พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศฯ พ.ศ. 2565

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
พระราชบัญญัติ
คำปรารภ
บทนำ
  1. นามพระราชบัญญัติ
  2. วันเริ่มใช้บังคับ
  3. ขอบเขตการใช้บังคับ
  4. ขอบเขตการใช้บังคับ
  5. บทนิยาม
  6. กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในพระราชบัญญัตินี้
  7. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
หมวด 1 คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิด
หมวด 2 คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิด
หมวด 3 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
หมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
หมวด 5 มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
หมวด 6 การคุมขังฉุกเฉิน
หมวด 7 อุทธรณ์
บทเฉพาะกาล
หมายเหตุ

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
มาตรการป้องกันการกระทำความผิด
ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง
พ.ศ. ๒๕๖๕

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันการกระทำความผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อใช้เป็นบทบัญญัติในการป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ๒๕๖๕"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๘ มาตรา ๒๗๙ มาตรา ๒๘๓ ทวิ มาตรา ๒๘๔ มาตรา ๒๘๘ มาตรา ๒๘๙ มาตรา ๒๙๐ มาตรา ๒๙๗ มาตรา ๒๙๘ และมาตรา ๓๑๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ในกรณีศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตราหนึ่งมาตราใดตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง แม้ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษในความผิดอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในวรรคหนึ่งก็ตาม ก็ให้นำพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับด้วย

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตราหนึ่งมาตราใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้

"คุมขัง" หมายความว่า การควบคุมนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษหรือผู้ถูกเฝ้าระวังไว้ในเขตกำหนดเพื่อป้องกันการกระทำความผิด

"ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมคุมประพฤติ

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  บทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  ให้ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน

ให้ประธานศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อบังคับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง และอัยการสูงสุดมีอำนาจออกข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน

ข้อบังคับและกฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้



มาตรา  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการป้องกันการกระทำ ความผิดซ้ำ" ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านกฎหมาย ด้านอาชญาวิทยา ด้านทัณฑวิทยา ด้านการบริหารงานยุติธรรม ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านจิตวิทยา ด้านจิตเวชศาสตร์ หรือด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน การกระทำความผิดซ้ำ จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมคุมประพฤติจำนวนหนึ่งคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ และให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์แต่งตั้งข้าราชการในกรมราชทัณฑ์จำนวนหนึ่งคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี

(๓) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง

(๔) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เว้นแต่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

(๕) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(๖) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๗) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๘) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทําผิดวินัย

มาตรา ๑๐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙

(๔) รัฐมนตรีให้ออกจากตำแหน่ง เพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

มาตรา ๑๒ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำความผิดตามที่คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณา

(๒) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ กรมคุมประพฤติ และกรมราชทัณฑ์ ในการออกระเบียบหรือปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) ให้คำปรึกษา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและ องค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารและการดำเนินงานป้องกันการกระทำความผิด

(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๓ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการประชุมของคณะกรรมการ โดยอนุโลม

มาตรา ๑๔ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด



มาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ" ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ โดยให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมคุมประพฤติเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน

มาตรา ๑๗ คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณากำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๗

(๒) พิจารณากำหนดมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษตามมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๔

(๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิด หรือตามที่คณะกรรมการหรือรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๘ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยอนุโลม



มาตรา ๑๙ ในคดีที่มีการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุกเพื่อป้องกันมิให้กระทำความผิดซ้ำ โดยจะขอรวมกันไปในการฟ้องคดีดังกล่าวหรือก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ได้

มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้แก่

(๑) มาตรการทางการแพทย์

(๒) มาตรการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

การมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

ในการไต่สวน ศาลอาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณารับฟังคำคัดค้านของผู้กระทำความผิด หรือมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติก็ได้

ให้ศาลระบุเหตุผลในการออกคำสั่งพร้อมทั้งคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดไว้ในคำพิพากษา และให้ระบุคำสั่งไว้ในหมายจำคุกด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกคำสั่งของศาล ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

มาตรา ๒๐ ให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่งของศาล และจัดทำรายงานผลของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อพนักงานอัยการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากพนักงานอัยการเห็นสมควรอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดได้

มาตรา ๒๑ มาตรการทางการแพทย์ที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ (๑) ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อยสองคนซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งนี้ ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชศาสตร์และสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละหนึ่งคน หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า จำเป็นต้องมีการใช้ยาหรือด้วยวิธีการรูปแบบอื่น ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

ให้กรมราชทัณฑ์นำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ตามวรรคหนึ่งมาใช้เป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ประโยชน์อื่นใดอันเป็นผลให้ผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้มาตรการทางการแพทย์ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ



มาตรา ๒๒ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ จะกระทำความผิดภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามที่พนักงานอัยการร้องขอโดยกำหนด มาตรการเดียวหรือหลายมาตรการตามควรแก่กรณีก็ได้

มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ได้แก่

(๑) ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด

(๒) ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด

(๓) ห้ามเข้าเขตกําหนด

(๔) ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

(๕) ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย

(๖) ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด

(๗) ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนดหรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร

(๘) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด

(๙) ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด

(๑๐) ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด ตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด

(๑๑) ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกําหนด

(๑๒) ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน

(๑๓) ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง

ศาลอาจกำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวังในแต่ละมาตรการตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันพ้นโทษ

การมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และความได้สัดส่วนของการใช้มาตรการที่ต้องกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องถูกบังคับด้วย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมีคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

มาตรา ๒๓ ก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ให้กรมราชทัณฑ์จัดทำรายงานจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์เป็นรายบุคคล พร้อมทั้งความเห็นว่า นักโทษเด็ดขาดผู้ใดสมควรให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา ๒๒ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเพื่อพิจารณาว่า สมควรกำหนดให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา ๒๒ แก่นักโทษเด็ดขาดผู้นั้น รวมทั้งกำหนดวิธีการและระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

เมื่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดพิจารณาว่า สมควรกำหนดให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา ๒๒ กับนักโทษเด็ดขาดผู้ใดแล้ว ให้เสนอรายงานและความเห็นต่อพนักงานอัยการภายในเวลาอันสมควรก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาและจัดทำรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๔ เมื่อได้รับรายงานและความเห็นแล้ว หากพนักงานอัยการเห็นสมควรให้ใช้มาตรการการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่เรือนจำหรือสถานที่คุมขังของนักโทษเด็ดขาดก่อนการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด เพื่อมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังดังกล่าว

คำร้องตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย คำขอที่มีข้อเสนอ และเงื่อนไข ตลอดจนระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลในการมีคำสั่งตามมาตรการหนึ่งมาตรการใดที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒ วรรคสอง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณายื่นคำร้องของพนักงานอัยการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยข้อบังคับของอัยการสูงสุด

มาตรา ๒๕ เมื่อศาลได้รับคำร้องตามมาตรา ๒๔ ให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งโดยให้ส่งสำเนาคำร้องให้นักโทษเด็ดขาดเพื่อทราบวันไต่สวนและสิทธิในการให้ถ้อยคำด้วยและเรียกนักโทษเด็ดขาดมาให้ถ้อยคํา

ให้ศาลถามนักโทษเด็ดขาดว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

หากครบกำหนดที่กรมราชทัณฑ์ต้องปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดแล้ว แต่ศาลยังไม่ได้ไต่สวนคำร้องหรือมีคำสั่งตามที่พนักงานอัยการร้องขอ ให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดไป ทั้งนี้ ในการไต่สวน ให้ศาลมีอำนาจเรียกนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการปล่อยตัวมาให้ถ้อยคำประกอบการไต่สวนด้วย

มาตรา ๒๖ ให้พนักงานคุมประพฤติตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่งของศาล โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน การสืบเสาะและพินิจ และการคุมความประพฤติ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หากผู้ถูกเฝ้าระวังไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กำหนดโดยคำสั่งศาล ให้พนักงานคุมประพฤติตรวจสอบถึงเหตุดังกล่าวและแก้ไข

เมื่อครบกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๒ และในทุกรอบหกเดือน ให้พนักงานคุมประพฤติจัดทำรายงานการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเสนอศาล หากศาลเห็นสมควร ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติม ลดหรือขยายระยะเวลา หรือยกเลิกคำสั่งมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรานี้ ให้กรมคุมประพฤติจัดทำฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน

มาตรา ๒๗ ในกรณีที่พฤติการณ์ที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษของผู้ถูกเฝ้าระวังได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพนักงานอัยการหรือผู้ถูกเฝ้าระวังร้องขอหรือศาลเห็นเอง ศาลอาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติม ลดหรือขยายระยะเวลา หรือยกเลิกมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษบางมาตรการหรือทุกมาตรการก็ได้ และเมื่อมีคำสั่งอย่างใดแล้ว ให้ศาลแจ้งให้ผู้ถูกเฝ้าระวังและผู้เกี่ยวข้องทราบ

การยื่นคำร้องของพนักงานอัยการตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการโดยพนักงานคุมประพฤติจัดทำรายงานพฤติการณ์ดังกล่าวและความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ



มาตรา ๒๘ ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ตั้งแต่วันพ้นโทษหรือภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันการกระทำความผิด ตามที่พนักงานอัยการร้องขอ หากศาลเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้นั้นจะไปกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันมิให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดได้

มาตรา ๒๙ ในการจัดทำรายงานการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง หากคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษกับนักโทษเด็ดขาดรายใด เพื่อไม่ให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ให้คณะกรรมการดังกล่าวเสนอรายงานพร้อมทั้งความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยให้นำมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษตามวรรคหนึ่งร่วมกับการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเมื่อครบกำหนดการคุมขังต่อเนื่องกันไป ให้คณะกรรมการดังกล่าวเสนอรายงานพร้อมทั้งความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยให้นำมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการพิจารณายื่นคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๐ ในระหว่างการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามมาตรา ๒๒ หากมีเหตุที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษตามมาตรา ๒๘ หรือผู้ถูกเฝ้าระวังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ที่ผู้ถูกเฝ้าระวังมีที่อยู่ หรือท้องที่ที่พบตัวผู้ถูกเฝ้าระวัง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำความผิด

พนักงานคุมประพฤติอาจเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา หรือพนักงานอัยการเห็นสมควร อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษร่วมกับการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเมื่อครบกำหนดการคุมขังต่อเนื่องกันไปก็ได้

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการทำความเห็นของพนักงานคุมประพฤติ และการพิจารณายื่นคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือข้อบังคับของอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๑ เมื่อศาลได้รับคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ ให้ศาลไต่สวนคำร้องโดยให้นำมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในวันไต่สวนถ้าผู้ถูกเฝ้าระวังไม่มาศาลตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจไม่รับหมายเรียก ได้หลบหนีไป หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะหลบหนี ให้ศาลมีอำนาจออกหมายจับเพื่อดำเนินการต่อไป และให้นำมาตรา ๓๘ วรรคสอง เรื่องการควบคุมตัวผู้ถูกจับมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๓๒ ในการพิจารณาคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ศาลอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษมีกำหนดระยะเวลาเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษ

ในการพิจารณาคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง ศาลอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดซ้ำซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันพ้นโทษ หรือมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเมื่อครบกำหนดการคุมขังต่อเนื่องกันไปตามที่พนักงานอัยการร้องขอก็ได้ โดยให้นําหมวด ๓ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เมื่อนับระยะเวลาทั้งหมดรวมกันแล้ว จะต้องมีระยะเวลาไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษ

มาตรา ๓๓ ในการพิจารณาคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ศาลอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวังโดยมีกำหนดระยะเวลาเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิด ซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ผู้ถูกเฝ้าระวังถูกควบคุมตัว แต่เมื่อนับระยะเวลาที่ศาลเคยมีคำสั่งให้ใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดและระยะเวลาในครั้งนี้ทั้งหมดรวมกันแล้ว จะต้องมีระยะเวลาไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่า คำสั่งการใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษของศาลสิ้นสุดลง

ในการพิจารณาคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง ศาลอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวังโดยมีกำหนดระยะเวลาเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิด ซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่ผู้ถูกเฝ้าระวังถูกควบคุมตัว หรือมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเมื่อครบกำหนดการคุมขังดังกล่าวต่อเนื่องกันไปตามที่พนักงานอัยการร้องขอก็ได้ โดยให้นำหมวด ๓ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เมื่อนับระยะเวลาที่ศาลเคยมีคำสั่งให้ใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและระยะเวลาในครั้งนี้ทั้งหมดรวมกันแล้ว จะต้องมีระยะเวลาไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นโทษ

มาตรา ๓๔ ให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการบังคับตามคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษและให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

ผู้ใดถูกคำสั่งให้คุมขังภายหลังพ้นโทษ ให้กรมราชทัณฑ์คุมขังไว้ในสถานที่คุมขังที่มิใช่เรือนจำ และจะปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

ในกรณีที่พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือเมื่อครบกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่เริ่มมีการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และในทุกรอบหกเดือน ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดพิจารณาเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติม ลดหรือขยายระยะเวลา หรือยกเลิกคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือเปลี่ยนคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษเป็นคำสั่งเฝ้าระวังแทนก็ได้

มาตรา ๓๕ เมื่อศาลได้มีคำสั่งคุมขังผู้ถูกเฝ้าระวัง ถ้าผู้นั้นยังมิได้รับการคุมขังก็ดี หรือได้รับการคุมขังแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้าพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนีระหว่างเวลาที่ต้องคุมขัง เป็นอันล่วงเลยการคุมขัง จะคุมขังผู้นั้นไม่ได้

มาตรา ๓๖ ก่อนครบกำหนดเวลาคุมขังภายหลังพ้นโทษ หากศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษต่อเนื่องจากการคุมขังตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๓๓ วรรคสอง พนักงานอัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลก่อนครบกำหนดการคุมขังเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกคุมขังเมื่อครบกำหนดการคุมขังได้ แต่ศาลอาจมีคำสั่งดังกล่าวภายหลังครบกำหนดการคุมขังก็ได้ และให้นำหมวด ๓ มาตรการแก้ไขฟื้นฟู ผู้กระทำความผิด มาใช้บังคับโดยอนุโลม



มาตรา ๓๗ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ และมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันมิให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดดังกล่าวได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

มาตรา ๓๘ ถ้าปรากฏเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗ ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ที่ผู้ถูกเฝ้าระวังมีที่อยู่ หรือท้องที่ที่พบตัวผู้ถูกเฝ้าระวัง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน

ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ถูกเฝ้าระวังตามมาตรา ๗๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ห้ามควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังแล้ว ให้กรมราชทัณฑ์นำตัวผู้ถูกเฝ้าระวังไปคุมขังฉุกเฉินตามคำสั่งศาลต่อไป กรณีเช่นว่านี้ไม่ทำให้คำสั่งตามมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษสิ้นผลไป และให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังดังกล่าวต่อไปภายหลังพ้นจากการคุมขังฉุกเฉิน

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการทำความเห็นของพนักงานคุมประพฤติ และการพิจารณายื่นคำร้องของพนักงานอัยการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๙ ให้ศาลพิจารณาคำร้องของพนักงานอัยการโดยเร็ว ถ้าเป็นที่พอใจว่า กรณีมีเหตุตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๗ ให้ศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้

ผู้ถูกเฝ้าระวังอาจยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นเสีย ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมีคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

มาตรา ๔๐ ให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการบังคับตามคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน และให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๑ เมื่อศาลมีคำสั่งคุมขังฉุกเฉินแล้ว ให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการให้มีการเสนอความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาเสนอต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษที่ศาลมีคำสั่งตามหมวด ๔ หรือเพื่อเสนอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษตามหมวด ๕ เพื่อป้องกันผู้ถูกคุมขังฉุกเฉินกระทำความผิด



มาตรา ๔๒ คำสั่งศาลตามหมวด ๓ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด หมวด ๔ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ และหมวด ๕ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานอัยการ ให้เป็นที่สุด ส่วนคำสั่งตามที่พนักงานอัยการร้องขอ ให้อุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

คำสั่งศาลชั้นอุทธรณ์ ให้เป็นที่สุด



มาตรา ๔๓ ให้นำพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล และกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญาบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิด ทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้าง แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย และไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิด ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกันอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดในความผิดดังกล่าว โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"