ราชาธิราช/เล่ม ๕

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๕




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๑๙๓–๒๔๐ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๕




  • ตั้งแต่พระยาน้อยไปขอสามเณรต่อสมภารมาสึกให้ทำราชการ ชื่อ มังกันจี
  • แล้วประชุมกันทำการรำผี จนถึงพระยาน้อยหนีไปจากเมือง





ฝ่ายพระยาน้อย สมิงมะราหู รับคำมหาเทวีแล้ว สมิงมะราหูให้ยกเครื่องโภชนากระยาหารสุราบานออกมา ชวนพระยาน้อยเสวยด้วยกัน แล้วสมิงมะราหูจึงว่าแก่พระยาน้อยว่า ถ้าสมเด็จพระบิดาสวรรคตแล้ว พระองค์ก็จะได้ครองราชสมบัติเป็นเอกราช แล้วข้าพเจ้าจะขอพึ่งพระองค์ให้มีความสุขสืบไป พระยาน้อยจึงตอบสมิงมะราหูว่า ราชสมบัตินี้พระราชบิดาปลงพระทัยไว้กับพ่อขวัญเมือง พี่ว่าดังนี้หาควรไม่ แต่นี้ไปพี่อย่าเจรจาเช่นนี้ สมิงมะราหูจึงตอบว่า ถึงมาตรว่าสมบัติจะได้แก่พ่อขวัญเมืองก็ดี พระองค์ก็เป็นสายโลหิตเดียวเหมือนกัน ตัวข้าพเจ้านี้เป็นแต่ไม้กาฝาก จะได้พึ่งบุญพระองค์สืบไป

ฝ่ายพระยาน้อยได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่ แล้วสมิงมะราหูกับพระยาน้อยถ้อยทีทำความสัตย์ต่อกัน สมิงมะราหูเอามีดสับเอาเลือดอกปนสุราใส่จอกส่งให้พระยาน้อย พระยาน้อยก็รับเสวยเข้าไป ฝ่ายพระยาน้อยก็สับเอาเลือกอกปนสุรา แล้วใส่จอกส่งให้แก่สมิงมะราหู สมิงมะราหู ครั้นรับเอาแล้ว สมิงมะราหูแสร้งใส่กลว่าร้อน ก็เอาพัดพัดให้เทียนดับ ครั้นเทียนดับแล้วก็เทสุราบานน้ำสบถนั้นเสีย ตละแม่ศรีก็ยื่นจอกน้ำขมิ้นกับปูนซึ่งปนไว้กับสุรานั้นใส่ปลอมออกมาให้แก่สมิงมะราหู สมิงมะราหูจึงให้จุดเทียนมา แล้วสมิงมะราหูกินสุราปนขมิ้นกับปูนต่อหน้าพระยาน้อย ซึ่งสมิงมะราหูทำเล่ห์กลทั้งนี้ บ่าวพระยาน้อยคนหนึ่งชื่อ อ้ายท้าวกุล รู้ว่าสมิงมะราหูแต่งเล่ห์กล มิได้ซื่อตรงต่อพระยาน้อยเจ้าของตน ก็สะกิดพระบาทพระยาน้อยสองครั้งสามครั้ง พระยาน้อยคิดว่า ชะรอยจะมีเหตุสักสิ่ง อ้ายท้าวกุลจึงสะกิดเท้าเราทั้งนี้ พระยาน้อยจึงว่าแก่สมิงมะราหูว่า มืดหนักแล้ว ข้าจะลาพี่ไปก่อน พระยาน้อยก็ลุกจากตำหนักสมิงมะราหู ขึ้นเสลี่ยงไปยังตำหนัก ครั้นไปถึงตำหนักแล้วก็ถามอ้ายท้าวกุลว่า เอ็งสะกิดเท้าเราเมื่อกี้นั้นด้วยเหตุประการใด อ้ายท้าวกุลจึงทูลพระยาน้อยว่า ข้าพเจ้าสะกิดพระบาทนั้น ด้วยเหตุว่าสมิงมะราหูทำสัตย์กับพระองค์มิได้ซื่อตรง ส่วนว่าเลือดสมิงมะราหู พระองค์เสวย ส่วนพระโลหิตในอุระพระองค์ สมิงมะราหูมิได้เสวย แสร้งเพโทบายเป็นร้อนแล้วเอาพัดมาพัดให้เทียนดับ ก็เทสุราปนโลหิตเสีย ตละแม่ศรีจึงส่งสุราปนขมิ้นกับปูนยื่นให้สมิงมะราหูกิน สมิงมะราหูจะได้กินน้ำสุราปนโลหิตในพระอุระพระองค์หามิได้ สมิงมะราหูทำดังนี้ ข้าพเจ้าเห็น ข้าพเจ้าจึงสะกิดพระบาทพระองค์ พระยาน้อยครั้นได้ฟังอ้ายท้าวกุลว่าดังนั้นก็เห็นจริงด้วย ก็ทรงพระโกรธ แล้วจึงว่า พี่เราป้าเราทั้งสอง ภายหน้าไปจงให้เราได้เห็นความทุกข์ความยาก อย่าแคล้วแก่ตาเราเลย อันตัวอ้ายสมิงมะราหูนี้ เดชบารมีเราไปภายหน้าได้เป็นใหญ่แล้วจะสับเสียมิให้กากลืนแค้นคอ แต่เอ็งเป็นคนซื่อสัตย์ต่อเจ้า ได้บอกเหตุร้ายดีให้แก่เราดังนี้ เราขอบใจนัก อนึ่ง ตัวเรานี้ก็เป็นลูกหลายพระเจ้าช้างเผือกมาถึงแปดพระองค์จริงแล้วไซร้ ขอจงเทพยดาอารักษ์ทั้งหลายช่วยเราให้ได้ดุจหนึ่งปรารถนาเถิด

ฝ่ายตละแม่ท้าวได้ยินพระยาน้อยแลอ้ายท้าวกุลเจรจาด้วยกันดังนั้น ตละแม่ท้าวจึงถามพระยาน้อยว่า พระองค์เจรจากับอ้ายท้าวกุลนั้นด้วยเหตุอันใด พระยาน้อยจึงบอกเหตุการณ์เรื่องสมิงมะราหูกับตละแม่ศรีทำเล่ห์กลทั้งปวงให้ตละแม่ท้าวฟังทุกประการ ตละแม่ท้าวได้ฟังก็หัวเราะว่า พระเจ้าป้าของพระองค์จะได้ผัวหนุ่ม พระองค์จะไม่ยินดีหรือ ความคิดของพระเจ้าป้านั้นจะใคร่ฆ่าพระองค์กับข้าพเจ้าแลพ่อลาวแก่นท้าวเสีย แล้วจะให้สมิงมะราหูเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้าได้ยินเนื้อความดังนี้เป็นนิตย์ทุกวันมิได้ขาด แลความดังนี้จริงหรือมิจริง ข้าพเจ้ามิได้ทราบ ครั้นข้าพเจ้าจะบอกแก่พระองค์เล่า เห็นเป็นข้าพเจ้ายุยงให้สมเด็จพระเจ้าป้ากับพระองค์มีความรังเกียจแก่กัน เหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงมิได้บอกแก่พระองค์ ครั้นพระยาน้อยได้ฟังตละแม่ท้าวว่าดังนั้นก็ทรงพระโทมนัส น้ำพระเนตรตกจากคลองพระเนตร ครั้นรุ่งเช้า พระยาน้อยจึงให้หาแม่นมชื่อ มุอายลาว เข้ามา ครั้นแม่นมมาถึงแล้วจึงถามว่า เหตุการณ์สิ่งใดพระองค์จึงให้หาข้าพเจ้ามา พระยาน้อยจึงว่า ข้ามิได้กินนมแม่นานมาแล้ว แลบัดนี้ ข้าอยากนมแม่ ข้าจะใคร่ได้กินนม จึงให้หาแม่มา พระยาน้อยก็เอาผ้าที่ห่มนั้นวางลงเหนือตักแม่นม แล้วก็เอนพระองค์บรรทมลงที่ตักแม่นมนั้น แม่นมพิศดูพระพักตร์พระยาน้อยแล้วก็ร้องไห้ น้ำตาไหลลงถูกพระอุระพระยาน้อย พระยาน้องจึงตรัสถามว่า ด้วยเหตุประการใดแม่จึงร้องไห้ดังนี้ แม่นมจึงทูลว่า ข้าพเจ้าเลี้ยงพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์อยู่จนใหญ่ถึงเพียงนี้แล้ว คิดว่าจะได้พึ่งพระบารมีสืบไป บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ยินพระเจ้าป้าของพระองค์คิดความใหญ่หลวงนัก ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจจงรักภักดีต่อพระองค์นั้น เห็นว่าจะเสียแรงรัก ข้าพเจ้าจึงร้องไห้เพราะเหตุดังนี้

พระยาน้อยได้ฟังคำแม่นมว่าดังนั้นก็ตรัสว่า อันแม่นมรักข้า ข้าก็คิดรักแม่ดุจเดียว จึงให้หาแม่มาทั้งนี้หวังจะให้แจ้ง มุอายลาวจึงบอกความซึ่งพระมหาเทวีแลสมิงมะราหูทำชู้แล้วคิดอ่านกันให้พระยาน้อยแจ้งทุกประการแล้ว ครั้นแล้วมุอายลาวก็ลาไป ตั้งแต่วันนั้นมา พระยาร้อยก็หาไว้ใจไม่ ครั้นอยู่มา สมิงมะราหูจะไปเที่ยวเล่นทุ่ง มาชวนพระยาน้อย พระยาน้อยบอกว่า ข้าไม่สบาย พี่จะไปก็ไปเถิด ถ้าพี่ไปได้ฝักบัวเหง้าบัวเอามาฝากข้าบ้าง สมิงมะราหูชวนพระยาน้อยไม่ไปแล้ว สมิงมะราหูก็กลับมาบ้าน

อยู่มา สมิงมะราหูมาชวนพระยาน้อยไปไหว้พระ พระยาน้อยว่า ไปก่อนเถิด วันอื่นข้าจึงจะไป ตละแม่ท้าวจึงบอกแก่พระยาน้อยว่า สมิงมะราหูชวนไปทั้งนี้ คิดจะทำร้ายพระองค์ดอก อย่าไว้พระทัย พระยาน้อยบอกว่า ข้ารู้แล้ว ครั้นอยู่มา สมิงมะราหูมาชวนพระยาน้อยไปไล่เนื้ออีกครั้งหนึ่ง พระยาน้อยว่า ช้างม้าไม่มี จะขอยืมช้างพี่ขี่ไปสักตัวหนึ่ง สมิงมะราหูก็ให้เอาช้างพังหางด้วนมาให้แก่พระยาน้อยตัวหนึ่ง ตละแม่ท้าวจึงว่า สมิงมะราหูสิจะคิดทำร้ายพระองค์อยู่ ทำไมจึงจะไปด้วยเขาเล่า พระยาน้อยจึงว่าแก่ตละแม่ท้าวว่า สมิงมะราหูได้มาชวนหลายหนแล้ว จะมิไปก็ไม่ควร จำจะไปด้วย แต่ว่าข้าไปถึงกลางทางแล้วจึงให้คนไปบอกข้าว่าลูกเจ็บ ข้าจะกลับมา พระยาน้อยกับสมิงมะราหูก็พากันไป ครั้นไปถึงประตูเมือง พระยาน้อยเห็นช้างกันพิรุมของสมิงอายพะดาย พระยาน้อยจึงว่าแก่มะกะตะ นายช้าง ว่า กูจะเอาช้างตัวนี้ไปหน่อยหนึ่ง มะกะตะ นายช้าง จึงทูลว่า ข้าพเจ้ากลัวสมิงอายพะตายลุงของพระองค์อยู่ พระยาน้อยจึงใช้พ่อมอญไปหาสมิงอายพะตายขอยืมช้างพลายกันพิรุมไปไล่เนื้อหน่อยหนึ่ง สมิงอายพะตายก็ยอมให้ พระยาน้อยก็เทียมช้างพังนั้นเข้าริมพลายกันพิรุม แล้วก็ขี่ช้างพลายกันพิรุมไป แลสมิงมะราหูขี่ช้างพลายเดินไปก่อน พระยาน้อยขี่ช้างพลายกันพิรุมตามไป ครั้นถึงกลางทาง อ้ายท้าวกุลไปบอกว่า พ่อลาวแก่นท้าวมีอันเป็นป่วยหนัก ขอเชิญเสด็จพระองค์กลับไปก่อน พระยาน้อยจึงบอกแก่สมิงมะราหูแล้วก็กลับเข้าไปเมือง ครั้นกลับเข้ามา สมิงมะราหูไปถามข่าวว่า พ่อลาวแก่นท้าวป่วยเป็นประการใด พระยาน้อยบอกว่าหายแล้ว

ครั้นอยู่มาประมาณสามวัน พระมหาเทวีกับสมิงมะราหูคิดการใหญ่หลวงขึ้น ชาวเมืองทั้งปวงพูดจากัน กิตติศัพท์แจ้งไปถึงพระยาน้อย พระยาน้อยก็สะดุ้งพระทัย จึงให้หาพ่อมอญเข้าไปปรึกษากันว่า บัดนี้ เขาคิดการใหญ่หลวงขึ้นแล้ว ผู้คนเราก็น้อย จะคิดทำการไม่ถนัด จำเราจะออกไปเล่นตีคลี ณ วัดพระมุเตาเนือง ๆ จะได้ซ่องสุมผู้คนคิดทำการต่อไป ครั้นคิดกันแล้วก็ออกไป ณ วัด ตีคลีเล่นอยู่เนือง ๆ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระยาน้อยไป ณ วัด นั่งดูคนตีคลีอยู่ จึงเหลือบเห็นตาปะขาวคนหนึ่งเดินมาที่ลานพระมุเตา พระยาน้อยเห็นประหลาด จึงเดินเข้าไปหา ถามว่า ท่านมาแต่ที่ใด ตาปะขาวผู้นั้นบอกว่า มาแต่ทิศตะวันตก อยู่ป่าโคธาราม มาบัดนี้ปรารถนาจะใคร่พบลูกพระเจ้าช้างเผือกหน่อยหนึ่ง พระยาน้อยจึงถามว่า ท่านจะสนทนาด้วยกิจอันใด ตาปะขาวผู้นั้นจึงบอกว่า ข้าพเจ้ามาหวังจะบอกเนื้อความลูกพระเจ้าช้างเผือกให้ทราบ ถ้าลูกพระเจ้าช้างเผือกจะปรารถนาเอาราชสมบัติในเมืองพะโคแล้ว ก็ให้รักษาปัญจางคิกศีล แล้วจงไปข้างทิศตะวันตก จะได้พบกัลยาณมิตรเป็นบุรุษอกระฎุมพีผู้หนึ่ง อยู่ ณ บ้านพะลาคา เป็นข้าพระเกศธาตุอยู่ ณ เมืองตะเกิง ผู้นั้นมีปัญญาสุขุมภาพ จะได้เป็นครูท้าวพระยา รู้จบไตรเพท แลบุรุษผู้นั้นเกิดในวันอังคาร บัดนี้ อายุได้สิบหกปีแล้ว ผู้นั้นจะกล่าวปริศนาสามบท ถ้าบพิตรแก้ปริศนาสามบทได้ ผู้นั้นก็จะได้เป็นคู่คิดกับพระองค์ พระองค์จะได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวง จะได้ยกย่องพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป ว่าดังนั้นแล้วก็อันตรธานหายไปในที่เฉพาะพระเนตรพระยาน้อย แลเมื่อตาปะขาวหายไปในทันใดนั้นแผ่นดินไหว แลมังโยธยา คนหนึ่ง มังตะราว คนหนึ่ง อยู่ด้วยพระยาน้อย พระยาน้อยจึงว่า ซึ่งตาปะขาวหายไปเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหวดังนี้ ชะรอยเทพยดามาบอกเหตุแก่เรา เราจะกลับเข้าไปในเมืองพะโค แต่งเครื่องบูชา พระยาน้อยก็กลับเข้ามาเมือง จึงแต่งเครื่องบูชาพระพุทธเจ้าที่หนึ่ง บูชาเทพยดาที่หนึ่ง แล้วจึงให้หามะสอดมา ใช้ให้มะสอดไปดูข้าพระพุทธเจ้า ณ เมืองตะเกิงซึ่งอยู่ ณ บ้านพะลาคา จะพูดจาเป็นปริศนาประการใดบ้าง ถ้าพบผู้นั้นแล้ว ให้จำตัวไว้ให้แน่ แล้วจดหมายเอาปริศนานั้นมา มะสอดรับคำพระยาน้อยแล้วก็ลามาบ้าน แลมะสอดอยู่บ้านมะสร้อยใกล้กันกับบ้านพะลาคาทางครึ่งวัน มะสอดก็ไปฟังปริศนาตามพระยาน้อยสั่งนั้น ครั้นมะสอดมาถึงบ้านพะลาคา เห็นมะอะนัน นายบ้าน กับมะทะยันตะโกง ชนไก่กันอยู่ใต้ต้นไทรแทบคันสระริมทางเดิน มะสอดเข้าหยุดอยู่ พอพระสามเณรพุทธญาณผู้มีปัญญาเดินมา มะอะนัน นายบ้าน เห็นจึงถามว่า เจ้าสามเณรจะไปไหน สามเณรพุทธญาณจึงบอกว่า ท่านสมภารใช้ข้าไปดูโยมป่วย นายบ้านจึงว่าแก่สามเณรว่า ข้าจะไปเยือนด้วยยังไม่เปล่า ถ้าเจ้าเณรไปแล้วกลับมาบอกอาการแก่ข้าด้วย สามเณรพุทธญาณไปดูโยมแล้วก็กลับมา มะอะนัน นายบ้าน เห็นจึงถามว่า โรคโยมนั้นเป็นประการใด สามเณรบอกเป็นปริศนาว่า จะเป็นราหูก็ใช่ จะเป็นตัวคะก็ใช่ ครั้นถามว่า แน่ ลงข้างไหนก็กลัวจะเป็นเท็จ เหมือนโยมไถนามาถึงคันนาแล้วก็กลับมาสอยผลพุทราอ่อนลากข้าง แลโรคโยมป่วยนั้นก็เป็นเหมือนรูปบอกดังนี้ คนทั้งปวงได้ฟังสามเณรว่าไม่เข้าใจก็หัวเราะเยาะเล่น

ฝ่ายมะอะนั้น นายบ้าน จึงว่าแก่คนทั้งปวงว่า สามเณรองค์นี้มีปัญญาเรียนคัมภีร์จบไตรเพทหาผู้ใดจะเสมอไม่ อย่าประมาท ครั้นมะสอดได้ฟังสามเณรปริศนาลึกลับประหลาดนัก คนทั้งปวงหารู้ไม่ มะสอดก็จำตัวสามเณรไว้แล้วจดหมายปริศนากลับมาทูลพระยาน้อย พระยาน้อยจึงพาเอาตัวมะสอดออกไป ณ พระมุเตา จึงนมัสการพระมุเตาแล้วอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้เป็นใหญ่ครอบครองอาณาประชาราษฎรในเมืองพะโคแล้วไซร้ เดชะคุณพระศรีรัตนตรัยเจ้า ขอให้เทพยดาทั้งปวงดลใจข้าพเจ้าให้แก่ปริศนานี้ออกเถิด พระยาน้อยก็ดำริแจ้งในอรรถปริศนาซึ่งสามเณรพุทธญาณว่ามานั้น ซึ่งว่าจะเป็นอักษรคะก็ใช่ จะว่าราหูก็ใช่ สามเณรว่าดังนี้เป็นอรรถปริศนา เห็นจะได้แก่ตัวเลขแปด ด้วยตัวเลขแปดข้างรามัญนั้นเป็นรูปอักษรคะ สามเณรจึงว่า จะเป็นคะก็ใช่ จะเป็นราหูก็ใช่ ข้อซึ่งสามเณรว่า จะว่าเป็นแน่ก็กลัวจะเป็นเท็จนั้น ด้วยอาการโยมสามเณรซึ่งป่วยนั้นจะกำหนดเป็นแน่ยังไม่ได้ จึงเปรียบตัวเลขแลตัวอักษรคะ ซึ่งว่าไถนามาถึงคันนาแล้วกลับวัวมานั้น ฝ่ายรามัญขับวัวว่าอะแซ้ ข้อซึ่งว่าสอยพุทราอ่อนลากข้างนั้นได้แก่ตัวอะรามัญลากข้าง พระยาน้อยจึงเอาอักษรสามตัวประสมกันเข้าเป็น อะแซ้ว่า แลอธิบายว่า โยมสามเณรจะตายมิวันนี้ก็พรุ่งนี้ พระยาน้อยจึงให้มะสอดไปดูโยมสามเณร โยมสามเณรก็ตายในวันนั้น ต้องปริศนาที่พระยาน้อยแก้ มะสอดก็กลับมาทูลแก่พระยาน้อย พระยาน้อยก็นิ่งไว้แต่ในพระทัย

ครั้นอยู่มา สามเณรพุทธญาณนั้นมารดาเป็นม่าย เป็นหนี้มะง้าวรอด นายบ้าน อยู่เป็นดีบุกเจ็ดสิบชั่ง สามเณรนั้นมีพี่ชายคนหนึ่ง ฟังคำเมียหนีมารดาไป หาอยู่เลี้ยงมารดาไม่ ฝ่ายมะง้าวรอดจึงให้เกาะเอามารดาสามเณรไว้ใช้เป็นทาสแทนดีบุก แลสามเณรคิดกตัญญูต่อมารดาว่า มารดาไปเป็นข้ามะง้าวรอดอยู่ ก็มีความรำคาญใจ สามเณรจึงเอาความไปแจ้งแก่พระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า มารดาข้าพเจ้าเป็นข้ามะง้าวรอด มะง้าวรอดเอาตัวไปไว้ใช้ ข้าพเจ้าจะขอสึกออกไปให้มะง้าวรอดใช้แทนมารดา พระสังฆราชจึงว่าแก่สามเณรว่า เจ้าเณรมีปัญญารู้จบไตรเพท ข้าเอ็นดูหนัก ครั้นจะห้ามเจ้าเณรไว้ ทรัพย์สิ่งของก็ไม่มีจะให้เจ้าเณร เจ้าเณรจะไปแทนคุณมารดาก็ไปเถิด สามเณรก็ลาพระสังฆราช สึกออกแล้วเขาก็เรียกว่า มังกันจี ไปรับใช้แทนมารดา

ครั้นอยู่มา มะง้าวรอดให้มังกันจีคุมเด็กไปเลี้ยงโค ณ ทุ่งนา ขณะนั้น พระยาน้อยให้มะสอดมาฟังปริศนาอีกครั้งหนึ่ง ครั้นมะสอดลงมาถึงที่สามเณรอยู่นั้นไม่พบสามเณร มะสอดสืบรู้ว่าสามเณรสึกออกไปเป็นทาสใช้แทนมารดาอยู่ด้วยมะง้าวรอด มะสอดจึงตามไปพบมังกันจีเลี้ยงโคอยู่กับหมู่เด็กบนต้นไทร มะสอดก็นั่งคอยดูอยู่ที่นั้น พอบุตรมะง้าวรอดมาถามมังกันจีว่า โคหายไปได้แล้วหรือ มังกันจีจึงบอกเป็นปริศนาว่า ข้าขึ้นไปบนต้นไม้ ไม่เห็นจึงได้เห็น ถ้าเห็นแล้วก็ไม่เห็น บุตรมะง้าวรอดได้ฟังมังกันจีว่าดังนั้น หารู้ในปริศนาไม่ ก็สงสัยอยู่

ฝ่ายมะสอดได้ฟังมังกันจีว่าเป็นปริศนา ก็จดหมายเอาปริศนานั้นมาทูลพระยาน้อยว่า สามเณรพุทธญาณซึ่งบวชอยู่ว่าปริศนาครั้งก่อนนั้น บัดนี้ สึกออกจากเณรไปเลี้ยงโค ว่าปริศนาอีกบทหนึ่ง มะสอดจึงเอาปริศนามังกันจีทูลพระยาน้อย พระยาน้อยได้ฟังปริศนามังกันจีแล้วก็แก้ปริศนามังกันจีว่า ขึ้นต้นไม้ไม่เห็นจึงได้เห็นนั้น ชะรอยต้นไม้นั้นเป็นโพรง มีอสรพิษอยู่ เมื่อขึ้นไปไม่เห็นงูจึงเห็นโค ปริศนาซึ่งว่าไม่เห็น แลซึ่งว่าถ้าเห็นแล้วก็ไม่เห็นนั้น เมื่อแรก มังกันจีจะขึ้นไปดูโคบนต้นไม้นั้น ถ้าเห็นงูก่อนแล้วก็ไม่ได้เห็นโค จึงได้กล่าวปริศนาว่า ถ้าเห็นแล้วไม่ได้เห็น พระยาน้อยแก้ปริศนาแล้วจึงอธิษฐานแต่ในพระทัยว่า ถ้าจะได้เป็นกษัตริย์สืบไป ปริศนามังกันจีซึ่งว่านี้ขอให้แก้ถูกเถิด พระยาน้อยจึงให้มะสอดไปดูที่ต้นไม้นั้น มะสอดก็เห็นงูเห่าในโพรง จึงกลับมาทูลพระยาน้อย พระยาน้อยก็มีความยินดีนัก

ครั้นอยู่มา มารดามังกันจีคิดถึงมังกันจีมีกตัญญูไปตกทุกข์ได้ยากเพราะเราช้านานแล้ว มารดามังกันจีจึงไปหาพระมหาเถรผู้เป็นพี่ชาย ณ วัดเกลาะนิพพาน แล้วอ้อนวอนว่า มังกันจีไปเป็นทาสใช้แทนข้าพเจ้ามาช้านานแล้ว ขอให้พระคุณช่วยกรุณาไปไถ่เอามังกันจีมาไว้บวชเรียนเถิด พระมหาเถรได้แจ้งแล้วก็มีจิตกรุณาสงสาร จึงบอกกล่าวเรี่ยไรสัปปุรุษได้ดีบุกหนักเจ็ดสิบชั่งให้มารดามังกันจีไปไถ่เอามังกันจีมา มารดามังกันจีจึงเอาดีบุกเจ็ดสิบชั่งนั้นไปให้มะง้าวรอด แล้วพาเอามังกันจีมายังพระมหาเถร พระมหาเถรก็บวชมังกันจีเป็นสามเณรอยู่วัดเกลาะนิพพาน

ฝ่ายพระยาน้อยจึงให้มะสอดลงมาฟังปริศนามังกันจีอีกครั้งหนึ่ง มะสอดมาถึงบ้านมะง้าวรอดไม่พบมังกันจี สืบรู้ว่า มังกันจีไปบวชอยู่ ณ วัดเกลาะนิพพาน ก็ตามมังกันจีไปยังอาราม

ขณะนั้น พระมหาสมนิตร์ลงมากวาดวัดที่ลานพระอุโบสถ พอสามเณรพุทธญาณได้ลูกเป็ดหงส์ตัวหนึ่งห่อสบงเดินมา พระมหาสมนิตร์เห็นสามเณรห่อสบงเดินมา ก็ถามว่า เจ้าเณร ห่ออะไรมานั้น สามเณรบอกเป็นปริศนาว่า ซึ่งข้าพเจ้าห่อมานี้ พม่าเรียกว่า แดง รามัญเรียกว่า โกล์ คนทั้งปวงซึ่งนั่งอยู่นั้นได้ยินสามเณรว่าดังนั้นก็ติเตียนสามเณรว่า พระมหาสมนิตร์เป็นผู้ใหญ่ เจ้าเณรไม่บอกออกให้แจ้ง เจ้าเณรว่ากล่าวเป็นคำตลกคะนองไปดังนี้ ไม่สมควร พระมหาสมนิตร์ก็นิ่งอยู่

ฝ่ายมะสอดซึ่งมาฟังปริศานั้นก็จดหมายเอาถ้อยคำกราบทูลพระยาน้อย พระยาน้อยได้ฟังก็แก้ปริศนาของพระสามเณรซึ่งมะสอดจดหมายมา ในปริศนาว่า แดง นั้น แปลออกเป็นคำไทยว่า หงส์ รามัญเรียกว่า โกล์ แปลออกเป็นไทยว่า ลูก สามเณรได้ลูกเป็ดหงส์ห่อมา แลปริศนาสามเณรบทนี้เป็นกัลยาณนิมิตมั่นคง แล้วเทพยดาก็บอกเราแต่ก่อน เราก็แก้ปริศนาสามบทได้ เราคงจะได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศแท้ แล้วเจ้าเณรว่าปริศนาสามบทนั้น มะสอดจะเห็นควรประการใด มะสอดจึงทูลว่า เจ้าเณรองค์นี้กอปรด้วยปัญญาวิชาไตรเพท แต่เป็นคนทุคตะ มารดาเป็นหนี้เขาอยู่ ครั้นพระยาน้อยได้ฟังก็ยินดีในพระสามเณรยิ่งนัก อยู่มา ณ วันหนึ่ง เวลาเช้า พระยาน้อยสั่งให้มะสอดกับมหาดเล็กสี่คนให้จัดเอาผ้าเหลืองไตรหนึ่ง ผ้าขาวหน้าตรา ผ้าแดงห้าตรา ของทั้งนี้ให้เอาไปถวายสมภารลุงเจ้าเณรพุทธญาณ แล้วให้จัดผ้าพรรณนุ่งห่มเครื่องใช้สอยกับเงินตราห้าชั่งให้แก่มารดาสามเณร แล้วจงบอกแก่สมภารแลมารดาสามเณรว่า เราจขะขอสามเณรพุทธญาณมาไว้ มะสอดกับมหาดเล็กสี่คนรับเอาเงินตราห้าชั่งกับสิ่งของทั้งปวง แล้วกราบถวายบังคมลาออกมากับคนถือของยี่สิบเจ็ดคน มาถึงวัดเกลาะนิพพาน ไปหาสมภาร นมัสการ แล้วถวายสิ่งของทั้งปวงซึ่งพระราชทานมานั้น แล้วแจ้งเนื้อความตามรับสั่งทุกประการ สมภารได้ฟังก็มีความยินดีนัก ว่า อายุอาตมภาพถึงหกสิบแปดปีแล้ว บวชมาในพระพุทธศาสนาได้สี่สิบเจ็ดพรรษา รูปขออุทิศส่วนกุศลถวายไปแก่ลูกพระเจ้าช้างเผือกเถิด ถ้ารูปยังหนุ่มอยู่ ก็จะสึกออกไปทำราชการอยู่ด้วยพระเจ้าช้างเผือก ทุกวันนี้ก็แก่เฒ่าไปแล้ว กำลังก็น้อย จะทำราชการไปนั้นมิได้ แล้วสมภารจึงให้คนไปเรียกมารดาเจ้าสามเณรมา สมภารจึงให้เอาเงินห้าชั่งกับผ้าพรรณนุ่งห่มอันเป็นส่วนพระราชทานมารดาเจ้าสามเณรนั้นส่งให้ แล้วบอกว่า สิ่งของทั้งนี้พระราชโอรสพระเจ้าช้างเผือกให้เอามาพระราชทาน พระองค์มีพระทัยปรารถนาจะขอเอาเจ้าสามเณรพุทธญาณไปไว้ มารดาเจ้าสามเณรได้รับพระราชทานแล้วก็มีความโสมนัสยินดีนัก แล้วว่าแก่สามเณรพุทธญาณว่า พระราชบุตรมีรับสั่งมา จะขอเจ้าสามเณรไปไว้ เจ้าเณรจะคิดประการใด สามเณรพุทธญาณจึงว่า ตัวข้าพเจ้านี้อยู่ในแผ่นดินของท่าน ก็เป็นข้าแผ่นดิน ซึ่งพระลูกเจ้าทรงพระเมตตาโปรดพระราชทานสิ่งของทั้งนี้มาเป็นส่วนของขรัวลุงแลส่วนของมารดา หวังจะใคร่ได้ตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหรือจะไม่สมัครเล่า มาตรแม้นพระองค์ไม่ทรงพระเมตตาโปรดพระราชทานข้าวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย จะเอาไปใช้เปล่า ๆ ก็จะขัดได้หรือ จำจะต้องไป ควรที่ข้าพเจ้าจะภักดีตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ จึงจะชอบ

มารดาได้ฟังสามเณรว่าดังนั้นก็ร้องไห้กอดสามเณรเข้า แล้วก็พิไรรำพันให้ความสั่งสอนต่าง ๆ ส่วนสมภารจึงสรรเสริญถึงความรู้ของสามเณรพุทธญาณให้มารดาสามเณรแลมะสอดฟัง คือ สามเณรได้เล่าเรียนทั้งพระสูตร พระอภิธรรม พระคัมภีร์โหร แลธรรมานุวัตร ราชานุวัตร คหปติวัตร แลราชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แลชัยภูมิพิชัยสงคราม กลอุบายพิชัยสงคราม เรียนได้แต่อายุสิบสี่ปี อันความรู้ของสามเณรนั้นหาผู้ใดจะเสมอมิได้ แต่ทว่า ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ อาตมภาพขอฝากแก่ท่านด้วยเถิด ถ้าผิดพลั้งในราชกิจประการใด ท่านจงเมตตาช่วยตักเตือนว่ากล่าวด้วย แล้วจึงเรียนสามเณรเข้ามาตักเตือนว่ากล่าวในวิชาซึ่งได้ร่ำเรียนมานั้น คือ อุบายสี่ประการ วิชาห้าประการ คุณแปดประการ วุฒิเจ็ดประการ ธรรมเหล่านี้ควรแก่พระราชบุตรกษัตราธิราชนั้น ให้สามเณรสั่งสอนให้กระทำ แลตัวท่านผู้จะเป็นข้าพระราชบุตรนั้นให้รู้ซึ่งโทษแปดประการ คุณเจ็ดประการ วุฒิหกประการ คติสามประการ ชื่อหกประการ มุสาเก้าประการ แลอุบายสี่ประการนั้น สามัญอุบาย คือ รู้ทั่วไปในราชกิจการงานสงคราม นิกอุบาย คือ รู้ประกอบฤกษ์พานาทีที่จะได้แลเสีย แพ้แลชนะ รู้ทั้งราชวัตรตามคัมภีร์ราชสาทึก รู้ทั้งคหปติวัตรตามคัมภีร์สิงคาโววาท หนึ่ง เล่ห์อุบาย คือ รู้ในเล่ห์เขาคดก็คดตาม เขาซื่อก็ซื่อตาม แลฉลาดตามโวหารต่าง ๆ หนึ่ง ธนอุบาย คือ รู้อุบายในที่จะขวนขวายถ่ายเทหาทรัพย์ หนึ่ง เป็นสี่ประการด้วยกัน แลวิชาห้าประการนั้น โยคเสฐา คือ รู้ในสารพัดช่างทั้งปวง หนึ่ง วินิจฉัยเสฐา คือ รู้ในธรรมศาสตร์ราชศาสตร์ตัดสินข้อคดีของราษฎร หนึ่ง เหตุเสฐา รู้นิมิตทั้งปวงแลเหตุการณ์บ้านเมืองจะร้ายแลดี หนึ่ง โปราณเสฐา คือ รู้จักภูมิประเทศว่าที่นี่เป็นมงคลแลมิได้เป็นมงคลตามโบราณสืบมา หนึ่ง หัตถีอัสเสฐา คือ รู้ศิลปศาสตร์ช้างม้าทั้งปวง เป็นวิชาห้าประการ แลคุณแปดประการนั้น สัจจัง คือ กล่าวถ้อยคำเป็นสัตย์เที่ยง ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้งสี่ มิได้ลำเอียงเข้าด้วยญาติแลมิตรของตน หนึ่ง อวิโรธนัง คือ มิได้เบียดเบียนบุคคลผู้อื่น หนึ่ง สิเนหทัศนา คือ เห็นบุคคลผู้อื่นให้มีจิตเมตตารักใคร หนึ่ง สุรยุทธัง คือ เมื่อเข้าสู่สงครามนั้น ให้องอาจ อย่าได้หวาดไหวคร้ามกลัวปัจจามิตร หนึ่ง ศีลวา ให้ประกอบไปด้วยศีลมารยาทเป็นอันดี หนึ่ง อโรคยา ให้รู้คัมภีร์บำบัดโรค หนึ่ง จาโคปนะ คือ บริจาคทรัพย์มิได้อาลัยแล้วจะกลับคืนเอาต่อภายหลัง หนึ่ง นิสัมการี คือ จะทำการสิ่งใด ให้ดำริด้วยปัญญาก่อนจึงกระทำ หนึ่ง คุณแปดประการดังนี้

แลวุฒิเจ็ดประการนั้น คือ ให้ประพฤติอิริยาบถดังพระอินทร์อันบริบูรณ์ไปด้วยเบญจกามคุณแลอิสริยยศองอาจในการอันเป็นใหญ่ หนึ่ง ให้ประพฤติอิริยาบถดังพระพรหม คือ เมื่อกาลจะรักษาอุโบสถตลพรหมจารีย์นั้น ให้พึงเว้นจากเบญจกามคุณดุจพรหมอันสำรวมณานบริสุทธิ์ หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระอาทิตย์ คือ ประพฤติราชอาณาจักรเป็นอันเสมอ มิได้เลือกหน้า ตามผิดแลชอบ ดุจดังพระอาทิตย์อันส่องแสงเสมอไปมิได้เว้น หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระจันทร์ คือ ประกอบไปด้วยเมตตาแก่สมณะชีพราหมณ์เสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งปวงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วไปดุจรัศมีพระจันทร์ หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระพาย คือ ประกอบไปด้วยความกรุณาแก่ข้าราชการน้อยใหญ่โดยฐานานุกรม ดุจหนึ่งพระพายพัดตามฤดู หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระยายมราช คือ ให้สำแดงราชานุภาพแก่ผู้ล่วงพระราชบัญญัติโดยโทษให้พิลึกพึงกลัว ดุจดังพระยายมราชอันเหลือบพระเนตรดูผู้กระทำผิดให้พินาศไป หนึ่ง ประพฤติอิริยาบถดังพระมหาสมุทร คือ จะลงพระราชอาญาแก่ผู้ล่วงพระราชอาณาจักรนั้น ให้กระทำด้วยอุเบกขา หาความพยาบาทมิได้ ดุจดังพระมหาสมุทรมิได้ยินดีแก่กลิ่นอันหอมแลมิได้ยินร้ายแก่กลิ่นอันลามก หนึ่ง ศรีวุฒิเจ็ดประการดังนี้เป็นพระราชวัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ เท่านี้

แลองค์แห่งปริณายกนั้น คือ ให้รู้จักโทษแปดประการ ภยสินี คือ เป็นนักเลงผู้หญิงแลเล่นเบี้ยกินเหล้าเป็นที่จะให้ฉิบหายแห่งทรัพย์ หนึ่ง จิตโจรี คือ มีจิตเป็นโจร มักฉกชิงซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หนึ่ง อสันตุฏฐี คือ มิได้อดกลั้นความสุขแลความทุกข์อันมาถึงตัวแลหวาดไหว หนึ่ง อติมัญติ คือ มักดูหมิ่นผู้เฒ่าผู้แก่ แลมิได้เคารพแก่สมณพราหมณาจารย์ หนึ่ง สันตาอปิยา คิดมิได้สมาคมซึ่งนักปราชญ์ แลรักใคร่ซึ่งคนพาล หนึ่ง นิททาสินี คือ มีปรกติมักนอน นั่งก็หลับ ยืนก็หลับ จะนอนก็หลับ มิใคร่ตื่น หนึ่ง สภาสินี คือ พอใจสนทนาในที่ประชุมคนทั้งหลาย หนึ่ง อนุฐาตา คือ ปราศจากความเพียร เอาเกียจคร้านเป็นอารมณ์ หนึ่ง องค์แห่งโทษแปดประการดังนี้ บุคคลผู้เป็นราชเสวกพึงเว้นเสีย อย่าให้มีในสันดาน

คุณเจ็ดประการ หนึ่ง กุลสัมปันนัง คือ ตนแห่งราชเสวกนั้นประกอบไปด้วยตระกูลเป็นอันดี สุรสัมปันนัง คือ มีปัญญามากกล้าหาญ หนึ่ง สุตติฐัง คือ รู้เห็นได้สดับตรับฟังมาก หนึ่ง วัณณัง คือ ประกอบไปด้วยรูปร่างวรรณสัณฐานอันงาน หนึ่ง สิเนหทัศนา คือ บุคคลผู้อื่นเห็นเป็นที่รักใคร่ หนึ่ง ทันตเนตติ คือ ขึ้นใจในคัมภีร์ราชศาสตร์ หนึ่ง โยโคตระ คือ ประกอบด้วยความเพียรอันยิ่ง หนึ่ง คุณเจ็ดประการดังนี้

แลวุฒิหกประการนั้น คือ ประพฤติดังพระยาราชสีห์ ประการหนึ่ง ประพฤติดังนกยาง ประการหนึ่ง ประพฤติดังกา ประการหนึ่ง ประพฤติดังไก่ ประการหนึ่ง[1] ประพฤติดังเหยี่ยว ประการหนึ่ง ประพฤติดังโคอุสุภราช ประการหนึ่ง องค์แห่งวุฒิหกประการดังนี้ อันว่ากิริยาแห่งราชสีห์นั้นองอาจในหมู่สัตว์จตุบาททวิบาท แลมีปริมณฑลขนที่ขาวก็ขาวถ้วน ที่แดงก็แดงล้วน มิได้เจือปนกัน แลอุปมาประดุจใด ให้เสวกามาตย์ราชปริณายกผู้จะเข้าสู่สงครามนั้นองอาจมีกตัญญูเป็นแดนแทนพระคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า แล้วให้มีเมตตาแก่ข้าราชกิจผู้น้อยแลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ให้ปราศจากอคติธรรมทั้งสี่ประการ คือ ฉันทโทสภยโมหาคติ อย่าให้เจือปนอยู่ในสันดานได้ แลนกยางนั้นกระทำมารยา กิริยาเงื่องงุน มีอุบายแต่จะล่อลวงฝูงปลาให้ไว้ใจ แล้วก็ล้วงจิกเอากินเป็นอาหาร แลมีประดุจใจ ผู้เป็นเสวกามาตย์ราชปริณายกก็พึงให้เรียนรู้ซึ่งกลอุบายล่อลวงปัจจามิตรให้หลงด้วยกลมารยา เอาชัยชำนะถวายพระมหากษัตริย์เจ้าผู้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ได้ ก็จะจำเริญด้วยยศศักดิ์สมบัติประดุจหนึ่ง อันว่ากา ถ้าแลปะอาหารสิ่งใด ๆ เข้าแล้ว บห่อนจะนิ่งบริโภคแต่ตัว ย่อมร้องประกาศเพื่อนพันธมิตรญาติแห่งตนให้รู้ก่อนจึงบริโภค แลมีอุปมาประดุจใด ผู้เป็นเสวกามาตย์ราชปริณายกจะตามเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ใด ๆ อย่าได้ประมาท หมั่นระวังราชศัตรูหมู่อันตรายโดยรอบคอบอย่าให้มีมาได้ อนึ่ง ถ้าจะได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคใด ๆ ก็พึงมีจิตเมตตาแผ่ไปแก่เพื่อนราชการแลญาติพันธมิตร อย่าได้คิดโลภมัจฉริยะบริโภคแต่ตนผู้เดียว กระทำดุจกิริยาแห่งกานั้น อันว่ากิริยาแห่งไก่นั้น ครั้นถึงยามที่ตนจะขัน ก็ขันประจำยาม แลมีประดุจใด ผู้เป็นราชเสวกามาตย์นั้นอย่าพึงลืมสติในที่จะระลึกถึงพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ แล้วอย่าลืมระลึกในการกุศลอันจะเป็นมงคลแก่อาตมา ดุจกิริยาแห่งไก่นั้น อันว่าเหยี่ยวนั้นมีกิริยาอันหมายมั่นเป็นธรรมดาสืบ ๆ กันมา ถ้าจะจับสัตว์ชาติสกุณใด ๆ แล้วเล็งแลด้วยจักษุหมายให้แม่นแล้วก็โฉบลงมาด้วยกำลังรวดเร็วจับไว้มั่นคั้นไว้ตาย จึงมิได้เป็นอันตรายแก่ตน แลมีอุปมาประดุจใด อันว่าราชเสวกนั้น ถ้าจะพิพากษาตราสินเนื้อความแห่งผู้กระทำชอบแลผิด จะพิดทูลกล่าวโทษข้าราชการน้อยผู้ใด พึงตริตรองด้วยวิจารณปรีชาให้ถ่องแท้ แลหมายมั่นด้วยอันใดแลได้เห็นจริงจึงว่ากล่าว ภัยอันตรายจึงจะไม่มีแก่ตนดุจเหยี่ยวนั้น อันว่ากิริยาแห่งโคอุสุภราชนั้น ไปหาอาหารในสถานที่ใดแล้วย่อมกลับมา มิได้ละถิ่นฐานแห่งตนที่เคยอาศัยนั้นเสีย แลมีประดุจใด เสวกามาตย์ผู้จะเป็นปริณายก จะปรึกษากิจราชการอันใด อย่าได้ละพระราชสาสน์แห่งสเมด็จพระมหากษัตริย์เจ้าเสีย จงทุกประการ

แลคติสามประการนั้น คือมีประสงค์จะปลงชีวิตกัน จึงกล่าวกลอันคด ประการหนึ่ง คือจะกระทำยุทธสงครามแก่กัน จึงกล่าวคำคด ประการหนึ่ง คือตนจะถึงซึ่งความฉิบหาย จึงกล่าวกลอันคดแก้ตัว ประการหนึ่ง กลคดสามประการดังนี้

แลซื่อหกประการนั้น กตัญญู คือ รู้จักคุณท่าน หนึ่ง กตเวที คือ มั่นใจความสัตย์ หนึ่ง ปรทุกขาหสนัง คือ เห็นความยากของผู้อื่นแล้วอดกลั้นมิได้ มีความปรานีเหมือนหนึ่งทุกข์ของตัว หนึ่ง กัลยาณมิตตัง คือ ตั้งตัวไว้ในที่เป็นกัลยาณมิตร หนึ่ง มิตลังคหัง คือ มีปรกติสงเคราะห์แก่มิตร หนึ่ง ซื่อหกประการดังนี้

มุสาเก้าประการนั้น มุตมายา คือ จะให้พ้นภัยจึงมุสา หนึ่ง ชีวิตมายา คือ จะเอาชีวิตรอดจึงมุสา หนึ่ง มนุสหิง คือ จะปลดเปลื้องความยากของมนุษย์จึงมุสา หนึ่ง ชัยสิโน จะเอาชัยชำนะแก่ท่านจึงมุสา หนึ่ง ยศวาจา เขาบอกความลับแก่ตัวแล้วมีผู้มาถามต้องอำไว้จึงมุสา หนึ่ง มมลหิยา จะแก้ไขทุกข์ของตัวเราจึงมุสา หนึ่ง ลับพันรุโน เพื่อจะพรางภรรยาจึงมุสา หนึ่ง อลิกวจนัง เอาถ้อยคำไม่จริงมาบอกแก่ผู้ถามเพื่อจะเอาความของตัว จึงมุสา หนึ่ง กุสลลัพภภาคี มีเจตนาอันจะยังโลกทั้งปวงให้ตั้งอยู่ในการกุศลจึงมุสา หนึ่ง มุสาเก้าประการดังนี้

อันความซึ่งเราให้โอวาททั้งนี้ เจ้าผู้หลานจงจำไว้ อย่าได้ประมาทลืมหลง สามเณรพุทธญาณได้ฟังพระมหาเถรสมมิตรให้โอวาทดังนั้น ก็กราบลงแทบบาทพระมหาเถร รับซึ่งความสั่งสอนใส่เศียรเกล้า แล้วก็นมัสการลามากับด้วยมะสอด เมื่อสามเณรมายังมิทันถึง ใกล้รุ่งคืนวันนั้น พระยาน้อยทรงสุบินนิมิตฝันว่า มีบุรุษผู้หนึ่งนำเอาดวงแก้วมณีอันวิเศษมาแต่ประจิมทิศ มาวางลงในฝ่าพระหัตถ์ พระองค์ก็รับเก็บเอาไว้ ครั้นตื่นขึ้น จึงทรงดำริทำนายนิมิตของพระองค์เองว่า บุรุษซึ่งนำเอาดวงแก้วมณีมาใส่ให้ในฝ่ามือนั้น เห็นจะได้แก่มะสอด อันดวงแก้วมณีอันวิเศษนั้น เห็นจะได้แก่สามเณร ชะรอยมะสอดจะพาพระสามเณรพุทธญาณมาถึงในวันพรุ่งนี้เป็นมั่นคง พระยาน้อยทรงดำริทำนายความฝันแล้วก็คำนึงคอยท่ามะสอดอยู่ ครั้นเวลาบ่าย มะสอดกับมหาดเล็กสี่คนก็พาเอาสามเณรพุทธญาณเข้าไปถวายพระยาน้อย พระยาน้อยทอดพระเนตรเห็นก็มีความยินดี จึงนิมนต์พระสามเณรให้นั่งในที่อันควร แล้วยอพระหัตถ์ถวายนมัสการ พระองค์ก็พิเคราะห์ดูซึ่งลักษณะพระสามเณรก็เห็นลักษณะปรากฏมีในกาย ก็ทราบว่า เป็นนักปราชญ์มีปัญญารู้ไตรเพทจริง พระราชบุตรก็ตรัสสนทนากับพระสามเณรไปจนเวลาเย็น จึงแสร้งสั่งให้วิเสทแต่งโภชนาหารมาให้พระสามเณรฉัน วิเสทแต่งโภชนาหารเสร็จแล้วก็ยกมาถวายแก่พระสามเณร พระสามเณรก็นิ่งยิ่มอยู่ พระยาน้อยจึงให้เอาผ้าสัตขันธ์ไตรหนึ่งกับผ้าคฤหัสถ์สำรับหนึ่งมาถวายพระสามเณร พระสามเณรก็รับเอาผ้าคฤหัสถ์ แล้วจึงถวายพระพรว่า อาตมภาพมาถึงพระองค์แล้ว จะขอสึกอยู่ทำราชการสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิต มิได้คิดแก่ความยากความลำบากเลย ครั้นแล้ว สามเณรกับมะสอดก็พากันไปลาพระพุทธรูปแลพระสงฆ์ที่อาราม สึกออกมาอยู่ด้วยพระราชบุตร





จบเล่ม ๕ สมุดไทย


เล่ม ๖ ยังมีต่อไป



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


  โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


  เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร



เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ[แก้ไข]

  1. ต้นฉบับว่า มีวุฒิหกประการ แต่ระบุไว้เพียงห้าประการ คือ ราชสีห์, นกยาง, กา, เหยี่ยว และโคอุสุภราช วิกิซอร์ซจึงเพิ่ม "ประพฤติดังไก่ ประการหนึ่ง" เข้าไป เพราะในเนื้อหาต่อมา ปรากฏไก่อยู่ระหว่างกาและเหยี่ยว เป็นอันเข้าใจได้ว่า เนื้อหาตอนต้นนั้นตกไก่ไป.


เล่ม ๔ ขึ้น เล่ม ๖