ข้ามไปเนื้อหา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

จาก วิกิซอร์ซ


๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๙

เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๓๐
๓๑๘
ราชกิจจานุเบกษา

ตราครุฑ
ตราครุฑ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อานันทมหิดล
ตราไว้ ณ วันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙
เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชชกาลปัจจุบัน

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๘๙ พรรษา ปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม ศุนสมพัตสร วิสาขมาส ศุกลปักษ์ นวมีดิถี สุริยคติกาล พฤษภาคมมาส นวมสุรทิน ชีววาร โดยกาลบริจเฉท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูตผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกชพรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดีฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศไทยให้วัฒนาถาวรสืบไปในภายภาคหน้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราว พอให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎรได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ครั้นแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อถือเป็นหลักถาวรแห่งรัฐประศาสนวิธีต่อไป สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งประกอบร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

เมื่ออนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดี นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้ว จึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษา เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้แต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

ต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ ๑๔ ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทฉะเพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึ่งนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึ่งเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง และเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรจึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้นนี้ กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกตุ และคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

ต่อมา รัฐบาลคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่งแล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุมปรึกษาหารือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ และคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาแก้ไขแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ จึ่งได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการแล้ว จึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง

บัดนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จเรียบร้อยแล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์ จึ่งได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า ประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบาย สามารถจรรโลงประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยะธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี

จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉะบับนี้ขึ้นไว้ ประสิทธิประสาทประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉะบับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนี้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยบทฉะเพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๕

ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ จงเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุกสันติคุณวิบุลราศีแก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศไทยให้บรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้อาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสมานสโมสรในสามัคคีรสธรรมเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้ยืนยงคงอยู่กับไทยรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธานทุกประการเทอญ

มาตราประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

มาตราอำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตราองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตราพระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

มาตราการสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

มาตรา๑๐ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

มาตรา๑๑ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งไว้ตามความในมาตรา ๑๐ ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

มาตรา๑๒บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมายฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย

มาตรา๑๓บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน

มาตรา๑๔บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย

มาตรา๑๕บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๑๖บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย และมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการโดยทางเสียภาษีและอื่น ๆ ภายในเงื่อนไขและโดยวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๑๗รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน ไม่ว่าจะประชุมแยกกันหรือร่วมกัน

มาตรา๑๘ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

มาตรา๑๙การตราพระราชบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญานั้น จะกระทำมิได้

มาตรา๒๐ร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐสภาได้ทำขึ้นเสร็จแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา๒๑ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี รัฐสภาจะต้องปรึกษากันใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา๒๒ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะเสนอมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนก็ได้

มาตรา๒๓บุคคลใดจะเป็นสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนในขณะเดียวกันไม่ได้

มาตรา๒๔พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน

สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ

มาตรา๒๕คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้เลือกตั้งอีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปีหรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

มาตรา๒๖สมาชิกภาพแห่งพฤฒสภา มีกำหนดเวลาคราวละหกปี ฉะเพาะในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก แต่ผู้ที่ออกไปมีสิทธิได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก

ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้รัฐสภาเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามความในมาตรา ๒๕ เข้าเป็นสมาชิกแทนตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา สมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา๒๗สมาชิกภาพแห่งพฤฒสภาสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑)ถึงคราวออกตามวาระ

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา

มาตรา๒๘ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ การประชุมพฤฒสภานั้น จะกระทำมิได้

มาตรา๒๙สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

สมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ

มาตรา๓๐คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๓๑อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดเวลาคราวละสี่ปี

ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาจะเหลือไม่ถึงหกเดือน สมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา๓๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทน เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา ต้องมีกำหนดเวลาให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน

การยุบสภาผู้แทนจะทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

มาตรา๓๓สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑)ถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๓๔สมาชิกสภาผู้แทนมีสิทธิเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้ใจรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะได้ โดยมีสมาชิกรับรองไม่ต่ำกว่ายี่สิบสี่คน การลงมติในกรณีเช่นนี้มิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา

มาตรา๓๕ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๓๖สมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทน ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

มาตรา๓๗พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกพฤฒสภาและสมาชิกสภาผู้แทนตามมติของสภานั้น ๆ ให้เป็นประธานแห่งสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้

มาตรา๓๘ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานในเมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา๓๙ในเมื่อประธานและรองประธานพฤฒสภาหรือสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกของสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานในคราวประชุมนั้น

มาตรา๔๐การประชุมของพฤฒสภาก็ดี หรือของสภาผู้แทนก็ดี ทุกคราวต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึ่งเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา๔๑การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นไว้แต่เรื่องซึ่งมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา๔๒ในที่ประชุมแห่งสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิอันเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้

เอกสิทธินี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภาและคุ้มครองไปถึงบุคคลที่สภาเชิญมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในที่ประชุมด้วย

มาตรา๔๓สมัยประชุมของพฤฒสภาและของสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน

มาตรา๔๔ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาทั้งสอง สมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนด การประชุมครั้งแรกต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด

มาตรา๔๕สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่ง ในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้

มาตรา๔๖พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมพฤฒสภาและสภาผู้แทนตามสมัยประชุม ทรงเปิดและปิดประชุม

พิธีเปิดประชุมจะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้

มาตรา๔๗เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินพระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองก็ได้

มาตรา๔๘สมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนทั้งสองสภาหรือสมาชิกของแต่ละสภา มีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองได้

คำร้องขอดังกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใด ก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภานั้น ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภา ก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภาที่มีสมาชิกเข้าชื่อมีจำนวนมากกว่า ถ้ามีจำนวนเท่ากัน ก็ให้ยื่นต่อประธานพฤฒสภา

ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๔๙ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ใดจะฟ้องสมาชิกพฤฒสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนในทางอาญา ศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกก่อนจึ่งพิจารณาได้ แต่การพิจารณาคดีนั้น ต้องมิให้เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุม

การพิจารณาคดีที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่า จำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งนั้น ย่อมเป็นอันใช้ได้

มาตรา๕๐ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับหรือหมายเรียกตัวสมาชิกพฤฒสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนไปกักขัง เว้นไว้แต่จับในขณะกระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ประธานแห่งสภานั้นอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้

มาตรา๕๑ถ้าสมาชิกพฤฒสภาหรือสภาผู้แทนถูกกักขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี จะต้องสั่งปล่อย ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ

คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อนให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อย จนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม

มาตรา๕๒ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนก่อนเมื่อสภาผู้แทนได้พิจารณาลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อพฤฒสภา ถ้าพฤฒสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยโดยไม่แก้ไขแล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐

ถ้าหากพฤฒสภาลงมติไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามพฤฒสภาแล้วก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

ถ้าพฤฒสภาลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามที่พฤฒสภาแก้ไขเพิ่มเติมมา ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐

ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันตามเดิมในร่างพระราชบัญญัติที่ส่งกลับคืนมาตามความในวรรคสอง หรือวรรคสามด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐

มาตรา๕๓ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น จะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับรอง

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือ การตั้งขึ้นหรือยกเลิก หรือลด หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับการภาษีหรืออากร หรือว่าด้วยเงินตรา การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการประกัน หรือการใช้เงินกู้

ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานแห่งสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่

มาตรา๕๔ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนได้ลงมติให้ใช้ได้และได้เสนอไปยังพฤฒสภานั้น พฤฒสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนดสามสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน พฤฒสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนดสิบห้าวัน

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้มาถึงพฤฒสภา

ถ้าพฤฒสภาไม่ได้พิจารณาลงมติในร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนส่งมาภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคแรก ก็ให้ถือว่าพฤฒสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น

มาตรา๕๕งบประมาณแผ่นดินประจำปี ต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติปีก่อนนั้นไปพลาง

มาตรา๕๖พฤฒสภาและสภาผู้แทน มีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดิน โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๕๗ในที่ประชุมของพฤฒสภาหรือสภาผู้แทน สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

มาตรา๕๘การประชุมของพฤฒสภาและสภาผู้แทน ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละสภา แต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอ ก็ให้ประชุมลับ

มาตรา๕๙พฤฒสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกในสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกในสภาก็ตามเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใด ๆ อันอยู่ในวงงานของสภา แล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาชี้แจงแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือพิจารณาอยู่นั้นได้

เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย

มาตรา๖๐การประชุมคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๕๙ นั้น ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนจึ่งเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา๖๑พฤฒสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๖๒ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน

(๑)การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามความในมาตรา ๙

(๒)การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๐

(๓)การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติกันใหม่ตามความในมาตรา ๒๑

(๔)การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกพฤฒสภาตามความในมาตรา ๒๖

(๕)พิธีเปิดประชุมรัฐสภาตามความในมาตรา ๔๖

(๖)การลงมติความไว้ใจในคณะรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๖๙

(๗)การให้ความยินยอมในการประกาศสงครามตามความในมาตรา ๗๕

(๘)การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา ๗๖

(๙)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๘๕

(๑๐)การตีความในรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๘๖

(๑๑)การแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๘๙

มาตรา๖๓ให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน

มาตรา๖๔ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของพฤฒสภาโดยอนุโลม

มาตรา๖๕ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้โดยอนุโลม

มาตรา๖๖พระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบคน อย่างมากสิบแปดคน

ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

มาตรา๖๗ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา๖๘รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกย่อมมีสิทธิไปประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในพฤฒสภา สภาผู้แทน หรือในที่ประชุมรวมกันของรัฐสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ นั้น ให้นำมาใช้โดยอนุโลม

มาตรา๖๙ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้ใจของรัฐสภา

รัฐมนตรีผู้ได้รับแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวง ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อรัฐสภาในทางรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีทุกคนจะได้รับแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

มาตรา๗๐รัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนลงมติไม่ไว้ใจในคณะตามมาตรา ๓๔ หรือรัฐสภาไม่ให้ความไว้ใจตามมาตรา ๖๙ หรือเมื่อสภาผู้แทนชุดที่มีส่วนให้ความไว้ใจแก่คณะรัฐมนตรีในขณะเข้ารับหน้าที่นั้นสิ้นสุดลง ในกรณีดั่งกล่าวนี้และในกรณีที่คณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเอง คณะรัฐมนตรีที่ออกนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

มาตรา๗๑ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงฉะเพาะตัวโดย

(๑)ตาย

(๒)ลาออก

(๓)ขาดคุณสมบัติตามความในมาตรา ๒๗ (๔) มาตรา ๓๓ (๔)

(๔)สภาผู้แทนลงมติไม่ไว้ใจ

มาตรา๗๒ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดี หรือเมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในการประชุมรัฐสภาในคราวต่อไป ให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ

มาตรา๗๓ในระหว่างสมัยประชุม ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการภาษีอากร หรือเงินตราฉะบับใด จะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราเป็นพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งพระราชบัญญัติก็ได้

พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามความในวรรคก่อน จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายในสองวันนับแต่วันประกาศใช้ และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามแห่งมาตรา ๗๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๗๔พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศให้ใช้กฎอัยยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยยการศึก

มาตรา๗๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภาแล้ว

มติให้ความยินยอมของสภา ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

มาตรา๗๖พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

มาตรา๗๗พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา๗๘พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา๗๙ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๔๘ และมาตรา ๖๖ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ

มาตรา๘๐การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ ซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

มาตรา๘๑บรรดาศาลทั้งหลายจักตั้งขึ้นได้แต่โดยพระราชบัญญัติ

มาตรา๘๒การตั้งศาลขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยฉะเพาะแทนศาลธรรมดาที่มีตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ๆ จะกระทำมิได้

มาตรา๘๓ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา๘๔การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้าย และการถอดถอนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

มาตรา๘๕รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขต่อไปนี้

(๑)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนซึ่งต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

(๒)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกันเป็นสามวาระ

(๓)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

(๔)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองชั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราซึ่งมีคำเสนอแก้ไขแปรญัตติหรือซึ่งมีการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(๕)เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดแล้วต้องนำเสนอรัฐสภา เพื่อพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(๖)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามชั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นกฎหมายไม่ต่ำกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

(๗)เมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว จึ่งให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๐

มาตรา๘๖ภายใต้บังคับมาตรา ๘๘ รัฐสภาทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มติในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

มาตรา๘๗บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา๘๘ในการที่ศาลจะใช้บทกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๘๗ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว แล้วให้รายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งให้ศาลทราบ

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตามนั้น

มาตรา๘๙คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอีกสิบสี่คน

ให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งเมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนหมดอายุ หรือถูกยุบ

วิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา๙๐ในวาระเริ่มแรก พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้เลือกตั้งภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้

องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาประกอบด้วยผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้

ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ โดยยกเว้นข้อห้ามตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แต่อย่างน้อยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการประจำมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี และมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเองต่อเลขาธิการองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาภายในสิบสองวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้

วิธีการเลือกตั้งให้องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภากำหนดขึ้น

มาตรา๙๑ในวาระเริ่มแรก สภาผู้แทนประกอบด้วย สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๘ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ และให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มจำนวนขึ้นอีกโดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎรหนึ่งแสนคนต่อสมาชิกสภาผู้แทนหนึ่งคน ถ้าในเขตจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรตามผลการสำรวจสำมะโนครัวครั้งสุดท้ายเกินกว่าหนึ่งแสนคน ให้จังหวัดนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนคน เศษของหนึ่งแสนถ้าถึงกึ่งหรือกว่า ให้นับเป็นหนึ่งแสน

เมื่อถือเกณฑ์จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนในเขตจังหวัดหนึ่ง ๆ ตามความในวรรคก่อน ถ้าในเขตจังหวัดใดจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ได้มีการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๘ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ แล้ว ก็ให้ดำเนินการเลือกตั้งฉะเพาะจำนวนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่ง ๆ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งคน ให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันเท่าที่จะแบ่งได้

คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ โดยยกเว้นข้อห้ามตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕

มาตรา๙๒ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นตามความในมาตรา ๙๑ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๙๓ให้เริ่มนับอายุสภาผู้แทนตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสภาผู้แทนมีจำนวนสมาชิกเต็มตามที่ได้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นในวันครบสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา๙๔ก่อนที่สภาผู้แทนจะมีจำนวนสมาชิกเต็มตามที่ได้เลือกตั้งเพิ่มขึ้น รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาตามความในมาตรา ๙๐ และสภาผู้แทนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๘ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘

มาตรา๙๕ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการไปจนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

มาตรา๙๖ถ้ามีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะในระหว่างเวลาที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการตามความในมาตรา ๙๕ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ให้นำความในวรรคสองและวรรคสามแห่งมาตรา ๗๒ มาใช้บังคับแก่กรณีดั่งกล่าวในวรรคก่อนโดยอนุโลม

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • ปรีดี พนมยงค์
  • นายกรัฐมนตรี

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"