ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ (2498)/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

ด้วยนายแสวง ภัทรนาวิก ผู้ช่วยหัวหน้ากองวิเทศสัมพันธ์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้มาแจ้งความจำนงต่อหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพนางทองสุก พิศาลบุตร ผู้เป็นมารดา กำหนดงานในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรมศิลปากรมีความยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ดังประสงค์

ในการจัดพิมพ์ครั้งก่อน พระยาอนุมานราชธน หรืออีกนัยหนึ่ง เสฐียรโกเศศ ได้เคยเรียบเรียงคำนำเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้ไว้ กรมศิลปากรจะได้ยกมาพิมพ์ไว้ข้างต้นของหนังสือเล่มนี้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านทราบความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ได้ดีขึ้น ดังนี้

"เรื่อง ลักษณะการปกครองประเทศไทย ที่พิมพ์แจกนี้ ว่าตามความเห็นข้าพเจ้า ถ้าผู้อ่านได้ใช้ความสังเกต จะเห็นได้ทันทีว่า ลักษณะที่ทรงนิพนธ์ มีพระประสงค์จะทรงชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจแจ่มแจ้งในข้อสำคัญ เหตุการณ์ตอนใดที่ยังเคลือบคลุม ก็ทรงวินิจฉัยด้วยพระญาณให้ผู้อ่านได้รับความสว่างแจ่มแจ้งขึ้น เช่น ทรงบรรยายเหตุการณ์อันเป็นตำนานของชาติ จับแต่ชนชาติไทยชั้นดึกดำบรรพ์ยังรวบรวมกันอยู่ในบ้านเมืองเดิมอันเป็นประเทศใหญ่อยู่ข้างเหนือในระหว่างประเทศธิเบตกับประเทศจีน แล้วทรงอธิบายถึงมูลเหตุที่ชาติไทยละทิ้งเมืองเดิมอพยพมาทางใต้แยกย้ายกันไปในแดนต่าง ๆ ตลอดจนลงมาตั้งราชธานีแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกขึ้นที่กรุงสุโขทัย

ก็แลชาติไทยได้ปกครองกันและดำรงตนเป็นอิสระภาพจนเจริญมาได้ทุกวันนี้ด้วยอย่างไร ก็ทรงพิสูจน์ให้เห็นด้วยเหตุผลไว้พิสดารว่า ชนชาติไทยมีคุณธรรม ๓ อย่างเป็นสำคัญ คือ ความจงรักอิสระของชาติ อย่างหนึ่ง ความปราศจากวิหิงสา อย่างหนึ่ง และความฉลาดในการประสานประโยชน์ อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คุณธรรม ๓ ประการนี้จึงเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้มีชื่อว่าชาติไทยพึงกำหนดจดจำไว้ ต่อนั้นไป ทรงแสดงอย่างชัดเจนถึงลักษณะการปกครองชั้นสมัยดึกดำบรรพ์ แล้วค่อยเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นลำดับมา

ยังมีสิ่งที่ควรคิดอีกอย่างหนึ่งที่นับว่าสำคัญยิ่ง คือ การปกครองของชนชาติไทยเราแต่ต้นมาย่อมดำเนินวิธีเป็นชนิดที่เรียกว่า อย่างพ่อปกครองลูก ถึงแม้ในเวลาต่อ ๆ มาจะได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็เป็นไปเพื่อให้เหมาะแก่ความต้องการของกาละเทศะโดยอาการราบรื่นและคงถือหลักข้างต้น ๓ ประการนั้นไว้เสมอ การปกครองของประเทศชาติต่าง ๆ ย่อมไม่เหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะต่างชาติย่อมมีความเป็นไปพิเศษเฉพาะ เช่น ประเทศในยุโรปแต่โบราณมีการปกครองเป็นชนิดที่เรียกว่า นายปกครองบ่าว มิหนำซ้ำยังมีอำนาจทางอาณาของศาสนาเข้าครอบงำอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในวิธีการปกครองของเขา โดยมากจึงเจือไปในทางอย่างที่เรียกว่า พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ค่อยเปลี่ยนค่อยไปโดยอาการอันราบรื่นเหมือนกับของเรา เพราะฉะนั้น การศึกษาประวัติและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติจึงเป็นของสำคัญซึ่งผู้ศึกษาควรทราบให้แจ่มแจ้ง ดีกว่าที่จะยึดถือเอาแต่ปลายเหตุปัจจุบันขึ้นมาตั้งว่าเป็นดีเลิศโดยมิได้ศึกษาเรื่องราวให้ทราบเสียให้ตลอด

สรุปความ หนังสือ เรื่อง ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ นี้ มีลักษณะที่ควรจัดไว้ว่า เป็นหนังสือที่ดีพร้อมด้วยประการทั้งปวง คือว่า ทางประวัติศาสตร์ ผู้อ่านจะได้รับความรู้จากหนังสือเล่มนี้อย่างเป็นตำราได้แน่ ว่าทางวรรณคดี ผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลินตั้งแต่ต้นจนจบ และเข้าใจโวหารอธิบายได้แจ่มแจ้ง"

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทานซึ่งนายแสวง ภัทรนาวิก ได้มีความกตัญญูกตเวทีตั้งมั่นอยู่ในจิตพิมพ์หนังสือนี้อุทิศแจกจ่ายเป็นธรรมวิทยาทาน ขอกุศลนี้จุ่งสัมฤทธิ์ผลแด่นางทองสุก พิศาลบุตร โดยสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพนั้นเทอญ.

  • พ.อ.
  • อธิบดีกรมศิลปากร
  • ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๘