พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 6

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ)

 ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตรัศทราบเหตุว่า มีพระราชโองการโปรดมอบเวนราชสมบัติให้แก่เจ้าพระพิไชยสุรินทรราชนัดดาดังนั้นแล้ว ก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินลงมายังพระราชวังหลวง ส่วนเจ้าพระพิไชยสุรินทรก็มิอาจรับราชสมบัติได้ เกรงพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร จึงนำเอาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ประการสำหรับพระมหากระษัตราธิราชเจ้านั้นขึ้นไปยังพระราชวังบวรกับด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายพร้อมกันเปนอันมาก ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาอุปราช กราบบังคมทูลถวายราชสมบัติแลเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้งปวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้รับ จึงมีพระบัณฑูรตรัศแก่เจ้าพระพิไชยสุรินทรว่า พระโองการโปรดมอบเวนราชสมบัติให้เปนสิทธิแก่ท่านแล้ว ท่านจงครองราชสมบัติเถิด แลซึ่งท่านจะมายกราชสมบัติให้แก่เรา แลเราจะรับราชสมบัตินั้น ก็จะเปนเลมิดพระโองการไป ดูมิบังควรนัก แลเจ้าพระพิไชยสุรินทรได้ฟังดังนั้นก็ยิ่งสดุ้งตกพระไทยกลัวพระเดชานุภาพยิ่งนัก จึงกราบทูลอ้อนวอนไปเปนหลายครั้ง สมเด็จพระมหาอุปราชก็มิได้รับ เจ้าพระยาพิไชยสุรินทรก็ซบพระเศียรเกล้าลงกลิ้งเกลือกกับฝ่าพระบาทแล้วกราบทูลวิงวอนไปว่า ข้าพระพุทธเจ้าวาศนาบารมีก็น้อย บุญน้อย กำลังน้อย มิอาจสามารถจะดำรงราชสมบัติไว้ได้ ถ้าแลข้าพระพุทธเจ้าจะครองแผ่นดินสืบไป บัดนี้ เห็นจะมีไภยันตรายแก่ราชสมบัติแลบ้านเมือง สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้ความเดือดร้อนเปนมั่นคง อันเสวตรฉัตรนี้เปนมหาศิริอันประเสริฐ ถ้าบุคคลผู้ใดมิได้มีบุญญาภิสังขารส่ำสมมาแต่ก่อน ก็หาดำรงรักษาไว้ได้ไม่ อุประมาดังมันเหลวแห่งพระยาราชสีห์มีธรรมชาติอันสุขุมเลอียดยิ่งนัก ถ้าแลจะเอาภาชนอันใด ๆ ก็ดีมารองรับไว้นั้น ก็หารองรับไว้ได้ไม่ ก็จะไหลรั่วไปเสียสิ้น แลซึ่งจะรองรับไว้ได้นั้น ก็แต่สุวรรณภาชนสิ่งเดียว แลพระองค์กอปรด้วยพระราชกฤษฎาเดชาธิการภินิหารบารมีมาก สมควรจะดำรงราชอาณาจักรในแผ่นดินสยามประเทศได้ อุประไมยดังภาชนทองอันรองรับไว้ซึ่งมันเหลวแห่งพระยาราชสีห์เหมือนฉนั้น ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดรับครองราชสมบัติโดยสุภาวสุจริตธรรมเถิด เหมือนพระองค์ทรงพระมหาการุญภาพแก่แผ่นดิน อย่าให้เปนจลาจลเลย สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้พึ่งพระบารมีร่มเย็นเปนศุขานุสข แลซึ่งพระองค์จะมิทรงพระกรุณาโปรดรับครองราชสมบัติไซ้ ก็เหมือนหนึ่งมิทรงพระกรุณาแก่แผ่นดินแลไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวง เห็นว่า บ้านเมืองจะเกิดอันตราย สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้ความเดือดร้อนเปนแท้ ข้าพระพุทธเจ้าก็จะหาที่พึ่งที่พำนักมิได้ ก็จะกราบถวายบังคมลาพระองค์บุกป่าฝ่าดงไปซุกซ่อนนอนตายเสียตามยถากรรมของข้าพระพุทธเจ้า แลเมื่อเจ้าพระพิไชยสุรินทรกราบทูลวิงวอนอยู่ฉนั้น พอท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายฝ่ายพระราชวังหลวงตามขึ้นไปถึงพร้อมกัน แลเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลช่วยอุดหนุนพิดทูลอ้อนวอนขึ้นเพื่อจะให้ทรงพระกรุณาโปรดรับครองราชสมบัตินั้น จึงเจ้าพระพิชไยสุรินทรก็รับพระราชโองการแด่สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว แล้วรับพระบัณฑูรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายก็รับพระโองการแลพระบัณฑูรตามเจ้าพระพิไชยสุรินทรนั้น พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทอดพระเนตรเห็นท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายราบคาบเปนปรกติพร้อมมูลกันอยู่สิ้นแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัศเหนือเกล้าฯ โปรดให้ท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายถือน้ำพระพิพัฒสัตยาถวายสาบาลตามโบราณราชประเพณีเสร็จสิ้นทุกประการ แลเจ้าพระพิไชยสุรินทร แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุข สมณพราหมณาจารย์ทั้งหลาย ก็อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินลงมายังพระราชวังหลวง จึงมีพระราชดำรัศให้เจ้าพนักงานจัดแจงการจะอัญเชิญพระบรมศพใส่ในพระโกษฐ เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ที่เสด็จสวรรคตนั้น แล้วมีพระราชโองการตรัศสั่งพระมหาราชครูพระราชปโรหิตโหราจารย์ให้จัดแจงการพระราชพิธีราชาภิเศกเฉลิมพระราชมณเฑียร.

 ครั้นถึงวันอันได้ศุภวารมหามงคลนักขัตฤกษ์ จึงท้าวพระยาเสนาบดีกระวีราชข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายฝ่ายทหารพลเรือน แลพระสงฆราชาคณะคามวาสีอรัญวาสีชีพราหมณาจารย์ทั้งปวง ประชุมพร้อมกันณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท อัญเชิญเสด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นราชาภิเศกเปนเอกอรรคบรมขัติยาธิบดินทรปิ่นพิภพจบสกลราชสิมา เสวยมไหสุริยสวรรยาธิปัติถวัลยราชประเพณี สืบศรีสุริยวงษ์ ดำรงราชอาณาจักรกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศมหาสถาน แล้วถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระมหากระษัตราธิราชเจ้า แลการพระราชพิธีทั้งปวงนั้นพร้อมตามอย่างโบราณราชประเพณีเสร็จสิ้นทุกประการ.

 จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประเวศพระราชมณเฑียรแลเสด็จอยู่พระที่นั่งสุริยามรินทรมหาปราสาท แลขณะเมื่อพระองค์เสด็จเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๓๖ พระพรรษา จึงมีพระราชโองการตรัศเหนือเกล้าฯ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ประดิษฐานณที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกว่า พระบัณฑูรน้อย แต่บรรดาข้าหลวงเดิมที่มีบำเหน็จความชอบนั้นก็พระราชทานยศศักดิ์ให้ตามสมควรแก่ถานานุรูปถ้วนทุกคน แล้วทรงพระกรุณาให้ช่างพนักงานจับทำการเมรุมาศขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก กอปรด้วยเมรุทิศเมรุแทรกแลสามสร้างพร้อม แลการพระเมรุมาศนั้นกำหนด ๑๑ เดือนจึงสำเร็จ.

 ลุศักราช ๑๐๖๐ ปีขาล สำเรทธิศก เดือน ๔ ได้ศุภวารดิภีพิไชยฤกษ์ จึงให้อัญเชิญพระบรมโกษฐขึ้นประดิษฐานเหนือพระมหาพิไชยราชรถแห่แหนเปนกระบวนไปเข้าพระเมรุมาศตามอย่างแต่ก่อน แลให้ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ แลมีการมหรศพต่าง ๆ ทุกประการ ครั้นค่ำให้จุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ ระทาใหญ่ ๑๖ ระทา บูชาพระบรมศพเปนมโหฬาราธิการยิ่งนัก แลทรงสดับปกรณ์พระสงฆ์ ๑๐๐๐๐ คำรบ ๗ วันแล้วถวายพระเพลิง ครั้นดับพระเพลิงแล้วแจงพระรูป ทรงสดับปกรณ์พระสงฆ์อิก ๔๐๐ รูป แล้วเก็บพระอัฐิใส่พระโกษฐน้อยอัญเชิญขึ้นพระราชยานแห่เปนขบวนเข้ามายังพระราชวัง จึงให้อัญเชิญพระบรมโกษฐพระอัฐิบรรจุไว้ณท้ายจรนำพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชดาราม.

 ลุศักราชได้ ๑๐๖๑ ปีเถาะ เอกศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริห์ถึงภูมิ์ชาติแห่งพระองค์ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวงตรัศบอกไว้แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นว่า เมื่อศักราช ๑๐๒๔ ปีขาล อัฐศก แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จบรมบพิตรพระนารายน์เปนเจ้าเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรพระชินราชพระชินสีห์ณเมืองพระพิศณุโลก ทรงพระกรุณาให้มีการมหรศพถวายพุทธสมโภชคำรบสามวัน ครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในบรมโกษฐพาเอาสมเด็จพระพันปีหลวงตามเสด็จขึ้นไปด้วย ขณะนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระครรภ์แก่ จึงประสูตรพระองค์ที่ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ในเดือนอ้าย ปีขาล อัฐศกนั้น แล้วจึงเอารกที่สหชาตินั้นใส่ลงในผอบเงินเอาไปฝังไว้ที่หว่างต้นโพธิ์ประทับช้างแลต้นอุทุมพรต่อกันนั้น เหตุดังนั้น จึงได้พระนามกรชื่อ มะเดื่อ แลสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระราชดำริห์รฦกถึงที่ภูมิ์ชาติอันพระองค์ประสูตรณแขวงหัวเมืองฝ่ายเหนือเปนที่มหามงคลสถานอันประเสริฐ สมควรจะสร้างขึ้นเปนพระอาราม จึงมีพระราชดำรัศสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์กันขึ้นไปสร้างพระอาราตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง มีพระอุโบสถวิหารมหาธาตุเจดีย์ศาลาการเปรียญแลกุฎีสงฆ์พร้อมเสร็จ แลการสร้างพระอารามนั้นสองปีเศษจึงสำเร็จในปีมเสง ตรีนิศก จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยพระชลวิมานโดยกระบวนนาวาพยุหขึ้นไปณพระอารามตำบลโพธิ์ประทับช้างนั้น แลท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทซึ่งขึ้นไปคอยรับเสด็จโดยสถลมารคนั้นก็เปนอันมาก แล้วทรงพระกรุณาให้มีการฉลอง แลมีการมหรศพคำรบสามวัน ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เปนอันมาก แลทรงพระราชอุทิศถวายเลขข้าพระไว้สำหรับอุปฐากพระอาราม ๒๐๐ ครัว แลถวายพระกัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม แล้วทรงพระกรุณาตั้งเจ้าอธิการชื่อ พระครูธรรมรูจีราชมุนี อยู่ครองพระอาราม ถวายเครื่องสมณบริกขารตามศักดิพระราชาคณะแล้วเสร็จ ก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร จำเดิมแต่นั้นมา พระอารามนั้นก็เรียกว่า วัดโพธิ์ประทับช้าง มาทาบเท่าทุกวันนี้.

 เมื่อศักราช ๑๐๖๒ ปีมโรง โทศกนั้น อสนีบาตตกลงต้องยอดพระมรฎปณพระอารามวัดสุมงคลบพิตร ติดเปนเพลิงโพลงขึ้นไหม้เครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเศียรพระพุทธรูปหักสบั้นลงมาจนพระสอ แลพระเศียรนั้นตกลงอยู่ณพื้นพระมรฎป จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ช่างพนักงานจับการรื้อพระมรฎปก่อสร้างขึ้นใหม่ แปลงเปนพระมหาวิหารสูงใหญ่ยาวเส้นเศษ สำเร็จในปีมเมีย จัตวาศก แลทรงพระกรุณาให้มีการฉลองแลมีการมหรศพสามวัน แล้วทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เปนอันมากเหมือนอย่างทุกครั้ง.

 ในขณะนั้น สมเด็จอรรคมเหษีเดิมแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ ซึ่งเปนพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต แลที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เปนที่พระตำหนักมาแต่ก่อน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า แลเจ้าแม่ผู้เฒ่าซึ่งเปนพระนมเอกของสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า แลเปนมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นไปช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินขณะเปนที่หลวงสรศักดิ์แลชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ครั้งนั้น แลเจ้าแม่ผู้เฒ่านั้นก็ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้ ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ แลสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นั้นสืบต่อกันมา แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เปนกรมพระเทพามาตย์.

 ส่วนสมเด็จพระอรรคมเหษีฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ ซึ่งทรงพระนาม กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ นั้น ก็ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเอาพระราชบุตรซึ่งทรงพระนาม ตรัศน้อย นั้นออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธสวรรย์ครั้งเมื่อปีมโรง โทศกนั้น ตรัศน้อยราชบุตรพระชนม์ได้คำรบ ๑๓ พระพรรษา จึงเจ้ากรมหลวงโยธาเทพพระราชมารดานั้นก็ให้กระทำมหามงคลพิธีโสกันต์พระราชบุตร ครั้นโสกันต์แล้ว จึงให้ไปทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ในสำนักนิ์พระพุทธโฆษาจารย์ราชาคณะ แลตรัศน้อยนั้นทรงพระสติปัญญาเปนอันมาก ประพฤติพรหมจรรย์เปนอันดี แลทรงเรียนพระปริยัติไตรปิฎกธรรมแลคัมภีร์เลขยันต์มนตรคาถาสรรพวิทยาคุณต่าง ๆ ในสำนักนิ์พระพุทธโฆษาจารย์นั้นได้เปนอันมาก แลทรงพระผนวชอยู่ได้ ๕ พระวัสสา พระชนม์ได้ ๑๘ พระพรรษา จึงลาผนวชออกเที่ยงทรงเรียนศิลปสาตรช้างม้าสรรพยุทธชิงไชยทั้งปวงได้เปนอันมาก แล้วทรงเรียนซึ่งอักษรแขกฝรั่งแลอักษรเขมรลาวญวนพม่ารามัญแลจีนทุกภาษาต่าง ๆ แล้วทรงเรียนซึ่งคัมภีร์ราชสาตรโหราสาตรแลคัมภีร์แพทย์กอปรด้วยอาจารย์เปนอันมาก สรรพทรงทราบชำนิชำนาญในสรรพวิชาคุณทั้งปวงต่าง ๆ ดุจหนึ่งจะทรงทราบในคัมภีร์ไตรเพทางคสาตร ครั้นพระชนม์คำรบได้อุปสมบทแล้ว ก็ทรงผนวชเปนภิกษุภาวะจำเริญสมณธรรมอยู่ในพระพุทธสาสนา.

 ขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตรีเกิดด้วยพระสนมอิกสองพระองค์ ทรงพระนาม พระองค์เจ้าแก้ว องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าทับทิม องค์หนึ่ง เปนห้าพระองค์ด้วยกันทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวร แลพระบัณฑูรน้อย แลเจ้าฟ้าหญิง แต่เจ้าฟ้าหญิงกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์นี้ร่วมพระราชมารดาเดียวกัน อนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐมีพระราชบุตรเกิดด้วยสนม ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าจีน องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าดำ องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าแก้ว องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าบุนนาก องค์หนึ่ง แลพระองค์เจ้าบุนนากองค์นี้ที่เรียกว่า เจ้าพระองค์เถร นั้น แลพระองค์เจ้าดำนั้นได้พระองค์เจ้าแก้ว พระราชบุตรีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เปนบาทบริจาริก แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรนั้นได้พระองค์เจ้าทับทิม ลูกพระสนมซึ่งเปนพระราชภคินีต่างพระมารดากันนั้น เปนพระอรรคมเหษี.

 ลุศักราช ๑๐๖๔ ปีมเมีย จัตวาศก ขณะนั้น โขลงชาวบ้านแก่งนำโขลงเข้ามาแต่ท้องป่าต้น แลกันเอาช้างพลายงาสั้นติดโขลงเข้ามาได้ตัวหนึ่ง สูงประมาณ ๖ ศอก ๕ นิ้ว สรรพด้วยคชลักษณ์งามบริบูรณ์ แลชักโขลงนั้นเข้ามาณพเนียด จึงพระราชวังเมืองนำเอาข่าวช้างสำคัญนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไปณพเนียดทอดพระเนตร ให้ชักช้างโขลงเข้าพเนียด แล้วทรงพระกรุณาให้กันช้างสำคัญนั้นเข้าไว้ในวงพาด ให้ปรนปรือฝึกสอนให้ค่อยชำนิชำนาญ แล้วจึงนำเข้าไว้ณโรงที่พเนียด ทรงพระกรุณาให้มีการมหรศพสมโภชสามวัน แล้วให้นำลงสู่เรือขนาน มีเรือคู่ชักแห่เปนกระบวนเข้ามายังพระนคร จึงให้นำขึ้นไว้ณโรงยอดในพระราชวัง ทรงพระกรุณาพระราชทานนามบัญญัติชื่อ พระบรมไตรจักร แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายโขลงนั้นโดยสมควร.

 ในปีมเมีย จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาให้ช่างต่ออย่างพระมรฎปพระพุทธบาทให้มียอดห้ายอด ให้ย่อเก็จมีบันแถลงแลยอดแทรกด้วย นายช่างต่ออย่างแล้วเอาเข้าทูลถวาย จึงมีพระราชดำรัศสั่งให้ปรุงเครื่องบนพระมรฎปตามอย่างนั้นเสร็จ จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหบาตรราชลมารคสถลมารคขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน แล้วทรงพระกรุณาให้ช่างพนักงานจับการยกเครื่องบนพระมรฎปพระพุทธบาท ขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราชตามเสด็จขึ้นไปช่วยเปนแม่การด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระไทยปราโมทย์ยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณามอบการทั้งปวงถวายให้สมเด็จพระสังฆราชเปนแม่การ แล้วก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร

 ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จอยู่ในพระนครนาน เสด็จอยู่เดือนหนึ่งบ้าง สิบห้าวันบ้าง แล้วเสด็จด้วยเรือพระที่นั่ง แวดล้อมไปด้วยเรือข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวง เที่ยวประพาศไปในท้องแถวนทีตราบเท่าถึงเมืองสมุทปราการ แลทรงเบ็ดตกนานามัจฉาชาติทั้งปวงต่าง ๆ ทรงสร้างแต่อกุศลทุจริตผิดพระราชประเพณีมาแต่ก่อน แลพระองค์ฆ่าเสียซึ่งหมู่มัจฉาชาติทั้งหลายด้วยเบ็ดแลข่ายล้มตายเปนอันมาก บางทีเสด็จด้วยช้างพระที่นั่ง แวดล้อมไปด้วยช้างท้าวพระยาข้าราชการเปนอันมาก เที่ยวประพาศไปในอรัญประเทศ แลให้ช้างดั้งช้างกันแลช้างเชือกบาศไล่ล้อมหมู่ช้างเถื่อนในป่าแลซัดเชือกบาศคล้องช้างเถื่อนได้เปนอันมาก แลเสด็จไปตั้งล้อมช้างเถื่อนในป่าแขวงเมืองท่าโรงครั้งหนึ่ง ณป่าเพ็ชรบุรีครั้งหนึ่ง บางทีเสด็จเที่ยวประพาศไปในท้องทุ่ง ทรงพระแสงปืนนกสับยิงต้องนา ๆ สัตวมฤคคณาทวิชาชาติทั้งหลายล้มตายเปนอันมาก บางทีเสด็จยกพยุหบาตราขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทบำเพ็ญพระราชกุศลตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน แล้วเสด็จกลับยังพระนคร.

 ฝ่ายนายช่างกระทำการมรฎปพระพุทธบาทยกเครื่องบนแล้ว จึงจับการปูนแลรักต่อไป แลการทองแลการกระจกนั้นยังมิได้สำเร็จ.

 อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกณท้องพระโรง จึงมีพระราชโองการตรัศถามข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงว่า ข้างประจันตชนบทประเทศบ้านนอกเขามีการมหรศพงานใหญ่ที่ไหนบ้าง ขณะนั้น ข้าราชการผู้มีชื่อคนหนึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าว่า ณบ้านประจันตชนบทแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เพลาพรุ่งนี้ชาวบ้านทำการฉลองพระอาราม มีการมหรศพงานใหญ่ จึงมีพระราชดำรัศว่า แต่เราเปนเจ้ามาช้านาน มิได้เล่นมวยปล้ำบ้างเลย แลมือก็หนักเหนื่อยเลื่อยล้าช้าอ่อนไป เพลาพรุ่งนี้เราจะไปเล่นสนุกชกมวยลองฝีมือให้สบายใจสักน่อยหนึ่งเถิด ครั้นรุ่งขึ้นจึงเสด็จด้วยพระชลพาหนะ แวดล้อมไปด้วยข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงไปโดยลำดับชลมารค ถึงตำบลบ้านตระลาดกรวด จึงให้หยุดประทับเรือพระที่นั่งเสด็จขึ้นบกในที่นั้น แลดำรัศห้ามมิให้ข้าราชการทั้งปวงไปโดยเสด็จพระราชดำเนิน แลพระองค์ผลัดพระภูษาแปลงเพศเปนคนยาก เสด็จปลอมไปแต่กับตำรวจมหาดเล็กข้าหลวงเดิมสี่ห้าคนซึ่งเปนคนสนิทไว้พระไทยมิให้ผู้ใดสงไสย ครั้นถึงไปตำบลบ้านซึ่งมีงานใหญ่ฉลองพระอารามนั้น จึงเสด็จพระราชดำเนินด้วยข้าหลวงปลอมไปกับคนชาวบ้านทั้งปวงซึ่งเที่ยวดูงานนั้น ขณะนั้น พอเจ้างานให้เปรียบมวย จึงมีพระราชดำรัศใช้ข้าหลวงไปว่าแก่ผู้เปนนายสนามว่า บัดนี้ มวยในกรุงออกมาคนหนึ่ง จะเข้ามาเปรียบคู่ชกมวยในสนามท่าน แลนายสนามได้ยินดังนั้นก็ดีใจจึงว่า ให้เข้ามาเปรียบดูเถิด จึงเสด็จเข้าไปในสนาม แลนายสนามก็จัดหาคนมวยมีฝีมือจะมาให้เปรียบคู่ เหล่าข้าหลวงจึงห้ามว่า อย่าเอาเข้ามาเปรียบเลย เราเห็นตัวแล้ว จะเอาแล้ว จงให้แต่งตัวเถิด นายสนามจึงให้แต่งตัวเข้าทั้งสองฝ่าย แล้วให้ชกกันในกลางสนาม พระเจ้าแผ่นดินแลคนมวยผู้นั้นก็เข้าชกซึ่งกันแลกัน แลฝีมือทั้งสองฝ่ายนั้นดีทัดกัน พอแลกลำกันได้ มิได้เพลี่ยงพล้ำแก่กัน แลกำลังนั้นก็พอก้ำกึ่งกันอยู่ แลคนทั้งหลายซึ่งดูนั้นก็สรรเสริญฝีมือทั้งสองฝ่าย แลให้เสียงฮาติดกันไปทุกนัด แลคนมวยผู้นั้นบุญน้อยวาศนาน้อย แลเข้าต่อสู้ด้วยสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าอันกอปรด้วยบุญญาภิสังขารบารมีมาก แลกำลังบุญวาศนานั้นข่มขี่กันอยู่ ครั้นสู้กันไปได้ประมาณกึ่งยก ก็หย่อนกำลังลง แลเสียทีเพลี่ยงพล้ำถูกที่สำคัญถนัดเจ็บป่วยถึงสาหัศเปนหลายนัด ก็แพ้ด้วยบุญญานุภาพในยกนั้น จึงนายสนามก็ตกรางวัลให้แก่ผู้ชะนะนั้นบาท ๑ ให้ผู้แพ้นั้นสองสลึงตามวิไสยบ้านนอก แลเหล่าข้าหลวงนั้นรับเอาเงินรางวัล จึงดำรัศให้ข้าหลวงว่าแก่นายสนามให้จัดหาคู่มาเปรียบอิก แลนายสนามก็จัดหาคู่มาได้อิกแล้วให้ชกกัน แลคนมวยผู้นั้นธารบุญมิได้ ก็แพ้ในกึ่งยก คนทั้งหลายสรรเสริญฝีพระหัดถ์มี่ไปแล้วว่า มวยกรุงคนนี้มีฝีมือยิ่งนัก แลนายสนามก็ตกรางวัลเหมือนหนหลังนั้น แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พาข้าหลวงคืนมาสู่เรือพระที่นั่ง ค่อยสำราญพระราชหฤไทย แล้วเสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร.

 ในปีมเมีย จัตวาศกนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยามรินทรมีพระราชหฤไทยปราถนาจะใคร่เสด็จไปประพาศล้อมช้างเถื่อนในป่า จึงมีพระราชดำรัศสั่งสมุหนายกให้ตรวจเตรียมช้างม้ารี้พลแลนาวาพยุหทั้งปวงให้พร้อมไว้ ครั้นถึงวันอันกำหนด จึงเสด็จลงสู่เรือพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยเรือพระบรมโอรสาธิราชเจ้า แลเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาพลากรทวยหาญทั้งหลาย แวดล้อมโดยเสด็จพระราชดำเนินเปนอันมาก จึงให้เคลื่อนขยายขบวนนาวาพยุหไปโดยลำดับชลมารค ครั้นถึงท่าเรือแขวงเมืองนครสวรรค์ จึงเสด็จขึ้นตั้งตำหนักประทับพลับพลาอยู่ตำบลบ้านหูกวาง แล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งค่ายปีกกาล้อมฝูงช้างเถื่อนณป่ายางกองทอง แลให้ทำค่ายมั่นสำหรับจะกันช้างเถื่อนเข้าจับนั้น แลให้เหล่าช้างเชือกไปไล่ล้อมกันช้างเถื่อนมาเข้าค่ายมั่น ครั้งนั้น เปนเทศกาลวสันตฤดู ฝนตกน้ำนองท่วมไปทั้งป่า คนทั้งหลายซึ่งทำค่ายนั้นลุยน้ำทำการเร่งรัดกันตั้งค่ายล้อมทั้งกลางวันแลกลางคืน จนเท้านั้นเปื่อยทนทุกข์ลำบากเวทนาป่วยเจ็บทุพพลภาพมาก อดอาหารซูบผอมล้มตายก็มาก อนึ่ง ในที่รวาง[1] ค่ายหลวงที่ประทับแลที่ค่ายล้อมช้างต่อกันนั้น มีบึงหนึ่งใหญ่หลวงขวางอยู่หว่างกลาง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปทอดพระเนตร ให้กันฝูงช้างเถื่อนเข้าจับในค่ายมั่น แลทางซึ่งจะเดินลัดตัดตรงไปค่ายล้อมนั้นต้องผ่าข้ามบึงใหญ่นั้นไปจึงใกล้ ถ้าแลจะเดินหลีกไปให้พ้นบึงนั้นมีรยะทางอ้อมวงไปไกลนัก จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ให้เปนแม่กองกะเกณฑ์คนถมถนนหลวงเปนทางสถลมารคข้ามบึงใหญ่นั้นไปให้สำเร็จแต่ในเพลากลางคืนวันนี้ รุ่งสางขึ้นจะเสด็จพระราชดำเนินข้ามช้างพระที่นั่งไป แลให้เร่งรัดกระทำการให้แล้วทันตามพระราชกำหนด จึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์รับสั่งแล้ว ก็ออกไปกะเกณฑ์ผู้คนในกองหลวงได้หมื่นเศษ แบ่งปันน่าที่กันทำการถมถนนข้ามบึงใหญ่แต่ในกลางคืน บ้างขุดมูลดินแลตัดไม้น้อยใหญ่ทิ้งถมลงไป แล้วเอาช้างลงเหยียบให้ที่แน่น แลเร่งรัดกันทำการถมถนนทุบปราบราบรื่นแล้วตลอดถึงฝั่งฟากข้างโน้นเสร็จแต่ในกลางคืน แล้วเสด็จกลับเข้ามากราบทูลพระกรุณาว่า ทางสถลมารคนั้นแล้วเสร็จดุจพระราชกำหนด ครั้นเพลาปัจจุสไมย จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นเกย ทรงช้างต้นพลายสังหารคชสีห์เปนพระคชาธาร พรั่งพร้อมด้วยช้างพระที่นั่งพระราชบุตร แลช้างท้าวพระยาเสนามาตย์ราชพยุหโยธาพลากรเดินเท้าทั้งหลาย แวดล้อมโดยเสด็จพระราชดำเนินเปนอันมาก จึงเสด็จยาตราพระคชาธารไปโดยวิถีสถลมารคข้ามบึงนั้น ครั้นไปถึงกลางบึง แลที่นั้นเปนหล่มฦกนัก ถมทุบปราบไม่สู้แน่น แลเท้าน่าช้างต้นนั้นเหยียบถลำจมลงไปแล้วกลับขึ้นได้ จึงค่อยจ้องจดยกย่างต่อไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระพิโรธแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ยิ่งนัก ดำรัศว่า อ้ายสองคนนี้มันเห็นว่ากูแก่ชราแล้ว จึงชวนกันคิดเปนขบถ แลทำถนนให้เปนพลุหล่มไว้ หวังจะให้ช้างซึ่งกูขี่นี้เหยียบถลำหล่มล้มลง แล้วมันจะชวนกันฆ่ากูเสีย หมายใจจะเอาราชสมบัติ แลพระองค์ตรัศเท่าดังนั้นแล้ว ก็ขับพระคชาธารไปตามแถวถนนข้ามพ้นบึงขึ้นถึงฝั่ง จึงแปรพระภักตรเหลือบพระเนตรมาข้างเบื้องพระปฤษฎางค์ ทอดพระเนตรเห็นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ตามเสด็จติดท้ายช้างพระคชาธารมา ก็ยิ่งทรงพระพิโรธนัก จึงเยื้องพระองค์ทรงพระแสงของ้าวเงื้อจะฟันเอาพระเศียรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวร จึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระบัณฑูรน้อยก็เอาด้ามพระแสงขอซึ่งทรงอยู่นั้นยกขึ้นกันรับพระแสงของ้าวไว้ได้ด้วยฉับไว มิได้ต้องพระเชษฐาธิราชเจ้า ด้วยพระองค์ทรงชำนิชำนาญในการกระบี่กระบองมวยปล้ำว่องไวสันทัดอยู่ แล้วจึงเอาช้างทรงเข้ากันช้างพระเชษฐาธิราชเจ้า แลพากันขับช้างพระที่นั่งแล่นหนีไป สมเด็จพระบรมราชบิดุรงค์ก็ยิ่งทรงพระพิโรธเปนกำลัง แลจะไสพระคชาธารไล่ติดตามช้างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ไปในทันใดนั้น ฝ่ายควาญซึ่งอยู่ท้ายช้างพระที่นั่งนั้นเห็นว่า ช้างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองจะหนีไปมิทัน จึงเอาขอท้ายช้างเกี่ยวท้ายช้างพระที่นั่งเข้าไว้ให้ค่อยรอช้าลง แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ความกลัวพระราชอาชญาเปนกำลัง ก็เร่งรีบขับช้างพระที่นั่งแล่นหนีบุกป่าไป พระคชาธารจะไล่ติดตามไปมิทัน จึงมีพระราชโองการตรัศร้องประกาศไปแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันติดตามจับเอาตัวอ้ายขบถสองคนมาให้เราจงได้ แล้วบ่ายพระคชาธารกลับมายังพลับพลาที่ประทับนั้น ส่วนตำรวจแลข้าราชการทั้งหลายก็ติดตามไปพบสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ แล้วก็นำเอามาถวายณค่ายหลวง จึงมีพระราชดำรัศสั่งให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์นั้นได้ยกหนึ่ง ๓๐ ที แล้วให้พันธนาเข้าไว้ด้วยสังขลิกพันธ์ แล้วดำรัศสั่งว่า ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนรับเสด็จเพลาเช้ายกหนึ่งเพลาเย็นยกหนึ่งเปนนิจทุกวัน ๆ ไปอย่าได้ขาด กว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับลงไปพระนคร.

 ขณะนั้น นายผลข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าเยียนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ในเรือนโทษ จึงมีพระบัณฑูรตรัศว่า อ้ายผล บัดนี้สมเด็จพระราชบิดาทรงพระพิโรธ ดำรัศสั่งให้ลงพระราชอาชญาแก่กูทั้งสองทุกเพลาเช้าเย็นเปนนิจทุกวัน ๆ กว่าจะเสด็จกลับลงไปณกรุงเทพมหานคร แลกูทั้งสองจะทนพระราชอาชญาได้ฤๅ จะมิตายเสียฤๅ เองจะคิดประการใด นายผลได้ฟังดังนั้นก็เห็นว่าจะพ้นไภย จึงกราบทูลว่า ขอพระราชทานจงดำรัศสั่งให้ตำรวจเอาเรือเร็วรีบลงไปทูลเชิญเสด็จพระไอยกีกรมพระเทพามาตยซึ่งเสด็จอยู่ณพระตำหนักริมวัดดุสิตนั้นขึ้นมาช่วยกราบทูลขอโทษ เห็นว่าจะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้เปนมั่นคง ด้วยเหตุว่ากรมพระเทพามาตยนี้มีคุณูปการเปนอันมาก ได้อุประถัมภ์บำรุงเลี้ยงรักษาสมเด็จพระราชบิดามาแต่ทรงพระเยาว์นั้น จะว่าไรก็ว่ากันได้ เห็นจะขัดกันมิได้ แลซึ่งจะอุบายคิดอ่านไปอย่างอื่นนั้น เห็นว่าจะมิพ้นโทษ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วย ทรงพระปีติโสมนัศยิ่งนัก จึงมีพระบัณฑูรตรัศใช้หลวงกระเษตรรักษาให้เอาเรือเร็วรีบลงไปเฝ้าสมเด็จพระไอยกีกรมพระเทพามาตย แลให้ทูลโดยมูลเหตุทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ แล้วจงทูลว่า เราทั้งสองพี่น้องขอถวายบังคมมาแทบฝ่าพระบาทสมเด็จพระไอยกีเจ้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเชิญเสด็จขึ้นมาช่วยทูลขอพระราชทานโทษข้าพเจ้าทั้งสองโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าทั้งสองจึงจะรอดจากความตาย แลซึ่งบุทคลผู้ใดจะมาเปนที่พึ่งที่พำนักช่วยชีวิตรข้าพเจ้าทั้งสองในครานี้เห็นไม่มีตัวแล้ว แลหลวงกระเษตรรักษารับสั่งแล้ว ก็มาลงเรือเร็วรีบลงไปณกรุงสามวันก็ถึง จึงเข้าไปเฝ้ากรมพระเทพามาตยณพระตำหนักริมวัดดุสิตนั้น แล้วกราบทูลโดยมีพระบัณฑูรสั่งมานั้นทุกประการ สมเด็จพระไอยกีได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกพระไทย จึงตรัศเรียกข้าหลวงสาวใช้สั่งให้ฝีพายผูกเรือพระที่นั่งมาประเทียบท่าเปนการเร็ว แล้วเสด็จโดยด่วนมาลงเรือพระที่นั่ง ให้รีบเร่งฝีพายขึ้นไป หลวงกระเษตรรักษาเปนเรือนำเสด็จ รีบเร่งไปทั้งกลางวันกลางคืน สี่วันก็ถึงท่าเรือประทับ จึงเสด็จขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินณพระตำหนักพลับพลานั้น จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นกรมพระเทพามาตยพระราชมารดาเลี้ยงเสด็จขึ้นมา ก็กระทำปัจจุคมนาการต้อนรับ เชิญเสด็จให้ขึ้นนั่งร่วมราชาอาศน์ ทรงถวายอภิวาท แล้วดำรัศถามว่า ซึ่งเจ้าคุณขึ้นมานี้ด้วยกิจธุระเปนประการใด จึงกรมพระเทพามาตยกราบทูลว่า ได้ยินข่าวลงไปว่าพระราชบุตรทั้งสองเปนโทษ จึงอุสาหขึ้นมาทั้งนี้เพื่อจะทูลขอพระราชทานโทษ จึงมีพระราชโองการตรัศเล่าให้กรมพระเทพามาตยทรงฟังว่า อ้ายสองคนนี้มันคิดการเปนขบถ เดิมข้าพเจ้าให้มันเปนแม่กองถมถนนข้ามบึง มันแสร้งทำเปนพลุหล่มไว้ ให้ช้างซึ่งข้าพเจ้าขี่นั้นเหยียบถลำลง แล้วมันจะคิดกันฆ่าข้าพเจ้าเสีย จะเอาราชสมบัติ กรมพระเทพามาตยจึงกราบทูลว่า อันพระราชบุตรทั้งสองนี้เปนลูกเพื่อนทุกข์เพื่อนยากของพ่อมาแต่ก่อน แลซึ่งจะคิดการขบถประทุษฐร้ายต่อพ่อนั้นหามิได้ กรมพระเทพามาตยกราบทูลวิงวอนขอพระราชทานโทษไปเปนหลายครั้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษให้แก่กรมพระเทพามาตยนั้น แล้วมีพระราชดำรัศมอบให้แก่กรมพระเทพามาตยว่า เจ้าคุณจงเอามันทั้งสองนั้นลงไปเสียด้วยเถิด อย่าให้มันอยู่กับข้าพเจ้าที่นี่เลย ถ้าแลจะเอามันไว้ที่นี่ด้วยข้าพเจ้าไซ้ มันก็จะคิดการขบถฆ่าข้าพเจ้าเสียอิกเปนมั่นคง แลกรมพระเทพามาตยรับสั่งแล้ว ก็ไปถอดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ออกจากโทษ แล้วทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน พาเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มาลงเรือพระที่นั่ง แล้วเสด็จกลับลงมายังกรุงเทพมหานคร.

 ส่วนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จด้วยช้างพระที่นั่งแลช้างดั้งช้างกันไปทอดพระเนตรให้กันช้างเถื่อนเข้าค่ายมั่น แลจับช้างเถื่อนได้ครั้งนั้นมากประมาณร้อยเศษ แล้วเสด็จกลับยังพระมหานครศรีอยุทธยา ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ก็เสด็จมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทตามเคยมาแต่ก่อน แลสมเด็จพระราชบิดาก็สิ้นความพิโรธ ทรงพระกรุณาดำรัศสั่งกิจราชการงานพระนครดีเปนปรกติไปเหมือนแต่ก่อนนั้น.

 ในขณะนั้น เจ้าพระบำเรอภูธรราชนิกุลองค์หนึ่งเปนเชื้อพระวงษ์มาแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาแก่เจ้าพระบำเรอภูธรเปนอันมากว่ามีน้ำใจซื่อต่อแผ่นดิน แลทรงพระกรุณาดำรัศให้ว่าราชการทั้งปวงต่างพระเนตรพระกรรณ แลเจ้าพระบำเรอภูธรนั้นมีบุตรี ๔ องค์ ชื่อ พระองค์รัตนา องค์หนึ่ง พระองค์เอี้ยง องค์หนึ่ง พระองค์ขาว องค์หนึ่ง พระองค์พลับ องค์หนึ่ง แลพระองค์รัตนานั้นทรงพระกรุณาเอาเข้ามาเลี้ยงเปนพระสนมเอก แลพระองค์เอี้ยงนั้นทรงพระกรุณาพระราชทานให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวร แลพระองค์ขาวนั้นก็พระราชทานให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระบัณฑูรน้อย แต่พระองค์พลับน้องน้อยนั้นยังเยาว์อยู่ ยังมิได้โสกันต์ แลพระองค์รัตนาซึ่งเปนพระสนมเอกนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระเสน่หาการุญภาพโปรดปรานเปนอันมาก ครั้นอยู่มา พระองค์รัตนาก็มิได้ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโดยสุจริตธรรม ก็คิดการเปนประทุษฐจิตร แลให้หาหมอทำเสน่ห์ หวังจะให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเสน่หารักใคร่ลุ่มหลง แลทาษในเรือนนั้นรู้เหตุ จึงเอาการอันเปนคุยห์รหัศนั้นไปแจ้งแก่ท้าวนางผู้ใหญ่ ๆ ก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึ่งทรงพระกรุณาให้เอาตัวพระองค์รัตนามาพิจารณาไต่สวนไล่เลียงสืบสาวเอาตัวหมอผู้นั้นด้วย ครั้นเปนสัจแท้แล้ว ก็ให้ลงพระราชอาชญาแก่พระองค์รัตนา แลหมอผู้ทำเสน่ห์ กับทั้งเจ้าบำเรอภูธรผู้เปนบิดานั้นถึงสิ้นชีวิตร.

 ครั้นอยู่มา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมฝ่ายในเจ้าฟ้าหญิงทรงพระประชวรวัณโรคฝีคัณฑมาลานิพพาน จึงทรงพระกรุณาให้ทำการฌาปนกิจพระราชทานเพลิงณพระอารามวัดไชยวัฒนารามตามอย่างลูกหลวงเอก แล้วทรงสดับปกรณ์พระสงฆ์เปนอันมากโดยสมควรแก่ยศถาศักดิ์นั้น.

 ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤไทยกักขละหยาบช้าทารุณร้ายกาจ ปราศจากกุศลสุจริต ทรงประพฤดิผิดพระราชประเพณี มิได้มีหิริโอตตัปป แลพระไทยหนาไปด้วยอกุศลลามก มีวิตกในโทสะโมหมูลเจือไปในพระสันดานนิรันดรมิได้ขาด แลพระองค์ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ขาวอยู่เปนนิจ แล้วมักยินดีในการอันสังวาศด้วยนางกุมารีอันยังมิได้มีรดู ถ้าแลนางใดอุสาหอดทนได้ ก็พระราชทานรางวัลเงินทองผ้าแพรพรรณต่าง ๆ แก่นางนั้นเปนอันมาก ถ้านางใดอดทนมิได้ไซ้ ก็ทรงพระพิโรธ แลทรงประหารลงที่มัชฌิมุราประเทศให้ถึงแก่ความตาย แล้วให้เอาโลงขาวมาใส่ศพนางนั้นออกไปทางประตูพระราชวังข้างท้ายพระสนมนั้นเนือง ๆ แลประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูผีออก มีมาตราบเท่าทุกวันนี้.

 อยู่มาครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยพระชลพาหนะออกไปประพาศณเมืองเพ็ชรบุรี แลเสด็จไปประทับแรมอยู่ณพระราชนิเวศตำบลตระโหนดหลวงใกล้ฝั่งพระมหาสมุท แลที่พระตำหนักนี้เปนที่พระตำหนักเคยประพาศมหาสมุทมาแต่ก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรเปนเจ้านั้น แลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จด้วยพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถแล่นใบประพาศไปในท้องพระมหาสมุทตราบเท่าถึงตำบลเขาสามร้อยยอด แลทรงเบ็ดตกปลาฉลามแลปลาอื่นเปนอันมาก แล้วเสด็จกลับมาณพระตำหนักตระโหนดหลวง แลเสด็จเที่ยวประพาศอยู่ดังนั้นประมาณ ๑๕ เวน จึงเสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร.

 ลุศักราชได้ ๑๐๖๖ ปีวอก ฉศก ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย จะไปประพาศทรงเบ็ดณปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม แลคลองที่นั้นคดเคี้ยวนัก แลพันท้ายนรสิงหซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที แลศีศะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงหเห็นดังนั้นก็ตกใจ จึงโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง แลขึ้นอยู่บนฝั่ง แล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ พระราชอาชญาเปนล้นเกล้าฯ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำศาลขึ้นที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีศะข้าพระพุทธเจ้ากับศีศะเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้นขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ตามพระราชกำหนดในบทพระไอยการเถิด จึงมีพระราชโองการตรัศว่า อ้ายพันท้าย ซึ่งโทษเองนั้นถึงตายก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่า บัดนี้ กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเองแล้ว เองจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีศะเรือที่หักนั้น กูจะทำต่อเอาใหม่แล้ว เองอย่าวิตกเลย พันท้ายนรสิงหจึงกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดมิให้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่า จะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป แลซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดังนี้ดูมิควรยิ่งนัก นานไปภายน่าเห็นว่า คนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ แลพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาไลยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณโทษนี้เลย จงทรงพระอาไลยถึงพระราชประเวณีอย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนดมีมาแต่โบราณนั้นว่า ถ้าแลพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้ศีศะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่า พันท้ายนั้นถึงมรณโทษ ให้ตัดศีศะเสีย แลพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีศะข้าพระพุทธเจ้าเสียตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด จึงมีพระราชดำรัศสั่งให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเปนรูปพันท้ายนรสิงหขึ้น แล้วก็ให้ตัดศีศะรูปดินนั้นเสีย แล้วดำรัศว่า อ้ายพันท้าย ซึ่งโทษเองถึงตายนั้น กูก็ประหารชีวิตรเองเสียพอเปนเหตุแทนตัวแล้ว เองอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกูเถิด พันท้ายนรสิงหเห็นดังนั้นก็มีความลอายนัก ด้วยกลัวว่าจะเสียพระราชกำหนดโดยขนบธรรมเนียมโบราณไป เกรงคนทั้งปวงจะครหาติเตียนดูหมิ่นในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสละชีวิตรของตัวมิได้อาไลย จึงกราบทูลไปว่า ขอพระราชทาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทั้งนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่า ซึ่งตัดศีศะรูปดินแทนตัวข้าพระพุทธเจ้าดังนี้ดูเปนทำเล่นไป คนทั้งหลายจะล่วงครหาติเตียนได้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดตัดศีศะข้าพระพุทธเจ้าเสียโดยฉันจริงเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดไปเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอกราบทูลฝากบุตรภรรยา แล้วก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณยถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัศได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดำรัศวิงวอนไปเปนหลายครั้ง พันท้ายนรสิงหก็มิยอมอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหาการุญภาพแก่พันท้ายนรสิงหเปนอันมากจนกลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้ จำเปนจำทำตามพระราชกำหนด จึงดำรัศสั่งนายเพชฌฆาฏให้ประหารชีวิตรพันท้ายนรสิงหเสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา แลให้เอาศีศะพันท้ายนรสิงหกับศีศะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วให้ออกเรือพระที่นั่งไปประพาศทรงเบ็ดณปากน้ำเมืองสาครบุรี แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร แลศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขามนั้นก็มีปรากฎมาทาบเท่าทุกวันนี้.

 จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริห์ว่า คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรงจึงจะชอบ อนึ่ง พันท้ายนรสิงหซึ่งตายเสียนั้นเปนคนสัจซื่อมั่นคงนัก สู้เสียสละชีวิตรมิได้อาไลย กลัวว่าจะเสียพระราชประเพณีไป เรามีความเสียดายนักด้วยเปนข้าหลวงเดิมมาแต่ก่อน อันจะหาผู้ซึ่งรักใคร่ซื่อตรงต่อเจ้าเหมือนพันท้ายนรสิงหนี้ยากนัก แล้วดำรัศให้เอาศพ[2] พันท้ายนรสิงหนั้นมาแต่งตั้งที่ไว้โดยสมควรแล้ว[3] พระราชทานเพลิง แลบุตรภรรยานั้นก็พระราชทานเงินทองสิ่งของเปนอันมาก แล้วมีพระราชโองการตรัศสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์เลขหัวเมืองให้ได้ ๓๐๐๐๐ ไปขุดคลองโคกขาม แลให้ขุดลัดตัดให้ตรงตลอดไปโดยฦกหกศอก ปากคลองกว้างแปดวา พื้นคลองกว้างห้าวา แลให้พระราชสงครามเปนแม่กองคุมพลหัวเมืองทั้งปวงขุดคลองจงแล้วสำเร็จดุจพระราชกำหนด แล้วมีพระราชดำรัศแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า แต่ครั้งศักราช ๘๖๐ ปีมเมีย สำฤทธิศก[4] ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ก็ให้ขุดคลองสำโรงตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมา ศักราช ๘๘๔ ปีมโรง จัตวาศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้นก็ให้ขุดคลองบางกอกใหญ่ตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมา ศักราช ๙๐๐ ปีจอ สำเรทธิศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกนั้น ก็ได้ขุดคลองบางกรวยริมวัดชลอทลุไปริมวัดมูลเหล็กนั้นตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมา ศักราช ๙๗๐ ปีวอก สำฤทธิศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ก็ให้ขุดคลองลัดริมวัดไก่เตี้ยณท้ายบ้านสามโคกนั้นตำบลหนึ่ง ครั้นล่วงมา ศักราช ๙๘๘ ปีชวด อัฐศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองนั้น ก็ให้ขุดคลองเมืองนนทบุรีตำบลหนึ่งตัดมาออกตลาดแก้วนั้น แลครั้งนี้ เราก็จะขุดคลองโคกขามให้เปนเกียรติยศไว้ตราบเท่ากัลปาวสาน จึงเจ้าพระยาจักรีเก็บเอาเลขหัวเมืองนนทบุรี เมืองธนบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองสาครบุรี เมืองสมุทสงคราม เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี แลเมืองสมุทปราการ ได้พลหัวเมืองทั้งปวงนั้น ๓๐๐๐๐ เศษ มอบให้พระราชสงครามผู้เปนนายกอง แลพระราชสงครามก็กราบถวายบังคมลาถือพลหัวเมืองทั้งปวงไปทำการขุดคลองโคกขาม แลซึ่งที่จะขุดไปทลุออกแม่น้ำเมืองสาครบุรีนั้น ให้รังวัดได้ทางไกล ๓๔๐ เส้น แลให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางให้ตรง แล้วจึงให้ปักกรุยแบ่งปันน่าที่กันขุดตามหมวดตามกอง แลปันน่าที่ให้ขุดคนหนึ่งโดยยาวคืบหนึ่ง กว้างฦกนั้นโดยขนาดคลอง แลการขุดคลองนั้นได้จับทำในศักราช ๑๐๖๗ ปีรกา สัปตศก แลการนั้นยังมิได้สำเร็จก่อน.

 ครั้นถึงมาฆมาศ ศุกรปักขดิถี จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศสั่งสมุหนายกให้ตรวจเตรียมพลพยุหบาตราโดยกระบวนชลมารคสถลมารคทั้งปวงให้พร้อมเสร็จ จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทโดยพระราชประเพณีมาแต่ก่อน ครั้นถึงศุภวารมหาพิไชยฤกษ์ จึงสมเด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องศิริราชวิภูษณาลังการาภรณบวรรัตนมาลีมณีมาศมงกุฎ สอดทรงวิสุทธิสังวาลกาญจนอลงกฎรจนา ทรงวิไชยมหาราชาวุธสำหรับราชรณยุทธสรรพเสร็จ ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน อลังการด้วยเสวตรมยูรฉัตร ขนัดพระอภิรุมชุมสายพรายพรรณบังรวิวรรณบังแทรกสลอนสลับ สรรพด้วยกรรชิงกลิ้งกลดจามรมาศดาษดา ดูมโหฬาราดิเรกพันฦก อธึกด้วยกระบี่ธุชทวนเที่ยวธวัชเปนทิวแถว ดูแพร้วพรายปลายรยาบรยับจับพื้นทิฆัมพรวโรภาศ เดียรดาษด้วยเรือท้ายพระยาสามนตราชราชสกุลขุนหลวงต้นเชือกปลายเชือกทั้งหลาย รายเรียงจับฉลากเปนคู่ ๆ ดูเปนขนัดโดยขบวนพยุหบาตราน่าหลังคับคั่งเนืองนอง กึกก้องกาหฬด้วยศัพทสำเนียงเสียงพลอุโฆษแตรสังข์ดุริยางคดนตรีปี่กลองชนะ ประโคมครั่นครื้นเพียงพื้นพสุธาธารจะกัมปนาท ให้ขยายพยุหบาตราคลาเคลื่อนเลื่อนไปโดยชลมารค แล้วหยุดประทับร้อนณราชนิเวศพระนครหลวง เสวยพระกระยาการสำราญพระราชหฤไทย[5] เสด็จเข้าที่พระบรรธมในที่นั้น ครั้นชายแล้วสามนาฬิกา จึงให้ออกเรือพระที่นั่งไปโดยลำดับตราบเท่าถึงที่ประทับพระตำหนักเจ้าสนุก แล้วเสด็จทรงช้างพระที่นั่งพังสกลเกษ ที่นั่งรองพังบวรประทุม ชุมนุมราชพิริยโยธาพลากรพฤนท์พร้อมพรั่ง ตั้งตามขบวนพยุหบาตราสถลมารคสรรพเสร็จ ก็เสด็จยกพยุหแสนยากรทวยหาญไปโดยลำดับสถลมารควิถีถึงเขาสุวรรณบรรพต จึงหยุดพระคชาธาร ทรงรำพระแสงขอเหนือพระตองช้างต้นสิ้นวารสามนัดบูชาพระพุทธบาทตามอย่างพระราชประเพณี เสร็จแล้วก็บ่ายพระคชาธารไปเข้าที่ประทับณพระราชนิเวศธารเขษม แล้วเสด็จมานมัสการพระพุทธบาททุกเพลาเช้าเย็น ให้เล่นการมหรศพถวายเปนการบูชา[6] พุทธสมโภชถ้วน[7] คำรบสามวัน ครั้นค่ำให้จุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ รทาใหญ่ ๘ รทา บูชาพระพุทธบาทเปนมโหฬารยิ่งนัก แล้วทรงพระกรุณาให้ถอยเรือพระที่นั่งแลเรือแห่ทั้งปวงกลับลงไปณกรุง แล้วถวายนมัสการลา ยกพยุหโยธาคชานิกรทวยหาญผ่านไปโดยทิศตระวันออก ข้ามแม่น้ำแควป่าสักไปณเขาปัถวี เสด็จขึ้นถวายนมัสการพระพุทธฉายา แล้วประทับอยู่ที่นั้นสามเวน จึงเสด็จยกพลนิกายบ่ายน่าไปโดยบุรพทิศ แลเสด็จประพาศไปถึงตำบลเขาพนมโยง จึงเสด็จขึ้นนมัสการพระเจดียฐานบนยอดเขานั้น แลเสด็จประทับอยู่ที่นั้นอิกสามเวน จึงเสด็จยกพลแสนยากรร้อนแรมประพาศไปในวนาประเทศทั้งปวงสิ้นสองสามเวน มีพระราชหฤไทยปราถนาจะไปประพาศล้อมช้างเถื่อนในป่า ก็พอทรงพระประชวรลง จึงเสด็จยกพยุหโยธาทัพกลับเข้าพระนคร แลพระโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบมากขึ้น ทรงพระประชวรหนักลง แลบรรดาข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็เข้าไปนอนประจำซอง[8] ในพระราชวังทั้งสิ้น.

 ฝ่ายพระราชสงครามแลนายหมวดนายกองเจ้าน่าที่ทั้งหลายซึ่งคุมพลทำการขุดคลองนั้น แลขุดได้ครึ่งหนึ่ง ยังมิได้สำเร็จ ครั้นแจ้งไปว่าทรงพระ[9] ประชวรหนัก ก็เลิกการนั้นเสีย ชวนกันกลับเข้ามาพระนคร แลการนั้นยังค้างอยู่ ส่วนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระประชวรอยู่ณพระที่นั่งสุริยามรินทร พระโรคนั้นหนักเปนอาสันทิวงคตอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดมอบเวนราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตในเดือนหก ปีจอ อัฐศกนั้น พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระชัณษากำเนิดขาล จัตวาศก ศักราช ๑๐๒๔ ปี แรกเสด็จขึ้นราชาภิเศกเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๓๖ พระพรรษา เสด็จดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้ ๙ ปีเศษ ขณะสวรรคตณพระที่นั่งสุริยามรินทรในเดือนหก ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๐๖๘ นั้น รวม[10] พระชนม์ได้ ๔๕ พระพรรษา.


  1. ที่มีเส้นขีดใต้บันทัดนั้น คือ ที่เปนลายพระราชหัดถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้
    เดิมว่า รหว่าง
  2. เดิมว่า กเฬวร
  3.  ” แต่งการฌาปนกิจ
  4.  ” สำเรทธิศก
  5. เดิมว่า พระอารมณ์
  6. เดิมไม่มี
  7.  
  8. เดิมไม่มี
  9.  
  10. เดิมว่า ศิริ