ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ/ภาคที่ 26/คำอุทิศ

จาก วิกิซอร์ซ
คำอุทิศ

หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าสร้างอุทิศให้แก่ชายตระนัก ผู้เป็นหลานรักอันได้จากไปปรโลกแล้ว ด้วยความระลึกถึง

หม่อมเจ้าตระนักนิธิผลได้นามตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระราชทาน เป็นโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย สกุลไชยันต์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อพระบิดาของเธอประชวรหนัก ประจักษ์ในพระทัยว่า จะไม่ดำรงพระชนม์ต่อไปได้ ทรงเป็นห่วงถึงชายตระนักว่าเธอยังเล็ก จำจะต้องมีผู้ปกครองช่วยเกื้อหนุนต่อไปจนกว่าเธอจะเติบใหญ่พอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ จึ่งตรัสมอบให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็รับสนองพระประสงค์ด้วยความเต็มใจ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว จึ่งรับมาเลี้ยงไว้กับลูกลูกของข้าพเจ้า เธอเรียนหนังสืออยู่ที่ราชวิทยาลัย พอจบหลักสูตรในโรงเรียนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็จัดส่งไปเรียนวิชากฎหมายในประเทศอังกฤษ ครั้นได้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว จึ่งกลับเข้ามารับราชการในกรมอัยยการสนองพระเดชพระคุณมา จนทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานยศเป็นอำมาตย์เอก เธอก็คงอยู่กับข้าพเจ้า รับใช้ช่วยการบ้านเรือนเหมือนเป็นลูกคนหนึ่ง

เธอมีความสิเนหาในลูกหญิงประโลมจิตรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มีความยินดีตกแต่งให้ปกครองกันตามฉันสามีภริยาโดยพระบรมราชานุญาต ด้วยอำนาจสัมพันธ์อันนั้น จึ่งเกิดลูกด้วยกัน ๗ คน คือ ๑ ชายเอก ๒ หญิงทวี ๓ ชายสำพันธ์ ๔ หญิงวิสาขา ๕ ชายเฉลิม ๖ ชายสาฎก ๗ หญิงยิ่งวัน แต่ชายเอกตายเสียแล้วแต่เล็ก คงเหลือเพียง ๖ คน

อยู่มา ชายตระนักเจ็บ มีอาการเป็นไปในทางที่คนบุราณเรียกว่า ฝีเม็ดเล็ก ได้รักษาพยาบาลกันจนสุดกำลังก็ไม่หาย ที่สุดก็ถึงชีพิตักษัยไปในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเกิด ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ นับอายุได้ ๓๔ ปีพอดี ทำความเสียใจให้แก่ข้าพเจ้ากับทั้งญาติสนิทมิตรสหายเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้จัดตั้งศพไว้ที่บ้านท่าพระ ทำบุญอุทิศให้พร้อมด้วยพี่น้องมิตรสหายจนพอใจ แล้วจึงนำศพไปฝังฝากไว้ณวัดนรนารถสุนทริการามอันเห็นว่า เป็นสถานที่เงียบสงัด

บัดนี้ เป็นเวลาที่ข้าพเจ้าโปร่งใจ จึ่งคิดจะทำฌาปนกิจอย่างง่าย ๆ ให้เสร็จไปเสียที่วัดนรนารถสุนทริการามนั้น แล้วนำอังคารไปประจุไว้ที่โรงเรียนไชยันต์ในวัดราชาธิวาส ซึ่งกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงบริจาคทรัพย์สร้างขึ้นไว้ มีที่ประจุพระอังคารแห่งพระองค์พร้อมทั้งพระวงศ์ญาติอยู่ด้วยเสร็จที่ในนั้น แต่ในงานฌาปนกิจนั้น ข้าพเจ้าอยากจะทำให้มีหนังสือขึ้นสักฉะบับหนึ่งเพื่อแจกให้แก่ญาติมิตรผู้มีใจเมตตาต่อชายตระนักเป็นที่ระลึก นึกหาว่า จะเอาเรื่องอะไรดี ก็เลงเห็นว่า เรื่องกฎมนเทียรบาลพะม่า ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบต้นฉะบับในภาษาอังกฤษเข้า ทรงระลึกถึงข้าพเจ้า จึ่งทรงพระอุตสาหะแปลประทานมาเพื่อให้ได้รู้คดีแปลก ๆ เห็นว่า เป็นเรื่องที่แปลกจริง เชื่อว่า จะมีใครได้รู้น้อยตัว กับทั้งเป็นเรื่องอันเนื่องในกฎหมายซึ่งนับว่า อยู่ในระบอบแห่งวิชาของชายตระนักด้วย จึงได้กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพออกไป ขอประทานอนุญาตที่จะตีพิมพ์หนังสือเรื่องนั้นแจกงานศพ เมื่อได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัส ไม่ใช่แต่เพียงตรัสอนุญาต ซ้ำทรงแต่งเรื่องเพิ่มเติม และทรงพระวิจารณ์แทรกในต้นฉะบับเดิมประทานมากับรูปฉายหลายอย่าง ทั้งประทานอธิบาย ความพิสดารแจ้งอยู่ในสำเนาลายพระหัตถ์อันได้ลงพิมพ์ไว้ต่อจากคำอุทิศนี้แล้ว เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ข้าพเจ้าได้ว่าวานพระยาอนุมานราชธนโดยทางมิตรภาพให้ช่วยจัดการว่าจ้างโรงพิมพ์ซึ่งเห็นว่าทำดีตีพิมพ์ให้ เพราะพระยาอนุมานราชธนช่ำชองในทางจัดการตีหนังสือพิมพ์มามาก ย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นว่า โรงพิมพ์ไหนจะทำได้ดี แต่เมื่อพระยาอนุมานราชธนเห็นต้นฉะบับเข้าแล้วก็ชอบใจ ปรารภแก่ข้าพเจ้าว่า ถ้าได้หนังสือฉะบับนี้เข้าระเบียบติดต่อเรื่องลัทธิธรรมเนียมซึ่งหอพระสมุดได้ตีพิมพ์ออกไปมากแล้วนั้น จะเป็นประโยชน์แพร่หลาย และรักษาฉะบับมั่นคงดีขึ้น ข้าพเจ้าเห็นไม่มีข้อควรรังเกียจ ทูลถามสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพออกไป ก็ไม่ทรงขัดขวาง โปรดอนุญาตตามใจข้าพเจ้าสุดแต่จะเห็นดี ข้าพเจ้าจึ่งได้ยอมยกต้นฉะบับให้ไปเข้าระเบียบของหอพระสมุดด้วยประการดั่งนี้

หนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้น ๆ แต่เห็นว่า จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้บ้าง โดยฉะเพาะผู้ที่ชอบโบราณคดี จะได้ทราบราชประเพณีบ้านเมืองที่ใกล้กับเมืองเราว่า ลัทธิแห่งราชประเพณีผิดกันอย่างไร หวังว่า ญาติมิตรผู้ได้รับแจกไปจะมีความพึงใจทั่วกัน.

นริศ
ตำหนักปลายเนิน
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙