พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2475
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรจะแก้ไขกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. ๑๒๗ บางมาตราเสียใหม่
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ด้วยความแนะนำยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร โดยบทมาตราต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช ๒๔๗๕”
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๘๕ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๘๕ ถ้าผู้ใดวางเพลิงจุดเผาสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี และให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
มาตรา๔ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๘๖ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๘๖ ถ้าผู้ใดวางเพลิงจุดเผาทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ คือ
(๑)เผาเคหสถานที่คนอยู่อาศัยก็ดี
(๒)เผาสาธารณสถานหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาก็ดี
(๓)เผาป่าไม้ก็ดี
(๔)เผาสถานที่และเรือแพอย่างใด ๆ อันเป็นที่เก็บหรือเป็นที่ทำสิ่งของและสินค้าก็ดี
(๕)เผาอสังหาริมทรัพย์อื่นใดอันมิใช่เป็นทรัพย์ของมันก็ดี
ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจนตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่พันบาทขึ้นไปจนถึงหมื่นบาท
ถ้าการที่มันวางเพลิงนี้เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตายไซร้ ท่านให้ประหารชีวิตมันเสีย หรือจำคุกจนตลอดชีวิต”
มาตรา๕ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๘๗ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๘๗ ผู้ใดเอาเพลิงจุดเผาทรัพย์ใด ๆ โดยลักษณะอันน่ากลัวจะเป็นอันตรายแก่ผู้คนหรือทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นมีประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี และให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
ถ้าเนื่องแต่การกระทำเช่นว่านี้ ได้เกิดมีภยันตรายแก่ผู้คนหรืออสังหาริมทรัพย์ดั่งว่ามาในมาตรา ๑๘๖ ไซร้ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘๖ นั้น
ผู้ใดได้ตระเตรียมเพื่อจะกระทำการวางเพลิงจุดเผาทรัพย์ดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘๕ และมาตรา ๑๘๖ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี และปรับไม่เกินพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
มาตรา๖ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๒๐๓ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๐๓ ถ้าผู้ใดกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ
(๑)ปลอมเงินตรา หรือแปลงเงินตราก็ดี
(๒)เอาเงินตราซึ่งมันรู้อยู่ว่า เป็นของปลอมหรือของแปลงนั้น เข้ามาในพระราชอาณาจักรก็ดี
(๓)จำหน่ายเงินตราซึ่งมันรู้อยู่ว่า เป็นของปลอมหรือของแปลง หรือมันมีของเช่นว่านั้นไว้เพื่อจะจำหน่ายก็ดี
ท่านว่า มันต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และให้ปรับตั้งแต่พันบาทขึ้นไปจนถึงหมื่นบาท หรือสิบเท่าราคาเงินปลอมหรือแปลงนั้น จำนวนไหนมากกว่ากัน ให้ถือจำนวนนั้น ด้วยอีกโสดหนึ่ง”
มาตรา๗ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๐๔ ผู้ใดได้เงินตราอันเป็นของปลอมหรือของแปลงมาไว้ โดยมันมิรู้ว่า เป็นของเช่นนั้น ถ้าเมื่อความจริงปรากฏขึ้นแก่มันแล้วว่า เป็นของปลอมหรือของแปลง มันยังขืนเอาเงินนั้นออกจำหน่ายไซร้ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษานุโทษเป็นสามสถาน คือ สถานหนึ่ง ให้จำคุกไม่เกินกว่าสิบปี สถานหนึ่ง ให้ปรับไม่เกินหมื่นบาท หรือสิบเท่าราคาเงินปลอมหรือแปลงนั้น จำนวนไหนมากกว่ากัน ให้ถือจำนวนนั้น สถานหนึ่ง ให้ลงโทษทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วด้วยกัน”
มาตรา๘ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๒๐๕ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๐๕ ผู้ใดทำเครื่องมือหรือวัตถุอย่างใด ๆ ขึ้นไว้ด้วยเจตนาจะปลอมเงินตราหรือแปลงเงินตราก็ดี หรือปรากฏว่า มันมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นนั้นไว้ก็ดี ท่านว่า มันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงสิบห้าปี และให้ปรับตั้งแต่พันบาทขึ้นไปจนถึงหมื่นบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
มาตรา๙ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๒๑๐ แห่งกฎหมายลักษณอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๑๐ ผู้ใดกระทำบัตรหรือโลหธาตุอย่างใด ๆ ให้เป็นรูปและสีสัณฐานคล้ายคลึงกับธนบัตรหรือเงินตราก็ดี หรือมันจำหน่ายของเช่นนั้นก็ดี ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษานุโทษเป็นสามสถาน คือ สถานหนึ่ง ให้จำคุกไม่เกินกว่าหนึ่งปี สถานหนึ่ง ให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาท สถานหนึ่ง ให้ลงโทษทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วด้วยกัน”
ประกาศมาณวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- ประธานคณะกรรมการราษฎร
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2475". (2475, 31 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49, ตอน 0 ก. หน้า 323–328.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"