พระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พุทธศักราช 2471
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมควรจะให้นายตำรวจภูธรชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจบางอย่างในการไต่สวนชั้นต้น เพื่อยังความสะดวกให้มียิ่งขึ้นในการปราบปรามการกระทำผิดทางอาชญา
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พุทธศักราช ๒๔๗๑
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓เมื่อมีเหตุเป็นที่เห็นว่า ได้เกิดการทำผิดทางอาชญา นอกจากความผิดฐานลหุโทษ ในที่ซึ่งกรมการอำเภอไม่อยู่และไม่อาจไปถึงได้โดยพลันไซร้ ให้นายตำรวจภูธรซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปมีอำนาจกระทำการไต่สวนชั้นต้นได้ และเพื่อการนั้น ให้มีอำนาจยึดวัตถุพะยานและออกหมายเรียกคนมาสาบานให้การเป็นพะยานทั้งในทางที่จะแสดงความผิดและความบริสุทธิของผู้ถูกสงสัย
มาตรา๔เมื่อนายตำรวจภูธรกระทำการไต่สวนเสร็จแล้ว ให้รายงานเรื่องไปยังกรมการอำเภอเพื่อปฏิบัติการต่อไปตามกฎหมาย
มาตรา๕ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ทั่วพระราชอาณาเขตต์ ยกเว้นแต่ในท้องที่ซึ่งอยู่ภายในเขตต์อำนาจศาลโปรีสภาหรือในท้องที่ซึ่งได้ตั้งศาลแขวงขึ้นแล้ว
ประกาศมาณวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ เป็นปีที่ ๔ ในรัชชกาลปัจจุบัน
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พุทธศักราช 2471". (2471, 5 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 45, ตอน 0 ก. หน้า 127–128.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"