พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2551
เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๔๕ ก
๗ มีนาคม ๒๕๕๑
ราชกิจจานุเบกษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๖๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔๖๒ ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลายความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้”
มาตรา๔ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕๔๖ เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา๕ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕๕๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕๕๕ ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑)เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(๒)เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
(๓)เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของตน
(๔)เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่า เด็กเป็นบุตร โดยมีหลักฐานว่า บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
(๕)เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
(๖)เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
(๗)เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร”
มาตรา๖ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕๕๗ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้ จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”
มาตรา๗ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๙๘/๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕๙๘/๓๗ เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือมีการเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมีอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือนับแต่เวลาที่จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ หรือนับแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม เว้นแต่ศาลเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น
ในกรณีที่มีการตั้งผู้ปกครองของผู้เป็นบุตรบุญธรรมไว้ก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือก่อนการเลิกรับบุตรบุญธรรม ให้ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป เว้นแต่บิดามารดาโดยกำเนิดจะร้องขอ และศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอเป็นผู้มีอำนาจปกครอง
การเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครองตามวรรคหนึ่งหรือผู้ปกครองตามวรรคสองไม่เป็นเหตุเสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้มาโดยสุจริตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือก่อนจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม
ให้พนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเป็นประการอื่นตามวรรคหนึ่ง”
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"