รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๓๕
๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙
ราชกิจจานุเบกษา

สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้นำความกราบบังคมทูลว่า โดยที่ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และเศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุด ได้เกิดการจลาจลวุ่นวายอย่างร้ายแรงขึ้นในบ้านเมืองเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งจะนำภัยพิบัติและความพินาศมาสู่ชาติบ้านเมือง ในที่สุด คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงได้เข้ายึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผลสำเร็จเมื่อเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และโดยที่ประชาชนทั้งมวลได้แสดงอย่างแจ้งประจักษ์และเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นระบอบการปกครองที่ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศไทยในอันที่จะยังให้เกิดความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยทั่วกัน แต่เท่าที่ผ่านมาสี่สิบปีเศษ การปกครองในระบอบนี้ก็ยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะมิได้มีโครงสร้างที่จะต้องพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ มีอุปสรรคขัดข้องจนไม่อาจจะปฏิบัติให้เป็นไปโดยเรียบร้อยได้ ทั้งตัวบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศก็มิได้เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นด้วยประการต่าง ๆ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา และมีท่าทีว่า ชาติบ้านเมืองจะถึงซึ่งความวิบัติ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ
ในระยะสี่ปีแรก เป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในระยะนี้ สมควรให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทางสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะเดียวกัน ก็จะเร่งเร้าให้ประชาชนเกิดความสนใจและตระหนักในหน้าที่ของตน ในระยะสี่ปีที่สอง สมควรเป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ทั้งสองสภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน ในระยะสี่ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไป ถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้ว ก็อาจยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร
อันการจะปฏิรูปโครงสร้างของการปกครองในระบอบนี้ในทางใดย่อมแล้วแต่สภาวการณ์ของแต่ละระยะว่ามีเหตุผลสมควรอย่างไร และจักต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในระยะนั้น ๆ เป็นสำคัญ เพื่อให้การปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั่นคือ ความมั่นคงของชาติ และความผาสุกของประชาชน โดยยึดมั่นในสถาบันหลักของบ้านเมืองอันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เพื่อให้การเป็นไปตามขั้นตอนและความมุ่งหมายของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินดังกล่าว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ และใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
มาตรา๑ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
มาตรา๒ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มาตรา๓อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มาตรา๔พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
มาตรา๕องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้
มาตรา๖พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา
การเลือกตั้งและแต่งตั้งองคมนตรี และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
ให้ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา๗พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
มาตรา๘บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา๙บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีหน้าที่ป้องกันประเทศและปฏิบัติตามกฎหมาย
มาตรา๑๐ให้มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสามร้อยคน แต่ไม่เกินสี่ร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และอยู่ในตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระตามที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินถวายคำแนะนำตามมติของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การแต่งตั้งสมาชิกแทนในตำแหน่งที่ว่างหรือแต่งตั้งเพิ่ม ให้สมาชิกซึ่งได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
มาตรา๑๑พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามมติของสภาเป็นประธานสภาคนหนึ่ง และเป็นรองประธานสภาคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
มาตรา๑๒สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมของสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การประชุม การตั้งกระทู้ การปรึกษา และกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
มาตรา๑๓ในการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้คุ้มครองถึงการประชุมของกรรมาธิการและผู้พิมพ์ และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภาด้วย
มาตรา๑๔ในระหว่างสมัยประชุม ถ้าสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินผู้ใดถูกควบคุม หรือขัง หรือถูกฟ้องในคดีอาญา ให้สั่งปล่อย หรืองดการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา ในเมื่อประธานสภาร้องขอ
มาตรา๑๕ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แต่สมาชิกจะเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของคณะกรรมาธิการวิสามัญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือบุคคลอื่นจำนวนไม่เกินสิบสองคน
ให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติฝ่ายละไม่เกินหกคน
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี ร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา๑๖พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกไม่เกินยี่สิบคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมิได้ และจะเป็นข้าราชการประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือดำรงตำแหน่งใดในกิจการที่ดำเนินธุรกิจเพื่อหากำไรมิได้
ให้ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
มาตรา๑๗พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ
มาตรา๑๘ให้มีสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย บุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องใด ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีปรึกษาและหน้าที่อื่นตามรัฐธรรมนูญนี้
ให้คณะรัฐมนตรีและสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีร่วมกันกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
ในการบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ คณะรัฐมนตรีต้องบริหารไปตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีว่างลงหรือมีกรณีที่จะแต่งตั้งเพิ่ม ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
มาตรา๑๙เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ
เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยไม่ชักช้า ถ้าสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอนุมัติแล้ว ให้พระราชกำหนดมีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่อนุมัติ ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา๒๐พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา๒๑ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทราบ
มาตรา๒๒บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา๒๓ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา๒๔การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี
(๒)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินพิจารณาเป็นสามวาระ
(๓)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
(๔)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สอง ขั้นพิจารณาลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
(๕)เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้ห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(๖)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
(๗)เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อจะได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศรัฐธรรมนูญนั้นในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา๒๕เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินวินิจฉัย ให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินวินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา๒๖การแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในระหว่างยังไม่มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๒๗ให้นายกรัฐมนตรีซึ่งทรงแต่งตั้งและอยู่ในตำแหน่งในวันใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมาตรา ๑๖
มาตรา๒๘ภายในกำหนดสี่ปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐสภาที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง และเพื่อกำหนดกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน และจัดให้มีการเลือกตั้งและการแต่งตั้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบกำหนดสี่ปีที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา๒๙บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ได้กระทำ ประกาศ หรือสั่งก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใดหรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศ หรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่า การกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"
Public domainPublic domainfalsefalse