ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ/ภาคที่ 23/เรื่องที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
ประเพณีแต่งงานบ่าวสาวของจีน
รองอำมาตย์เอก ง่วนติ้ด บุญญถี เรียบเรียง

ประเพณีการแต่งงานเป็นสามีภรรยากันในประเทศจีนนั้นมีกล่าวไว้ในหนังสืองี่เล้ย เล่ม ๒ ว่า เริ่มมีงานพิธีขึ้นเมื่อครั้งราชวงศ์จิว ในรัชชสมัยพระเจ้าจิวเซ่งอ๋อง เมื่อพระเจ้าจิวเซ่งอ๋องได้เสวยราชสมบัตินั้น มีพระชันษาเพียง ๘ ปี จึงตั้งให้จิวกงตั้น ผู้เป็นพระเจ้าอาว์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ จิวกงตั้นได้ตั้งลัทธิธรรมเนียมสำหรับอบรมจริยาประชาชนพลเมืองขึ้นไว้หลายประเภท มีพิธีสวมหมวกเครื่องแต่งตัว พิธีแต่งงานบ่าวสาว พิธีฌาปนกิจ พิธีเยี่ยมเยือน พิธีประชุมเลี้ยงดูผู้ใหญ่ พิธีฝึกซ้อมเพลงเกาทัณฑ์ พิธีเลี้ยงแขก พิธีเชิญผู้ใหญ่ พิธีประเพณีเหล่านี้เป็นต้น ในที่นี้ จะกล่าวประเพณีการแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งไต้ตั้งขึ้นก่อนพุทธศักราช ๕๗๒ ปี ดังต่อไปนี้

ชาวประเทศจีนถือว่า การแต่งงานเป็นสามีภรรยากันนั้น เป็นการสำคัญยิ่งกว่าเรื่องใด ๆ จึงนับถือและประพฤติตามบัญญัติอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามมิให้มีการแต่งงานในวงศ์แซ่อันเดียวกัน เพราะฉะนั้น การจะสู่ขอหญิงมาเป็นภรรยา จึงจำต้องซักไซ้ไล่เรียงวงศ์ตระกูลกันอย่างระมัดระวัง ถ้าพลาดพลั้งลงไปแล้ว เป็นเหตุให้เสื่อมเสียวงศ์แซ่และชื่อเสียง เพื่อจะวางพิธีการแต่งงานเป็นระยะถ่วงเวลาให้ช้าวัน จึงมีกำหนดลัทธิตั้งแต่เริ่มสู่ขอจนถึงวันแต่งงานเป็น ๖ ตอนด้วยกัน คำจีนเรียกว่า “ลักเล้ย” แต่ลัทธิลักเล้ยนี้นิยมใช้กันแต่ครั้งโบราณ ตกมาถึงสมัยราชวงศ์เช็งเฉียว ความนิยมได้เปลี่ยนแปลงไป จึงย่อลัทธิบางประเภทเสียบ้างเพื่อสะดวกแก่พิธี แม้กระนั้น ก็ยังถือว่า เป็นขนบธรรมเนียมอย่างโบราณอยู่ตลอดมา จนถึงสมัยเก็กเหม็งล้มราชวงศ์เช็งเฉียวเปลี่ยนวิธีการปกครองเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕ มาจนปรัตยุบันนี้ ความนิยมค่อยเปลี่ยนไปในความเจริญของชาวตะวันตก เอาธรรมเนียมการแต่งงานอย่างฝรั่งมาใช้ แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยไม่แพร่หลาย มักมีแต่ฉะเพาะพวกนักเรียนกับพลเมืองในท้องที่ที่มีความเจริญแล้วเท่านั้น

การแต่งงานเป็นสามีภรรยากันนั้น ตามหนังสือชื่อ ฮุนอินงี่เล้ย บัญญัติไว้ว่า หญิงต้องมีอายุพ้น ๑๕ ปี ชายต้องมีอายุพ้น ๒๐ ปี จึงควรแต่งงานมีเหย้าเรือนได้ หญิงชายที่จะแต่งงานกัน กำหนดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มสู่ขอจนกว่าจะถึงวันแต่งงานเป็นชั้น ๆ ดังนี้ คือ เจ้าแผ่นดินภายในปี ๑ เจ้าประเทศราชภายใน ๖ เดือน เสนาอำมาตย์ภายใน ๓ เดือน ราษฎรสามัญภายใน ๑ เดือน การกำหนดเขตต์แต่งงานนี้ จะได้เลิกล้มเสียเมื่อครั้งราชวงศ์เช็งเฉียวหรือแผ่นดินใดก่อนราชวงศ์นี้ ยังไม่พบหลักฐาน ด้วยปรากฎว่า ประเพณีของชาวเตี้ยจิว มณฑลกวางตุ้ง ไม่มีกำหนดกัน แล้วแต่ความสะดวก จะแต่งงานกันช้าวันหรือเร็ววันก็ได้ ไม่มีกฎห้ามอย่างใด มีหลักเกณฑ์แต่เพียงต้องเป็นฤกษ์ยามวันคืนที่โหรดูว่า ดีทั้งหญิงและชาย ด้วยถือกันว่า ในชีวิตของมนุษย์ จะมีความพูมใจในความสุขอันแท้จริง ก็คือ วันแต่งงานเท่านั้น จึงถือประเพณีฤกษ์ดีนี้เป็นหลัก ในวันแต่งงานนั้น ถือเป็นเกียรติยศเท่ากับผู้ที่ได้รับยศศักดิ์ จนมีคำจีนใช้เรียกคู่กันอยู่ ๒ คำ คือ การสอบไล่ได้เป็นขุนนาง เรียกว่า “ไต้เต็งกวย” และการได้แต่งงาน เรียกว่า “เซี้ยเต็งกวย” พิธีแต่งงาน คำจีนเรียกเป็น ๒ อย่าง คือ เรียกว่า “ฮุนอิน” อย่างหนึ่ง และ “เก่ชู้” อย่างหนึ่ง ฮุน นั้นแปลว่า การกระทำพิธีกันในยามค่ำมืด อิน แปลว่า โดยสื่อสารให้เป็นสามีภรรยากัน รวมความว่าแต่งงานโดยเหตุที่สื่อช่วยกระทำการจึงได้เป็นสามีภรรยากันในราตรีกาล ส่วนคำว่า เก่ชู้ นั้นเป็นภาษาเตี้ยจิว เก่ แปลว่า วิวาหะ ชู้ แปลว่า อาวาหะ จะเทียบอาวาหะวิวาหะของไทยไม่สู้ตรงกัน

ประเพณีการแต่งงานตามที่กล่าวมานี้ มีเหตุผลต่างกันตามสมัยนิยม จะแยกอธิบายลัทธิธรรมเนียมครั้งโบราณและลัทธิธรรมเนียมชาวเตี้ยจิวในแผ่นดินเช็งเฉียวเป็น ๒ ตอนดังต่อไปนี้

พิธีแต่งงานบ่าวสาวอย่างโบราณ

พิธีแต่งงานของจีนในสมัยโบราณ ที่กำหนดเป็น ๖ ระยะด้วยกันนั้น คือ พิธีระยะแรก เรียกว่า “นับไช้” แปลว่า สู่ขอ คือว่า ถ้าบิดามารดามีความพอใจจะสู่ขอหญิงใดให้เป็นภรรยาลูกชายของตน ก็จัดผู้ที่คุ้นเคยเป็นสื่อไปพูดจาสู่ขอต่อผู้ปกครองของหญิงนั้น (การที่ต้องมีสื่อนั้น จะได้เป็นคนกลาง สะดวกแก่การพูดจา) ถ้าผู้ปกครองฝ่ายหญิงยินยอมตกลงด้วยแล้ว ผู้เป็นสื่อก็กลับมาบอกแก่ผู้ปกครองฝ่ายชาย ๆ ก็ให้ผู้แทนของตนไปกับสื่อ นำเอา “นกหงัน” เป็นของหมั้นไปให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิง (นกหงันรูปคล้ายห่าน นกชะนิดนี้ไปไหนไม่ทิ้งกัน มีตามภาคเหนือของจีน ทางภาคใต้ไม่มี ชาวเตี้ยจิวจึงทำตัวนกหงันด้วยทองคำสำหรับไว้ใช้ในการหมั้น) ผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็เตรียมโต๊ะจัดตั้งไว้ทางทิศตะวันตกในบ้านโต๊ะ ๑ และจัดกี๋ไว้ทางขวามืออีกที่ ๑ แล้วให้ผู้แทนของตนออกไปรับแขก คือ ผู้แทนและสื่อของฝ่ายชายที่มา เมื่อได้ไต่ถามความประสงค์จากแขกและสื่อแล้ว จึงนำความกลับเข้าไปบอกแก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิง ผู้ปกครองฝ่ายหญิงจึงเดินออกมารับหน้าบ้านและคำนับแสดงความเคารพ ผู้แทนฝ่ายชายและสื่อต้องแสดงความเคารพถ่อมตน แล้วผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็เชื้อเชิญแขกให้เข้าเรือน ผู้แทนและสื่อของฝ่ายชายจึงเดินเข้าทางทิศตะวันตกของฐานบัทม์ เมือถึงหน้าห้องบูชานั้น ผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็เชื้อเชิญให้เข้าประตูอีกหน ๑ ผู้แทนและสื่อของฝ่ายชายก็แสดงความถ่อมตนเช่นเดิม และเดินถอยหลังเป็นพิธีธรรมเนียมครบ ๓ คราแล้วจึงได้พากันเดินตามเข้าไป ครั้นถึงสถานที่บูชา ผู้แทนและสื่อของฝ่ายชายยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกและแสดงความประสงค์ที่ตนมานั้น ขณะนั้น ผู้ปกครองฝ่ายหญิงหันหน้ามาทางทิศเหนือรับคำนับ แล้วผู้แทนฝ่ายชายจึงส่งนกหงันมอบให้ และผินหน้าคำนับมาทางใต้ แล้วจึงออกเดินจากห้องบูชา ส่วนผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็ตามออกมาเชิญไปนั่งณห้องรับแขกซึ่งได้จัดโต๊ะรับรองไว้แล้ว

พิธีระยะที่ ๒ เรียกว่า “มึ่งเมี้ย” แปลว่า ถามถึงวันเดือนปีที่เกิดและชื่อ ครั้งนี้ ฝ่ายชายให้ผู้แทนไปขอจดเวลาวันเดือนปีของหญิง ผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็แสดงความยินดี เมื่อได้จดลงเทียบเรียบร้อยแล้ว ผู้แทนฝ่ายชายก็ลาจะกลับ ผู้ปกครองฝ่ายหญิงให้คนออกมาเชิญรับประทานอาหาร ผู้แทนฝ่ายชายแสดงความขอบใจ ผู้ปกครองสั่งคนใช้ให้ถอนกี๋ไปเสีย แล้วจัดโต๊ะที่ห้องทางทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึงออกมาเชิญผู้แทนฝ่ายชายและต่างคำนับต่อกัน คนใช้จัดถ้วยสุราส่งให้ผู้ปกครอง ๆ รับเอามาแล้วยืนขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่หน้าโต๊ะ ส่งถ้วยสุราเชิญผู้แทนเข้านั่งโต๊ะ ผู้แทนก็รับเอาถ้วยสุราไว้ คนใช้ยกอาหารแห้งมาส่งให้ผู้แทน ผู้แทนจึงใช้มือซ้ายถือถ้วย มือขวารับอาหารแห้งนั้น แล้วยืนขึ้นกระทำพิธีเส้นไหว้ เอาสุรารินใส่ถ้วยเทสาดไป ๓ ถ้วย แล้วจึงเข้านั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือที่ฐานบัทม์ทางทิศตะวันตก ยกถ้วยสุราขึ้นคำนับ แล้วก็ดื่มเป็นพิธีเพื่อแสดงความขอบใจต่อเจ้าของบ้าน เมื่อวางคณโฑและถ้วยลงแล้ว ก็ยกมือขึ้นคำนับเจ้าของบ้าน ๆ ก็คำนับตอบ ผู้แทนจึงเข้านั่งโต๊ะทางซ้าย เมื่อเครื่องอาหารบริบูรณ์พร้อมแล้ว ผู้แทนก็หยิบอาหารแห้งบางสิ่งรวมไว้ แล้วแจ้งให้เจ้าของบ้านทราบว่า จะนำเอาอาหารแห้งนั้นไปให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายชาย เพื่อแถลงกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ผู้แทนจึงคำนับลาออกจากโต๊ะมาที่ชานชาลา ส่งอาหารแห้งนั้นให้คนใช้ที่มาด้วยกัน แล้วจึงคำนับลาเจ้าของบ้าน ๆ เดินมาส่งถึงนอกประตูบ้าน และแสดงคำนับกันอีกครั้ง ๑ เมื่อผู้แทนกลับไปถึงบ้านแล้ว ก็เอาเทียบและอาหารแห้งไปให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายชาย ๆ รับได้แล้ว จึงเอาวันเดือนปีของชายและหญิงไปเสี่ยงทายณที่บูชาบรรพบุรษ

พิธีระยะที่ ๓ เรียกว่า “นับกิ้ด” แปลว่า หารือฤกษ์ยามกำหนดวันแต่งงาน ผู้ปกครองฝ่ายชายให้ผู้แทนนำเอานกหงันไปให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิงอีกครั้ง ๑ เมื่อผู้แทนไปถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้ว ผู้ปกครองฝ่ายหญิงจึงออกมารับและเชิญเข้าไปในบ้าน ต่างแสดงคำนับกัน ผู้แทนฝ่ายชายส่งนกหงันและเทียบนัดวันศุภมงคลให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิง ๆ รับเทียบกับนกหงันไว้แล้ว ก็แสดงความยินดี และกล่าวคำรับรองตามฤกษ์ยามในเทียบที่ส่งมานั้น ผู้แทนฝ่ายชาย เมื่อได้รับคำมั่นสัญญาเป็นที่ตกลงแล้ว ก็คำนับลากลับไปแจ้งให้ผู้ปกครองฝ่ายชายทราบ

พิธีระยะที่ ๔ เรียกว่า “นับเต็ง” แปลว่า รับสินสอด ผู้ปกครองฝ่ายชายจัดสินสอด ผ้าแพรพื้นสีดำและสีตากุ้ง ๑๐ ม้วน หนังกวาง ๒ ผืน ถ้าไม่มี ให้เอาหนังแพะหรือหนังแกะแทนก็ได้ แล้วมอบให้ผู้แทนเอาไปให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิง เมื่อผู้แทนไปถึงผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็ออกมาเชิญเข้าไปในบ้าน ผู้แทนส่งเทียบและรายการสินสอดและสิ่งของให้ ผู้ปกครองฝ่ายหญิงรับมาตรวจสินสอดและสิ่งของตามรายการในเทียบนั้นแล้ว ผู้แทนฝ่ายชายก็คำนับลากลับไป

พิธีระยะที่ ๕ เรียกว่า “เชี้ยคี้” แปลว่า กำหนดวันแต่งงาน ผู้ปกครองฝ่ายชายให้ผู้แทนนำเอาฤกษ์ยามวันกำหนดการแต่งงานไปบอกแก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิง เมื่อผู้แทนไปถึงแล้ว ผู้ปกครองฝ่ายหญิงก็ออกมาเชิญให้เข้าไปในบ้าน ต่างกระทำคำนับกันแล้ว ผู้แทนจึงส่งเทียบกับนกหงันให้แก่ผู้ปกครองฝ่ายหญิง ผู้ปกครองฝ่ายหญิงรับเอาเทียบและนกหงันไว้แล้ว ก็กล่าวคำยินดีรับรองจะปฏิบัติตามวันนัดแต่งงานที่กำหนดนั้น

พิธีระยะที่ ๖ เรียกว่า “ชินเง้ง” แปลว่า รับมอบตัวเจ้าสาว คือ เจ้าบ่าวรับมอบตัวเจ้าสาว ฝ่ายชายต้องจัดสุกรสุกทั้งตัว ตัดเล็บออกเสีย แล้วบรรจุลงในเตี๊ย (คล้ายหม้อ) ใบ ๑ และปลาสุก ๑๔ ตัว บรรจุลงในเตี๊ยอีกใบ ๑ กระต่ายทั้งตัวทำเป็นเนื้อสุกแห้งบรรจุลงในเตี๊ยอีกใบ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้จัดยกไปวางไว้นอกประตูห้องของเจ้าบ่าวที่ตรงทิศตะวันออกทางศีร์ษะ แล้วจัดที่น้ำสำหรับชำระกายบนฐานบัทม์ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และจัดโต๊ะเลี้ยงอาหารกลางเรือน เอาเต้าเจี้ยวเครื่องหมัก ๒ โถ กะปิเนื้อ ๔ โถ เข้าเปลือกถั่วงารวม ๕ อย่าง ๔ โถ โถเหล่านี้ต้องเอาผ้าปิดคุมทุกโถ และน้ำแกงร้อนอีก ๑ หม้อ ครั้นจัดเสร็จแล้ว จึงตั้งขวดและถ้วยสุราทางเหนือริมฝาผนังห้อง ตั้งที่น้ำเย็นพร้อมทั้งกระบวยตักน้ำทางตะวันตกและมีผ้าคลุมไว้ด้วย จัดเครื่องอาหารบรรจุลงในชั้นลังไม้ไผ่วางไว้ทางทิศใต้ เอาผลน้ำเต้าที่แก่จนเปลือกแข็งผ่าออกเป็นสองซีก ใช้ต่างถ้วยสุรา ๖ ใบ เมื่อเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ไว้เสร็จแล้ว ผู้ปกครองก็ให้ชายผู้เป็นเจ้าบ่าวออกจากบ้านไปรับเจ้าสาว เจ้าบ่าว ถ้ามียศศักดิ์ ก็แต่งเครื่องเต็มยศ ถ้าไม่มียศศักดิ์ ก็แต่งเครื่องยศได้ แต่หมวกยศต้องเอายอดออกเสีย เครื่องที่แต่งนั้นใช้สีดำ นั่งรถหรือเกี้ยวสีดำ เพื่อนเจ้าบ่าวก็แต่งดำเช่นเดียวกัน เครื่องพิธีของเจ้าบ่าวที่เป็นขุนนาง ก็แต่งขบวนแห่อย่างขุนนาง ถ้าเป็นราษฎร ก็แต่งตามปกติ ในลัทธิ “งี้เล้ย” กล่าวไว้แต่ย่อ ๆ มิได้กล่าวถึงสิ่งของอย่างใดในขบวนพิธีที่ไปรับเจ้าสาว กล่าวแต่ว่า รถหรือเกี้ยวที่สำหรับเจ้าสาวนั้น จะต้องมีม่านกำบัง เมื่อเวลาออกเดิน จะต้องมีคนถือไฟนำหน้า เมื่อเจ้าบ่าวถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว จึงหยุดกระบวนอยู่นอกประตูบ้านจนเจ้าของบ้านออกมาเชิญ แสดงคำนับหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เจ้าบ่าวแสดงคำนับและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจ้าของบ้านนำเจ้าบ่าวเข้าไปในบ้าน ต่างแสดงกิริยาเชื้อเชิญกันครบ ๓ หน เจ้าบ่าวถือนกหงันเข้าไปจนถึงประตูห้องบูชาเกซี้นเซยโจ้ว (บรรพบุรษ) แล้ว เจ้าของบ้านจึงเชิญให้เข้าประตู และนำเจ้าบ่าวเดินเข้าทางตะวันตก เจ้าบ่าวก็ตามเข้าไปจนถึงที่บูชา แล้วผินหน้าไปทางเหนือวางนกหงันลง แล้วเจ้าของบ้านจึงนำเจ้าสาวไปยืนอยู่ทางใต้ กระทำพิธีกราบไหว้พร้อมกันทั้ง ๒ คน แล้วจึงลุกขึ้นพากันออกจากห้องบูชาเดินไปทางตะวันตก แต่เจ้าของบ้านไม่ต้องตามไปด้วย ครั้นออกมาจากห้องบูชาแล้ว เจ้าของบ้านก็เชิญเจ้าบ่าวเข้านั่งโต๊ะที่ตั้งไว้ทางตะวันตกและจัดแจงเลี้ยงดูกัน ครั้นเจ้าสาวแต่งตัวเสร็จแล้ว มีแม่นมคอยนำพาอยู่ข้างเคียง แล้วจึงออกมายืนอยู่ที่กลางห้องโถง แม่นมยืนข้างขวามือ เพื่อนเจ้าสาวติดตามมาข้างหลัง แล้วเจ้าสาวก็หันหน้าไปทางใต้ แสดงความเคารพลาผู้ปกครอง ๆ ก็กล่าวคำสั่งสอนเจ้าสาวว่า เจ้าจงปฏิบัติบิดามารดาของสามีในสิ่งที่ควรจะปฏิบัติ อย่ามีความประมาทและเกียจคร้าน อย่ามีความดื้อดึงขัดขืนต่อผู้ใหญ่และสามีของตน ส่วนมารดาเจ้าสาวก็มาสวมเสื้อและคลุมผ้าให้ เมื่อเสร็จแล้ว มีการสั่งสอนตักเตือนเช่นเดียวกัน เถ้าแก่จึงนำเจ้าบ่าวเจ้าสาวออกจากบ้าน ให้เจ้าบ่าวพะยุงเจ้าสาวขึ้นนั่งรถเรียบร้อยแล้ว เจ้าบ่าวก็ขึ้นนั่งขับรถนั้นด้วยตนเอง จนล้อรถหมุนได้ ๓ รอบแล้ว จึงมอบหน้าที่ให้คนขับรถ ตัวเจ้าบ่าวไปนั่งบนรถของตนอีกคัน ๑ ขับนำหน้าไป เมื่อถึงบ้านแล้ว เจ้าบ่าวจึงลงจากรถมารับเจ้าสาวที่หน้าประตูบ้าน เมื่อรถเจ้าสาวมาถึงแล้ว ผู้ปกครองก็ออกมาต้อนรับเข้าไปข้างในบ้าน เมื่อเดินไปถึงประตูห้องนอน เจ้าสาวเดินเข้าทางทิศตะวันตก สาวใช้จึงมาจัดแจงปูเสื่อให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้านั่งพัก ชายนั่งทางทิศใต้ หญิงนั่งทางทิศเหนือ เจ้าบ่าวเปิดผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวออก สาวใช้ยกที่ชำระล้างหน้ามาตั้งไว้ตรงหน้า ครั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวชำระกายเสร็จแล้ว จึงให้คนยกเอาหม้อและถาดที่บรรจุเครื่องคาว มีหมูเป็ดไก่ มาตั้ง เมื่อเรียบร้อยแล้ว พนักงานเหล่านั้นก็ถอยออกไปอยู่ที่ประตูทางทิศตะวันออก ผู้นำก็เชิญเจ้าบ่าวเข้านั่งทางทิศใต้ เจ้าสาวนั่งทางทิศเหนือ หันหน้าเข้าหากัน ผู้นำรินสุราลงในถ้วยสำหรับพิธีและจัดอาหารใส่ในภาชนะส่งให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ๆ รับเอาไว้แล้ว ก็แสดงคำนับ แล้วเอาสุรานั้นดื่มคนละ ๓ ถ้วย ผู้นำยืนคอยปฏิบัติแนะนำให้รับประทานอาหารและตักข้าวให้ ๓ หน ครั้นรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ผู้นำเอาถ้วยน้ำส่งให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว ๆ รับเอาไว้ แล้วแสดงคำนับ แล้วจึงลุกขินเดินออกจากโต๊ะไปนั่งณที่เดิม ผู้นำจึงจัดอาหารอีกโต๊ะ ๑ แต่ไม่มีสุรา แล้วเชิญให้เพื่อนเจ้าสาวรับประทาน ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าวและคนรถจัดเลี้ยงที่กลางเรือน ให้เจ้าบ่าวเชิญฝ่ายเพื่อนเจ้าสาว และเจ้าสาวเชิญฝ่ายเพื่อนเจ้าบ่าวและคนรถ แม่สื่อที่เป็นผู้ใหญ่จัดผ้าเช็ดหน้าให้แก่คนทั้งหลาย เมื่อรับประทานกันเสร็จแล้ว เพื่อนเจ้าสาวจึงเข้าไปในห้อง จัดแจงปูเสื่อจัดทื่นอนให้เจ้าบ่าวอยู่ข้างตะวันออก เจ้าสาวอยู่ข้างตะวันตก แล้วออกมาเชิญเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้อง แล้วเพื่อนเจ้าสาวนำประทีปออกจากห้องไปคอยอยู่ภายนอก ครั้นเวลาเช้ารุ่งขึ้น เจ้าสาวชำระกาย แล้วแต่งตัวเกล้าผม เอาผ้าคลุมผม สวมเสื้อเครื่องสำหรับพิธี แล้วออกจากห้องไปคอยปฏิบัติบิดามารดาของสามีที่หน้าประตูห้อง เมื่อบิดามารดาของสามีตื่นขึ้นออกจากห้อง เจ้าสาวก็เข้าไปกราบไหว แล้วจัดตั้งโต๊ะที่ชานหน้าห้องทางทิศใต้ และเชิญบิดามารดาของสามีเข้านั่ง เจ้าสาวยกตะกร้าผลจ๊อ (พุดซา) ผลเลี๊ยก (เกาลัก) เดินข้างชานตะวันตกเข้าไปวางไว้ที่โต๊ะแล้วกราบไหว้บิดามารดาของสามี ๆ ลุกขึ้นรับไหว้แล้วทักทายปราศรัย แล้วบิดาของสามีจึงหยิบเอาตะกร้าผลไม้ส่งให้มารดาของสามีรับไป เจ้าสาวกราบไหว้อีกครั้ง ๑ แล้วถอยกลับออกไป เป็นธรรมเนียมที่บิดามารดาของสามีจะต้องประพฤติกิริยาวาจาแสดงความสนิทสนมรักใคร่ เพื่อชักนำให้เจ้าสาวคุ้นเคย จึงได้เรียกมารับประทานอาหารที่จัดไว้นอกห้อง เจ้าสาวเข้ามายืนข้างโต๊ะทางทิศตะวันตก พนักงานจึงรินสุราลงในถ้วยสี่เหลี่ยมที่จัดไว้บนโต๊ะทางเหนือ แล้วเจ้าสาวเดินมายืนทางทิศตะวันออก คำนับไหว้ แล้วคอยรับถ้วยสุรา พนักงานส่งถ้วยสุราให้เจ้าสาว แล้วเดินออกไปที่ชานทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางเหนือแสดงคำนับตอบ เจ้าสาวรับคำนับอีกครั้งหนึ่ง พนักงานนำอาหารแห้งอาหารหมักดองที่บรรจุในโถออกมาวาง เจ้าสาวจึงเข้านั่ง มือซ้ายถือถ้วยสุรา มือขวาถืออาหารแห้งและอาหารหมักดอง กระทำพิธีเส้นไว้ครบ ๓ หน แล้วจึงนั่งลงทางทิศตะวันออกของโต๊ะ รับประทานอาหารที่เหลือนั้นแล้วลุกขึ้นคำนับ พนักงานรับคำนับ แล้วเจ้าสาวยกอาหารและแสดงความเคารพไปทางทิศตะวันออก แล้วนั่งลงหยิบเอาเนื้อแห้งออกมาแจกแก่ญาติ และจัดโต๊ะสำหรับบิดามารดาของสามีอยู่ภายใน เจ้าสาวเข้าไปจัดที่ล้างหน้าและคอยปฏิบัติการรับประทาน เมื่อบิดามารดาของสามีอนุญาตให้เข้านั่งรับประทานด้วย เจ้าสาวได้แต่เอาอาหารที่บิดามารดาของสามีรับประทานแล้วมารับประทาน ถ้ามารดาให้สุราแก่เจ้าสาว ๆ คำนับไหว้แล้วรับประทานจนหมดถ้วย ครั้นการรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าสาวจึงลาไปยังห้องของตน และมีการเลี้ยงบรรดาวงศ์ญาติในวันนั้น ถ้าเป็นผู้น้อยและเด็ก ให้เลี้ยงอาหารที่เหลือจากผู้ใหญ่รับประทาน แล้วบิดามารดาของสามีจัดการเลี้ยงเจ้าสาวซึ่งมาเป็นสะใภ้ในวันนั้น ให้ตั้งที่ชำระความสะอาดสำหรับบิดาของสามีที่ ๑ ทางทิศใต้ และจัดสำหรับมารดาของสามีอีกที่ ๑ ทางทิศเหนือ บิดามารดาของสามีเดินมาทางตะวันตก ลูกสะใภ้เดินทางตะวันออก แล้วบิดามารดาของสามีพาไปดูกิจการในเรือนและสั่งเสียมอบให้ลูกสะใภ้ เสร็จแล้วจึงสั่งให้จัดอาหารสิ่งของให้แก่พนักงานนำเอาไปให้บิดามารดาของเจ้าสาว ส่วนพนักงานของเจ้าสาว เมื่อได้รับการเลี้ยงดูเสร็จแล้ว ก็ลากลับ บิดาของเจ้าบ่าวก็แจกของชำร่วยให้แก่พนักงานเหล่านั้น กิ้มทำด้วยใหมทองม้วน ๑ บางทีก็เป็นผ้าหรือแพรต่าง ๆ ก็มี ส่วนมารดาของเจ้าบ่าวแจกผ้าแพรให้แก่วงศ์ญาติเจ้าสาว เป็นอันเสร็จพิธีลักเล้ยครั้งโบราณแต่เท่านี้ ถ้าผะเอิญภายในระวางการมงคลนี้มีญาติที่เป็นผู้ใหญ่อันสนิท เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ทวด หรือลุง ป้า น้า อาว์ พี่ เป็นต้น ถึงมรณกรรมลง ก็ต้องงดการแต่งงานนั้นทันที จนกว่าจะเสร็จการไว้ทุกข์และการปลงศพ จึงจะกระทำพิธีต่อไปได้.