ข้ามไปเนื้อหา

ราชาธิราช/เล่ม ๑๖

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๑๖




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๗๒๑–๗๖๘ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๑๖




ตั้งแต่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องมีราชสารเจริญทางพระราชไมตรีไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่

จนถึงพระเจ้าราชาธิราชกรีธาทัพออกรับทัพพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง

แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เจ้าเมืองเตียง





ขณะนั้น ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า พระเจ้าราชาธิราชยกขึ้นมาถึงพระนครเรา ฐาปนาหอพระไว้หวังจะให้เป็นเกียรติยศว่า ได้ยกทัพล่วงแดนขึ้นมาถึงเมืองเรา เราก็ให้ทหารออกไปเอาไฟเผาเสียสิ้น เห็นว่า จะขัดเคืองพระทัยอยู่ แต่ว่าศึกจวนฤดูน้ำ จึงมิกลับมา เห็นว่า สงครามมอญกับเราจะติดพันกันไปเป็นมั่นคง ครั้นเราจะยกกองทัพลงไปตอบแทนกระทำแก่เมืองหงสาวดีบ้าง บัดนี้ บ้านเมืองเราในขอบขัณฑเสมาจังหวัดทั้งปวงก็ยังมิราบคาบเป็นปรกติ ผู้คนระส่ำระสายอยู่ กำลังเรายังน้อยนัก ประการหนึ่ง เมืองตะแคงแลเมืองไทยใหญ่เล่าก็เป็นขบถต่อเราแข็งเมืองอยู่ เราคิดจะยกกองทัพไปตีเมืองตะแคงแลเมืองไทยใหญ่ปราบปรามเสี้ยนหนามให้ราบคาบ แล้วจึงจะยกไปตีเมืองหงสาวดี แล้วให้มีหนังสือไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ขอกองทัพให้ยกมาช่วยเป็นทัพกระหนาบ เห็นจะได้เมืองหงสาวดีโดยง่าย เสนาบดีทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วยโดยพระราชบริหาร จึงสั่งให้จัดเครื่องราชบรรณาการแลให้แต่งลักษณะพระราชสาร ในพระราชสารนั้นว่า สมเด็จพระเจ้ามนเทียรทอง กรุงรัตนบุระอังวะ ขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงพระมหาราช เจ้าเชียงใหม่ผู้เป็นใหญ่ในมะลาประเทศ ด้วยพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาผู้เป็นสมเด็จพระราชบิดาเราถึงแก่สวรรคตแล้ว แลบัดนี้ เราผู้เป็นพระราชบุตรได้ผ่านสมบัติเป็นใหญ่ในกรุงรัตนบุระอังวะ บ้านเมืองก็ยังมิราบคาบ ฝ่ายพระเจ้าราชาธิราช เจ้าเมืองหงสาวดี บังอาจหมิ่นเรา ยกกองทัพขึ้นมาย่ำยีถึงกรุงรัตนบุระอังวะ ทุกวันนี้ เรามีความแค้น นอนตามิหลับเลย ครั้นจะยกไปกระทำแก่เมืองหงสาวดี บัดนี้เล่า ก็ยังจะต้องไปปราบปรามเมืองตะแคง เมืองไทยใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นนั้นอยู่ ถ้าเสร็จแล้วจะยกลงไปตีเมืองหงสาวดี แต่กองทัพเมืองรัตนบุระอังวะนั้นเห็นจะได้ชัยชนะช้าไป จะขอกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาเป็นทัพกระหนาบช่วยกันตีเมืองมอญ เห็นจะได้ชัยชนะโดยเร็ว ถ้าเสร็จสงครามแล้ว ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่กับกรุงรัตนบุระอังวะนี้มิได้ขัดเลย แม้นพระเจ้าเชียงใหม่มิให้สูญทางพระราชไมตรี ยกกองทัพลงมาช่วยครั้งนี้แล้ว ข้าศึกเมืองเชียงใหม่ก็จะเป็นข้าศึกเมืองอังวะ ข้าศึกเมืองอังวะก็จะเป็นข้าศึกเมืองเชียงใหม่ พระราชไมตรีเราทั้งสองพระนครก็จะเจริญไปตราบเท่ากัลปาวสาน ครั้นแต่งพระราชสารเสร็จแล้ว ก็ใช้ให้พม่าสิบสองคนเป็นทูตจำทูลพระราชสารนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไป ณ เมืองเชียงใหม่

ขณะนั้น สมิงงอฝางซึ่งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชให้ไปกินเมืองเตียงนั้นแต่งให้ชาวด่านออกไปลาดตระเวนปลายด่าน พบพม่าสิบสองคนถือหนังสือพระราชสารกับเครื่องราชบรรณาการมา ชาวด่านจับตัวได้สิ้นคุมมายังสมิงงอฝาง สมิงงอฝางเห็นพระราชสารแล้วก็คุมเอาตัวพม่าแลพระราชสารเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งในพระราชสารนั้นแล้ว ก็ทรงพระดำริว่า ถ้าจะปล่อยพม่าสิบสองคนนี้เสีย มันก็จะกลับไปเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะรู้แล้วก็จะแต่งคนอื่นให้ขึ้นไปขอกองทัพเมืองเชียงใหม่อีก ถ้ากองทัพพม่าทัพลาวยกมาพร้อมกันเป็นสองทัพ เห็นกำลังศึกหนักนัก ฝ่ายเราจะรบพุ่งต้านทานยาก จำจะคิดตัดศึกแบ่งกำลังเสียให้น้อย ฆ่าพม่าผู้ถือหนังสือเสีย อย่าให้กิตติศัพท์รู้ไปว่า เราจับได้ ฝ่ายพระเจ้าอังวะมิได้เห็นผู้ถือหนังสือแลกองทัพยกมา ก็จะมีความสงสัยแคลงกัน จึงสั่งให้เอาพม่าสิบสองคนฆ่าเสีย กำชับมิให้กิตติศัพท์รู้ไปถึงพม่า แล้วก็ให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแก่ผู้จับพม่าได้ตามความชอบนั้นโดยสมควร แล้วจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวง บัดนี้ ก็ได้เนื้อความว่า ทัพพม่าจะยกลงมากระทำแก่เมืองเราครั้งนี้มั่นคงอยู่แล้ว จำเราจะยกกองทัพไปสกัดตัดทางไว้อย่าให้ล่วงลงมาได้ เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้แต่งกองทัพเป็นคนเก้าหมื่นสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธ ก็เสด็จยกขึ้นอยู่ ณ เมืองพะสิมคอยสกัดทางพม่าจะยกลงมา

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ครั้นให้พม่าสิบสองนำเครื่องราชบรรณาการไปเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ให้จัดกองทัพคนสิบหมื่นสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธใหญ่น้อย เสร็จแล้ว ก็เสด็จยกทัพไปตีเมืองตะแคง ได้เมืองตะแคงแล้ว ฝ่ายพระยาตะแคงหนีไปอยู่เมือพะงา แต่นรามิละ เป็นอุปราชา บุตรพระตะแคงนั้น พาบุตรภรรยาช้างม้าครอบครัวพันหนึ่งหนีมาอยู่เมืองทรางทวย

ขณะนั้น เมื่อพระเจ้ามนเทียรทองได้เมืองตะแคงแล้ว จึงตั้งให้มังกำมุนี พระราชบุตรเขย อยู่รักษาเมืองตะแคง แลตละเจ้าเปฟ้า ซึ่งเป็นพระราชธิดา เป็นบริจาริกามังกำมุนีนั้น อยู่ด้วย ณ เมืองตะแคง แล้วพระเจ้ามนเทียรทองก็ยกกองทัพไปตีเมืองไทยใหญ่ ครั้นตีเมืองไทยใหญ่ได้แล้ว ก็เสด็จยั้งทัพอยู่ ณ เมืองไทยใหญ่ แลเมื่อกองทัพสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชยกอยู่เมืองพะสิมนั้น

ฝ่ายนรามิละ พม่าเมืองตะแคง แจ้งว่า พระเจ้าราชาธิราชเสด็จมาอยู่ ณ เมืองพะสิม ก็พาครอบครัวอพยพหนีมาหาสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชกราบทูลเนื้อความตามพระเจ้ามนเทียรทองยกมาตีเมืองตะแคงนั้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งแล้ว จึงตรัสแก่นรามิละว่า อย่าวิตกไปเลย เราจะตีเอาเมืองตะแคงคืนให้ แล้วก็โปรดพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่นรามิละตามสมควร สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงจัดกองทัพแต่งให้สมิงยายะกับสมิงงอฝางเป็นแม่ทัพ แลสมิงสามแหลก สมิงโลกนารายณ์ เป็นเกียกกาย พลหมื่นหนึ่ง ช้างห้าร้อย ยกไปตีเมืองตะแคง แล้วโปรดพระราชทานเศวตรฉัตรให้ไปสำหรับทัพด้วย ตรัสว่า ถ้าได้เมืองตะแคงแล้ว เศวตรฉัตรนี้พระราชทานให้แก่นรามิละ แล้วตรัสสั่งสมิงงอฝางว่า ถ้าถึงเมืองทรางทวยแล้ว อย่าให้รี้พลกระทำอันตรายแก่ไพร่บ้านพลเมืองได้ ให้แต่งคนที่ดีเข้าไปเจรจาแก่ชาวเมืองว่า ทัพเรายกขึ้นมาตั้งอยู่ ณ เมืองพะสิม จึงแต่งกองทัพให้เสนาบดีขึ้นมาตีเอาเมืองคืนให้แก่นรามิละ บุตรพระยาตะแคง ถ้าผู้ใดจะเข้าด้วย ให้เร่งออกมา ถ้าไม่ออกมา จะฆ่าเสียให้สิ้น

ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชมีพระราชโองการตรัสสั่งสมิงงอฝางเสร็จแล้ว กองทัพสมิงงอฝางก็ยกไป ครั้นถึงเมืองทรางทวย จึงให้มีหนังสือเข้าไปตามสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตรัสสั่งมานั้น ครั้นชาวเมืองทรางทวยได้แจ้งว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีให้เสนาบดียกกองทัพมาตีเมืองให้แก่นรามิละคืนก็ดีใจ พาครอบครัวออกมาหานรามิละเป็นอันมาก นรามิละก็ให้เงินทองเสื้อผ้าแก่ครอบครัวซึ่งออกมาหานั้น

ฝ่ายเสนาบดีซึ่งพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องแต่งให้อยู่รักษาเมืองทรางทวยรู้ว่า ไพร่พลเมืองไปหานรามิละสิ้น เจ้าเมืองทรางทวย ก็หนีไป ครั้นสมิงงอผางกับนรามิละรู้ว่า เจ้าเมืองทรางทวยหนีไปแล้ว ก็จัดแจงผู้คนชาวเมืองทรางทวยซึ่งเข้าหากองทัพ สำเร็จแล้วก็ยกไปตีเมืองตะแคง ชาวเมืองตะแคงรู้ว่า นรามิละพากองทัพมอญมาตีเมืองตะแคง ชาวเมืองทั้งปวงก็ออกมาหานรามิละเป็นอันมาก แลพวกพม่าซึ่งอยู่รักษาเมืองตะแคงสะดุ้งสะเทือนอยู่

ฝ่ายสมิงสามแหลก สมิงโลกนารายณ์ ซึ่งเป็นทัพหน้านั้น รู้ว่า ผู้คนในเมืองออกมาหานรามิละเป็นอันมาก ก็ยกเข้าตีเมืองตะแคง มังกำมุนีก็แต่งกองทัพมารับทัพมอญ ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ฝ่ายกองทัพมอญก็ยังมิได้เมือง แลสมิงงอฝาง แม่ทัพหลวง แจ้งว่า ทัพหน้าเข้าตีอยู่ ยังไม่ได้ชัยชนะ ก็เร่งยกกองทัพหลวงเข้าตีกระหนาบ ฝ่ายพม่าน้อยถอยกำลัง ต้านทานมิได้ ก็แตกหนีไป กองทัพมอญได้เมืองตะแคง จึงให้ติดตามมังกำมุนี กองทัพตามทัน มังกำมุนีจับตละเจ้าเปฟ้าได้กับช้างม้าแลไพร่พลพม่าสามพัน เข้ามาแจ้งแก่สมิงงอฝาง สมิงงอฝางแต่งให้เสนาบดีคุมตัวมังกำมุนี แลตละเจ้าเปฟ้า กับช้างม้าผู้คน มาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ณ เมืองพะสิม

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชยกไปนมัสการพระธาตุกะเนาะเตา ให้อำมาตย์ทินมณีกรอดอยู่รักษาเมือง ครั้นเสนาบดีคุมเอามังกำมุนีมาถึงเมืองพะสิม อำมาตย์ทินมณีกรอดแจ้งแล้วจึงให้แต่งเรือเร็วรีบถือหนังสือไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งแล้วก็ดีพระทัย ตรัสสรรเสริญสมิงงอฝางแลนายทัพนายกองทั้งปวง แล้วจึงตรัสสั่งให้อำมาตย์มะสะมอญไปรับเอามังกำมุนีกับตละเจ้าเปฟ้ามา

ครั้นอำมาตย์มะสะมอญไปถึงเมืองพะสิม พอมังกำมุนีป่วยปัจจุบันโรคถึงแก่พิราลัย อำมาตย์มะสะมอญก็คุมเอาตละเจ้าเปฟ้ากับช้างม้าผู้คนมาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เอาตละเจ้าเปฟ้าไว้เป็นบริจาริกา แล้วก็เสด็จยกกองทัพกลับไปยังกรุงหงสาวดี ครั้นถึงพระนครแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงแต่งเสนาบดีให้คุมเอาแหวน กำไล ต่างทองคำ กับผ้าพรรณนุ่งห่ม บรรทุกเรือขึ้นไปพระราชทานให้แก่สมิงงอฝางแลนายทัพนายกองทั้งปวง ณ เมืองตะแคง แล้วให้สมิงงอฝางจัดแจงให้นรามิละขึ้นนั่งเมืองตะแคง พระราชทานเศวตรฉัตรให้ด้วย ถ้าแลไพร่พลชาวเมืองทั้งปวงยังกระด้างอยู่ ให้กองทัพปราบปรามเสียให้ราบคาบ แลเมื่อจะกลับมานั้น ให้จัดเอาคนที่เป็นช่างมีฝีมือรู้แกะปั้นเขียนแลสลักกลึงมาด้วย ครั้นผู้ถือหนังสือคุมเอาสิ่งของนั้นขึ้นไปพระราชทาน ณ เมืองตะแคงถึงแล้ว ฝ่ายสมิงงอฝางได้แจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งโปรดมา ก็จัดแจงบ้านเมืองให้แก่นรามิละราบคาบเสร็จแล้ว จัดได้ช่างตีมีฝีมือหกร้อยคน ก็ยกกองทัพกลับมากรุงหงสาวดี จึงเอาช่างหกร้อยคนมาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องครั้นตีเมืองไทยใหญ่ก็ให้สืบสาวเจ้าเมืองแลขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งรวมคิดกันนั้นจำไว้มั่นคง แล้วให้กวาดเอาครอบครัวผู้คิดมิชอบลงมา ณ เมืองอังวะก่อน ภายหลังจึงจัดแจงให้ขุนนางอยู่รักษา แล้วพระองค์ก็เลิกทัพกลับมายังเมืองอังวะ ครั้นมาถึงเมืองแล้ว จึงให้มีพระธรรมเทศนาเรื่องพระสุตโสมกับพระยาโปริสาท เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว มหาดเล็กคนหนึ่งเชิญพระแสงอยู่จึงกราบทูลว่า เมืองตะแคงที่พระองค์ตีได้ แต่งให้มังกำมุนี พระราชบุตรเขย กับตละเจ้าเปฟ้า พระราชธิดา อยู่นั้นหาควรไม่ ด้วยเมืองตะแคงนั้นอุปมาดังช้างเถื่อนผูกจำลองไว้ให้คนขี่ เมื่อช้างยังมิเชื่อง ถ้าอาละวาดตื่นไป จะมิทิ้งคนเสียหรือ แลเมืองตะแคงยังมิราบคาบ พระองค์โปรดให้พระราชบุตรทั้งสองอยู่นั้นมิควร ขอได้แต่งให้ผู้อื่นอยู่จึงจะชอบ

สมเด็จพระเจ้ามนเทียรทองได้ทรงฟังมหาดเล็กกราบทูลดังนั้นก็เห็นชอบด้วย จึงตรัสแก่เสนาบดีว่า เราเลี้ยงเป็นผู้ใหญ่ให้ยศศักดิ์ศฤงคารบริวารเป็นอันมาก หวังจะให้เป็นตาเป็นใจช่วยดูแลผิดชอบ นี่เห็นเราทำผิดแล้วนิ่งเสียมิได้ทัดทาน แต่มหาดเล็กเป็นผู้น้อยยังเห็นผิดว่ามาดังนี้ พระเจ้ามนเทียรทองเห็นมหาดเล็กมีปัญญาหลักแหลมควรจะเป็นเสนาบดีได้ จึงตั้งให้เป็นมังมหาราชา แล้วโปรดพระราชทานประเจียดแผ่ทองคำเป็นเครื่องยศด้วย

ขณะนั้น พอมีหนังสือบอกหัวเมืองรายทางส่งมาซึ่งแตกมาแต่เมืองตะแคงนั้นเข้ามา เสนาบดีจึงกราบทูลพระเจ้ามนเทียรทองว่า กองทัพมอญยกขึ้นมาตีเมืองตะแคงได้ จับเอามังกำมุนี ตละเจ้าเปฟ้า พระราชบุตรทั้งสองพระองค์ไป สมเด็จพระเจ้ามนเทียรทองแจ้งเหตุแล้วทรงพระพิโรธยิ่งนักประดุจดังบุรุษเอาพะเนินเหล็กมาตีขนดหางแห่งพระยานาคราช จึงตรัสว่า เราเสียเมืองตะแคงนั้น เหตุด้วยไปเมืองไทยใหญ่ช้าอยู่ จึงเสียทีแก่มอญ ตรัสสั่งให้เอาเจ้าเมืองไทยใหญ่แลขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งเป็นพวกขบถที่เอามาจำไว้ ณ กรุงอังวะนั้นไปฆ่าเสียสิ้น แล้วพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงให้จัดกองทัพหลวงจะยกไปตีเมืองหงสาวดี แต่เตรียมท่ากองทัพเมืองเชียงใหม่แลผู้ถือหนังสืออยู่เป็นช้านาน กองทัพก็ไม่เห็นยกมา ผู้ถือหนังสือก็หายไป ด้วยยังมิได้เหตุผลเลย จึงแต่งให้มังมหานรธาเป็นทัพหน้าคุมคนสิบทัพ ทัพละหมื่น พะยะมุนี ทัพหนึ่ง แคลงพล ทัพหนึ่ง ตุเรงจ่อ ทัพหนึ่ง ธนูลักขยา ทัพหนึ่ง ธนูเดชะ ทัพหนึ่ง ตุเรงละจาว ทัพหนึ่ง ลักกะยา ทัพหนึ่ง เรติง ทัพหนึ่ง อะเตี่ยวนันทสู ทัพหนึ่ง รวมกันสิบทัพ เป็นคนแสนหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธทั้งปวง เป็นทัพหน้าให้ยกลงมา ณ กรุงหงสาวดีก่อน แต่พระเจ้ามนเทียรทองยังคอยกองทัพเมืองเชียงใหม่อยู่

ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกมายังกรุงหงสาวดีนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งว่า กองทัพพม่ายกลงมา จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงว่า กองทัพยกมาครั้งนี้จะเปิดให้เข้ามาถึงเมืองเราดีหรือ หรือจะรับต้านทานไว้แต่ไกลดี

ฝ่ายสมิงพ่อเพชรจึงทูลว่า ซึ่งจะให้กองทัพพม่ายกล่วงตีเข้ามาถึงชานพระนครนั้นมิควร ข้าพเจ้าจะขออาสายกออกไปรับทัพพม่าไว้แต่ไกลมิให้ยกล่วงเข้ามาได้ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังสมิงพ่อเพชรทูลดังนั้นก็เห็นชอบด้วย ดีพระทัยนัก จึงแต่งสมิงนครอินท์ ทัพหนึ่ง สมิงอังวะมังศรี ทัพหนึ่ง สมิงอุบากอง ทัพหนึ่ง สามทัพนี้เป็นทัพหน้า สมิงชีพราย ทัพหนึ่ง สมิงพ่อแก้ว ทัพหนึ่ง สมิงพระตะเบิด ทัพหนึ่ง สามทัพนี้เป็นทัพหลัง ให้สมิงพ่อเพชรเป็นแม่ทัพหลวง รวมกันเป็นเจ็ดทัพ เป็นคนสองหมื่น ช้าห้าร้อย ม้าพันหนึ่ง ให้ยกออกไปรับทัพพม่า พระองค์ก็เสด็จยกเป็นทัพหนุนไป ครั้นสมิงพ่อเพชรยกมาถึงป่าพวาชายทุ่งทางที่จะมา จึงให้ตั้งทัพอยู่พร้อมกัน พอพม่ายกมาในป่าชายทุ่งข้างหนึ่ง ยังมิออกตกทุ่ง แลเห็นทวนหลังม้าพู่จามรีดุจดังดอกเลาดอกแขม ผงคลีมืดตระหลบไป ได้ยินเสียงเท้ากระทืบเตือนผนังช้างม้าดุจเสียงคลื่นในท้องมหาสมุทร

ขณะนั้น สมิงพ่อเพชรจึงปรึกษากับนายทัพนายกองทั้งปวงว่า ศึกพม่ายกมาครั้งนี้มากนัก กองทัพเราเจ็ดทัพเป็นคนแต่สองหมื่น จะยกเข้าตีพม่าหรือจะตั้งมั่นไว้ให้พม่าตี นายทัพนายกองทั้งปวงจะเห็นประการใด

ฝ่ายสมิงนครอินท์จึงว่า เราเป็นข้าทหารพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวตรัสใช้ให้ขึ้นมารับข้าศึก ถ้าพบเข้าที่ใดก็จะรบที่นั้น แลบัดนี้ พม่ายกมาแล้ว จำเราจะยกเข้าตี สมิงพ่อเพชรจึงตอบสมิงนครอินท์ว่า ซึ่งท่านจะยกเข้าตีนั้นเราเห็นยังไม่ได้ ด้วยว่าศึกแรกยกมามีกำลังดังพระยาไกรสรราชสีห์กล้าหาญยิ่งนัก จะเข้ารบที่กลางทาง ได้ทีก็จะสมคะเน ถ้าเสีย ฝ่ายทัพก็จะซ้ำเติมทับยีเอา ที่ไหนจะตั้งตัวทัน เราคิดว่า จะรายกองทัพซุ่มคนไว้ในป่าไม้ อย่าให้เห็นทัพเราว่ามากแลน้อย ต่อเมื่อใดพม่ายกตกลงมาถึงท้องทุ่งสิ้นพล พอรู้จักกำลังว่ามากแลน้อยแล้ว จึงจะกำหนดธงเสียงฆ้องกลองเข้าตีกระหนาบให้พร้อมกัน ฝ่ายพม่าก็จะเสียทีถลำเข้ามาในหว่างเรา ไม่รู้ว่าพลมากแลน้อย ก็จะแตกยับไป เห็นจะได้ชัยชนะเป็นมั่นคง สมิงนครอินท์จึงว่า ซึ่งน้าท่านว่าดังนี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย อันจะละให้กองทัพตกลงมาถึงท้องทุ่งจึงจะตีนั้น ชอบแต่กำลังศึกน้อยจึงจะได้ ซึ่งกำลังศึกมาก จะละให้ตกถึงท้องทุ่งจนสิ้นพลนั้น ฝ่ายทแกล้วทหารข้างเราน้อย ถ้าเห็นกำลังศึกมากก็จะย่อท้อเสียใจ ไหนจะเป็นอันรบพุ่งเอาชัยชนะได้ ซึ่งน้าท่านจะคิดกลศึกผ่อนผันประการใดก็ตามเถิด แต่ข้าพเจ้าจะยกเข้าตีมิให้ทหารได้เห็นว่า ข้าศึกมากเปรียบเหมือนหักไฟหัวลม น้ำเชี่ยวลองขวางเรือดูสักครั้งหนึ่ง จะไม่ให้อ้ายพม่าตกลงมาถึงท้องทุ่งได้

ฝ่ายสมิงพ่อเพชรก็ว่ากล่าวทัดทานถึงสองครั้งสามครั้ง สมิงนครอินท์ก็มิฟัง จะขืนยกไปให้ได้ สมิงพ่อเพชรก็โกรธจึงว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้เรามาบัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณ เราเป็นผู้ใหญ่ว่ากล่าว ท่านมิฟัง จะขืนเข้าตีให้ได้นั้นก็ตาม แต่อย่าให้เสียทีแก่พม่า ถ้าผู้ใดแตกทัพพม่าลงมาหน้าทัพเรา เราจะตัดศีรษะเสียให้สิ้น เอาโลหิตเซ่นอาวุธเสียทุกเล่ม สมิงนครอินท์ก็มิฟังขืนยกไป

ฝ่ายสมิงพ่อเพชรเห็นสมิงนครอินท์ยกไป จึงว่าแก่สมิงอุบากองแลสมิงอังวะมังศรีว่า อ้ายสมิงนครอินท์ใจมันมุทะลุหัวดื้อสอนยาก เราว่ากล่าวมิฟังคำ ขืนยกไปก็จะแตกมาบัดนี้เป็นแท้ พวกเราเป็นผู้ใหญ่ ครั้นจะละเสียก็มิได้ จะเสียเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไป ท่านทั้งสองยกหนุนไป ถ้าสมิงนครอินท์แตกลงมาอย่าให้เข้ารับ ถ้าเห็นธงเราโบกขวาก็ให้สมิงอุบากองหลีกทัพเข้าชายป่าข้างขวา ถ้าเห็นธงเราโบกซ้ายก็ให้สมิงอังวะมังศรีหลีกทัพเข้าชายป่าข้างซ้าย ให้สงบทแกล้วทหารไว้จงดี อย่าเพ่อรบพุ่ง ต่อเมื่อใดได้ยินเสียงฆ้องกลองสัญญาแล้ว จึงให้ระดมรบกระหนาบพร้อมกัน สมิงอังวะมังศรีแลสมิงอุบากองก็ยกไป ครั้นแล้ว สมิงพ่อเพชรจึงสั่งให้สมิงชีพราย สมิงพ่อแก้ว สมิงพระตะเบิด เข้ารายซุ่มพลตามขอบชายป่า สมิงพ่อเพชรทัพหลวงก็ตั้งรับที่ทางพม่าจะมา

ฝ่ายสมิงนครอินท์ยกขึ้นไปถึงก็มิได้รั้งรอยกเข้าโจมตี พม่าไม่ทันรู้ตัวก็แตกย่นไปจนถึงหน้าทัพมังมหานรธา ทัพมังมหานรธาเห็นรี้พลแตกถอยมาก็ยกเข้าย่อทัพสมิงนครอินท์ ทัพสมิงนครอินท์ต้านทานมิได้เห็นเหลือกำลังก็แตกเข้าในป่า ฝ่ายพม่าได้ทีต่างคนต่างตีลงมาอลวนกันหาเป็นขบวนไม่ สมิงพ่อเพชรเห็นดังนั้นก็ให้โบกธงหลังช้าง สมิงอังวะมังศรี สมิงอุบากอง ก็หลักทัพเข้าชายป่าตามสำคัญ ครั้นพม่าจะใกล้ถึงหน้าทัพ ก็ให้ตีฆ้องกลองตามสัญญา แล้วก็ยกทหารช้างม้าเข้าประดังตีทัพพม่าพร้อม

ฝ่ายทัพสมิงอุบากอง สมิงอังวะมังศรี สมิงชีพราย สมิงพ่อแก้ว สมิงพระตะเบิด ได้ยินเสียงฆ้องกลองสัญญาแล้ว แลเห็นสมิงพ่อเพชรยกออกตี ก็ยกเข้าระดมตีกระหนาบพร้อมกันจนถึงตะลุมบอนเป็นสามารถ กองทัพพม่าเสียขบวนทานมิได้ก็แตก ฝ่ายสมิงนครอินท์ซึ่งแตกทัพแล้วคุมพลทหารเข้าได้ ไปคอยอยู่ในป่าต้นทางนั้น ครั้นเห็นกองทัพหน้าแตกขึ้นไปดังนั้นก็ชวนกันออกก้าวตีสกัดจับพม่าได้ผู้คนช้าม้าแลเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก แล้วก็เร่งรีบหนีลงไปหวังจะนำของเข้าถวายก่อน จะได้ทูลแก้ตัวให้พ้นผิด

ฝ่ายสมิงพ่อเพชรกับนายทัพนายกองทั้งปวงก็บุกรุกไล่ติดตามพม่าขึ้นไป จับได้ผู้คนช้างม้าเป็นอันมาก ครั้นเวลาค่ำ เห็นพม่าหนีไปไกลแล้ว ก็ยกกลับมา ฝ่ายสมิงนครอินท์เอาผู้คนช้างม้าเครื่องศัสตราวุธซึ่งตีได้นั้นนำเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก่อนนายทัพนายกองทัพปวง กราบทูลซึ่งมีชัยชนะ แต่ที่ปราชัยแตกทัพนั้นมิได้ทูล สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังแลทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงพระราชทานรางวัลแก่สมิงนครอินท์เป็นอันมาก

ฝ่ายสมิงพ่อเพชรยกทัพกลับมาถึงแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานรางวัลให้แก่สมิงนครอินท์เป็นอันมากดังนั้น ก็มิได้ขึ้นไปเฝ้ากราบทูลกิจราชการ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งว่า สมิงพ่อเพชรกลับมาถึงแล้วมิได้ขึ้นมาเฝ้า จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หาสมิงพ่อเพชรขึ้นมา ขณะเมื่อสมิงพ่อเพชรขึ้นมาเฝ้านั้น เห็นสมิงนครอินท์เฝ้าอยู่ก็นึกเคือง มิได้แลดูหน้าสมิงนครอินท์ กราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแล้วก็นิ่งอยู่มิได้ทูลประการใด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสถามว่า ท่านไปตีทัพพม่าได้ชัยชนะ กลับมาถึงแล้วเหตุไฉนจึงมิได้ขึ้นมาหาเรา ให้เราคอยอยู่ดังนี้ ท่านน้อยใจเราด้วยเหตุสิ่งใดหรือ

สมิงพ่อเพชรจึงกราบทูลว่า เดิมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่คุมนายทัพนายกองทั้งปวงไปตีทัพพม่า ก็ได้ชัยชนะแล้ว ครั้นกลับมาถึงแจ้งว่า อ้ายเดนตายพม่ามันมาเฝ้าแต่ผู้เดียวแล้วกราบทูลความชอบยกตัวมันก่อน พระองค์ให้ทรงพระกรุณาตรัสใช้ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ไปบัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณ พระองค์มาทรงเชื่อฟังแต่ถ้อยคำอ้ายเดนตาย มิได้ตรัสถามข้าพเจ้าก่อน ทรงพระราชทานบำเหน็จรางวัลเสียแล้ว ข้าพเจ้าจึงมิได้ขึ้นมาเฝ้า

สมิงนครอินท์ได้ฟังสมิงพ่อเพชรกราบทูลดังนั้นก็เถียงตอบขึ้นว่า ถึงข้าพเจ้าแตกก่อนก็จริง แต่พม่าเสียขบวนเพราะข้าพเจ้า ท่านจึงได้ชัยชนะโดยง่าย ข้าพเจ้าแพ้แล้วก็คืนเอาชัยชนะได้ แลข้าพเจ้าก็ได้ช้างม้าเครื่องศัสตราวุธมาทูลเกล้าถวายก่อนนายทัพนายกองทั้งปวงอีก สมิงพ่อเพชรได้ฟังดังนั้นก็โกรธ เอามือชี้หน้าว่า อ้ายหน้าด้าน ไม่มีอาย ช่างเจรจาได้ นี้หากว่าไม่แตกแหวกทัพกูลงมา ถ้าแหวกทัพกูลงแล้ว กูจะตัดศีรษะเสีย ที่ไหนจะขโมยเอาของมาทูลเกล้าถวายได้ก่อน สมิงนครอินท์ได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่มิได้ตอบเถียงต่อไปอีก สมิงพ่อเพชรจึงทูลว่า พลพม่ายกมาครั้งนี้มากกว่ามากนัก แต่แลเห็นทวนบนหลังม้าดังว่าดอกพงดอกเลา เสียงฝีเท้ากระทืบเตือนผนังช้างม้าประดุจดังเสียงคลื่นในท้องมหาสมุทร ผงคลีตระหลบมืดเป็นควันไป ข้าพเจ้าคิดปรึกษากันว่า จะแยกทัพรายคนให้พม่าตกทุ่งเสียทีเข้าในวงก่อน จึงจะระดมกันตี สมิงนครอินท์จะยกเข้าตี คิดหมายได้ชัยชนะฝ่ายเดียว ซึ่งจะแพ้หาเห็นไม่ ข้าพเจ้าห้ามปรามเป็นหลายครั้ง สมิงนครอินท์ก็มิฟังขืนยกเข้าตีก็แตกแก่ข้าศึก นี้หากข้าพเจ้ารับพม่าไว้หยุดจึงได้ชัยชนะ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นว่า สมิงนครอินท์ผิดอยู่ ฝ่ายพระองค์ก็ได้พระราชทานบำเหน็จแก่สมิงนครอินท์ก่อนก็เกินไปแล้ว มิรู้ที่จะทำประการใด อนึ่ง พระองค์ก็ทรงพระเมตตาสมิงนครอินท์อยู่เป็นอันมาก จึงตรัสขอโทษสมิงนครอินท์แก่สมิงพ่อเพชรว่า มันผิดแล้ว แต่ความชอบของมันก็มี เราขอโทษมันครั้งหนึ่งเถิด แล้วก็ทรงคาดโทษสมิงนครอินท์ไว้หวังจะให้กลัวเกรงว่า แต่นี้ไปเมื่อหน้า ถ้ามิฟังผู้ใหญ่ทัดทาน ทำให้ผิดมาดังนี้ กูจะตัดศีรษะเสีย แล้วพระราชทานบำเหน็จแก่สมิงพ่อเพชรแลนายทัพนายกองเป็นอันมาก โปรดให้สมิงพ่อเพชรนั่งเหนือสุจหนี่ยี่ภู่เฝ้าที่เสด็จออก ครั้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกองทัพกลับมายังกรุงหงสาวดี

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องคอยท่าคนผู้ถือหนังสือซึ่งไปเมืองเชียงใหม่นั้นหายไป กองทัพก็มิได้เห็นยกมา ทรงแคลงพระทัยนัก เห็นพ้นกำหนดแล้ว พระองค์ก็ยกกองทัพหลวงตามทัพหน้าลงมา พอล่วงเข้าแดนกรุงหงสาวดีก็พบกองทัพมังมหานรธาซึ่งแตกมานั้น ก็ทรงพระโกรธนัก ฝ่ายมังมหานรธาแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็พากันเข้ามาเฝ้า สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงพระพิโรธเป็นกำลังจึงตรัสว่า กูให้ยกลงมาราวกับห่าฝน คนแสนหนึ่งถึงสิบทัพจะช่วยกันรับต้านทานทัพมอญไว้ท่ากูก่อนก็มิได้ พากันแตกมาสิ้น ทำให้ข้าศึกกำเริบ ก็จะให้มันอยู่เป็นเดนตายอ้ายมอญหนักแผ่นดินพม่าทำไมเล่า กูจะช่วยอ้ายมอญมันฆ่าเอง จึงตรัสสั่งให้เอามังมหานรธาแม่ทัพหน้าแลนายทัพนายกองทั้งปวงซึ่งแตกมานั้นไปฆ่าเสีย

ฝ่ายมังนันทมิตร เสนาบดีผู้ใหญ่ จึงกราบทูลว่า อันธรรมดาสงครามย่อมมีแพ้แลชนะ พระองค์ทรงพระพิโรธแก่ลูกธนูซึ่งยิงสัตว์มิถูก แลจะฟาดฟันหักคันธนูเสียนั้น มิชอบ ควรจะเก็บเอาไว้ยิงสัตว์สืบไปอีกกว่าจะถูกตัวเนื้อเชือดเถือเอามังสะจงได้ ด้วยการสงครามมอญกับพม่ายังติดพันกันอยู่ ข้าพเจ้าจะรับพระราชทานโทษนายทัพนายกองทั้งปวงไว้ให้ทำราชการสงครามแก้ตัวฉลองพระเดชพระคุณอีกครั้งหนึ่ง ถ้าแตกมาทีนี้จึงค่อยโปรดให้ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังมังนันทมิตรทูลดังนั้นก็คลายพระโกรธ จึงพระราชทานโทษให้ แล้วตรัสปรึกษาด้วยมังนันทมิตรเสนาบดีว่า เมื่อทัพหน้าทำให้เสียฤกษ์แตกหนีมาสิ้นดังนี้แล้ว ถึงเราจะยกลงไปก็เห็นจะเอาชัยชนะมิได้ เพราะมอญรู้ตัวเสียแล้ว เห็นจะรักษาเมืองไว้เป็นสามารถ เราจะคิดถอยทัพกลับไปเสียก่อน ปีหน้าจึงยกลงมาใหม่ ท่านจะเห็นประการใด มังนันทมิตรก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็ให้เลิกทัพกลับไปกรุงรัตนบุระอังวะ จึงตรัสสั่งนายกองทั้งปวงให้แบ่งปันพลฝึกหัดทหารใหม่ ซ้อมเพลงอาวุธให้ชำนาญในขบวนรบทุกตัวคน นายทัพนายกองทั้งปวงรับพระราชโองการใส่เกล้าแล้วก็ฝึกหัดทหารรบทั้งสิ้นให้ชำนาญในศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ทหารม้าก็ฝึกหัดให้ชำนาญในเพลงดาบ เพลงทวน เพลงง้าวอันขี่รบกันบนหลังม้า แลให้แคล่วคล่องในการควบขับ เชิงจะหนีทีจะไล่ให้ว่องไว ทหารช้างม้าก็ฝึกหัดให้ชำนาญในขบวนชนช้างรบด้วยช้าง ทหารเดินเท้าก็ซ้อมหัดให้ชำนาญในอาวุธต่าง ๆ คือ ดาบ ดั้ง โล่ เขน หอกซัด แหลน หลาว เกาทัณฑ์ หน้าไม้ สรรพเครื่องอาวุธสำหรับรบครบทุกสิ่ง ทหารเก่าทหารใหม่ฝึกปรือให้แคล่วคล่อง ณ ท้องสนามหลวงทุกวัน

ครั้นรุ่งขึ้นปีใหม่ สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงทรงพระดำริว่า ครั้งก่อน เราให้ทัพหน้ายกลงไปแสนหนึ่งยังน้อยนัก จึงรับทัพมอญมิหยุด ครั้งนี้ เราจะยกลงไปให้มากกว่าเก่าหลายเท่า จะเหยียบแผ่นดินเมืองหงสาวดีให้ราบคาบเป็นหน้ากลอง จึงให้เกณฑ์กองทัพบรรดาเมืองขึ้นแก่กรุงอังวะนั้นสิบเก้าเมือง ได้คนยี่สิบแสน ช้างสองหมื่น ม้าร้อยแสน จะยกลงไปตีกรุงหงสาวดี

ฝ่ายนางมังคลเทวี พระอัครมเหสี จึงเข้ามากราบทูลว่า เมื่อพระองค์ยกลงไปนั้น ข้าพเจ้าป่วยอยู่ มิได้ตามเสด็จ จึงต้องอยู่รักษาเมือง ครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะขอตามเสด็จฝ่าพระบาทด้วย แม้ฉุกเฉินประการใด ข้าพเจ้าจะขอเอาชีวิตร่างกายตายแทนพระองค์สนองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงพระเมตตาบำรุงเลี้ยงข้าพเจ้าให้เย็นเกล้าอยู่สุขทุกเช้าค่ำ สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังก็ชอบพระทัย จึงตรัสว่า ตามใจพระน้องเถิด แล้วพระองค์ตรัสให้จัดกองทัพช้างโดยขบวนพยุหะ ให้เสนาบดีผู้ใหญ่สี่คนอยู่รักษาเมือง ครั้นจัดการแลไพร่พลทั้งปวงเสร็จ ได้มหาพิชัยฤกษ์แล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงพระคชาธาร ประดับเครื่องคชาภรณ์กลางช้างอังพิจิตร ประกอบด้วย พลช้างโคดแล่นโจมทัพดั้งกั้น สารค้ำค่ายแทรกแซง ล้อมวังพังคาเป็นขนัด เสด็จเคลื่อนพยุหโยธาทัพออกจากรุงรัตนบุระอังวะ ครั้งนั้น ดูพิลึกมเหาฬารสะพรั่งพร้อมด้วยทัพท้าวพระยาโยธาหาญแวดล้อมเป็นกันกง ดูดาษไสวด้วยธงเทียวเขียวเหลืองขาวแดงทุกกองทัพ กึกก้องด้วยศัพท์สำเนียงเสียงฝีเท้าพลช้าพลม้าพลบทจรเดินท้าอันเดินโดยขบวนเป็นทิวแถวตามกันเสียงสนั่นครั่นครื้น เปรียบประดุจแผ่นพื้นพระธรณีจะทรุดถล่มลง ผงคลีก็ฟุ้งตระหลบไปในท้องอากาศ เมื่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องยกพลพยุหจัตุรงค์ลงมาครั้งนั้น ศักราช ๗๖๕ ปี ตรัสสั่งให้เดินกองทัพทางคแมช้างหลัง แล้วมาลงเมืองตองอู

ขณะนั้น เจ้าเมืองเตียงซึ่งขึ้นแก่กรุงหงสาวดีแต่งทหารออกลาดตระเวนปลายด่าน ทหารกลับเข้ามาแจ้งว่า กองทัพพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องยกมาจะตีกรุงหงสาวดีรี้พลมากนัก เจ้าเมืองเตียงได้แจ้งแล้วก็แต่งหนังสือให้ม้าเร็วรีบถือลงไปยังเสนาบดี ณ กรุงหงสาวดี ในหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้า เจ้าเมืองเตียง ขอกราบถวายบังคมมายังฝ่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้ทราบ บัดนี้ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องยกทัพหลวงลงมาจะตีพระนครหงสาวดี รี้พลมากเหลือที่จะประมาณได้ ยกลงมาถึงตำบลนั้น วันนั้น เวลานั้น เสนาบดีเจ้าพนักงานก็นำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งเหตุแล้วก็ตรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพโดยเร็ว ได้คนแปดแสน ช้างพลายมีฝีงาสองร้อยช้าง ช้างซึ่งบรรทุกเครื่องห้าร้อยเชือก กองทัพจัดพร้อมแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จยกออกไปรับทัพพม่า ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกองทัพถึงเมืองเตียง เจ้าเมืองรู้ก็ออกมาเฝ้ากราบทูลเชิญเสด็จเข้าประทับพักพลในเมือง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ตรัสว่า เราจะรับยกไป ไม่เข้าไปแล้ว จึงตรัสว่า เจ้าเมืองเตียงเป็นผู้ใหญ่ดี เอาใจใส่ราชการ หมั่นระวังสอดแนมข้าศึก จึงโปรดพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่พระยาเตียงแลทหารทั้งปวงโดยสมควร แล้วตรัสแก่เจ้าเมืองเตียงแลเสนาบดีทั้งปวงว่า เราก็เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ เป็นใหญ่ในพระนครประเทศหนึ่ง ซึ่งจะให้ข้าศึกพม่ายกล่วงเข้ามาเหยียบแดนเรานั้นมิควร อุปมาดังไกรสรราชสีห์อันรักษาถ้ำแก้ว ถ้าให้พยัคฆไกรสรหมู่อื่นเข้าเลียบเที่ยวในแถวถิ่นของตัวแล้ว ก็จะเสียอำนาจตบะเดชะไป หาเป็นเกียรติยศไม่ เราจะออกไปต้านต่อไว้แต่นอกด่านก่อน อย่าให้พม่ายกข้ามด่านเข้ามาได้ จึงจะควร ตรัสแล้วพระองค์ก็ยกไป ให้หยุดทัพพักผ่อนกำลังพล ณ ประเทศแห่งหนึ่งชื่อ ตำบลเตรียบ พอปลงทัพลงยังมิทันจะตั้งค่าย จึงสมิงพ่อเพชรกราบทูลว่า กำลังสงครามครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ยังมิได้พินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ตื้นลึก ซึ่งพระองค์จะยกไปโดยเร็วนั้นมิควร ข้าพเจ้าจะขอแต่งผู้คนให้เล็ดลอดไปสืบดูกำลังศึกก่อน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ทรงเห็นด้วย

สมิงพ่อเพชรจึงแต่งสมิงนครอินท์คุมทหารมีฝีมือหกร้อยคน ให้มักตรีมาร นายทหารผู้หนึ่ง คุมคนร้อยเศษไปด้วยสมิงนครอินท์ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งสมิงนครอินท์ว่า ถ้าพบกองทัพพระเจ้ามนเทียรทองแล้วให้เร่งกลับมา สมิงนครอินท์ก็กราบถวายบังคมลาออกมาแต่งตั้งใส่เกราะขึ้นม้าถืออาวุธ แล้วยกกองทัพไปคืนหนึ่งถึงตำบลแม่น้ำเงียด พอพบไทยใหญ่กองทัพหน้าพระเจ้ามนเทียรทองยกมา เสียงช้างม้าผู้คนในกองทัพอื้ออึงเอิกเกริกประดุจดังเสียงคลื่นแลระลอกในมหาสมุทร

ฝ่ายมักตรีมารแลเห็นแต่ไกล จึงว่าแก่สมิงนครอินท์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งมาว่า ถ้าพบกองทัพแล้วให้เร่งกลับไป บัดนี้ ก็พบกองทัพยกมาแล้ว เราจะพากันกลับไปตามสั่ง สมิงนครอินท์จึงว่า เรายกมาบัดนี้เห็นแต่กองทัพยกมา ยังไม่รู้กำลังศึกว่ามามากร้อยประการใด จะรีบด่วนกลับไปกราบทูลนั้นมิชอบ จำจะแอบดูให้รู้ตระหนักก่อน สมิงนครอินท์จึงขึ้นต้นไม้แฝงกายดูเห็นช้างม้ารี้พลพม่ายกมาเป็นอันมาก เสียงอื้ออึงเอิกเกริกดุจเสียงพายุใหญ่ จึงกลับลงมาพาทหารทั้งปวงเข้าซุ่มอยู่ริมทางมิให้ข้าศึกเห็น ครั้นพม่ายกออกเดินเห็นรี้พลช้างม้าเนื่องกันไปมิได้ขาดดุจสายน้ำไหล ผงคลีตระหลบไปทั้งป่า เสียงฝีเท้าดังหนึ่งแผ่นดินจะถล่ม สมิงนครอินท์แฝงดูอยู่แต่เช้าจนเวลาบ่ายก็มิสิ้นพล จึงคิดว่า พม่ายกมาครั้งนี้รี้พลช้างม้ามากกว่านัก ตัวเราก็เป็นทหารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสใช้มาสอดแนมดูกำลังศึก บัดนี้ พบข้าศึกแล้ว จะกลับไปเปล่าก็มิชอบ จำจะยกเข้าโจมตีดูกำลังศึก จะเห็นประการใด สมิงนครอินท์ก็พาพลออกโจมตีตัดกลางทัพพระเจ้ามนเทียรทองขาดออก ฝ่ายพลพม่าตายลงประมาณร้อยหนึ่ง ก็แตกย่นลงไปจนถึงหน้าช้างพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง สมิงนครอินท์ก็พาพลทหารเข้าป่าไป

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเห็นดังนั้นสงสัยพระทัยนัก ทรงพระดำริว่า กองทัพพระเจ้าราชาธิราชมาตั้งซุ่มอยู่ แล้วให้ทหารยกออกมาโจมตี ครั้นจะตั้งลงที่นั้นก็เป็นป่าเปล่า รี้พลช้างม้าไม่มีที่จะอาศัย จึงให้ถอยทัพมาตั้งมั่นอยู่แนวแม่น้ำเงียดเป็นที่เหล่าน้ำหญ้า แล้วให้แต่งกองร้อยคอยเหตุไปสอดแนมดูทัพมอญว่า จะตั้งอยู่ตำบลใด ให้ได้เนื้อความจงแน่

ฝ่ายสมิงนครอินท์ก็พาพลรีบมาถึงตำบลเตรียบที่กองทัพตั้งอยู่นั้น เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชกราบทูลว่า ข้าพเจ้ายกไปถึงตำบลแม่น้ำเงียด พบกองทัพพม่ายกมา ข้าพเจ้าแอบแฝงดูอยู่แต่เวลาเช้าจนบ่ายก็มิได้สิ้นสุด พลอันพม่ายกมาครั้งนี้ รี้พลจะกำหนดด้วยหมื่นนั้นก็มิได้ จะนับด้วยแสนก็สุดประมาณ ดูมากกว่ามาก ข้าพเจ้าจึงยกทหารเข้าโจมตี เห็นเหลือกำลังนักจึงถอยมา



(ยังมีต่อ)



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร




เล่ม ๑๕ ขึ้น เล่ม ๑๗