วิธีทำศพ/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
๑. การบอกหนทางแก่ผู้ป่วยหนัก หน้า
๒. การอาบน้ำศพ ลงขมิ้น พิมพ์หน้า
อาบน้ำ หวีผม "
๓. การแต่งตัวศพ หมาก เงินใส่ปากผี
ปิดหน้านุ่งผ้า กรวยดอกไม้ธูปเทียน "
๔. การมัดศพ ดอยใน ห่มผ้าขาว ดอยนอก
การวางศพในโลงต้องตะแคง " ๑๐
๕. โลงและการเบิกโลง ปากกา ๘ สาย
สิญจน์ เทียนและกระทงเส้นอย่างละ ๘ ทำ
น้ำมนต์ธรณีสาร การสับหัวโลง และต้อง
บอกชื่อโลงไม้งิ้ว ไม้อุโลก ไม้สัก " ๑๑
๖. เครื่องประกอบโลง ฟาก ๗ ซี่ ใบตอง
ตะนีสามทางไม่แตก และตัดไม่ไว้หู บันใด
ผี ๔ คั่น " ๑๕
๗. การตั้งศพ ให้หันศีร์ษะไปทางตะวันตก
หรือใต้ และตามไฟด้วยกลามะพร้าว พระ
สวดพระธรรม " ๑๙
๘. การนำศพออกจากบ้าน ไม่หามศพ
ลอดขื่อ ชักฟากสามซี่ ตีหม้อน้ำสามใบ
ประตูป่า ซัดเข้าสาร ไม้ขีดทางที่ไป ห้าม
หามศพข้ามนาข้ามสวน หน้า ๒๕
๙. การเผาศพ เทศพ กิ่งไม้วางบนศพ ชัก
บังสุกุล ขว้ำศพลงโลง เวียนเชิงตะกอน
ทิ้งเบี้ยให้ตากาลียายกลา ต่อยน้ำมะพร้าว
ล้างหน้า จุดไฟห้ามต่อ โยนผ้าข้ามไฟ
ชักไฟสามดุ้น กลับต้องล้างหน้าและอาบน้ำ " ๒๘
๑๐. ข้างขึ้นเผาคี่ ข้างแรมเผาคู่ " ๓๒
๑๑. เดิรสามหาบ แปรรูป และเก็บอัฐิ " ๓๓
เครื่องสามหาบ ผู้เดินสามหาบ เวียนสาม
รอบและกู่ นำหาบไปถวายพระ แปรรูป
คนตาย แปรรูปคนเป็น ชักบังสุกุลตายและ
บังสุกุลเป็น การเก็บอัฐิ

เมื่อผู้ป่วยหนักถึงกับเข้ามรณญาณแล้ว แต่โสตประสาทและจักษุประสาทยังไม่ดับ หรือไม่มีอาการทุรนทุรายมาก เขาจัดดอกไม้ธูปเทียนบรรจุในกรวยใบตองให้ผู้ป่วยหนักนั้นพะนมมือถือ บางทีก็นิมนต์พระสงฆ์หรือตั้งพระพุทธรูปไว้ใกล้ ๆ อีกด้วย แล้วบอกแก่ผู้ป่วยหนักให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ทั้งนี้ มีเรื่องราวกล่าวกันมาว่า ครั้งก่อน ยังมีนายพรานผู้หนึ่งเป็นผู้ชำนาญในการล่าสัตว์ ครั้นป่วยหนักลงใกล้จะตาย หลับตาลงไปเห็นแต่สัตว์ต่าง ๆ ด่วยอกุศลวิบาก จึงบอกแก่พระภิกษุซึ่งเป็นบุตรชายของตนและทำการพยาบาลอยู่ณที่นั้นให้ช่วย พระภิกษุรูปนั้นรู้ว่า โยมมีกรรมมาก จึงจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่ในเมือให้ แล้วบอกว่า "โยมจงเล็งแลดูดอกไม้ธูปเทียนนี้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย" นายพรานผู้ป่วยหนักก็แลดูดอกไม้ธูปเทียนตามคำแนะนำ จึงบังเกิดความเลื่อมใสมีใจเป็นกุศล ครั้นสิ้นชีพวายชนม์ ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ เพราะเหตุนี้ ชนชั้นหลังจึงกระทำกันต่อ ๆ มา หวังให้ผู้ป่วยหนักบูชาพระรัตนตรัยเป็นเครื่องระลึก และเมื่อจะมัดศพ ยังให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้พยาบาลยังมีบอกว่า "พระอะหัง ๆ ๆ" ให้ผู้ป่วยหนักได้ยิน เพื่อจะได้ภาวนาและระลึกถึงพุทธานุสติเป็นอารมณ์ สำหรับให้ข่มทุกเวทนาและละความห่วงใยในเบญจขันธ์ จะได้ดำเนินไปในทางสุคติ

เมื่อผู้ป่วยหนักหมดลมหายใจลงแล้ว ถือกันว่า จิตต์ยังลงสู่ภวังค์ ต้องทำความสงบเงียบให้มากที่สุดที่จะเงียบได้ เพราะเกรงดวงจิตต์จะไม่แน่วแน่ และเขาใช้เทียนขี้ผึ้งหนักบาทหนึ่งจุดตามไว้จนหมดเล่มแล้ว จึงจะถือว่า เป็นอันมรณกรรม

การตายมี ๒ อย่าง คือ ผู้ที่ตายอย่างไม่บริสุทธิ์ เช่น ผูกคอตาย, ตกต้นไม้ตาย, หรือตกน้ำตาย ฯลฯ เหล่านี้เรียกกันว่า ตายโหง ศพของผู้ตายด้วยเหตุชะนิดนี้ เขาไม่มีการอาบน้ำ ไม่ตราสัง และต้องฝังหรือก่ออิฐถือปูนไว้ตามวัด หรือถ้าวัดใดมีโรงเก็บศพ บางทีเขาก็ฝากเก็บไว้และกลั้นใจเอาดินวางบนหลังโลงนั้น ๓ ก้อนเป็นพิธีสมมตพอเป็นสังเขปแทนการฝันนั้นอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตายตามปกติ มีการอาบน้ำศพกัน

การอาบน้ำศพนี้ มีกล่าวด้วยความมุ่งหมายมากอย่างด้วยกัน เช่น ทางพราหมณ์นิยมกันว่า อาบน้ำเพื่อล้างบาปให้แก่ผู้ตาย ด้วยพราหมณ์ทั้งหลายนับถือว่า น้ำในแม่น้ำอจิรวดีเป็นของล้างบาปได้ เขานิยมกันไปตักเอามาล้างบาปให้แก่ผู้ที่ป่วยหนักใกล้จะตายหรือเมื่อตายแล้ว ฝ่ายทางแขกนิยมกันว่า การอาบน้ำทาแป้งให้แก่ศพผู้ตายอย่างหมดจดแล้ว เมื่อผู้ตายไปเกิดชาติไร รูปร่างจะได้สะสวยหมดจดงดงาม เพราะฉะนั้น การอาบน้ำศพผู้ตาย เขาได้จัดการขัดสี, รีดท้องและสิ่งโสโครกที่ใดที่ควรจะชำระให้หมดจดได้ จึงได้ทำกันอย่างหมดจดที่เดียว ฝ่ายชาวเราซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องการอาบน้ำและชำระศพให้สะอาดเหมือนกัน เช่น อาบน้ำแล้วลงขมิ้นชันสดตำขัดสีและฟอกด้วยส้มมะกรูดมะนาว เมื่อสะอาดดีแล้ว จึงอาบน้ำหอม ทากระแจและเครื่องปรุงอื่น ๆ ตามที่ควรจะทาได้ แล้วหวีผม ส่วนหวีที่หวีนั้น เมื่อหวีเสร็จแล้ว หักออกเป็น ๒ ท่อน ขว้างทิ้งเลย และการอาบน้ำศพนี้ ถ้าผู้ตายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ หรือเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม ผู้ที่มาอาบน้ำศพ ก็ตั้งใจมาสนองคุณด้วยความกตัญญู และมาขอขมาโทษให้สำเร็จประโยชน์พ้นจากเวรกรรม ส่วนบุตร และหลาน หรือผู้ที่นับถือผู้ตายว่าเป็นที่บูชายิ่ง ก็เอาผ้าเช็ดหน้าใหม่ ๆ หรือฉีกผ้าขาวเป็น ๔ เหลี่ยมขนาดพอควร พิมพ์รูปหน้าและรอยเท้าของผู้ตายในเวลาที่ลงขมิ้นนั้น ไว้ทำเป็นผ้าประเจียดต่อไป

ศพของผู้ตาย เมื่อได้ทำความสะอาดดีแล้ว ก่อนจะมัด เขาได้จัดการดังนี้ คือ

ก. นุ่งผ้าและสวมเสื้อ ใช้ผ้าขาวนุ่งชั้นแรก เอาชายพกไปไว้ข้างหลัง แล้วเอาเสื้อขาวที่ตัดไว้แล้วสวม ให้ทางที่มีดุมไว้ข้างหลังเหมือนกัน แล้วเย็บเนาตะเข็บแต่แขนมาหาเอวทั้ง ๒ ข้าง ที่ทำดังนี้ได้ความว่า แต่งตัวให้ผี แล้วใช้เสื้อและผ้านุ่งอีกสำรับหนึ่งสวมและนุ่ง ให้แต่ทางดุมและชายพกเอาไว้ข้างหลัง แล้วใช้ผ้าหรือแพรห่มหรือสพายให้ หมายความว่า แต่งตัวให้ไปเถิด การนุ่งผ้าให้แก่ศพซึ่งมีการนุ่งข้างหลังแล้วนุ่งข้างหน้านี้ บางตำหรับอธิบายว่า ที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้พิจารณาให้แจ้งว่า สัตว์ที่เกิดมาย่อมเกิดด้วยทิฏฐิและตายด้วยทิฏฐิ มีอวิชชาปิดหลังปิดหน้า มีตัณหาเกี่ยวประสานกันดังเรียวไม้ไผ่ ดังนี้

เสื้อและผ้านุ่งนี้ บางทีก็ใช้เสื้อผ้าที่ใช้ตามธรรมดา ไม่ใช่ผ้าขาว แต่ในปรัตยุบันนี้มักมีการอาบน้ำ และทำความาสะอาด แล้วแต่งตัวนุ่งผ้าสวมเสื้ออย่างปกติที่เคยใช้แต่ชั้นเดียว แล้ววางนอนไว้บนเตียง ทอดมือขวาไว้ให้ผู้ที่มาอาบน้ำศพรดน้ำที่มือศพด้วยน้ำหอม พอเป็นพิธีเท่านั้น

ข. เงินใส่ปาก เขาใช้เงินพดด้วงหรือเงินเหรียญมีจำนวนบาทหนึ่งห่อผ้าขาว ผูกเชือกไว้ทางยาวราวเกรียกหนึ่ง หย่อนลงไปในปาก การเอาเงินใส่ไว้ในปากศพนี้ ปรากฎตามคำกล่าวที่ได้อ่านพบในหนังสือบ้าง มีผู้กล่าวให้ฟังบ้าง เมื่อรวบรวมกันเข้าแล้ว ยังได้ข้อความแตกต่างกันอยู่เป็น ๓ ทาง ดังนี้ คือ

(๑) ทางหนึ่งอธิบายว่า การที่เอาเงินใส่ไว้ในปากศพนั้น เพื่อให้เป็นทางพิจารณาว่า คนเกิดมาแล้วย่อมลุ่มหลงอยู่ด้วยทรัพย์สมบัติ เที่ยวทะเยอทะยานขวนขวายหาด้วยทางสุจริตแล้วไม่พอแก่ความต้องการ ยังพยายามแสวงหาในทางทุจริตอีก เมื่อได้มาแล้วอดออมถนอมไว้ไม่ใช้จ่ายในที่ควร ทรัพย์เช่นนี้เรียกว่า เป็นทรัพย์ภายนอก เมื่อตายไปแล้ว แม้แต่เขาเอาใส่ปากให้ ก็นำเอาไปไม่ได้ ย่อมเป็นเหยื่อของผู้อื่นทั้งสิ้น ทางที่ถูกควร ประกอบการหาทรัพย์แต่ในทางที่ชอบ เมื่อได้มาแล้ว ก็ควรบริจาคทานตามควร เพื่อทำทรัพย์ภายนอกที่หามาได้นั้นให้เป็นทรัพย์ภายใน ได้แก่ อริยทรัพย์ อริยทรัพย์นี้เป็นสิ่งประเสริฐ จะเป็นฉายาตามติดตัวไปในภายหน้าได้

(๒) ทางหนึ่งอ้างการถือประเพณี โดยมีนิยายเป็นมูลเหตุว่า เดิมที มีสามีกับภรรยาคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันมาจนแก่ มีทองคำติดตัวอยู่บาทหนึ่ง ผัวสั่งเมีย ๆ สั่งผัวว่า "ถ้าใครตายก่อน ให้เอาทองคำบาทหนึ่งนี้ใส่ปากไปให้" กาลต่อมา สามีตายก่อน ภรรยาจึงเอาทองคำใส่ปากให้สามี แล้ยวก็นำศพไปเผา ไฟไฟม้ทองคำนั้นขาดไป ยังคงเหลืออยู่แต่เพียง ๑ สลึง ครั้งนั้น พระมหากษัตริย์มีความโลภเจตนา จะขอทองคำเรือนละบาทหนึ่ง หญิงม่ายผู้นั้นจึงไปเก็บทองคำในกองฟอนยังคงเหลืออยู่อีก ๑ สลึงมาถวายพระมหากษัตริย์ ๆ ไม่ทรงรับ จะเอาให้เต็มบาท หญิงม่ายเจ้าของทองคำจึงทูลว่า แต่ก่อน ทองคำนี้เต็มบาท ใส่ปากให้แก่สามีเมื่อตาย ครั้นเอาไปเผาไฟไหม้ ทองคำจึงเหลืออยู่แต่เท่านี้ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ผู้ยาก พระมหากษัตริย์ได้ทรงฟัง ก็เกิดธรรมสังเวชในพระทัย จึงประกาศเลิก ไม่ให้เอาทองคำแก่ราษฎร อาศัยเหตุนี้ต่อมา ผู้ที่ไม่มีทองคำถึงบาท ได้ใช้เงินบาทหนึ่งใส่ปากศพแทน จึงเป็นประเพณีกระทำกันสืบ ๆ มา

(๓) อีกทางหนึ่งกล่าวกันว่า ใส่ไว้เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำไปเผา เพราะในครั้งกระโน้น ราคาเงินบาทหนึ่งให้เป็นค่าจ้างอย่างงามแล้ว กับยังได้ผ้าผ่อนในการปกคลุมศพและของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเผาศพเป็นพิเศษอีกด้วย นอกจากนี้ ผ้าผ่อนที่สกปรกเปรอะเปื้อนทิ้งคลุกฝุ่นอยู่โดยไม่มีใครใยดีแล้ว คือ ผ้าบังสุกุล พระภิกษุในครั้งนั้นยังไปพิจารณาเอามาซักฟอกและย้อมฝาดเพื่อให้หมดกลิ่น แล้วเอามาบริโภคนุ่งห่มต่อไป

การที่ต้องเอาเงินใส่ไว้ในปากศพและไม่เอาไว้ในที่อื่นนั้น เพราะสะดวกแก่การค้นหา ถ้าจะไว้ที่อื่น ย่อมจะหมกปนกับเครื่องซับน้ำเหลืองศพหายได้ หรือถ้าเจ้าภาพจะสัญญาให้ค่าจ้างภายหลังโดยไม่ใส่เงินไว้ในปากศพก่อน น่ากลัวสัปเหร่อจะไม่ยอมในเวลามัดศพ เพราะเกรงเจ้าภาพจะเกิดบิดพริ้วภายหลัง โดยในสมัยนั้น เงินเป็นของมีค่ามาก บางคนกว่าจะหาได้ถึงบาทหนึ่งเป็นการยาก จึงจำเป็นต้องมีใส่ปากศพไว้เสียให้เสร็จทีเดียว

ค. หมากใส่ในปากศพ สำหรับผู้ที่กินหมาก เมื่อใส่เงินบาทลงไปแล้ว ถ้าผู้ตายยังมีฟันอยู่พอเคี้ยวได้ ก็ใส่หมากเจียนคำหนึ่ง กับพลูจีบหนึ่ง หักใส่ลงไปด้วยกัน ถ้าคนตายเป็นคนแก่มีฟันไม่บริบูรณ์ ก็ใช้หมากตำใส่ปากให้ ทั้งนี้ คงได้ความแต่เพียงว่า ผู้ตายเคยชอบ ก็ใส่ปากไปให้ พอเป็นธรรมเนียม

ง. ขี้ผึ้งปิดหน้าศพ ขี้ผึ้งที่ใช้นี้ ใช้ขี้ผึ้งแข็ง บางศพก็ปิดฉะเพาะแต่ที่ตากับปาก คือ ทำขี้ผึ้งเป็นแผ่นแบน ๆ ดังรูปแว่นตาสำหรับปิดตาทั้ง ๒ ข้างแผ่นหนึ่ง กับอีกแผ่นหนึ่งสำหรับปิดที่ปาก ศพบางแห่งก็ปิดเต็มหน้า คือ ทำขี้ผึ้งเป็นแผ่นโตเท่ากับหน้า ปิดไว้ดังหน้ากาก ที่ทำดังนี้บางแห่งก็มีปิดทองคำเปลวด้วย ผู้ที่มีทรัพย์บางแห่งไม่ใช่ขี้ผึ้ง เขาใช้ทองคำแผ่เป็นแผ่นทำเป็นหน้ากากปิดหน้าศพ การที่ใช้ขี้ผึ้งหรือทองคำปิดหน้าศพนี้ ได้ความว่า ปิดเพื่อป้องกันความอุจาด เพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลงบ้าง บางศพอ้าปากบ้าง

จ. กรวยดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้ธูปเทียนนี้มีธูปดอก ๑ เทียน ๑ กับดอกไม้ช่อ ๑ หรือบางทีก็ใช้ดอกบัวดอก ๑ ใส่ในกรวยใบตอง ให้ศพพะนมมือถือ ได้ความว่า ให้ถือไป เพื่อจะได้ไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เมื่อได้จัดการแต่งตัวศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นศพผู้ดี เขาทำถุงผ้าขาวสวมศีร์ษะ สวมมือทั้ง ๒ ข้าง แล้วให้ถือกรวยดอกไม้ธูปเทียน และสวมเท้า แล้วใช้ด้ายดิบเส้นขนาดนิ้วก้อยทำเป็นบ่วงสวมคอเป็นบ่วงแรก บ่วงที่ ๒ รัดรวบหัวแม่มือ และข้อมือทั้ง ๒ ข้างให้ติดกัน บ่วงที่ ๓ รัดรอบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้ง ๒ ข้างให้ติดกัน เรียกกันว่า ตราสัง หรือดอยใน

การที่ทำบ่วงสวมคอ ผูกมือและเท้า เป็น ๓ บ่วงด้วยกันนั้น มีความหมายผูกเป็นคาถาว่า "ปุตฺโตคีว ธนปาเท ภริยาหตฺเถ" และที่ผูกเป็นโคลง ๔ สุภาพก็มี ดังนี้

 มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยวงบ่วงหนอ รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร

เมื่อเสร็จแล้ว ห่อด้วยผ้าขาวยาว ๒ ทบ ชายผ้าทั้ง ๒ อยู่ทางศีร์ษะสำหรับขมวดเป็นก้นหอย แล้วมัดด้วยด้ายดิบขนาดนิ้วมือมัดขึ้นมาเป็นเปลา ๆ เพื่อกันไม่ให้เบ่งขยายตัวได้ในเวลาขึ้น มารัดกับชายผ้าที่ขมวดเป็นก้นหอยอยู่บนศีร์ษะให้แน่น แล้วเหลือชายเส้นด้ายที่มัดนั้นปล่อยไว้พอควรที่จะเป็นสายยาวออกมานอกโลงได้ แล้วยกศพที่มัดแล้วนั้นวางลงในโลงซึ่งทำไว้เรียบร้อยแล้วให้นอนตะแคง เพื่อว่า เวลาศพเบ่งพองขึ้น จะได้ไม่ดันโลงทั้ง ๒ ข้างให้แตกหรือแยกออก ทำให้น้ำเหลืองรั่วไหลออกมาได้

ก. โลง ที่บรรจุศพนั้น ได้ความว่า แต่กาลก่อนในสมัยเมื่อยังไม่มีเลื่อยใช้ เขาเอาไม้ทั้งท่อนมาขุดเป็นรางอย่างเรือโกลน มีไม้อุดหัวอุดท้ายให้ดี แล้วจึงเอาศพบรรจุลงไว้ เพื่อกันความอุจาดตา ครั้นต่อมาถึงสมัยที่มีเลื่อยใช้แล้ว จึงได้เลื่อยไม้ทั้งต้นออกเป็นแผ่นไม้กระดานและทำเป็นโลงต่อ เลิกใช้โลงขุดอย่างแต่ก่อนนั้นเสีย ส่วนไม้ที่จะใช้ต่อโลงนั้น นิยมใช้กันมาแต่ก่อน ๆ คือ ผู้ที่ป่วยไข้ตายตามปกติแล้ว เขาใช้โลงซึ่งต่อด้วยไม้อุโลกหรือไม้งิ้ว เห็นจะเป็นด้วยเป็นไม้ที่เบา ถึงจะเป็นไม้ที่ไม่แข็งแรงหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นศพที่บรรจุลงไว้นั้นตราสังแล้ว และทั้งราคาก็ย่อมเยาว์ด้วย ส่วนศพที่ตายอย่างไม่บริสุทธิืซึ่งเขาไม่ได้ตราสังนั้น เขานิยมบรรจุโลงซึ่งต่อด้วยไม้สัก จึงมีคำที่เด็ก ๆ นำเอามาร้องเล่นอยู่แต่ก่อนว่า "ผีตายโหงใส่โลงไม้สัก ฯลฯ" การที่นิยมดังนี้น่าจะเป็นด้วยไม้สักเป็นไม้ที่แข็งแรงและทนทาน ถึงแม้จะเอาลงฝังในดินก็ไม่ผุง่าย แต่ต่อมาถึงเดี๋ยวนี้ ศพของผู้ตายจะตายด้วยอะไรก็ช่าง ใช้บรรจุด้วยโลงไม้สักกันเป็นพื้น เว้นไว้แต่ผู้ที่ขัดสนและจะเอาศพไว้น้อยวัน จึงใช้โลงไม้นอกซึ่งจีนเป็นผู้ต่อสำเร็จตั้งไว้ขายตามร้านทั่วไป

ข. การเบิกโลง โลงที่จะบรรจุศพผู้ตายนั้น เมื่อได้ต่อหรือซื้อมาแล้ว สัปเหร่อเป็นผู้ทำพิธีเบิกโลก คือ เอาไม้ไผ่มาเกรียกโตขนาดนิ้วก้อย ยาวประมาณเกรียก ๑ ผ่าข้างหนึ่งไว้สำหรับคาบกับปากโลง และผ่าปลายอีกข้างหนึ่งสำหรับคาบด้ายสายสิญจน์ ทำดังนี้รวม ๘ อัน เรียกว่า ไม้ปากกา ทางเจ้าภาพต้องจัดหากระทงเล็ก ๆ ใส่กุ้งส้าปลายำ ๘ กระทง เทียนเล่มเล็ก ๆ ๙ เล่ม (สำหรับทำน้ำมนตร์เล่ม ๑ ใช้ติดปากโลง ๘ เล่ม) ด้ายสายสิญจน์กลุ่ม ๑ น้ำสำหรับทำน้ำมนตร์ขัน ๑ กับเงินอีก ๖ สลึง ครั้นแล้ว สัปเหร่อคนหนึ่งเอาไม้ปากกามาคีบเข้ากับปากโลงทางด้านยาวด้านละ ๔ อัน วงด้ายสายสิญจน์อย่างหย่อน ๆ ให้ปลายปากกาคาบไว้จนรอบ แล้ววางกระทงกุ้งส้าปลายำตามปากโลงเคียงกับไม้ปากกานั้น และจุดเทียนด้วยเล่ม ๑ จนครบ ๘ กระทง สัปเหร่ออีกคนหนึ่งตั้งพิธีทำน้ำมนตร์ธรณีสารเดินคาถา "สีโรเมพุทธเทวัญจ ฯลฯ" เมือเสร็จแล้ว วักน้ำมนตร์ในขันขึ้นเสยผม ๓ ครั้ง แล้วนำน้ำมนตร์มาพรมที่โลง และวักน้ำมนตร์เสยผมไปด้วยอีก สัปเหร่ออีกคนหนึ่งหยิบเอาเทียนที่จุดติดปากโลงนั้นเล่ม ๑ มาจุดด้ายสายสิญจน์ระวางช่องปากกานั้นให้ไหม้ขาดทุกช่อง เว้นไว้แต่ช่องด้านสะกัดด้านหนึ่งซึ่งจะกำหนดให้เป็นหัวโลง แล้วสัปเหร่อคนที่พรมน้ำมนตร์แล้วนั้นถือพร้าโต้มากดลงที่ด้ายสายสิญจน์ระวางกลางหัวโลง ว่าคาถาครั้นแล้วร้องถามว่า "โลงของใคร" พวกเจ้าภาพต้องบอกไปว่า เป็นโลงของผู้นั้น (ออกชื่อผู้ตายซึ่งจะต้องเอาศพบรรจุลงในโลงนั้น) แล้วสัปเหร่อผู้ถือพร้าโต้ก็สับด้ายสายสิญจน์นั้นลงกับปากโลง ๓ ที คือ สับลงตรงกลางก่อน แล้วสับข้างซ้ายและข้างขวา มีระยะห่างกันราวนิ้วหนึ่ง ให้ด้ายสายสิญจน์ขาด แล้วล้มปากกาและเทียนที่จุดยังเหลืออยู่ลงในโลง และกระทงกุ้งส้าปลายำก็จับโยนทิ้งไป นับว่า เป็นอันเสร็จการทำพิธีเบิกโลง

เรื่องการเบิกโลงนี้มีปรากฎตามเรื่องราวกล่าวมาว่า เมื่อครั้งยังใช้ท่อนไม้มาขุดเป็นโลงนั้น บางแห่งที่หาไม้ขนาดใหญ่ก็เอามาขุดเป็นรางใช้ได้ทีเดียว บางแห่งที่หาไม้ท่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ ได้แต่ไม้ท่อนขนาดย่อม เมื่อขุดเป็นรางเสร็จแล้ว ได้เนื้อที่แคบไม่พอที่จะบรรจุศพ จึงจำเป็นต้องเบิกกว้างออกไปอย่างเบิกเรือโกลนเพื่อให้บรรจุศพลงได้ ครั้นต่อมาถึงสมัยใช้โลงต่อด้วยไม้กระดานแล้ว ก็ยังมีการเบิกโลงกันต่อ ๆ มา แต่ทำพอเป็นพิธีโดยอาศัยเหตุที่กล่าวมาแล้วนั้น

ถ้าจะยกเหตุผลของท่านที่กล่าวไว้นั้นมาพิเคราะห์กับอาการที่กระทำพิธีเบิกโลกแล้ว น่าจะเห็นพ้องด้วย เพราะการขุดไม้ท่อนให้เป็นเรือโกลน ก็ต้องทำการเบิก คือ ใช้ไฟสุมลน และใช้ปากกาจับปากเรือทั้งสองข้าง เอาเชือกรั้งเพื่อให้ปากเรือที่รวมอยู่ขยายกว้างออกไปคล้ายกับการเบิกโลงเหมือนกัน

โลงที่จะบรรจุศพนั้น เมื่อทำการเบิกเสร็จแล้ว จะต้องมีสิ่งประกอบดังนี้ คือ

ก. ฟากหรือเฝือก ใช้ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดกว้างราว ๕ เซนติเมตร์ ยาวพอกับขนาดที่จะลงโลงได้ ๗ อัน เกลาข้อและลบเหลี่ยมพอเรียบ ๆ ถักด้วยหวายให้เรียงติดกันเป็นผืนเอาผิวขึ้น แล้วมัดติดกับกระบอกไม้ไผ่ซึ่งทำเป็นหมอนรองยาวเท่าขนาดความกว้างของโลกเป็น ๓ ระยะเพื่อประสงค์ว่า เมื่อวางฟากหรือเฝือกนี้ลงไปในโลกแล้วจะได้ไม่ติดกับพื้นโลงอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง จะได้มีที่พอบรรจุเครื่องซับน้ำเหลืองข้างใต้ฟากหรือเฝือกนั้นได้ (แต่โลงที่จีนต่อขายในสมัยปัจจุบันนี้ ฟากหรือเฝือกใช้ไม้นอกหน้ากว้างราว ๓ เซนติเมตร์ ตีตะปูติดกับหม่อนห่าง ๆ เพียง ๔ ซี่บ้าง ๕ ซี่บ้างไม่เป็นกำหนด) มีใส่ไว้ในโลง การที่มีเฝือกนี้เป็นการสะดวกสองประการ คือ จะยกศพออกจากโลงได้ง่าย อย่างหนึ่ง เวลาเผาศพ จะได้ลอดขึ้นตามซี่เฝือก สังหารศพให้ย่อยยับได้ง่าย อย่างหนึ่ง

ศพอนาถาที่จะนำไปเผาหรือฝังสด ๆ อย่างแต่ก่อน เขาใช้ผ้าห่มนอนห่อพันเข้าแล้วห่อด้วยเฝือกไม้ไผ่ ๗ ซี่ชะนิดนี้ สัปเหร่อ ๒ สองคนหามหัวท้ายเอาไปวัดโดยไม่ต้องใช้โลง

ในเรื่องนี้มีคำภาษาเก่า ๆ พูดกันเป็นนัยว่า ผู้นั้นเขานอนเฝือก ๗ ซี่ ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า ผู้นั้นตายเสียแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง พูดเป็นเชิงเย้ยหยันกันว่า "ถึงจะถือเนื้อไว้ตัวว่าเป็นคนมั่งมีอย่างไรก็ตาม ไม่มีใครพ้นนอนเฝือก ๗ ซี่ได้" ในที่นี้ก็หมายความว่า เมื่อตายไปแล้ว ผู้มั่งมีซึ่งบรรจุโลงอย่างงดงาม ก็ไม่พ้นที่จะนอนบนเฝือก ๗ ซี่ที่ลองก้นโลง และคนเข็ญใจซึ่งไม่มีโลงใส่ก็ต้องนอนบนเฝือก ๗ ซี่เช่นกัน

ข. ใบตองตานี ๓ ยอด เมื่อวางเฝือกหรือฟากลงไว้ในโลงแล้ว เอาใบตองตานีอย่างงาม ต้องการอย่างไม่ให้ใบแตก และตัดอย่างไม่ไว้หูรวม ๓ ยอด มาปูไว้บนเฝือกหรือฟาก แล้วปูเสื่อหรือที่นอนลงบนใบตองนั้นอีกทีหนึ่ง ให้มีพร้อมทั้งหมอนหนุน จึงยกศพลงวางให้นอนตะแคง แล้วบรรจุเครื่องขับน้ำเหลืองและเครื่องดับกลิ่นเหม็นตามควร

การที่ใช้ใบตองปูนี้ ได้ความว่า ปูไว้เพื่อรองรับน้ำเหลืองไม่ให้ไหลตกลงไปก้นโลงได้ง่าย แต่การที่ใช้ยอดตองจำกัดเพียง ๓ ยอด เพราะเหตุไรนั้น ยังไม่พบหลักฐานกล่าวไว้ในที่ใด เป็นแต่มีผู้กล่าวให้ฟังว่า การที่ปูเพียง ๓ ยอด คือ ปูตามยาว ๒ ข้าง ๆ ละยอด และปูทาบลงกลางอีกยอดหนึ่งพอดีแล้ว ถ้าจะใช้ใบตองน้อยกว่านี้ก็ไม่พอ หรือใช้มากกว่านี้ก็เหลือเฟือไป และการที่ใช้ใบตองชะนิดที่ตัดไม่ไว้หูนั้น โดยเกรงว่า เมื่อให้ตัดไว้หูเสียด้วยแล้ว จะเหลือทางของใบตองสั้นไปกว่าความยาวของโลงมากไป

การตัดใบตองใช้กันตามปกติ เขาตัดไว้หู คือ ต้องให้เหลือใบไว้บ้าง ต้นจะได้ไม่เฉา เมื่อจะนำขึ้นเรือนทั้งทางโดยไม่เลื่อยก้านออกแล้วต้องหักยอดเสียก่อน ถ้าตัดใบตอง ถึงจะตัดไว้หูก็ดี หรือตัดไม่ไว้หูก็ดี และนำขึ้นเรือนโดยไม่หักยอดเสียก่อนแล้ว เขาหาว่า เป็นใบตองรองโลงผี ถือกันว่า เป็นเสนียด

ค. บันไดวางหลังโลง เขาใช้ไม้ไผ่จักผูกเป็นคั่นเหมือนคั่นบันได ขนาดส่วนยาวและกว้างเท่ากับปากโลง ส่วนคั่นนั้น ได้พบคำอธิบายของผู้เขียนบางฉะบับว่า มี ๓ คั่น เปรียบเทียบไว้ว่า เป็นปัญหาธรรม คือ หมายความว่า ภพทั้ง ๓ แต่ตามที่ได้เคยเห็นปรากฎแก่ตาที่เขาทำกันก็ดี และบางตำราก็ดี มี ๔ คั่น ยังมีคำกล่าวกันอยู่ว่า "สี่คั่นบันไดผี คั่นขี้บันไดคน" ดังนี้

ตามที่พากันทำไม้ไผ่เป็น ๔ คั่น เรียกว่า บันไดผี นี้ นิยมกันว่า เพื่อให้ผู้ตายพาดขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามที่ได้ให้ถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนไว้แล้วนั้น แต่ในท้ายตำนานพระโกษฐและหีบศพบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นหนังสือของหอพระสมุด มีอธิบายว่า เมื่อครั้งใช้หีบบรรจุศพซึ่งยังไม่มีฝานั้น ใช้ผ้าคลุมแทน ถ้าเป็นผ้าชะนิดที่หนาหนัก ก็ตกท้องช้าง เลยหลุดลงไปเสียในหีบ จึงต้องผูกไม้เป็นคานพาดปากหีบรับผ้าไว้กันไม่ให้ตกลงไป

ในมหากาลเถรว่า บันไดสามคั่นนั้นเปรียบเหมือนภพทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ อันภพทั้งสามนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนเกิดเวียนตายอยู่ไม่รู้ขาด ดุจคนขึ้นและลงบันไดฉะนั้น ต่อเมื่อได้วาสนาบารมีแก่กล้าเต็มเปี่ยมดีแล้วจนได้บรรลุมรรคผลและนิพพานนั้นแหละ จึงจะพ้นจากภพทั้งสามนี้ได้

ส่วนบันไดสี่คั่น ยังไม่ได้พบที่มา น่าจะหมายถึง อริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นทางหรือบันไดให้หลุดพ้นจากภพทั้งสามนั้น

เมื่อบรรจุศพลงในโลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะตั้งศพนั้นไว้ที่บ้านเพื่อบำเพ็ญการกุศลไปก่อนก็ดี จะเอาไปตั้งก่ออิฐถือปูนไว้หรือจะฝังก็ดี ตลอดจนตั้งบนเชิงตะกอนทำการเผา ต้องตั้งหันให้ศีร์ษะของศพไปทางทิศตะวันตกเสมอไป ทั้งนี้ ถือเป็นประเพณีสืบกันมา โดยมีเรื่องราวกล่าวว่า "เมื่อครั้งพระอิศวรกระทำการโกนจุกพระขิเนต (เห็นจะเป็นพระพิฆเนศ) พระขินาย ไม่ได้บอกพระอังคารให้ทราบ พระอังคารโกรธ บันดาลให้มีดมาตัดเศียรพระขิเนต พระขินาย ไปทิ้งในแม่น้ำ พระอิศวรจึงได้ใช้ให้พระเพชฉลูกรรณ์ (เห็นจะเป็นพระวิศวกรรม) เอาศีร์ษะมนุษย์และเดียรัจฉานที่นอนหันศีร์ษะไปทางตะวันตก พระเพชฉลูกรรณ์ไปพบช้าง ๒ ตัวนอนหันศีร์ษะไปทางตะวันตก จึงตัดศีร์ษะมาถวายพระขิเนต พระขินาย ๆ จึงมีเศียรเป็นช้าง" สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ ไม่นอนหันศีร์ษะไปทางทิศตะวันตก แม้แต่ทิศใต้ก็ไม่ใคร่นิยมหันศีร์ษะไป โดยถือกันว่า เป็นเสนียดจัญไร เพราะเหตุนี้ แต่การตั้งศพของผู้ตายแล้ว ให้หันศีร์ษะไปทางทิศตะวันตก หรือถ้ามีความจำเป็นที่จะตั้งศพให้หันศีร์ษะไปทางทิศตะวันตกไม่ได้ ก็นยมหันศีร์ษะให้ไปทางทิศใต้ ไม่ตั้งหันศีร์ษะศพไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือเลย

ยงมีชาวภาคอุดรและภาคอิสาณของประเทศสยามซึ่งเป็นเชื้อสายสืบมาแต่ชาวล้านช้างถือประเพณีนอนหันศีร์ษะไปแต่ทางทิศใต้ทิศเดียว เรียกทิศใต้ว่า หัวนอน และเรียกทิศเหนือว่า ปลายตีน (ชนชาวแถบนี้ปลูกเรือนตามตะวัน คือ ตามยาวของเรือนไปทางตะวันออกกับทิศตะวันตก หันหน้าเรือนไปสู่ทิศเหนือ นอนตามขวางของเรือน เอาหัวนอนไปไว้ทิศใต้ และเหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ) การที่ถือประเพณีเช่นนี้ มีผู้ใหญ่ในแถบนั้นเล่าให้ฟังว่า ชั้นบรรพบุรุษถือกันว่า แต่เดิมว่า ภูมิลำเนาของเขาอยู่ตอนเหนือนี้ขึ้นไป เมื่อได้เลื่อนลงมาประกอบการอาชีพทางใต้แล้ว ก็ยังคำนึงถึงถิ่นฐานเดิมซึ่งเคยอยู่ จึงได้นอนหงายหันหน้าสู่ทางเหนือ แลดูเพื่อเป็นเครื่องระลึก โดยไม่ถือว่า การนอนหันศีร์ษะไปทางทิศใต้จะเป็นเสนียดจัญไร เหตุนี้ จึงเป็นประเพณีที่นอนหันศีร์ษะไปทางใต้ต่อ ๆ กันมาจนบัดนี้

ผู้ที่ตายในตอนบ่ายหรือเย็นซึ่งจะจัดการบรรจุศพลงโลงในวันนั้นไม่ทัน และจะจัดการในวันรุ่งขึ้น โดยเขาเอาผ้าคลุมศพไว้ก่อนก็ดี หรือศพที่บรรจุโลงเสร็จแล้วตั้งไว้ที่บ้านเพื่อบำเพ็ญการกุศลต่อไปก็ดี แต่ชั้นเดิม ๆ มา เขาใช้กะลามะพร้าวมีพร้อมทั้งเนื้อด้วยซีกหนึ่งใส่น้ำมันมะพร้าว ใช้นมทองหลายร้อยด้ายดิบเป็นใส้ลอยในน้ำมันมะพร้าว จุดตามไว้ทางปลายเท้าศพ แต่ในกรุงเทพฯ เวลานี้ ยังมีทำกันอยู่บ้าง ก็มักใช้ชามแทนกะลามะพร้าวบ้าง ตามด้วยตะเกียงลานบ้าง คงมีใช้กะลามะพร้าวเป็นภาชนะเครื่องตามไฟอยู่บ้างก็แต่ตามเรือกตามสวนเท่านั้น การที่ใช้กะลามะพร้าวทั้งเนื้อเป็นที่ใส่น้ำมันตามไฟนี้ คงสอบถามได้ความตามคำบอกเล่าว่า เมื่อศพยังตั้งบำเพ็ญการกุศลอยู่ที่บ้านหลายวัน (ไม่ใช่เก็บศพไว้กับบ้าน) ก็ต้องใช้เครื่องตามไฟนี้เรื่อยไป ถ้าจะใช้แต่ตัวกะลามะพร้าวใส่น้ำมันโดยไม่มีเนื้ออยู่ด้วย กะลามะพร้าวอาจจะแห้ง ไฟจะแลบเสีย ทำให้เกิดไหม้ขึ้นได้ จึงต้องใช้กะลามะพร้าวทั้งเนื้อด้วย ส่วนไฟที่จุดตามไว้นี้ ต้องคอยระวังกันไว้ไม่ให้ดับ หรือถ้าจะเกิดดับขึ้นด้วยความจำเป็น ก็ต้องรีบจุดใหม่ทันที แต่เหตุที่ต้องตามไฟไว้นี้ บางท่านก็อธิบายว่า "จุดไว้แทนไฟธาตุของผู้ตาย" แต่บางท่านได้กล่าวไว้ว่า แต่เดิมมา พวกเราไม่มีเครื่องตามไฟที่จะใช้ในเวลาค่ำคืน มีแต่ใช้ใต้จุดกัน ก็ไม่ชะนะจะเขี่ย เช่น พระตามวัดที่อัตคัด ไม่มีใต้จะจุดดูหนังสือสำหรับท่องบ่นในเวลากลางคืน เวลาเย็นลง กวาดวัด ก็รวมใบไม้ไว้แห้ง ๆ ไว้สุมและผ่อนใส่ไฟเพื่อหาแสงสว่างดูหนังสือสำหรับท่อง ส่วนตามบ้าน ใช้ใต้จุดกันเป็นพื้น เมื่อมีศพอยู่กับบ้าน ไม่อยากให้ศพอยู่มืด ๆ เนื่องด้วยเกิดจากความกลัว ถ้าจะเอาใต้ไปจุดไว้ที่ปลายเท้าศพ คงไม่มีใครรับอาสาไปนั่งเขี่ยใต้ให้ลุกอยู่ตลอดรุ่ง จึงต้องตามไฟด้วยน้ำมันมะพร้าว และใช้กะลามะพร้าวทั้งเนื้อเป็นภาชนะ ดีกว่าใช้อย่างอื่น ดังนี้

ศพที่ตั้งอยู่กับบ้านเพื่อบำเพ็ญการกุศลในระวาง ๓ วันนับตั้งแต่วันตายมา มีการตั้งอาหารให้แก่ศพวันละ ๒ เวลา คือ เช้ากับเย็น มีพร้อมทั้งกระโถน ขันน้ำ เหมือนกับเวลารับประทานอาหารในขณะเมื่อผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ เวลาไปตั้งเสร็จแล้ว ก็เคาะโลงบอกให้รับประทานอาหาร ไปตั้งไว้ราวชั่วโมงหนึ่ง จึงยกกลับมา บางแห่งก็ทำการตั้งดังนี้ถึง ๗ วัน จนทำบุญ ๗ วันแล้วปิดศพหรือนำศพไปวัด การที่ทำเช่นนี้ ได้ความว่า สืบเนื่องมาจากทางไสยศาสตร์ แต่จะมีมูลเหตุมาอย่างไรยังไม่ได้ความปรากฎ

ในระวางเวลาตั้งศพบำเพ็ญการกุศลอยู่ที่บ้านนี้ เวลากลางคืน มีพระภิกษุ ๔ รูป เรียกกันว่า สำรับหนึ่ง สวดพระอภิธรรม ก่อนที่จะตั้งต้นสวดนั้น เมื่อเจ้าภาพได้จุดธูปเทียนเครื่องสักการแล้ว อาราธนาศีล และเคาะที่ข้างโลงบอกให้ศพรับศีล ฝ่ายพระภิกษุซึ่งเป็นผู้มีอะวุโสในจำนวน ๔ รูปนั้นเป็นผู้ให้ศีล เมื่อจบแล้ว จึงตั้งต้นสวดพระอภิธรรมต่อไป ครั้นเวลาเช้า บางแห่งเจ้าภาพก็นิมนต์พระภิกษุ ๔ รูปนั้นฉันหน้าศพแล้วบังสุกุลบ้าง บางแห่งก็ถวายสังฆทานบ้าง และบางแห่งก็ไม่มีการเลี้ยงพระหรือถวายสังฆทาน เป็นแต่ถวายจตุปัจจัยในการสวดพระอภิธรรมเท่านั้น การถวายจตุปัจจัยแก่พระภิกษุในการสวดพระอภิธรรมนี้ แต่เดิมมามีกำหนดถวายจบละบาท คือ สวดถึงเที่ยงคืนเพียง ๒ จบ ก็ถวาย ๒ บาท ถ้าสวดตลอดคืน ๔ จบ ก็ถวาย ๔ บาท แต่ต่อมาปัจจุบันนี้ ถวายไม่เป็นกำหนด แล้วแต่เจ้าภาพจะศัทธา และการสวดพระอภิธรรมก็ไม่จำกัดว่า สวดตลอดคืนหรือครึ่งคืนจะต้องเป็นกี่จบ พระภิกษุที่สวดพระอภิธรรมซึ่งสำรับหนึ่งต้องมี ๔ รูปนั้น เพราะความประสงค์แต่เดิมมาต้องการให้เป็นการสดวกแก่การที่เจ้าภาพจะถวายสังฆทานให้เป็นสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ตายในเวลาเช้าแห่งวันรุ่งขึ้น เพราะจำนวนพระภิกษุ ๔ รูปนั้นเป็นจำนวนที่กำหนดอย่างต่ำแห่งความเป็นคณะสงฆ์ ส่วนการที่เคาะโลงให้ศพรับศีลนั้น มีบางท่านที่ได้อธิบายไว้ว่า เป็นทิฏฐิของพราหมณ์ซึ่งถือว่า สัตว์ตายไปแต่ร่างกาย ส่วนวิญญาณนั้นไม่ดับ บางทีชาวเราจะถือเอาเหตุนี้มาลองทำดูเป็นการเสี่ยง จึงได้เลยทำกันเป็นประเพณีสืบ ๆ มา นอกจากนี้ การที่มีสวดพระอภิธรรมหน้าศพนั้น ท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า สวดเพื่อให้คนที่ยังเป็นอยู่ฟัง สำหรับจะได้พิจารณาในมรณานุสสติกัมมัฏฐานว่า เกิดมาเป็นสังขารร่างกายแล้ว ย่อมมีความตายเป็นที่สุด จะได้เป็นเครื่องดับความวิประโยคทุกข์ถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้บันเทาลง และอีกอย่างหนึ่ง การสวดพระอภิธรรมนั้น ก็ถือกันว่า เหมือนอย่างสร้างพระอภิธรรมฉลองคุณมารดาตามพระพุทธประเพณี จึงนิยมสวดพระอภิธรรมมากกว่าสวดอย่างอื่น

เมื่อศพที่ได้ทำการบรรจุโลงแล้ว จะยกลงจากเรือนและนำออกจากบ้านไปยังวัด มีปฏิบัติการดังนี้ คือ:—

ก. ไม่หามศพลอดขื่อ คือ แต่ก่อนมา เมื่อผู้ป่วยได้นอนตายอยู่ในห้องใด เมื่ออาบน้ำศพ และบรรจุโลง ตลอดจนการที่จะตั้งศพไว้บำเพ็ญการกุศล ก็ใช้ห้องนั้นตลอดไป ไม่ย้ายศพจากห้องที่ตายไปไว้ห้องอื่นเหมือนอย่างที่ทำกันในปัจจุบันนี้ และเมื่อยกออกจากห้องไปก็ไม่ยอมหามลอดขื่อไปออกประตูอีกห้องหนึ่ง ตามที่ได้เคยเห็นมา บางบ้านที่เป็นเรือนฝากระดานลูกปะกนถึงกับต้องเปิดฝาออกกระแบะหนึ่งเพื่อยกศพออกทางนั้นมาหาระเบียงหามลงนอกชานแล้วลงบันใดเรือนไป นอกจากนี้ ยังได้เห็นชาวสวนซึ่งอยู่ในเรือนฟากไม้หมากไม่แข็งแรงคงทนเท่าเรือนเราในปัจจุบันนี้ และขื่อก็เตี้ย เกรงว่า เมื่อหามศพลอดมา ศีร์ษะผู้ยกหีบศพอาจจะไปโดนเอาขื่อเข้า เขาจึงห้าม

ข. การชักฟากสามซี่ตีหม้อน้ำสามใบ ข้อนี้เป็นปฤษณาธรรม ฟากสามซี่ ได้แก่ ชาติ ความเกิดอาศัยภพสาม คือ กามภพ ๑ รูปภพ ๑ อรูปภพ ๑ หม้อน้ำสามใบนั้น ได้แก่ วัยทั้งสาม คือ ประถมวัย ๑ มัชฌิมวัย ๑ ปัจฉิมวัย ๑ เหตุด้วยสัตว์ที่เกิดมาจะต้องแตกทำลายไปในวัยทั้งสาม จะยืนยงคงอยู่ต่อไปหาได้ไม่ แต่ปัญหาธรรมข้อนี้ บุคคลเราแก้ไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง แต่ก็คงรักษาประเพณีอันนั้นมาอยู่จนทุกวันนี้

ค. ประตูป่า คือ เอาใบไม้มาปักไว้บนประตูที่จะนำศพออก ผูกปลายจดกัน การที่ทำเช่นนี้จะให้ผู้ตายรู้ตัวว่า เราจะได้นำศพไปป่าช้าแล้ว อีกอย่างหนึ่ง เพื่อจะป้องกันไม่ให้ผีกลับมาเรือนได้อีก เพราะเมื่อผีออกไปพ้นประตูป่าแล้ว เขาก็ถอนกิ่งไม้นั้นทิ้งเสีย เมื่อผีกลับมา หาที่สังเกตไม่ได้ หลงทาง เลยไปที่อื่น อีกนัยหนึ่งกล่าวเป็นปัญหาธรรมว่า ประตูป่าช้า ใครไปแล้วไม่ได้กลับมาเห็นญาติมิตรอีกต่อไป ควรเป็นที่ปลงธรรมสังเวตยิ่งนัก

ง. ซัดเข้าสาร เพื่อจะให้หนีออกจากบ้านไปสู่ป่าช้า เมื่อเผาแล้ว จะได้ไปผุดไปเกิด ไม่มารบกวนคนในบ้านในเรือนต่อไป

จ. ไม้ขีดทางที่ไป เห็นจะทำเป็นเครื่องหมายให้คนที่จะตามไปภายหลังได้สังเกตและตามไปหาที่ไว้ศพถูก

ฉ. ห้ามไม่ให้ห้ามข้ามนาข้ามสวน การห้ามข้อนี้ไม่เกี่ยวกับลัทธิหรือศาสนาเลย แต่ที่ห้ามก็โดยเจ้าของนาหรือสวนรังเกียจในการที่เราจะนำศพผ่านเข้าไปในเขตต์ที่ดินของเขา หรืออีกอย่างหนึ่ง เกรงว่า จะไปเหยียบต้นเข้าและต้นไม้ของเขาตาย ครั้นนานเข้า ผู้ที่ไม่ทราบความหมายก็เลยถือเป็นประเพณีกันต่อ ๆ มา และเห็นว่า ศพนั้นเป็นอัปมงคล เมื่อผ่านเข้าไปในที่ดินของตน ที่ดินนั้นจะพลอยเป็นอัปมงคลไปด้วย

ในมหากาลเถรสูตรว่า ล้างฟากตีหม้อหมางขีดหนทางนั้น เพื่อจะให้เห็นว่า เราท่านทั้งปวงไม่ควรเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภาพทั้งสาม ให้อุตสาหะบำเพ็ญทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใสประดุจดังฟากที่ล้างสอาดแล้ว ก็จะพ้นจากภพทั้งสามเหมือนตีหม้อหมางและขีดหนทางเสียฉะนั้น

เมื่อนำศพไปถึงที่เผาแล้ว ก่อนจะเผา ต้องนำไปในที่กำบัง แล้วเปิดฝาโลงออก และยกศพออกจากโลง วางลงบนผ้าขาว เอามีดตัดเชือกตราสังและผ้าที่ห่อศพออก ให้ศพนั้นนอนหงาย แล้วเอาผ้าขาวที่รองนั้นพับปิดศพให้เรียบร้อย แล้วเอากิ่งไม้มาวางบนศพพอรองผ้าบังสกุล แล้วจึงเอาผ้าบังสุกุลพาดลงบนกิ่งไม้นั้นอีกทีหนึ่ง นิมนต์พระสงฆ์มาชักมหาบังสุกุล เมื่อเสร็ขแล้ว จึงยกศพใส่ลงในโลง และให้ศพนั้นขว้ำหน้าลง โลงนั้นต้องตัดกันโลงให้เป็นช่องเท่าตรางเหล็กสำหรับไฟที่เผาจะได้ลอดขึ้นไหม้ศพได้ แล้วนำโลงศพเวียนเชิงตะกอนสามรอบ ในเวลาที่เวียนศพนี้ ผู้ที่เป็นลูกหลานและภรรยาหรือว่าบริวารของผู้ตายทั้งหมดต้องเดินตามศพเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เมื่อเวียนครบสามรอบแล้ว จึงนำโลงศพขึ้นตั้งบนเชิงตะกอน และผู้เป็นเจ้าภาพต้องนำเบี้ยทิ้งลงที่เชิงตะกอนให้ตากาลียายกลาเป็นจำนวน ๓๓ เบี้ย ท่านแสดงว่า เป็นคุณบิดา ๒๑ มารดา ๑๒ บางท่านว่า ต้อง ๕๐ เบี้ย เดี๋ยวนี้หาเบี้ยไม่ได้ ก็ใช้สตางค์แทนเบี้ย และคนใช้สตางค์เป็นถูก เพราะเบี้ยเลิกใช้กันในเวลานี้แล้ว นี้แสดงว่า เป็นค่าที่เผาให้แก่ตากาลียายกลา ต่อไปจากนี้ จึงต่อยมะพร้าวให้แตก เอาน้ำไปล้างหน้าศพ เมื่อล้างหน้าศพเสร็จแล้ว จึงจุดไฟเผา เชื้อไฟของใคร ก็ต้องจุดเอาเอง ห้ามไม่ให้ต่อกัน เมื่อไฟไหม้ศพแล้ว เอาผ้าขาวที่คลุมโลงนั้นโยนข้ามไฟ โยนข้ามไปข้ามมาให้ครบสามครั้ง จึงหยุด ก่อนที่ผู้เผาศพจะกลับไปบ้าน ต้องชักไฟออกเสียสามดุ้นก่อน แล้วจึงกลับได้ เมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องล้างหน้าและอาบน้ำด้วย

อธิบายปัญหาในบทที่ ๙ นี้ว่า มีดที่ตัดเชือกหรือด้ายที่ผูกศพนั้น ได้แก่ ดวงปัญญา ด้ายนั้น ได้แก่ โลโภ โทโส โมโห อันว่า โลโภ โทโส โมโห นั้น ต้องตัดด้วยดวงปัญญา จึงจะขาดได้

ที่ว่า เอากิ่งไม้วางเหนือศพนั้น เพื่อจะไม่ให้ผ้าที่บังสุกุลเปื้อนศพที่มีน้ำเหลือง การที่นิมนต์พระมาชักมหาบังสุกุลนั้น ก็เพื่อให้ท่านมาปลงกรรมฐานและรับผ้านั้นเป็นไทยทาน จัดเป็นการกุศลส่วนหนึ่ง

การที่ขว้ำศพลงนั้น กล่าวว่า เมื่อเวลาศพถูกไฟ จะได้ไม่งอตัวเข้ามาได้ ถ้าเผาในท่านอนหงาย ศพนั้นมักงอเท้าสูงขึ้นเชิดได้

การเวียนเชิงตะกอนสามรอบนั้น หมายความว่า เมื่อแรกเกิดมานั้นเป็นเด็กแล้ว ถึงคราวเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ก็แปรผันไปอิก จนถึงความชะรา นี้ชื่อว่า อนิจจํ การที่แปรปรวนไปนั้น ก็มีความเจ็บไข้ได้ทุกข์ทนยาก ชื่อว่า ทุกขํ ในที่สุด ถึงความสลายไป คือ แตกทำลายตายจากภพนี้ จะเอาอะไรเป็นสาระหาได้ไม่ ชื่อว่า อนตฺตา การเวียนสามรอบนั้น คือ หมายถึง ทุกขํ อนิจจํ อนตฺตา ฉะนี้

ผู้ที่เดินตามศพนั้น แสดงว่า เป็นเจ้าของศพ และทำเป็นผู้เคารพในศพนั้นด้วย

การนำเบี้ยทิ้งลงที่เชิงตะกอนนั้น แปลว่า เป็นการซื้อที่ให้ผีผู้ตายอยู่ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าภาพงานศพไม่ได้ซื้อที่ให้ผีอยู่ในเวลาเผา เมื่อเผาแล้ว ผีไม่มีที่อยู่ ก็เที่ยวรบกวนหลอกหลอนต่าง ๆ ภายหลัง เจ้าภาพได้ซื้อที่ให้ผีแล้ว จึงไม่เที่ยวหลอกหลอนต่อไปอีก

การที่เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพนั้น เป็นปัญหาธรรมว่า สิ่งสะอาดย่อมล้างสิ่งโสโครก คือ กุศลธรรมย่อมล้างเสียซึ่งอกุศลธรรม ฉะนี้

การห้ามไม่ให้ต่อไฟกันนั้น ท่านอธิบายว่า ไฟนั้นเป็นของร้อน ถ้าต่อกันก็ติดเนือง ๆ สืบกันไป เหมือนคนผูกเวร เวรย่อมไม่สิ้นสุดลงได้ การที่ท่านไม่ให้ต่อ ก็คือ จะชี้ทางแห่งการระงับเวร การเอาผ้าโยนข้ามไฟ ๓ ครั้ง คือ แสดงถึงการข้ามของร้อน มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นมูล ต้องข้ามด้วยธรรมอันเป็นไปในทางบริสุทธิ์ คือ พระอริยมรรค อริยผล และพระนิพพาน

การชักไฟสามดุ้นนั้น คือ แสดงว่า ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน เปรียบเหมือนไฟสามดุ้นนั้น เมื่อตัดราคะ โทสะ โมหะ เสียได้แล้ว ก็จะต้องได้รับความสุข คือ ปราศจากเครื่องร้อนทั้งปวง

ความที่ว่า มาถึงบ้าน ให้ล้างหน้าและอาบน้ำนั้น เป็นการรักษาอนามัยอย่างดี ถ้ายกขึ้นสู่ปัญหาธรรม ก็คือ ให้ล้างความชั่วร้ายด้วยความดีนั่นเอง

ความข้อนี้มีอธิบายว่า การเผาศพนั้น ให้ถือดิถีที่เป็นเลขเดี่ยวเสมอไป คือ ๑, ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑, ๑๓, ๑๕, ๑๗, ๑๙, ๒๑, ๒๓, ๒๕, ๒๗, ๒๙, แต่การนับดิถีนั้น เมื่อนับถึงข้างขึ้น ๑๕ ค่ำแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นแรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ฯลฯ ไม่ตรงตามทางคำนวณ ตามทางคำนวณนั้น ข้างแรมต้องนับต่อจากข้างขึ้นไป เช่น แรม ๑ ค่ำ เป็นเลขที่ ๑๖ แรม ๒ ค่ำ เป็นเลขที่ ๑๗ ฉะนี้ เพราะฉะนั้น เลขคู่ของข้างแรม เมื่อประสมเข้ากับเลข ๑๕ ซึ่งเป็นจำนวนเลขสูงสุดของข้างขึ้นแล้ว ตัวท้ายดิถีก็เป็นเลขคี่ทั้งนั้น ดังนั้น เพื่อจะให้จำง่ายว่า วันเผาข้างแรมนั้นเป็นวิถีใดบ้าง จึงพูดเสียว่า ข้างขึ้นเผาคี่ ข้างแรมเผาคู่ ฉะนี้

ความอันนี้ยกขึ้นสู่ปัญหาธรรมว่า ความตายนั้นเป็นของฉะเพาะตนผู้เดียว จะเอาไปให้ผู้อื่นตายแทนไม่ได้ ดังใช้สำนวนพูดกันว่า มาคนเดียว ไปคนเดียว ฉะนี้

เมื่อเผาแล้ว วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า ก็จัดเครื่องสามหาบไปยังที่เผาศพ ของสามหาบนั้นก็เป็นเครื่องถวายพระ มีหม้อเข้า เชิงกราน และพริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง สาแหรกอีกข้างหนึ่งมีของคาวหวาน และจัดอย่างนี้เหมือนกันทั้งสามหาบ และจัดให้บุตร, หลาน, หรือญาติสนิทสามคนเป็นผู้หาบสามหาบคนละหาบ เดินเวียนกองฟอนคนละสามรอบ เวลาที่เดินนั้น ให้กู่กันด้วย ตามวิธีชาวป่าเรียกกันว่า วู้ ๆ ๆ คนละสามครั้ง แล้วจึงนำสามหาบนั้นไปถวายพระ

การที่ทำอย่างนี้เป็นปัญหาธรรมว่า สัตว์โลกต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภพทั้งสาม การที่กู่เรียกกันนั้น แสดงว่า จงตามมาในทางบุญกุศลเถิด

การแปรรูปนั้น ครั้งแรก ทำรูปกองกระดูกนั้นให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีร์ษะไปทางทิศตะวันตก สมมุติว่าตาย แล้วจึงนิมนต์พระมาชักบังสุกุลตาย เสร็จแล้ว ลบรูปเดิมเสีย ทำรูปขึ้นใหม่ให้เป็นรูปคนหันศีร์ษะไปทางทิศตะวันออก สมมุตติว่าเกิด บางรายเจ้าภาพเอาแก้วแหวนเงินทองโปรยลงปนกระดูก แล้วประพรมด้วยของหอมอีกทีหนึ่ง แล้วจึงนิมนต์พระมาชักบังสุกุลเป็น เมื่อเสร็จจากการบังสุกุลแล้ว ก็เก็บกระดูกไปไว้สักการะบูชาบ้าง ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์บ้าง ตามแต่ความปรารถนา เพื่อบุตรและธิดาหรือวงศ์ญาติระลึกถึง ก็จะได้ไปยังที่นั้น ได้กระทำบุญกุศลอุททิศส่วนกุศลส่งไปให้ตามความกตัญญูกตเวทีที่นิยมกระทำกันสืบ ๆ มา