พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503

จาก วิกิซอร์ซ

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ปรามการค้าประเวณี
พ.ศ. ๒๕๐๓

ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สังวาลย์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณี

พระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓”

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้

“การค้าประเวณี” หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใด เพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ

“สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณี โดยจัดให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วย

“สถานบริการ” หมายความว่า สถานประกอบธุรกิจเพื่อสินจ้าง ที่จัดไว้เป็นที่พักหรืออยู่อาศัย เป็นที่จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเป็นที่ให้ความบันเทิง การปรนนิบัติ หรือความสะดวกสบาย

“สถานสงเคราะห์” หมายความว่า สถานสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้รับการสงเคราะห์” หมายความว่า บุคคลซึ่งอธิบดีมีคำสั่งให้ส่งตัวไปรับการรักษาและหรืออบรมฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  ผู้ใด เพื่อการค้าประเวณี กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑) เข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใดอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน

(๒) เตร็ดเตร่หรือคอยอยู่ตามถนนหรือสาธารณสถานในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี

(๓) เข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  ผู้ใดกระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  ผู้ใดกระทำการค้าประเวณีต่อบุคคลเพศเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  ผู้ใดจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐ ผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณีเป็นปกติธุระในสถานบริการที่ตนเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑ เมื่อศาลได้พิพากษาให้ลงโทษผู้ใดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ แล้ว ถ้าปรากฏว่า ผู้นั้นเป็นโรคอันควรได้รับการรักษา หรือเป็นผู้ควรได้รับการอบรมฝึกอาชีพ หรือทั้งสองอย่าง อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปรับการรักษาและหรืออบรมฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์เมื่อผู้นั้นพ้นโทษได้ตามระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด แต่มิให้เกินหนึ่งปีนับแต่วันพ้นโทษ

มาตรา ๑๒ ให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์สำหรับรักษาและอบรบฝึกอาชีพผู้รับการสงเคราะห์

มาตรา ๑๓ ให้อธิบดี โดยอนุมัติรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยระเบียบวินัยและการทำงานของผู้รับการสงเคราะห์

ให้อธิบดีมีอำนาจลงทัณฑ์แก่ผู้รับการสงเคราะห์ซึ่งฝ่าฝืนข้อบังคับที่ออกตามวรรคก่อน ดังต่อไปนี้

(๑) กักบริเวณไม่เกินครั้งละสิบห้าวัน หรือ

(๒) ตัดหรือลดประโยชน์หรือความสะดวกที่สถานสงเคราะห์อำนวยให้

มาตรา ๑๔ เมื่ออธิบดีพิจารณาเห็นว่า ถ้าจะจัดให้ผู้รับการสงเคราะห์ไปทำงานหรือประกอบอาชีพอยู่ ณ สถานที่ใดนอกสถานสงเคราะห์ จะเป็นการเหมาะสมและเป็นผลดีแก่ผู้รับการสงเคราะห์ และเจ้าของสถานที่ยินยอมรับตัวไว้ ก็ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ส่งตัวไปทำงานหรือประกอบอาชีพอยู่ ณ สถานที่นั้นได้

มาตรา ๑๕ ผู้รับการสงเคราะห์ผู้ใดหลบหนีไปจากสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ซึ่งอธิบดีกำหนดให้ไปทำงานหรือประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๖ อธิบดีมีอำนาจสั่งปล่อยตัวผู้รับการสงเคราะห์จากสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ซึ่งอธิบดีกำหนดให้ไปทำงานหรือประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๔ ก่อนเวลาที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๑ ได้ เมื่ออธิบดีเชื่อว่า ผู้รับการสงเคราะห์จะกลับตัวไม่กระทำการค้าประเวณีอีก เพราะมีความประพฤติดี หรือเพราะมีผู้มีหลักฐานควรเชื่อถือรับอุปการะหรือรับรองจะให้งานที่มีรายได้พอควรแก่การเลี้ยงชีพ

มาตรา ๑๗ อำนาจและหน้าที่ซึ่งอธิบดีมีอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีอาจมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใดเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดนั้นได้

การมอบหมาย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรคเป็นกฎหมายที่ได้ประกาศใช้มาแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีบทบัญญัติไม่รัดกุม และไม่มีบทบัญญัติที่จะควบคุมมิให้มีการค้าประเวณีที่เป็นไปในลักษณะเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือกระทำให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน กับทั้งไม่มีบทบัญญัติปรามการค้าประเวณีที่กระทำโดยบุคคลที่เป็นชาย ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรคนั้นเสีย และมีกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณีขึ้นใหม่ เพื่อควบคุมมิให้มีการกระทำอันไม่สมควรดังที่ได้กล่าวมานั้น

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"