พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 1

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ (ปราสาททอง)

 เจ้าพระยากลาโหมสุริวงษ์ได้ฟังมุขมนตรีทั้งปวงมาอ้อนวอนดังนั้นก็รับว่า จะครองราชสมบัติ เสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายมีความยินดีนัก ก็อัญเชิญเสด็จเข้าอยู่ในพระราชวัง แล้วเสนาพฤฒามาตยราชปโรหิตทวิชาจารย์พร้อมกันให้พระโหราธิบดีหาฤกษ์ ก็ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเศกในพระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท เจ้าพนักงานทั้งหลายก็จัดแจงแต่งตั้งสุวรรณบัลลังก์รัตนราชาอาศน์ลาดด้วยหนังพระยาราชสีห์ มีพระมหาเสวตรฉัตรเปนต้น อำพนด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายพรายพรรณจามรมาศกลดกลิ้งกรรชิงบังแทรกสลับสลอน บังสุริเยนทรบวรด้วยมยุรฉัตรพัดวาลวิชนีพรายเพรามเหาฬาราดิเรกโดยราชประเพณี ตั้งพระราชพิธีสงฆ์แลพิธีไสยเวทเวทางคสาตรทุกประการ แล้วตั้งพระยาคชสารยืนสถิตย์ซ้ายขวา ทั้งพระยาอัศวราชสถิตย์ซ้ายขวา พร้อมพลาพลพฤนท์ทั้งปวงทุกกระทรวงการเสร็จ.

 ครั้นรุ่งขึ้น รวิวาร มหาศุภฤกษ์อันอุดม บรมทินกรประเวศเหนือนภาไลยจำรัสดวง พระมหาราชครูพระครูปโรหิตทวิชาจารย์ก็เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำอางองค์อลงกฎพิภูษาสรรพาภรณ์ บวรด้วยแก้วกาญจนมณีรัตนชัชวาลโอภาศเสร็จ เสด็จทรงพระราเชนทรยานมาขึ้นอัฒจันท์พระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท พระราชครูทั้ง ๔ องค์บุริโสดมพรหมพิชาจารย์ก็เป่ามหาสังข์ทักษิณาวัฏประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีตีอินเทภรีเปนประถม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จในน่าฆ้องไชยชำระพระบาท พระยาธรรมาธิบดีก็ลั่นฆ้องไชยประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีตีอินทเภรีเปนทุติยวาร จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท สถิตย์เหนือบัลลังก์อาศนอลังการ หมู่ทวิชาจารย์ก็เป่าสังข์ทักษิณาวัฏประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีตีอินทเภรีเปนตติยวาร สมเด็จพระสังฆราชราชาคณะทั้งปวงก็สวดพระพุทธมนต์ถวายไชย พระมหาราชครูพระครูปโรหิตสุภาวดีศรีพิชาจารย์ทั้งหลายก็แซ่ซ้องโอมอ่านอิศวรเวทวิศณุมนต์ถวายไชยพร้อมเสร็จ ก็ถวายมุรธาภิเศกอาเศียรพาทสำหรับการพระราชพิธีปราบดาภิเศกพระมหากระษัตราธิราชเจ้าสืบมา แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงสิงหบัญชรณพระที่นั่งมังคลาภิเศกอันขจิตรด้วยสุวรรณรัตโนภาศ จึงเบิกท้าวพระยาสามนตราชตระกูลพฤฒามาตย์มุขมนตรีถวายบังคม แล้วเบิกสมโภชเลี้ยงลูกขุนทั้งปวงเสร็จ.

 ในศักราช ๙๙๒ ปีมเมีย โทศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นผ่านถวัลยราชพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน ทรงพระนาม พระเจ้าปราสาททอง พระองค์ทรงทศพิธราชธรรมอันมหาประเสริฐ ครั้นรุ่งเช้า เสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาตรัศปูนบำเหน็จจหมื่นสรรเพธภักดีเปนพระยาราชภักดี เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ พระราชทานเจียดทอง กระบี่ เต้าน้ำ พานทอง เครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก แลขุนนางซึ่งสวามิภักดิ์นั้นก็ตั้งแต่งโดยสมควรแก่ถานาศักดิ์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก แลพระอาทิตยวงษ์นั้นทรงพระกรุณาให้อยู่ในพระราชวังกับด้วยพระนมพี่เลี้ยง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอนุชาองค์หนึ่ง ทรงพระกรุณาตรัศว่า น้องเราคนนี้น้ำใจกักขละหยาบช้า มิได้มีหิริโอตัปป จะให้เปนอุปราชรักษาแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้ ให้เปนแต่เจ้าพระชื่อ พระศรีสุธรรมราชา ตั้งบ้านหลวงอยู่ริมวัดสุทธาวาศ แลที่บ้านสมเด็จพระพันปีหลวงนั้นพระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์มีพระระเบียงรอบ แลมุมพระระเบียงนั้นกระทำเปนเมรุทิศเมรุรายอันรจนา แลกอปรด้วยพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญ แลสร้างกุฎีถวายพระสงฆ์เปนอันมาก เสร็จแล้วให้นามชื่อ วัดไชยวัฒนาราม เจ้าอธิการนั้นถวายพระนามชื่อ พระอชิตเถร ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี ทรงพระราโชทิศถวายนิจภัตรพระกัลปนาเปนนิรันดรมิได้ขาด.

 ลุศักราช ๙๙๓ ปีมแม ตรีนิศก ทรงพระกรุณาให้ช่างออกไปถ่ายอย่างพระนครหลวงแลปราสาทกรุงกัมพุชประเทศเข้ามา ให้ช่างกระทำพระราชวังเปนที่ประทับร้อนตำบลริมวัดเทพจันท์สำหรับเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึงเอานามเดิมซึ่งถ่ายมาให้ชื่อว่า พระนครหลวง แลในปีที่สร้างพระนครหลวงนั้นก็สถาปนาวัดพระศรีสรรเพชญ์เสร็จ กระทำการฉลองแลมีมหรศพสมโภชเปนอเนกนุประการ พระกฤษฎานุภาพพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรงพิภพมณฑลสกลสิมาประชาราษฎรเกษมศุขสนุกสบาย สรรพเภทไภยันตรายโรคาพยาธิก็เบาบาง อิกหมู่เสนางคนิกรโยธาทวยหาญมั่งคั่งพรั่งพร้อมไปด้วยพลช้างพลม้า ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญญาหารก็บริบูรณ์ทั่วประเทศธานีนิคมชนบท พระยศเซนซ่าไปในนานาประเทศทั้งปวง ครั้งนั้น สำเภาลูกค้าพานิชเข้ามาค้าขายเปนอันมาก.

 ลุศักราช ๙๙๔ ปีวอก จัตวาศก ทรงพระกรุณาสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง สิบเอ็จเดือนเสร็จ ให้นามว่า ศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ ในเพลากลางคืน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตรว่า สมเด็จอมรินทราธิราชเจ้าเสด็จลงมานั่งแทบพระองค์ไสยาศน์ ตรัศบอกว่า ให้ตั้งจักรพยุห แล้วสมเด็จอมรินทราธิราชหายไป เพลาเช้า เสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาตรัศเล่าพระสุบินให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งปวงฟัง พระมหาราชครูปโรหิตโหราพฤฒาจารย์ถวายพยากรณ์ทำนายว่า เพลาวานนี้ ทรงพระมหากรุณาให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า ศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ นั้น เห็นไม่ต้องนามสมเด็จอมรินทราธิราชซึ่งเสด็จลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุห อันจักรพยุหนี้เปนที่ตั้งใหญ่ในมหาพิไชยสงคราม อาจจะข่มเสียได้ซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย ขอพระราชทานเอานามจักรอันนี้ให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า จักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท ตามลักษณเทพสังหรณ์ในพระสุบินนิมิตรอันประเสริฐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังก็มีพระไทยปรีดายิ่งนัก จึงให้แปลงชื่อพระมหาปราสาทตามคำพระมหาราชครูทั้งปวง.

 ในปีนั้น พระราชเทวีประสูตรพระราชบุตรองค์หนึ่ง พระญาติพระวงษ์เหฦๅบเห็นเปน ๔ กรแล้วปรกติเปน ๒ กร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศแจ้งความมหัศจรรย์ ก็พระราชทานพระนามว่า พระนารายน์ราชกุมาร ในปีนั้น ทรงพระกรุณาให้สร้างพระที่นั่งไอสวรรย์ทิพอาศน์เกาะบางนางอิน มีพระราชนิเวศปราการประกอบพฤกษาชาติร่มรื่นเปนที่สำราญพระราชหฤไทยประพาศราชตระกูลสุริวงษ์อนงคนารีทั้งปวง แล้วสร้างพระอารามเคียงพระราชนิเวศถวายเปนสงฆทาน มีพระเจดีย์วิหารเปนอาทิ สำหรับพระสาสนาเสร็จบริบูรณ์ แล้วให้นามชื่อ วัดชุมพลนิกายาราม ในเดือนยี่ปลายปีนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์อินทร์ณเกาะบ้านเลน โสกันต์แล้วพระราชทานพระนามชื่อ เจ้าฟ้าไชย ๆ นั้นประสูตรนอกราชสมบัติ ต่างพระชนนีกับพระนารายน์ราชกุมาร.

 ลุศักราช ๙๙๕ ปีรกา เบญจก ทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระปรางวัดมหาธาตุอันทำลายลงเก่า เดิมในองค์สูง ๑๙ วา ยอดนพศูล ๓ วา จึงดำรัศว่า ทรงเก่าล่ำนัก ก่อใหม่ให้องค์สูงเส้น ๒ วา ยอดนพศูลคงไว้ เข้ากันเปนเส้น ๕ วา ก่อแล้วเห็นเพรียวอยู่ ให้เอาไม้มะค่ามาแทรกตามอิฐเอาปูนบวก ๙ เดือนสำเร็จ ให้กระทำการฉลองเปนอันมาก ในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตรด้วยพระสนมอิกสามพระองค์ ทรงพระนาม พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ องค์หนึ่ง พระองค์ทอง องค์หนึ่ง พระอินทราชา องค์หนึ่ง เมื่ออาสาฬหมาศเข้าพระวัสสา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยสนมราชกัญญาออกไปนมัสการจุดเทียนพระวัสสาถวายพระพุทธปฏิมากรณวัดพระศรีสรรเพชญ์ เสด็จประพาศมาน่าพระวิหารใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นพระอาทิตยวงษ์ ราชบุตรพระเจ้าทรงธรรมซึ่งยกออกเสียจากราชสมบัตินั้น ขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่บนหลังกำแพงแก้ว ชี้พระหัดถ์ตรัศว่า อาทิตยวงษ์องอาจมิได้ลงจากกำแพงแก้ว ให้ต่ำลดพระอาทิตยวงษ์ลงจากยศ ให้ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่สองห้องสองหลังริมวัดท่าทรายให้อาทิตยวงษ์อยู่ ให้คนอยู่ด้วยสองคนแต่พอตักน้ำหุงเข้า สั่งแล้วเสด็จเข้าพระราชวัง.

 ในเดือน ๑๒ นั้น ทรงพระกรุณาสั่งว่า พ้นเทศกาลราษฎรเกี่ยวเข้าแล้ว จะเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ให้ยกช่างขึ้นไปตกแต่งพระตำหนักใต้ธารทองแดง แลให้ไขน้ำมาแต่ธารทองแดงให้สนุกสนาน แลทางสถลมารคแต่ท่าเจ้าสนุกขึ้นไปถึงท้ายพิกุลนั้น คิดให้มีน้ำแลศาลาโดยระยะทาง ผู้คนจะได้อาไศรย เสนาบดีรับพระราชโองการแล้วก็ยกช่างแลไพร่ขึ้นไป เกณฑ์แบ่งให้ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุก แลแบ่งให้ทำศาลา ขุดบ่อบางโขมด ตำบลบ่อโศกนั้นขุดบ่อริมต้นโศก จึงให้ชื่อ บ่อโศก แล้วให้ขึ้นไปขุดบ่อทำศาลากลางทาง พอพระสงฆ์แลสามเณรเดินขึ้นไปเห็นทำศาลาอยู่ เจ้าสามเณรจึงว่า ศาลาทั้ง ๕ ห้อง คั่นเสียสักสองห้อง ก่อเปนฝากรงให้ดี คนจะให้อาไศรยนอน ถ้าไม่มีฝา เสือจะกินเสีย ช่างทั้งปวงฟังเจ้าสามเณรว่าเห็นชอบก็ทำตาม ครั้นทำแล้ว จึงให้นามชื่อว่า ศาลาเจ้าเณร แลที่ตำบลหนองคนทีนั้นมีน้ำอยู่แล้ว ก็ทำศาลาไว้สำหรับอาไศรย แลไพร่ซึ่งทำศาลาลงไปตักน้ำกินได้คนทีใบหนึ่ง จึงให้ชื่อ หนองคนที แลช่างกองใหญ่ยกขึ้นไปทำพระตำหนักริมลำธารท้ายธารทองแดงคิดทดท่อน้ำปิดเปิดให้ไหลเชี่ยวมาแต่ธารทองแดง อันพระราชนิเวศซึ่งทำนั้นในดงพฤษาชาติร่มรื่นชื้อชิดเปนที่สำราญราชหฤไทยปิ่นธเรศตรีศวรกระษัตริย์สรรพแสนสนุก แล้วคิดผ่อนทางชลชลาให้ไหลลั่นลงมายังห้วยศิลาดาษ จึงให้นามชื่อ พระราชนิเวศธารเกษม แล้วให้วันจรกนำออกไปตกแต่งธารโศกปลายธารทองแดง ก็เปนที่ประพาศแห่งหนึ่ง แต่ตกแต่งพระราชนิเวศธารเกษม แลธารทองแดงบริเวณพระพุทธบาท แลสถลมารคทั้งปวง ๓ เดือนก็เสร็จ จึงเสนาพฤฒามาตย์นำรายการมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังก็มีพระไทยปราโมทย์ยิ่งนัก จึงมีพระราชกำหนดสั่งสมุหนายกว่า เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ จะไปนมัสการพระบรมพุทธบาท ให้เตรียมการโดยชลมารคสถลมารคให้พร้อม สมุหนายกรับพระราชโองการแล้วกำหนดกฎหมายสั่งทุกพนักงาน เจ้าพนักงานทั้งปวงก็ให้ล่วงไปจัดแจงการทุกประการทุกกระทรวงพร้อมเสร็จ.

 ครั้นถึงผคุณมาศ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาแปดบาท สมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงบาตรแล้ว ก็ทรงเครื่องสรรพาภรณ์บวรด้วยแก้วกาญจนกนกรัตนาไมยสำหรับพิไชยราชรณยุทธ ทรงราชาวุธสรรพเสร็จ ก็เสด็จลงสู่พระที่นั่งไกรสรมุขพิมานไชยจักรรัตนอันโอฬารด้วยเครื่องสูงไสว บวรธงไชยธงฉาน อลงการด้วยเรือต้นทั้งหลายเดียรดาษ เรือเสนาพฤฒามาตย์ราชนิกูลขุนหลวงต้นเชือกปลายเชือกทั้งปวง ก็เข้าจับฉลากเปนขนัดอัดแออรรณพ ครบทั้งเรือพระประเทียบทุกกรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้เคลื่อนกระบวนพยุหบาตราไปโดยแนวชลมารค กำหนดระยะทางแต่ขนานประจำท่าพระราชวังหลวงถึงที่ประทับร้อนพระนครหลวงเปนทาง ๓๙๖ เส้น พักพลาพลทั้งหลายรับพระราชทานเปนศุขารมณ์สบาย ครั้นเพลาชายแล้วสองนาฬิกา ก็เสด็จกรีธาพลาพลนาเวศไปโดยลำดับชลมารคเปนระยะทาง ๖๖ เส้น เพลาชายแล้ว ๔ นาฬิกา ถึงท่าเจ้าสนุก ก็เสด็จขึ้นพระราชนิเวศ ประทับแรมอยู่สองเวน ในเพลานั้น เจ้าพนักงานทั้งหลายก็ตรวจจัตุรงคเสนางคพยุหบาตราเข้าจับฉลากประจำริ้วรายโดยตำแหน่ง แลรถพระประเทียบก็เรียบเรียงเปนระยะอยู่โดยขบวนสรรพเสร็จ ครั้นเพลารุ่งแล้วนาฬิกา ๖ บาท สมเด็จบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องสำหรับพิไชยสงครามเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพังกินนรวิหค ที่นั่งรองบุษบกเบญจา อลงการด้วยพระที่นั่งพุดตาลทองบุฉลุลาย พรรณรายด้วยแก้วกาญจนมณีรัตนชัชวาล โอฬารด้วยเครื่องอภิรุมรจิเรขเสวตรฉัตรชุมสายลายสุวรรณ พรรณกลดกลิ้งกรรชิงมาศดาษดา รจนาด้วยมยุรฉัตรพัดวาลวิชนีจามรบังรวิวรไพโรจประดับ สรรพด้วยหมู่คชินทรดั้งกันแทรกแซงค่ายค้ำพังคา ทั้งหมู่อัศวราเริงร้องหฤหรรษเนียรนาท หมู่พหลราชรถเรียงระดับงอนงามไสว หมู่พลาพลไกรก็คับคั่งพรั่งพร้อมโดยขบวนเสด็จ เสร็จทั้งรถพระประเทียบท้าวนางพระสนมบริพาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคลื่อนพลทวยหาญพยุหบาตราโดยแถวรัถยาทุเรศอรัญร่มรื่นรหงรโหฐานพันฦก อธึกด้วยศัพทสำเนียงเสียงกาหฬก้อง กลองชนะโครมครื้นเพียงแผ่นพื้นพสุธาดลจะกัมปนาท อันบวรราชอนงค์นั่งในรถพระประเทียบเรียบเรียง ก็ชวนกันเมียงเมิลชมรุกขชาติอันเพลดช่อต่อผลเปนพุ่มพวงผกานาเนกในแนวพนัศทิวเถื่อนทุรัศฐานดานดง ก็เสด็จตรงไปยังพระราชนิเวศตำหนักธารเกษม เพลารุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพยุหบาตรามานมัสการพระพุทธบาท กระทำสักการบูชาเปนมโหฬารยิ่งนัก แล้วให้มีมหรศพสมโภชเจ็ดเวนเปนกำหนด พระองค์บริจาคราชทรัพย์เปนทานแก่ยาจกพรรณิพกทุกวันเปนอันมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จนมัสการเช้าเย็นมิได้ขาดจนครบเจ็ดวัน แล้วเสด็จประพาศธารโศก ธารทองแดง แลห้วยเขาถ้ำธารเสร็จ ก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา.

 ลุศักราช ๙๙๗ ปีกุญ สัปตศก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานเพลิงพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในณวัดไชยวัฒนาราม ได้เนื้อในท้องเผาไม่ไหม้ สงไสยว่าต้องคุณ ครั้งนั้น ประชาราษฎรฦๅกันว่า จะให้ค้นตำหรับตำราที่หมอผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างคนกลัวความผิด บรรดามีตำหรับตำราความรู้วิชาการก็ทิ้งน้ำเสียสิ้น.

 ศักราช ๙๙๘ ปีชวด อัฐศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้รื้อเทวสถานพระอิศวรพระนารายน์ขึ้นมาตั้งยังชีกุน ในปีนั้น ให้ยกกำแพงพระราชวังออกไป ให้สร้างพระมหาปราสาทพระวิหารสมเด็จ วันหนึ่ง เสด็จมาทอดพระเนตรเรือกิ่ง ช่างรับพระราชทานอยู่ ยังมิได้ติดตาเรือกิ่ง ทรงพระกรุณาให้นายมั่น มหาดเล็กบ้านนอก เอาตาเรือกิ่งติดเข้า กลับตาซ้ายติดตาขวา หางเรือก็กลับไปข้างปัถวี ทอดพระเนตรเห็นตรัศว่า ดีอยู่ ให้เอาตามนายมั่นติดนั้นเถิด พระราชทานเงินตราห้าตำลึง เสื้อผ้าสำรับหนึ่ง ในวันบัณณรสีเพ็ญเดือนแปด เสด็จออกไปประฏิบัติพระสงฆ์ณวัดไชยวัฒนาราม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระเยาว์ก็ตามเสด็จไปหลายพระองค์ แต่พระนารายน์ราชกุมารพระชนม์ได้ห้าพรรษานั้นประชวรพระเจ้าอยู่ ทรงพระกรุณาตรัศว่า ป่วยอยู่แล้ว อย่าตามไปเลย เพลาเช้านั้น ฝนตกพรำอยู่ พระนารายน์ราชกุมารเสด็จออกไปเล่นที่เกย พระนมพี่เลี้ยงทูลห้ามก็ไม่ฟัง จะถวายพระกลดก็ห้ามเสีย พระนมพี่เลี้ยงจนใจ ก็ต้องเล่นอยู่ด้วย พระองค์ยืนยุดเสาหลักไชยอยู่ อสนีลงต้องหลักไชยแตกตระลอดลงไปจนดิน พระนารายน์ราชกุมารจะได้เปนอันตรายหามิได้ พระองค์ยืนยุดหลักไชย ทรงพระสรวลอยู่ตามประสาพระเยาว์ แต่พระนมพี่เลี้ยงสลบไปสิ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ยินเสียงอสนีสนั่นตรงพระราชวังก็ตกพระไทย ตรัศให้ข้าหลวงเข้าไปดู ข้าหลวงเข้าไปกลับออกมากราบทูลตามซึ่งมีเหตุนั้นให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบดังนั้น เร่งให้หมอเข้าไปแก้คนทั้งปวง ครั้นประฏิบัติพระสงฆ์แล้ว เสด็จกลับเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรเห็นรอยอสนีประจักษ์ ทรงพระกรุณาตรัศว่า ราชบุตรเรานี้มีบุญอยู่ แล้วให้สมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายน์ราชกุมารสามวัน.

 ลุศักราช ๙๙๙ ปีฉลู นพศก พระอาทิตยวงษ์คบคิดกับขุนนางซึ่งเปนโทษถอดเสียจากราชการแต่ก่อนนั้น ครั้นได้พวกสองร้อยเศษ เพลาย่ำฆ้องรุ่ง เปิดประตู ก็กรูกันเข้าไปในพระราชวังถึงน่าสิงห์สรรเพชญ์ปราสาท โห่ร้องอื้ออึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทันรู้พระองค์ ลงเรือพระที่นั่งลอยอยู่น่าขนานประจำท่า ตรัศให้ตำรวจไปเร่งขุนนางเข้าไปจับเหล่าร้าย เสนาบดีทั้งปวงรู้ก็พากันคุมไพร่เข้าไปไล่ตีพวกพระอาทิตยวงษ์แตกกระจาย จับเอาตัวพระอาทิตยวงษ์ได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระราชวัง สั่งให้พิจารณาเอาพวกขบถซึ่งคบคิดกับพระอาทิตยวงษ์ได้สิ้น ก็สั่งให้เอาไปประหารชีวิตรเสียณแตลงแกง รุ่งขึ้นวันหนึ่ง นายช้างต้นโคบุตรเล่นหมากรุกอยู่ในโรงช้าง อสนีลงต้องนายช้างตาย แต่ช้างต้นโคบุตรจะได้เปนอันตรายหามิได้.

 ลุศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล สำเรทธิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศปฤกษาแก่เสนาพฤฒามาตยราชปโรหิตทั้งหลายว่า บัดนี้ จุลศักราชถ้วน ๑๐๐๐ ปี กาลกระลียุคจะบังเกิดไปภายน่าทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยเปนอันมาก เราคิดว่า จะเสี่ยงบารมีลบศักราช บัดนี้ ขาลสำเรทธิศก จะเอากุญเปนสำเรทธิศก ขึ้นดิถีวารจันทรเถลิงศก ให้กรุงประเทศธานีนิคมชนทบททั้งปวงเปนศุขไพศาลสมบูรณดุจทวาบรยุค ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด เสนาบดีมนตรีมุขมาตยากราบทูลพระกรุณาว่า ซึ่งทรงพระราชดำริห์ทั้งนี้ เพราะทรงพระเมตตาแก่สัตวโลก ได้ชื่อว่า สัมมาสังกัปปญาณสัมปยุตอสังขาริก ประหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระไทยบำเพ็ญการกุศลเปนสาสนูประถัมภกพระพุทธสาสนา อุประมาเหมือนเนื้อนาบริสุทธิ์ดีอยู่แล้ว จะหว่านพืชสิ่งใดลงก็จะได้ผลเปนแท้ ซึ่งพระองค์ตั้งพระไทยจะลบศักราชให้ประชาราษฎรเปนศุขนั้น เห็นเทพยเจ้าก็จะช่วยให้สมพระไทยปราถนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังมุขมนตรีกราบทูลดังนั้น มีพระไทยโสมนัศปราโมทย์ยิ่งนัก จึงให้พฤฒาจารย์ผู้รู้ตำหรับพระราชพิธีไปจัดแจงแต่งการทั้งปวง พฤฒาจารย์รับพระราชโองการแล้ว ก็ให้กฎหมายสั่งทุกพนักงานให้ทำเขาพระสุเมรุราชน่าจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มีเขาไกรลาศแลเขาสัตภัณฑ์ล้อมเขาพระเมรุเปนชั้น ๆ ออกมา แล้วให้ช่างกระทำรูปอสูรกุมภัณฑ์คนธรรพทานพฤๅษีสิทธิวิทยาธรกินนรนาคสุบรรณทั้งหลายรายเรียงโดยรยะเขาสัตภัณฑคิรี แล้วให้กระทำรูปสมเด็จพระอมรินทราธิราชสถิตย์ยอดเขาพระสุเมรุราชเปนประธาน จึงให้ทวิชาจารย์แต่งกายเปนพระอิศวร พระพิศณุ พระพายุ พระพรุณ พระเพลิง พระยม พระไพศพ พระจันทร พระอาทิตย์ รูปเทพยเจ้าทั้งสิบสองราษี แวดล้อมสมเด็จอมรินทราธิราชโดยอันดับศักดิ์เทวราช จึงเอาแผ่นสุวรรณชาติลิขิตอักษรด้วยชาดหรคุณเปนศักราชใหม่บันทัดหนึ่ง เปนศักราชเดิมบันทัดหนึ่ง ใส่พานจำหลักสรรพางค์วางไว้น่าสมเด็จอมรินทราใต้มหาเสวตรฉัตรยอดเขาพระสิเนรุราช แลเชิงเขาสัตภัณฑ์ทั้งแปดทิศนั้นกระทำรูปช้างอัฐคชยืนเปนอาทิ คือ ทิศบุรพ ไว้พระยาเสวตรกุญชร ทิศอาคเณย์ โรมหัสดินสีพระเพลิง ทิศทักษิณ รัตนนาทกุญชรสีแก้วมุกดา ทิศหรดี อัญชนสีนิลอุบล ทิศประจิม โกมุทกุญชรสีแก้วไพฑูรย์ ทิศพายัพ สารนีลาคชเรศมีแก้วอินทนิล ทิศอุดร สารโภมหัศดินสีเขียว ทิศอิสาณ เสวตรคชาธารสีขาวอ่อน แลหว่างช้างอัฐคชนั้นก็วางอัศวราชแปดหมู่ นอกนั้นตั้งราชวัตรฉัตรธงไชยธงประฎากแลต้นกล้วยต้นอ้อย ประดับด้วยพุ่มพนมบุบผาชาติต่าง ๆ เปนมโหฬาร์ดาดาษ แลตั้งพิธีไสยสาตรณเชิงเขาสัตภัณฑ์ทั้งสี่ทิศรอบราย แตรสังข์ดุริยดนตรีพิณพาทย์ฆ้องไชยเภรีบัณเฑาะว์กาหฬ แล้วเทียบขนัดพลตั้งกระลาบาตเปนชั้น ๆ ออกมามากนัก แลในจังหวัดไพชยนต์มหาปราสาทก็รจนาตกแต่งพระที่นั่งบัลลังก์อาศนอันวิจิตรไว้เบญจราชกกุธภัณฑ์ แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎกธรรมมาตั้งเปนประธาน นิมนต์พระสงฆสังฆราชราชาคณะคามวาสีอรัญวาสิมาศวดพระพุทธปริตมหามงคลสูตรอันประเสริฐ ทวิชาจารย์จัดแจงการทั้งปวงนั้นเสร็จ จึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทราบทุกประการ ครั้นได้ศุภวารมหามงคลฤกษ์ สมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็สำอางองค์ทรงสาฎกพัตรพิภูษาเสร็จ เสด็จทรงพระราเชนทรยานกาญจนอลงกฎรจนา พร้อมด้วยพฤฒาจารย์ทั้งปวง เสด็จมาประทับเกยเชิงสัตภัณฑบรรพต เสด็จบทบาทยาตราขึ้นไปยังยอดเขาพระสิเนรุราช พระองค์ก็ถวายอภิวาทพระบรมรัตนัตยาธิคุณสุนทรภาพด้วยเบญจางคประดิษฐ อธิษฐานบารมีโดยพระไทยปราถนา แล้วยอพระกรเบื้องขวาลบศักราชเดิมนั้นสิ้นเสร็จ พราหมณที่แต่งกายเปนพระอิศวร พระนารายน์ แลเปนเทพยดานั้นก็อวยไชยถวายพรโดยสารโสลกวิธี พรหมทวิชาจารย์ก็เป่าสังข์ดุริยดนตรีพิณพาทย์คาดฆ้องไชยเภรีมี่สนั่นศัพทก้องโกลาหลทั้งพระนคร แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับยังพระราชมณเฑียร รุ่งขึ้น พระราชดำริห์จะให้ทานแก่หมู่พรรณิพกรอบเมือง จึงมีพระราชโองการให้มหาอำมาตย์ตกแต่งพระนครให้เสร็จแต่ในสามวัน อำมาตย์รับพระราชบริหารแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานจัดแจงแถวสถลมารครัถยาทุบปราบให้ราบรื่นเปนอันดี ตั้งราชวัตรฉัตรธงปักต้นกล้วยต้นอ้อยโดยรยะทาง ตั้งไม้กัลปพฤกษ์ห่างกันสิบวารอบพระนครพร้อมโดยพระราชบริหาร ครั้นเพลารุ่งแล้วสามนาฬิกาหกบาท ได้อุดมฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องสำหรับขัติยราชอลังการาภรณ์บวรวิภูสิตเสร็จ เสด็จทรงพระยากุญชรตัวประเสริฐ แลกลางช้างนั้นวางพานทองรองหิรัญสำหรับจะโปรยทาน พร้อมด้วยเสนางคนิกรทวยหาญโดยเสด็จจะนับมิได้ ครั้นออกจากทวารพระราชวังแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรยทานแก่ยาจกพรรณิพกทั้งหลาย แล้วเสด็จไปถึงกัลปพฤกษ์ต้นใด ก็ให้หยุดให้พนักงานซึ่งขึ้นอยู่นั้นโปรยทาน แลหว่างต้นกัลปพฤกษ์พระองค์ก็หยุดโปรยทานไปโดยลำดับจนรอบพระนครแล้ว เสด็จเข้าพระราชวัง ในลำดับเดือนนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบริจาคพระราชทรัพย์แลราชพาหนะกระทำสัตตสดกมหาทานเปนทานแก่พราหมณทวิชชาติแลยาจกพรรณิพกทั้งปวงเปนอาทิ คือ ช้างร้อยหนึ่ง ม้าร้อยหนึ่ง ทาษชายร้อยหนึ่ง ทาษหญิงร้อยหนึ่ง เงินร้อยชั่ง ทองร้อยชั่ง ราชรถร้อยหนึ่ง แลแต่งการออกสนามมีมหรศพสมโภชตรีวารเปนมโหฬาราธิการยิ่งนัก.

 ในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีพระราชสาสนไปกรุงรัตนบุรอังวะ ในพระราชสาสนนั้นว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาอันเสด็จปราบดาภิเศกผ่านพิภพไอสุริยสวรรยาธิปัติถวัลยราชประเวณี มีพระราชหฤไทยหน่วงน้าวพระบรมโพธิญาณ บำเพ็ญทานการกุศลเปนอจลศรัทธาแท้มิได้หวาดไหว ตั้งพระไทยที่จะรื้อสัตวให้พ้นห้วงมหรรณพนทีธาร กล่าวคือ สังสารวัฏ บัดนี้ เห็นว่า กระลียุคจะถึงแก่สัตวทั้งหลายทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวง เพราะจุลศักราชถ้วน ๑๐๐๐ ปีขาล สำเรทธิศก จึงอุสาหกระทำสัตยาธิษฐาน แล้วตั้งพระราชพิธีลบศักราช เอากุญเปนสำเรทธิศก ขึ้นดิถีวารจันทรเถลิงศกเปนทวาปรายุค เพื่อจะให้กรุงประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงเปนบรมศุขสมบูรณทั่วกัน ให้พระเจ้ากรุงอังวะแลเมืองขอบขัณฑเสมาทั้งปวงใช้ศักราชตามพระนครศรีอยุทธยาลบนี้เถิด ส่งพระราชสาสนไปเมืองตองอูให้ส่งไปกรุงอังวะ.

 ครั้นศักราช ๑๐๐๒ ปีมโรง โทศก พระเจ้ากรุงอังวะแต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนมา แลในพระราชสาสนนั้นว่า พระเจ้ากรุงรัตนบุรอังวะอันตั้งอยู่ในธรรมสาสตรราชสาตรแลมีบ่อแก้วเปนพื้นเมือง ขอจำเริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงทวารวดีศรรอยุทธยา ด้วยแจ้งกฤติศัพท์ไปว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นทิวงคตแล้ว พระองค์เสด็จขึ้นผ่านพิภพตามราชประเพณี มีพระกฤติยศกฤติคุณใหญ่ยิ่งกว่ากระษัตราธิราชแต่ก่อน กอปรด้วยปราสาททองแลโคบุตรกุญชรชาติตัวประเสริฐเปนศรีเมืองนั้น ฝ่ายกรุงรัตนบุรอังวะมีความยินดีนัก บัดนี้ ให้ทูตานุทูตมาถามข่าวพระศพตามประเพณี แลจำเริญทางพระราชไมตรีด้วย ประการหนึ่ง ซึ่งพระองค์จะให้ใช้ศักราชตามพระนครศรีอยุทธยานั้น ฝ่ายกรุงภุกามประเทศแลรามัญประเทศได้ใช้ศักราชเดิมหลายชั่วกระษัตริย์มาแล้ว ครั้นจะใช้ตามมีพระราชสาสนไปนั้น เกรงจะฟั่นเฟือน ซึ่งพระเจ้ากรุงทวาราวดีลบได้ ก็ให้พระองค์ใช้เถิด ครั้นแปลแล้ว สมุหนายกเอากราบทูลพระกรุณา ทรงเคืองพระไทย ตรัศว่า อ้ายพม่ามันมิใช้ตามเราก็แล้วไป ครั้งนั้น เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท เบิกแขกเมืองเข้าถวายบังคม ตรัศพระราชปฏิสันถารสามนัดแล้ว สั่งให้เลี้ยงแขกเมือง ก็เสด็จเข้า เจ้าพนักงานยกของมาพระราชทาน แขกเมืองมิได้รับพระราชทาน ว่า อย่างธรรมเนียมอังวะ ถ้าทูตานุทูตไปเยือนพระศพ ห้ามมิให้รับพระราชทาน เพลาเย็น สมุหนายกกราบทูล ทรงพระกรุณาให้ต่อว่าแขกเมืองว่า อย่างกรุงพระนครศรีอยุทธยา ถ้าไปเยือนศพ ย่อมแต่งของบริโภคเลี้ยงให้อิ่มหนำ จึงได้ชื่อว่านับถือกัน นี่ตัวมากรุงพระนครศรีอยุทธยาแล้วไม่รับพระราชทานนั้น ไม่นับถือกรุงพระนครศรีอยุทธยาฤๅ ๆ ว่าสิ่งของซึ่งพระราชทานนี้ไม่ดีเหมือนกรุงอังวะ ถ้าไปต่อว่า แขกเมืองดื้อดึงไม่รับพระราชทาน ก็ให้เอาสิ่งของราดรดศีศะลงแล้วขับเสียจากเมือง เจ้าพนักงานก็ไปต่อว่าโดยพระราชโองการ แขกเมืองก็มิได้รับพระราชทาน เจ้าพนักงานก็เอาสิ่งของราดรดศีศะแขกเมืองแล้วขับเสียจากพระนคร.

 ลุศักราช ๑๐๐๓ ปีมเสง ตรีนิศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงไปประพาศพระนั่งไอสวรรย์ทิพอาศน์ วันนั้น เสด็จอยู่แรม เพลาค่ำ เสด็จออกมายืนอยู่น่ามุข สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายน์ราชกุมารส่องโคม อสนีลงต้องน่าบัน แว่นประดับแลรูปสัตวตกกระจายลงมารอบพระองค์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจะได้เปนอันตรายหามิได้ ทรงพระกรุณาให้พระโหราทำนาย ถวายพยากรณ์ว่า เปนมหาศุภนิมิตร จะทรงพระกฤษฎาธิการยิ่งขึ้นไป แล้วจะได้พระราชลาภต่างประเทศ ถึงเดือนสิบ กำปั่นอลิมมัตหร่ำ ลูกค้าเมืองเทศ บรรทุกพรรณผ้า แลได้ม้าเทศสูงสามศอกสองนิ้วเข้ามาถวายสองม้า กับกั้นหยั่นฝักด้ามถมยาราชาวดีประดับนพรัตนเล่มหนึ่ง สิ่งของนอกนั้นเปนอันมาก.

 ศักราช ๑๐๐๕ ปีมแม เบญจศก พระโหราถวายฎีกาว่า ในสามวัน จะเกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟัง ตกพระไทย ด้วยพระโหราคนนี้แม่นยำนัก ครั้งหนึ่ง เสด็จอยู่ในพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มุสิกตกลงมา ทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราคำนวณแล้วทูลว่า สัตวสี่เท้า ทรงพระกรุณาตรัศว่า กี่ตัว พระโหราขับควณแล้วทูลว่า สี่ตัว ทรงพระกรุณาตรัศว่า สัตวสี่เท้านั้นถูกอยู่แล้ว แต่ที่สี่ตัวนั้น ครั้นเปิดขันทองขึ้น เห็นลูกมุสิกคลานอยู่สามตัวกับแม่ตัวหนึ่ง ก็ทรงพระกรุณาตรัศสรรเสริญพระโหราธิบดีว่า ดูแม่นกว่าตา ให้พระราชทานเงินตราชั่งหนึ่ง เสื้อผ้าสองสำรับ แต่นั้นมา ก็เชื่อถือพระโหราธิบดีนัก ครั้นทราบว่า จะเกิดเพลิง จึงมิไว้พระไทย ให้ขนของในพระราชวังออกไปอยู่วัดไชยวัฒนาราม ทั้งเรือบัลลังก์ เรือศรี เรือคลัง คับคั่งแออัดกันอยู่ แลในพระราชวังนั้นเกณฑ์ไพร่สามพันสรรพด้วยพร้าขอกะตร้อน้ำรักษา ห้ามมิให้หุงเข้าในพระราชวัง แล้วเรือตำรวจคอยบอกเหตุทุกทุ่มโมง ครั้นคำรบสามวัน เพลาชายแล้วสี่นาฬิกา เรือตำรวจลงไปกราบทูลพระกรุณาว่า สงบอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า ครั้งนี้ เห็นพระโหราธิบดีจะผิดอยู่แล้ว สั่งเรือเถิด จะเข้าพระราชวัง เจ้าพนักงานก็เลื่อนเรือพระที่นั่งกิ่งเข้ารับเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงฉนวนประจำท่า พระโหราอยู่ท้ายเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า ขอให้ย่ำฆ้องก่อน จึงจะสิ้นพระเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้ลอยเรือพระที่นั่งอยู่ เพลาชายแล้วห้านาฬิกา เมฆตั้งพยับคลุ้มขึ้นข้างประจิมทิศ ฝนตกพรำ ๆ ลงมา ทรงพระกรุณาตรัศแก่พระโหราว่า ฝนตกลงมา สิ้นเหตุแล้วกระมัง พระโหรากราบทูลว่า ขอพระราชทานงดก่อน พอสิ้นคำลง อสนีเปรี้ยงลงมาต้องเหมพระมหาปราสาทเปนเพลิงติดพลุ่งโพลงขึ้นไหม้ลามลงมา คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในพระราชวังมิรู้ที่จะทำประการใด แลดีบุกอันดาษหลังคานั้นไหลราดลงมาดังห่าฝน เพลิงก็ไหม้ติดต่อไปทั้งห้วยคลังเรือนน่าเรือนหลังร้อยสอบเรือนจึงดับได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศให้พระโหราดูว่า เพลิงฟ้าไหม้ดังนี้จะดีฤๅร้าย พระโหรากราบทูลพระกรุณาว่า ดี จะมีพระราชลาภแลกอปรด้วยอิศริยยศ ประเทศทั้งปวง บรรดาอริราชไพรี จะเกรงพระเดชเดชานุภาพเปนอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟัง มีพระไทยปราโมทย์ยินดีนัก ครั้งนั้น ไหม้แต่พระที่นั่งมังคลาภิเศกที่ชื่อ ปราสาททอง พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาทแลพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทจะได้ไหม้ด้วยหามิได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าพระราชวัง ทรงพระกรุณาให้ช่างจับการก่อพระมหาปราสาทแลทำคลังเรือนข้างในทั้งปวง สามเดือนเรือนข้างในเสร็จ แต่พระมหาปราสาทปีหนึ่งจึงสำเร็จ ให้นามชื่อ พระวิหารสมเด็จ.

 ศักราช ๑๐๐๖ ปีวอก ฉศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองครองพิภพมณฑลสบสกลสิมาอาณาจักรพรักพร้อมด้วยหมู่พหลจัตุรงค์เรืองพระเดชเดชานุภาพเพราะบรมโพธิสมภาร สมณพราหมณาจารย์แลไพร่ฟ้าขอบขัณฑเสมาเปนศุขสมบูรณ์ทั่วน่า มาจนศักราช ๑๐๑๗ ปีมแม สัพตศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก แปลงสถานลงไปอยู่พระที่นั่งเบญจรัตน์ ทรงพระกรุณามอบราชสมบัติแลพระแสงขรรค์ไชยศรีให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าไชย อยู่สามวัน เพลาสามยาม ก็เสด็จสวรรคต พระเจ้าอยู่หัวปราสาททองอยู่ในราชสมบัติ ๒๖ พระพรรษา.