พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2484

จาก วิกิซอร์ซ
พิธีสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
ว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจกันทางการเมือง

รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น

มีความปรารถนาเท่าเทียมกันในอันจะรักษาสันติภาพในเอเชียตวันออก

อาศัยเจตนารมณ์สันติและมิตรภาพซึ่งได้อำนวยการจัดทำสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และมีความปรารถนาจริงใจเท่าเทียมกันที่จะคงดำเนินในทางนี้

ใคร่จะยังเสถียรภาพให้แก่สัมพันธไมตรีซึ่งเพิ่งกลับสถาปนาขึ้นระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

จึ่งได้ทำความตกลงกันดั่งต่อไปนี้

๑. รัฐบาลญี่ปุ่นให้ประกันแก่รัฐบาลไทย ในลักษณะเด็ดขาดและถอนคืนไม่ได้ แห่งความระงับการขัดกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส อันเปนผลสืบจากการไกล่เกลี่ยของรัฐบาลญี่ปุ่นเนื่องแต่อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และบันดาเอกสารภาคผนวก

๒. รัฐบาลไทยสนองรับหลักประกันของรัฐบาลญี่ปุ่นดั่งกล่าวแล้ว และจะพยายามรักษาสันติภาพในเอเชียตวันออก โดยฉะเพาะอย่างยิ่ง จะพยายามสถาปนาสัมพันธไมตรีแห่งเพื่อนบ้านที่ดี กับทั้งบำรุงเศรษฐสัมพันธ์อันสนิทระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น

รัฐบาลไทยแถลงไว้ด้วยว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำความตกลงหรือความเข้าใจใด ๆ กับประเทศภายนอก เพื่อร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหาร ในสภาพที่จะให้รัฐบาลไทยขัดกับญี่ปุ่นโดยตรงหรือโดยทางอ้อม

๓. พิธีสารนี้จะได้รับสัตยาบัน และจะได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณะ โตกิโอ ภายในสองเดือนหลังจากวันลงนาม

พิธีสารนี้จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเปนต้นไป

เพื่อเปนพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลแต่ละฝ่าย ได้ลงนามและประทับตราพิธีสารนี้ไว้เปนสำคัญ

ทำคู่กันเปนสองฉบับ เปนภาษาไทยและญี่ปุ่น ณะ โตกิโอ เมื่อวันที่เก้า เดือนที่ห้า พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสี่ ตรงกับวันที่เก้า เดือนที่ห้า ปีสโยวาที่สิบหก


(ประทับตรา) วรรณไวทยากร
(ประทับตรา) ศรีเสนา
น.อ. ศิลปศัสตราคม (ประทับตรา)
วนิช ปานะนนท์ (ประทับตรา)
(ประทับตรา) มัตสุโอกะ โยสุเก (อักษรญี่ปุ่น)
(ประทับตรา) มัตสุมิยะ ฮาจิเม (อักษรญี่ปุ่น)

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"