พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๑๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
เป็นปีที่ ๒๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๒"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๓๕ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"มาตรา ๓๓๕ ทวิ ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนหรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูปหรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๓๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"มาตรา ๓๓๙ ทวิ ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๔๐ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"มาตรา ๓๔๐ ทวิ ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๓๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๙ ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา ๓๔๐ ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๖๐ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"มาตรา ๓๖๐ ทวิ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • จอมพล ถนอม กิตติขจร
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่า ขณะนี้ มีผู้ร้ายลอบลักเอาพระพุทธรูปอันล้ำค่าซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนและมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ตามวัดวาอารามและพิพิธภัณฑสถานไปเป็นจำนวนมาก บางแห่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งทำให้ประชาชนในถิ่นนั้นเศร้าสลดใจในต่อการขาดวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพบูชาในทางพุทธศาสนาไปอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น บางแห่ง การลอบลักพระพุทธรูปนั้นได้กระทำการแสดงถึงความโหดร้ายทารุณไร้ศีลธรรมอย่างหนัก เช่น ตัดเอาเศียรพระพุทธรูปไป คงเหลือแต่องค์พระ นับว่า เป็นการเสื่อมเสียแก่ชาติบ้านเมือง และเป็นผลเสียหายแก่พุทธศาสนา โดยไม่นึกถึงศาสนสมบัติของชาติ บุคคลประเภทนี้สมควรจะได้รับโทษหนักกว่าการกระทำต่อทรัพย์สินธรรมดาของส่วนบุคคล รวมทั้งผู้รับของโจรและผู้ส่งออกต่างประเทศด้วย จะอาศัยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเดิมโทษก็เบามาก ไม่เป็นการป้องกันได้เพียงพอ โดยเหตุนี้ จึงเป็นการสมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและรักษาไว้ซึ่งทรัพย์อันล้ำค่าของชาตินี้มิให้มีการลอบลักเอาไปต่างประเทศเสียหมด ก่อนที่จะสายเกินไป

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"