พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะกู้หนี้ยืมสิน รัตนโกสินทรศก 110 (รก.)
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ นำความขัดข้องขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ทุกวันนี้ การค้าขายเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเก่าก่อนโดยการที่มีเกี่ยวข้องกับนานาประเทศแล้ว แลมีวิธีเข้าหุ้นส่วนกันเปนพวกเปนเหล่า แลเจ้าทรัพย์สินทดรองทุนให้คนที่มีแรงทำการค้าขายเปนอเนกบริยายมาแล้ว แลธรรมดาการค้าขายก็ย่อมมีเวลาวัฒนะแลหายนะตามกาลสมัยเหมือนการงานอื่น ๆ บางคนบางพวกที่เคราะห์ร้ายทำการค้าขายไปก็ขาดทุนโดยไม่ได้คิดฉ้อฉนผู้ใด เจ้าหนี้ผู้ที่ให้กู้ให้ยืมทรัพย์ไปเห็นใจจริงของลูกหนี้ว่าเคราะห์ร้ายแล้วก็กรุณาลดหย่อนผ่อนเอาส่วนทรัพย์คืนแต่น้อยพอควรแก่กฎหมายแลธรรมเนียมยุติธรรมที่เปนอยู่ทั่วไปในประเทศอื่น ๆ เปนอันมากแล้วก็มี แต่เจ้าหนี้บางคนมีใจโลภเหลือเกิน เห็นช่องที่กฎหมายเก่ามีอยู่ตามธรรมเนียมในโบราณกาล ก็คิดขัดขวางไม่ยอมลดหย่อนผ่อนผันแก่ลูกหนี้ จะขืนเอาตามความในกฎหมายเก่านั้น ทำให้เกิดคดีมีถ้อยความค้างโรงศาลอยู่เปนอันมาก ทั้งเปนที่เดือดร้อนแก่ลูกหนี้ผู้มีความยากไร้ยิ่งนัก ฉันใดจะเปนการดีที่เรียบร้อยต่อไปได้ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยไว้เปนแบบอย่างด้วย
จึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นโดยทรงพระเมตตาพระกรุณาแก่อาณาประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้ทำมาหากินกันโดยสุจริตแลไม่ให้คิดฉ้อโกงซึ่งกันแลกันนั้นว่า ควรจะแก้ไขกฎหมายเก่าที่หนักแรงอยู่เหลือเกินนั้นให้เปนการยุติธรรมสมควรแก่การแลเวลา จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้สืบไปว่า
มาตรา๑บันดาข้อความทั้งปวงที่กล่าวไว้ในกฎหมาย อันประกอบกับความในลักษณกู้หนี้ถือสินหลายแห่ง สินล้นพ้นตัวแล้วให้ขายขาดค่าก็ดี ขายทอดตลาดก็ดี ดังมีอยู่ในสามมาตรา (น่า ๒๑๘ น่า ๒๑๙ เล่ม ๑ ลงพิมพ์ปีจอ ฉศ๗ก ๑๒๓๖) นั้น ให้ยกเลิกเสีย อย่าให้ใช้อีกต่อไป
มาตรา๒บุทคลหลายคนเข้าหุ้นเข้าส่วนกันมีชื่อเปนบริษัทอันหนึ่งซึ่งคิดทำการค้าขายอันได้เปิดเผยประกาศโฆษนาให้คนรู้ทั่วแล้วว่า มีกำหนดหุ้นส่วนราคาเท่านั้น วางเงินไว้เปนกลางเปนทุนทำการของบริษัทนั้น แลมีราคาหุ้นส่วนซื้อขานกันได้ต่อไปฉนี้ ผู้ถือหุ้นส่วนนั้นไม่ต้องใช้หนี้ของบริษัทเช่นนี้อีก นอกจากจำนวนเงินหุ้นส่วนที่ต้องวางไว้เปนทุนของบริษัทนั้น
มาตรา๓บริษัทเช่นกล่าวนี้ก็ดี ฤๅบุทคลผู้เปนลูกหนี้ก็ดี ถ้าสินล้นพ้นตัว ฤๅทำการไปไม่มีกำไรก็ดี จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานไปตรวจจัดการเพื่อที่จะให้บริษัทฤๅบุทคลนั้นได้ล้มละลายชำระหนี้สินกันเสียให้เสร็จสิ้น แล้วก็ให้ผู้พิพากษาตระลาการมีอำนาจตั้งพนักงานไปตรวจตราจัดการเก็บทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของลูกหนี้แลบาญชีนั้นได้ เพื่อที่จะให้ศาลได้พิจารณาชำระหนี้นั้น
มาตรา๔ในเวลาที่พิจารณาความแลตรวจบาญชีนี้ ถ้าผู้พิพากษาตระลาการเห็นเปนมีเหตุที่สมควรจะต้องเรียกประกันตัวลูกหนี้ผู้ที่ขอล้มนั้น ก็เรียกได้ แต่อย่าให้กักขังจำจองไว้ในระหว่างชำระโดยไม่มีเหตุ เว้นเสียแต่มีผู้ร้องต่อศาล ฤๅศาลมีเหตุสมควรที่จะสงไสยว่า ลูกหนี้นั้นจะคิดหลบหนีไปก็ดี ฤๅจะคิดยักยอกทรัพย์สมบัติอย่างไรก็ดี จึ่งให้กักขังไว้ได้
มาตรา๕เมื่อพนักงานผู้จัดการล้มละลายที่ศาลตั้งไปนั้นได้นำความเสนอต่อศาลเปนประการใดแล้ว ให้ผู้พิพากษาตระลาการตัดสินแบ่งส่วนหนี้สินที่ชำระได้นั้นใช้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ที่ฟ้องร้องแลมีบาญชีถูกต้องกันนั้นตามส่วนจำนวนเงินหนี้ที่มีมากแลน้อย
มาตรา๖เมื่อศาลได้พิจารณาความแล้วแลเห็นว่า เปนการสุจริตของลูกหนี้ ไม่มีเหตุที่จะเห็นว่า เปนการฉ้อโกงแลยักยอกปิดบังทรัพย์ไว้ แลได้ทรัพย์มาใช้หนี้สิ้นเชิงแล้ว ก็ให้ทำคำตัดสินว่า บริษัทฤๅบุทคลผู้เปนลูกหนี้นั้นได้ล้มละลายใช้หนี้สินเปนเสร็จชั้นหนึ่ง แล้วให้คดีอันนั้นเปนอันเลิกแล้วแก่กันไป คำตัดสินนี้ให้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาให้ปรากฎชื่อผู้ล้มไว้ด้วย
มาตรา๗แม้ว่าลูกหนี้จะได้รับคำตัดสินดังกล่าวมาแล้วนี้ก็ดี ถ้าการต่อไปภายน่าเจ้าหนี้สืบทราบว่า ลูกหนี้ทำการทุจริตปิดบังทรัพย์สินไว้ฤๅคิดฉ้อโกงอย่างหนึ่งอย่างใดที่เจ้าหนี้ยังไม่ทราบในเวลาชำระแลยังไม่ได้มีผู้ร้องให้ศาลได้พิจารณามาแต่ก่อนแล้ว ฤๅลูกหนี้มีทรัพย์ขึ้นอีกภายหลัง เจ้าหนี้นั้นจะฟ้องร้องให้เรียกลูกหนี้นั้นมาพิจารณาอีกต่อไปก็ได้ ไม่เปนคดีที่ขัดขวางต่อลักษณรับฟ้องซึ่งว่า คดีเดียวกันก็ดี ฤๅคะดีที่มีคำตัดสินแล้วก็ดิ ไม่ให้พิจารณานั้นแล้ว ให้ศาลพิจารณาความเช่นนี้ได้อีกต่อไป
ประกาศมาณวันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศ๒ก๔ ๑๑๐ เปนวันที่ ๘๕๑๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณกู้หนี้ยืมสิน รัตนโกสินทร์ศก 110". (2434, 13 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 8, ตอน 50. หน้า 445–447.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"