พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๖
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๖”
พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ให้ยกเลิกกฎหมายตามที่ระบุในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ได้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายเป็นจำนวนมาก และไม่มีการยกเลิกอย่างเป็นระบบ โดยมีการตรากฎหมายใหม่และใช้กฎหมายใหม่โดยไม่ยกเลิกกฎหมายเก่า หรือกฎหมายบางฉบับไม่มีการใช้บังคับ เพราะใช้ไม่ได้ผล หรือไม่มีกรณีที่จะใช้ เพราะไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเกิดข้อสงสัยว่า กฎหมายบางฉบับยังคงใช้บังคับอยู่หรือไม่ หรือยังควรมีกฎหมายเช่นนั้นอยู่หรือไม่ จึงสมควรมีการชำระสะสางอย่างแจ้งชัดว่ากฎหมายใดยังควรใช้บังคับอยู่ เพื่อความชัดเจนของระบบกฎหมายไทย ซึ่งจากการตรวจสอบกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ อันเป็นช่วงเวลาที่ยังมีปัญหาไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสภาพการใช้บังคับกฎหมาย และตรวจสอบกฎหมายเก่ากว่าช่วงเวลาดังกล่าวบางฉบับที่เคยมีการตรวจสอบแล้วว่ายังไม่ถูกยกเลิก รวมเป็นจำนวนกฎหมายที่มีการตรวจสอบทั้งหมด ๒,๒๘๓ ฉบับ ซึ่งจากเนื้อหาสาระของกฎหมายเหล่านั้น แยกได้เป็น ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง เป็นกฎหมายที่มีการยกเลิกโดยชัดเจนแล้ว จำนวน ๑,๑๐๕ ฉบับ กลุ่มที่สอง เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเฉพาะคราว และมีจุดสิ้นสุดการใช้อยู่ในตัว จำนวน ๕๖๒ ฉบับ กลุ่มที่สาม เป็นกฎหมายที่ไม่มีการบังคับใช้ เพราะมีกฎหมายใหม่แล้ว ซึ่งนับรวมกับฉบับแก้ไขเพิ่มเติมด้วย มีจำนวน ๙ ฉบับ กลุ่มที่สี่ เป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระพ้นสมัยการใช้บังคับ เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งนับรวมกับฉบับแก้ไขเพิ่มเติมด้วย มีจำนวน ๓๘ ฉบับ และกลุ่มที่ห้า เป็นกฎหมายที่เหลือซึ่งยังคงใช้บังคับอยู่ แต่ต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปว่า ควรคงไว้ หรือจะปรับปรุงเช่นใดให้ทันสมัยและเป็นระบบ ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงพิจารณาเห็นว่า กฎหมายในกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สองสิ้นสุดการใช้บังคับแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติยกเลิกอีก ส่วนกฎหมายกลุ่มที่สามและกลุ่มที่สี่ สมควรได้มีการยกเลิกเสีย เพื่อมิให้เกิดการสับสนในการใช้กฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๑. กฎหมายโปลิศ ๕๓ ข้อ ซึ่งจะรักษาน่าที่ในพระนคร แลนอกพระนคร
๒. พระราชบัญญัติลักษณพยาน ปีรัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๓
๓. พระราชบัญญัติป้องกันโรคสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙
๔. ประกาศเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙
๕. พระราชบัญญัติสำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๔
๖. พระราชบัญญัติสำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะแก้ไขเพิ่มเติม ฉะบับที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๗๔
๗. พระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐
๘. ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินทร ศก ๑๒๐
๙. ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติรถลาก
๑๐. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรถลาก รถจ้าง รถยนต์ ขนาดเกวียน และล้อเลื่อน พุทธศักราช ๒๔๖๙
๑๑. พระราชบัญญัติรถลากแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
๑๒. พระราชบัญญัติรถลาก (ฉะบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๘๔
๑๓. พระราชบัญญัติรถลาก (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๙๕
๑๔. พระราชบัญญัติรถจ้าง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๔
๑๕. พระราชบัญญัติตามช้าง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๗
๑๖. พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. ๒๔๕๖
๑๗. พระราชบัญญัติชัณสูตรพลิกศพ พ.ศ. ๒๔๕๗
๑๘. พระราชบัญญัติขนาดเกวียน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙
๑๙. พระราชบัญญัติอธิกรณประถมปาราชิก พระพุทธศักราช ๒๔๖๓
๒๐. พระราชบัญญัติปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก พุทธศักราช ๒๔๗๑
๒๑. พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม์ พุทธศักราช ๒๔๗๕
๒๒. พระราชบัญญัติป้องกันลูกเรือหลบหนีจากน่าที่เรือค้าขาย หรือไม่อยู่ในเรือเกินเวลาอันสมควร
๒๓. พระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พุทธศักราช ๒๔๗๙
๒๔. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน พุทธศักราช ๒๔๗๘
๒๕. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉะบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑
๒๖. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๔
๒๗. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๖
๒๘. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙
๒๙. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๒
๓๐. พระราชบัญญัติล้อเลื่อน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๐
๓๑. พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พุทธศักราช ๒๔๗๙
๓๒. พระราชบัญญัติการเปรียบเทียบคดีอาญา พุทธศักราช ๒๔๘๑
๓๓. พระราชบัญญัติการเปรียบเทียบคดีอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙
๓๔. พระราชบัญญัติการเปรียบเทียบคดีอาญา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๙
๓๕. พระราชบัญญัติการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช ๒๔๘๒
๓๖. พระราชกำหนดจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๘๓ และพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๘๓
๓๗. พระราชบัญญัติบำรุงพืช พุทธศักราช ๒๔๘๓
๓๘. พระราชบัญญัติจำกัดสิทธิคนไทยผู้กระทำการอันเป็นภัยแก่ชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๔
๓๙. พระราชกำหนดกำหนดเขตต์หวงห้ามคนต่างด้าว พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดกำหนดเขตต์หวงห้ามคนต่างด้าว พุทธศักราช ๒๔๘๔
๔๐. พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งที่ไช้เพื่อสาธารนะประโยชน์ไนภาวะคับขัน พุทธศักราช ๒๔๘๖
๔๑. พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช ๒๔๘๘
๔๒. พระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว พุทธศักราช ๒๔๘๙
๔๓. พระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว (ฉะบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๙
๔๔. พระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๓
๔๕. พระราชบัญญัติรายได้สุขาภิบาล พ.ศ. ๒๔๙๘
๔๖. พระราชบัญญัติรายได้สุขาภิบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
๔๗. พระราชบัญญัติสงเคราะห์อาชีพแก่คนไทย พ.ศ. ๒๔๙๙
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๑๐๙ ก/หน้า ๑/๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"