พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายครุฑพ่าห์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕”
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เครื่องหมายครุฑพ่าห์” หมายความว่า เครื่องหมายรูปครุฑ พระครุฑพาห หรือพระครุฑพ่าห์ ไม่ว่าในอิริยาบถใด และไม่ว่ามีข้อความ ภาพหรือเครื่องหมายอื่นประกอบด้วยหรือไม่
“ห้างร้านบริษัท” หมายความว่า กิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจ โดยใช้ชื่อทางธุรกิจว่า “ห้าง” “ร้าน” “บริษัท” หรือชื่ออื่นในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม
“ตราตั้ง” หมายความว่า หนังสือรับรองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่ออกให้แก่บุคคลหรือห้างร้านบริษัทเพื่อแสดงว่า บุคคลหรือห้างร้านบริษัทตามที่ระบุชื่อเป็นผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในกิจการที่ระบุได้
“เครื่องหมายตราตั้ง” หมายความว่า เครื่องหมายครุฑพ่าห์ที่มีข้อความประกอบเบื้องล่างว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” หรือข้อความเป็นอักษรต่างประเทศตามที่สำนักพระราชวังกำหนด ที่บุคคลหรือห้างร้านบริษัทมีสิทธิที่จะใช้เมื่อได้รับตราตั้งแล้ว”
มาตรา๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๙ บุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ขอพระราชทานตราตั้งต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑)มีฐานะการเงินดี และไม่มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว
(๒)ประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๓)คุณสมบัติอื่นใดที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘
มาตรา๑๐คำขอพระราชทานตราตั้ง ให้ยื่นต่อสำนักพระราชวัง เมื่อสำนักพระราชวังได้ตรวจสอบและพิจารณาเห็นว่า บุคคลหรือห้างร้านบริษัทใดที่ขอพระราชทานตราตั้งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๙ และสมควรได้รับพระราชทานตราตั้ง ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง ออกตราตั้งให้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา๑๑ตราตั้งเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานตราตั้งและใช้เครื่องหมายตราตั้งย่อมสิ้นสุดลง เมื่อปรากฏว่า
(๑)สำนักพระราชวังเรียกคืน เพราะบุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง
(ก)ตาย
(ข)เลิกประกอบกิจการประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราตั้งนั้น
(ค)โอนกิจการดังกล่าวให้ผู้อื่นดำเนินการ หรือ
(๒)สำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอน ตามมาตรา ๑๑ ทวิ วรรคสอง”
มาตรา๕ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔
“มาตรา ๑๑ ทวิ เมื่อปรากฏกรณีตามมาตรา ๑๑ (๑) ให้สำนักพระราชวังเรียกให้ บุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทาน ทายาท หรือผู้รับโอนกิจการ แล้วแต่กรณี ส่งคืนตราตั้งที่นายกรัฐมนตรีออกให้ตามมาตรา ๑๐ ภายในเวลาที่กำหนด
เมื่อสำนักพระราชวังได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับตราตั้งคืนภายในเวลาที่กำหนด หรือเมื่อได้ตรวจสอบและพิจารณาเห็นว่า บุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้งขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ หรือคุณสมบัติอันเป็นเหตุให้การได้รับพระราชทานตราตั้งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีเหตุอื่นอันสมควรเพิกถอนตราตั้ง ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนตราตั้งที่ได้ออกให้ตามมาตรา ๑๐
เมื่อสำนักพระราชวังได้รับตราตั้งคืนตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนตราตั้งตามวรรคสองแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๗ หรือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการทำหรือใช้เครื่องหมายตราตั้งที่ออกตามมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓ ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ ตราตั้ง หรือเครื่องหมายตราตั้ง หรือมีสิทธิ แต่สิทธิเช่นว่านั้นสิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา ๑๑ กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ตนมีสิทธิหรือยังคงมีสิทธิต่อไป หรือไม่ยอมส่งคืนตราตั้งเมื่อถูกเรียกให้ส่งคืนตามมาตรา ๑๑ ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- อานันท์ ปันยารชุน
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535". (2535, 14 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109, ตอน 10 ก. หน้า 5–8.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"