ราชาธิราช/เล่ม ๙

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๙




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๓๘๕–๔๓๒ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๙




ตั้งแต่พระยาน้อยได้เสวยราชย์ในเมืองพะโค ตั้งพระนามเป็นพระเจ้าสีหราชาธิราช

เมืองพะโคก็เปลี่ยนนามเป็นเมืองหงสาวดี

พระเจ้าราชาธิราชยกกองทัพมาตีหัวเมืองที่แข็งเมืออยู่ ฆ่ามะกรานตาย





สมิงมะราหูจึงเอาจำลองทองมาให้นั่ง แลตัวอาตมภาพซึ่งรับอาสาออกไปในครั้งนี้ก็เปรียบเหมือนหนึ่งพระองค์เจ้า แลจำลองแดงซึ่งหักนั้นได้แก่สมิงมะราหู อันด้ายพื้นแคร่ขาดลงนั้นคือบอกตรงสำแดงเหตุว่า กองทัพสมิงมะราหูจะแตกไป แลซึ่งจำลองก็พลอยหักลงด้วยนั้นคือบอกเหตุว่า สมิงมะราหูจะตายด้วยอาญาแห่งพระองค์ แลจำลองทองนั้นคือได้แก่เมืองพะโค ซึ่งอาตมภาพขึ้นนั่งบนจำลองทองดีอยู่นั้นคือพระองค์จะได้นั่งเมืองพะโคเป็นใหญ่มีพระเดชเดชานุภาพเป็นอันมาก แลสมิงเลิกพร้านั้น ครั้นได้ฟังอาตมภาพบอกความให้รู้แล้วก็โกรธว่าหยาบช้าแก่พระมหาเทวี บัดนี้ ว่าจะเลิกทัพกลับไป แลกองทัพเมืองตองอูนั้นก็จะเลิกไปด้วยกัน ฝ่ายสมิงชีพรายกราบถวายบังคมเข้ามาว่า เนื้อความทั้งนี้ก็ทราบอยู่ในพระทัยของพระองค์แล้ว อย่าให้ทรงพระวิตกเลย อาตมภาพเห็นสมควรคิดดังนี้จึงเดินยิ้มเข้ามา

พระยาน้อยได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัย จึงตรัสยกยอพระมะเป็งว่า พระคุณเจ้าช่วยรับธุระข้าพเจ้าครั้งนี้มีคุณอันใหญ่ยิ่ง จะปูนบำเหน็จถวายให้ถึงขนาด ถ้าพระคุณเจ้าสึกเป็นฆราวาสออกมาแล้ว ข้าพเจ้าจะให้จัดอิสตรีสาวรูปงามสักยี่สิบจะได้เป็นคนสำหรับปฏิบัติพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจะได้มีความสบายเมื่อภายแก่ พระอาจารย์มะเป็งได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะ จึงถวายพระพรว่า อาตมภาพทำทั้งนี้จะได้หมายเอาบำเหน็จทรัพย์เงินทองแลยศถาศักดิ์หามิได้ คิดว่า พระองค์เป็นราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดิน ได้พึ่งพระบารมีของท่านคุ้มครองรักษาอยู่ ครั้นพระราชบุตรท่านมีทุกข์แล้ว จะละให้เป็นอันตรายก็มิชอบ จำจะช่วยให้สำเร็จ มิได้คิดแก่ความเหนื่อยยาก พระยาน้อยจึงตรัสว่า ข้าขอบใจพระคุณเจ้ายิ่งนัก ด้วยมีคุณหาที่สุดมิได้

ฝ่ายสมิงเลิกพร้า เจ้าเมืองมองมะละ แลเจ้าเมืองตองอู ทั้งสองนั้น ครั้นพระอาจารย์มะเป็งกลับไปแล้ว สมิงเลิกพร้าแลเจ้าเมืองตองอูก็เลิกทัพแยกทางกันไป ฝ่ายทหารกองสอดแนมของสมิงมะราหูรู้ดังนั้นก็รีบเอาความไปแจ้งแก่สมิงมะราหู สมิงมะราหูได้แจ้งว่า กองทัพเมืองมองมะละเมืองตองอูเลิกไปดังนั้นก็ตกใจ จึงใช้ให้คนไปถามว่า มีรับสั่งพระเจ้าช้างเผือกตรัสใช้ให้ยกลงมาจับพระยาน้อย ยังมิได้กระทำการให้สำเร็จ เหตุไฉนจึงมาเลิกทัพไปเสียดังนี้เล่า ครั้นผู้ไปถามทันทัพสมิงเลิกพร้าก็ว่าตามสมิงมะราหูสั่งมานั้นทุกประการ สมิงเลิกพร้าได้ฟังก็โกรธจึงว่า หญิงแก่กับเด็กหนุ่มสมาคมเป็นชู้ด้วยกันแล้วทำใจใหญ่มาลวงใช้กูด้วยเล่า มึงเร่งกลับไปบอกแก่เจ้ามึงเถิดว่า ถ้าจะใช้กูแล้ว ก็ให้จับเอาเงากูไปใช้ ซึ่งจะลวงใช้ตัวกูนั้นไม่ได้แล้ว ฝ่ายกองทัพเมืองตองอูก็ว่ากล่าวดุจเดียวกันแล้วรีบยกไป

ฝ่ายคนใช้ก็กลับมาแจ้งความแก่สมิงมะราหูตามถ้อยคำสมิงเลิกพร้าแลทัพเมืองตองอูว่านั้นเสร็จสิ้นทุกประการ สมิงมะราหูได้ฟังดังนั้นก็โกรธเจ้าเมืองทั้งสอง แต่จนใจอยู่มิรู้ที่จะทำประการใด ครั้นจะแต่งทหารไปให้ว่ากล่าวหักหาญก็กลัวจะเกิดรบพุ่งกันขึ้นเป็นศึกสองหน้า จำจะนิ่งอดทนไว้ก่อน ถ้าเสร็จศึกพระยาน้อยแล้วจึงจะคิดแก้แค้นตอบแทนเจ้าเมืองทั้งสองเมื่อภายหลัง

ขณะนั้น ทหารในเมืองซึ่งรักษาหน้าที่ด้านทัพเมืองมองะละเมืองตองอู ครั้นเห็นกองทัพทั้งสองเลิกไปก็ร้องบอกกันอื้ออึงขึ้นว่า กองทัพเจ้าเมืองทั้งสองเลิกไปแล้ว พอพระยาน้อยเสด็จมาเลียบเมืองตรวจตราดูนายด่านนายกองผู้รักษาหน้าที่ ทอดพระเนตรเห็นคนผู้หนึ่งเขาจำตรวนไว้จนผมยาวนั่งทับได้ จึงสั่งไปไปถามว่า เป็นโทษอันใด แลคนโทษนั้นจึงบอกว่า ข้าพเจ้าชื่อ มะกะนาย กู้เงินท่านไปค้าสำเภา สำเภาเสีย ทรัพย์สิ่งของสูญสิ้น ตัวมิตายรอดมาได้ เจ้าหน้าที่ท่านให้จำตรวนเร่งเงิน ยังค้างอยู่เป็นเงินตรายี่สิบชั่ง หาเงินจะให้ท่านมิได้ ข้าพเจ้าจึงได้ต้องจำอยู่ดังนี้ ครั้นผู้ไปถามได้เนื้อความแล้วก็กลับมากราบทูลพระยาน้อยตามคำมะกะนายบอกทุกประการ

พระยาน้อยได้แจ้งแล้วก็ทรงพระดำริว่า กำลังศึกครั้งนี้มากนักเหลือกำลังทแกล้วทหารเราจะต่อรบ เราก็คิดผ่อนผันให้กองทัพทั้งสองเมืองเลิกไปแล้ว ยังอยู่แต่กองสมิงชีพรายแลกองทัพสมิงมะราหู แต่สมิงชีพรายนั้นเข้าอยู่ข้างเรา ถึงกระนั้นเล่าก็ดี กำลังศึกยังไม่อ่อนแท้ ด้วยรี้พลทแกล้วทหารของสมิงมะราหูยังอยู่มากกว่าเราสักสองสามเท่า แม้นเราจะยกออกโจมตีค่ายสมิงมะราหู บัดนี้ ก็คงจะเสียรี้พลด้วยกันทั้งสองฝ่าย เหมือนสาดน้ำรดกัน ถ้าเราเอามะกะนายผู้นี้มาว่ากล่าวสั่งสอนให้แต่งกลอุบายไปล่อลวงสมิงมะราหูให้สมิงมะราหูแบ่งกองทัพไปตั้งเสียที่อื่นกองหนึ่งแล้ว ถึงสมิงมะราหูเพลี่ยงพล้ำลงจะมาช่วยก็ไม่ทันที เราจึงยกออกโจมตีปล้นค่ายสมิงมะราหูอย่าให้ทันรู้ตัว เห็นจะได้ชัยชำนะเป็นมั่นคง ทรงพระดำริเห็นชอบแล้วจึงให้ทหารไปเอาตัวมะกะนายเข้ามา ครั้นมะกะนายเข้ามาถึงกราบถวายบังคมแล้วก็หมอบเฝ้าอยู่คอยฟังรับสั่ง พระยาน้อยจึงตรัสถามว่า เอ็งสิจะหาเงินให้เจ้าหนี้มิได้แล้ว เอ็งก็จะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่จนตาย ถ้าเอ็งตั้งจิตสวามิภักดิ์รับอาสากูได้แล้ว กูจะใช้เงินตรายี่สิบชั่งให้แทน ถ้าสำเร็จราชการแล้วกูจะชุบเลี้ยงปูนบำเหน็จให้ถึงขนาด อนึ่ง ความชอบของเอ็งก็จะปรากฏอยู่ในโลก มีชื่อเสียงไปในราชพงศาวดารสิ้นหมื่นแสนปีเป็นอันมาก มะกะนายก็กราบทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอรับอาสาให้สำเร็จการของพระองค์จงได้ ถึงตัวจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต ขอฝากแต่บุตรภรรยาไว้เป็นข้าฝ่าพระบาทพระองค์สืบไป

พระยาน้อยได้ฟังจึงตรัสว่า ข้อนั้นเอ็งอย่าวิตกเลย แม้นเอ็งรับอาสาสำเร็จการแล้ว บุตรภรรยานั้นกูจะปลูกเลี้ยงให้มีความสุขสืบไปให้สมกับความชอบ แล้วสั่งให้หาตัวเจ้าหนี้เข้ามา จึงตรัสว่า มะกะนายผู้นี้จะสามิภักดิ์รับอาสาเรา เราจะใช้เงินตรายี่สิบชั่งซึ่งท่านติดค้างอยู่นั้นให้แทนมะกะนาย ท่านจะเห็นประการใด คนผู้เจ้าหนี้จึงกราบทูลว่า ถ้ามะกะนายรับอาสาพระองค์ได้แล้ว เงินซึ่งจะพระราชทานให้แทนนั้นข้าพเจ้าไม่เอาแล้ว ขอถวายไว้ใต้ฝ่าพระบาทจะได้แจกทแกล้วทหารซึ่งมีความชอบ ข้าพเจ้าจะขอพึ่งบุญบารมีพระองค์สืบไป

พระยาน้อยได้ฟังเจ้าหนี้ว่าดังนั้นก็ดีพระทัยจึงตรัสว่า ซึ่งท่านมีจิตภักดีต่อเรา หวังจะให้กำลังแก่พลทหารของเรา เราขอบใจขอบคุณท่านนัก ถ้าสำเร็จราชการแล้วเราจะสนองคุณท่านให้ถึงขนาด คนผู้เจ้าหนี้มีความยินดี รับคำแล้วก็ถวายบังคมลากลับไป พระยาน้อยจึงตรัสเรียกมะกะนายเข้ามาเฝ้าในที่ใกล้อยู่แต่ทหารแลคนสนิทใช้สอยซึ่งวางพระทัยได้หามีผู้อื่นแปลกปลอมไม่ จึงให้มะกะนายถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วจึงตรัสว่า ธุระของเอ็งก็สำเร็จแล้ว บัดนี้ กูจะคิดกลอุบายตีหลังเอ็งให้แตกแล้วใส่ตรวนปล่อยออกไปให้เข้าหากองทัพ ถ้าสมิงมะราหูไต่ถาม เอ็งจงบอกว่า กูรู้ว่ากองทัพยกมาก็ตกใจ จึงปรึกษากับพ่อมอญแลมังกันจีว่า กำลังศึกมากนัก เห็นทแกล้วทหารชาวเมืองจะสู้รบมิได้ คิดกันจะหนีไปเมืองอื่น แลที่ผู้ใดมีทรัพย์สิ่งของมากก็ให้เก็บริบเอามาเป็นกำลัง ที่ผู้ใดขัดขืนมิให้ก็ให้โบยตีเร่งรัดจำจองไว้เป็นอันมาก ชาวเมืองทั้งปวงรู้ว่ากองทัพยกมาก็ดีใจยิ่งนัก แต่จะหนีออกมานั้นยังมิได้ แต่เอ็งผู้เดียวหนีออกมาหาเพื่อจะบอกเนื้อความให้แจ้งหวังจะได้แก้แค้น แล้วเอ็งจงบอกกำหนดว่า กูจัดเรือเตรียมไว้จะหนีออกจากเมืองเวลาค่ำพรุ่งนี้ มะกะนายก็รับตามคำพระยาน้อย พระยาน้อยก็ให้เอาหวายผ่าซีกมาตีหลังมะกะนายพอแตกเป็นแผล แล้วใส่ตรวนปล่อยออกไป

ฝ่ายทหารในกองทัพสมิงมะราหูจับได้จึงซักถามว่า เหตุไรจึงต้องตีจำมาฉะนี้ มะกะนายจึงบอกว่า พระยาน้อยทำข่มเหงริบราชบาตรข้าพเจ้าแลชาวบ้านชาวเมือง แล้วให้ตีโบยจำจองไว้เป็นอันมาก แต่ข้าพเจ้าได้แจ้งว่า พระราชบุตรเขยพระเจ้าช้างเผือกยกลงมาก็มีความยินดีนัก ข้าพเจ้าจึงลอบหนีออกมาหาท่าน หวังจะบอกเนื้อความให้แจ้งทุกประการ

ฝ่ายกองทัพได้ฟังดังนั้นก็พามะกะนายเข้าไปหาสมิงมะราหู สมิงมะราหูจึงถามมะกะนาย มะกะนายก็บอกความตามคำพระยาน้อยสั่งทุกประการ สมิงมะราหูได้ฟังดังนั้นก็คิดว่าจริง เห็นสมคำพระอาจารย์มะเป็งว่า หาสงสัยมิได้ ก็มีความยินดีนัก จึงตบเพลาเข้าหัวเราะว่าแก่ทหารคนสนิททั้งปวงว่า พระยาน้อยถือว่าเป็นคนกล้าแข็งมีฤทธิ์เดชมาก แล้วเป็นไฉนจึงจะหนีเล่า แล้วสั่งให้ถอดมะกะนายออกจากจำ ให้เสื้อผ้าสำรับหนึ่งเป็นรางวัล แล้วให้คนไปบอกสมิงชีพรายแลนายทัพนายกองทั้งปวงว่า บัดนี้ มะกะนาย ชาวเมืองตะเกิง หนีออกมาหาบอกว่า พระยาน้อยจะหนีเวลาค่ำพรุ่งนี้แล้ว ให้สมิงชีพรายแลนายทัพนายกองทั้งปวงยกลงไปตั้งข้างด้านใต้คอยสกัดจับพระยาน้อยให้จงได้ ถ้าพระยาน้อยหนีไปได้ด่านใคร จะเอาตัวผู้นั้นเป็นโทษถึงสิ้นชีวิต คนใช้ก็ไปบอกสมิงชีพรายแลนายทัพนายกองตามคำสมิงมะราหูสั่งทุกประการ

สมิงชีพรายได้ฟังดังนั้นก็รู้แจ้งในกลอุบายของพระยาน้อย จึงว่าแก่ทหารของตัวว่า ครั้งนี้เห็นจะจับพระยาน้อยได้โดยง่าย จะได้กลับไปบ้านเร็วแล้ว จะไม่ได้ความเหนื่อยยากลำบากนัก จึงแกล้งทำเป็นดีใจแล้วหัวเราะ สมิงชีพรายแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็เลิกกองทัพลงไปตั้งอยู่ด้านใต้ตามคำสมิงมะราหูสั่งทั้งสิ้น ยังเหลืออยู่แค่ค่ายสมิงมะราหูค่ายเดียว

ฝ่ายพระยาน้อยคอยฟังกิตติศัพท์อยู่ พอนายกองผู้รักษาหน้าที่ให้ทหารคนใช้มากราบทูลว่า กองทัพทั้งนั้นยกเลิกไปตั้งที่อื่นสิ้นแล้ว ยังแต่ทัพสมิงมะราหูกองเดียว พระยาน้อยได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัย จึงสั่งให้จัดกองทัพตั้งเป็นขบวนคชพยุหะเสร็จ พอได้ศุภฤกษ์พระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงพลายประกายมาศเป็นคชาธาร พ่อเม้ยพะนูขี่พรายเพรียว พ่อเม้ยเป้าขี่พลายเพชร พ่อเม้ยอินท์ขี่พลายสิงหนารายณ์ พ่ออูหมอเฒ่าขี่พลายผจญมาร มังกันจีขี่พลายรักษ์น้อย พ่อมอญขี่พลายสุริยะ คนผู้มีชื่อขึ้นช้างทั้งหกนี้ล้วนเป็นคนสนิทชิดชอบรักษาพระองค์พร้อมไปด้วยช้างดั้งช้างกันสารแทรกแซงค้ำค่ายโลดแล่นทั้งปวงเป็นอันมาก พรั่งพร้อมด้วยหมู่พลทหารหน้าหลังพลดาบดั้งโล่เขนทวนทองเครื่องสรรพาวุธน้อยใหญ่ครบถ้วน ขณะเมื่อพระยาน้อยขึ้นทรงช้างพระที่นั่งจะยกออกจากเมืองตะเกิงนั้นได้สดับเสียงบนอากาศร้องว่า ชัย สามครั้ง นายทัพนายกองแลไพร่พลทั้งปวงก็ได้ยินด้วยกันสิ้น มังกันจีได้ฟังศัพท์สำเนียงเป็นชัยมงคลดังนั้นจึงกราบทูลว่า เทพยดาเจ้าให้ฤกษ์เป็นมงคลสวัสดีดังนี้ พระองค์จะได้ชัยชนะเป็นแท้แล้ว เชิญพระองค์ยกไปเถิด พระยาน้อยก็ให้เปิดประตูเมืองลั่นฆ้องโบกธงเอาชัยยกทหารออกไปตรงค่ายสมิงมะราหู แล้วไสช้างพระที่นั่งเข้าหักค่ายสมิงมะราหู หมู่พลทหารทั้งปวงก็โห่ร้องอื้ออึง บ้างก็ยิงเกาทัณฑ์แทงฟันรุมระดมเข้าไปพร้อมกัน ตีหักเข้าได้ในค่ายสมิงมะราหู ทหารพระยาน้อยก็ไล่ฆ่าฟันทหารสมิงมะราหูล้มตายเป็นอันมาก สมิงมะราหูก็ตกใจไม่ทันรู้ตัว มิได้คิดสู้รบ วิ่งขึ้นช้างพังตัวหนึ่งออกทางหลังค่ายหนีไป มีทหารคนสนิทติดตามไปยี่สิบสามสิบคน ฝ่ายพลทหารสมิงมะราหูนั้นต่างคนต่างแตกกระจัดกระจายไปสิ้น ขณะเมื่อพระยาน้อยตีค่ายสมิงมะราหูได้นั้นยังเสด็จประทับอยู่ในค่าย

ฝ่ายสมิงชีพรายรู้ว่า สมิงมะราหูแตกไปแล้ว ก็ดีใจนัก จึงพานายทัพนายกองทั้งปวงมาเฝ้าพระยาน้อยกระทำสัตย์ถวายพระยาน้อย พระยาน้อยตรัสว่า สมิงชีพรายพานายกองทั้งปวงมาสามิภักดิ์กระทำสัตย์ต่อเรา เราขอบใจท่านทั้งปวงอยู่แล้ว แต่ว่าครั้นจะอยู่ช้าไป เกลือกพระมหาเทวีรู้ตัว ท่านก็จะเป็นโทษ ให้เร่งยกตามสมิงมะราหูไปในเวลากลางคืนวันนี้ อย่าให้เขาสงสัยได้ สมิงชีพรายก็เห็นด้วยจึงทูลพระยาน้อยว่า บัดนี้ สมเด็จพระราชบิดาทรงพระประชวรหนักอยู่แล้ว อย่าให้พระองค์ช้าอยู่ ให้เร่งยกขึ้นไปเถิด ข้าพเจ้าทั้งปวงจะรับทำการในเมือง แล้วสมิงชีพรายก็ถวายบังคมลาพระยาน้อยพานายทัพนายกองทั้งปวงยกขึ้นไปเมืองพะโค ครั้นสมิงชีพรายยกไปแล้ว พระยาน้อยจึงสั่งให้ทหารเก็บเอาเครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค เครื่องศัสตราวุธ แล้วเสด็จกลับเข้าเมือง

ฝ่ายสมิงมะราหูแตกหนีขึ้นไปถึงเมืองพะโคก่อนนายทัพนายกองทั้งปวง จึงไปเฝ้าพระมหาเทวีทูลแจ้งเหตุให้ฟังทุกประการ ฝ่ายพระมหาเทวีได้ฟังดังนั้นก็ตกใจจึงคิดแกล้งจะเอาโทษสมิงชีพราย ครั้นสมิงชีพรายนายทัพนายกองไปถึงพร้อมกันแล้ว พระมหาเทวีจึงตรัสว่า มีรับสั่งพระเจ้าช้างเผือกให้สมิงมะราหู สมิงชีพราย นายทัพนายกองทั้งปวงยกลงไปกระทำการจับพระนาน้อยนิดหนึ่งเท่านี้ สมิงชีพรายเป็นผู้ใหญ่ มิได้คิดการให้รอบคอบ ทำให้แตกพ่ายแพ้แก่พระยาน้อย เสียเครื่องศัสตราวุธช้างม้าไพร่พลเป็นอันมาก สมิงชีพรายจึงทูลว่า ซึ่งแตกพ่ายมาทั้งนี้ ข้าพเจ้าจะได้แตกด้วยหามิได้ ด้วยสมิงมะราหูเป็นแม่ทัพบังคับให้ข้าพเจ้าทั้งปวงยกลงไปตั้งคอยสกัดจับพระยาน้อยอยู่ท้ายเมือง ครั้นเวลาเที่ยงคืน พระยาน้อยยกทหารออกโจมตีพระราชบุตรเขยพระเจ้าช้างเผือก พระองค์จะเอาโทษข้าพเจ้าอย่างไรขอได้ทรงพระดำริดูจงควร พระมหาเทวีได้ทรงฟังดังนั้นก็จนพระทัยอยู่ไม่รู้ที่จะเอาโทษสมิงชีพรายประการใด

ฝ่ายพระยาน้อย ครั้นมีชัยชนะสมิงมะราหูแล้ว จึงให้หาพ่อมอญ มังกันจี นายทัพนายกอง ทแกล้วทหารทั้งปวงเจ้ามาพร้อม จึงพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าปูนบำเหน็จรางวัลแก่ผู้มีความชอบในสงครามโดยสมควร เสร็จแล้วจึงตรัสปรึกษาด้วยพ่อมอญ แลมังกันจี แลนายทัพนายกองทั้งปวงว่า ซึ่งสมิงมะราหูเสียทีแตกพ่ายไปครั้งนี้เพราะกลอุบายความคิดของเรา ใช่จะแตกด้วยแพ้ฝีมือทีเดียวนั้นหามิได้ ถ้าสมิงมะราหูไปถึงเมืองพะโคแล้วก็จะคิดกันกับพระมหาเทวีทำการใหญ่หลวงขึ้น การสงครามก็จะยืดยาวช้าไป ฝ่ายเรากำลังน้อย ถ้าข้าอยู่จะได้ความขัดสน จำจะรีบยกขึ้นไปติดเมืองพะโคเสียก่อน อย่าให้ทันสมิงมะราหูตั้งตัวได้ จะได้คิดทำการเอาชัยชนะโดยเร็ว พ่อมอญ มังกันจี แลนายทัพนายกองก็เห็นด้วย พระยาน้อยจึงให้นายทัพนายกองถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ ตำหนัก เสร็จแล้วจึงทรงจัดกองทัพทั้งปวง ให้มังกันจีคุมคนสามพัน พ่อเลิกคุมคนพันหนึ่ง มะสอดคุมคนพันหนึ่ง มะเกาะคุมคนพันหนึ่ง มะละคุมคนพันหนึ่ง มะเลิดคุมคนพันหนึ่ง มะพะโคคุมคนพันหนึ่ง มะละตะเติงเป็นสร่ายอินทร์คุมคนร้อยห้าสิบ มะตะสุเป็นสร่ายนาดคุมคนร้อยห้าสิบ มะเตาเป็นสร่ายกะโลดคุมคนร้อยห้าสิบ มะเกิดเป็นสร่ายกลายคุมคนร้อยห้าสิบ มะสนเป็นสร่ายยักษ์คุมคนร้อยห้าสิบ มะปลุยเป็นสร่ายละเปืองคุมคนร้อยห้าสิบ มะนอนเป็นสร่ายคลานคุมคนร้อยห้าสิบ มะเด็จสังข์เป็นสร่ายโลกกุมารคุมคนร้อยห้าสิบ มะตะเป็นสร่ายชัยคุมคนร้อยห้าสิบ มะสิงห์เป็นสร่ายตะมอกคุมคนร้อยห้าสิบ มะชูเป็นสร่ายพรหมาคุมคนร้อยห้าสิบ มะอู่เป็นสร่ายสุกะเมาะคุมคนร้อยห้าสิบ มะสุเป็นสร่ายจอมประสรอยคุมคนร้อยห้าสิบ มะภักเป็นร่ายลนณะเจ้าคุมคนร้อยห้าสิบ สิริทัพบกเป็นนายทัพแปด สร่ายนายกองสิบสี่ ไพร่หมื่นสองพันร้อย แลทัพเรือนั้นตั้งให้พ่อมอญเป็นนายทัพคุมไพร่ห้าพันบรรจุเรือรบห้าร้อยลำสรรพไปด้วยเครื่องสรรพาวุธใหญ่น้อยแลปักธงเทียวเขียวขาวเหลืองแดงดูไสวพร้อมเสร็จ ครั้นแล้ว พระยาน้อยจึงให้นิมนต์พระอาจารย์มะเป็งเข้ามา จึงตรัสถามว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าจะยกไปตีเมืองพะโคกระทำการตอบแก้แค้นสมิงมะราหู แต่มีความวิตกนัก ด้วยเมืองตะเกิงนี้เป็นที่สำคัญมั่นคงอยู่ ทั้งข้าวปลาอาหารก็บริบูรณ์ ได้อาศัยตั้งมั่นเป็นที่ชัยภูมิดีอยู่แล้ว ถ้าไปทำศึกขัดสนลงประการใดจะได้กลับมาอาศัยซ่องสุมผู้คน ซึ่งจะวางใจให้ผู้อื่นรักษานั้นก็ไม่เห็นผู้ใดสมควร เห็นแต่พระคุณเจ้าผู้เดียวมีสติมาก อาจที่จะอยู่รักษาเมืองปราบปรามเสี้ยนศัตรูให้ราบคาบเป็นที่วางใจของข้าพเจ้าได้ นิมนต์พระคุณเจ้าสึกออกมาช่วยรักษาเมืองด้วยเถิด ถ้าสำเร็จราชการแล้วข้าพเจ้าจะชุบเลี้ยงปูนบำเหน็จให้ถึงขนาด อนึ่ง พระคุณเจ้าถือเพศบรรพชิตบวชอยู่ดังนี้ ถ้าได้บรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันต์ตัดมูลราคตัณหาขาดเด็กจากสันดาน ก็จะประกอบด้วยความสุขในฌานสมาบัติเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง ความสุขในมนุษย์แลสวรรคเทวโลกนั้นจะเปรียบมิได้ แม้นไม่สำเร็จมรรคผลยังเป็นสมณะปุถุชนอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเห็นหามีความสุขไม่ มีแต่ทุกข์อยู่เป็นนิจ เพราะปฏิบัติบำเพ็ญศีลขันธ์จะให้บริบูรณ์บริสุทธิ์นั้นเป็นอันยาก ล้วนแต่มีข้อบัญญัติห้ามหวง จะบริโภคอาหารก็ได้แต่เวลาหนึ่งสองเวลา ครั้นล่วงเวลาแล้วก็บริโภคมิได้ อนึ่ง มีความร้อนรนรำคาญใจบังเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีความสบาย เพราะไม่มีผู้จะช่วยระงับดับความร้อน ถ้าพระคุณสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์นั้น ข้าพเจ้าเห็นมีความสุขสองประการ คือ จะดูฟ้องรำฟังเครื่องดีดสีตีเป่าขับร้องแลดูฟังสรรพการเล่นทั้งปวงหรือจะบริโภคอาหาร ณ เวลาใด ๆ ก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะห้ามปราม จัดเป็นความสุขของปุถุชนประการหนึ่ง แลความสุขอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นความสุขอย่างยิ่งของมนุษย์ ถึงเทพยดาอินทร์พรหมก็นับถือว่าเป็นสุข ถ้าจะเรียกว่าเป็นของมีรสก็เป็นรสอันอร่อยวิเศษอย่างดี ถ้าผู้ใดได้บริโภคแล้ว รสอร่อยก็ซาบซ่านทุกเส้นขนราวกับได้บริโภครสทิพย์สุธาโภชน์ของสมเด็จอัมรินทร์ในเทวโลก เหมือนอย่างพระคุณเจ้าบวชมานาน ๆ ดังนี้ยังไม่เคยพบเห็น ถ้าได้ลองชิมรสอันอร่อยสักครั้งหนึ่งสองครั้งแล้วก็จะติดใจมิรู้อิ่ม สักหน่อยจะเพลิดเพลินลืมความสุขในสมณะเป็นแม้ รสอร่อยวิเศษดังนี้เป็นความสุขอย่างยิ่งของมนุษย์ประการหนึ่ง พระยาน้อยตรัสแนะนำในเป็นสำเนาให้พระอาจารย์มะเป็งฟังดังนี้แล้วก็ทรงพระสรวล พ่อมอญมังกันจีแลขุนนางทั้งปวงที่เฝ้าอยู่นั้นก็พลอยหัวเราะสิ้นทุกคน แล้วพระยาน้อยจึงตรัสถามว่า ซึ่งข้าพเจ้าว่าดังนี้ พระคุณเจ้าเห็นเป็นสุขด้วยหรือประการใด

พระอาจารย์มะเป็งได้ฟังดังนั้นก็ยิ้มอยู่จึงถวายพระพรว่า ซึ่งพระองค์ตรัสว่า ความสุขในฆราวาสมีดังนั้น อาตมภาพก็เห็นตามพระราชกระแส แต่เจือประกอบด้วยความทุกข์เป็นอันมาก ซึ่งจะเทียบเทียมกับความสุขในสมณะนั้นมิได้ อันกุลบุตรทั้งปวงที่มีศรัทธาละคฤหสถานตัดความกังวลห่วงใยออกบรรพชาเป็นสมณะประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็ได้ซึ่งความสุขสองประการเหมือนกัน คือ ความสุจในปัจจุบันแลอนาคต กระทำตามพระพุทธภาษิตสั่งสอนเป็นเยี่ยงอย่างสืบมา อาตมภาพจะขอถวายวิสัชนาให้กว้างขวางตามกระแสพระพุทธบัณฑูรโปรดประทานเทศนาไว้มีในสุดตันตปิฎกนั้นว่า อันกุลบุตรได้บรรพชาในพระพุทธศาสนานั้นประกอบด้วยอานิสงส์พ้นที่จะประมาณ เพราะได้รักษากายสุจริต รักษาวจีสุจริต รักษามโนสุจริตเป็นอันดี อันดวงจิตของฆราวาสนั้นจะขัดเกลาให้ผ่องใสได้โดยยาก ดวงจิตของบรรพชิตนั้นขัดเกลาให้บริสุทธิ์ผ่องใส่โดยง่ายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอันเป็นยอดมกุฎแก้วของสัตว์ในไตรภพ เมื่อพระองค์ยังเพียรบำเพ็ญบุญญาภิสมภารเสวยพระชาติเป็นมนุษย์อยู่ก่อนนั้น ก็ย่อมละฆราวาสออกบรรพชาจะนับพระชาติมิได้ จนถึงพระชาติใกล้ ๆ จะได้ตรัสเป็นผู้พระพุทธเจ้าแล้วนี้ คือ เป็นพระเตมียราชกุมาร พระมหาชนก พระสุวรรณสาม ก็ได้ออกบรรพชาจน ตลอดถึงพระชาติเป็นเวสสันดรบรมขัตติยาธิบดินทร์ก็เสด็จออกทรงผนวชบำเพ็ญเนกขัมบารมีเป็นบุญญาภิสมภารอย่างยิ่ง การบรรพชานี้เป็นแบบแผนพุทธพงศ์สืบมาประกอบด้วยความสุขมาก เป็นสุขทั้งภพนี้แลภพเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น กุลบุตรทั้งปวงที่เป็นสัมมาทิฐินับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ย่อมละนิวาสสถานออกบวชรักษาศีลสุจริตธรรมหวังซึ่งความสุขสองประกากรสืบกันมาจนถึงกาลทุกวันนี้

พระยาน้อยได้ทรงฟังจึงตรัสว่า ซึ่งพระคุณเจ้านำเอากระแสพระพุทธภาษิตมาแสดงก็ไพเราะถูกจริงควรจะเชื่อฟัง แต่เปรียบเสมือนพระคุณเจ้าชี้ให้ข้าพเจ้าดูดวงพระจันทร์ที่มีรัศมีอันผ่องใส ณ วันเพ็ญเดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำ ซึ่งดวงพระจันทร์อันเศร้าหมองด้วยเมฆหมอกเข้าปิดบัง ณ วันแรมห้าค่ำหกค่ำนั้นพระคุณเจ้าไม่ชี้ให้ข้าพเจ้าดูบ้าง ครั้นข้าพเจ้าจะว่ามากไปดูเหมือนหนึ่งจะประมาทหมิ่นในพระพุทธศาสนา แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า บวชเป็นสมณะนี้ ถ้าศรัทธาแท้หมายซึ่งในความสุขในสวรรค์แลนิพพานถ่ายเดียวก็ควรจะอุตส่าห์สู้ทนบวชไปคงจะได้ความสุขสมดังปรารถนาเป็นแท้ ถ้าศรัทธาท้อถอยย่อหย่อนลงเห็นจะบวชไปไม่ได้ตลอดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า สึกเสียดีกว่า หาความสุขในมนุษย์เถิด เพราะว่าบวชอยู่นั้นถ้าผิดพลั้งลงก็ประกอบไปด้วยโทษเป็นอันมาก มีทั้งคุณแลโทษ จะเป็นคุณไปถ่ายเดียวนั้นหามิได้ ถึงฆราวาสเล่าก็ประกอบด้วยคุณแลโทษมีด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่โทษฝ่ายบรรพชิตที่ล่วงพระพุทธอาญานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามีมากกว่าโทษในฆราวาส ซึ่งข้าพเจ้าว่ากล่าวชักชวนพระคุณเจ้าทั้งนี้ใช่นจะชักชวนให้ละที่ชอบไปถือที่ผิดนั้นหามิได้ ขอพระคุณตรึกตรองดูจงควร

พระอาจารย์มะเป็งได้ฟังดังนั้นก็อ่อนใจจึงคิดว่า ทุกวันนี้เราก็มีศรัทธาท้อถอยลง แลก็ได้อุปสมบทบวชมาหลายพรรษาแล้ว อนึ่ง จะขัดขืนอัชฌาสัยพระราชบุตรพระเจ้าแผ่นดินก็ดูมิสมควร ประการหนึ่ง ญาติโยมพวกพ้องของเราซึ่งอยู่ ณ เมืองตะเกิงนี้ก็มีเป็นอันมาก แม้นเรารับรักษาเมืองเป็นผู้รั้งเมืองแล้ว คนทั้งปวงนี้จะได้พึ่งบุญพลอยเป็นสุข ก็จะได้กุศลเพราะเป็นการสงเคราะห์ญาติ คิดแล้วจึงถวายพระพรว่า อาตมภาพเห็นควรแล้ว จะถวายพระพรลาพระองค์สึกในกาลนี้ พระยาน้อยจึงตรัสว่า สาธุสะ ดีแล้ว ข้าพเจ้ามีความโสมนัสนัก จึงสั่งให้จัดเสื้อผ้าอย่างดีแลแหวนเพชรพลอยต่าง ๆ ซึ่งจะพระราชทานแก่พระมะเป็ง พอหญิงสาวใช้รูปงามสองคนเป็นนางพนักงานเชิญถาดพระสุธารสของเสวยเชิญถาดพระสุธารสเอามาถวายพระยาน้อย พระยาน้อยจึงสั่งให้จัดพระสุธารสของเสวยแบ่งไปถวายพระอาจารย์มะเป็ง แลให้หญิงรูปงามทั้งสองนั้นหมอบอยู่ในที่ใกล้พระมะเป็ง แล้วตรัสว่า พระคุณเจ้าบวชมานาน มิได้รู้จักความสุขของฆราวาส จงพิจารณาดูซึ่งความสุขที่หมอบอยู่ทั้งสองนั้น จะเห็นว่าเป็นสุขหรือไม่ แล้วพระยาน้อยก็ทรงพระสรวล พระมะเป็งก็สะเทิ้นใจยิ้มอยู่ จึงเลยฉันน้ำชาแก้ขวยใจ นางพนักงานสองคนนั้นชำเลืองตาดูพระมะเป็งแล้วก็อายก้มหน้ายิ้มอยู่ ครั้นแล้ว พระมะเป็งจึงถวายพระพรลาพระยาน้อยไปยังอาราม

พระยาน้อยก็ให้คนคุมเสื้อผ้าแลแหวนไปพระราชทานพระมะเป็ง ณ อาราม พระมะเป็งรับเสื้อผ้าของพระราชทานแล้วก็ไปถวายนมัสการลาพระพุทธปฏิมากรในอุโบสถ แลอำลาบอกกล่าวพระสงฆ์แลเถรานุเถรกับทั้งญาติโยมใกล้เคียงทั้งปวงเสร็จแล้ว พอได้ฤกษ์ยามเวลาดี ก็สึกออกมาเฝ้าถวายตัวเป็นข้าพระยาน้อย พระยาน้อยเห็นพระมะเป็งสึกแล้วมีพระทัยยินดีนัก จึงตั้งให้เป็นพระยาอินทโยธา แลมอบตราเครื่องสำหรับยศทั้งปวงให้อยู่รักษาเมืองตะเกิง แล้วประทานหญิงรูปงามให้เป็นภรรยาข้าใช้สอย พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก จึงตรัสสั่งกำชับว่า ท่านอย่าได้ประมาทในกิจราชการ ซึ่งเมืองตะเกิงนี้เราวางใจไว้แก่ท่านแล้ว

พระยาอินทโยธาจึงทูลว่า อันเมืองตะเกิงนี้ข้าพเจ้าจะรับรักษาไว้มิให้เป็นอันตราย ถึงมาตรว่ามีข้าศึกมาล้อมประชิด ข้าพเจ้าจะขอสู้รบฉลองพระเดชพระคุณพระองค์กว่าจะหาชีวิตไม่ อย่าได้ทรงพระวิตกเลย เชิญพระองค์ยกไปปราบข้าศึกให้มีชัยชนะเทอญ

พระยาน้อยได้ทรงฟังก็ดีพระทัย ครั้นจัดการเมืองเสร็จแล้ว ก็ระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยแลเทพยดาทั้งปวง จึ่งทรงพระสัตยาธิษฐาน ข้าพเจ้าจะยกไปทำการเมืองพะโคครั้งนี้ ถ้าจะมีชัยชนะได้ครองราชสมบัติเป็นใหญ่ในเมืองพะโคแลได้บำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไปแล้ว ขอให้เทพยดาบันดาลศุภนิมิตให้เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งปวงเถิด พอเสร็จคำอธิฐานลง ขณะนั้นฤกษ์บนก็บันดาลอัศจรรย์ ปรากฏฝ่ายทิศอีสานซึ่งจะยกทัพไปนั้นบังเกิดเป็นรุ้งสองตัวซ้อนกันอยู่ แล้วสายอสนีบาตผ่าลงถูกกลางตัวรุ้งขาดออกเป็นสองท่อนทั้งสองตัว บรรดานายทัพนายกองไพร่พลทั้งปวงก็เห็นด้วยกันทั้งสิ้น พระยาน้อยทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์ดังนั้นจึงตรัสถามมังกันจี มังกันจีก็ทูลทำนายว่า ซึ่งรุ้งสองตัวซ้อนกันอยู่นั้น คือ จะได้แก่สมิงมะราหูกับพระมหาเทวี แลซึ่งสายอสนีบาตผ่าลงมาถูกลางตัวรุ้งขาดทั้งสองตัวนั้นจะได้แก่พระองค์ พระองค์มีบุญญาภิสมภารมาก ทรงพระเดชานุภาพแรงกล้าเปรียบดุจดังสายอสนีบาต พระองค์ยกขึ้นไปครั้งนี้เห็นจะมีชัยชนะแก่สมิงมะราหูแลพระมหาเทวี จะได้เมืองพะโคเป็นมั่นคง

พระยาน้อยได้ทรงฟังมีพระทัยยินดีนัก ครั้นได้ศุภฤกษ์พิชัยมงคล พระยาน้อยก็เสด็จขึ้นทรงพระคชาธารพลายประกายมาศเป็นราชพาหนะ พร้อมด้วยเสนางคนิกรพลทหารทั้งปวง ให้ลั่นฆ้องโบกธง รี้พลโห่สามลา ยาตรากองทัพบกแลทัพเรือพร้อมกัน ครั้นมาถึงตำบลวัดสิงห์คุตทางใกล้เมืองพะโคร้อยสิบเส้นพร้อมกันทั้งทัพบกทัพเรือ พระยาน้อยจึงตรัสสั่งให้ตั้งมั่นลงไว้

ฝ่ายพ่อมอญ แม่ทัพเรือ ก็จัดกองทัพเรือตั้งเป็นค่ายคูประตูเข้าออกตามขบวนพิชัยสงคราม จึงแต่งให้ทหารลงเรือลาดตระเวนคอยจับผู้คนไปมาแปลกปลอม แล้วจึงสั่งนายทัพนายกองเป็นคนต่างใจให้อยู่ตรวจตรารักษากองทัพดูแลว่ากล่าวทหารทั้งปวงเสร็จแล้ว ส่วนตัวก็พาทหารบ่าวไพร่คนสนิทขึ้นไปเฝ้าพระยาน้อย ณ ทัพบก หวังจะฟังกิจราชการ พระยาน้อยจึงตรัสปรึกษาด้วยพ่อมอญแลมังกันจีว่า บัดนี้ สมเด็จพระราชบิดาเราทรงพระประชวนหนัก ยังมิได้สวรรคต ครั้นจะให้ยกทัพเข้าตีเมืองพะโคเล่า เหมือนกับเราเป็นขบถชิงราชสมบัติพระราชบิดา เป็นคนหามีสัตย์กตัญญูไม่ คนทั้งปวงก็จะล่วงครหานินทาได้ จำจะตั้งมั่นไว้ที่นี่ ดูท่วงทีพระมหาเทวีกับสมิงมะราหูจะคิดอ่านทำประการใดบ้าง พ่อมอญ มังกันจีก็เห็นชอบด้วย พระยาน้อยจึงสั่งให้จัดแจงค่ายคูประตูหอรบไว้เป็นสามารถ แล้วก็แต่งคนออกนั่งทางให้ตรวจตระเวนคอยฟังเหตุการณ์

ขณะเมื่อพระยาน้อยยกทัพมาตั้งอยู่นั้น กิตติศัพท์รู้เข้าไปถึงเมืองพะโค ขุนนางน้อยใหญ่ทั้งปวงก็คิดกลัวเกรงเดชานุภาพพระยาน้อย ต่างคนต่างปรึกษากันว่า บัดนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราก็ทรงพระประชวรเพียบหนัก เห็นพระอาการไม่ฟื้น จะสวรรคตในสองวันสามวันเป็นแท้ เราทั้งปวงเห็นว่า ราชสมบัตินี้จะได้แก่มังสุรมณีจักร พระราชบุตร เป็นมั่นคง อนึ่ง ราชสมบัตินี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ปลงพระทัยไว้แก่พ่อขวัญเมืองอันเป็นพระราชปิโยรส ได้ตรัสแก่พระมหาเทวี พระเจ้าพี่นางเธอ มาแต่เดิม บัดนี้ พ่อขวัญเมืองก็บุญน้อยดับสูญสิ้นพระชนม์เสียก่อน หาทันได้ราชสมบัติไม่ ก็เป็นบุญญาภิสมภารของมังสุรมณีจักรซึ่งจะได้ดำรงราชสมบัติสืบไป อันสมิงมะราหูกับพระมหาเทวีคิดการจะแย่งชิงนั้นเห็นไม่สำเร็จ ด้วยสมิงมะราหูเป็นแต่ราชบุตรเขย เปรียบเหมือนหนึ่งแขกเมืองมาอาศัย ซึ่งจะพลอยได้ทรัพย์มรดกของเจ้าเมืองนั้น อย่างธรรมเนียมไม่มี เห็นมังสุรมณีจักรจะได้ราชสมบัติเป็นแท้ ราษฎรทั้งปวงก็นิยมยินดีมาก เราทั้งปวงควรจะเข้านบนอบฝากตัวเสียแต่แรก มังสุรมณีจักรจะได้เห็นว่า เราทั้งปวงนี้มิใช่พวกสมิงมะราหู ถ้ามังสุรมณีจักรได้ราชสมบัติสมบัติแล้ว ก็จะชุบเลี้ยงตั้งแต่งให้เราทั้งปวงมียศถาศักดิ์คงอยู่ตามตำแหน่ง

ขุนนางทั้งปวงปรึกษาเห็นชอบพร้อมด้วยกัน ต่างคนก็ตกแต่งเครื่องบรรณาการแลหนังสือให้คนสนิทลอบถือออกไปถวายพระยาน้อยสิ้น ในหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้า ขุนนางผู้มีชื่อทั้งปวง ขอกราบถวายบังคมมายังฝ่าพระบาทพระราชบุตรให้ทรงทราบ ด้วยข้าพเจ้าผู้มีชื่อทั้งหมดนี้ตั้งจิตสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ จะขอพึ่งบุญบารมีสืบไป จะได้สมรู้ร่วมคิดกับสมิงมะราหูอันเป็นศัตรูข้าศึกของพระองค์นั้นหามิได้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงแคลงพระทัยเลย ข้าพเจ้าขุนนางผู้มีชื่อทั้งปวงนี้ได้จัดสิ่งของเครื่องบรรณาการต่าง ๆ มีประมาณมากน้อยแจ้งอยู่ในหนังสือแล้ว ให้คนสนิทมีชื่อนั้น ๆ นำออกมาทูลเกล้าถวาย หวังจะได้เป็นกำลังแก่ทแกล้วทหารของพระองค์อันจะทำการสืบไป

พระยาน้อยได้แจ้งความในหนังสือแล้วก็ทรงพระโสมนัส ตรัสสั่งให้เอาของเครื่องบรรณาการทั้งนั้นไปพระราชทานแจกจ่ายแก่นายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวงตามมากแลน้อยโดยสมควร แต่อำมาตย์ทินผู้หนึ่งนั้นเป็นคนมีสติปัญญา ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาเสนานุวัตรเป็นอันดี มิได้สมรู้ร่วมคิดด้วยผู้ใด กับสมิงมะราหูก็มิได้เข้านอบน้อม หรือจะได้มีหนังงสือแลจัดเครื่องบรรณาการให้คนคุมออกมาถวายพระยาน้อยขอนบนอบดุจขุนนางทั้งปวงนั้นก็หามิได้ ตั้งจิตเป็นกลางมัธยัสถ์อยู่ ด้วยคิดว่า การจะเป็นไปอย่างไรในเบื้องหน้าก็จะคิดแก้ไขด้วยปัญญา เอาแต่ความสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง





จบเล่ม ๙ สมุดไทย


เล่ม ๑๐ ยังมีต่อไป



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


  โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


  เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร




เล่ม ๘ ขึ้น เล่ม ๑๐