ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๘๗

๒๖ กันยายน ๒๕๓๓
ฉบับพิเศษ หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐)
พ.ศ. ๒๕๓๓

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓
เป็นปีที่ ๔๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓”

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓๖ และมาตรา ๑๔๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๓๖ ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(๑)บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

(๒)บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้

(๓)ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

(๔)ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (๑) (๒) และ (๓) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา ๑๔๓๗ การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่า จะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อหมั้นแล้ว ให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึงมาตรา ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๓๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๓๙ เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๔๑ ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๔๗ ค่าทดแทนอันจะพึงชดใช้แก่กันตามหมวดนี้ ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้ นอกจากค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ (๒) ไม่อาจโอนกันได้ และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว”

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๔๗/๑ และมาตรา ๑๔๔๗/๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๔๗/๑ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๓๙ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๔ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันกระทำการดังกล่าวสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๕ และมาตรา ๑๔๔๖ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ชายคู่หมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของชายอื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทนและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ชายอื่นได้กระทำการดังกล่าว

มาตรา ๑๔๔๗/๒ สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา ๑๔๓๙ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น

สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา ๑๔๔๒ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๖๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๖๔ ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริต ไม่ว่าศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูฝ่ายที่วิกลจริตตามมาตรา ๑๔๖๑ วรรคสอง หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด อันเป็นเหตุให้ฝ่ายที่วิกลจริตตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดความเสียหายทางทรัพย์สินถึงขนาด บุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙ หรือผู้อนุบาลอาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริต หรือขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริตนั้นได้

ในกรณีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่งถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้ขอต่อศาลในคดีเดียวกันให้ศาลมีคำสั่งว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยขอให้ตั้งตนเองหรือผู้อื่นที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้อนุบาล หรือถ้าได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถอยู่แล้ว จะขอให้ถอดถอนผู้อนุบาลคนเดิมและแต่งตั้งผู้อนุบาลคนใหม่ก็ได้

ในการขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ เพื่อคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตโดยมิได้เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วยนั้น จะไม่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะไม่ขอเปลี่ยนผู้อนุบาลก็ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าวิธีการคุ้มครองที่ขอนั้นจำต้องมีผู้อนุบาลหรือเปลี่ยนผู้อนุบาล ให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง แล้วจึงมีคำสั่งคุ้มครองตามที่เห็นสมควร”

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๖๔/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๖๔/๑ ในระหว่างการพิจารณาคดีตามมาตรา ๑๔๖๔ ถ้ามีคำขอศาลอาจกำหนดวิธีการชั่วคราวเกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูหรือการคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ”

มาตรา๑๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๗๖ สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(๒)ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(๓)ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(๔)ให้กู้ยืมเงิน

(๕)ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(๖)ประนีประนอมยอมความ

(๗)มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(๘)นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา๑๑ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๗๖/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๗๖/๑ สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔๖๕ และมาตรา ๑๔๖๖ ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา ๑๔๗๖ การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๗๖”

มาตรา๑๒ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๗๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๗๗ สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าว ให้ถือว่า เป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน”

มาตรา๑๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๘๐ การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๑๔๗๖ ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น”

มาตรา๑๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ และมาตรา ๑๔๘๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๘๒ ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวตามสมควรแก่อัตภาพได้ ค่าใช้จ่ายในการนี้ย่อมผูกพันสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

ถ้าสามีหรือภริยาจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นที่เสียหายถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้

มาตรา ๑๔๘๓ ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว ถ้าสามีหรือภริยาจะกระทำ หรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการสินสมรสอันพึงเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้กระทำการนั้นได้

มาตรา ๑๔๘๔ ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส

(๑)จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด

(๒)ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง

(๓)มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส

(๔)ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(๕)มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส

อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ”

มาตรา๑๕ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๘๔/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๘๔/๑ ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจในการจัดการสินสมรสของสามีหรือภริยาตามมาตรา ๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ หรือมาตรา ๑๔๘๔ ถ้าต่อมาเหตุแห่งการนั้นหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ห้ามหรือจำกัดอำนาจจัดการสินสมรสนั้นได้ในการนี้ศาลจะมีคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้”

มาตรา๑๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๘๖ และมาตรา ๑๔๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๘๖ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดตามความในมาตรา ๑๔๘๒ วรรคสอง มาตรา ๑๔๘๓ มาตรา ๑๔๘๔ มาตรา ๑๔๘๔/๑ หรือมาตรา ๑๔๘๕ อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องขอ หรือตามมาตรา ๑๔๙๑ มาตรา ๑๔๙๒/๑ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๑๗ หรือเมื่อสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส

มาตรา ๑๔๘๗ ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ฝ่ายใดจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เว้นแต่เป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่างสามีภริยาตามที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายนี้หรือที่ประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้สามีภริยาฟ้องร้องกันเองได้ หรือเป็นการยึด หรืออายัดทรัพย์สินสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังมิได้ชำระตามคำพิพากษาของศาล”

มาตรา๑๗ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๑๔๙๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑)หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ”

มาตรา๑๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๙๒ เมื่อได้แยกสินสมรสตามมาตรา ๑๔๘๔ วรรคสอง มาตรา ๑๔๙๑ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๑๗ วรรคสองแล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา ๑๔๗๔ (๒) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง

ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้วให้เป็นสินส่วนตัว”

มาตรา๑๙ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๙๒/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๙๒/๑ ในกรณีที่มีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล การยกเลิกการแยกสินสมรสให้กระทำได้เมื่อสามีหรือภริยาร้องขอต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ถ้าภริยาหรือสามีคัดค้านศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสได้ต่อเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อมีการยกเลิกการแยกสินสมรสตามวรรคหนึ่ง หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลง เพราะสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่ง หรือในวันที่พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปตามเดิม”

มาตรา๒๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๕ มาตรา ๑๔๙๖ และมาตรา ๑๔๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๙๕ การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ มาตรา ๑๔๕๒ และมาตรา ๑๔๕๘ เป็นโมฆะ

มาตรา ๑๔๙๖ คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ และมาตรา ๑๔๕๘ เป็นโมฆะ

คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้

มาตรา ๑๔๙๗ การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้”

มาตรา๒๑ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๙๗/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๙๗/๑ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า การสมรสใดเป็นโมฆะ ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส”

มาตรา๒๒ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๙๘ และมาตรา ๑๔๙๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๙๘ การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผล คงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครองครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

มาตรา ๑๔๙๙ การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ให้นำมาตรา ๑๕๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๕๒๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะสำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒”

มาตรา๒๓ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๙๙/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๔๙๙/๑ ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด หรือฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ให้ทำเป็นหนังสือ หากตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดในการพิจารณาชี้ขาด

ถ้าศาลเห็นว่า มีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา ๑๕๘๒ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ และให้นำความในมาตรา ๑๕๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา๒๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๐๐ การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสตามมาตรา ๑๔๙๗/๑”

มาตรา๒๕ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔/๑) และ (๔/๒) ของมาตรา ๑๕๑๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“(๔/๑)สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๒)สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา๒๖ให้ยกเลิกความใน (๕) ของมาตรา ๑๕๑๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๕)สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญหรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา๒๗ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๒๐ และมาตรา ๑๕๒๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๒๐ ในกรณีหย่าโดยความยินยอมให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาด ถ้าศาลเห็นว่า มีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา ๑๕๘๒ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

มาตรา ๑๕๒๑ ถ้าปรากฏว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๒๐ ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ”

มาตรา๒๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๓๘ ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง

ในกรณีที่หญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่า เด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง ให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ มาใช้บังคับ

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เด็กที่เกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ด้วย”

มาตรา๒๙ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๓๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีที่สันนิษฐานว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตามมาตรา ๑๕๓๖ มาตรา ๑๕๓๗ หรือมาตรา ๑๕๓๘ ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเด็กเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาเด็กร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์หรือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น”

มาตรา๓๐ให้ยกเลิกมาตรา ๑๕๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา๓๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔๒ มาตรา ๑๕๔๓ มาตรา ๑๕๔๔ และมาตรา ๑๕๔๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๔๒ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า เด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย ผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗ หรือชายผู้เป็นสามีในการสมรสครั้งหลังตามมาตรา ๑๕๓๘ ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา ๑๕๓๖ ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ว่า มีคำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๑๕๔๓ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีได้ฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรแล้ว และตายก่อนคดีนั้นถึงที่สุด ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็กนั้นจะขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่หรืออาจถูกเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีก็ได้

มาตรา ๑๕๔๔ การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็กอาจฟ้องได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้

(๒)เด็กเกิดภายหลังการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี

การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๑) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการตายของชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามี การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๒) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่รู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ไม่ว่าเป็นกรณีใด ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

ให้นำมาตรา ๑๕๓๙ มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๔๕ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงต่อเด็กว่า ตนมิได้เป็นบุตรสืบสายโลหิตของชายผู้เป็นสามีของมารดาตน เด็กจะร้องขอต่ออัยการให้ฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นก็ได้

การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเด็กได้รู้ข้อเท็จจริงก่อนบรรลุนิติภาวะว่าตนมิได้เป็นบุตรของชายผู้เป็นสามีของมารดา ห้ามอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าเด็กรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวหลังจากบรรลุนิติภาวะแล้ว ห้ามอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กรู้เหตุนั้น

ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ”

มาตรา๓๒ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๔๘ บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก

ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล

เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้”

มาตรา๓๓ให้ยกเลิกมาตรา ๑๕๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา๓๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๕๒ ในกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมีมารดาแต่มารดาถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดและศาลได้ตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดไว้ก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ปกครองและให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบิดาอาจใช้อำนาจปกครองเพื่อความผาสุกและประโยชน์ของเด็กได้ดียิ่งกว่าผู้ปกครอง ศาลจะมีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ปกครองและให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้”

มาตรา๓๕ให้ยกเลิกมาตรา ๑๕๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา๓๖ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๑๕๕๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๔)เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่า เด็กเป็นบุตร โดยมีหลักฐานว่า บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น”

มาตรา๓๗ให้ยกเลิกความใน (๖) ของมาตรา ๑๕๕๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๖)เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น”

มาตรา๓๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๖๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๖๖ บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา

อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)มารดาหรือบิดาตาย

(๒)ไม่แน่นอนว่า มารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย

(๓)มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๔)มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

(๕)ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

(๖)บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้”

มาตรา๓๙ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕๖๙/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๕๖๙/๑ ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาลให้คำสั่งนั้นมีผลเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

ในกรณีที่บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ให้บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น”

มาตรา๔๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๗๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๗๔ นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

(๑)ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(๒)กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

(๓)ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์

(๔)จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

(๕)ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(๖)ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)

(๗)ให้กู้ยืมเงิน

(๘)ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

(๙)รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(๑๐)ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

(๑๑)นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๔ (๑) (๒) หรือ (๓)

(๑๒)ประนีประนอมยอมความ

(๑๓)มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย”

มาตรา๔๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๘๐ ผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองจะให้การรับรองการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้ต่อเมื่อได้รับมอบทรัพย์สินบัญชีและเอกสารตามมาตรา ๑๕๗๘ แล้ว”

มาตรา๔๒ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕๘๔/๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา ๑๕๘๔/๑ บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม”

มาตรา๔๓ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕๘๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนตามมาตรา ๑๕๘๒ วรรคหนึ่ง ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา ๑๕๘๒ วรรคสอง ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้”

มาตรา๔๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๘๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๘๖ ผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๕ นั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕๙๐ การตั้งผู้ปกครองนั้นถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๗”

มาตรา๔๕ให้ยกเลิกความใน (๕) ของมาตรา ๑๕๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๕)ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง”

มาตรา๔๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๘๘ หากปรากฏว่า บุคคลที่ศาลตั้งให้เป็นผู้ปกครองเป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๗ อยู่ในขณะที่ศาลตั้งให้เป็นผู้ปกครองโดยปรากฏแก่ศาลเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองนั้นเสียและมีคำสั่งเกี่ยวกับผู้ปกครองต่อไปตามที่เห็นสมควร

การเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต เว้นแต่ในกรณีการเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองที่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๘๗ (๑) หรือ (๒) การกระทำของผู้ปกครองไม่ผูกพันผู้เยาว์ไม่ว่าบุคคลภายนอกจะได้กระทำการโดยสุจริตหรือไม่”

มาตรา๔๗ให้ยกเลิกมาตรา ๑๕๘๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา๔๘ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๐ มาตรา ๑๕๙๑ และมาตรา ๑๕๙๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๐ ผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ในกรณีมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ตั้งผู้ปกครองหลายคน หรือเมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร ให้ศาลมีอำนาจตั้งผู้ปกครองได้ตามจำนวนที่ศาลเห็นว่าจำเป็น ในกรณีที่ตั้งผู้ปกครองหลายคนศาลจะกำหนดให้ผู้ปกครองเหล่านั้นกระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้

มาตรา ๑๕๙๑ ความเป็นผู้ปกครองนั้นเริ่มแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล

มาตรา ๑๕๙๒ ให้ผู้ปกครองรีบทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่ทราบคำสั่งตั้งของศาล แต่ผู้ปกครองจะร้องต่อศาลก่อนสิ้นกำหนดขอให้ยืดเวลาก็ได้

บัญชีนั้นต้องมีพยานรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนั้นต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะและเป็นญาติของผู้อยู่ในปกครอง แต่ถ้าหาญาติไม่ได้ จะให้ผู้อื่นเป็นพยานก็ได้”

มาตรา๔๙ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕๙๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ถ้าศาลมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นภายในสิบห้าวันนับแต่วันยื่นบัญชี หรือวันชี้แจงเพิ่มเติม หรือวันนำเอกสารยื่นประกอบแล้วแต่กรณี ให้ถือว่าศาลยอมรับบัญชีนั้นแล้ว”

มาตรา๕๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๖ มาตรา ๑๕๙๘/๗ และมาตรา ๑๕๙๘/๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๖ ความปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้อยู่ในปกครองตายหรือบรรลุนิติภาวะ

มาตรา ๑๕๙๘/๗ ความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้ปกครอง

(๑)ตาย

(๒)ลาออกโดยได้รับอนุญาตจากศาล

(๓)เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๔)เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕)ถูกถอนโดยคำสั่งศาล

มาตรา ๑๕๙๘/๘ ให้ศาลสั่งถอนผู้ปกครองในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)ผู้ปกครองละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่

(๒)ผู้ปกครองประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่

(๓)ผู้ปกครองใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

(๔)ผู้ปกครองประพฤติมิชอบซึ่งไม่สมควรแก่หน้าที่

(๕)ผู้ปกครองหย่อนความสามารถในหน้าที่จนน่าจะเป็นอันตรายแก่ประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครอง

(๖)มีกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘๗ (๓) (๔) หรือ (๕)”

มาตรา๕๑ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๑๕ และมาตรา ๑๕๙๘/๑๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๑๕ ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓)

มาตรา ๑๕๙๘/๑๖ คู่สมรสซึ่งเป็นผู้อนุบาลของคู่สมรสที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว แต่การจัดการสินส่วนตัวและสินสมรสตามกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ วรรคหนึ่ง คู่สมรสนั้นจะจัดการไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล”

มาตรา๕๒ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๑๘ และมาตรา ๑๕๙๘/๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๑๘ ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตร ถ้าบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าบุตรนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓)

ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือมิใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้อยู่ในความอนุบาลบรรลุนิติภาวะแล้วจะใช้สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓) ไม่ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๑๙ บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี”

มาตรา๕๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาตรา ๑๕๙๘/๒๓ มาตรา ๑๕๙๘/๒๔ และมาตรา ๑๕๙๘/๒๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๒๑ การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง

ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ ในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมารดา ถ้าสถานสงเคราะห์เด็กไม่ให้ความยินยอม ให้นำความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙๘/๒๓ ในกรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้งแต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็กบิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง จะทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมแทนตนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้นำความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หนังสือมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งจะถอนเสียมิได้ตราบเท่าที่ผู้เยาว์ยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้น

มาตรา ๑๕๙๘/๒๔ ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์เด็กในการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ จะรับผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของผู้นั้นแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็ก

มาตรา ๑๕๙๘/๒๕ ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น”

มาตรา๕๔ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยจะต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่แล้ว และมิให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับ”

มาตรา๕๕ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๒๗ การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน”

มาตรา๕๖ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาตรา ๑๕๙๘/๒๓ มาตรา ๑๕๙๘/๒๔ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ วรรคสอง ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ”

มาตรา๕๗ให้ยกเลิกความใน (๑) (๒) และ (๓) ของมาตรา ๑๕๙๘/๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑)ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๒)ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๓)ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษอาญาอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้”

มาตรา๕๘ให้ยกเลิกความใน (๘) ของมาตรา ๑๕๙๘/๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๘)ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด และเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้”

มาตรา๕๙ให้ยกเลิก (๙) ของมาตรา ๑๕๙๘/๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา๖๐ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๓๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๓๕ การฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ให้บิดามารดาโดยกำเนิดเป็นผู้มีอำนาจฟ้องแทน แต่ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วบุตรบุญธรรมฟ้องได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใด

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง อัยการจะฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรมก็ได้”

มาตรา ๖๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕๙๘/๓๗ เมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมีอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ หรือนับแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม แต่ถ้าได้มีการตั้งผู้ปกครองของผู้เป็นบุตรบุญธรรมไว้ก่อน การเลิกรับบุตรบุญธรรม ให้ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป เว้นแต่บิดามารดาโดยกำเนิดจะร้องขอ และศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอเป็นผู้มีอำนาจปกครอง

การเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้มาโดยสุจริตก่อนจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม”

มาตรา๖๒ในกรณีที่มีการให้ของหมั้นกันไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ของหมั้นดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่หญิงเมื่อได้ทำการสมรสแล้ว

มาตรา๖๓นิติกรรมที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้กระทำไปในการจัดการสินสมรส โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การให้สัตยาบันหรือการขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้น ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๖๔ถ้ามีคดีฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ เพราะเหตุสมรสฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๔๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

มาตรา๖๕ในกรณีที่มีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพหรือสิทธิในมรดกของคู่สมรสที่ตายซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่สมรสโดยสุจริตมีอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๙๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๖๖ในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายถ้าเจ้าหน้าที่ได้ส่งแจ้งความการขอจดทะเบียนไปยังเด็กหรือมารดาเด็กแล้ว แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๖๗บิดาซึ่งได้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ถอนความเป็นผู้ปกครองได้ตามมาตรา ๑๕๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าบิดาจะได้เคยร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองมาก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม

มาตรา๖๘ในกรณีที่มีการตั้งผู้ปกครองโดยพินัยกรรม ถ้าผู้ที่ทำพินัยกรรมตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การตั้งผู้ปกครองให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๖๙บทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ และมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา๗๐บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรสสัญญาก่อนสมรส การเป็นบิดามารดากับบุตร การเป็นผู้ปกครอง และการรับบุตรบุญธรรมที่ได้มีอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา๗๑บรรดาอายุความหรือระยะเวลาที่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และอายุความหรือระยะเวลาที่กำหนดขึ้นใหม่นั้นแตกต่างกับอายุความหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ก็ให้นำอายุความหรือระยะเวลาที่ยาวกว่ามาบังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสมบูรณ์ของการหมั้นและผลของการหมั้น การคุ้มครองคู่สมรสที่วิกลจริต การจัดการสินสมรส การแยกสินสมรสและรวมสินสมรส การสมรสที่เป็นโมฆะ เหตุหย่า ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรในกรณีมีการหย่า บทสันนิษฐานความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร การฟ้องปฏิเสธความเป็นบุตร การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร การฟ้องให้รับเด็กเป็นบุตร อำนาจปกครอง การเป็นผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ การจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ผู้ปกครอง และบุตรบุญธรรม นั้น ยังไม่สอดคล้องและไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"