ข้ามไปเนื้อหา

ราชาธิราช/เล่ม ๑๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๑๑




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๔๘๑–๕๒๘ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๑๑




ตั้งแต่พระยาน้อยให้ทหารเอาสมิงมะราหูไปฆ่า

แล้วพระยาน้อยพาตละแม่ท้าวไปคำนับพระบรมศพพระราชบิดา

จนพระยาน้อยให้พระยาอินทโยธาหาที่ชัยภูมิตั้งพิธีราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ





ทหารก็เอาสมิงมะราหูไปฆ่าเสีย แล้วสับเนื้อละเอียดมิให้กากลืนแค้น ตามพระยาน้อยรับสั่ง ทหารพวกหนึ่งก็พาพระมหาเทวีกับตละแม่ศรีนั้นไปคุมขังไว้ ณ ตำหนักน้อย พระมหาเทวีกับตละแม่ศรีทั้งสองนั้นต้องคุมขังอยู่ ได้ความทุกข์ทรมานอดอยากควรจะสมเพช

ครั้นพระยาน้อยให้กระทำพิธีปฐมกรรมเสร็จแล้ว พอเวลาค่ำ เสวยพระกระยาหารแล้ว ก็ทรงพระคำนึงถึงตละแม่ท้าว จึงตรัสสั่งให้เถ้าแก่แลสาวใช้ออกไปเชิญ นางเถ้าแก่แลสาวใช้ก็ถวายบังคมลารีบออกไปเฝ้าตละแม่ท้าว ตละแม่ท้าวนั้น ครั้นแจ้งว่า พระยาน้อยได้เมือง ให้ล้างสมิงมะราหูเสียแล้ว ก็ดีพระทัย แต่มีความแค้นอยู่ด้วยเรื่องหึงหวงนางเม้ยมะนิก แสร้งทำทรงพระประชวร มิได้ขึ้นไปเฝ้า พ่อลาวแก่นท้าวก็มิให้ขึ้นไป พอนางเถ้าแก่สาวใช้เขาทูลว่า บัดนี้ พระราชสามีมีชัยชนะศึกได้ราชสมบัติแล้ว เหตุไฉนพระแม่เจ้าอยู่หัวจึงไม่พาพ่อลาวแก่นท้าว พระราชโอรส ขึ้นไปเฝ้ารับเสด็จเล่า บัดนี้ มีรับสั่งใช้ให้ข้าพเจ้าทั้งปวงลงมาทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้ากับพระราชโอรสขึ้นไปเฝ้า ตละแม้ท้าวได้ทรงฟังก็ทรงพระกันแสง กอดพ่อลาวแก่นท้าวไว้ แล้วจึงตรัสว่า ข้าป่วยอยู่ ขึ้นไปเฝ้ามิได้ ครั้นจะให้พ่อลาวแก่นท้าวขึ้นไปเฝ้า ก็ไม่มีใครจะอยู่เป็นเพื่อน นางเถ้าแก่ทั้งปวงจึงทูลถามว่า พระแม่เจ้าทรงประชวรพระโรคเป็นประการใด มิได้เสวยพระโอสถหรือ ตละแม่ท้าวก็แสร้งทำประคองพระอุระเข้าแล้วจึงตรัสบอกว่า ข้าเจ็บในทรวงอกอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นโรคสิ่งใด ให้เจ็บแปลบ ๆ เหมือนหนามยอกอยู่สักสิบเล่ม กินยาก็ไม่หาน ท่านทั้งปวงจงพากันกลับไปทูลเถิดว่า ข้าคลายป่วยแล้วจึงจะขึ้นไปเฝ้า นางเถ้าแก่สาวใช้ได้ฟังก็รู้ทีว่าตละแม่ท้าวประชวรพระโรคหึง จึงถวายบังคมลากลับมาเฝ้าพระยาน้อย กราบทูลว่า ตละแม่ท้าวทรงพระประชวรอยู่ ยังมาเฝ้ามิได้

พระยาน้อยได้ทรงฟังก็ตกพระทัย จึงตรัสถามว่า เขาป่วยเป็นโรคสิ่งใด นางเถ้าแก่ก็ทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงดูพระรูปโฉมก็ดีเป็นปรกติอยู่มิได้ซูบผอม แต่ตรัสบอกว่า ทรงประชวรพระโรคในพระอุระ พระยาน้อยได้ทรงฟังก็เข้าพระทัยว่า มิใช่โรคอื่น เป็นโรคหึง จึงตรัสแก่พวกเถ้าแก่ว่า ข้ารู้แล้ว เขาเจ็บงอน ข้าจะต้องไปเยือนไปปลอบเขา จึงจะหาย ตรัสแล้วก็เสด็จออกข้างหน้า จึงตรัสชวนพ่อมอญ มังกันจีไปเยี่ยมเยือนตละแม่ท้าว พระยาน้อยก็เสด็จไปกับด้วยพ่อมอญ มังกันจีแลทแกล้วทหารข้าหลวงเดิมทั้งปวง ครั้นถึง ให้พวกพลเหล่านั้นอยู่ภายนอก พระองค์เสด็จเข้าสู่ห้องพระตำหนักกับด้วยพ่อมอญ มังกันจี ทอดพระเนตรเห็นตละแม่ท้าวกอดพ่อลาวแก่นท้าวบรรทมนิ่งอยู่ เสด็จเข้าทรงนั่งในที่ใกล้แล้วตรัสถามว่า พระน้องป่วยเป็นโรคสิ่งใด ตละแม่ท้าวก็ผวาลุกเลื่อนพระองค์ไปเบื้องต่ำ เชิญพระราชสามีให้เสด็จขึ้นทรงนั่งเหนือพระแท่นที่ไสยาสน์ จึงถวายบังคม ให้พ่อลาวแก่นท้าวถวายบังคม แล้วตละแม่ท้าวก็กอดข้อพระบาทพระยาน้อยเข้าไว้ ทรงพระกรรแสงร่ำรัก พระยาน้อยจึงตรัสปลอบว่า ครั้งนี้ เราพ้นทุกข์พ้นยากได้กลับมาเห็นหน้ากันแล้ว พระน้องจะร้องไห้ไปไย จงดับความโศกเสียเถิด จึงทรงอุ้มพ่อลาวแก่นท้าวขึ้นนั่งบนพระเพลา จุมพิตเชยชม แล้วตรัสว่า ลูกรักของข้าอยู่ดีมิได้มีโรคภัยสิ่งใด แต่แม่แลป่วยไข้ไม่รู้หาย ตละแม่ท้าวจึงทูลว่า ตั้งแต่พระองค์เสด็จไปอยู่ ณ เมืองตะเกิง ข้าพเจ้ามิได้เป็นสุข มีแต่ความทุกข์ระกำใจ คำนึงถึงพระองค์อยู่เป็นนิจ จนโรคภัยบังเกิด แลข้าพเจ้าคิดเอาใจช่วยพระองค์ทุกเวลาราตรีว่า ขอให้พระองค์สำเร็จดังความปรารถนา มีชัยชนะศึกเถิด อนึ่ง ข้าพเจ้ามีความแค้นเสียใจยิ่งนัก เหตุมิได้ขึ้นไปเฝ้าอยู่งานพยาบาลสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชบิดาเมื่อทรงพระประชวรหนัก ด้วยพระเจ้าป้าของพระองค์ห้ามปรามกวดขันนัก จนพระราชบิดาสวรรคตก็ยังมิได้ขึ้นไปถวายบังคมคำนับพระศพ พระยาน้อยจึงตรัสว่า ซึ่งข้อนั้นก็พลอยโกรธแค้นแทนพระน้อง แต่บัดนี้ เรามีชัยชนะล้างผลาญเสี้ยนศึกศัตรูได้แล้ว พระน้องอย่าโศกเศร้าเลย เร่งจัดหาเครื่องสักการบูชาพาลูกขึ้นไปถวายบังคมคำนับพระศพด้วยกัน

ตละแม่ท้าวได้ฟังพระยาน้อยตรัสปลอบก็ค่อยคลายพระโศก แต่ยังแค้นพระทัยอยู่ด้วยความหึงหวง ครั้นจะตรัสประชดต่อพระราชสามีโดยตรงก็เกรงพระทัยแลอายแก่คนทั้งปวง จึงตรัสประชดกับพ่อมอญ มังกันจี ว่า พี่พ่อมอญแลมังกันจีอุตส่าห์ติดตามเสด็จไปอยู่ ณ เมืองตะเกิงเป็นหลายเดือน ดูหน้าตาชื่นแช่มทั้งสองคน ได้ลูกเมียแล้วหรือยัง ข้าได้ยินว่าที่เมืองตะเกิงนั้นลูกเมียเขารูปร่างงาม ๆ นั่งร้านขายแป้งหอมขายน้ำมันหอมอยู่ชุกชุมนัก มิติดพันรักใคร่ได้กันคนละคนสองคนแล้วหรือ หรือยังมิได้ ข้าจะช่วยหาให้ แต่อิสตรีในเมืองหลวงนี้รูปร่างไม่ใคร่งาม แลไม่ใคร่จะรู้ปฏิบัติผัวให้ชอบใจในเชิงสังวาส ไม่เหมือนอิสตรีในเมืองตะเกิงซึ่งเขารู้ปฏิบัติผัวให้เป็นที่ชอบ แป้งกระแจะจันทน์น้ำมันหอมเขาแต่งบำรุงหอมฟุ้งอยู่เป็นนิจ รูปก็งาม ผัวจึงรัก ถึงจะมีผัวอยู่แล้วละทิ้งเสียไปหาผัวใหม่ก็ได้ มีผู้ชายรักเลี้ยงดูเขา อันสตรีในเมืองหลวงนี้รูปไม่งามแต่น้ำใจดีมีเป็นอันมาก ถึงจะตกทุกข์ได้ยากเป็นประการใดก็ไม่ทิ้งผัวได้ มีความสัตย์กตัญญู รักผัวเปรียบเสมือนหนึ่งบิดา เพราะน้ำใจซื่อตรงมั่นคงนัก พี่พ่อมอญก็มีปรีชา มังกันจีเป็นนักปราชญ์เลิศมีปัญญาหลักแหลม จะรักสตรีเมืองไหนจงบอกมา ข้าจะช่วยหาให้ตามชอบใจ

พระยาน้อยได้ฟังก็ทรงพระสรวลอยู่ พ่อมอญกับมังกันจีแลดูหน้ากัน หัวเราะ แล้วมังกันจีจึงทูลแก้แทนพระยาน้อยว่า ซึ่งข้าพเจ้าตามเสด็จออกไปอยู่ ณ เมืองตะเกิง จะได้มีภรรยาหามิได้ ทำราชการอาสาเจ้าก็เพราะหวังจะให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ความสุข ข้าพเจ้าจะได้พึ่งบุญสืบไป จึงยังมิได้คิดมีภรรยา ถึงพบสตรีที่รูปงาม ก็ไม่รักรูป รักแต่น้ำใจ หมายว่าเสร็จราชการของพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็จะหาภรรยาในเมืองหลวงที่น้ำใจดี แม้นรูปมิงามก็ไม่ติ ประสงค์แต่น้ำใจ ถึงพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนดังนี้ ได้ตรัสประภาษกับข้าพเจ้าอยู่เนือง ๆ ว่า อันสตรีรูปงามไม่ดีเท่าสตรีที่น้ำใจงาม อันสตรีงามรูปอุปมาดังดอกสายหยุด ทรงคันธรสประทินอยู่แต่เวลาเช้า ครั้นสายแสงพระสุริยงส่องกล้าแล้วก็สิ้นกลิ่นหอม อันสตรีน้ำใจงามน้ำใจดีซื่อสัตย์ต่อสามีนั้นอุปมาดังดอกซ่อนกลิ่นแลดอกพิกุล ย่อมหอมชื่นอยู่ช้านาน ดอกพิกุลนั้นถึงแห้งเหี่ยวแล้วก็ไม่หายหอม อนึ่ง สตรีรูปงามน้ำใจไม่ดีอุปมาดังดอกทองกวาวแลดอกชบาหากลิ่นมิได้ สตรีน้ำใจดีมีความซื่อสัตย์นั้นอุปมาดังดอกมณฑาแลดอกมะลิซึ่งมีกลิ่นหอม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเปรียบประดุจเดินไพรกันดาร พบดอกทองกวาวดอกชบาก็ทรงเด็ดดมเชยชมพอบรรเทาทุกข์ แต่ทรงพระคำนึงถึงดอกซ่อนกลิ่นดอกพิกุลอยู่มิได้ขาด ครั้งนี้ พระองค์ก็จะได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังไม่ถือพระอิสริยยศ สู้อุตสาหะลำบากพระกายเสด็จมาเยี่ยมเยือนดอกมณฑาแลมะลิ ข้าพเจ้าเห็นว่า พระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซื่อสัตย์เที่ยงแท้ ถึงได้ใหม่ก็ไม่ลืมเก่า แลรักเก่ายิ่งกว่าใหม่

พระยาน้อยได้ทรงฟังมังกันจีแก้แทนดังนั้นก็ทรงพระสรวลชอบพระทัยยิ่งนัก จึงหยิบสลาในพานพระศรีคำหนึ่งมาป้อนให้มังกันจีเป็นรางวัล แล้วตรัสว่า ครั้งนี้ ข้าเปรียบเหมือนพระเจ้าวิเทหราช สู้ฝีปากนางอุทุมพรเทวีมิได้ จะรับผิดยอมแพ้เขาอยู่แล้ว นี่เป็นบุญได้มโหสถบัณฑิตไว้ มีสำนวนช่วยแก้ไขเอาชัยชนะได้ ตละแม่ท้าวได้ฟังสำนวนมังกันจีก็ชอบพระทัย กลั้นพระสรวลมิได้ ช้อยชำเลืองพระเนตรดูมังกันจีแล้วจึงแสร้งตรัสว่า รู้แล้วว่ามังกันจีมีปรีชาเฉียบแหลม ปัญญาเป็นเข็ม ลิ้นเป็นทอง ข้ากับเจ้าเข้ากันราวกับสุวรรณแกมแก้ว เลือกเอาแต่ความที่ดีมาเปรียบเทียบ น่าจะให้อีสาวใช้ออกไปหยิกตีเสียให้เจ็บ มังกันจีก็ก้มหน้ายิ้มอยู่ พระยาน้อยจึงทรงพระดำริว่า ตละแม่ท้าวนี้ชอบปลอบจึงจะหายหึง จึงตรัสปลอบว่า พระน้องอย่าเกียจกันฉันทาเลย พี่มิได้ลืมคุณพระน้องผู้เพื่อนยาก จะตั้งแต่ให้เป็นเอกอัคเรศยิ่งใหญ่กว่านารีทั้งปวง จึงตรัสเตือนว่า เร่งแต่งพระองค์เร็วเถิด จะได้ขึ้นไปคำนับพระบรมศพ

ฝ่ายตละแม่ท้าว ครั้นได้เห็นพระพักตร์ภัสดา ได้ตรัสตัดพ้อประชดเสียแล้ว ก็คลายประชวรพระโรค พระพักตร์ชื่นแช่มดังดอกสัตตบงกชเมื่อแย้มบาน จึงสั่งสาวใช้ให้จัดธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้เครื่องสักการบูชา เสร็จแล้วพี่เลี้ยงนางนมก็เข้ามารับพ่อลาวแก่นท้าว นางพนักงานถือโคมนำเสด็จก็มารอคอย พระยาน้อยก็พาตละแม่ท้าวแลพ่อลาวแก่นท้าวเสด็จไปยังพระมหาปราสาท ฝ่ายพ่อมอญ มังกันจี แลพวกทหารทั้งปวง ครั้นส่งเสด็จถึงพระทวารชั้นใน ก็กลับไปพักอยู่ ณ ท้องพระโรงนอก ตละแม่ท้าวก็พาพ่อลาวแก่นท้าวเข้าไปกระทำสักการบูชาคำนับพระบรมศพสมเด็จพระราชบิดาซึ่งชาวพนักงานเชิญลงสู่พระโกศทองนั้น แล้วทรงพระกรรแสงตรัสรำพันขอษมาโทษ เสร็จแล้ว พระยาน้อยเห็นว่าตละแม่ท้าวประชวรพระโรคเรื้อรังอยู่หลายเดือน ก็มิได้เสด็จกลับออกมา ให้บรรทมอยู่ ณ ตำหนักในพระราชวัง หวังว่าจะรักษาพระโรคเสียให้หาย จึงให้ตละแม่ท้าวเสวยทิพโอสถขนานหนึ่งเรียกว่า หอมเหลืองทอง เป็นโอสถสำหรับรักษาโรคสตรี ตละแม่ท้าวครั้นได้เสวยทิพโอสถแล้วก็สว่างพระอารมณ์ ซึ่งพระโรคเรื้อรังในพระกายก็คลายลงทันที อุตสาหะแข็งพระทัยเสวยประมาณเก้าครั้งสิบครั้งหวังจะให้หายขาด ตั้งแต่ยามหนึ่งจนล่วงเข้าเวลายามสาม ก็สบายพระทัย พระวาโยธาตุแลพระอาโปธาตุซึ่งเดินขัดข้องนั้นก็เดินสะดวกเป็นปรกติดี จึงเอนองค์สู่นิทรารมณ์บรรทมหลับไปทั้งสองพระองค์

ครั้นเวลารุ่งเช้า พระยาน้อยเสด็จออกยังที่ว่าราชการ สมิงชีพราย อำมาตย์ทิน แลเสนาพฤฒามาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าเฝ้าพร้อมกัน พระยาน้อยทอดพระเนตรเห็นอำมาตย์ทินแล้วก็ให้ทรงพระโกรธ สำคัญว่าอำมาตย์ทินยังจะเป็นเสี้ยนศัตรูอยู่ จึงตรัสเปรียบประเทียบแก่เสวกามาตย์ทั้งปวงว่า ผงเข้าตาเราอยู่สองอัน เอาออกเสียได้อันหนึ่งแล้ว แต่อันหนึ่งนั้นยังเคืองตาเราอยู่นัก ไม่สบายใจเลย ทำไฉนเราจะเอาออกเสียได้

ฝ่ายอำมาตย์ทินได้ฟังพระยาน้อยตรัสดังนั้น ก็รู้เท่าว่าพระยาน้อยตรัสเปรียบปรายตัว จึงทูลขึ้นทันทีว่า ซึ่งพระองค์ตรัสประภาษมานี้ ข้าพเจ้าก็ทราบอยู่แล้วว่า พระองค์มีพระทัยพิโรธมั่นหมายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะขอชี้แจงถวายให้พระองค์ทรงเห็นซึ่งความจริง อันตัวข้าพเจ้าผู้เฒ่าตั้งจิตซื่อตรงเป็นบรรทัด แต่ก่อนนั้นจะได้คิดเข้ากับด้วยพระองค์ก็หามิได้ จะเข้ากับสมิงมะราหูนั้นก็หามิได้ ด้วยข้าพเจ้าตั้งใจรักษาสัตย์กตัญญูสวามิภักดิ์อยู่ใต้ฝ่าพระบาทสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าอันเสด็จประดิษฐานอยู่ในมหาเศวตฉัตร ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์ รักษาประเพณีแผ่นดินไว้ มิได้กระทำน้ำใจให้เป็นสอง แลเมื่อพระองค์ยกกองทัพมาตั้งอยู่ ณ ตำบลวัดสิงห์คุตนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาของพระองค์ ยังมิได้เสด็จสวรรคต เสนาอำมาตย์มนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงชวนกันแต่งเครื่องราชบรรณาการแลหนังสือให้คนสนิทลอบนำออกไปถวายพระองค์ แต่ข้าพเจ้าผู้เดียวมิได้ทำน้ำใจเป็นสองให้คนนำเครื่องราชบรรณาการแลหนังสืออกไปทูลถวายพระองค์ดุจขุนนางทั้งปวง เพราะเหตุกลัวจะเสียขนบธรรมเนียมในเสนาบดีวัตรประเพณีไป จึงยอมสู้เสียสละชีวิต หวังจะรักษาประเพณีแผ่นดินไว้มิให้แปรปรวนได้ แลเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกองทัพจะเข้าสู่พระนครนั้น สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เสด็จทิวงคตแล้ว ข้าพเจ้าเห็นพระองค์เป็นพระราชบุตร ควรที่จะได้ผ่านราชสมบัติสืบขัติยราชประเพณีปกป้องไพร่ฟ้าประชาราษฎรสมณชีพราหมณ์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ข้าพเจ้าก็มีความยินดี จึงรีบออกไปเปิดพระทวารรับเสด็จพระองค์แต่บานหนึ่ง ซึ่งปิดไว้บานหนึ่งนั้น เพราเหตุว่าพระบรมศพยังมิได้ถวายพระเพลิง ข้าพเจ้ายังรักษาพระศพอยู่ จึงมิได้เปิดรับทั้งสองบาน ซึ่งทำทั้งนี้หวังจะให้เป็นแบบแผนของเสนาบดีผู้ซื่อสัตย์ต่อเจ้า ถ้าสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์อันเป็นพระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้านั้นยังสถิตดำรงอยู่ในบวรเศวตฉัตรแล้ว แม้นพระองค์กรีธาพลเข้ามาจะหักเอาเมือง ข้าพเจ้าก็จะปิดประตูพระนครไว้ให้มั่นคง จะจัดแจงพลทหารพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธให้ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินประตูหอรอบไว้มั่นคงเป็นสามารถ จะรับอาสาสู้รบพระองค์ไปกว่าจะสิ้นปัญญาแลฝีมือ ข้าพเจ้าจะไว้ชื่อให้ปรากฏเป็นเกียรติยศสืบไปในแผ่นดิน ถึงตัวข้าพเจ้าจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต ซึ่งความดีความชอบได้ทำไว้ ถึงมนุษย์ทั้งปวงไม่เล็งเห็นแล้ว จะขอฝากไว้แก่เทพยดาผู้มีทิพยเนตรทิพยกรรณ ถ้าพระองค์จะผูกพระทัยพิโรธเอาโทษข้าพเจ้าดังนี้แล้ว นานไปภายหน้าไหนเลยจะมีเสนาบดีที่จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งดำรงอยู่ในเศวตฉัตรนั้นหามิได้แล้ว ก็จะมีแต่คนสอพลอคดโกง ชนะไหนพลอยด้วย หาความสัตย์กตัญญูต่อเจ้ามิได้ อันจะหาคนซื่อสัตย์กตัญญูนั้นหายาก คนคดโกงอกตัญญูนั้นหาง่าย เปรียบประดุจดวงแก้วมณีแลศิลา ซึ่งดวงแก้วมณีเกิดในศิลานั้นร้อยพันภูเขาจึงมีสักแห่งหนึ่ง ศิลานั้นหาง่ายมีทั่วหล้า อนึ่ง คนซื่อสัตย์กตัญญูต่อเจ้านั้นเป็นที่ยังพระนครให้รุ่งเรืองเจริญ คนอาสัตย์กตัญญูต่อเจ้านั้นเป็นที่ยังพระนครให้ฉิบหาย ซึ่งข้าพเจ้าทูลเปรียบเทียบถวายโดยความซื่อสัตย์ดังนี้ แม้นพระองค์มิทรงเห็นด้วย จะเอาโทษข้าพเจ้าจริงแล้ว ข้าพเจ้าก็จะยอมตายถวายชีวิต แต่ขอพระองค์ทรงพระดำริดูจงควร

พระยาน้อยได้ทรงฟังอำมาตย์ทินทูลดังนั้นก็สิ้นความวิมัติสงสัย มีพระทัยยินดีนัก จึงตรัสสรรเสริญว่า เรามิทันรู้ อำมาตย์ทินผู้นี้เป็นคนซื่อตรงต่อแผ่นดิน สมควรที่จะเป็นผู้เฒ่าแล้ว ดุจหนึ่งขุนพลแก้วแลแก้วของบรมจักรพรรดิอันหามิได้ ไม่เสียทีสมเด็จพระราชบิดาเราปลูกเลี้ยงไว้ จะเป็นกระทู้หลักแผ่นดินสืบไปภายหน้าแล้ว เรามิทันพิจารณาหลงพิโรธท่าน เราขออภัยโทษเถิด จึงทรงพระกรุณาตั้งให้เป็นอำมาตย์ทินมณีกรอด แล้วพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเครื่องอุปโภคบริโภค โปรดให้กินเมืองเสรียง เป็นที่ปรึกษาราชการ

ครั้นแล้ว พระยาน้อยจึงตรัสสั่งเสนาบดีให้จับทำการพระเมรุมาศขนาดใหญ่ซึ่งจะถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชบิดา กำหนดให้แล้วโดยเร็ว เสนาบดีรับพระราชโองการใส่เกล้าแล้วก็ออกมาสั่งให้แจกหมายรายไปทั่วหมวดกรม เกณฑ์ระดมไพร่ให้มีนายด้านนายกองกำกับกระทำพระเมรุมาศโดยขนาดสูงใหญ่ ณ ตำบลเนินเขาแห่งหนึ่งในเมืองพะโค ประกอบด้วยเมรุทิศเมรุแทรกทั้งแปดทิศ วิจิตรด้วยรูปปั้นสลักวาดเขียน กระทำสุวรรณเบญจาห้าชั้นซึ่งจะรองรับพระโกศ แลประดับด้วยรูปภาพมีเพศพรรณต่าง ๆ อีกสิ่งของเครื่องตั้งบูชาพระบรมศพถ้วนทุกสิ่งตามอย่างธรรมเนียมมีเป็นอันมากพร้อมเสร็จ เสนาบดีจึงเข้ากราบบังคมทูลว่า พระเมรุมาศสำเร็จแล้ว

พระยาน้อยจึงตรัสสั่งให้หาพระโหราธิบดีพฤฒามาตย์หาฤกษ์แลสั่งให้เกณฑ์ขบวนแห่ทั้งปวงเตรียมไว้พร้อม ครั้นได้มหุติวารฤกษ์ ก็ให้เชิญพระบรมศพขึ้นสู่ยานุมาศราชรถตั้งขบวนแห่แห่นไปยังพระเมรุ ณ ตำบลเนินเขา พระองค์เสด็จพร้องด้วยพระญาติวงศาข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง นำพระบรมศพไปสถิตประทับ ณ พระเมรุมาศแล้ว จึงให้มีการมหรสพสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน ให้มีพระสัทธรรมเทศนาแลพระสงฆ์สดับปกรณ์ถวายไทยทาน โปรยทานแก่วณิพกคนอนาถา บำเพ็ญพระราชกุศลทุกวันมิได้ขาด ครั้นถึงวันคำรบเจ็ด พระองค์กับตละแม่ท้าวแลพ่อลาวแก่นท้าว พระสนมกรมชาวแม่ท้าวนางเถ้าแก่ภายในแลเสนาบดีพฤฒามาตยราชกระวีมนตรีพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการน้อยใหญ่ภายหน้า กับทั้งพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญทั้งปวงพร้อมกันถวายพระเพลิงปลงพระบรมศพ เสร็จแล้ว พระยาน้อยจึงตรัสสั่งให้แจงพระรูป เชิญพระอัฐิใส่ในโกศทองขนาดน้อย แห่เข้าไปไว้ ณ พระรัตนมหาปราสาท ให้มีมหรสพสมโภชอีกสามวันสามคืน แลให้ก่อพระเจติยฐานสูงใหญ่ เชิญพระอัฐิเหลือนั้นเข้าบรรจุไว้ในพระมุเตาริมพระธาตุกลอมปอนตามอย่างราชประเพณีซึ่งเคยบรรจุพระอัฐิพระมหากษัตราธิราชแต่ก่อนสืบมา

ครั้นเสร็จการปลงพระบรมศพแล้ว พระยาน้อยก็ทรงพระดำริถึงนางเม้ยมะนิกรูปงามซึ่งฝากพระยาอินทโยธาไว้ ณ เมืองตะเกิง ครั้นจะรับมาด้วยเมื่อเสด็จดำเนินกองทัพนั้น ก็เกรงจะระหกระเหิน เพราะไม่รู้แน่ว่าจะได้ถึงเมืองหรือมิได้ อนึ่ง แม้นมีชัยชนะศึกได้เมืองแล้ว ครั้นจะรับเข้าไปด้วย ก็กลัวจะเกิดความหึงหวงกันกับตละแม่ท้าว จะได้รับความอัปยศ ครั้งนี้ก็ได้ปลอบโลมตละแม่ท้าวให้คลายความขึ้งเคียดแลถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว ควรจะให้ไปรับมา จึงตรัสสั่งพ่อมอญ พระพี่เลี้ยง ให้คุมเถ้าแก่ชาวแม่พระสนมทั้งปวงลงเรือพระที่นั่งเก๋งทองไปรับนางเม้ยมะนิก

พ่อมอญรับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลาออกมาสั่งเจ้ากรมนาวายานให้จัดเรือพระที่นั่งเก๋งทอง เกณฑ์ฝีพายพลทหารครบครั้น อีกทั้งเรือพระหลวงขุนหมื่นซึ่งจะติดตามแห่แหนนั้นพร้อมแล้ว พ่อมอญก็คุมนางเถ้าแก่ชาวแม่พระสนมออกเรือพระที่นั่งรีบไปถึงเมืองตะเกิง จึงเชิญเถ้าแก่ชาวแม่พระสนมทั้งปวงขึ้นยังตำแหนักที่พระยาน้อยให้ปลูกไว้เป็นที่อยู่ประทับ นางเม้ยมะนิกก็ออกมาต้อนรับเชิญเถ้าแก่แก่พระสนมให้นั่งที่สมควร ส่วนตัวพ่อมอญกับบ่าวไพร่ก็ไปหาพระยาอินทโยธาผู้รักษาเมือง พระยาอินทโยธาก็ออกมาต้อนรับ เชิญให้พ่อมอญนั่งที่สมควร แล้วเรียกภรรยาข้าสาวใช้ให้ออกมาจัดของเครื่องรับแขก พ่อมอญกระทำคำนับพระยาอินทโยธาแล้วพินิจดูเห็นหน้าตาเบิกบานนัก จึงกล่าวยกยอว่า ประเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าดูรูปกายท่านผ่องใสอวบอ้วนยิ่งกว่าเก่าราวกับเทพยดามาชุบให้เป็นหนุ่มขึ้น งามสมบุญยิ่งนัก หรือสึกออกมาแล้วได้บริโภคอาหารหลายเวลา แลมีอันเตวาสิกสาว ๆ ปฏิบัติมาก ซึ่งเมื่อยขบเป็นปัตคาดนั้น เขาช่วยนวดฟั้นเส้นสายให้หายโรคแลหรือ ท่านจึงเป็นหนุ่มขึ้นดังนี้ พระยาอินทโยธาได้ฟังก็หัวเราะ นางภรรยาสาว ๆ นั้นชำเลืองค้อนแล้วอายยิ้มอยู่ในที

พระยาอินทโยธาจึงตอบว่า ซึ่งท่านว่าข้าพเจ้าเป็นหนุ่มนั้นก็ให้สมพรปากท่านเถิด แต่ข้าพเจ้าทุกวันนี้แก่แต่กาย น้ำใจหนุ่ม ครั้นจะรับว่าเป็นหนุ่มทั้งตัวแลน้ำใจก็จะเป็นคนบ้ายอ ครั้นจะพูดย่อท้อว่าแก่เสียทั้งนั้น คนในเรือนก็จะเสียใจ พ่อมอญหัวเราะแล้วจึงบอกว่า บัดนี้ มีรับสั่งพระเจ้าอยู่หัวให้ข้าพเจ้าคุมเถ้าแก่พระสนมมารับพระสนมเอก พระยาอินทโยธาได้ฟังก็ดีใจ หมายว่าจะได้ปลดเปลื้องธุระ จึงพาพ่อมอญแลภรรยาไปยังตำหนักนางเม้ยมะนิกหวังจะช่วยส่งให้เป็นทางคำนับ พ่อมอญจึงคำนับแจ้งความว่า บัดนี้ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสใช้ให้ข้าพเจ้ามาเชิญพระแม่เจ้าเข้าไปยังกรุงพะโค นางเม้ยมะนิกได้แจ้งก็ได้ใจอุปมาดังได้ไปสวรรค์ทั้งเป็น ผิวพักตร์ผ่องใสขึ้นทันทีเปรียบประดุจพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ จึงแต่งประดับกายสรรพเสร็จ มีหญิงญาติแลข้าเก่าแลสาวใช้พรั่งพร้อม จึงคำนับลาพระยาอินทโยธา ฝ่ายเถ้าแก่ชาวแม่พระสนมก็เชิญนางเม้ยมะนิกลงเรือพระที่นั่งเก๋งทอง มีม่านปิดป้องกำบัง พระยาอินทโยธาก็ตามลงมาส่ง กับดัวยภรรยาบ่าวไพร่ พ่อมอญคำนับลาพระยาอินทโยธา แล้วก็ลงเรือลำหนึ่งพร้อมด้วยบ่าวไพร่ฝีพาย จึงสั่งให้ออกเรือพระที่นั่งเร่งฝีพายพลทหาร เรือพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการทั้งปวงซึ่งติดตามแห่แหนซ้ายขวาหน้าหลังคู่แห่คู่ชักนั้นก็ออกเรือเป็นลำดับกัน เสียงพลพายขานยาวฉาวสนั่น ดูสะพรึบพร้อมดาษดา เร่งรีบฝีพายมาถึงเมืองพะโค เรือพระที่นั่งก็เข้าเทียบประทับหน้าฉนวนตำหนักน้ำ ฝ่ายท้าวนางเถ้าแก่โขลนจ่าข้าหลวงพระสนมอีกพวกหนึ่งซึ่งพระยาน้อยจัดให้ออกมารับแทนพระองค์คอยอยู่ ณ ตำหนักน้ำ แต่ธรรมเนียมแห่อย่างธรรมเนียมแต่ก่อนนั้นมิได้โปรดสั่งให้กระทำ เกรงคนทั้งปวงจะครหาได้ เพราะเม้ยมะนิกมิใช่สาวบริสุทธิ์พรหมจารีแท้ เป็นแต่ภรรยาของผู้อื่น ไปแย่งชิงมา จึงโปรดให้ไปรับมาเงียบ ๆ

ฝ่ายเถ้าแก่ท้าวนางพระสนมทั้งสองพวกนั้นก็เชิญนางเม้ยมะนิกขึ้นสู่วอมีม่านทองป้องปิดมิดชิด อันชาวพนักงานเตรียมมารอคอยอยู่แล้ว พลตำรวจทหารแลขุนนางทั้งปวงก็ตามส่ง พอเข้ายังประตูพระราชวังใน ฝ่ายพ่อมอญแลพระหลวงขุนหมื่นทั้งปวงก็พากันไปเฝ้าพระยาน้อย ณ ท้องพระโรงข้างหน้า พ่อมอญจึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าไปรับพระสนมเอกมา ให้เถ้าแก่ชาวแม่พระสนมเอกมา ให้เถ้าแก่ชาวแม่พระสนมเชิญเข้ามาสู่พระราชวังแล้ว พระยาน้อยได้ทรงฟังก็ดีพระทัยนัก

ขณะนั้น พระสังฆราชาคณะกับพระสงฆ์ห้าสิบแปดรูปผู้รู้ไตรปิฎกคิดการปรึกษากันแล้วจึงเข้ามาถวายพระพรพระยาน้อยว่า อันประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนซึ่งพระองค์ได้ดำรงพิภพสีมาอาณาเขตสืบ ๆ มานั้น ก็ย่อมประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งการพิธีภิเษกก่อน จึงเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แลบัดนี้ พระองค์มีพระเดชเดชานุภาพใหญ่หลวงนัก จึงมีชัยชนะในสงครามแลได้เมืองพะโคโดยง่าย แต่ยังมิได้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกก่อน ซึ่งจะเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นก็ยังมิได้ต้องโดยโบราณราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ปางก่อน อาตมภาพทั้งปวงจะขอรับพระราชทานพระราชวโรกาสให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก หวังจะให้พระองค์ทรงพระเดชเดชานุภาพยิ่งขึ้นไป

พระยาน้อยได้ทรงฟังพระสังฆราชาคณะถวายพระพรดังนั้นก็เห็นชอบด้วย จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงว่า ที่แห่งใดจะเป็นที่ชัยภูมิได้บ้าง ปรึกษายังมิทันตกลง ขณะนั้น พอพระยาอินทโยธาซึ่งรักษาเมืองตะเกิงนั้นจึงคิดว่า ครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวของเราได้ราชสมบัติแล้วเห็นจะกระทำการราชาภิเษก จำจะเข้าไปเฝ้าฟังข่าวดู จึงให้กรมการอยู่รักษาเมือง มีบ่าวไพร่พร้อมแล้ว ก็ขึ้นช้างรีบมาเฝ้า พอพระยาอินทโยธาเข้ามาถึงกราบถวายบังคม พระยาน้อยทอดพระเนตรเห็นก็ดีพระทัยทรงพระสรวล จึงตรัสไต่ถามความเมืองเล็กน้อยแล้วก็ตรัสปรึกษาด้วยที่ชัยภูมิ พระยาอินทโยธารับพระโองการใส่เกล้าแล้วจึงปรึกษากับมังกันจี เห็นสมควรแล้วจึงกราบทูลว่า ที่ปลอยกุฏิ์นั้นแต่ก่อนพระมหากษัตราธิราชเจ้าได้เสวยราชสมบัติเคยตั้งกระทำพระราชพิธีมงคลการเป็นที่ชัยภูมิดี จะขอรับพระราชทานให้ตั้งพระราชพิธีในที่นั้น

พระยาน้อยจึงตรัสว่า แม้นท่านทั้งปวงปรึกษาเห็นชอบดีพร้อมกันแล้วก็ตามเถิด พระยาอินทโยธากับมังกันจีรับพระราชโองการแล้วจึงให้ตั้งโรงพระมหามณฑป ณ ที่พระปลอยแล้วไปด้วยไม้มะเดื่อ ครั้นเสร็จการทั้งปวงแล้ว จึงกราบทูลถวายพระมหาพิชัยฤกษ์ซึ่งจะทำพระราชพิธีมงคลการกำหนด ตละแม่ท้าวนั้นเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา นางเม้ยมะนิกเป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย ครั้นได้พระมหาพิชัยฤกษ์แล้ว พระยาน้อยแต่งพระองค์เสร็จก็เสด็จขึ้นสรงพระสหัสธาราในพระมหามณฑป แล้วเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งอุทุมพรภัทรบิฐเหนือแท่นสุวรรณอันเขียนรูปราชสีห์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ทรงคอยตละแม่ท้าวอยู่ในขณะนั้น

ฝ่ายตละแม่ท้าวมีความเดียดฉันท์เม้ยมะนิกด้วยความริษยาหึงพวง ทรงพระดำริว่า เราไม่รู้เลยว่าพระสวามีจะรักใคร่อีเม้ยมะนิกถึงเพียงนี้ คิดว่าจะรักโดยฉันว่ารูปงาม จะปลูกเลี้ยงเป็นนางสนมเท่านั้น นี้จะภิเษกเป็นมเหสีฝ่ายซ้ายให้คู่เคียงกับเรา อนึ่ง บุตรีท้าวพระยาเมืองขึ้นเมืองออก แลราชธิดากษัตริย์ซึ่งเป็นเอกราช คือ กรุงลาว กรุงไทย กรุงพม่า ก็มีเป็นอันมาก พอจะหาได้ที่คู่ควร ช่างกระไรพระทัยของพระสามีรักกายิ่งกว่าหงส์ รักทองเหลืองยิ่งกว่าทองคำดังนี้ นึกก็น่าแค้นใจ อนึ่ง เราเป็นราชธิดาพระมหากษัตริย์ เกิดในเศวตฉัตร คนทั้งปวงก็เรียกว่าลูกเจ้า ซึ่งจะไปนั่งรวมที่เคียงกันกับอีเม้ยมะนิกลูกไพร่เจ้าแป้งเจ้าน้ำมันเมืองตะเกิงนั้น อายแก่เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวง ได้ความอัปยศนัก มิได้เป็นอัครมเหสีก็แล้วไปเถิด ตละแม่ท้าวนึกมานะน้อยพระทัยก็มิได้เสด็จมา พอจวนใกล้พระฤกษ์ พระยาน้อยมิได้เห็นตละแม่ท้าวออกมา ก็สะดุ้งพระทัย เกรงตละแม่ท้าวจะทำยศอย่างหึงหวงอยู่ให้เนิ่นช้าเกินกำหนดการ จึงตรัสสั่งเถ้าแก่สาวใช้ให้ไปเชิญออกมาโดยเร็ว นางเถ้าแก่ชาวแม่ทั้งปวงก็เข้าไปทูลเตือนตละแม่ท้าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสใช้ให้ข้าพเจ้ามาเชิญ เร่งแต่งพระองค์เร็วเถิด เกือบใกล้จะได้พระฤกษ์อยู่แล้ว ตละแม่ท้าวกำลังแค้นพระทัย จึงตรัสถามว่า อีเม้ยมะนิกมันไปแล้วหรือยัง เถ้าแก่จึงทูลว่า ข้าพเจ้าเห็นที่ตำหนักเตรียมพร้อมแล้ว จะคอยให้พระแม่เจ้าอยู่หัวเสด็จออก ตละแม่ท้าวจึงตรัสว่า อีรูปสวยทำไมไม่แบกหน้าออกไปรับเสด็จก่อนเล่า จะมาคอยข้าทำไม ข้าคนบุญน้อยแล้ว จะตามหลังเขาออกไป ท่านทั้งปวงจงพากันไปเถิด เถ้าแก่ชาวแม่ทั้งปวงกลับมากราบทูลตามคำตละแม่ท้าวว่าทุกประการ พระยาน้อยได้ฟังก็ทรงพระโกรธ แต่ทรงคิดถึงความหลังเอาความรักเข้ามาหักความโกรธข่มพระทัยไว้ จึงตรัสสั่งเถ้าแก่แต่เบา ๆ ให้ไปแจ้งความแก่พระมารดาตละแม่ท้าว ให้พระมารดาไปช่วยปลอบโลมพาตัวตละแม่ท้าวมาจงได้ แล้วพระองค์ทรงเห็นว่า เม้ยมะนิกจะกลัวตละแม่ท้าว มิอาจจะมาก่อน กลัวจะประชดประชันว่าแย่งชิงออกหน้า เผื่อจะคลาดเสียฤกษ์ราชพิธี จึงให้ไปเตือนเม้ยมะนิกมาไว้

ฝ่ายนางมหาจันทเทวี พระมารดาตละแม่ท้าว ครั้นเถ้าแก่มาบอกว่ามีรับสั่งดังนั้น ก็เรียกข้าสาวใช้รีบไปยังตำหนักตละแม่ท้าว เห็นนางเถ้าแก่หลวงแม่เจ้านางพนักงานนำพระภูษาแลเครื่องประดับของประทานมารอคอยจะช่วยแต่งพระองค์ตละแม่ท้าวอยู่พร้อม จึงเข้าสู่ตำหนัก เห็นตละแม่ท้าวกอดพ่อลาวแก่นท้าวนิ่งอยู่ ก็โกรธ จึงตรัสว่า นี่ไว้ยศไว้อย่างไปถึงไหน มีรับสั่งให้มาเตือนว่า จวนฤกษ์แล้วก็ยังมิไป ไม่รักเป็นเอก จะรักเป็นโทละกระมัง ลูกอะไรแสนงอนสอนยากเช่นนี้ ตละแม่ท้าวได้ฟังพระมารดาตัดพ้อจึงวอนไหว้แล้วว่า ข้าพเจ้ามีความแค้นความอายยิ่งนัก มิได้อภิเษกก็แล้วไปเถิด พระมารดาก็อ้อนวอนถึงสองครั้งสามครั้ง ตละแม่ท้าวก็ทรงพระกรรแสงนิ่งเสีย นางมหาจันทเทวีก็ร้องไห้จึงว่า แต่ก่อนได้พึ่งพ่อ พ่อหาไม่แล้ว หมายจะได้พึ่งผัว เมื่อลูกไม่คิดพึ่งผัวแล้ว ก็ฆ่าแม่เสียเถิด อย่าให้แม่อยู่อายแก่คนทั้งปวงเลย ตละแม่ท้าวก็นิ่งเสีย นางมหาจันทเทวีเห็นเหลือจะปลอบแล้วก็ร้องไห้กลับออกมาบอกเถ้าแก่ เถ้าแก่เข้าไปทูลพระยาน้อย พระยาน้อยก็ทรงพระโกรธเป็นกำลัง พระเสโทไหลลงโทรมพระพักตร์ ทรงพระดำริว่า ได้ทำดีมาแต่ต้นแล้ว จำจะต้องทำไปจนตลอด ให้ญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่าใจดีสักหน่อย จึงให้หามุอายลาวแม่นมเข้ามาตรัสว่า ตละแม่ท้าวนี้ถือตัวยิ่งนัก ข้าตามใจเขา เขาไม่ตามใจข้า ข้าง้อเขา เขายิ่งงอน งอนจนเกินงาม แม่ช่วยไปเตือนให้ครบสามครั้งเสียหน่อยเถิด ฤกษ์ก็จวนเต็มทีแล้ว มุอายลาวรับสั่งแล้วก็รีบไปเตือนตละแม่ท้าวทูลว่า มีรับสั่งให้ข้าพเจ้าเข้ามาเตือนเชิญพระแม่เจ้าเร่งแต่งพระองค์เร็วเถิด นาฬิกาตีกระชั้นเข้ามาเกือบจะใกล้ได้พระฤกษ์แล้ว ถ้าช้าเห็นจะเสียการ ตละแม่ท้าวจึงตอบว่า ข้าไม่อยากภิเษกแล้ว เพราะความแค้นความอายอยู่ในทรวงอกสักเท่าภูเขา มุอายลาวจึงทูลปลอบว่า พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระพิโรธนัก ซึ่งพระแม่เจ้ากลัวจะเสียสิริศักดิ์นั้น ข้าพเจ้าจะอุปมาถวาย องค์พระแม่เจ้าเปรียบเหมือนทองคำธรรมชาติ เม้ยมะนิกเปรียบประดุจทองแปรธาตุอันนายช่างซัดยาแต่งศรีขึ้นให้งามแล้วมาตั้งไว้เคียงกัน ทองธรรมชาตินั้นสีจะได้ตกต่ำไปหามิได้ ก็คงที่อยู่ว่าเนื้อนพคุณ อันทองซัดยานั้นก็คงที่เรียกว่าทองแปรธาตุ จะมากลบรัศมีทองธรรมชาตินั้นหามิได้ ซึ่งพระเจ้าแม่มีพระทัยรังเกียจเม้ยมะนิกก็เหมือนดังข้าพเจ้าเปรียบเทียบถวายดังนี้ ตละแม่ท้าวได้ฟังมุอายลาวว่าดังนั้นก็คลายความขึ้งเคียดลง จึงตรัสว่า แม่ว่ากล่าวให้ฟังค่อยหายรำคาญหน่อยหนึ่ง ถ้ากระนั้น ข้าจะไป จึงรีบแต่งพระองค์เสร็จแล้วเสด็จลงจากพระตำหนักพร้อมด้วยเถ้าแก่ชาวแม่พระสนมแวดล้อม

ขณะนั้น มีกาตัวหนึ่งบินผ่านมา ตละแม่ท้าวเห็นก็ให้หวาดหวั่นพระทัย รีบเสด็จมา มาก็มิทัน มุอายลาวก็รีบไป จะเข้าราชมณฑลกราบทูลก็มิทัน พอประจวบพระฤกษ์กำหนดการพระราชพิธีภิเษกแล้ว พระยาน้อยคอยตละแม่ท้าวอยู่ไม่เห็นเสด็จมาก็ทรงพระโกรธยิ่งนัก แม่เม้ยมะนิกนั้นมาทันฤกษ์พระราชพิธี เสนาบดีทั้งปวงก็อัญเชิญเม้ยมะนิกขึ้นนั่งบนกองทองตามฐานานุกรม แล้วก็ให้ลั่นฆ้องกลองแตรสังขดุริยดนตรีก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน อภิเษกเม้ยมะนิกนั้นแต่ผู้เดียวขึ้นเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย ถวายพระนามว่า พระนางปิยราชเทวี เพราะว่าเป็นที่รักของพระยาน้อย ฝ่ายพระสังฆราชาคณะก็เจริญปริตรถวายชัยมงคล แลชีพ่อพราหมณ์ถวายอาเศียรพาทน้ำกรดน้ำสังข์ตามพระราชพิธีไสยเวท ครั้นกระทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกเสร็จแล้ว สมณชีพราหมณเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงจึงปรึกษากันว่า จะขอถวายพระนามพระยาน้อยใหม่ เพื่อจะให้เป็นมงคลสิริสถาพรอันยิ่ง

ฝ่ายมังกันจีแลพระยาอินทโยธาราชปุโรหิตาจารย์ทั้งปวงจึงว่า พระนามพระราชบุตรพระเจ้าอยู่หัวใหม่ของเรานี้เป็นนามราชสีห์ จะถวายพระนามให้ออกพระนามเรียกว่า สมเด็จพระเจ้าสีหราชาธิราช แล้วจึงชวนกันอธิษฐานว่า ถ้าแลพระนามนี้จะเป็นศุภมงคลอันประเสริฐสมควรแก่พระมหากษัตราธิราชอยู่แล้ว แลเศวตฉัตรซึ่งตั้งหุบไว้ขอจงบันดาลกางขึ้นให้เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งปวงตามคำอธิษฐานนี้เถิด ครั้นเสนาบดีราชปุโรหิตทั้งปวงประกอบพระนามอธิษฐานดังนั้นแล้ว เศวตฉัตรซึ่งหุบอยู่นั้นก็กางขึ้นเห็นเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนักประจักษ์แก่ตาคนทั้งปวง ขณะนั้น สมณชีพราหมณเสนาพฤฒามาตยราชปุโรหิตทั้งปวงก็ถวายพระยามพระยาน้อย จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสีหราชาธิราช สืบมา แต่คนภายนอกออกพระนามเรียกสีหอักษรในเบื้องต้นทั้งสองนั้นมิถึง จึงเรียกแต่ พระเจ้าราชาธิราช

ลุศักราช ๗๔๙ ปี ครั้นการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแล้ว แต่นั้นมา เมืองพะโคก็โปรดให้เรียกว่า กรุงหงสาวดี ตามเดิม ด้วยเป็นเมืองหลวงมาแต่ก่อน ครั้นว่าเวลาค่ำ พระเจ้าราชาธิราชเสด็จเข้าที่สิริไสยาสน์เหนือแท่นที่พระบรรทม ครั้นเวลาอุษาโยค ตื่นจากที่พระสิริไสยาสน์ ก็ทรงจินตนาการถึงผู้มีบำเหน็จความชอบซึ่งได้ทำสงครามมาแต่ปางหลัง



(ยังมีต่อ)



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร




เล่ม ๑๐ ขึ้น เล่ม ๑๒