รายงานการชุมนุมกรรมการองคมนตรี วันที่ 11 เมษายน 2470
หน้าตา
รายงานการชุมนุมกรรมการองคมนตรี
- ห้องเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
- วันจันทร์ที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๐ เริ่มเวลา ๓.๒๕
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทับเปนประธาน | |
กรรมการมาประชุมพร้อมกัน คือ:— | |
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร | |
หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ | |
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี | |
พระยาสุรินทราชา | |
พระยาจินดาภิรมย์ | |
พระยาเทพวิทุรฯ | |
พระยาโกมารกุลมนตรี | |
การเปิดประชุม พระโอวาทผู้ทรงเปนประธาน | ผู้ทรงเปนประธานทรงเปิดประชุม ตรัสต้อนรับกรรมการว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งกรรมการนี้ขึ้นเพื่อจัดระเบียบองคมนตรีใหม่นั้น ทรงรู้สึกภูมพระหทัยที่ได้ท่านทั้งหลายผู้มีชื่อเสียงมาร่วมทำกิจการนี้ เพื่อกรรมการทั้งหลายจักได้ทราบตระหนักในพระราชประสงค์, ทรงแถลงพระปรารภว่า องคมนตรีนี้ได้มีมาแต่รัชกาลที่ ๕ เปนเวลานานมาแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น มีพระชันษาเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น ทรงพระราชดำริห์ว่า กิจการเปนโบราณอยู่มาก จะยังละเว้นธรรมเนียมโบราณยังไม่ได้เลย ในยามที่ราชการเปนอยู่เช่นนี้ ก็มีพระราชหฤทัยจำนงว่า การโบราณนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามประเทศตวันตกที่รุ่งเรือง แต่ผู้ที่ทรงใช้สรอยอยู่ในเวลานั้นจะหาผู้ที่คงแก่เรียนแทบไม่มี ผลที่สุด เมื่อทรงตั้งแบบขึ้น ก็เปนการถ่ายมาจากแบบฝรั่งยิ่งกว่าดัดแปลง (adapt) ให้เหมาะดีกับกาลเทศะ พระราชประสงค์ที่ตั้งรัฐมนตรี Councillor of State และองคมนตรี Privy Councillor ก็ตั้งไปดังนั้น แต่คนเหล่านั้นทำการตามหน้าที่ไม่ได้จริงจัง และต่อมา วางระเบียบขึ้นอีก ก็มีประชุมแต่รัฐมนตรี ซึ่งไร้ประโยชน์ เพราะผู้ที่ทรงตั้งแต่งเปนรัฐมนตรีไม่มีความรู้พอแก่การ แต่โดยพระปรีชาสามารถ หาได้เกิดสาเหตุร้ายแรงอย่างไรขึ้นไม่ ในปลายมือ ก็คงจะทรงพระราชดำริห์ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้ประชุมรัฐมนตรี แต่ที่ได้ทรงตั้งองคมนตรีทั้งหลายต่อมา ก็เพื่อแสดงความไว้วางพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ liberal มาก ถึงแม้ว่าทรงเห็นว่า บ้านเมืองชอบปกครองด้วยอาญาสิทธิ์ แต่ก็เปนอาญาสิทธิ์ที่ liberal. |
ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงศึกษาในต่างประเทศมามากแล้ว ทรงมั่นพระราชหฤทัยว่า การปกครองกรุงสยามจะเปนอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ดีแน่แล้ว นอกจากโดยรูป absolute monarchy จึงมิได้ทรงแก้ไขระเบียบองคมนตรี ทรงปล่อยให้เปนไปอย่างเดิม แล้วทรงตั้งองคมนตรีขึ้นใหม่ตามพระราชอัธยาศัย ใครได้รับพระราชทานพานทอง ก็โปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งองคมนตรี. | |
ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงทราบแน่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัย liberal อย่างเอก ได้เคยทรงสนทนากันมาแต่ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในเรื่อง Form of Government ย่องทรงตระหนักพระราชหฤทัยอยู่ว่า รูปการปกครองอย่างที่ดีนั้น ก็คือ ที่เหมาะที่สุดสำหรับบ้านเมืองโดยกาละ ถึงแม้ว่า ในเวลานี้ ยังจำเปนต้องคงใช้รูปการปกครองโดยอาญาสิทธิ อาญาสิทธินั้นก็จะต้องให้เปนอย่าง liberal อย่างยิ่ง จึงจะทรงตัวอยู่ได้ แต่วันล่วงไป ก็ยิ่งจะมีคนที่ได้ศึกษามีความรู้มากขึ้น จะต้องคิดการไว้เตรียมรับ emancipation ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยลำดับ | |
เมื่อไรเล่า จะถึงเวลาต้องเปลี่ยนรูปการปกครอง ทรงพระราชดำริห์ว่า เมื่อไรประชาชนมีความรู้พอแก่การแล้ว จึงจะใช้ parliamentary system เปนผลได้ และก็คงจะต้องถึงเวลาอันควรเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งแน่นอน ในขณะรอเวลาที่จะมานั้น เราจะต้องคิดดูว่า จะรอให้ราษฎรเรียกเอาเอง ฤๅจะชิงให้เสียก่อน ถ้าขัดไว้ช้าเกินไปแล้ว ต้องยอมให้ ก็ไม่เหมาะ และอาจจะมีผลร้าย ถ้าแม้ว่ายอมให้เร็วไป ราษฎรยังไม่มีความรู้ ก็อาจไม่เปนการเปนงาน และอาจเปนผลถึงจลาจล เหมือนดังเช่นได้เคยเห็นตัวอย่างในเมืองอื่น ๆ การที่จะเก็งเวลาให้เหมาะว่า เมื่อใดจะพึงเปลี่ยนรูปการปกครองเปน Representative Government นั้น เปนการยากนักหนา ใครสามารถเก็งถูก ก็ชื่อว่าเปน Statesman อันวิเศษทีเดียว โดยเหตุนี้ เราควรจะหาทางเตรียมทางเข้าหาอย่างใดได้บ้าง. ทรงเห็นว่า มีอย่าง ๑ ปล่อยให้มีการประชุมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่ประเทศอังกฤษเขาทำแก่ colonies ของเขาเปนชั้น ๆ โดยลำดับไป เช่น ด้วย Municipal Council, Local Government ฤๅ Legislative Council แต่หัวข้อที่เราจะปรึกษาหารือกันนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่อง Representative Government ฤๅ Parliamentary system ที่นำมาทรงปรารภก็เพื่อที่จะให้รู้กันถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยที่ทรงจำนงต่อความสุขและประโยชน์ของชาติเปนที่ตั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรรมการนี้คิดวางระเบียบสิทธิและหน้าที่ขององคมนตรีถวาย มิให้อยู่โดยไร้ประโยชน์เช่นอย่างทุกวันนี้ และเมื่อน้ำพระราชหฤทัยเปนดังกล่าวมาแล้ว กรรมการจะออกความเห็นอย่างใด ก็ไม่พึงต้องกลัวเกรงว่า จะทรงถือเปนการคิดล้างพระราชอำนาจฤๅล่วงเกินอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ขอให้กรรมการทั้งหลายแสดงความเห็นที่เปนประโยชน์แก่การบ้านเมือง ถ้าแม้ว่าจะเกินเลยไปบ้าง ก็เชื่อแน่ว่า จักไม่ทรงถือโทษ เพราะฉนั้น ทุกคนพึงถวายความเห็นเต็มตามใจรัก ความเห็นส่วนมากอย่างไร ก็จักได้นำความกราบบังคมทูลพร้อมกันกับความเห็นส่วนน้อย. | |
ในขณะนี้ มีองคมนตรีอยู่ ๒๒๗ คน ถ้าจะประชุมทั้งมวล ก็ unwieldy เกินไป และถ้าไม่เปนการดูถูกแล้ว เราคงเห็นว่า บางคนไม่เหมาะ (fit) สำหรับการนี้ จะคัดถอนอย่างไรนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง (๑) เลิกเสียทั้งหมดแล้วตั้งใหม่ ซึ่งเปนการชอกช้ำ (๒) เลือกในหมู่นี้ขึ้นเปนสภากรรมการ นอกนั้นให้เปนกิติมศักดิ์ สภากรรมการมีเวลาทำงาน terms of office เท่านั้น ๆ ปีตามแต่จะตกลงกัน | |
อำนาจของสภาจักพูดราชการได้เท่าไร – จะให้เปน consultative ฤๅ advisory ฤๅ legislative body ได้เห็นกันว่า เมื่อเปน legislative body แล้วขัดข้อง เพราะว่า เวลานี้ การทำกฎหมายซึ่งเปน administrative act ก็มี และการทำประมวลกฎหมาย (Code) นั้นจะต้องจัดทำตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ถ้าเอา poli⟨ti⟩cal consideration มาว่ากันณที่นี้ ความสำเร็จจะชักช้าไปอีก ถ้าประมวลกฎหมายแล้วเมื่อไร จะให้สภาเปน legislative body ก็ค่อยยังชั่ว แต่ถ้าเปนเรื่องที่สมควรสำเหนียกความพอใจของคนส่วนมาก จะนำปรึกษาในประชุมองคมนตรีโดยถือว่าคล้ายกับเปนผู้แทนของคนทั่วไป ก็อาจเปนการอันดีได้ เช่น ในเรื่องหลักการกฎหมายผัวเมีย เปนต้น ถ้าจะให้เปน consultative body ก็ต้องปรึกษาเฉภาะเรื่องที่พระราชทานออกมา. | |
ได้ทรงปรึกษาพระยาจินดาภิรมย์ ๆ ได้ลองร่างขึ้นเปนรูปพระราชบัญญัติใหม่ ซึ่งเห็นว่า ร่างนี้ควรเอาเปนมูลฐานสำหรับปรึกษากันได้แต่บัดนี้. | |
|
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า ในการปรึกษากันนั้น เราจะไม่เปลี่ยน constitution ไม่ใช่ฤๅ. เพราะฉนั้น เข้าพระทัยว่า ความเห็นของที่ประชุมไม่เกี่ยวพันธ์ binding กับเรื่องนี้. |
พระองค์เจ้าธานีฯ ว่า ตามพระปรารภนั้น การอันนี้เปนเพียงทดลอง ก็จะหาหนทางคิด และเมื่อเปนเช่นนั้น ก็ดูไม่มีข้อขัดข้อง แต่เมื่อคิดให้ไกลออกไปถึงหลัก เข้าใจว่า พระดำริห์อันนี้จำเปนและพึงถือเปน World Axiom อันหนึ่ง. จึงอยากจะปรารภไว้ว่า ใช่เหตุที่จะถือเอาประชาธิปไตยเปน World Axiom เพราะเห็นว่า ประชาธิปไตยที่แพร่หลายไปมากนั้น เกิดจาก prestige ของพวก Anglo-Saxon สหปาลีรัฐอเมริกาได้ริตั้ง democratic-system ขึ้น มีอเมริกาใต้และฝรั่งเศสได้รับรองเอาไปใช้ แต่ก็ไม่เห็นเปนผลจริงจัง ทรงเห็นว่า ถ้าไม่ใช่พวก Anglo-Saxon แล้ว ชาติอื่น ๆ ยังทำไม่ได้สำเร็จดี ถ้าสังเกตประเทศที่ใกล้เคียงบ้านเรา เท่าที่จีนทำไปอย่างพวก Anglo-Saxon นั้น ก็มีผลให้มีการจลาจล ประเทศญี่ปุ่นนั้น ถึงจะมี Pa⟨r⟩liament แท้จริงหัวใจของการปกครองก็ยังเปนรูป autocracy หัวใจราษฎรยังตรงกันข้ามกับ democratic principle จึงทรงเห็นว่า ชาวตวันออกน่าจะเหมาะแก่การปกครองเปน patriarchal ไม่น่าเชื่อว่า การปกครองจะมาจากส่วนล่างขึ้นไปส่วนสูง. | |
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เห็นพ้องตามพระราชดำริห์ผู้ทรงเปนประธานเปนส่วนมาก ปัญหาที่พระองค์เจ้าธานีฯ ยกขึ้นนั้น เห็นว่า เกี่ยวกับการศึกษาอบรมมากกว่าเกี่ยวกับชาติฤๅประเทศ การศึกษายังไม่ได้อบรมถึงที่แล้ว จะหวังผลให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าภูมิศึกษาที่ได้อบรมแล้ว ก็ไม่ได้อยู่เอง คนไทยที่ลักษณดัดง่าย เปลี่ยนง่าย อาจดัดได้ด้วยการศึกษาแน่นอน แต่มีความจริงที่ปรากฏแล้วอย่างหนึ่ง คือว่า การจะหัดให้ราษฎรรู้จักปกครองด้วยวิธี Representative Government นั้นเปนการยาก ต้องกินเวลานาน ญี่ปุ่นได้ทำมาแล้วเปนเวลานานปี ก็ได้ผลแต่เพียงนี้ ประเทศอื่น ๆ ที่มีครูมาฝึกหัดให้ เช่น พิลิปไปนส์ ก็ต้องทำอยู่เปนเวลาตั้ง ๒๐ ปีแล้ว เห็นว่า การศึกษาอบมรมคนให้นึกถึงตัวน้อยเข้า ในการเลือกผู้แทน ถ้าขาดการศึกษา ก็เปนการเลือกส่วนตัวยิ่งกว่าถือเอาการงานเปนใหญ่ Democracy ที่บกพร่องก็เพราะคนยังเห็นแก่ตัวเปนส่วนมาก ผลสำเร็จของ democracy จริงอยู่ที่การศึกษาซึ่งกระทรวงธรรมการจะต้องรีบบำรุงให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเสี่ยงภัยก็มีทางนี้แหละที่พอหวังได้ | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า พระองค์เจ้าธานีฯ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้พูดเรื่อง democracy เปน general observation แล้ว จึงไม่ขอกล่าวซ้ำให้ยืดยาว ทรงเห็นว่า ถ้าคิดถึงการภายหน้าแล้ว การที่มี absolute monarchy นั้นก็มีอั⟨น⟩ตราย danger ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงไว้ซึ่งสติปัญญา ก็เกิดการเสียหายได้ เพราะเหตุฉนั้น ประเทศอื่น ๆ จึงมี limit พวกที่จงรักภักดีแก่แผ่นดินจึงพยายามหน่วงพระราชอำนาจ ทรงเห็นว่า เมื่อบ้านเมืองมีการศึกษา education ดี ก็ต้องมีเสียงราษฎรมากขึ้น สภากรรมการองคมนตรีนี้ควรเปน advisory body | |
พระยาสุรินทราชา เห็นพ้องกับหม่อมเจ้าสิทธิพรว่า สภานี้ควรเปน consultative body เมื่อฟังตามพระกระแสผู้ทรงเปนประธาน เห็นว่า ที่ประชุมองคมนตรีเปิดโอกาศให้ราษฎรได้รับความพอใจว่าเปนพระมหากรุณาที่ทรงหวังพระราชหฤทัยแก่ความทุกข์สุขของเขา เวลานี้ หนังสือพิมพ์ตะโกนเอาอำนาจ ถ้าปล่อยให้เปนไปเช่นนี้แล้ว ย่อมเปนอันตรายมากที่สุด ประชุมนี้จะเปนหัวเงื่อนของรัฐบาลกับประชาบาล การกำเริบขอราษฎรจะบันเทาลง เพราะว่า ถ้ามี consultative body ขึ้นแล้ว เมื่อพระราชทานเรื่องลงมาให้ปรึกษาหารือกัน ถ้าราษฎรรู้สึกว่า มีหม่อมเจ้าสิทธิพรที่เปนชาวไร่ชาวนาอยู่ในที่ชุมนุมเปนผู้แทนของเขาแล้ว เขาก็คงพอใจ และคงจะไม่ไปตะโกนในหนังสือพิมพ์ว่า ได้ความเดือดร้อน และไม่มีใครป้องกันผลประโยชน์ของเขา | |
พระยาจินดาภิรมย์ ว่า พระกระแสรับสั่งของผู้ทรงเปนประธานได้ทรงอธิบายข้อความที่จะประชุมปรึกษาหารือโดยแจ่งแจ้งไพเราะเปนที่จับใจยิ่งนัก เมื่อระลึกถึงการที่กรุงสยามได้มีความจำเริญขึ้นโดยลำดับจนนานาประเทศได้ยอมรับแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาใหม่ยอมให้ไทยมีฐานะเสมอภาค (autonomy) ดังนี้เปนที่ยินดีมาก แต่ผลอันเกิดจากความเสมอภาคนี้ย่อมนำมาซึ่งหน้าที่ ๆ จะต้องจัดรูปการปกครองให้เหมาะกับการ เพื่อมิให้ล้าหลังอยู่ได้ แต่การที่จะจัดนี้ จะหักโหมทำไปให้เท่ากับเขาทีเดียวนั้น ย่อมไม่ได้อยู่เอง จำต้องค่อยเปนค่อยไป จึงเห็นว่า เปนการสมควรแล้วที่จะตระเตรียมการไปแต่บัดนี้. | |
ตามความในพระราชหัตถเลขาสั่งตั้งกรรมการคณะนี้ มีพระราชประสงค์จะให้เปลี่ยนระเบียบองคมนตรีใหม่ จึงได้ตรวจพิจารณาพระราชบัญญัติต่าง ๆ ในเรื่องนี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติเดิมมีอยู่แต่เปนตัวอักษร ยังหาได้นำตัวบทนั้น ๆ ขึ้นใช้อย่างจริงจังไม่ อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ ย่อมเปนองค์พยานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถหยั่งรู้ถึงการในอนาคตและได้ทรงเริ่มดำเนิรการไปคั่น ๑ แล้ว มาบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะขยับก้าวขึ้นไปอีกคั่น ๑ นับว่าเปนพระมหากรุณาธิคุณแด่อาณาประชาราษฎร์อย่างล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ | |
การประชุมองคมนตรีนั้น แม้เปนไปในทางปรึกษาแนะนำ (advisory) ก็ดี เห็นว่า ถ้าจะให้องคมนตรีทั้ง ๒๒๗ คนมาปรึกษาถวายความเห็นแล้ว จำนวนทั้งหมดนั้นจะมากเกินไป และอาจทำการไม่สำเร็จได้สมประสงค์ (unwieldy) ถ้าจะแบ่งให้เปนกิติมศักดิ์เสียบ้าง ผู้ที่ถูกกันออกเช่นนี้อาจเสียใจ โดยอาจเข้าใจว่า ตนก็ยังมีความรู้ความสามารถเหมือนกัน เพราะฉนั้น ทางดีที่สุด ก็คือ ตั้งสภากรรมการองคมนตรีขึ้น และคัดเลือกกรรมการผู้สามารถจากจำนวนองคมนตรีนั้นเอง กรรมการจักอยู่ในตำแหน่งเพียงจำกัดเวลา และผลัดเปลี่ยนกันเข้าประจำตำแหน่งตามร่างที่ได้เสนอมาแล้ว ที่ประชุมกรรมการนี้จะให้เปน advisory ฤๅ legislative council ก็สุดแล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าได้มีสภาขึ้นแล้ว แม้จะเปนแต่ Advisory body ก็ยังได้ผลทางอ้อมอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เรื่องใดซึ่งตามธรรมดาราษฎรจะถวายฎีกาขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้น เมื่อทราบว่า สภาองคมนตรีกำลังวินิจฉัยอยู่แล้ว ย่อมระงับฟังไม่ถวายฎีกาก็ได้ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงขอสนับสนุน (support) เรื่องตามที่ผู้ทรงเปนประธานรับสั่งนั้น. | |
พระยาเทพวิทุรฯ เห็นว่า ตามกระแสรับสั่งผู้ทรงเปนประธานว่า ให้เตรียมตัวหาหนทางสำหรับการภายหน้าอันเปนหัวเงื่อนต่อนั้น ดีนัก พร้อมที่จะฉลองพระเดชพระคุณ เห็นชอบด้วยพระราชดำริห์. | |
พระยาโกมารกุลมนตรี ว่า พระราชประสงค์จะให้มี Body ขึ้นในหมู่องคมนตรี เลือกเอาแต่บุคคลที่ทำงานได้จริงจังนั้น เปนพระราชดำริห์ที่ดีนัก ส่วนหน้าที่ของคณะนี้ เห็นควรว่า เปนเพียง Consultative Body. | |
หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ ว่า ในจำนวนองคมนตรีที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ เห็นว่า ถ้าจะแบ่งออกเปนกิติมศักดิ์อย่างเช่นรัฐมนตรีที่ชราพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปนรัฐมนตรีพิเศษได้ก็จะดี แล้วประชุมแต่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเท่านั้น. | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า เห็นควรประชุมทั้ง ๒๒๗ คน จะคัดคนชราออกนั้น คนเหล่านั้นอายุเท่าไร ทรงเห็นว่า เขามีความสามารถเหมือนกัน ควรให้โอกาศทุกคน เพราะจำนวนองคมนตรีอาจมี limit. | |
หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ ว่า มีองคมนตรีที่อายุตั้ง ๖๐ ปี และที่ถูกปลดออกจากราชการเพราะดุลยภาพก็มาก | |
ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า ถ้าได้คนที่มิได้อยู่ในตำแหน่งราชการมาเข้าที่ประชุมก็เปนการดีเหมือนกัน มีพระราชประสงค์จำนงหมายว่า การตั้งเปนองคมนตรีนั้นจะไม่ให้เปนบำเหน็จสำหรับข้าราชการในตำแหน่ง จะทรงตั้งราษฎรก็ได้ แต่มี condition ว่า ต้องเปนคนที่ไว้วางพระราชหฤทันและมีคุณวุฒิความรู้ ทรงเสนอ Resolution ดังต่อไปนี้ | |
"ที่ประชุมเห็นว่า ตามที่มีพระราชประสงค์จะ" | |
"ให้มีสภาองคมนตรีขึ้นเปนที่ประชุมปรึกษา" | |
"ราชการขึ้นอีกคณะ ๑ นั้น เปนการชอบแล้ว" | |
กรรมการทุกคนลงมติเห็นชอบด้วย. | |
พระยาสุรินทราชา ว่า ถ้ามีประชุมเปนจำนวนมาก คนเกิดมาเถียงกันอย่าง(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก) ๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เห็นควรเลือกสรรมาประชุม. | |
ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า มีพระประสงค์ที่จะให้ที่ประชุม command respect แก่ประชาชน จริงอยู่องคมนตรีบางคนไม่ command respect เลย หวังพระทัยว่า จะไม่เปนการดูหมิ่นที่กล่าวเช่นนั้น ถ้ามีคนที่ไม่เหมาะอยู่ในที่ประชุม และราษฎรเห็นว่า คนเช่นนั้นยังนั่งอยู่ในที่ประชุมได้ ก็คงไม่เชื่อถือเลย | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า ใครจะเลือก? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก ฤๅเลือกกันเอง ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกตั้ง ก็อาจเปนคนเช่นนั้นอีกได้ ขอให้ทำ Resolution ว่า | |
"ที่ประชุมเห็นควรให้องคมนตรีเข้าประชุมทุกคน⟨"⟩ | |
"ไม่ต้องมี limit." | |
พระยาสุรินทราชา ว่า กรรมการควรเลือกจากบรรดาองคมนตรีให้มาปรึกษากัน และให้องคมนตรีอื่น ๆ มานั่งฟังได้ แต่ไม่ให้แสดงความเห็น. | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ทรงเห็นว่า จะยุบองคมนตรีแล้วตั้งใหม่ ฤๅเลือกใหม่ ฤๅคัดเลือกมาประชุม ก็ย่อมมีความเสียใจเหมือนกัน และบางที คนดี ๆ อาจหลุดไปก็ได้. | |
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ ว่า ที่จะโปรดเกล้าฯ ให้มีประชุมเสมอ ๆ นั้น จะให้มาประชุมเปนจำนวนมาก ๆ เช่น ให้องคมนตรีมาทั้หมด อาจจะประชุมกันไม่ได้ เพราะ unwieldy และไม่สดวก เพราะบางคนต้องทิ้งถิ่นที่ทำมาหากิน เช่น หม่อมเจ้าสิทธิพรเอง เปนต้น ควรเลือกขึ้นเปนผู้ประจำการชุมนุม แต่ถ้ามีมากคน ก็ไม่สดวก นอกจากจะได้ผลประโยชน์ทดแทน. | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า ไม่ต้องมาประชุมก็ได้ ไม่เปนการบังคับให้มาเสมอ ๆ ไป. | |
ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า ที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์พูดนั้น ทรงเห็นว่า ไม่มีปัญหา เปนการสุดแล้วแต่ quorum ถ้ามีองค์ประชุมแล้วก็ชุมนุมกันได้ แต่ถ้าจะเลือกเอามาประมาณ ๔๐ คนเปนต้น ยังทรงสงสัยว่า จะ practical ฤๅไม่. | |
พระยาสุรินทรราชา ว่า ถ้าจะยุบและเลือกใหม่นั้น ก็เข้าแบบอย่างราชองครักษ์. | |
พระยาจินดาภิรมย์ ว่า เห็นควรเลือกที่ command respect มาเปนกรรมการประจำ. | |
ผู้ทรงเปนประธาน ทรงอธิบายว่า ราชองครักษ์นั้นมีกำหนดเวลา เปนราชองครักษ์หมุนเวียน ตั้งขึ้นเปน rotation ถ้าทำงานดีแล้ว ก็มีหวังที่จะได้เปนราชองครักษ์ได้อีก และทรงเสนอ Resolution เปนเงื่อน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ข้อ ดังนี้:— | |
(๑)ที่ประชุมเห็นว่า ควรให้องคมนตรีตามจำนวนที่มีอยู่เข้าประชุมได้ทั้งหมด | |
(๒)ที่ประชุมเห็นควรยุบเลิกองคมนตรีทั้งหมดแล้วตั้งใหม่ | |
(๓)ที่ประชุมเห็นว่า ในจำนวนที่มีอยู่แล้วนั้น ควรเลือกตั้งมาเปนกรรมการสภามีจำกัดจำนวนหนึ่ง และมีกำหนดเวลาประจำ นอกจากนั้น จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งใหม่อีกเท่าไรก็ได้. | |
พระองค์เจ้าธานีฯ, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์, พระยาสุรินทราชา, พระยาจินดาภิรมย์, พระยาเทพวิทุรฯ, พระยาโกมารกุลมนตรี รวม ๖ เห็นพ้องกันว่า เลือกจากจำนวนองคมนตรี มีกำหนดเวลาประจำ เปนเสียงข้างมาก จึงเปนอันตกลงตามข้อหมาย (๓). | |
หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เห็นว่า ควรยุบทั้งหมดแล้วตั้งใหม่ | |
ปรึกษาร่างพระราชบัญญัติองคมนตรี | เมื่อได้ตกลงกันในข้อที่สภากรรมการนี้จะเปน consultative body และควรเลือกตั้งสภากรรมการจากจำนวนองคมนตรี มีกำหนดเวลาประจำแล้ว ที่ชุมนุมได้ตรวจร่างพระราชบัญญัติที่พระยาจินดาภิรมย์ร่างขึ้น. |
มาตรา ๑ และ ๒ | ผู้ทรงเปนประธาน ทรงอ่านร่างพระราชบัญญัติ ไม่มีใครทักท้วงความในมาตรา ๑ และ ๒ คงไว้ เพราะเปนแบบพระราชบัญญัติ |
มาตรา ๓ | พระยาจินดาภิรมย์ อธิบายว่า ประโยคท้ายแห่งมาตร ๓ ที่ร่างไว้นั้น ก็เพื่อให้องคมนตรีที่มีอยู่แล้วไม่ต้องเสียประโยชน์ที่ตนได้รับแล้ว. |
ที่ประชุมเห็นว่า ไม่จำเปนนัก ตกลงตัดประโยคท้ายว่า “แต่ไม่ได้เลิกถอนการอันใดที่ได้ทำไปแล้วตามความในพระราชบัญญัติเดิมนั้น” ออกเสีย. | |
มาตรา ๔ | ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า ความในมาตรา ๔ ที่ว่า จะทรงเลือกสรรพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลลอองธุลีพระบาทเปนองคมนตรีนั้น ทรงเห็นว่า แคบไป เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะทรงตั้งราษฎรเปนองคมนตรีด้วยก็ได้ ถ้าเปนผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและมีคุณวุฒิ เพราะฉนั้น ทรงเห็นควรแก้ให้กว้าง และคุณวุฒิที่อธิบายไว้ในมาตรา ๑๒ นั้น ก็ควรคัดออก เพราะเปนการบังคับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเลือกอยู่. |
ที่ชุมนุมตกลงแก้เปนความว่า "ทรงเลือกจัดสรรบุคคลใด ๆ ซึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เปนผู้ทรงคุณวุฒิสามารถ ทรงคุณธรรม สมควรเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย" | |
พระยาโกมารกุลฯ เห็นว่า ถ้าไม่จำกัดจำนวนแล้ว ควรตัดคำว่า “จำนวนองคมนตรีนั้นมากน้อยเท่าใดไม่มีกำหนดตามพระราชประสงค์” ออกเสีย. ถ้าจะจำกัดจำนวน เห็นควรทรงตั้งแต่เพียง ๒๕๐ คน เพื่อไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น. | |
พระยาจินดาภิรมย์ อธิบายว่า ได้ร่างตามแบบดิมเพื่อให้ชัดเจน ถ้าจำกัดแล้ว เปนการบังคับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเลือกได้ไม่เกินกว่าจำนวนนั้น. จะตัดออกก็ได้. | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร เห็นว่า ตัดออกดีกว่า มีไว้สำหรับอะไร ถ้าจะให้ทรงตั้งมากน้อยเท่าไรตามพระราชอัธยาศัย ไม่ต้องกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติก็ได้. | |
ที่ชุมนุมตกลงให้ตัดความนั้นออก. | |
มาตรา ๕, ๖ | หม่อมเจ้าสิทธิพร เห็นควรตัดตอนท้ายของมาตรา ๕ ว่าด้วยศักดินาและเดินหน้าเดินหลังออกเสีย เพราะว่า ถ้าจะทรงตั้งราษฎรเปนองคมนตรีด้วยแล้ว จะทำให้ยุ่ง และเห็นควรยกมาตรา ๖ ว่าด้วยการถือน้ำถวายคำสาบาลเข้ามาต่อมาตรา ๕. |
ที่ชุมนุมเห็นชอบด้วย. | |
มาตรา ๗ | ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า มาตรา ๗ นี้สำคัญมาก การที่ตั้งให้เปนองคมนตรีตลอดชีวิต เมื่อสิ้นแผ่นดินแล้ว ยังเปนอยู่ได้อีก ๖ เดือนนั้น ระเบียบเดิมจะมุ่งหมายให้ confirm succession ช่วยเลือกผู้สืบสัน⟨ต⟩ติวงศ์หรือประการใด การตั้งเขาตลอดชีวิตนั้น จะให้เขาลาออกได้ฤๅไม่ ถ้าไม่ไว้วางพระราชหฤทัย ก็ควรให้ออกได้ ถ้าสิ้นแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะไม่ให้เปนได้ฤๅไม่ เพราะฉนั้น ควรแก้ข้อนี้ซึ่งเปนความมุ่งหมายสำหรับสัน⟨ต⟩ติวงศ์ฤๅไม่. |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า ควรเปิดโอกาศให้องคมนตรีลาออกได้ ถ้าเปน working body ผู้ประจำการก็ไม่มีปัญหา ถ้าผู้ที่สติปัญญาไม่ดีลาออก ก็ให้โอกาศคนใหม่เข้ามาได้ | |
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ว่า ผู้ที่ทำการในสภากรรมการลาออกได้ก็พอแล้ว ไม่เห็นควรแก้ความในมาตรา ๗ นี้ เพราะว่าจะได้ช่วยการสืบราชสันตติวงศ์ให้แรงขึ้น. | |
หม่อมเจ้าสิทธิพร ว่า ถ้าสภากรรมการนี้เปน consultative body แล้ว ก็ไม่ควรคิดถึง constitution. | |
ผู้ทรงเปนประธาน ทรงเห็นว่า เมื่อสิ้นแผ่นดินลง ให้องคมนตรีคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จะตั้งใหม่ภายใน ๖ เดือน ดูก็ดีแล้ว เปนความมุ่งหมายตามพระราชบัญญัติเดิม ถ้าไม่ทรงตั้งใหม่ ก็เปนอันหลุดไป. | |
ที่ชุมนุมเห็นชอบด้วยว่า ให้คงเอาไว้. | |
มาตรา ๘ | เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ว่า มาตรา ๘ ให้กราบบังคมทูลเหตุการณ์โดยเร็วนั้น เห็นว่า ไม่เปนพระเกียรติยศ รักให้พูดกว้าง ๆ เช่น พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้องคมนตรีกราบบังคมทูลความรู้ความเห็นได้โดยตรงสุดแล้วแต่ discretion ของเขา. |
ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า จะเพจทูลไปทุกสิ่งทุกอย่าง ดูกระไรอยู่ แต่ก็มีบางคนทำ ทรงเห็นว่า ถ้ามีความเห็น opinion ที่เปนประโยชน์ กราบบังคมทูลให้ทรงทราบไว้ ก็เปนการดี. | |
ที่ชุมนุมได้ตกลงแก้มาตรา ๘ เปนความว่า "องคมนตรีคนใดมีความรู้ความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งสมควรจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กราบบังคมทูลได้โดยตรง⟨"⟩. | |
มาตรา ๙ | ผู้ทรงเปนประธาน รับสั่งว่า มาตรา ๙ ว่าด้วยล้มละลายต้องถอดนั้น เปนปัญหา เช่น สมเด็จพระราชปิตุลาฯ และกรมพระดำรงฯ ทรงเห็นว่า การล้มลายเปนการช่วยใช้หนี้ญาติฤๅทำมาค้าขายขาดทุนต้องล้มลายนั้น ไม่ใช่ความผิด ถ้าล้มละลายเพราะประพฤติชั่วเสเพลแล้ว ก็สมควรถอด อนึ่ง เช่น ประพฤติตนเปนชู้เมียเขานั้น เปนการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ไม่สมควรเปนองคมนตรี ควรถอดเหมือนกัน แต่ยังไม่ชัดว่า ความในร่างมาตรา ๙ นี้ครอบไปถึงฤๅไม่. |
พระยาเทพวิทุรฯ ไม่ชอบคำว่า "ผิดถึงจำคุก" ดูเปนองคมนตรีช่างเลวเสียเหลือเกิน ควรตัดออกเสีย | |
พระยาจินดาภิรมย์ ว่า การทำกฎหมายต้องว่าให้ตรงชัดเจนลงไป และเห็นพ้องกับพระดำริห์ผู้ทรงเปนประธานว่า การประพฤติผิดหยาบช้าไม่สมควรแก่ยศศักดิ์นั้น ก็ควรให้ถอดเสียได้ด้วย. | |
ที่ชุมนุมตกลงแก้มาตรา ๙ เปนใจความว่า "องคมนตรีคนใดกระทำความผิดประพฤติตนให้เปนที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะถอดผู้นั้นออกเสียจากตำแหน่งก็ได้" | |
ผู้ทรงเปนประธานมีรับสั่งว่า ควรหยุดประชุมเสียที และทรงนัดใหม่พรุ่งนี้ เวลา ๒ ล.ท. |
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (2545). รายงานการชุมนุมกรรมการองคมนตรี วันที่ 11 เมษายน 2470. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 216–230). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก