ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 1/บท 17

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช

ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพจึงให้หาหลวงราชนิกูล พระรักษมณเฑียร แลเจ้าพนักงานทั้งปวง เอาเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์ไปยังวัดราชประดิษฐาน อัญเชิญพระเทียรราชาให้ปริวัตรลาพระผนวช แล้วเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์อลงการ์ ประดับด้วยเครื่องสูงมยุรฉัตรพัดโบกจามรมาศ ดาษดาด้วยเรือดั้งกันแห่เปนขนัดแน่นโดยชลมารควิถี เสด็จถึงประทับฉนวนน้ำ แลเชิญเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ครั้นได้มหามหุติวารศุภฤกษ์พิไชยดฤถี จึงประชุมสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะคามวาสีอรัญวาสี มุขมาตยามนตรีกระวีโหราราชครู หมู่พราหมณปโรหิตาจารย์ ก็โอมอ่านอิศรเวทวิศณุมนต์ พร้อมทั้งพุทธจักรอาณาจักร มอบเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ถวายอภิเศโกทกมุรธาราปราบดาภิเศกถวัลยราชประเพณีสืบศรีสุริยวงษ์กระษัตริย์ดำรงแผ่นพิภพมณฑลเสมาอาณาจักรกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถานสืบไป ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพจึงพาเอาตัวพระศรีศิลป์ไปถวาย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าทรงพระมหาการุญภาพเลี้ยงพระศรีศิลป์ไว้.

ครั้นรุ่งขึ้น เสด็จออก หมู่มุขมาตยามนตรีทั้งปวงพร้อมแล้ว ตรัศปฤกษาความชอบขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า สี่คนนี้เปนประถมคิด แลพระหลวงขุนหมื่นหัวเมืองทั้งปวงเปนผู้ช่วยราชการ พระมหาราชครูทั้งสี่เชิญพระธรรมนูญหอหลวงมาปฤกษาความชอบ เอาบำเหน็จครั้งเจ้าพระยามหาเสนาบดีรับพระนครอินทร์เข้ามาแต่เมืองสุพรรณบุรีเข้าพระราชวังได้ เอามาเปรียบ ในบำเหน็จนั้น พระราชทานลูกพระสนมองค์หนึ่ง เจียดทองคู่หนึ่ง พานทองคู่หนึ่ง เต้าน้ำทอง กระบี่กั้นหยั่น เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว เอาคำปฤกษากราบบังคมทูล ทรงพระกรุณาดำรัศว่า น้อยนัก คนสี่คนนี้เอาชีวิตรแลโคตรแลกความชอบไว้ในแผ่นดิน แล้วตรัศว่า ขุนพิเรนทรเทพเล่า บิดาเปนพระราชวงษ์พระร่วง มารดาไซ้เปนพระราชวงษ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า ขุนพิเรนทรเทพประถมคิด เอาเปนสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ให้รับพระบัณฑูร ครองเมืองพระพิศณุโลก จึงตรัศเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราช ถวายพระนาม พระวิสุทธิกระษตรี เปนตำแหน่งพระอรรคมเหษีเมืองพระพิศณุโลก พระราชทานเครื่องราชาบริโภค ให้ตั้งตำแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือน เรือไชยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง แลเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป เอาขุนอินทรเทพเปนเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชครองเมืองนครศรีธรรมราช พระราชทานลูกพระสนมเอกองค์หนึ่ง เจียดทองคู่หนึ่ง พานทองคู่หนึ่ง เต้าน้ำทอง กระบี่กั้นหยั่น เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว เครื่องสูงพร้อม เอาหลวงศรียศเปนเจ้าพระยามหาเสนาบดี เอาหมื่นราชเสน่หาเปนเจ้าพระยามหาเทพ พระราชทานลูกพระสนม แลเครื่องสูง เครื่องทอง เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว แก่เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาเทพ เหมือนกันกับเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช หมื่นราชเสน่หานอกราชการที่ยิงมหาอุปราชตกช้างตายนั้น ปูนบำเหน็จให้เปนพระยาภักดีนุชิต พระราชทานเจียดทองซ้ายขวา กระบี่บั้งทอง เต้าน้ำทอง พระราชทานลูกพระสนมเปนภรรยา ฝ่ายพระยาพิไชย พระยาสวรรคโลก นั้น พระราชทานบำเหน็จให้เปนเจ้าพระยาพิไชย เจ้าพระยาสวรรคโลก พระราชทานเจียดทองซ้ายขวา กระบี่บั้งทอง เต้าน้ำทอง พระหลวงขุนหมื่นนั้น พระราชทานบำเหน็จความชอบโดยอนุกรมลำดับ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัศสาบาลไว้ว่า กระษัตริย์พระองค์ใดได้ครองพิภพไปภายน่า อย่าให้กระทำร้ายแก่ญาติพี่น้องพวกพงษ์สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า แลเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช แลเจ้าพระยามหาเสนา แลเจ้าพระยามหาเทพ ให้โลหิตตกลงในแผ่นดิน ถ้ากระษัตริย์พระองค์ใดมิได้กระทำตามคำเราสาบาลไว้ อย่าให้กระษัตริย์พระองค์นั้นคงอยู่ในเสวตรฉัตร ขณะเมื่อแผ่นดินพระนครศรีอยุทธยาเปนทุรยศปรากฎไปถึงกรุงหงษาวดี สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแจ้งประพฤดิเหตุไปว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าแผ่นดินพระนครศรีอยุทธยาสวรรคตแล้ว เสนาบดียกพระแก้วฟ้าราชกุมารพระชนม์ ๑๑ ขวบขึ้นครองราชสมบัติ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์มารดาพระแก้วฟ้ากระทำทุราจารสามัคคีรสด้วยขุนชินราช ให้ฆ่าพระแก้วฟ้าเสีย ยกขุนชินราชขึ้นผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา เสนาพฤฒามาตย์มีความพิโรธเคืองแค้น คิดกันฆ่าขุนชินราชแลแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสีย แผ่นดินเปนจลาจล สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงดำริห์ว่า ถ้าพระนครศรีอยุทธยาเปนดังนี้จริง เห็นว่า หัวเมืองขอบขัณฑเสมาแลเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงจะกระด้างกระเดื่องมิปรกติ ถ้ายกกองทัพรุดไปโจมตีเอา เห็นจะได้พระนครศรีอยุทธยาโดยง่าย ทรงพระดำริห์แล้ว ก็ตรัศให้จัดพลทหารราบ ๓ หมื่น ช้างเครื่อง ๓ ร้อย ม้า ๒ พัน เสร็จ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จยกทัพรุดรีบมาโดยทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ ตีเมืองกาญจนบุรี จับได้กรมการ ถามให้การว่า พระนครเปนจลาจลจริง แต่บัดนี้ พระเทียรราชาได้เสวยราชสมบัติ เสนาพฤฒามาตย์แลหัวเมืองทั้งปวงเปนปรกติพร้อมมูลอยู่แล้ว สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า ได้ล่วงเกินมาถึงนี่แล้วจะกลับเสียนั้น ดูไม่มีเกียรติยศเลย จำจะเข้าไปเหยียบชานเมืองพอเห็นพระนครแล้วจะกลับ ประการหนึ่ง จะได้ดูมือทหารกรุงศรีอยุทธยา ผู้ใดจะออกมารับทัพเราบ้าง ตรัศแล้วก็ยกไปตีเอาเมืองสุพรรณบุรี แล้วเดินตัดทุ่งเข้าท้ายปากโมกข์ ข้ามพลเข้าไปตั้งค่ายหลวงตำบลลุมพลี ณวัน ค่ำ ศักราช ๘๙๒ ปีขาล โทศก ขณะนั้น มีหนังสือเมืองสุพรรณบุรีบอกราชการไปถึงกรุง พอทัพพระเจ้าหงษาวดีก็ถึงทุ่งลุมพลีพร้อมกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตกพระไทย ตรัศให้เร่งพลให้เมืองนอกเมืองขึ้นรักษาน่าที่เปนกุลาหล สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตั้งอยู่ ๓ วัน พอทอดพระเนตรแลดูกำแพงพระนครศรีอยุทธยาแลปราสาทราชมณเฑียรแล้ว ก็เลิกทัพกลับไปกรุงหงษาวดีโดยทางมา.

ขณะเมื่อพระเจ้าหงษาวดียกทัพมานั้น ฝ่ายว่าพระยาแลวกรู้ว่า พระนครศรีอยุทธยาผลัดแผ่นดินใหม่ ก็ยกทัพรุดมาถึงเมืองปราจิณบุรี ตีจับได้คนถามให้การว่า พระเทียรราชาครองราชสมบัติ เสนาบดีพร้อมมูลอยู่แล้ว พระยาแลวกก็มิอาจยกเข้ามา กวาดแต่ครัวอพยพชาวปราจิณบุรีแล้วกลับไปเมืองแลวก ครั้นพระเจ้าหงษาวดียกกลับไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าคิดแค้นแก่พระยาแลวกว่า กรุงหงษาวดีดูหมิ่นแล้ว เมืองเขมรก็มาดูหมิ่นด้วยเล่า ถ้าราชการฝ่ายหงษาสงบลงเมื่อใด เราจะแก้แค้นให้จงได้ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ซ่อมแซมกำแพงพระนครซึ่งชำรุดปรักหักพังให้มั่นคงโดยรอบ แล้วให้สถาปนาที่พระตำหนักวังเดิมเปนพระอุโบสถ แลสร้างพระวิหารอาราม ให้นามชื่อ วัดวังไชย อธิการให้ชื่อ พระนิกรม แล้วตรัศว่า เมื่อเราอุปสมบทนั้น บิณฑบาตขึ้นไปถึงป่าถ่านจนถึงป่าชมภู่ อากรซึ่งขึ้นสรรพากรเปนหลวงนั้น ให้เถรเณรไปขอเอาเปนกับปิยจันหันเถิด.

ลุศักราช ๘๙๓ ปีเถาะ ตรีนิศก เดือน ๘ ขึ้นสองค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตำบลท่าแดง โปรดให้พระกรรมวาจาเปนพฤฒิบาศ พระพิเชตเปนอัษฎาจารย์ พระอินทโรเปนธรรมการ.

ศักราช ๘๙๔ ปีมโรง จัตวาศก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าฟังข่าวราชการข้างกรุงหงษาวดีสงบอยู่ ก็ตรัศให้เตรียมทัพณพเนียด ๕ หมื่น ให้เกณฑ์หัวเมืองปากใต้เปนทัพเรือ ให้พระยาพเยาเปนแม่ทัพ พระศรีโชฎึกเปนกองน่า ถึงณวัน ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๒ บาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จยกทัพหลวงไปโดยทางปัตบองถึงเมืองแลวก ฝ่ายทัพเรือไปปากน้ำพุทไธมาศเข้าคลองเชิงกระชุม แลกองน่าตั้งห่างเมือง ๑๐ เส้น ทัพหลวงตั้งห่างเมือง ๑๕๐ เส้น ฝ่ายพระยาแลวกเห็นจะป้องกันเมืองไว้มิได้ จึงให้มีศุภอักษรแต่งเสนาบดีถือมากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในลักษณนั้นว่า ข้าพระองค์ผู้ครองกรุงกัมพูชาธิบดีขอถวายบังคมมาแทบพระบาทบงกชมาศสมเด็จพระนั่งเกล้าพระองค์ผู้ทรงอิศรภาพเปนปิ่นกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน ด้วยข้าพระองค์เปนคนโมหจิตรมิได้คิดเกรงพระเดชเดชานุภาพ แลยกทัพเข้าไปกวาดเอาชาวปราจิณบุรีอันเปนข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพมหานครมานั้น ผิดหนักหนาอยู่แล้ว ขอสมเด็จพระนั่งเกล้าได้โปรดอดโทษานุโทษแก่ข้าพระองค์เถิด อย่าเพ่อยกพยุหโยธาเข้าหักเมืองก่อน งด ๓ วัน ข้าพระองค์จะแต่งเครื่องราชบรรณาการออกไปถวาย ขอเปนข้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าไปตราบเท่ากัลปาวสาน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ทรงพระการุญภาพแก่พระยาแลวก ตรัศกำหนดนายทัพนายกองให้งดการซึ่งจะเข้าหักเมืองโดยศุภอักษรพระยาแลวก ครั้นถ้วนกำหนด ๓ วัน พระยาแลวกก็นำเครื่องราชบรรณาการ กับนักพระสุโท นักพระสุทัน อันเปนราชบุตร ออกมาเฝ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเปนข้าพระบาท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็สิ้นความพิโรธ จึงตรัศแก่พระยาแลวกว่า ท่านจงรักษากรุงกัมพูชาธิบดีโดยยุติธรรมราชประเพณีสืบมาแต่กาลก่อนนั้นเถิด แล้วพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า นักพระสุโท นักพระสุทัน นี้ เราจะขอไปเลี้ยงเปนโอรส พระยาแลวกมิอาจที่จะขัดได้ ก็ให้โดยบัญชาพระเจ้าอยู่หัว แล้วพระยาแลวกก็ถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวเข้าไปเมือง จัดแจงเครื่องราชูประโภคชายหญิงให้แก่ราชบุตร แล้วก็พามาถวายกราบทูลฝาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า ท่านอย่าวิตกเลย อันบุตรท่านทั้งสองนี้ก็เหมือนโอรสแห่งเรา พระยาแลวกมีความยินดีนัก ให้เสนาบดีไปต้อนครัวอพยพชาวปราจิณบุรีมาส่งยังค่ายหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จยกกองทัพบกทัพเรือแลครัวอพยพทั้งนั้นกลับมายังกรุงเทพพระนครศรีอยุทธยา จึงทรงพระกรุณาให้นักพระสุทันขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก.

ศักราช ๘๙๕ ปีมเสง เบญจศก ครั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวแปลงเรือแซเปนเรือไชยแลเรือศีศะสัตวต่าง ๆ.

ศักราช ๘๙๖ ปีมเมีย ฉศก เดือน ๘ ทำการพระราชพิธีมัธยมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตำบลไชยนาทบุรี.

ศักราช ๘๙๗ ปีมแม สัปตศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปวังช้างตำบลบางลมุง ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง อนึ่ง ในเดือน ๑๒ นั้น ได้ช้างเผือกพลายตำบลกาญจนบุรีสูง ๔ ศอกเศษ ให้ชื่อ พระคเชนทโรดม.

ครั้งนั้น มีข่าวมาว่า เมืองแลวกเสียแก่ญวน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแจ้งว่า นักพระสัฏฐาไปเอากองทัพญวนยกมารบเมืองแลวก เสียบิดานักพระสุทัน นักพระสุโท แก่ญวน จำจะให้ออกไปกำจัดเอาเมืองคืน ทรงพระกรุณาตรัศแก่มุขมนตรี จะออกไปเมืองแลวกครั้งนี้จะเห็นใครที่จะเปนแม่ทัพออกไป มุขมนตรีปฤกษาพร้อมกันกราบทูลว่า เห็นแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบุญธรรมที่ไปครองเมืองสวรรคโลก จึงโปรดให้มีตราให้หาพระองค์สวรรคโลกนั้นลงมาเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า จะให้เจ้าเปนแม่ทัพออกไป พระองค์สวรรคโลกกราบทูลว่า พระชัณษาร้ายถึงฆาฏ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า มุขมนตรีปฤกษาพร้อมแล้ว ประการหนึ่ง กรุงกัมพูชาธิบดีก็เปนของเจ้าอยู่ จำจะไป.

ศักราช ๘๙๘ ปีวอก อัฐศก เดือน ๑๒ พระองค์สวรรคโลกเปนแม่กองถือพลสามหมื่น พระมหามนตรีถืออาชญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกวียน ฝ่ายทัพเรือ พระยาพเยาเปนนายกอง ครั้งนั้น ลมขัด ทัพเรือไปมิทันทัพบก ๆ ใกล้ถึงเมืองแลวก แลพระยารามลักษณ์ซึ่งเกณฑ์เข้าทัพบกนั้นเข้าบุกทัพในกลางคืน ทัพญวนแลเขมรแยกรับเปนสามารถ แลทัพพระยารามลักษณ์แตกมาปะทะทัพใหญ่ ครั้งนั้น เสียพระองค์สวรรคโลกกับฅอช้าง เสียช้างม้ารี้พลเปนอันมาก กองทัพก็กลับคืนพระนคร

ศักราช ๘๙๙ ปีรกา นพศก วัน ค่ำ เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง อนึ่ง เดือนสาม ทำการพระราชพิธีอาจาริยาภิเศก แลกระทำการพระราชพิธีอินทราภิเศกในพระราชวัง อนึ่ง ในเดือนห้านั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าพระราชทานสัตตสดกมหาทาน แลให้ช้างเผือกมีกองเชิงเงินสี่เท้าช้างเปนเงินพันหกร้อยชั่ง ราชรถเจ็ดเล่มเทียมด้วยม้า มีนางสำหรับรถเสมอรถละนาง อนึ่ง ในเดือนเจ็ด เสด็จไปวังช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพังหกสิบช้าง.

ศักราช ๙๐๐ ปีจอ สำเรทธิศก เสด็จไปวังช้างตำบลแสนตอ ได้ช้างพลายพังสี่สิบช้าง.

ศักราช ๙๐๒ ปีชวด โทศก เสด็จไปวังช้างตำบลวัดกะได ได้ช้างพลายพัง ๕๐ ช้าง.

ศักราช ๙๐๔ ปีขาล จัตวาศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลายเจ็ดสิบช้าง.

ศักราช ๙๐๕ ปีเถาะ เบญจศก สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์ว่า ครั้งก่อน เรายกทัพรุดไปพระนครศรีอยุทธยา พลแต่สามหมื่น ล่วงเข้าตั้งถึงชานเมืองตำบลลุมพลี หามีผู้ใดมาปะทะฝีมือไม่ แต่หากว่าพลน้อย จะทำการช้าวันมิถนัด ครั้งนี้ จะยกไปให้มากสิบเท่า ก็เห็นจะได้พระนครศรีอยุทธยา สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์แล้ว ให้เกณฑ์พลสามสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดร้อย ม้าสามพัน ให้พระมหาอุปราชาเปนกองน่า พระเจ้าแปรเปนเกียกกาย พระยาพสิมเป็นกองหลัง.

ครั้นณวัน ค่ำ เพลาอุสาโยค สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ทรงเครื่องศิริราชปิลันทนาลังการาภรณ์บวรมหาสังวาลเนาวรัตนสพักพระอังสาอลงกฎอังคาพยพอย่างอรรคราชรามัญวิไสยสำหรับมหาพิไชยรณรงค์เสร็จ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลปราบทวีปเปนราชพาหนะ ประดับเครื่องคเชนทราลังการาภรณ์บวรมหาสารวิภูสิต พร้อมด้วยเสนางคนิกรพิริยโยธาหาญพลดาบดั้งดาบเขนเปนขนัดแน่น แสนเสโลห์โตมรมาศทวนทองเปนทิวแถวดาษดาดูมเหาฬารเลิศพันฦก อธึกด้วยธวัชธงฉานธงไชยรุจิตรไพโรจน์อัมพรวิถี เดียรดาษด้วยทัพท้าวพระยารามัญราชรายเรียงเปนระยะโดยกระบวนพยุหบาตราน่าหลังทั้งปวงพร้อมเสร็จ ได้เพลามหาศุภฤกษ์ โหราธิบดีลั่นฆ้องไชย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์กังสดาลดนตรีศัพท์ฆ้องกลองก้องสนั่นนฤนาท ดำเนินธงคลาพยุหโยธาทัพออกจากกรุงหงษาวดี รอนแรมมาเจ็ดเวน ข้ามแม่น้ำเมาะตมะ เดินทัพโดยทางสมี.

ขณะนั้น มีหนังสือบอกเมืองกาญจนบุรีเข้ามาว่า ชาวด่านไปถีบด่านถึงตำบลจอยยะ ได้เนื้อความว่า สมเด็จพระเจ้าหงษาวดียกมา ข้ามพลเมืองเมาะตมะถึง ๗ วันจึงสิ้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชตรัศให้เทครัวเมืองตรีจัตวาแลแขวงจังหวัดเข้าพระนคร แล้วมีพระราชกำหนดขึ้นไปถึงเมืองพระพิศณุโลกว่า ถ้าศึกหงษาวดีมาติดพระนครศรีอยุทธยาเมื่อใด ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาเอาทัพเมืองเหนือทั้งปวงยกมาเปนทัพกระหนาบ แล้วตรัศให้พระยาจักรีออกตั้งค่ายตำบลลุมพลี ถือพลหมื่นห้าพันล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง ฝ่ายพระมหานาคอยู่วัดภูเขาทองสึกออกมารับอาสาตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พรรคพวกสมกำลังญาติโยมทาษชายทาษหญิงของมหานาคช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่า คลองมหานาค เจ้าพระยามหาเสนาถือพลหมื่นหนึ่งออกตั้งค่ายณบ้านดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา พลใส่เสื้อเขียวหมวกเขียว พระยาพระคลังถือพลหมื่นหนึ่งตั้งค่ายป้อมท้ายคู พลใส่เสื้อเหลืองหมวกเหลือง พระสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรีถือพลหมื่นหนึ่งตั้งค่ายป้อมจำปา พลใส่เสื้อดำหมวกดำ แลบรรดาการพระนครนั้นก็ตกแต่งป้องกันเปนสามารถ.

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดียกทัพข้ามกาญจนบุรีมาถึงพระนครศรีอยุทธยาณวัน ค่ำ ตั้งค่ายหลวงตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งค่ายตำบลพะเนียด ทัพพระเจ้าแปรตั้งค่ายตำบลบ้านใหม่มะขามหย่อง ทัพพระยาพสิมตั้งค่ายตำบลทุ่งวัดวรเชษฐ.

ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ค่ำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึกณทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรวรรดิ์ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว เปนพระคชาธาร ประดับคชาลังการาภรณ์เครื่องมัน มีกลางช้างแลควาญ พระสุริโยไทยผู้เปนเอกอรรคราชมเหษีประดับองค์เปนพระยามหาอุปราชาทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายทรงสุริยกระษัตริย์ สูงหกศอก เปนพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จ มีกลางช้างแลควาญ พระราเมศวรทรงเครื่องศิริราชปิลันทนาวราภรณ์สำหรับพิไชยยุทธสงครามเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีควาญแลกลางช้าง พระมหินทราธิราชทรงราชวิภูษนาลังการาภรณ์สำหรับพระมหาพิไชยยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับกุญชรอลงกฎเครื่องมั่น มีกลางช้างแลควาญ ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดฤถี พระโหราลั่นฆ้องไชยประโคมอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยาตราพระคชาธารข้ามฟากไป พระอรรคมเหษีแลพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์โดยเสด็จ เหล่าคชพยุหดั้งกันแทรกแทรงค่ายค้ำพังคาโคดแล่น มีทหารประจำขี่กรกุมปืนปลายขอประจำฅอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเปนกรรกงโดยขนัด แล้วถึงหมู่พยุหแสนยากรโยธาหาญเดินเท้าถือดาบดั้งเสโลห์โมรหอกใหญ่หอกคู่ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่งซ้ายขวาน่าหลังโดยกระบวนคชพยุหสงคราม เสียงเท้าพลแลเท้าช้างสะเทือนดังพสุธาจะทรุด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าเสด็จยืนพระคชาธารประมวญพลแลคชพยุหโดยกระบวนตั้งอยู่ณโคกพระยา ฝ่ายกองตระเวนรามัญเห็นดังนั้นก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงษาวดีโดยได้เห็นทุกประการ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า ชรอยจะเปนทัพพระมหาจักรพรรดิยกออกมาจะกระทำคชพยุหสงครามกับเรา พระองค์ตรัศให้ยกพลหลวงออกจากค่ายตั้งกระบวน สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงเกราะเครื่องพิไชยยุทธย่อมทับถมด้วยวิชาสาตราเวทคาถา แล้วสอดพระมหาสุวรรณสังวาลประดับเพ็ชรพื้นถมสรรพคุณเวทคาถาต่าง ๆ ทรงพระมหามาลาลงเลขยันต์กันสรรพสาตราวุธภยันตรายสำหรับราชณรงค์ยุทธเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลปราบทวีป สูงเจ็ดศอก เปนพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีกลางช้างแลควาญ เครื่องสูงสำหรับราชณรงค์แห่โดยขนาด มีหมู่ทหารถือดาบดั้งหมื่นหนึ่งล้อมพระคชาธาร พระเจ้าแปรทรงอลังการเครื่องพิไชยยุทธ ทรงช้างต้นพลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว เปนพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีควาญแลกลางช้าง ยกเปนกองน่า มีทหารดาบสองมือพันห้าร้อยล้อมพระคชาธาร แลช้างท้าวพระยารามัญคับคั่งทั้งกระบวนกรรกงเปนขนัด เหล่าพยุหโยธาหาญเดินเท้าถือสรรพสาตราดาดาษโดยกระบวน สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ยกพยุหโยธาทวยหาญออกตั้งยังท้องทุ่งตรงน่าทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิห่างกันประมาณร้อยเส้น เสด็จยืนพระคชาธารคอยฤกษ์ จึงตรัศให้พลม้ารำทวนชักชิงคลองกันไปให้พลเริงน่าทัพ ฝ่ายพลเครื่องเล่นเต้นรำร้องเฮฮาเปนกุลาหล ฝ่ายพลดาบดั้งดาบสองมือก็รำฬ่อเลี้ยวกันไปมา ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทอดพระเนตรดูบนอากาศ เห็นพระอาทิตย์แจ่มดวงหมดเมฆหมอก แล้วคิชฌราชบินนำน่าทัพ ครั้นเห็นศุภนิมิตรราชฤกษ์ดังนั้น ก็ให้ลั่นฆ้องไชยอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรีขึ้นพร้อมกัน ก็ตรัศให้ขับพลเข้าโจมทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิดำรัศให้แยกพลเปนปีกกา พลโยธาหาญทั้งสองฝ่ายบ้างเห่โห่เปนโกลาหลเข้าปะทะประจันตีฟันแทงแย้งยุทธยิงปืนระดมสาตราธุมาการตระหลบไปทั้งอากาศ พลทั้งสองฝ่ายบ้างตายบ้างลำบากกลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่งเปนอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองน่าพระเจ้าหงษาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดังนั้นขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยไทยเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกระษัตริย์สอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยไทยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาพระสุริโยไทยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก่พระราชมารดาไม่ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับฅอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึกกันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึก รี้พลตายเปนอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยไทยผู้เปนพระอรรคมเหษีมาไว้ตำบลสวนหลวง.

ครั้นรุ่งขึ้น พระมหาอุปราชาแต่งพลเข้าตีค่ายพระสุนทรสงคราม ๆ ต่อรบข้าศึกเปนสามารถแต่เพลาเช้าจนพลบค่ำ ศึกหนุนแน่นเข้าหักค่ายพระสุนทรสงครามแตก เสียค่ายป้อมจำปา พลตายลำบากมาก.

รุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงช้างต้นพลายกามกวม สูงเจ็ดศอก ตัวทาแดง เสด็จยกพลมาถึงทุ่งลุมพลี ให้ทหารเดินเท้าแทรงตามทิวไม้สองฟากทุ่ง เสด็จยืนช้างชี้พระหัตถ์ให้ทหารม้าห้าร้อยเข้ายั่วน่าค่ายพระยาจักรี พระยาจักรีก็ขับทหารออกรบ ฝ่ายนายทหารหงษาซึ่งซุ่มแทรงสองชายทุ่งนั้นเห็นได้ทีก็ยกออกโจมตีโอบลงไปเปนทัพกระหนาบจนใกล้ค่าย ทหารม้าก็ดาไล่ตลุมบอนฆ่าฟันทหารพระยาจักรีล้มตายเปนอันมาก พระยาจักรีแลทหารทั้งปวงเสียทีก็ลาดเข้าพระนคร ครั้นได้ค่ายพระยาจักรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จกลับยังค่ายหลวง ทหารม้าที่ได้ศีศะชาวพระนครไปประมาณสี่ส่วน ที่มิได้ศีศะประมาณส่วนหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศให้ปลูกร้านขึ้นแต่งเครื่องมัจฉมังษาสุราบานให้รับพระราชทาน ที่ไม่ได้ศีศะนั้น ให้นั่งรับพระราชทานใต้ถุนร้าน ให้ทหารซึ่งได้ศีศะมารับพระราชทานบนร้านนั้นราดน้ำล้างมือลงมา ครบสามวันให้พ้นโทษ.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตรัศแก่มุขมนตรีว่า ทหารหงษายังกำลังกล้ารื่นเริงอยู่ ทั้งเสบียงอาหารก็ยังไม่ขัดสน จำจะรักษามั่นหน่วงไว้คิดการเดือน คอยทัพเมืองพระพิศณุโลกซึ่งจะลงมาขนาบนั้นด้วย แล้วจะคิดเอาปืนใหญ่ล้างค่ายทำลายความคิดให้อ่อนลง จึงค่อยคิดการเอาไชยชำนะเมื่อภายหลัง เห็นจะได้โดยง่าย มุขมนตรีทั้งหลายก็เห็นด้วย จึงให้เชิญปืนนารายน์สังหารลงสำเภาฉ้อขึ้นไปทางบ้านป้อม แต่งทัพบกป้องกันสองฝั่งฟากขึ้นไปถึงขนอนปากคู ทหารรามัญมาตั้งกองร้อยคอยเหตุอยู่ก็เอาข่าวเข้าไปทูลแก่พระเจ้าหงษาวดีว่า ชาวพระนครฉ้อสำเภาขึ้นมา มีทัพบกป้องกันสองฝั่งฟาก เห็นทีจะบรรทุกปืนใหญ่ขึ้นมาล้างค่าย ทูลยังมิขาดคำ ชาวพระนครยิงปืนนารายน์สังหารไป กระสุนตกลงในค่ายใกล้พลับพลาสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี ๆ ให้เอากระสุนปืนมาสรวงพลี แล้วให้เลิกค่ายไปตั้งค่ายหลวงณพุทเลา อยู่สามวัน สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเสด็จทรงช้างพระที่นั่งกระโจมทองยกพลกองหลวงออกจากค่ายข้ามโพธิ์สามต้นมาตามทุ่งพะเนียดเสด็จยืนช้างอยู่ณวัดสามพิหาร ตรัศให้พระมหาอุปราชาต้อนพลเข้าหักพระนคร จึงพระยารามให้เอาปืนนารายน์สังหารลงใส่สำเภาไม้รักแม่นางไอ่ขึ้นไปยิงค่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี ปืนถีบท้ายสำเภาจมลง กระสุนปืนขึ้นไปถูกกิ่งพระมหาโพธิใหญ่ประมาณสามกำเศษขาดตกลงใกล้ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีประมาณ ๓ วา ขณะนั้น ชาวป้อมมหาไชยก็ยิงปืนใหญ่ระดมมาต้องพลหงษาวดีตายมากนัก จะปล้นเอาพระนครไม่ได้ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จยกทัพกลับยังพลับพลา.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาแจ้งข่าวขึ้นไปว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีมาติดพระนครศรีอยุทธยา ก็เกณฑ์ทัพเมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองพิไชย เมืองพิจิตร เปนคนห้าหมื่น ลงมาถึงเมืองไชยนาทบุรี ตั้งค่ายมั่นสองฝั่งฟาก แต่งกองร้อยลงมาสืบถึงแขวงสิงคบุรี พอพบสมิงจะคราน สมิงมะลุมคุม ทัพสามพัน ไปลาดหาเสบียง กองร้อยชาวพระพิศณุโลกเห็นรามัญมากกว่าก็วิ่งหนี พวกรามัญเอาม้าไล่สะพัด จับได้สองคนคุมตัวลงมาถวาย สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศถามนายมั่นปืนยาว นายคงหนวด ให้การกราบทูลว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชผู้ครองเมืองพระพิศณุโลกแจ้งขึ้นไปว่า ทัพกรุงหงษาวดีมาติดพระนครศรีอยุทธยา จึงยกพลเมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองพิไชย เมืองพิจิตร เปนคนห้าหมื่น ลงมาช่วยตีกระหนาบ บัดนี้ มาตั้งอยู่ไชยนาทบุรี แต่งให้พันโจมจัตุรงค์ พันยงใจหาญ คุมข้าพเจ้า คนร้อยหนึ่ง มาสืบทัพ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแจ้งดังนั้นก็แย้งพระโอฐแล้วตรัศว่า อ้ายสองคนนี้ให้โกนศีศะเสียปล่อยขึ้นไปให้ทูลพระมหาธรรมราชาว่า ซึ่งจะลงมาเปนทัพกระหนาบนั้น เราคอยอยู่ ถ้ามิลงมา ก็ให้มั่นไว้ จะขึ้นไปหา สมิงจะคานรับสั่งสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี ก็เอานายมั่นปืนยาว นายคงหนวด ไปโกนศีศะ แล้วก็คุมขึ้นไปปล่อยถึงแขวงเมืองสิงคบุรี นายมั่น นายคง ก็ขึ้นไปถึงเมืองไชยนาท ให้ขุนนางนำเฝ้ากราบทูลเนื้อความซึ่งสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีสั่งมานั้นให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระมหาธรรมราชาตรัศถามว่า เองเข้าไปถึงสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีนั้น เห็นรี้พลประมาณเท่าใด นายมั่นปืนยาว นายคงหนวด กราบทูลว่า ข้าพเจ้ามิได้เที่ยว เห็นแต่วงค่ายหลวงนั้นพอเต็มทุ่งพุทเลา สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงตรัศแก่มุขมนตรีว่า ซึ่งสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศสั่งมาทั้งนี้ยังจะจริงฤๅ มุขมนตรีทั้งปวงกราบทูลว่า สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีลิ้นดำองค์นี้ได้ยินเล่าฦๅกันว่า ตรัศสิ่งใดเปนสัจจริง สมเด็จพระมหาธรรมราชาตรัศว่า อันการสงคราม จะฟังเอาเปนสัจจริงนั้นยากนัก เกลือกเกรงเราจะกระหนาบ แลหากสำทับไว้ จะเลิกไปโดยทางมา จำจะแต่งทัพไปตั้งไว้ดูที แล้วตรัศให้ทัพพระยาสวรรคโลก พระยาศุโขไทย สองทัพ คนสองหมื่น ยกลงไปตั้งเมืองอินทบุรี.

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศให้ไปสั่งพระมหาอุปราชาให้ตีค่ายทุ่งหันตราเสีย จะได้คิดการบรรชิเมือง รุ่งขึ้น วัน ค่ำ เพลาเช้าตรู่ พระมหาอุปราชาก็ยกพลทหารไปตีค่ายเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาเสนานายทัพนายกองต่อสู้เปนสามารถ ข้าศึกหักเอามิได้ พระมหาอุปราชาโกรธ เสด็จบ่ายช้างไปยืนตรงน่าค่ายห่างประมาณสามเส้น ให้ประกาศแก่นายทัพนายกองว่า มิได้ค่ายเพลานี้จะตัดศีศะเสียบเสีย นายทัพนายกองกลัวก็ต้อนพลทหารดาบดั้งหนุนแน่นกันเข้าไปฟันค่ายหักเข้าได้ เจ้าพระยามหาเสนานายทัพนายกองไพร่พลแตกลาดลงคลองน้ำข้ามไปฟากวัดมเหยงค์ ที่ป่วยเจ็บล้มตายในน้ำก็มาก พระมหาอุปราชาก็ยกกองทัพกลับไปค่าย จึงเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีกราบทูลซึ่งมีไชยได้ค่ายให้ทราบทุกประการ.

ขณนั้น ไพร่พลในกองทัพขัดเสบียง แต่งกองออกลาดหาก็มิได้ ที่ได้บ้างซื้อขายแก่กันเปนทนานละเฟื้อง ท้าวพระยาพระหลวงหัวเมืองเอาเนื้อความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี ๆ ตรัศปฤกษาดูความคิดท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงว่า เสบียงอาหารสิขัดสนอยู่แล้ว ๆ ก็จวนเทศกาลฟ้าฝน จะทำการช้าวันมิได้ จำจะเลิกทัพกลับไป แต่ทว่า จะไปโดยทางใดดี ท้าวพระยามุขมนตรีปฤกษากราบทูลว่า ถ้าเสด็จไปทางเมืองกำแพงเพ็ชรออกด่านแม่ละมาวนั้น กองทัพฝ่ายเหนือก็มาตั้งมั่นรับอยู่ณเมืองไชยนาท เกลือกราชการจะติดพันช้าไป ไพร่พลจะขัดสนโดยเสบียงอาหาร เห็นจะเสียท่วงที แม้นเสด็จไปทางกาญจนบุรีแรกมา เห็นจะสดวก สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า ซึ่งจะกลับไปทางกาญจนบุรีนั้นเห็นจะขัดสนอิก ด้วยเหตุว่า กองทัพเรายกเหยียบเมืองมา เสบียงอาหารยับเยินสิ้นอยู่แล้ว ประการหนึ่ง ได้สั่งไปถึงพระมหาธรรมาราชาว่า ให้ลงมา มิมา เราจะขึ้นไปตี แลพระมหาธรรมราชามิลงมานั้น ดีร้ายจะตั้งมั่นรับแลผ่อนเสบียงอาหารลงมาไว้มาก เห็นสมคเนเราอยู่แล้ว ทำไมแก่ทัพพระมหาธรรมราชาเท่านั้น เพลาเดียวก็จะแตก จะได้เสบียงอาหารพอไพร่พลเราไม่ขัดสน ท้าวพระยานายทัพนายกองก็บังคมทูลว่า ทรงพระราชดำริห์ครั้งนี้ดีหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงดำรัศว่า ซึ่งเราจะล่าทัพไปครั้งนี้ จะต้องตีทั้งน่าทั้งหลัง ด้วยเหตุว่า ทัพพระมหาธรรมราชามาตั้งอยู่ไชยนาทบุรี เห็นจะรู้ถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะดีพระไทยว่า ทัพพระราชบุตรเขยมาตั้งสลักกระหนาบอยู่แล้ว ดีร้ายจะแต่งทัพตามตัดท้ายพลเราเปนมั่นคง เราจำจะคิดเอาไชยชำนะทั้งน่าทั้งหลังให้ได้ ตรัศแล้วมีพระราชโองการกำหนดให้ทัพพระยาพสิม ทัพพระยาละเคิ่ง ทัพพระยาเสี่ยง ทัพพระยาตองอู ทัพพระยาจิตตอง ห้าทัพ ทัพละสามหมื่น เปนคนสิบห้าหมื่น ให้พระเจ้าแปรเปนแม่กองยกไปน่า ถ้าพบทัพพระมหาธรรมราชาตั้งแห่งใดตำบลใด ให้ตีจงแตกแต่ในเพลาเดียว ถ้าล่วงราตรีไป จะเอาศีศะนายทัพนายกองเสียบแทนเชลย แลให้ทัพพระมหาอุปราชารั้งท้าย ถ้ามีทัพพระนครศรีอยุทธยาตาม ให้คิดทัพฬ่อทัพซุ่มหุ้มจับเอาตัวนายทัพนายกองให้ได้คนหนึ่งสองคน ถ้ามิได้ดังนี้ จะเอาพระมหาอุปราชาเปนโทษถึงสิ้นชีวิตร แลให้นายทัพนายกองจัดแจงให้พร้อม อิกสามวันจะเลิกทัพจากพระนครศรีอยุทธยา.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าแจ้งว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพเมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองพิไชย เมืองพิจิตร คนห้าหมื่น มาตั้งไชยนาทบุรี ทัพน่ามาตั้งเมืองอินทบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีพระไทยนัก ก็ตรัศแก่มุขมนตรีว่า ถ้าสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีรู้ว่า ทัพพระมหาธรรมราชายกมา เห็นไม่อยู่ช้า ดีร้ายจะเลิกไป ถ้าไปทางเหนือ สมคเนเรา จะได้กระทบหลังซ้ำเติมถนัด เกลือกจะหลีกไปทางสุพรรณบุรี จะสลักซ้ำเติมไม่เต็มที่ พระสุนทรสงครามทูลว่า อันสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีประกอบด้วยกำลัง ๓ ประการ คือ กำลังความคิด ๑ รี้พลมาก ๑ มีทหารกล้าแขง ๑ เห็นไม่ไปทางสุพรรณกาญจนบุรี ด้วยเหตุว่า เปนต้นทางมา เสบียงอาหารยับเยินเสียสิ้นแล้ว เห็นจะเดินทางเหนือหมายตีเอาเสบียงอาหารในกองทัพสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้นอิก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เห็นด้วยจึงตรัศว่า ถ้าดังนั้น พระสุนทรสงครามสิเปนเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ชัดเจนป่าทาง ให้คุมทัพ ๕๐๐๐ ลอบออกไปเพลาค่ำพรุ่งนี้ ให้ตั้งซุ่มสลักคอยโจมตีทัพพระเจ้าหงษาวดีให้ได้บำเหน็จมือมา ถ้ามิได้สลักสำคัญมา จะเอาตัวเปนโทษ พระสุนทรสงครามก็รับพระราชโองการถวายทานบนไว้แล้วยกทัพไปตามพระราชกำหนด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า ถ้าพระเจ้าหงษาวดีเลิกทัพไปทางเหนือดุจคำพระสุนทรสงครามว่านั้น ผู้ใดจะตาม จึงพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร พระมหินทราธิราช กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองขอยกตามตีทัพพระเจ้าหงษาวดีให้เปนบำเหน็จมือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม.

ครั้นณวัน ค่ำ เพลาสองยาม ถึงกำหนด พระเจ้าแปร พระยาพสิม พระยาละเคิ่ง พระยาเสี่ยง พระยาตองอู พระยาจิตรตอง ก็เลิกทัพเดินเปนกองน่า ทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเดินเปนอันดับ แลทัพพระมหาอุปราชาก็เดินเปนกองหลัง พระมหาอุปราชาแต่งม้า ๕๐๐ ให้อยู่รั้งท้ายคอยเหตุ ถ้าเห็นทัพตามประมาณพันหนึ่ง ให้มาบอกม้าหนึ่ง ถ้าพลประมาณสองพัน ให้มาบอกสองม้า ถ้าพลประมาณสามพันสี่พันห้าพัน ก็ให้ไปบอกสามม้าสี่ม้าห้าม้าเปนกำหนด ฝ่ายทัพน่านำเดินตามคลองบางแก้วไปตามทิวทุ่งลำแม่น้ำใหญ่เพื่อรี้พลช้างม้าจะได้อาไศรยน้ำ.

ครั้นเพลารุ่งเช้า ชาวพระนครรู้ว่า ทัพพระเจ้าหงษาวดีเลิกไป มุขมนตรีก็เอากิจจากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ทัพพระเจ้าหงษาวดีมิได้ยกไปทางเมืองกาญจนบุรี ไปทางแนวแม่น้ำใหญ่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้พระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์คุมทัพหมื่นหนึ่งยกตาม.

จึงพระราเมศวร พระมหินทราธิราช ปฤกษากันว่า ซึ่งทัพล่าไปในวันหนึ่งสองวันนี้เห็นจะระวังหนัก จะคิดกองทัพรับเปนสามารถ อันจะรีบจู่โจมเข้าตีนั้น จะเอาไชยชำนะยาก จะค่อยสกดตามไปวันหนึ่งสองวันให้ประมาทลงก่อน ประการหนึ่ง จะได้จวนกระทบทัพสมเด็จพระมหาธรรมราชาพะว้าพะวังเปนสองฝ่าย เราจึงเข้าโจมตี เห็นจะได้ไชยชำนะโดยง่าย ครั้นปฤกษากันแล้ว ก็ยกสกดตามไปแต่ห่าง ๆ ประมาณกึ่งวัน ฝ่ายทัพม้ากองน่าไปถึงเมืองอินทบุรี เห็นค่ายใหญ่สองค่าย ก็กลับมาแจ้งแก่นายทัพนายกอง พระยาพสิม พระยาละเคิ่ง พระยาเสี่ยง พระยาตองอู พระยาจิตตอง ดีใจ ต่างคนแต่งตัวขี่ช้างพลายกั้นสับประทานระย้าต้อนพลเข้าตีค่าย พระเจ้าแปรทรงช้างพลายมณีฉัตรกั้นพระกลดไปยืนให้ทหารเข้าหักค่าย เหล่าทหารหงษาวดีก็เห่โห่ลั่นปืนแกว่งหอกดาบดาแข่งกรูเข้าถอนขวากหนามปีนป่ายหักค่ายเปนโกลาหล ทหารในค่ายก็วางปืนใหญ่น้อยออกไปต้องพลมอญล้มตายเปนอันมาก พระยามอญก็ยิ่งหนุนเนื่องหนักเข้ามายอค่ายแหกค่ายจนถึงได้แทงฟันกันเปนสามารถ พลพม่ามอญก็เข้าค่ายได้ ไล่ตลุมบอนฆ่าฟันไทยตายเปนอันมาก ซึ่งเหลือนั้นก็หนีกระจัดกระจายขึ้นมากราบทูลสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยซึ่งเสียแก่ข้าศึกนั้นทุกประการ พอผู้ลงไปสอดแนมฟังราชการณกรุงเทพมหานครกลับคืนมาทูลว่า ทัพพระเจ้าหงษาวดีเลิกขึ้นมาทางเหนือสิ้นแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาแจ้งว่า กำลังศึกกล้ามากเหลือกำลังดังนั้น เห็นจะรับมิอยู่ คิดจะเลิกหลีกเสียให้พ้นน่าทัพไปซุ่มอยู่ณป่าเนินฟากตวันออก แล้วจะคอยตามสกัดตี จึงตรัศกำหนดให้นายทัพนายกองเลิกออกจากค่ายให้เปนหมวดเปนกองกัน นายทัพนายกองก็ทำตามพระราชบัญชาทุกประการ พอกองทัพพระเจ้าแปรยกมาถึงเห็นค่ายเปล่าก็ตั้งอยู่ณเมืองไชยนาท แล้วก็บอกลงมายังกองทัพหลวง ขณะเมื่อวันกองน่าตีค่ายพระยาสวรรคโลก พระยาศุโขไทย ณเมืองอินทบุรีนั้น พระมหาอุปราชาตรัศปฤกษานายทัพนายกองว่า ทัพเราล่ามาถึงสองวันสามวัน ซึ่งทัพพระนครศรีอยุทธยามิได้ตามตีนั้น ชรอยจะคิดเกรงว่า เราแต่งทัพป้องกันระวังอยู่มิได้ประมาท จะค่อยสะกดตามมาสองวันสามวันให้เราประมาทก่อน ประการหนึ่ง จะให้ปะทะทัพฝ่ายเหนือซึ่งตั้งอยู่ณเมืองไชยนาท เมืองอินท์ จึงจะโจมตีให้เราพะว้าพะวัง เห็นจะคิดดังนี้มั่นคง จำจะซ้อนความคิดชาวพระนครศรีอยุทธยาจับเอานายทัพแลไพร่ไปถวายสมเด็จพระบิดาให้เปนบำเหน็จมือจงได้ ตรัศมิทันขาดคำ เห็นม้าเร็วขึ้นมาสิบม้า พระมหาอุปราชาก็แจ้งว่า มีทัพมาประมาณหมื่นหนึ่ง จึงให้สมิงพัตเบิด สมิงพัตบะ คุมทัพห้าพัน ม้าสองร้อย ยกไปตั้งซุ่มอยู่ตามทิวไม้ชายทุ่ง กำหนดว่า ถ้าเห็นทัพตามมา อย่าเพ่อให้ตีก่อน ให้ล่วงถลำขึ้นมา ต่อได้ยินเสียงปืนรบ จึงให้โจมตีต้อนท้ายจับเอาตัวนายทัพนายกองให้จงได้ สมิงพัตเบิด สมิงพัตบะ ก็ยกไปซุ่มอยู่ตามกำหนดรับสั่ง แล้วก็เดินทัพขึ้นไปตั้งอยู่ทางประมาณสองร้อยเส้น

ฝ่ายพระราเมศวร พระมหินทราธิราช ดำริห์ว่า วันนี้ เห็นทัพหงษาวดีจะถึงเมืองอินทบุรี จะได้รบพุ่งติดพันกับทัพฝ่ายเหนืออยู่แล้ว ก็รีบเร่งเดินทัพหวังจะโจมตี ขณะนั้น สมิงพัตเบิด สมิงพัตบะ เห็นทัพยกมาก็สงบ สังเกตดูเห็นช้างที่นั่งหลังคาทองสองช้าง ก็แจ้งว่า เปนนายพล พอได้ยินเสียงปืนทัพพระมหาอุปราชา ก็ยกออกโจมตีตัดเอาตรงช้างที่นั่ง ทัพชาวพระนครไม่ทันรู้ตัวก็แตกฉาน เหล่ารามัญก็ล้อมจับเอาตัวพระราเมศวร พระมหินทราธิราช กับมหาดเล็กท้ายช้างสองคน ไปถวายพระมหาอุปราชา ๆ ก็พาไปถวายสมเด็จพระราชบิดา พร้อมกันกับคนพระเจ้าแปรซึ่งให้ลงมาทูลว่า ค่ายเมืองไชยนาทบุรีก็เลิกหนีไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีดีพระไทย ก็เสด็จไปตั้งประทับแรมอยู่ณเมืองไชยนาท จึงให้เอาพระราเมศวร พระมหินทราธิราช เข้ามา แล้วตรัศว่า เจ้าทั้งสองสิเปนข้าศึกกับเรา บัดนี้ เราจับได้แล้ว จะคิดประการใดเล่า พระราเมศวร พระมหินทราธิราช กราบบังคมทูลว่า ข้าพระองค์นี้จนอยู่แล้ว จะฆ่าเสียก็จะตาย ถ้าพระองค์โปรดพระราชทานชีวิตรไว้ ก็จะรอด สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีได้ฟังก็แย้มพระโอฐ แล้วตรัศให้พระมหาอุปราชาเอาพระราเมศวร พระมหินทราธิราช ไปคุมไว้.

ฝ่ายนายทัพนายกองซึ่งแตกจากทัพพระราเมศวร พระมหินทราธิราช กลับไปพระนคร เอาเหตุกราบทูล สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าได้ทรงทราบดังนั้น ก็ตกพระไทยโทมนัศถึงสมเด็จพระโอรสทั้งสองพระองค์นัก แล้วแต่งพระราชสาสนให้พระครูปโรหิต ขุนหลวงพระเกษม ขุนหลวงพระไกรสี ถือมาทางเรือขึ้นไปถึงเมืองไชยนาท ท้าวพระยารามัญนำเข้าเฝ้าทูลถวายพระราชสาสนแด่พระเจ้าหงษาวดี แลในลักษณนั้นว่า พระราชสาสนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าพระนครศรีอยุทธยาขอจำเริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีผู้มีอิศรภาพใหญ่ยิ่งกว่าขัติยราชกระษัตริย์สามนต์ในชมพูทวีป ด้วยพระองค์ยกพยุหโยธาทัพมากระทำยุทธนาการกับพระนครศรีอยุทธยาเปนที่สำเริงราชหฤไทยในบรมกระษัตราธิราชโดยขัติยประเพณี แลเลิกทัพกลับโดยปรกติมิได้พ่าย ฝ่ายราชโอรสแห่งข้ามิได้รู้ในเชิงพิไชยยุทธยกติดตามมาตี กองทัพพระองค์จับไว้ได้นั้น โอรสทั้งสองถึงซึ่งปราไชยอยู่แล้ว อุประมาดุจสกุณโปดกอันต้องแร้วพเนจรใส่กรงขังไว้ ขอพระองค์อย่าได้มีอาฆาฏจองเวรเลย จงปล่อยโอรสแห่งข้าพระองค์ให้คืนมาพระนคร ก็จะเปนเกียรติยศแห่งพระองค์สืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีให้ทรงทราบในลักษณพระราชสาสนดังนั้นก็แย้มพระโอฐแล้วตรัศแก่ผู้จำทูลพระราชสาสนว่า สมเด็จพระเจ้าพี่เราให้มางอนง้อขอพระราชโอรสแล้ว เราอนุญาตให้ จึงดำรัศสั่งพระราเมศวร พระมหินทราธิราช ว่า เจ้าทั้งสองจงไปทูลแก่พระราชบิดาว่า เราขอช้างพลายศรีมงคล ช้างพลายมงคลทวีป สองช้าง ไปชมเล่นณกรุงหงษาวดี พระราเมศวร พระมหินทราธิราช แลผู้จำทูลพระราชสาสน ก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีมายังพระนครศรีอยุทธยา พระราชโอรสทั้งสองพระองค์กราบทูลพระราชบิดาว่า ซึ่งตามตีกองทัพกลับให้ข้าศึกจับได้ให้เสียพระเกียรติยศ โทษผิดถึงสิ้นชีวิตรอยู่แล้ว ขอพระราชทานโทษครั้งหนึ่งก่อน สมเด็จพระราชบิดาก็ประทานโทษให้ พระราเมศวร พระมหินทราธิราช จึงกราบทูลว่า สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีสั่งมาให้ทูลขอช้างพลายศรีมงคล ช้างพลายมงคลทวีป ซึ่งชนะงาสองช้าง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชก็ตรัศปฤกษาด้วยมุขมนตรีทั้งปวงว่า พระเจ้าหงษาวดีขอช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีป สองช้างนี้ ควรจะให้ฤๅประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีกราบทูลว่า พระเจ้าหงษาวดีให้พระเจ้าลูกเธอสองพระองค์คืนไปนั้นก็เปนทางพระราชไมตรีอยู่ ชอบให้ช้างพลายสองช้างตอบไป จึงจะควร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ตรัศให้กรมช้างคุมช้างทั้งสองรีบขึ้นไปถวายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีณเมืองไชยนาทบุรี สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศให้พม่ามอญรับ แลช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีป เห็นหมอควาญผิดเสียง ก็อาละวาดเอาไว้มิอยู่ ไล่แทงช้างแทงคนวุ่นวายทั้งกองทัพ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า เสียดาย เหลือมือพม่ามอญนัก ให้กรมช้างเอาคืนลงมาเถิด กรมช้างกราบถวายบังคมลาลงมาพระนครศรีอยุทธยา ทูลประพฤดิเหตุแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกประการ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีให้จ่ายเสบียงอาหารไพร่พลเสร็จแล้ว ก็เสด็จยกทัพหลวงไปเมืองหงษาวดีโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชรออกด่านแม่ละมาว

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็เสด็จลงมาเฝ้าทูลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าซึ่งได้รบกับทัพหงษาวดีทุกประการ ครั้นกองทัพสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพพระสุริโยไทยซึ่งขาดฅอช้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ถวายบังคมลากลับขึ้นไปยังเมืองพระพิศณุโลก

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเปนพระเจดีย์วิหารเสร็จแล้ว ให้นาม วัดศพสวรรค์ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า ไพร่บ้านพลเมืองตรีจัตวาปากใต้เข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขา ต้อนไม่ได้เปนอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเปนเมืองสมุทสาคร ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเปนเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเปนเมืองนครไชยศรี แล้วปฤกษาว่า กำแพงเมืองลพบุรี เมืองนครนายก เมืองสุพรรณบุรี สามเมืองนี้ ควรจะล้างเสียฤๅจะเอาไว้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร พระมหินทราธิราช กับมุขมนตรี พร้อมกันปฤกษากราบทูลว่า จะให้ไปรับหัวเมืองนั้น ถ้ารับได้ ก็จะเปนคุณ ถ้ารับมิได้ ข้าศึกจะอาไศรย ให้รื้อกำแพงเสียดีกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม แล้วให้ตั้งพิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ ได้สกรรจ์ลำเครื่องแสนเศษ.

ศักราช ๙๐๖ ปีมโรง ฉศก ฝ่ายพระศรีศิลป์ผู้น้องพระแก้วฟ้าพระองค์เอามาเลี้ยงไว้จนอายุได้สิบสามปีสิบสี่ปี จึงให้ออกบวชเปนสามเณรอยู่ณวัดราชประดิษฐาน พระศรีศิลป์มิได้ตั้งอยู่ในกตัญญู ซ่องสุมพวกพลคิดการกระบถ ครั้นทราบจึงดำรัศสั่งเจ้าพระยามหาเสนาให้จับเอาตัวพระศรีศิลป์มาพิจารณาได้ความเปนสัจ หาให้ประหารชีวิตรเสียไม่ ให้แต่คุมเอาตัวไว้ณวัดธรรมิกราช หมื่นจ่ายวดเปนผู้คุม ครั้นจวนเข้าพระวัสสา ทรงพระมหากรุณาตรัศว่า พระศรีศิลป์ซึ่งเปนโทษคุมไว้นั้นอายุจะได้อุปสมบทเปนภิกษุภาวอยู่แล้ว ให้เอามาอุปสมบท จึงทราบว่า พระศรีศิลป์หนีก่อนนั้นถึงสามวันไปซุ่มพลอยู่ณม่วงมดแดง ทรงพระกรุณาดำรัศให้เจ้าพระยามหาเสนาไปตาม ฝ่ายพระศรีศิลป์ให้ไปขอฤกษ์พระพนรัตนป่าแก้ว ๆ ก็ให้ฤกษ์ว่า ณวัน ค่ำ ฤกษ์ดี ให้ยกเข้ามาเถิด แลพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ หมื่นภักดีศวร หมื่นไภยนรินทร์ ซึ่งเปนโทษอยู่ก่อน จำไว้ในที่สงัด ให้หนังสือลับออกไปในวันแรมสิบสามค่ำถึงพระศรีศิลป์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า รุ่งขึ้น สิบสี่ค่ำ จะเอาข้าพเจ้าทั้งห้าคนไปฆ่าเสีย ขอให้พระองค์เข้ามาแต่ในกลางคืนวันนี้ อย่าให้ทันรุ่ง พระศรีศิลป์ก็เข้ามาทางประตูหอรัตนไชย เจ้าพระยามหาเสนารู้ว่า พระศรีศิลป์ยกเข้ามา ก็ตามเข้ามาตามท่าคอย พอช้างเผือกลงมาอาบน้ำ เจ้าพระยามหาเสนาก็ขี่ช้างเผือกออกมารบพระศรีศิลป์ณถนนน่าบางตรา พระศรีศิลป์ร้องว่า เจ้าพระยามหาเสนาจะสู้เราฤๅ เจ้าพระยามหาเสนาว่า พระราชกำหนดโทษพระองค์ฉันใด โทษข้าพเจ้าฉันนั้น ก็ไสช้างเข้าชนกัน พระศรีศิลป์ตีด้วยขอ เจ้าพระยามหาเสนาตกช้างลง พระศรีศิลป์ยกเข้าไปทางประตูเสาธงไชยเข้าพระราชวังได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าไม่ทันรู้พระองค์ ก็ลงเรือพระที่นั่งหนีขึ้นไปเกาะมหาพราหมณ์ พระศรีศิลป์ให้ถอดพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ หมื่นภักดีศวร หมื่นไภยนรินทร์ ออก

ฝ่ายพระราเมศวร พระมหินทราธิราช กับเสนาบดี พร้อมกันเข้ารบพระศรีศิลป์จนถึงตลุมบอน ล้มตายเปนอันมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่พระศรีศิลป์นั้นต้องปืนตาย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็เสด็จคืนเข้าพระราชวัง ครั้นทราบว่า พระพนรัตนป่าแก้วให้ฤกษ์พระศรีศิลป์เปนแท้ ก็ให้เอาพระพนรัตนป่าแก้ว แลพระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ หมื่นภักดีศวร หมื่นไภยนรินทร์ ฆ่าเสีย เสียบไว้ณตะแลงแกงกับศพพระศรีศิลป์ ครั้งนั้น เมียน้อยขุนนางโจทย์ว่า ผัวเข้าด้วยพระศรีศิลป์แลคอยรับพระศรีศิลป์ ถามเปนสัจ ตรัศสั่งให้ฆ่าเสียเปนอันมาก

ลุศักราช ๙๐๗ ปีมเสง สัปตศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างเผือกพลาย สูงสี่ศอก สิบนิ้ว ช้างหนึ่ง ให้ชื่อ พระรัตนากาศ

ลุศักราช ๙๐๘ ปีมเมีย อัฐศก เสด็จไปวังช้างป่าเพ็ชรบุรี ได้ช้างเผือกพลาย สูงสี่ศอกเศษ ให้ชื่อ พระแก้วทรงบาศ แลในเดือนสิบ ปีมเมียนั้น เสด็จไปได้ช้างเผือกตำบลป่ามหาโพธิ ลูกเปนเผือก พังแม่ก็เปนเผือก

ศักราช ๙๐๙ ปีมแม นพศก เสด็จไปได้ช้างป่าชเลชุบศร เปนเผือกพลาย สูงสี่ศอก ห้านิ้ว ช้างหนึ่ง ให้ชื่อ พระบรมไกรสร ครั้นณเดือนอ้าย ปลายปี เสด็จไปได้ช้างเผือกพลายตำบลป่าน้ำทรง สูงสี่ศอกคืบ ให้ชื่อ พระสุริยกุญชร ครั้งนั้น พระนครศรีอยุทธยาไพศาลสมบูรณ์ ด้วยมีช้างเผือกพลายพังถึงเจ็ดช้าง พระเกียรติยศปรากฎไปนานาประเทศทั้งปวง มีกำปั่นลูกค้าฝรั่งเศส เมืองอังกฤษ เมืองวิลันดา เมืองสุรัส แลสำเภาจีน เข้ามาค้าขายเปนอันมาก สเมด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ แลเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิต ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินเพิ่มเข้าว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก กฤติศัพท์ฦๅไปถึงกรุงหงษาวดีว่า พระนครศรีอยุทธยามีช้างเผือกถึงเจ็ดช้าง สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีมีพระไทยจะใคร่ได้สักสองช้าง จึงมีพระราชสาสนแต่งให้สมิงโยคราชกับไพร่ร้อยหนึ่งถือมาพระนครศรีอยุทธยา มุขมนตรีนำเฝ้า แลในลักษณนั้นว่า พระราชสาสนสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีผู้มีมเหศวรศักดานุภาพปราบบุรราชธานีน้อยใหญ่ให้ปราไชยไปทั่วทศทิศ อันท้าวพระยาสามนตราชโอนโมลิสนอบน้อมถวายสุวรรณหิรัญบุบผาบรรณาการจะนับมิได้ ขอจำเริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเชษฐาธิราชผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ด้วยแจ้งกฤติศัพท์ขึ้นไปว่า สมเด็จพระเชษฐาเราประกอบด้วยบุญญาธิการเปนอันมาก มีเสวตรกุญชรชาติพลายพังถึงเจ็ดช้าง พระราชอนุชาท่านประสงค์จะขอช้างเผือกพลายสองช้างมาไว้เปนศรีในกรุงหงษาวดี ให้สมเด็จพระเชษฐาเราเห็นแก่ทางพระราชไมตรีพระอนุชาท่านเถิด กรุงหงษาวดีกับพระนครศรีอยุทธยาจะได้เปนราชสัมพันธมิตรไมตรีสนิทเสนหาเปนมหาสุธาทองแผ่นเดียวกันไปตราบเท่ากัลปาวสาน ถ้าสมเด็จพระเชษฐาเราจะถือทฤษฐิมานะแลรักช้างทั้งสองช้างยิ่งกว่าทางพระราชไมตรี ก็เห็นว่า กรุงหงษาวดีกับกรุงศรีอยุทธยาขาดกันแล้ว น่าที่จะได้ร้อนอกสมณะพราหมณามาตยาประชาราษฎรทั้งปวง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกได้แจ้งลักษณพระราชสาสนดังนั้น ตรัศสั่งให้มุขมนตรีปฤกษา มุขมนตรีปฤกษาว่า สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีลิ้นดำอันเปนใหญ่ในรามัญประเทศพระองค์นี้มีกฤษฎาธิการผ่านแผ่พระเดชเดชานุภาพไปทั้งสิบทิศ แลให้มีพระราชสาสนเปนทางพระราชไมตรีมาขอพระยาช้างโดยสุนทรภาพสวัสดิ์แล้ว สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ไว้ทางพระราชไมตรีครั้งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มามากมายอยู่ ควรให้ช้าง จะได้เปนพระเกียรติยศไปในนานาประเทศ ฝ่ายพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ปฤกษาว่า ช้างเผือกเปนศรีพระนคร ซึ่งจะให้นั้นไม่ควร ถึงพระเจ้าหงษาวดีมีไมตรีนั้น ก็ขอช้างพลายศรีมงคลแลพลายมงคลทวีปซึ่งชนะงาทั้งสองช้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้แล้ว หากทว่าเอาไปมิได้ แลซึ่งจะส่งพระยาช้างตระกูลไปนั้น จะเสียพระเกียรติยศไปในนานาประเทศ จะว่าให้โดยเกรงอานุภาพพระเจ้าหงษาวดี เอาคำปฤกษาทั้งสองฉบับกราบทูล ทรงพระกรุณาตรัศว่า ถ้าเรามิให้ช้างเผือกไป พระเจ้าหงษาวดีจะยกทัพใหญ่มา ยังจะป้องกันพระนครได้ฤๅ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ทูลว่า ถ้าศึกหงษาวดีจะยกใหญ่หลวงมาประการใดก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสามนี้จะขอประกันพระนครไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม จึงให้มีพระราชสาสนตอบไป ในพระราชสาสนนั้นว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชรามินทรธิบดินทรราเชนทร์สุริเยนทรยโสดมราไชสวรรยาธิปัติถวัลยราชกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมด้วยมหาเสวตรกุญชรชาติอิศวรพงษ์พิศณุพงษ์อันประเสริฐ สนองทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระอนุชาเราผู้ผ่านพิภพกรุงหงษาวดีอันมีอิศราฤทธิราชรณรงค์ในรามัญประเทศทวีปอัษฎงค์ ด้วยมีพระราชสาสนมานั้น ได้แจ้งแล้ว แต่ทว่า เปนบุรพประเพณี ผู้ใดมีสมภารบารมีถึงที่บรมจักรแล้ว ก็มีจักรแก้ว ดวงแก้วมณี นางแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว ถ้าหาบุญบารมีไม่ ถึงผู้อื่นจะหาให้ ก็รักษามิได้ ธรรมดาประเทศธานีใดมีนางรูปงาม มีช้างเผือก ช้างเนียม บ่อแก้ว บ่อทอง ก็เปนประเพณีที่จะเกิดยุทธนาการ อย่าให้พระอนุชาเราน้อยพระไทยเลย

ทูตรับพระราชสาสนแล้วกราบถวายบังคมลาไปยังกรุงหงษาวดีถวายพระราชสาสนทูลประพฤดิเหตุทุกประการ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแจ้งในพระราชสาสนแลกิจจานุกิจทั้งปวงก็ตรัศว่า ขอบใจพระมหาจักรพรรดิ เราต้องประสงค์ช้างเผือกแต่สองช้าง ควรฤๅตัดทางพระราชไมตรีได้ อันพระนครศรีอยุทธยากับกรุงหงษาวดีตั้งแต่วันนี้ไปจะเปนปรปักษ์กันแล้ว ๆ ตรัศปฤกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีว่า เรายกไปพระนครศรีอยุทธยาถึงสองครั้งมิได้นั้นด้วยเหตุ ๓ ประการ ประการหนึ่ง พระนครศรีอยุทธยามีน้ำล้อมรอบดุจเขาพระสิเนรุราชอันมีสีทันดรสมุทแวดล้อมเปนชั้น ๆ ประการหนึ่ง ขัดโดยเสบียงอาหาร จะทำการปีมิได้ อนึ่ง เมืองพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองพิไชย ห้าหัวเมืองนี้ ก็ยังเปนกำลังกรุงเทพมหานครอยู่ ทั้งเสบียงอาหารก็บริบูรณ์ ถ้าได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งนี้ด้วยแล้ว พระนครศรีอยุทธยาไม่พ้นเงื้อมมือเรา จะเห็นประการใด มุขมนตรีทั้งปวงก็เห็นโดยพระราชบริหาร สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า เรายกไปครั้งนี้จะให้มากกว่าก่อน ๓ เท่า จึงให้มีพระราชกำหนดไปถึงพระเจ้าอังวะราชบุตรเขย พระเจ้าแปรผู้เปนราชนัดดา พระเจ้าเชียงใหม่ แลท้าวพระยาหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวง ว่า จะยกไปตีกรุงศรีอยุทธยา ให้เร่งบำรุงช้างม้ารี้พลไว้ ออกพระวัสสาแล้ว ให้ยกมาพร้อมกัน ณ กรุงหงษาวดี ฝ่ายพระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่ แลท้าวพระยาหัวเมือง แจ้งในพระราชกำหนดแล้ว ก็เกณฑ์ทัพบำรุงช้างม้ารี้พลไว้สรรพ ครั้นออกพระวัสสาแล้ว ก็ยกทัพมาพร้อมกัน ณ กรุงหงษาวดี

ศักราช ๙๑๐ ปีวอก สำเรทธิศก สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเกณฑ์ทัพกรุงหงษาวดี กรุงอังวะ เมืองเชียงใหม่ เมืองภุกาม เมืองปรอน เมืองแปร เมืองละเคิ่ง เมืองจิตตอง เมืองตองอู เมืองพสิม เมืองบัวเผื่อน เมืองเสี่ยง เมืองตราง เมืองเมาะตมะ เมืองเมาะลำเลิ่ง เมืองทวาย เปนคนเก้าสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดพัน ม้าหมื่นห้าพัน ให้พระมหาอุปราชาเปนกองน่า ถือพลยี่สิบหมื่น ม้าสามพัน ช้างเครื่องพันห้าร้อย พระเจ้าอังวะเปนปีกขวา ถือพลสิบหมื่น ม้าพันหนึ่ง ช้างเครื่องห้าร้อย พระเจ้าแปรเปนปีกซ้าย ถือพลสิบหมื่น ม้าพันหนึ่ง ช้างเครื่องห้าร้อย พระเจ้าเชียงใหม่เปนกองหลัง ถือพลสิบหมื่น ช้างเครื่องห้าร้อย ม้าพันหนึ่ง เสร็จแล้ว ถึงณวัน ๑๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว สองนาฬิกา หกบาท ได้ศุภวารฤกษ์ดิถี สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็สอดใส่ฉลองพระองค์ ทรงสุวรรณมหาสังวาลเจ็ดสายเฉวียงพระอังสา ทรงกาญจนไมยมาลาอลงกฎวิจิตร พิพิธภูษิตากาญจนนิลรัตน โดยขัติยเวศวิไสยสำหรับวิไชยราชรณยุทธเสร็จ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบห้านิ้ว เปนบรมอรรคราชยาน ประดับเครื่องนาเคนทราลังการาภรณ์บวรสัตตพิธรัตน พร้อมด้วยหมู่สรรพพลากรโยธาทวยหาญเปนขนัดแน่นแสนสารสินธพภาชีชาติราชบทมุลิกากรบวรองครักษกรรกง ทรงสรรพสัตถาลังการานานาวุธวิภูษิต พิพิธทวนธงเปนทิวท่องท้องรัถยางคเดียรดาษดูโอภาษพันฦก อธึกด้วยธวัชกลิ้งกลดอภิรุมบังสุริยส่องจำรัสคัคณัมพรประเทศไพโรจน์ ดาษดาด้วยท้าวพระยาเสนามาตยนิกรพิริยพฤนทเรียงรายระดับโดยขบวนพยุหบาตราซ้ายขวาน่าหลังทั้งปวงเสร็จ ได้เพลามหามหุติฤกษ์ โหราลั่นฆ้องไชย ปโรหิตาจารย์เป่าสังข์ประโมฆ้องกลองกาหฬดนตรีศัพท์อุโฆษนฤนาทนี่สนั่น ดำเนินกระบี่ธุชโบกโบยเคลื่อนพยุหโยธาทัพหลวงออกจากกรุงหงษาวดี ประทับร้อนแรมมาเจ็ดเวนถึงเมืองเมาะตมะ ดำรัศให้ข้ามพลเหนือเมืองเมาะตมะห้าวันจึงสิ้น แล้วยกมายี่สิบเวนถึงเมืองกำแพงเพ็ชร สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศให้พระเจ้าเชียงใหม่อยู่ต่อเรือรบกระจังเลาคาสองร้อยลำ ให้พระยาหริภุญไชย พระยานครลำปาง ขึ้นไปเอาเรือเมืองเชียงใหม่ เมืองนคร เมืองลำพูน ถ่ายลำเลียงลงมาไว้ตำบลระแหงให้พร้อม แล้วสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จยกทัพหลวงไปทางเมืองศุโขทัยตั้งค่ายประทับแรม ให้หาพระยาศุโขไทย พระยาสวรรคโลก มาเฝ้า ตรัศปราไส แลสั่งให้เตรียมทัพ แล้วเสด็จยกไปเมืองพระพิศณุโลก ตั้งค่ายหลวงตำบลโทก แลค่ายทั้งนั้นก็ตั้งโดยกระบวน

ขณะเมื่อกองทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาถึงปลายด่าน สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าแจ้งเหตุ ก็บอกข้อราชการให้เรือเร็วลงไปกรุงพระนครศรีอยุทธยาขอกองทัพช่วย แล้วให้กวาดครัวอพยพแขวงเมืองเข้าเมืองพิศณุโลก แลแต่งการป้องกันเมืองเปนสามารถ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดียังมิได้สั่งให้เข้าล้อมเมือง ให้ทำแต่บันไดหกบันไดพาดไว้เปนอันมาก แล้วให้ขุดมูลดินปั้นก้อนใส่ชลอมกองไว้ แต่กองดินสูงกว่ากำแพงเมือง แล้วสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแต่งเปนรับสั่งเข้าไปว่า สมเด็จพระเจ้าชนะสิบทิศเสด็จยกพยุหโยธามาทั้งนี้ จะลงไปพระนครศรีอยุทธยา บัดนี้ เสด็จมาเยือนเมืองพระพิศณุโลก ให้อัญเชิญสมเด็จพระมหาธรรมราชาน้องเราออกมาหาเรา จะได้เจรจาความเมืองกัน สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าแจ้งดังนั้นก็ตอบออกไปว่า แผ่นดินเปนของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก แลข้าพระองค์จะออกไปเฝ้านั้นมิควร สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศให้ทูตกลับเข้ามาอิกว่า ถ้าน้องเรามิออกมาหาเรา เมืองพิศณุโลกน้อยนัก แต่ทหารกองน่าก็จะคับเมือง สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าจึงนิมนต์พระสงฆ์สี่รูปออกไปฟังการ พระสงฆ์ออกไป สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีให้นำพระสงฆ์ไปดูมูลดินแลบันไดหกบันไดพาด แล้วให้เอาข่าวไปแจ้งแก่น้องเรา ถ้าน้องเรามิออกมา จะให้ทหารถือมูลดินแต่คนละก้อนถมเมืองเสียให้เต็มแต่ในนาฬิกาเดียว พระสงฆ์ไปดูแล้วกลับเข้ามาแจ้งแก่พระมหาธรรมราชาเจ้าโดยได้เห็นแลพระเจ้าหงษาวดีสั่งมาทุกประการ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าจึงปฤกษามุขมนตรีว่า เราคอยทัพกรุงเทพมหานครช้าพ้นกำหนดอยู่แล้วก็ไม่ยกขึ้นมา อันศึกพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนี้เปนอันมาก เสียงพลเสียงช้างเสียงม้าดังเกิดลมพยุใหญ่ เห็นเหลือกำลังเรานัก ถ้าเรามิออกไป พระเจ้าหงษาวดีก็จะให้ทหารเข้าหักเหยียบเอาเมือง สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจะมาถึงแก่พินาศฉิบหายสิ้น ทั้งพระพุทธสาสนาก็จะเศร้าหมอง ดูมิควรเลย จำเราจะออกไป ถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกจะทรงพระพิโรธประการใดก็ดี ก็จะตายแต่ตัว จะแลกเอาชีวิตรสัตวให้รอดไว้.

ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ค่ำ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าก็เสด็จออกไปเฝ้า สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า น้องเราไปด้วยเรา ให้เร่งเตรียมพลให้พร้อมในเจ็ดวัน สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าก็จัดพลสามหมื่นมาโดยเสด็จในกองทัพหลวง สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จยกพลลงมาประชุมทัพณเมืองนครสวรรค์.

ขณะเมื่อพระมหาธรรมราชาเจ้าบอกข้อราชการลงไปถึงกรุงเทพมหานครครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกตรัศให้พระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระยาวิชิตณรงค์ ถือพลหมื่นหนึ่งให้รีบขึ้นไปช่วยเมืองพระพิศณุโลก แล้วพระเจ้าอยู่หัวให้กวาดครัวหัวเมืองตรีจัตวาเข้าพระนคร แลทัพพระยาพิไชยรณฤทธิ์ ทัพพระยาวิชิตณรงค์ ยกไปถึงแดนเมืองนครสวรรค์ ได้ข่าวมาว่า เมืองพระพิศณุโลกแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงพระเจ้าหงษาวดีได้สิ้นแล้ว แล้วกองทัพพม่ามอญก็ลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระยาวิชิตณรงค์ จะตั้งรับเห็นไม่ได้ จึงปฤกษากันถอยลงไปทูลประพฤดิเหตุแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า บัดนี้ เมืองพระพิศณุโลกแลเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงเสียสิ้นแล้ว กองทัพพม่ามอญก็ยกล่วงมาตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ลงมาด้วย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกแจ้งดังนั้นก็เสียพระไทยนัก จึงตรัศแก่พระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ว่า ศึกพระเจ้าหงษาวดีก็ยกมาแล้ว ตัวทั้งสามคนนี้จะคิดทำประการใด พระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม บังคมทูลว่า บัดนี้ กองทัพพม่ามอญยังประชุมพร้อมมูลกันอยู่ ไม่รู้กำลัง ถ้าลงมาใกล้พระนครแผ่คนออกเมื่อใด จะยกออกตี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม ตรัศให้จัดทหารเปนเหล่าเปนกองตั้งไว้กลางเมืองเปนสามกอง แล้วให้เร่งรัดตรวจตราซ่อมแปลงการซึ่งจะรักษาพระนครทั้งกลางคืนกลางวันเปนสามารถ.

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งตั้งต่อเรือกะจังเลาคาอยู่ เมืองกำแพงเพ็ชรนั้น เสร็จแล้วก็ยกทัพเรือรบลำเลียงลงมาบรรจบทัพหลวงณเมืองนครสวรรค์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจัดแจงทัพบกทัพเรืออยู่ณเมืองนครสวรรค์นั้น ท้าวพระยานายทัพนายกองเฝ้าพร้อม จึงตรัศถามสมเด็จพระมหาธรรมราชาว่า เราให้มีราชสาสนมาขอพระยาช้างตระกูลสองช้าง ควรฤๅสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกไม่ให้ รักช้างยิ่งกว่าเสวตรฉัตรอิกเล่า ฤๅว่ามีผู้ใดทัดทาน พระเจ้าน้องเรารู้บ้างฤๅไม่ สมเด็จพระมหาธรรมราชากราบทูลว่า ทราบอยู่ เดิมพระเจ้าแผ่นดินให้ปฤกษาว่า พระองค์ให้มีพระราชสาสนมาขอพระยาช้างนี้ ควรให้ฤๅไม่ควร เสนาบดีปฤกษาว่า ควรให้ แต่พระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ปฤกษาว่า ช้างเปนศรีพระนคร ไม่ควรให้ พระเจ้าแผ่นดินก็ได้ตรัศต่อว่า แม้นมิให้พระยาช้างไป ถ้าพระองค์ยกทัพใหญ่มา ยังจะป้องกันพระนครได้ฤๅ พระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ว่า รับประกันพระนครไว้ แลเหตุดังนี้ พระเจ้าแผ่นดินจึงมิได้ส่งช้างไปถวายพระองค์ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวลแล้วตรัศว่า เปนธรรมดาคนโมหจิตรมิได้รู้จักกำลังตนกำลังท่าน เหมือนสัตวสองจำพวก คือ นกน้อย คือ กระต่าย แลกระต่ายขาตัวสั้นเท่านั้น หมายจะหยั่งท้องพระมหาสมุทได้ แลว่ายน้ำออกไปยังมิทันได้หยั่ง ก็จมน้ำถึงแก่กาลกิริยาตาย นกน้อยเล่าปีกหางก็เท่านั้น ชวนพระยาครุธบินข้ามพระมหาสมุท แลบินเต็มพักของตัวยังมิได้กวักแห่งพระยาครุธ ก็ตกน้ำทำกาลกิริยาตาย แลสัตวสองจำพวกนี้เหมือนกับผู้ปฤกษาแลรับประกันพระนครไว้ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศแล้ว รุ่งขึ้น ณ วัน ๑๐ ค่ำ ศักราช ๙๑๑ ปีรกา เอกศก ก็เสด็จยาตราทัพลงมายังพระนครศรีอยุทธยา แลทัพพระมหาอุปราชากองน่าตั้งค่ายตำบลพะเนียด ค่ายพระเจ้าแปรปีกซ้ายตั้งตำบลทุ่งวัดโพธารามไปคลองเกาะแก้ว ทัพพระเจ้าอังวะปีกขวาตั้งค่ายตำบลวัดพุทไธสวรรย์มาคลองตะเคียน ทัพพระยาตองอู ทัพพระยาจิตตอง ทัพพระยาละเคิ่ง เกียกกาย ตั้งค่ายแต่วัดการ้องลงไปวัดไชยวัฒนาราม ทัพพระยาพสิม ทัพพระยาเสี่ยง กองน่าทัพหลวง ตั้งค่ายตำบลลุมพลี ทัพหลวงตั้งค่ายตำบลวัดโพเผือกทุ่งขนอนปากคู แลทัพสมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าก็ตั้งตำบลมขามหย่องหลังค่ายหลวง แลทัพซึ่งตั้งรายรอบพระนครนั้นบรรดาแม่น้ำห้วยคลองทั้งปวงก็ทำสพานเรือกเดินม้าเดินพลตลอดถึงกันสิ้นแต่ในวันเดียวนั้นเสร็จ.

ฝ่ายข้าหลวงชาวพระนครผู้ตรวจการบนน่าที่เชิงเทินกำแพง แลดูข้าศึกตั้งค่ายทำสะพานดังนั้น ก็เอาคดีโดยเหตุกราบทูลว่า เห็นศึกครั้งนี้มากกว่าแต่ก่อนสามเท่าสี่เท่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกได้แจ้งดังนั้น เห็นเหลือกำลังที่จะแต่งทัพออกตีข้าศึก ให้กำชับตรวจตรารักษาน่าที่ไว้เปนสามารถ.

สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเสด็จถึงกรุงพระมหานครได้เจ็ดวันแล้ว ไม่เห็นทัพผู้ใดออกมาต่อยุทธ จึงให้แต่งพระราชสาสน ในลักษณว่า พระราชสาสนสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีผู้เปนอิสราธิปไตยถวัลยราชมไหสวรรย์ในรามัญประเทศทรงพระราชกฤษฎาเดชานุภาพผ่านแผ่อาณาจักรขจรทั่วทิศานุทิศดั่งแสงภาณุมาศเมื่อมัชฌันติกสมัย มาถึงสมเด็จพระเชษฐาเราผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ด้วยครั้งหนึ่ง ราชบุตรทั้งสองสมเด็จพระเชษฐายกพลโยธาหาญไปตัดท้ายพล น้องท่านจับได้ ก็มิให้กระทำชีพิตรภยันตราย เพื่อจะเผื่อแผ่ผูกราชสัมพันธมิตรไมตรีร่วมสามัคคีรศธรรมเปนสุวรรณปัถพีเดียวกันอันสนิทมิได้ร้าวฉาน จนพระเชษฐาธิราชให้มีลักษณราชสาสนขึ้นมาขอ ฝ่ายน้องท่านก็ส่งราชบุตรทั้งสองมายังพระบรมเชษฐา แล้วยกกลับขึ้นไปพระนครหงษาวดี รู้กฤติศัพท์ไปว่า พระเชษฐาธิราชมีกฤษฎาภินิหารมาก กอประด้วยเสวตรกุญชรชาติศุภลักษณตระกูลพลายพังถึง ๗ ช้าง จึงให้ทูตานุทูตจำทูลลักษณราชสาสนสุนทรสวัสดิ์มาขอเสวตรกุญชรสองช้างไปไว้เปนศรีพระนครหงษาวดี พระเชษฐาเรามิได้มีอาไลยในราชสัมพันธมิตรไมตรี กลับกล่าวกระทบท้าวทำเนียบมาว่า พระนครใดมีนางรูปงามแลช้างเผือกช้างเนียม เปนที่จะเกิดราชศัตรู น้องท่านได้แจ้ง จำเปนจึงต้องยกพยุหโยธาหาญมาตามลักษณพระราชสาสน บัดนี้ ก็มาเหยียบชานพระนครถึงเจ็ดวันแล้ว ไฉนจึงมิได้ออกมารณรงค์โดยขัติยาภิรมยสำเริงราชหฤไทยบ้างเลย ให้เร่งยกพยุหโยธาออกมาสงครามกันดูเล่นเปนขวัญตา ฤๅไม่รณรงค์แล้วก็เชิญเสด็จออกมาสนทนากัน ถ้ามิออกมา ก็อย่าให้พระเชษฐาเราน้อยพระไทยเลย น้องท่านจะชิงเอาเสวตรฉัตรให้จงได้ ครั้นแต่งเสร็จแล้วให้ทูตถือเข้าไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ครั้นได้แจ้งในลักษณพระราชสาสน จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เห็นเหลือมือเหลือกำลังทหารจะกู้พระนครไว้ได้ ถ้าเราจะมิออกไป สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาจะถึงแก่พินาศฉิบหายสิ้น ทั้งพระสาสนาก็จะเศร้าหมอง จำเราจะออกไป มาทว่าสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีมิคงอยู่ในสัตยานุสัตย์ดังพระราชสาสนเข้ามานั้นก็ตามเถิด แต่เราจะรักษาสัตยานุสัตย์ให้มั่น ทรงพระราชดำริห์เท่าดังนั้นแล้ว ก็ให้แต่งลักษณราชสาสนกำหนดที่จะเสด็จ ให้ทูตานุทูตถือออกไปถวายพระเจ้าหงษาวดี แล้วตรัศให้เจ้าพนักงานออกไปปลูกราชสัณฐาคารณตำบลวัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัษฎาวาศต่อกัน มีราชบัลลังก์อาศนสองพระที่นั่งสูงเสมอกัน หว่างพระที่นั่งห่างสี่ศอก แล้วให้แต่งรัตนัตยาอาศน์สูงกว่าราชาอาศน์อิกพระที่นั่งหนึ่ง ให้เชิญพระศรีรัตนไตรยออกไปไว้เปนประธาน ครั้นรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์พร้อมด้วยมุขมนตรีกระวีชาติราชครูโหราโยธาหาญข้ามไป เสด็จขึ้นบนพระที่นั่ง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีพร้อมด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงเสด็จมา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าอัญเชิญเสด็จ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งแล้วตรัศว่า สมเด็จพระเจ้าพี่เราให้อาราธนาพระพุทธปฏิมากรเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า มาเปนประธานก็ดีอยู่แล้ว ขอจงเปนสักขีทิพพยานเถิด อันแผ่นดินกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานี้ยกถวายไว้แด่สมเด็จพระเจ้าพี่เรา แต่ทว่า น้องท่านให้มาขอช้างเผือกสองช้าง พระเจ้าพี่มิได้ให้ บัดนี้ ต้องยกพยุหโยธาหาญมาโดยวิถีทุเรศกันดาร จะขอช้างเผือกอิกสองช้างเปนสี่ช้าง พระเจ้าพี่จะว่าประการใด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ตรัศบัญชาให้ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า จะขอพระราเมศวรไปเลี้ยงเปนพระราชโอรส ถ้าพระเจ้าพี่เราให้แล้ว จะยกทัพกลับไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตรัศตอบว่า ขอไว้เถิด จะได้สืบประยูรวงษ์ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า พระมหินทราธิราชผู้น้องนั้นก็จะสืบวงษ์ได้อยู่ อันจะเอาไว้ด้วยกัน ถ้าพระเจ้าพี่เราสวรรคตแล้ว ดีร้ายพี่น้องจะหม่นหมองมีความพิโรธกัน สมณพราหมณามุขมนตรีอาณาประชาราษฎรจะได้ความเดือดร้อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าขัดมิได้ก็บัญชาตาม สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า จะขอพระยาจักรีแลพระสุนทรสงครามไปด้วยพระราชโอรส สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยอมให้แล้วตรัศว่า อาณาประชาราษฎรหัวเมืองแลข้าขอบขัณเสมาซึ่งกองทัพจับไว้นั้น ขอไว้สำหรับพระนครเถิด สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็บัญชาให้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าส่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร แลพระยาจักรี พระสุนทรสงคราม กับช้างพลายเผือกสี่ช้าง คือ พระคเชนทโรดม พระบรมไกรสร พระรัตนากาศ พระแก้วทรงบาศ ให้สมเด็จพระเจ้าหงษาวดี แล้วเสด็จเข้าพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จไปพลับพลา สั่งให้ประกาศแก่นายทัพนายกองว่า อาณาประชาราษฎรพระนครศรีอยุทธยานั้นให้ปล่อยเสียจงสิ้น แล้วให้สมเด็จพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม เข้าไปรับบุตรภรรยา ทั้งสามก็เข้าไปรับบุตรภรรยา จึงมาถวายบังคมลาพระเจ้าแผ่นดิน แล้วก็ออกไปตามพระราชกำหนด.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีมีพระราชบริหารดำรัศสั่งให้กองทัพล่วงไปเจ็ดวันแล้ว ก็เสด็จยกทัพหลวงไปทางเมืองกำแพงเพ็ชร สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าก็ตามไปส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีถึงเมืองกำแพงเพ็ชร แล้วก็กลับมาเมืองพระพิศณุโลก

ขณะนั้น พระยาตานีศรีสุลต่านยกทัพเรือหย่าหยับสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงคราม ถึงทอดอยู่น่าวัดกุฏิ์บางกะจะ รุ่งขึ้น ยกเข้ามาทอดอยู่ประตูไชย พระยาตานีศรีสุลต่านได้ทีกลับเปนกระบถ ก็ยกเข้าในพระราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าไม่ทันรู้ตัว เสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสักลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์ แลเสนาบดีมุขมนตรีพร้อมกันเข้าในพระราชวัง สพัดไล่ชาวตานีแตกฉานลงเรือรุดหนีไป ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวงก็ออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกเสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศมหาสถาน.

ศักราช ๙๑๒ ปีจอ โทศก พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบว่า พระราชบุตรีพระสุริโยไทยซึ่งขาดฅอช้างแก่กรุงหงษาวดีนั้นจำเริญไวยวัฒนาขึ้นแล้ว พระองค์ก็แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาถวายแก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า ข้าพระองค์ผู้อ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุตขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระบิดุราธิราชผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมด้วยพระราชมหาสถานมเหาฬารอันยิ่งเปนมิ่งมงกุฎด้วยสัตตเสวตรกุญชรชาติตัวประเสริฐศรีเมือง ข้าพระองค์ยังไป่มีเอกอรรคราชกัลยาณีที่จะสืบศรีสุริยวงษ์ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราชธิดาอันทรงพระนาม พระเทพกระษัตรี ไปเปนปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญาในมหานคเรศปาจิณทิศ เปนทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีสุวรรณปัถพีแผ่นเดียวกันชั่วกัลปาวสาน.

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกทราบในลักษณพระราชสาสน ก็ให้ชุมท้าวพระยามุขมนตรีปฤกษา ๆ ว่า กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงหงษาวดีก็เปนอริชอกช้ำดุจวรรณโรคอันมีในพระทรวง จะรักษาเปนอันยาก แลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็เปนกรุงกระษัตริย์อันใหญ่ ได้มีพระราชสาสนนอบน้อมมาแล้ว ควรที่จะทรงพระราชกรุณาพระราชทานให้ จะได้เปนทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรี เกลือกมีราชการงานสงครามภายน่า จะได้เปนมหากำลังยุทธนาการ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัวก็เห็นด้วย ดำรัศให้ตอบพระราชสาสนขึ้นไปว่า ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมีพระไทยจะร่วมพระราชโลหิตเปนมหาสัมพันธมิตรไมตรีนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าพระเจ้าช้างเผือกทรงพระอนุญาตแล้ว ให้แต่งมารับเถิด ทูตานุทูตรับพระราชสาสนกราบถวายบังคมลาไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ถวายพระราชสาสน ทูลประพฤดิเหตุทุกประการ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบดังนั้นก็ดีพระไทยนัก ก็แต่งทูตานุทูต กับไพร่ ๕๐๐ แลท้าวนางเถ้าแก่ลงมารับ ขณะเมื่อทูตลงมาถึงนั้น พอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรีทรงพระประชวรหนัก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกมิรู้ที่จะผ่อนผันฉันใดเลย จึงทรงพระราชจินตนาการว่า แม้นจะมีพระราชสาสนบอกขึ้นไปโดยสัจไซ้ ไหนพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจะเห็นจริง ก็จะว่า เราเจรจาเปนสอง จะหม่นหมองคลองพระราชไมตรีแลไมตรีไป ได้ออกวาจาแล้วจะให้เสียคำบมิบังควร พระองค์ก็ยกพระแก้วฟ้าราชธิดาให้แทนองค์พระเทพกระษัตรี พระราชทานเครื่องราชูประโภคสำหรับอรรคมเหษีกรุงกระษัตริย์ พร้อมด้วยสนมสาวใช้ทาษกรรมกรชายห้าร้อยหญิงห้าร้อยไปด้วย ทูตกราบถวายบังคมลา เชิญเสด็จพระแก้วฟ้าราชบุตรีขึ้นไปถวาย.

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า ใช่องค์พระเทพกระษัตรี ก็เสียพระไทยนัก จึงตรัศว่า เดิมเราจำนงขอพระเทพกระษัตรีซึ่งเปนพระราชธิดาพระสุริโยไทยอันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับฅอช้างเปนตระกูลวงษ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัศแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เปนทูตานุทูต ให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรีอยุทธยา แลมีพระราชสาสนเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกด้วย ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กฤติศัพนี้ก็ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขัณฑเสมาเมืองกรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว บัดนี้ พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีเปลี่ยนไปแทนนั้น ถึงมาทว่าพระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์ยิ่งกว่าพระเทพกษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกฤติศัพท์พระเทพกระษัตรีเสียได้ ก็เปนที่อัปรยศชั่วกัลปาวสาน ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วราชธิดาคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์ดุจมีพระราชสาสนอนุญาตมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งในลักษณราชสาสนแลส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดังนั้นก็ลอายพระไทยนัก พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค จึงตกแต่งการที่จะส่งพระราชธิดาแลจัดเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาษชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย.

ครั้นถึงเดือนห้า ศักราช ๙๑๓ ปีกุญ ตรีนิศก จึงมีพระราชโองการดำรัศให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง พระยาแมนกับกับทูตานุทูตก็เชิญเสด็จพระเทพกระษัตรีขึ้นทรงสีวิกากาญจนยานุมาศไปโดยสถลมารคสมอสอ.

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาแต่แจ้งว่า พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกจะส่งพระเทพกระษัตรีขึ้นไปกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ให้ม้าเร็วถือหนังสือไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทราบก็แต่งให้พระตะบะเปนนายกอง ฟ้าเสือต้าน มังกลอกหม้อ คุมพลหมื่นหนึ่งรุดมาตั้งซุ่มคอยอยู่ตำบลมะเริงนอกด่านเมืองเพ็ชรบูรณ์ ออกสกัดตีชาวกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้นแตกฉาน ได้พระเทพกระษัตรีไปถวายพระเจ้าหงษาวดี.

ฝ่ายพระยาลาวซึ่งมารับพระเทพกระษัตรีก็เอาคดีทั้งปวงไปกราบทูลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทุกประการ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งประพฤดิเหตุก็ทรงพระพิโรธว่า ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีแต่งรี้พลมาสกัดรบชิงเอาพระเทพกระษัตรีไปทั้งนี้ ก็เพราะเมืองพระพิศณุโลกเปนต้น จำจะแก้แค้นให้ถึงขนาด พระองค์ก็ให้บำรุงช้างม้ารี้พลจะยกไปเอาเมืองพระพิศณุโลก ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งก็ตรัศให้ไปห้าม พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็งดโดยพระราชโองการ มิได้ยกไป.