ข้ามไปเนื้อหา

ลักษณกฎหมายระหว่างประเทศโดยย่อ/บทนำ

จาก วิกิซอร์ซ
ลักษณกฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายตามธรรมดาที่เข้าใจกัน แปลว่า ข้อบังคับของผู้ซึ่งมีอำนาจในประเทศ เมื่อไม่ประพฤติตามข้อบังคับนั้นแล้ว ผู้ซึ่งเปนใหญ่ในประเทศนั้น จะเอาโทษแก่ผู้นั้น

กฎหมายระหว่างประเทศนั้น คือ ในระหว่างประเทศซึ่งเปนไมตรีกัน มีวิธีที่ประพฤติการแลกิริยาต่อกัน นานมานี้ การแลกิริยาซึ่งได้ประพฤติต่อกันนั้นตกลงเปนยุติ จึ่งได้สมมุติกันว่า เปนข้อกฎหมาย แลวิธีที่ประพฤติกันนี้มีคนทุกประเทศซึ่งนิยมว่าดี จึ่งเผื่อแผ่ไปถึงประเทศซึ่งไม่เปนไมตรีต่อกัน

ได้พูดไว้ว่า วิธีการแลกิริยาหาได้เรียกว่ากฎหมายไม่ เพราะเหตุว่า ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว ต้องเปนข้อบังคับของผู้ซึ่งมีอำนาจในประเทศ ไม่ทำตามแล้วจะมีโทษ

ก็กฎหมายระหว่างประเทศนั้นจะเปนกฎหมายฤๅ เมื่อเปนแต่กิริยาความประพฤติต่อกัน ไม่มีผู้ใหญ่นายโตเปนผู้บังคับบัญชารักษากฎหมายนั้นซึ่งจะกระทำโทษประเทศซึ่งได้ทำผิด เพราะเหตุทั้งนี้ ที่เรียกว่ากฎหมายนั้น เปนแต่สมมุติกันว่ากฎหมายเท่านั้น

กฎหมายในบ้านเมือง ในส่วนแพ่ง คู่ความเปนราษฎรทั้ง ๒ ฝ่ายฟ้องร้องกันเรียกสินไหมเปนส่วนที่ทำโทษ ในอาญาเล่า บางทีก็ระหว่างราษฎร บางทีก็ระหว่างอัยการกับราษฎร สมมุติว่า ฝ่ายโจทย์นั้นฟ้องร้องแทนแผ่นดิน แลฝ่ายจำเลยนั้นต้องหาว่า ทำร้ายต่อแผ่นดิน โทษถึงจำคุก เฆี่ยน ประหารชีวิตร ปรับเปนพินัย คือ โทษหนักกว่าแพ่งซึ่งเปนแต่สินไหมเพราะได้ทำผิดต่อราษฎรคนหนึ่ง ในส่วนอาญานั้นทำผิดต่อราษฎรทั้งหมด โทษจึ่งได้หนัก

ในระหว่างประเทศ หาใช่ระหว่างราษฎรซึ่งเรียกว่าแพ่ง ฤๅแผ่นดินฟ้องราษฎรซึ่งเรียกว่าอาญา กฎหมายระหว่างประเทศนั้น คือ ประเทศต่อประเทศ สมมุติว่าประเทศเปนคน ๆ หนึ่ง

ความแพ่งก็ดี ความอาญาก็ดี เรามีโรงศาลที่จะไปฟ้องร้องได้ แต่ในระหว่างประเทศนั้นหามีโรงศาลไม่