ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495

จาก วิกิซอร์ซ

ตอนที่ ๑๖ เล่ม ๖๙

๑๑ มีนาคม ๒๔๙๕
๒๗๘
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการบริหารราชการ
ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พ.ศ. ๒๔๙๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดวิธีบริหารราชการบางประการไว้ในเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และสวัสดิภาพของพลเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๙๕"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

"สถานการณ์ฉุกเฉิน" หมายความว่า สถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร หรืออันอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือภาวะการรบหรือการสงคราม ตามที่จะได้มีประกาศให้ทราบ

"ความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร" หมายความว่า การให้เอกราชของชาติหรือสวัสดิภาพของประชาชนอยู่ในความมั่นคงและปลอดภัย รวมตลอดถึงการที่ให้ประกาศดำรงอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

"เคหสถาน" หมายความว่า สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งที่ดินในบริเวณ ไม่ว่าจะมีรั้วด้วยหรือไม่ก็ตาม ตลอดถึงเรือ แพ ซึ่งบุคคลเฉพาะตัวผู้เดียวหรือหลายคนใช้เป็นที่อาศัยกินอยู่หลับนอน

"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตราบทแห่งพระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะประกาศทั่วราชอาณาจักรหรือเฉพาะในเขตท้องที่ใดก็ได้ สุดแล้วแต่ความจำเป็นโดยพฤติการณ์

เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว ให้ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเสีย

มาตรารัฐมนตรีมีอำนาจที่จะประกาศห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาซึ่งได้ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

บทบัญญัติในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่ทหารหรือตำรวจประจำการ หรือบุคคลประเภทซึ่งจะได้ยกเว้นไว้ในประกาศ

มาตราพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ ระหว่างอาทิตย์ขึ้นถึงอาทิตย์ตกเพื่อตรวจค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตราบุคคลใดมีเหตุควรสงสัยว่า ได้กระทำหรือพยายามจะกระทำการใด ๆ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและคุมขังบุคคลนั้นไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกิน ๗ วัน

มาตรารัฐมนตรีมีอำนาจที่จะประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรารัฐมนตรีมีอำนาจที่จะประกาศห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการโฆษณาหรือพิมพ์เอกสารใด ๆ ซึ่งเห็นว่า ข้อความซึ่งโฆษณาหรือจะโฆษณานั้นกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร หรือเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน

มาตรา๑๐รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร ในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การออกไปนอกราชอาณาจักรของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ

มาตรา๑๑ถ้าบุคคลใดมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า ได้คบคิดกับคนในต่างประเทศเพื่อกระทำการใด ๆ อันจะเป็นการเสียหายแก่ประเทศ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ตรวจจดหมายหรือเอกสารติดต่อใด ๆ ของผู้นั้นได้

มาตรา๑๒ในบริเวณหรือเขตท้องที่อันมีความสำคัญทางการรักษาความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร หรือจุดยุทธศาสตร์ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้าไปหรืออยู่ในบริเวณหรือเขตท้องที่นั้น

มาตรา๑๓คนต่างด้าวคนใดกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คนต่างด้าวนั้นออกไปเสียจากราชอาณาจักรได้

เมื่อรัฐมนตรีสั่งให้คนต่างด้าวคนใดออกไปจากราชอาณาจักร ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการเนรเทศมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะประกาศห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรหรือสวัสดิภาพของประชาชนได้

มาตรา๑๕ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๕ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๑๖ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีออกตามความในมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๑๗ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๑๐ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๑๘คนต่างด้าวผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๔ ให้เนรเทศออกไปเสียนอกราชอาณาจักร

มาตรา๑๙ผู้ใดสะสมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดไว้โดยผิดกฎหมาย ให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนั้นเป็นทวีคูณ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้เป็นคนต่างด้าว เมื่อพ้นโทษแล้ว ให้เนรเทศออกไปเสียนอกราชอาณาจักร

มาตรา๒๐บรรดาประกาศที่ออกโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๒๑ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกประกาศ คำสั่ง และกำหนดการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"