ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์/รายงานผลการดำเนินการ
ด้วยนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับคณะผู้ริเริ่ม ได้ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... พร้อมด้วยบันทึกหลักการและเหตุผล และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ ต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันพุทธที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ไม่มีหลักการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๕๕ จากนั้น คณะผู้ริเริ่มกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๑๐๐,๗๓๒ คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓ ประธานรัฐสภาได้ดำเนินการ ดังนี้
๑.ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปรากฏว่า มีผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่มีสิทธิเลือกตั้งและเอกสารหลักฐานครบถ้วนจำนวนจำนวน ๙๘,๘๒๔ คน
๒.แต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับคำร้องคัดค้านรายชื่อผู้เข้าเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....
๓.จัดให้มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และจัดเอกสารไว้เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และมีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อเป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อให้ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยที่ตนมิได้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้าน ปรากฏว่า มีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านจำนวน ๗๘๓ คน ดังนั้น จึงมีรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ถูกต้องจำนวนทั้งสิ้น ๙๘,๐๔๑ คน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
บัดนี้ จึงถือว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๙๘,๐๔๑ คนได้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ถูกต้องตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๖ แล้ว