พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา (2457)/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงบำเพ็ญพระกุศล มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้เปนครั้งแรก รับสั่งให้ข้าพเจ้ารับพระธุระในการตรวจฉบับแลจัดการพิมพ์ถวาย ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับแรกนั้นว่า ทุกวันนี้ มีหนังสือเครื่องประกอบสอบสวนพระราชพงษาวดารแพร่หลายมากกว่าแต่ก่อน ถ้าหากว่าผู้ศึกษาพงษาวดารช่วยกันตรวจตราสอบสวนเอาเนื้อความที่พบในที่อื่นอย่างไรมาเรียบเรียงอธิบายไว้ให้ปรากฎ ความรู้พงษาวดารของเมืองไทยจะดีขึ้นได้อิกเปนอันมาก เสียดายที่คราวนั้นเปนการเร่งรีบจะต้องทำให้แล้วทันกำหนด แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็ไม่มีเวลาพอที่จะทำอย่างอื่นได้นอกจากแต่งคำนำอธิบายตำนานของหนังสือพระราชพงษาวดารขึ้นตอน ๑ กับทำสารบานสำหรับจะค้นเรื่องพระราชพงษาวดารที่พิมพ์นั้นให้มีขึ้นเปนคราวแรก ทำได้แต่ ๒ อย่างเท่านี้ หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอฯ ทรงพิมพ์ขึ้นครั้งนั้น มีผู้นิยมกันมาก ฉบับที่พิมพ์ขึ้นหมดไปโดยรวดเร็ว ข้าพเจ้าได้รับคำตักเตือนมาจากบุคคลบ้าง มาจากที่ศึกษาสถานต่าง ๆ บ้าง ขอให้จัดการพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารขึ้นอิกสักฉบับ ๑ จึงได้ลงมือจัดการพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้

ในการพิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารคราวนี้ มีเวลามากกว่าคราวก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ลองทำตามความที่ได้คิดเห็นไว้ คือ ได้แก้ไขตำนานหนังสือพระราชพงษาวดารให้บริบูรณ์ดีขึ้น พิมพ์ไว้ข้างต้นฉบับนี้ตอน ๑ ได้ตรวจสอบหนังสือต่าง ๆ ทั้งในภาษาไทยแลภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวด้วยเรื่องพงษาวดารสยาม เลือกเก็บเนื้อความมาเรียบเรียงเปนเรื่องพงษาวดารสยามประเทศตอนต้นก่อนสร้างกรุงศรีอยุทธยา พิมพ์ไว้ข้างต้นอิกตอน ๑ แลได้แต่งคำอธิบายเรื่องในรัชกาลต่าง ๆ ครั้งกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานีตามลำดับแผ่นดิน รวมพิมพ์ไว้ข้างท้ายอิกตอน ๑ เอาเรื่องพระราชพงษาวดารของเดิมพิมพ์ไว้ระหว่างกลาง ที่เรียบเรียงโดยลำดับดังกล่าวนี้ ความจริงแต่เดิมข้าพเจ้าได้ลองเอาคำอธิบายพิมพ์ต่อติดท้ายตัวเรื่องพระราชพงษาวดารทุกรัชกาล แต่ครั้นพิมพ์ไปได้น่อยหนึ่ง เมื่อเอามาพิจารณาดู เห็นว่า จะทำให้เรื่องพระราชพงษาวดารเดิมขาดเปนกระท่อนกระแท่นไปเสีย โดยเหตุที่พิมพ์สลับกับคำอธิบาย ถ้าผู้อ่านไม่ประสงค์จะอ่านคำอธิบาย ก็จะชวนรำคาญคำอธิบายของข้าพเจ้า จึงได้แยกเอาคำอธิบายมารวมพิมพ์ไว้เสียข้างท้ายส่วน ๑ ต่างหากดังกล่าวมาแล้ว เมื่อผู้อ่าน ๆ เรื่องพระราชพงษาวดารแผ่นดินใดแล้ว แลอยากจะทราบคำอธิบายของข้าพเจ้า ควรพลิกข้ามไปอ่านคำอธิบายเรื่องแผ่นดินนั้นเสียก่อน แล้วจึงกลับมาอ่านตัวเรื่องพระราชพงษาวดารแผ่นดินอื่นต่อไป อย่างนี้จึงจะได้ประโยชน์จากคำอธิบายดี

ขอให้บรรดาผู้อ่านหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้จงเข้าใจความประสงค์ของข้าพเจ้าอย่าง ๑ ด้วยบรรดาคำอธิบายที่ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือนี้ กล่าวตามที่ได้ตรวจพบในหนังสืออื่นบ้าง กล่าวโดยความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเองบ้าง ข้าพเจ้าเปนแต่ผู้ศึกษาพงษาวดารคน ๑ จะรู้เรื่องถ้วนถี่รอบคอบหรือรู้ถูกต้องไปหมดไม่ได้ ข้าพเจ้าได้ระวังที่จะบอกไว้ในคำอธิบายทุก ๆ แห่งว่า ความตรงไหนข้าพเจ้าได้พบจากหนังสือเรื่องไหน แลตรงไหนเปนความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเอง แต่ไม่ได้อธิบายเหตุการณ์ทุก ๆ อย่างหรือเรื่องทุก ๆ เรื่องบรรดาที่ปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับเดิม เพราะเห็นว่า เรื่องที่ไม่จำจะต้องอธิบายก็มีมาก ที่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรก็มี ข้อใดเรื่องใดที่ไม่มีคำอธิบาย ขอให้ท่านผู้อ่านจงเข้าใจว่าเปนด้วยเหตุดังว่ามานี้ อิกประการ ๑ ผู้ศึกษาพงษาวดารมีมากด้วยกัน ความรู้แลความเห็นย่อมไม่เหมือนกัน ที่ข้าพเจ้าทำคำอธิบายไว้เปนส่วน ๑ ต่างหากอย่างนี้ เพื่อประสงค์จะปฤกษาผู้ศึกษาพงษาวดารด้วยกัน แห่งใดใครจะเห็นชอบด้วย หรือแห่งใดใครจะคัดค้าน ด้วยมีหลักฐานซึ่งข้าพเจ้ายังไม่ทราบก็ดี หรือมีความคิดเห็นซึ่งดีกว่าความคิดเห็นของข้าพเจ้าก็ดี ถ้าได้ความรู้ความเห็นของผู้ศึกษาพงษาวดารหลาย ๆ คนด้วยกันมาประกอบ คงจะได้เรื่องราวที่เปนหลักฐานใกล้ต่อความจริงยิ่งขึ้น เมื่อสำเร็จประโยชน์อย่างนั้นแล้ว ก็จะสามารถที่จะแต่ง "พงษาวดารสยาฒ" ขึ้นใหม่ ให้มีหนังสือพงษาวดารไทยที่ดีเทียบเทียมกับพงษาวดารอย่างดีของประเทศอื่นได้ ข้าพเจ้าทำคำอธิบายพระราชพงษาวดารด้วยความประสงค์ดังกล่าวมาทั้ง ๒ ประการนี้

การตรวจสอบหนังสือสำหรับหาเรื่องมาเรียบเรียงคำอธิบายพระราชพงษาวดาร แม้เท่าที่ทำมาแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจได้ว่า ต้องใช้เวลามาก ไม่ใช่จะแต่งตบึงไปได้โดยรวดเร็ว แลยังมีเหตุที่ต้องปฤกษาหารือผู้ศึกษาพงษาวดารด้วยกันเนือง ๆ ข้าพเจ้าได้อาไศรยเวลาไปตามเสด็จอยู่ตามหัวเมืองบ้าง ทำในเวลาว่างราชการเมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ บ้าง ตลอดเวลากว่าปี จึงสำเร็จได้เพียงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ เห็นว่า ทั้งเนื้อเรื่องแลประมาณขาดหนังสือควรจะเข้าเปนเล่มหนึ่งได้อยู่แล้ว จึงให้พิมพ์เปนเล่มที่ ๑ ของพระราชพงษาวดารฉบับนี้ เรื่องต่อนี้ไปตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนตลอดแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช มีเรื่องเกี่ยวข้องด้วยต่างประเทศมาก ข้าพเจ้ากำลังสืบหาหนังสือแลสอบสวนอยู่ ตั้งใจว่าจะทำต่อไปโดยลำดับดังได้ทำมาในเล่มนี้

  • ลายมือชื่อของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๗