ข้ามไปเนื้อหา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 2) พ.ศ. 2491

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม
(ฉะบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ ให้มีบทบัญญัติบังคับไว้ให้ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉะบับถาวรภายในเวลาอันสมควร และให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ อีกทั้งการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉะบับถาวร ได้กระทำโดยรัฐสภาประชุมร่วมกัน

พระมหากษัตริย์ โดยความเห็นชอบของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตรารัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

มาตรารัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑"

มาตรารัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้ต่อจากอนุมาตรา (๗) แห่งมาตรา ๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นอนุมาตรา (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) ตามลำดับ

"(๘)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา ๙๓

(๙)การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา ๙๕ ทวิ

(๑๐)การกำหนดข้อบังคับว่าด้วยวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา ๙๕ จัตวา

(๑๑)การปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา ๙๕ ฉ"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๘๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๖ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๙๕ สัปต บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้ต่อจากมาตรา ๙๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นมาตรา ๙๕ ทวิ มาตรา ๙๕ ตรี มาตรา ๙๕ จัตวา มาตรา ๙๕ เบ็ญจ มาตรา ๙๕ ฉ มาตรา ๙๕ สัปต และมาตรา ๙๕ อัฎฐ ตามลำดับ

"มาตรา ๙๕ ทวิ ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา ๑๐ คน จากสมาชิกสภาผู้แทน ๑๐ คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๔ ประเภท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๕ ตรี ประเภทละ ๕ คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้กระทำในสมัยประชุมของรัฐสภาสมัยแรกภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามบทฉะเพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๙๕ ตรี ผู้ที่มิใช่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทน และมีคุณสมบัติดังกำหนดไว้ในประเภทใดประเภทหนึ่งต่อไปนี้ มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ประเภทผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามบทฉะเพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ประเภทผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวในประเภท ๑ และเป็นผู้ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรืออธิบดีหรือเทียบเท่า

ประเภทผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวในประเภท ๑ และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ประเภทผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวในประเภท ๑ และเป็นผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ผู้สมัครจะสมัครได้แต่เพียงประเภทเดียว และผู้มีสิทธิสมัครในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ จะสมัครในประเภท ๑ มิได้

มาตรา ๙๕ จัตวา วิธีการในการสมัครรับเลือกตั้งและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามข้อบังคับซึ่งรัฐสภากำหนด

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสุดสิ้นลงเมื่อตายหรือลาออกเท่านั้น และมิให้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทน

มาตรา ๙๕ เบ็ญจ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วันนับแต่วันที่ได้ทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเสร็จตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปยังรัฐสภาโดยไม่ชักช้า และเมื่อรัฐสภาได้ลงมติตามความในมาตรา ๙๕ ฉ แล้ว ให้สภาพของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นสุดสิ้นลง

มาตรา ๙๕ ฉ ให้รัฐสภาปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญส่งมาตามความในมาตราก่อน และลงมติว่า จะให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีสิทธิไปชี้แจงประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นในที่ประชุมได้

ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างขึ้นและส่งมายังรัฐสภาแล้วนั้นจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประการใดมิได้

การลงมติตามความในวรรคแรก ให้ใช้วิธีเรียกชื่อสมาชิกลงคะแนนเป็นรายตัว และมิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา

มาตรา ๙๕ สัปต ถ้ารัฐสภา โดยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา ลงมติให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ก็ให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการต่อไปตามมตินั้น และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา ๙๕ อัฎฐ ในกรณีที่รัฐสภาลงมติไม่ให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ดี หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้ภายในกำหนด ๑๘๐ วันนับแต่วันที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่ารัฐสภาจะลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"