พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. 2534

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายครุฑพ่าห์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เครื่องหมายครุฑพ่าห์” หมายความว่า เครื่องหมายรูปครุฑ พระครุฑพาห หรือพระครุฑพ่าห์ ไม่ว่าในอิริยาบถใด และไม่ว่ามีข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นประกอบด้วยหรือไม่
“ตราตั้ง” หมายความว่า หนังสือสำคัญที่นายกรัฐมนตรีออกให้แก่ห้างร้านหรือบริษัทเพื่อแสดงว่า เป็นห้างร้านหรือบริษัทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ได้รับพระบรมราชานุญาตตามมาตรา ๑๐
“เครื่องหมายตราตั้ง” หมายความว่า เครื่องหมายครุฑพ่าห์ที่ห้างร้านหรือบริษัทมีสิทธิที่จะใช้เมื่อได้รับตราตั้งแล้ว
มาตรา ๕ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในราชการในพระองค์พระมหากษัตริย์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา ๗ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในกรณีอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๘ การขอพระราชทานตราตั้ง คุณสมบัติอื่นของผู้ขอพระราชทานตราตั้ง และการทำหรือใช้เครื่องหมายตราตั้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๙ ห้างร้านหรือบริษัทที่ขอพระราชทานตราตั้งต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอันควรแก่การได้รับพระราชทานตราตั้ง
(๒) มีฐานะการเงินดีและไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(๓) ประกอบธุรกิจโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๔) คุณสมบัติอื่นใดที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘
มาตรา ๑๐ เมื่อสำนักพระราชวังได้ตรวจสอบและพิจารณาเห็นว่า ห้างร้านหรือบริษัทใดที่ขอพระราชทานตราตั้งสมควรได้รับพระราชทานตราตั้ง ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชาชานุญาตแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีออกตราตั้งให้และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑ เมื่อปรากฏว่า ห้างร้านหรือบริษัทใดที่ได้รับพระราชทานตราตั้งขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนตราตั้งที่ได้ออกให้ตามมาตรา ๑๐ และให้ห้างร้านหรือบริษัทนั้นหมดสิทธิที่จะใช้ตราตั้งและเครื่องหมายตราตั้งต่อไป
การสั่งเพิกถอนตราตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓ ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ ตราตั้ง หรือเครื่องหมายตราตั้ง กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔ ในระหว่างที่ยังมิได้ออกระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๕ หรือมีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๘ การทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์หรือเครื่องหมายตราตั้งให้คงเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบว่าด้วยการนั้นต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๕ ผู้ใดได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ หรือมีสิทธิใช้เครื่องหมายตราตั้งอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์หรือเครื่องหมายตราตั้งนั้นได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดได้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐวิสาหกิจนั้นแจ้งเป็นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการเลิกใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์นั้นให้เสร็จสิ้นภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- อานันท์ ปันยารชุน
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม[แก้ไข]
- "พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. 2534". (2534, 15 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 108, ตอน 199 ก, ฉบับพิเศษ. หน้า 1–6.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"
