ระเบียบของผู้ประสานงานกลาง ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฯ สิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. ๒๕๕๖

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ระเบียบของผู้ประสานงานกลาง


ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือและการขอความช่วยเหลือ


ตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก


พ.ศ. ๒๕๕๖





โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ กรณีผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็กขอให้ส่งตัวเด็กซึ่งถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้ในประเทศไทยกลับคืนถิ่นที่อยู่ปกติเป็นแห่งสุดท้ายของเด็กในต่างประเทศก่อนถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้ หรือกรณีผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กในประเทศไทยขอใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก และเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศ เพื่อขอใช้สิทธิในการควบคุมดูแลเด็ก และขอใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กในต่างประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. ๒๕๕๕ ผู้ประสานงานกลางจึงออกระเบียบดังต่อไปนี้



ข้อ ๑

ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบของผู้ประสานงานกลาง ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือและการขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. ๒๕๕๖"


ข้อ ๒

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


ข้อ ๓

การให้ความช่วยเหลือและการขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก ให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้



หมวด ๑
การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ




ส่วนที่ ๑
คำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืน





ข้อ ๔

คำร้องขอความช่วยเหลือของผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็กหรือของผู้ประสานงานกลางจากต่างประเทศ เพื่อขอให้ผู้ประสานงานกลางให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก จะต้องมีข้อมูล รายละเอียด และเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

(๑) เด็ก

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด ถิ่นที่อยู่ปกติแห่งสุดท้ายก่อนถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้ ใบทะเบียนคนเกิด หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๒) มารดา

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด สัญชาติ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ปกติ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๓) บิดา

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด สัญชาติ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ปกติ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๔) วันเดือนปีและสถานที่สมรส ใบทะเบียนสมรส (ในกรณีที่มี) ของมารดาบิดา

(๕) บุคคล สถาบัน หรือองค์กรอื่นใด ผู้ร้องขอความช่วยเหลือ (ต้องเป็นผู้ใช้สิทธิควบคุมดูแลเด็กโดยแท้จริงก่อนเด็กถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้)

ชื่อและนามสกุล สัญชาติ และอาชีพของบุคคลผู้ร้องขอ ที่อยู่ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) ความเกี่ยวพันกับเด็ก ชื่อและที่อยู่ของทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย (ในกรณีที่มี)

(๖) บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าพาตัวเด็กมาหรือกักตัวเด็กไว้

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด (ในกรณีที่ทราบ) สัญชาติ (ในกรณีที่ทราบ) อาชีพ ที่อยู่แห่งสุดท้ายที่ทราบ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย(ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๗) ที่อยู่ของเด็กที่น่าเชื่อว่าถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้ และบุคคลที่น่าเชื่อว่าเด็กไปอยู่ด้วย

(๘) บุคคลอื่นซึ่งอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของเด็ก

(๙) วันเดือนปี เวลา สถานที่ และพฤติการณ์ในการพาตัวเด็กมาหรือกักตัวเด็กไว้โดยมิชอบ

(๑๐) เหตุผลทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สนับสนุนคำร้องขอ

(๑๑) คดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิควบคุมดูแลเด็กที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล (ในกรณีที่มี)

(๑๒) ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับตัวเด็กกลับคืน

(๑๓) ข้อเสนอเกี่ยวกับการเตรียมการในการรับตัวเด็กกลับคืน

(๑๔) สำเนาคำพิพากษาของศาล หรือสำเนาคำวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรอื่น หรือความตกลงเกี่ยวกับสิทธิควบคุมดูแลเด็กหรือสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก ที่รับรองความถูกต้อง (ในกรณีที่มี)

(๑๕) หนังสือรับรองหรือคำให้การเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับ

(๑๖) ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคมของเด็ก

(๑๗) หนังสือมอบอำนาจให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการแทนผู้ร้องขอหรือแต่งตั้งผู้แทนเป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ร้องขอ

(๑๘) เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ข้อ ๕

คำร้องขอจะต้องระบุวันเดือนปีและสถานที่ที่ทำคำร้องขอ พร้อมลงลายมือชื่อ และ/หรือประทับตราของผู้ประสานงานกลางผู้ร้องขอหรือผู้ร้องขอ


ข้อ ๖

คำร้องขอและเอกสารประกอบคำร้องขอดังกล่าวจะต้องทำเป็นภาษาของประเทศผู้ร้องขอ และต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทย หรือในกรณีที่ไม่สามารถทำคำแปลเป็นภาษาไทยได้ ให้ทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ



ส่วนที่ ๒
คำร้องขอใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก





ข้อ ๗

คำร้องขอความช่วยเหลือของผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก หรือของผู้ประสานงานกลางจากต่างประเทศ เพื่อขอให้ผู้ประสานงานกลางให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก จะต้องมีข้อมูล รายละเอียด และเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

(๑) เด็ก

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด ถิ่นที่อยู่ปกติ ใบทะเบียนคนเกิด หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๒) มารดา

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด สัญชาติ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ปกติ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๓) บิดา

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีและสถานที่เกิด สัญชาติ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ปกติ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๔) วันเดือนปี และสถานที่สมรส ใบทะเบียนสมรส (ในกรณีที่มี) ของมารดาบิดา

(๕) ผู้ร้องขอความช่วยเหลือ

ชื่อและนามสกุล สัญชาติ อาชีพ ที่อยู่ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) ความเกี่ยวพันกับเด็ก ชื่อและที่อยู่ของทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย (ในกรณีที่มี)

(๖) สถานที่ที่เชื่อว่าเด็กอยู่ในปัจจุบัน

(๗) บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก

ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีสถานที่เกิด และสัญชาติ (ในกรณีที่ทราบ) อาชีพที่อยู่แห่งสุดท้ายที่ทราบ หลักฐานทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน (ในกรณีที่มี) รูปพรรณ และรูปถ่าย (ในกรณีที่เป็นไปได้)

(๘) บุคคลอื่นซึ่งอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของเด็ก

(๙) พฤติการณ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก

(๑๐) เหตุผลทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สนับสนุนคำร้องขอ

(๑๑) คดีแพ่งเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล (ในกรณีที่มี)

(๑๒) ข้อเสนอเกี่ยวกับการเตรียมการในการใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก

(๑๓) สำเนาคำวินิจฉัยหรือความตกลงเกี่ยวกับสิทธิควบคุมดูแลเด็กหรือสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กที่รับรองความถูกต้อง

(๑๔) หนังสือรับรองหรือคำให้การเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับ

(๑๕) ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคมของเด็ก

(๑๖) หนังสือมอบอำนาจให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการแทนผู้ร้องขอหรือแต่งตั้งผู้แทนเป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ร้องขอ

(๑๗) เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ข้อ ๘

คำร้องขอจะต้องระบุ วันเดือนปีและสถานที่ที่ทำคำร้องขอ พร้อมลงลายมือชื่อ และ/หรือประทับตราของผู้ประสานงานกลางผู้ร้องขอหรือผู้ร้องขอ


ข้อ ๙

คำร้องขอและเอกสารประกอบคำร้องขอดังกล่าวจะต้องทำเป็นภาษาของประเทศผู้ร้องขอ และต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทย หรือในกรณีที่ไม่สามารถทำคำแปลเป็นภาษาไทยได้ ให้ทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ


ข้อ ๑๐

การใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้ประสานงานกลางกำหนดตามที่เห็นสมควรในแต่ละกรณี โดยคำนึงถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการเตรียมการในการขอใช้สิทธิดังกล่าว ความเห็นของผู้ใช้อำนาจควบคุมดูแลเด็ก การปกป้องเด็กมิให้ได้รับอันตราย และความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกคน



หมวด ๒
การขอความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศ




ส่วนที่ ๑
คำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืน





ข้อ ๑๑

คำร้องขอความช่วยเหลือของผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็กเพื่อให้ผู้ประสานงานกลางให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก ให้นำความในข้อ ๔ ถึงข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม



ส่วนที่ ๒
คำร้องขอใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก





ข้อ ๑๒

คำร้องขอความช่วยเหลือของผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กเพื่อให้ผู้ประสานงานกลางให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก ให้นำความในข้อ ๗ ถึงข้อ ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม



ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖


จุลสิงห์ วสันตสิงห์

อัยการสูงสุด

ผู้ประสานงานกลาง



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๙๑ ก/หน้า ๑๑/๙ ตุลาคม ๒๕๕๖




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"