รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉะบับชั่วคราว)
ตราไว้ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ตราไว้และได้ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ และได้มาเปลี่ยนแปลงแก้ไขประกาศใช้เป็นฉะบับใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้น นับว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศชาติในกาลสมัยที่ล่วงแล้วมา

บัดนี้ ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตกาล ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบากเดือดร้อน เพราะขาดอาหาร ขาดเครื่องนุ่งห่ม และขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปปการ เครื่องบริโภคและอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาแต่กาลก่อนขึ้นในประชาชน บรรดาผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับเข้าสู่ภาวะอย่างเดิมได้ การดำเนินการของรัฐบาลและการควบคุมราชการฝ่ายบริหารของรัฐสภาเพื่อมุ่งหมายที่จะช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น ตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉะบับนั้นไม่ประสพผลดีเลยแม้แต่น้อย เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ และตรงกันข้าม กลับทำให้เห็นว่า การแก้ไขทุกอย่างเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรม ก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศประเทศชาติอย่างไม่มีสุดสิ้น จนถึงกับว่า จะไม่ดำรงอยู่ในภาวะอันควรแก่ความเป็นไทยต่อไปอีกได้

ราษฎรไทยส่วนมากผู้สนใจต่อการนี้ พร้อมด้วยทหารของชาติ ได้พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉะบับใหม่ อันจะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร อีกทั้งจะเป็นทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญฉะบับปัจจุบัน และให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉะบับใหม่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

บททั่วไป

มาตรา  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

ประชาชนชาวไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

มาตรา  อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น แต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

หมวด ๑
พระมหากษัตริย์


มาตรา  องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตรา  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

มาตรา  พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

มาตรา  พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา และทรงประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา  พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินทางคณะรัฐมนตรี และทรงประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

มาตรา  พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

มาตรา  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน

มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที

มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๐ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ต่อไป

มาตรา ๑๒ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

หมวด ๒
อภิรัฐมนตรี


มาตรา ๑๓ อภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งประจำ มีห้านาย เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์

มาตรา ๑๔ อภิรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ด้วยการถวายความเห็นโดยชอบและถูกต้องเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติทุกสาขา

มาตรา ๑๕ ในคณะอภิรัฐมนตรี จะทรงพระกรุณาแต่งตั้งผู้อาวุโสเป็นประธานคณะหนึ่งนาย

มาตรา ๑๖ อภิรัฐมนตรีจะพ้นหน้าที่ต่อเมื่อลาออก ทุพพลภาพ หรือตาย

มาตรา ๑๗ เมื่อตำแหน่งอภิรัฐมนตรีว่างลง จะได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแทน อย่างน้อยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้รับราชการประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี และเคยรับราชการอย่างต่ำตำแหน่งอธิบดี หรือเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔ ปี

มาตรา ๑๘ คณะอภิรัฐมนตรีมีหน่วยราชการขึ้นอยู่ตามที่จะมีประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๑๙ ประธานคณะอภิรัฐมนตรีจะได้มอบหมายให้อภิรัฐมนตรีคนใดบัญชาหน่วยราชการที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๒๐ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การลงโทษ การกำหนดคุณสมบัติข้าราชการ ให้เป็นไปโดยกฎหมาย

หมวด ๓
สิทธิและหน้าที่ของชนชาวไทย


มาตรา ๒๑ บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย

มาตรา ๒๒ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา ๒๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพโดยบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การอาชีพ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับแห่งตัวบทกฎหมาย

มาตรา ๒๔ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๕ บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย และมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการทางเสียภาษี และอื่น ๆ ภายในเงื่อนไข และโดยวิธีการที่กฎหมายบัญญัติทั้งต้องมีการศึกษาและการอาชีพ

หมวด ๔
อำนาจนิติบัญญัติ


ส่วนที่ ๑
บททั่วไป


มาตรา ๒๖ รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทน ไม่ว่าจะประชุมแยกกันหรือร่วมกัน

มาตรา ๒๗ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ด้วยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

มาตรา ๒๘ การตราพระราชบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญานั้น จะกระทำมิได้

มาตรา ๒๙ ร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐสภาได้ทำขึ้นเสร็จแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา ๓๐ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายในหนึ่งเดือน รัฐสภาจะต้องปรึกษากันใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อถวายประกาศใช้ต่อไป

มาตรา ๓๑ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะเสนอมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกรัฐสภาก็ได้

มาตรา ๓๒ บุคคลใดจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนขณะเดียวกันไม่ได้

มาตรา ๓๓ วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้ง มีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา ๓๔ สมาชิกภาพแห่งวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละ ๖ ปี ฉะเพาะเมื่อวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนด ๓ ปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก

มาตรา ๓๕ สมาชิกภาพแห่งวุฒิสภาสุดสิ้นลงเมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามวาระ

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

มาตรา ๓๖ ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ ถ้าจำเป็นจะมีการประชุมวุฒิสภาก็ทำได้

ส่วนที่ ๒
สภาผู้แทน


มาตรา ๓๗ สภาผู้แทน ประกอบด้วย สมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

สมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ให้ใช้วิธีเลือกตั้งออกเสียงโดยตรงและลับ

มาตรา ๓๘ คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งและจำนวนสมาชิก ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน และอย่างน้อยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีเชื้อชาติเป็นไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี

มาตรา ๓๙ อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดเวลาคราวละ ๔ ปี

ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามอายุหรือยุบสภา ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาจะเหลือไม่ถึงหกเดือน และสมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา ๔๐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา ต้องมีกำหนดเวลาให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน

การยุบสภาผู้แทน จะยุบได้ครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

มาตรา ๔๑ สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนสุดสิ้นลงเมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

ส่วนที่ ๓
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง


มาตรา ๔๒ สมาชิกสภาผู้แทนมีสิทธิเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะก็ได้ โดยมีสมาชิกรับรองไม่ต่ำกว่า ๒๔ คน การลงมติในกรณีเช่นนี้ มิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา

มาตรา ๔๓ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๔๔ สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทย

มาตรา ๔๕ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนตามมติของสภานั้น ๆ ให้เป็นประธานแห่งสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้

มาตรา ๔๖ ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีหน้าที่ทำกิจการแทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา ๔๗ ในเมื่อประธานและรองประธานวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกของสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น

มาตรา ๔๘ การประชุมของวุฒิสภาก็ดี หรือของสภาผู้แทนก็ดี ทุกคราวต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา ๔๙ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่เรื่องซึ่งมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งและเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๕๐ ในที่ประชุมแห่งสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิโดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้

เอกสิทธินี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงผู้ที่สภาเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมด้วย

มาตรา ๕๑ สมัยประชุมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสุดสิ้นลงพร้อมกัน

มาตรา ๕๒ ในปีหนึ่ง มีสมัยประชุมของสภาทั้งสองสมัยหนึ่งหรือหลายสมัย แล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนด การประชุมครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งวันเริ่ม สมัยประชุมประจำปี ให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด

มาตรา ๕๓ สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่ง ในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯ ปิดประชุมก็ได้

มาตรา ๕๔ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนตามสมัยประชุม ทรงปิดและเปิดประชุม

พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จดำเนินมาทรงทำ หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้

มาตรา ๕๕ เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองก็ได้

มาตรา ๕๖ สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนทั้งสองสภาหรือสมาชิกแต่ละสภามีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อยื่นร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองก็ได้

คำร้องขอดังกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใด ก็ให้ยื่นต่อสภานั้น ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภา ก็ให้ยื่นต่อประธานสภาของสภาที่มีสมาชิกเข้าชื่อมากกว่า ถ้ามีจำนวนเท่ากัน ให้ยื่นต่อประธานวุฒิสภา

ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา ๕๗ ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ใดจะฟ้องร้องสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในทางอาญา ศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกก่อนจึงจะพิจารณาได้ แต่การพิจารณาคดีนั้นต้องมิให้เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะเข้ามาประชุม

การพิจารณาคดีที่ศาลได้กระทำไปก่อนคำอ้างว่า จำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งนั้น ย่อมเป็นอันใช้ได้

มาตรา ๕๘ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับหรือหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไปกักขัง เว้นแต่จับในขณะที่กระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ประธานแห่งสภานั้นอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้

มาตรา ๕๙ ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนถูกกักขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อย ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ

คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อน ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งการประชุม

มาตรา ๖๐ ร่างพระราชบัญญัติ ให้เสนอต่อสภาผู้แทนก่อน เมื่อสภาผู้แทนได้พิจารณาลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยโดยไม่แก้ไขแล้ว ก็ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๙

ถ้าหากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามวุฒิสภาแล้ว ก็ให้ถือว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

ถ้าวุฒิสภาลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมมา ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๙

ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันตามเดิมในร่างพระราชบัญญัติที่ส่งกลับคืนมาตามความในวรรคสองหรือวรรคสามด้วยคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งของสมาชิกทั้งหมดแล้ว ก็ให้ถือว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๙

มาตรา ๖๑ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น จะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับรอง

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือ การตั้งขึ้นหรือยกเลิก หรือลด หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับ อันเกี่ยวแก่การภาษีหรืออากร หรือว่าด้วยเงินตรา การจัดสรร รับรักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการประกัน หรือการใช้เงินกู้

ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่

มาตรา ๖๒ ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนได้ลงมติให้ใช้ได้และได้เสนอไปยังวุฒิสภานั้น วุฒิสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนดสามสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนด ๑๕ วัน

กำหนดวันดังกล่าวในวรรคก่อน ให้หมายถึง วันในสมัยประชุม และเริ่มนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้มาถึงวุฒิสภา

ถ้าวุฒิสภาไม่ได้พิจารณาลงมติในร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนส่งมาภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคแรก ก็ให้ถือว่า วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น

มาตรา ๖๓ งบประมาณแผ่นดินประจำปี ต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติปีก่อนนั้นไปพลาง

มาตรา ๖๔ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดินโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๖๕ ในที่ประชุมของวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบได้ เมื่อเห็นว่า ข้อความนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดิน

มาตรา ๖๖ การประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละสภา แต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่ต่ำกว่า ๒๕ คนร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ

มาตรา ๖๗ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกแห่งสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกในสภาก็ตามเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใดอันอยู่ในวงงานของสภาแล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใดมาชี้แจงแสดงความเห็นในเรื่องกิจการที่กระทำหรือพิจารณาอยู่นั้นได้

เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้ที่กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย

มาตรา ๖๘ การประชุมคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๖๗ นั้น ต้องมีกรรมาธิการไม่ต่ำกว่าครึ่งจำนวนมาประชุมจึงเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา ๖๙ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ส่วนที่ ๔
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา


มาตรา ๗๐ ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน

(๑) การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ ตามความในมาตรา ๑๒

(๒) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติกันใหม่ ตามความในมาตรา ๓๐

(๓) พิธีเปิดประชุมรัฐสภา ตามความในมาตรา ๕๔

(๔) การลงมติความไว้ใจในคณะรัฐมนตรี ตามความในมาตรา ๗๗

(๕) การให้ความยินยอมในการประกาศสงคราม ตามความเห็นชอบในมาตรา ๘๓

(๖) การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญา ตามความในมาตรา ๘๔

(๗) การตีความในรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา ๙๔

มาตรา ๗๑ ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานของที่ร่วมประชุมของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน

มาตรา ๗๒ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของวุฒิสภาโดยอนุโลม

มาตรา ๗๓ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้โดยอนุโลม

หมวด ๕
อำนาจบริหาร


มาตรา ๗๔ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอย่างน้อยสิบห้าคน อย่างมากยี่สิบห้าคน

ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

มาตรา ๗๕ ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา ๗๖ รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกแห่งสภาย่อมมีสิทธิไปประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงแสดงความคิดเห็นในวุฒิสภาหรือในสภาผู้แทนหรือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ นั้น ให้นำมาใช้โดยอนุโลม

มาตรา ๗๗ ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของรัฐสภา

รัฐมนตรีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการกระทรวงต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อรัฐสภาในทางรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีทุกคน จะได้รับการแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

นโยบายของคณะรัฐมนตรีแต่ละคณะที่ได้ดำเนินมา จะเสร็จลงหรือที่ดำเนินการอยู่เพียงใดก็ตาม คณะรัฐมนตรีผู้บริหารราชการแผ่นดินภายหลังจะเลิกล้มหรือแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นมิได้ เว้นแต่จะเสนอขอรับพระบรมราชวินิจฉัยและได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว

มาตรา ๗๘ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อมีพระบรมราชโองการหรือเมื่อสภาผู้แทนลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๔๒ หรือรัฐสภาไม่ให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๗๗ หรือเมื่อสภาผู้แทนชุดที่มีส่วนให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีในขณะเข้ารับหน้าที่นั้นสุดสิ้นลง ในกรณีดังกล่าวหลังนี้ และกรณีที่คณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเอง คณะรัฐมนตรีที่ออกนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

มาตรา ๗๙ ความเป็นรัฐมนตรีสุดสิ้นลงฉะเพาะตัวโดย

(๑) โดยพระบรมราชโองการ

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติตามความในมาตรา ๔๑ (๔)

(๕) รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ

มาตรา ๘๐ ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดี หรือกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ

มาตรา ๘๑ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการภาษีอากรหรือเงินตราฉะบับใดจะต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อตราเป็นพระราชกำหนดให้ใช้ดังพระราชบัญญัติก็ได้

มาตรา ๘๒ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยยการศึก

มาตรา ๘๓ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภา

มาตรา ๘๔ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่น ๆ กับนานาประเทศ

มาตรา ๘๕ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา ๘๖ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๘๗ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๕๖ และมาตรา ๗๔ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หมวด ๖
อำนาจตุลาการ


มาตรา ๘๘ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

มาตรา ๘๙ บรรดาศาลทั้งหลายจักตั้งขึ้นได้แต่โดยพระราชบัญญัติ

มาตรา ๙๐ การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่ง โดยฉะเพาะแทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้

มาตรา ๙๑ ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา ๙๒ การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้าย และการถอดถอนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์และของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

หมวด ๗
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ


มาตรา ๙๓ รัฐธรรมนูญนี้แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยความเห็นชอบของรัฐสภา

หมวด ๘
บทสุดท้าย


มาตรา ๙๔ รัฐสภาทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มติในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีเสียงเห็นด้วยไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน

มาตรา ๙๕ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นโมฆะ

บทฉะเพาะกาล

มาตรา ๙๖ ในวาระเริ่มแรก วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งภายในกำหนด ๑๕ วันนับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และถ้าจำเป็น จะทำการประชุมวุฒิสภาก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้ ให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไปจนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จะสำเร็จเรียบร้อย

มาตรา ๙๗ ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน โดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎรสองแสนคนต่อสมาชิกผู้แทนหนึ่งคน ถ้าเขตต์จังหวัดใดมีจำนวนราษฎรตามผลสำรวจสำมะโนครัวครั้งสุดท้ายเกินกว่าสองแสนคน ให้จังหวัดนั้นมีจำนวนสมาชิกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกสองแสนคน เศษของสองแสนคน ถ้าถึงกึ่งหรือกว่า ให้นับเป็นสองแสน และวิธีการเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีรวมเขตต์จังหวัด

คุณสมบัติของผู้เลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมฉะบับที่ ๓ พุทธศักราช ๒๔๗๙ เท่าที่ไม่ขัดกับวิธีเลือกตั้งรวมเขตต์ และให้ยกเว้นการห้ามตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕

มาตรา ๙๘ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามความในมาตรา ๙๗ ให้เสร็จสิ้นลงภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้.

ประกาศ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"