พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๓

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว

มาตรา  ให้ใช้บทบัญญัติท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา  พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ไม่ว่ามูลคดีได้เกิดขึ้นก่อนหรือในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เว้นแต่มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับแก่คดีในลักษณะดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

มาตรา  ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะที่มีอาวุโสถัดจากรองประธานศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น คนที่สาม และรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค อยู่ในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ต่อไป จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่ต้องไม่เกินวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค เฉพาะที่มีอาวุโสถัดจากรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค คนที่หนึ่ง อยู่ในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ต่อไป จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่ต้องไม่เกินวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมีหน้าที่ช่วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และอธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามที่ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และอธิบดีผู้พิพากษาภาคมอบหมาย แล้วแต่กรณี

มาตรา  บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ ระเบียบ ข้อบังคับ และบรรดาคำสั่งต่าง ๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ตรา หรือออกโดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ออกใช้บังคับแทน

มาตรา  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • ชวน หลีกภัย
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาครบองค์คณะ และผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ประกอบกับมาตรา ๒๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และได้ห้ามการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี นอกจากนี้ ได้มีการตรากฎหมายตามมาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้การจัดระบบการบริหารงานศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมสอดคล้องกับกฎหมายซึ่งตราขึ้นตามมาตรา ๒๗๕ ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"