มาตรา 156

[แก้ไข]

ความผิดตามมาตรา 122 มาตรา 124 มาตรา 125 มาตรา 128 มาตรา 132 วรรคสอง และมาตรา 139 ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนสามคน โดยอย่างน้อยต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหนึ่งคน

เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

บทเฉพาะกาล

[แก้ไข]

มาตรา 157

[แก้ไข]

ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณีอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทนั้นตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 158

[แก้ไข]

บรรดากฎกระทรวง ประกาศกระทรวงการคลัง และประกาศ หนังสือเวียน คำสั่ง หรือข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บรรดาที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการออกประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 159

[แก้ไข]

สถาบันการเงินใดได้รับการผ่อนผันให้ลงทุน หรือซื้อ หรือมีหุ้นเกินอัตราส่วนตามมาตรา 34 อยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันการเงินมีสิทธิถือหรือมีไว้ต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับการผ่อนผัน แต่ต้องไม่เกินกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดได้รับผ่อนผันให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ เกินอัตราส่วนตามมาตรา 50 อยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันการเงินนั้นคงให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำ ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ตามสัญญาที่ผูกพันไว้แล้วต่อไปได้จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามที่ระบุในสัญญาดังกล่าว

สถาบันการเงินใดให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ แก่บุคคลใดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวรวมกันเกินอัตราที่กำหนดตามมาตรา 49 หรือมาตรา 50 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น สถาบันการเงินดังกล่าวจะให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวอีกไม่ได้ และต้องดำเนินการเพื่อทำให้การให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำ ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อดังกล่าวเป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 49 หรือมาตรา 50 โดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

สถาบันการเงินใดได้รับผ่อนผันให้มีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันการเงินดังกล่าวมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไปได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับการผ่อนผันนั้น

มาตรา 160

[แก้ไข]

บริษัทเงินทุนใดที่ได้รับใบอนุญาตอยู่แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ประกอบธุรกิจได้ตามที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว

มาตรา 161

[แก้ไข]

บริษัทที่มิได้ประกอบธุรกิจทางการเงิน แต่ได้รับการผ่อนผันให้ถือหุ้นในสถาบันการเงินใดเกินอัตราที่กำหนดในมาตรา 18 อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือหุ้นของสถาบันการเงินนั้นได้ต่อไป และอาจซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับได้ แต่ถ้าได้จำหน่ายหุ้นนั้นไปเท่าใดให้คงมีสิทธิถือหุ้นเกินอัตราที่กำหนดได้เท่าจำนวนหุ้นที่เหลืออยู่นั้น

ห้ามมิให้บริษัทตามวรรคหนึ่งซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ตนถืออยู่เพิ่ม เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 162

[แก้ไข]

บุคคลใดถือหุ้นหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเกินอัตราที่กำหนดตามมาตรา 18 เนื่องจากการนับรวมหุ้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องถืออยู่หรือมีไว้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยการถืออยู่หรือมีไว้ซึ่งหุ้นของสถาบันการเงินดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ให้คงมีสิทธิถือหรือมีไว้ซึ่งหุ้นนั้นได้ต่อไป แต่ถ้าได้จำหน่ายหุ้นนั้นไปเท่าใดก็ให้คงมีสิทธิถือหรือมีไว้ซึ่งหุ้นนั้นเกินอัตราที่กำหนดได้เท่าจำนวนหุ้นที่เหลือ และให้บุคคลดังกล่าวต้องดำเนินการเพื่อให้การถือหรือมีไว้ซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 18 โดยเร็วแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 163

[แก้ไข]

ในขณะที่ยังมิได้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หากมีบทบัญญัติมาตราใดในพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้เป็นภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ให้ภารกิจและอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของกระทรวงการคลังจนกว่าจะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้น



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

[แก้ไข]
  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี จึงทำให้การกำกับดูแลแตกต่างกัน แต่โดยที่การดำเนินกิจการของสถาบันการเงินควรมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอันมีผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงิน และกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ฝากเงินที่มีต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม ดังนั้น สมควรปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และรวมเป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้การควบคุมดูแลเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125/ตอนที่ 27 ก/หน้า 1/5 กุมภาพันธ์ 2551