วินิจฉัยนาม/ชื่อลำน้ำแม่กลอง

จาก วิกิซอร์ซ
(ก) ชื่อลำน้ำแม่กลอง

ฉันได้รับคำถามว่า เพราะเหตุใด ลำแม่น้ำที่ผ่านเมืองสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี และเมืองกาญจนบุรี จึงเรียกชื่อว่า "แม่น้ำแม่กลอง"

ตอบคำถามนี้อยู่ข้างยาก เพราะยังไม่เคยพบหลักฐานเป็นแน่นอน เมื่อฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เคยถามกรมการเก่าที่เมืองสมุทรสงคราม เขาบอกว่า แต่เดิม มีกลองขนาดใหญ่โตผิดกลองสามัญอยู่ที่วัดแห่ง ๑ ในแถวนั้น (ดูเหมือนเขาบอกชื่อวัดให้ด้วย แต่ฉันลืมไปเสียแล้ว) พวกชาวเมืองจึงเอากลองใหญ่นั้นเป็นนิมิตต์มาเรียกลำแม่น้ำนั้นว่า "แม่กลอง" แล้วเลยเรียกเมืองสมุทรสงครามว่า "เมืองแม่กลอง" ด้วย นี่เป็นอธิบายอย่าง ๑ ซึ่งเคยได้ยินมา อธิบายมีอีกอย่าง ๑ ว่า มีเมืองขึ้นของเมืองอุทัยธานีชื่อว่า "เมืองแม่กะลอง" ตั้งอยู่ยอดแม่น้ำเมืองสมุทรสงคราม อาจจะเอาชื่อเมืองแม่กะลองอันอยู่ต้นน้ำเรียกลำน้ำต่อลงมาจนปากน้ำ แต่เรียกเพี้ยนไปเป็น "แม่กลอง" ฉันเคยได้ยินอธิบายแต่ ๒ อย่างเช่นว่ามา แต่จะรับรองว่าอย่างไหนจะเป็นความจริงนั้นรับไม่ได้ ถ้าจะติบโดยย่อ ก็ตอบได้แต่ว่า "ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกชื่อลำน้ำแม่น้ำนั้นว่าแม่กลอง"  แต่จะยืนยันว่า อธิบายที่อ้างมาเป็นความเท็จทั้ง ๒ อย่าง ก็ว่าไม่ได้ ด้วยมีเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ทั้ง ๒ อย่าง จึงจะเขียนตอบแต่เป็นวินิจฉัยให้ผู้เป็นนักเรียนโบราณคดีพิจารณาดู

ข้อที่อ้างว่า ชื่อลำน้ำแม่กลองมาแต่กลองใบใหญ่นั้น เมื่อพิจารณาดูชื่อปากน้ำในอ่าวไทยชั้นในอันมี ๕ ปากน้ำด้วยกัน (ไม่นับปากน้ำบางเหี้ยนและปากน้ำบางกะปูนซึ่งเป็นแต่ปากบาง คือ คลองตัน) แต่ละปากก็มีเรื่องเป็นเค้าเงื่อนอยู่ ดังนี้

(๑) ปากน้ำบางปะกง ในหนังสือนิราสเมืองแกลงของขุนสุนทรภู่ซึ่งแต่งเมื่อปลายรัชชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร เรียกว่า "ปากน้ำบางมังกง" คำ มังกง เป็นชื่อปลาอย่าง ๑ ปากน้ำบางมังกง หมายความว่า ปากน้ำอันอยู่ใกล้กับคลองตันอันมีปลามังกงชุม

(๒) ปากน้ำเจ้าพระยา ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตอนรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กล่าวว่า พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชายกกองทัพเรือ "เข้ามาทางปากน้ำพระประแดง" เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๐๒ และมีจดหมายเหตุของราชทูตไทยที่พาคณะสงฆ์ไปเมืองลังกาในรัชชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๒๙๕ กล่าวว่า พวกราษฎรพากันลงเรือช่วยแห่พระสงฆ์ลงไปส่งถึง "ปากน้ำบางเจ้าพระยา" เหตุที่เรียกชื่อปากน้ำอันเดียวผิดกันเป็น ๒ ชื่อในระยะเวลา ๑๙๒ ปีอย่างนี้ พอจะเข้าใจได้ง่าย ด้วยเมื่อรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองพระประแดงเดิมเป็นเมืองรักษาปากน้ำ อยู่ใกล้ทะเล แต่ต่อมา ตลิ่งงอกรุกทะเลออกไปจนเมืองพระประแดงอยู่ห่างปากน้ำมากนัก จึงให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ให้ใกล้ทะเลสำหรับรักษาปากน้ำแทนเมืองพระประแดง เมืองสมุทรปราการตั้งที่ใกล้คลองตันอันชื่อว่า "บางเจ้าพระยา" จึงเรียกชื่อว่า "ปากน้ำบางเจ้าพระยา" เช่นเดียวกับเรียกปากน้ำบางมังกง (แต่เหตุใดจึงเรียกคลองตันนั้นว่า บางเจ้าพระยา นั้น ไม่ปรากฏ)

(๓) ปากน้ำท่าจีน ก็มีเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตอนรัชชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ว่า เมื่อราว พ.ศ. ๑๐๘๘ ดำรัสสั่ง "ให้ตั้งบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี" (ซึ่งมาเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า เมืองสมุทรสาคร) ความส่อให้เห็นชัดว่า คงมีหมู่บ้านพวกจีนหาปลาทะเลตั้งอยู่ที่ใกล้ปากน้ำเช่นเดียวกันกับทุกวันนี้ จึงเรียกตำบลนั้นว่า บ้านท่าจีน เมื่อตั้งเมืองแล้ว ก็เลยเรียกว่า "ปากน้ำท่าจีน" และเลยเรียกเมืองสาครบุรีว่า เมืองท่าจีน ด้วย

(๔) ปากน้ำแม่กลอง ถ้าคิดตามเค้าเรื่องชื่อปากน้ำทั้ง ๓ ซึ่งกล่าวมาแล้ว เดิมก็อาจจะมีตำบลบ้านชื่อว่า "บ้านแม่กลอง" (เพราะมีกลองใบใหญ่อย่างพวกกรมการอ้างหรืออย่างไรก็ตาม) อยู่ที่ใกล้ปากน้ำ จึงเรียกว่า "ปากน้ำแม่กลอง" ครั้นตั้งบ้านแม่กลองขึ้นเป็นเมืองสมุทรสงคราม คนก็เรียกว่า "เมืองแม่กลอง" เช่นเดียวกับเรียกเมืองสาครบุรีว่า เมืองท่าจีน

(๕) ปากน้ำบ้านแหลม เป็นปากน้ำแต่ฉะเพาะเมืองเพ็ชรบุรีเมืองเดียว ขึ้นไปจากปากน้ำไม่ไกลเท่าใดก็ถึงเมือง แต่คนเรียกกันว่า ปากน้ำบ้านแหลม เพราะตรงที่ปากน้ำแผ่นดินทางข้างฝั่งตะวันออกงอกยื่นเป็นแหลมยาวออกไปในทะเล มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่ เรียกว่า "บ้านแหลม" จึงเรียกชื่อปากน้ำตามชื่อตำบลบ้านนั้น

พิเคราะห์ชื่อปากน้ำท้ง ๕ ที่กล่าวมา ดูเป็นเอาชื่อตำบลอันอยู่ใกล้ปากน้ำมาเรียกชื่อลำแม่น้ำทั้งนั้น คิดพิเคราะห์ต่อไปเห็นว่า จะมิใช่คนอยู่ในท้องถิ่นนั้นเองตั้งชื่อเรียกปากน้ำต่าง ๆ คงเรียกกันแต่ว่า "ปากน้ำ" เพราะมีปากน้ำแห่งเดียวในถิ่นนั้น ชื่อคงเกิดแต่คนอยู่ถิ่นอื่นเรียก เปรียบดังเช่นชาวเมืองจันทบุรีหรือเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาค้าขายทางเมืองข้างเหนือ จะต้องบอกกันให้รู้ว่า จะแล่นเรือเข้าทางปากน้ำไหน หรือมิฉะนั้น ก็เป็นชาวราชธานี เช่น ผู้แต่งหนังสือพงศาวดาร จึงเอาชื่อตำบลที่อยู่ปากน้ำ เช่น บางมังกง บางเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบ้านแหลม เติมเข้าให้รู้ว่าปากน้ำไหน การที่เอาชื่อปากน้ำมาเรียกเป็นชื่อลำแม่น้ำตลอดสายดังเช่นเรียกลำน้ำที่ตั้งกรุงเทพฯ ว่า "แม่น้ำเจ้าพระยา" ก็ดี เรียกแม่น่ำที่ตั้งเมืองสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี และเมืองกาญจนบุรี ว่า "แม่น้ำแม่กลอง" ก็ดี ดูเป็นการบัญญัติใหม่เมื่อทำแผนที่ หาได้เรียกกันมาแต่เดิมอย่างนั้นไม่ แม้จนปัจจุบันนี้ คนอยู่ริมแม่น้ำไหนที่ตนอยู่ ก็เรียกแต่ว่า "แม่น้ำ" หาใช้ชื่อประกอบอย่างว่ามานั้นไม่

แต่จะว่าประเพณีไทยไม่มีที่จะเรียกลำแม่น้ำเป็นชื่อเดียวกันแต่ต้นจากปากน้ำก็ว่าไม่ได้ เพราะมี "แม่น้ำโขง" "แม่น้ำคง" (พะม่าเรียกว่า แม่น้ำสะละวิน) "แม่น้ำพิง" "แม่น้ำสัก" และ "แม่น้ำน่าน" ห้าสายนี้ เรียกชื่อเดียวแต่ยอดลำน้ำลงมา ลำแม่น้ำแม่กลองอาจจะมา่แต่ชื่อลำน้ำแม่กะลองด้วยประการฉะนี้

เพราะเหตุใดจึงเรียกชื่อลำแม่น้ำบางสายตามชื่อตำบลที่ปากน้ำ และเหตุใดจึงเรียกชื่อแม่น้ำบางสายชื่อเดียวตลอดลงมาแต่ยอดน้ำ ข้อนี้มีเค้าเงื่อนที่จะคิดวินิจฉัย ด้วยสังเกตดูแม่น้ำที่เรียกชื่อเดียวแต่ยอดน้ำลงมา ล้วนเป็นลำน้ำที่ไหลลงมาในระหว่างเทือกภูเขา เช่น แม่น้ำสักไหลลงมาแต่แดนเมืองหล่มในระหว่างเทือกภูเขานครราชสีมาฝ่าย ๑ เทือกภูเขาพระพุทธบาทฝ่าย ๑ แม่น้ำพิงก็ไหลผ่านเทือกภูเขาเชียงใหม่ลงมา แม่น้ำน่านและแม่น้ำแม่กะลอง แม่น้ำโขง แม่น้ำคง (สะละวิน) ก็เช่นนั้น แต่ประหลาดที่บรรดาลำน้ำอันอยู่ในแอ่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เรียกชื่อเดิมของแม่น้ำนั้น ๆ จนถึงทะเลสักสายเดียว เป็นต้นว่า แม่น้ำสัก ก็เรียกชื่อลงมาเพียงนครศรีอยุธยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำพิง ก็เรียกชื่อลงมาเพียงปากน้ำโพ แม่น้ำแม่กลอง (ถ้าหากมาแต่ชื่อแม่กะลอง) จะเรียกชื่อเดิมลงมาถึงไหนไม่ทราบ แม่น้ำท่าจีนนั้น เดิมจะเรียกว่ากระไรไม่ทราบ พึงสังเกตอีกอย่าง ๑ ว่า แผ่นดินแอ่งลำแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ทางฝ่ายตะวันตกพ้นเทือกภูเขาพระพุทธบาทมา ไม่มีเทือกภูเขากั้น เป็นพื้นราบไปจนเทือกภูเขาปันแดนพะม่า ในที่ราบนั้นมีแนวลำน้ำเก่าและบึงต่าง ๆ ส่อให้เห็นว่า เมื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จะเป็นทะเลขึ้นไปจนถึงมณฑลพิษณุโลก น่าจะเป็นเหตุด้วยภูเขาหลวงที่เมืองสุโขทัยเมื่อยังเป็นภูเขาไฟอยู่สักสี่ห้าพันปีมาแล้วระเบิดขนานใหญ่เมื่อก่อนไฟจะดับ แผ่นดินไหว ทำให้พื้นดินในมณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ ตลอดจนมณฑลนครชัยศรี แลมณฑลราชบุรีข้างตอนเหนือ สูงขึ้น รุกชายทะเลให้ถอยลงมาข้างใต้ และบางแห่งแผ่นดินเกิดเป็นคันกั้นน้ำ จนท้องทะเลเดิมกลายเป็นบึงใหญ่ต่าง ๆ เช่น บึงบรเพ็ด เป็นต้น มีระกะไปทั้งในมณฑลพิษณุโลกและมณฑลนครสวรรค์ เมื่อพื้นดินสูงขึ้น น้ำฝนที่ตกและที่ไหลลงมาจากภูเขาก็กัดดินเป็นร่องไหลลงสู่ทะเลซึ่งอยู่ห่างออกไป จึงเกิดลำแม่น้ำเล็ก ๆ ขึ้นก่อน แล้วสายน้ำกัดตลิ่งให้ลำน้ำบางสายกว้างขึ้น และปิดลำน้ำบางสายให้ตื้นเขินเพราะน้ำไปเดินเสียทางอื่น เพราะฉะนั้น ว่าตามที่ได้สังเกตมาในแขวงมณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ แม้ที่สุดจนในมณฑลอยุธยา จึงมีลำน้ำร้างที่ไม่เป็นทางสัญจรปรากฏอยู่มากมายหลายแห่งจนบัดนี้ มีชื่อแต่คนเรียกกันในท้องถิ่น แผ่นดินก็ยังงอกรุกชายทะเลและสายน้ำเดินเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงในสมัยประวัติศาสตร์ จะยกตัวอย่างดังเช่นลำ "แม่น้ำจักรสีห์" ซึ่งตั้งเมืองสิงห์บุรี เดิมก็เป็นแม่น้ำใหญ่ แต่ตื้นขาดเป็นห้วงเป็นตอนเสียแล้ว พวกลำน้ำที่เปลี่ยนแปลงจึงมีชื่ออยู่เพียงชั่วคราว พอตื้นเขินแล้วก็เรียกชื่อแต่ตอนที่ยังมีน้ำ เรียกตามชื่อตำบลบ้านที่ตั้งอยู่ตรงห้วงน้ำนั้น ลำแม่น้ำที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยแผ่นดินรุกทะเลออกไปก็ไม่คงที่เหมือนกัน จึงเอาชื่อตำบลบ้านที่ปากน้ำเรียกเป็นชื่อลำน้ำ เช่น ปากน้ำแม่กลอง ถ้าหากเดิมชื่อว่า แม่กะลอง ปากน้ำก็จะอยู่ราวเมืองราชบุรี ที่ว่ามานี้โดยเดาทั้งนั้น