ข้ามไปเนื้อหา

สนทนากับผู้ร้ายปล้น (หนังสืองานศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ)

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ สนทนากับผู้ร้ายปล้น
ตราของหอพระสมุดวชิรญาณ
ตราของหอพระสมุดวชิรญาณ
เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง
พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ
พระตำรวจตรี พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์)
ทม, ตวจ, ตช, ฯลฯ
เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

คำนำ

คุณหญิงกลิ่นอภิชิตชาญยุทธกับบุตรผู้เปนเจ้าภาพการศพพระตำรวจตรี พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์) ทม, ตจว, ตช, ฯ ให้มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า มีศรัทธาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกเนื่องในทักษิณานุปทานซึ่งบำเพ็ญเมื่อพระราชทานเพลิงศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ ขอให้กรรมการหอพระสมุดฯ ช่วยเลือกเรื่องหนังสือและจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์

เมื่อข้าพเจ้าเลือกเรื่องหนังสือ ระลึกถึงความที่ได้คุ้นเคยชอบพอกับพระยาอภิชิตฯ มาช้านานตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเปนเด็กพอจำความได้ พระยาอภิชิตฯ ยังเปนมหาดเล็กวิเศษอยู่ในรัชกาลที่ ๔ ได้เคยอุ้มชูมาแต่ครั้งนั้น ครั้นเติบใหญ่ขึ้น เมื่อมีตำแหน่งราชการในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ชอบพอกันสนิธสนมมาจนตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อพระยาอภิชิตฯ แก่ชรา ไม่ได้รับราชการประจำแล้ว ข้าพเจ้าแต่งหนังสือเรื่องใดซึ่งจะต้องกล่าวถึงเรื่องราวครั้งรัชกาลที่ ๔ และตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถทราบได้เอง เชิญพระยาอภิชิตฯ มาไต่ถามการนั้น ๆ ก็อุส่าห์มายังหอพระสมุดฯ โดยเต็มใจ ไม่เคยขัด แม้จนเมื่อมีอาการป่วยทุพลภาพไม่สามารถจะมาได้เองแล้ว จดหมายไปถาม ก็ยังเอาเปนธุระขวนขวายชี้แจงให้เปนประโยชน์แก่หอพระสมุดฯ จนตลอดอายุของพระยาอภิชิตฯ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เปนผู้หนึ่งซึ่งได้มีคุณแก่ตัวข้าพเจ้า และหอพระสมุดฯ ถึงเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ทรงพระเมตตาโปรดพระยาอภิชิตฯ เพราะเหตุที่ได้ทรงคุ้นเคยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงพระเมตตามาจนตลอดอายุของพระยาอภิชิตฯ ก็มีหลายพระองค์ด้วยกัน เรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกในงารศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ ข้าพเจ้าคิดจะหาให้ถูกอัธยาศัยของผู้มรณภาพ นึกได้ถึงหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าแต่งไว้เองแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เรียกว่า "เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น" หนังสือเรื่องนี้ยังใช้เปนตำราในโรงเรือนการปกครองอยู่บัดนี้ เคยพิมพ์แล้วหลายครั้งก็จริง แต่พิมพ์รวมกับตำราเรื่องอื่น เห็นจะเคยอ่านแต่ผู้ที่เปนนักเรียนในโรงเรียนการปกครองเปนพื้น จึงคิดว่า ถ้าแยกเอาออกมาเปนเรื่องหนึ่งต่างหาก พิมพ์แจกในงารนี้ ก็เห็นจะถูกอัธยาศัยพระยาอภิชิตชาญยุทธ เพราะพระยาอภิชิตฯ เคยเปนข้าหลวงชำระความโจรผู้ร้ายเมื่อรัชกาลที่ ๕ หลายคราว นับว่า เปนผู้ชำนาญการชำระโจรผู้ร้ายคนหนึ่ง และหนังสือเรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นนั้น ถึงใคร ๆ อ่านก็เห็นจะมีประโยชน์ในทางความรู้อยู่บ้างมิมากก็น้อย เชื่อว่า คงจะพอใจแก่ผู้ที่จะได้รับไปอ่านโดยมาก ข้าพเจ้าจึงให้พิมพ์ "เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น" เปนหนังสือแจกในงารศพพระยาอภิชิตชาญยุทธ

ประวัติพระยาอภิชิตชาญยุทธ

พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ) เปนบุตรพระยามหานิเวศนานุรักษ์ (เผือก เศวตนันทน์) เกิดที่บ้านบิดา ตำบลคลองมอญ จังหวัดธนบุรี ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ คุณหญิงบุนนาค เศวตนันทน์ เปนมารดา เมื่อยังเยาว์ ได้เล่าเรียนอักขรสมัยที่วัดพระยาธรรมในสำนักพระนิกรมมุนี (เบญจวรรณ) ซึ่งเปนบุตรเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ต้นสกุลรัตนกุล เมื่อบิดาทำการมงคลตัดจุกในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานทองคำหนัก ๔ บาทกับเงินตรา ๕ ตำลึงเปนของขวัญ นับว่า เปนเกียรติยศเริ่มแรกซึ่งพระยาอภิชิตชาญยุทธได้รับพระราชทาน เหตุด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระยามหานิเวศฯ ผู้บิดา ได้เปนตำแหน่งเจ้ากรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคุ้นเคยและทรงพระเมตตามาแต่ยังทรงผนวช ครั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ จึงโปรดฯ ให้เข้ารับราชการ ได้เปนตำแหน่งพระยาอัพภันตริกามาตย์อยู่ในกรมสนมพลเรือน จึงทรงพระกรุณาฯ ตลอดไปถึงบุตร เมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธโกนจุกและบวชเปนสามเณรอยู่ที่วัดพระยาธรรมตามประเพณีการศึกษาในสมัยนั้นแล้ว บิดานำถวายตัว ได้เปนมหาดเล็กวิเศษอยู่ในเวรศักดิ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๔

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ พระยาอภิชิตชาญยุทธอายุได้ ๑๘ ปี ปรากฎว่า เปนมหาดเล็กคนหนึ่งซึ่งคล่องแคล่วฉลาดเฉลียว (เปนอนุชาตวุฒิสืบมาแต่บิดา) ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนตำแหน่งมหาดเล็กรายงาร แล้วได้เลื่อนเปนมหาดเล็กกำกับศาลกระทรวงวัง ศาลกระทรวงเมือง และศาลต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ชำระความในสมัยนั้น ตำแหน่งมหาดเล็กกำกับศาลมีหน้าที่สำหรับเร่งรัดถ้อยความและทำรายงารการศาลนั้น ๆ ขึ้นกราบบังคมทูลฯ พระยาอภิชิตชาญยุทธรับราชการในตำแหน่งนั้นมีบำเหน็จความชอบ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเปนครั้งแรก เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้บวชอยู่ในวัดเครือวัลย์ พระเขมาภิมุขธรรม (สี) เปนพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (เหมือน) กับพระเทพกวี (นิ่ม) เปนพระกรรมวาจา บวชอยู่พรรษาหนึ่งแล้วลาสิกขากลับมารับราชการตามเดิม

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบันดาศักดิ์เปนที่จ่าชำนาญทั่วด้าวในกรมพระตำรวจ ในสมัยนั้น หน้าที่ตำรวจมีหลายอย่างนอกจากรักษาพระองค์ เช่น แห่นำตามเสด็จ ยังมีหน้าที่ซึ่งต้องทำเปนราชการต่าง ๆ เช่น ตรวจราชการ และชำระความรับสั่ง ตลอดจนถึงทำการโยธา ว่าโดยย่อ ในบรดาการซึ่งมีพระราชประสงค์จะให้สำเร็จรวดเร็วทันพระราชหฤทัย มักทรงใช้ตำรวจให้ทำการนั้น ๆ ตั้งแต่พระยาอภิชิตชาญยุทธได้เปนตำแหน่งจ่าชำนาญทั่วด้าว แม้ได้เลื่อนยศบันดาศักดิ์ต่อมา ก็อยู่แต่ในกรมพระตำรวจ รับราชการเปนตำรวจมาตลอดเวลา ๔๓ ปี ได้เคยรับราชการต่าง ๆ บรรดามีในหน้าที่ตำรวจแทบทุกอย่าง ตัวได้จดรายการไว้ในหัวข้อเรื่องประวัติว่า เมื่อเปนจ่าชำนาญทั่วด้าว ได้เปนพนักงารตรวจทุ่นลอยพระประทีปอย่าง ๑ ได้เปนพนักงารตรวจจับคนเล่นการพนันที่ต้องห้ามอย่าง ๑ ได้เปนพนักงารเร่งความอำเภอที่ค้างชำระอย่าง ๑ และได้เปนนายด้านทำการปฏิสังขรณ์วิหารพระโลกนาถที่วัดพระเชตุพนอย่าง ๑

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนจมื่นทิพเสนา แล้วโปรดให้เปนข้าหลวงออกไประงับอั้งยี่และชำระผู้ร้ายที่จังหวัดพระตะบองและเสียมราษฐ ครั้ง ๑ เมื่อกลับเข้ามา ได้เปนตุลาการชำระความผู้ร้ายลักฆ่ากระบือไม่มีตั๋วรูปพรรณ ครั้ง ๑ ได้ชำระความค้างในกระทรวงนครบาล ครั้ง ๑ ได้ชำระความโจรผู้ร้ายจังหวัดธนบุรีแทนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) เมื่อยังเปนที่พระสุริยภักดี ซึ่งขึ้นไปทัพฮ่อ ครั้ง ๑ และได้ชำระความอาญาอุกฉกรรจ์ซึ่งเปนความรับสั่งหลายเรื่อง

มีเรื่องที่พระยาอภิชิตชาญยุทธจดไว้ในหัวข้อเรื่องประวัติเปนเรื่องขบขันอยู่เรื่อง ๑ ซึ่งข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้ได้เห็นเอง และรับเปนพยานในการที่กล่าว ว่า ครั้งหนึ่ง เสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังบางปอิน มีฝรั่งเล่นกลคนหนึ่งเข้ามาขอเล่นกลถวายทอดพระเนตร จึงโปรดฯ ให้ขึ้นไปเล่นที่พระที่นั่งวโรภาสพิมาน (องค์เก่า) ชั้นต่ำ เมื่อเล่นกลอย่างอื่นแล้ว ถึงที่สุดฝรั่งคนนั้นท้าว่า ให้ใครเอาเชือกมัดตัวตรึงไว้กับเก้าอี้ จะแก้ออกให้ได้โดยเร็วพลัน มีรับสั่งถามทางตำรวจว่า ใครจะรับอาสามัดบ้าง พระยาอภิชิตชาญยุทธ ยังเปนจมื่นทิพเสนา อาสาขึ้นไปมัด จะมัดอย่างไรไม่ทราบ เห็นเมื่อขณะกำลังมัดอยู่ ฝรั่งตั้งท่าจะไม่ยอมให้มัดครั้ง ๑ แล้วกลับยอม ครั้นมัดเสร็จแล้ว ฝรั่งให้เอาม่านบัง พยายามแก้อยู่ช้านาน เสียงดังกึกกักกึงกัง ดูเหมือนจะถึงดิ้นรนทำอย่างไร ๆ ก็แก้ไม่หลุดได้ ลงปลายเรียกให้เอามีดเข้าไปตัดเชือก เปนอันยอมแพ้ ในเวลาเมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งจมื่นทิพเสนา ได้รับแต่งโคลงเรื่องรามเกียรติ์ที่จารึกวัดพระศรีรัตนศาสดารามตอน ๑ และได้เปนข้าหลวงขึ้นไปกะการทำพลับพลาเสด็จประพาสจังหวัดอ่างทองและลพบุรีครั้ง ๑ ในตอนนี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๕

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนพระอินทราภิบาล แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงขึ้นไปสืบราชการเรื่องทัพฮ่อที่เมืองหลวงพระบางแลจัดการปลูกยุ้งฉางเตรียมเสบียงไว้รับกองทัพ แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงอยู่ประจำเมืองหลวงพระบางในเวลาเมื่อพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้านครหลวงพระบาง ลงมาเฝ้าฯ ยังกรุงเทพฯ ครั้นกลับมาจากราชการคราวนี้ ได้รับราชการเปนนายกองตรวจจับผู้ร้ายในลำน้ำเจ้าพระยากอง ๑ และได้เปนตุลาการชำระอั้งยี่ที่กรมยุทธนาธิการจับกอง ๑ นอกจากนั้น ได้เปนข้าหลวงผูกปี้จีนจังหวัดสมุทปราการ จังหวัดพระประแดง จังหวัดปราจิณบุรี และจังหวัดนครนายก เห็นจะเปนเพราะความคุ้นเคยท้องที่ ๆ ได้ออกไปรับราชการครั้งผูกปี้จีน ต่อมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้ชำระเสนาที่ปิดบังเงินค่านาจังหวัดปราจิณบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดฉะเชิงเทรา และโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงออกไปรักษาราชการจังหวัดนครนายกอยู่ครั้งหนึ่งถึง ๒ ปี แล้วจึงกลับเข้ามารับราชการในกรมพระตำรวจตามเดิม ได้เปนนายด้านทำงารพระเมรุที่วัดราชบพิธครั้ง ๑ ที่วัดเทพศิรินทราวาสครั้ง ๑ ที่ท้องสนามหลวง ๓ ครั้ง ในเวลาพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งพระอินทราภิบาล ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๔

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนพระอินทรเดช แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงขึ้นไปชำระโจรผู้ร้ายในแขวงจังหวัดอ่างทอง จังหวัดพรหมบุรี จังหวัดอินทรบุรี จังหวัดไชยนาท พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี ในระหว่างนั้น ได้เปนนายด้านทำเขาไกลาสงารพระราชพิธีโสกันต์ที่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ในเวลาพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งพระอินทรเดชนั้น ได้รับพระราชทานเครื่องยศโต๊ะกาทองคำ และเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๓ มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๓ กับเหรียญจักรมาลา

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนพระยาพิเรนทรเทพและเปนองคมนตรี แล้วโปรดฯ ให้เปนข้าหลวงกลับขึ้นไปชำระโจรผู้ร้ายในหัวเมืองตามเดิม จนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้ว จึงกลับมารับราชการดังเก่า ได้เปนกรรมการชำระความเรื่องฉ้อเงินค่าธรรมเนียมที่กระทรวงกลาโหม ครั้ง ๑ ได้เปนกรรมการศาลรับสั่งพิเศษกองที่ ๓ ชำระความค้างเก่าที่ศาลสถิตยุติธรรม ครั้ง ๑ ได้ชำระความอั้งยี่ที่กระทรวงนครบาล ครั้ง ๑ ได้เปนกรรมการตรวจพินัยกรรมเจ้าพระยารัตนบดินทร ครั้ง ๑ และได้เปนกรรมการไต่สวนเรื่องไฟไหม้ที่โรงกระษาปณ์ในพระบรมมหาราชวัง ครั้ง ๑ และได้เปนนายด้านทำพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วย เมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแน่งพระยาพิเรนทรเทพ ได้รับพระราชทานเหรียญราชินีและเหรียญปราบฮ่อ และเมื่อพระยามหานิเวศฯ ผู้บิดา ถึงอนิจกรรม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าสืบตระกูลบิดาด้วย

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิเปนพระยามนตรี ในตอนนี้ ได้เปนนายด้านทำพระเมรุท้องสนามหลวง และทำโรงงารพระราชพิธีทวีธาภิเษก แล้วเปนนายด้านทำพระเมรุที่สวนมิสกวัน ได้เปนตำแหน่งมรรคนายก วัดชิโนรสาราม และวัดรวก จังหวัดพระประแดง และเปนกรรมการกิฬาในงารพระราชพิธีรัชมงคลที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อพระยาอภิชิตชาญยุทธเปนตำแหน่งพระยามหามนตรี ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕ และเข็มพระชนมายุสมมงคล นอกจากนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกในงารพระราชพิธีทุกคราวมา

ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิ์เปนพระยาอภิชิตชาญยุทธ ตำแหน่งจางวางพระตำรวจ มียศเปนพระตำรวจตรี และเปนองคมนตรีด้วย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๒ และตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญราชรุจิทอง เปนบำเหน็จในตอนนี้

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระยาอภิชิตชาญยุทธอายุได้ ๖๗ ปี เกิดอาการทุพลภาพ เห็นว่า ไม่สามารถจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามตำแหน่งได้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการประจำ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญให้เลี้ยงชีพต่อมาจนตลอดอายุ

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ พระยาอภิชิตชาญยุทธป่วยเปนโรคชรา อาการซุดลงโดยลำดับจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ คำนวณอายุได้ ๗๓ ปี

พระยาอภิชิตชาญยุทธมีบุตรได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในเวลานี้ ๔ คน คือ

ขุนตำรวจเอก พระอภัยบริบาล (ประเสริฐ เศวตนันทน์) รับราชการเปนปลัดจังหวัดกำแพงเพ็ชร์ คน ๑

รองอำมาตย์โท ขุนพิพัฒน์นันทภูมิ (เชษฐ์ เศวตนันทน์) รับราชการเปนนายอำเภอจังหวัดลำปาง คน ๑

นายเรือเอก ขุนแสงสรสิทธิ์ (เล็ก เศวตนันทน์) รับราชการในกรมสรรพาวุธทหารเรือ คน ๑

จ่า นายจ่ายวด (เฉลิม เศวตนันทน์) รับราชการในกรมมหาดเล็กรับใช้ แพนกกองตั้งเครื่อง คน ๑

สิ้นเรื่องประวัติพระยาอภิชิตชาญยุทธเพียงเท่านี้

กรรมการหอพระสมุดฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุประทานซึ่งคุณหญิงกลิ่นแลบุตรได้จัดการบำเพ็ญกุศลปลงศพสนองคุณพระตำรวจตรี พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์) ด้วยความกตัญญูกตเวทิตาคุณ ทั้งได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย หวังว่า ผู้ที่ได้รับสมุดนี้ไปจะพอใจอนุโมทนาทั่วกัน

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘

เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น

อธิบาย

มีผู้ร้ายพวกหนึ่งสมคบกันเที่ยวทำโจรกรรมในแขวงเมืองปทุมธานี กรุงเก่า สุพรรณบุรี และหัวเมืองอื่นที่ใกล้เคียง มาเนือง ๆ ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ผู้ร้ายพวกนี้ปล้นไล่ฝูงกระบือในแขวงปทุมธานีแล้วไปปล้นที่เมืองสุพรรณอีก เจ้าพนักงารช่วยกันสืบเสาะติดตามจับได้ ถูกที่เปนผู้ร้ายนายซ่องสำคัญหลายคน ส่งไปพิจารณาที่มณฑลนครไชยศรี ผู้ร้ายพวกนี้ให้การรับสารภาพตามสัตย์จริง ครั้นเมื่อเสร็จการพิจารณาแล้ว มีผู้ได้ลองไต่ถามถึงวิธีของโจรผู้ร้าย ได้ความตามคำซึ่งพวกผู้ร้ายเหล่านั้นเล่าให้ฟัง เห็นเปนเรื่องน่ารู้ จึงได้จดลงเปนคำสนทนาพิมพ์ไว้ให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่สืบจับโจรผู้ร้ายอ่านทราบวิธีของโจรผู้ร้ายไว้ประกอบกับความคิด แต่ผู้ร้ายพวกอื่นทางอื่นจะมีวิธีอย่างเดียวกันดังนี้หรือประการใด ถ้าท่านผู้ใดอยากจะทราบ ก็ขอให้คิดอ่านสอบสวนพิเคราะห์ดูตามควรเถิด

ถามว่า ที่ผู้ร้ายจะเริ่มคิดการปล้นสดมภ์ที่แห่งใดนั้น อาศรัยอย่างใดเปนเหตุก่อน จึงไปทำการปล้นสดมภ์

ตอบว่า ในการที่จะปล้นแห่งใด จะปล้นเรือนก็ดี หรือจะปล้นโคกระบือก็ดี ผู้อยู่บ้านใกล้เจ้าทรัพย์เปนผู้คิดอ่านก่อน แล้วจึงเปนสายมาชักชวนผู้ร้ายอื่นเข้าพวกกันไปปล้น

ถามว่า คนชนิดไรที่เปนสายเช่นนี้

ตอบว่า คนที่เปนนักเลงอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกับเจ้าทรัพย์ ไม่ใช่คนอยู่ไกล และไม่ใช่คนจร

ถามว่า ที่เรียกว่า นักเลง นั้น ผิดกับผู้ร้ายอย่างไร

ตอบว่า พวกผู้ร้ายไม่เรียกกันเองว่า ผู้ร้าย เรียกกันเองว่า นักเลง คนที่เรียกกันว่า นักเลง เปนอันเข้าใจกันว่า เปนคนเข้าใจการปล้นสดมภ์ หรือมิฉนั้น ก็เปนคนลักโคกระบือ หรือเปนผู้รู้เห็นเปนใจกันช่วยรับซื้อโคกระบือที่ปล้นลักไป เปนต้น จึงเรียกกันว่า นักเลง เปนเข้าใจกันว่า เปนคนชนิดนี้ทั้งนั้น

ถามว่า พวกผู้ร้ายที่ล้วงลักย่องเบาอยู่ในพวกที่เรียกว่า นักเลง เหมือนกันหรือ

ตอบว่า คนชนิดนั้นนับเปนคนละพวกกับพวกนักเลง เพราะความพอใจผิดกัน พวกล้วงลักมักหากินคนเดียว คอยด้อมมองล้วงลักเข้าของเขาไปตามแต่จะได้ ไม่พอใจจะทำการที่กล้าหาญ และไม่คบพวกมาก ส่วนพวกนักเลงนั้นหากินในเชิงคบพวกพ้องมาก จึงไม่ถือว่า พวกล้วงลักเปนพวกเดียวกัน

ถามว่า ผู้ร้ายที่เอาปืนเที่ยวลอบยิงเขาตายนั้นอยู่ในพวกนักเลงหรือมิใช่

ตอบว่า พวกนักเลงไม่ประพฤติในการลอบยิงคนเช่นนั้น ยิงก็ยิงแต่คนรับสินบล ถ้ารู้ว่า ใครรับสินบลจับตน บางทีก็ยิงเสีย แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่ยิงก็มักจะเปนแต่นักเลงที่เปนคนตัวคนเดียว นักเลงที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนไม่ใคร่ทำ

ถามว่า การปล้นสดมภ์ ถ้าไม่มีคนอยู่ใกล้เปนสาย จะปล้นสดมภ์ได้หรือไม่

ตอบว่า ถ้าไม่มีสาย ปล้นไม่ได้ จำเปนต้องมีสายทุกราย

ถามว่า ทำไมจึงต้องมีสาย

ตอบว่า การที่จะปล้น ผู้ร้ายจะต้องรู้การให้แน่นอนก่อนหลายอย่าง จึงจะปล้นได้ คือว่า:–

(๑)ที่ไหนมีทรัพย์

(๒)เจ้าทรัพย์มีกำลังผู้คนและปืนที่จะต่อสู้ป้องกันได้เพียงใด

(๓)เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมีปืนและกำลังที่จะช่วยต่อสู้สักเพียงใด

(๔)ทางที่จะเข้าออกถึงที่ไว้ทรัพย์เปนอย่างไร

(๕)วันใดจะเปนโอกาศที่จะปล้นได้ กล่าวคือ ในเวลาที่เจ้าทรัพย์เผลอ หรือไม่มีกำลังผู้คนอยู่ช่วยป้องกัน เปนต้น

ผู้เปนสายต้องสืบสวนให้ทราบความเหล่านี้ก่อน แล้วจึงจะมาชวนพวกผู้ร้ายไปปล้นได้

ถามว่า ทำไมผู้เปนสายจึงสืบรู้ได้

ตอบว่า ผู้เปนสายเปนผู้อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงในหมู่บ้านเดียวหรือในตำบลเดียวกับเจ้าทรัพย์ มักเคยไปมาหากันอยู่ ย่อมทราบได้ไม่ยาก แต่บางทีก็มีผู้อื่นที่อยู่ในบ้านเดียวกับเจ้าทรัพย์ เช่น บ่าวไพร่ซึ่งอยากได้เงิน หรือญาติของเจ้าทรัพย์ที่มีอริวิวาทกับเจ้าทรัพย์ เช่น ไปขอกู้เงิน เจ้าทรัพย์ไม่ให้ จึงขัดใจ เปนต้น คนเหล่านี้เอาความข้อที่ว่า บ้านนั้นมีทรัพย์เท่านั้น ๆ มาบอกแก่ผู้เปนสายก็มี

ถามว่า เมื่อผู้เปนสายเห็นควรจะปล้นที่ใด ไปเที่ยวชักชวนพวกผู้ร้ายอย่างไร

ตอบว่า ผู้เปนสายย่อมไปบอกแก่นักเลงโต คือ ที่เปนหัวหน้านักเลงในถิ่นนั้นก่อน

๑๐ถามว่า ผู้เปนสายทำไมจึงจะรู้ได้ว่า ผู้ใดเปนหัวหน้านักเลง

ตอบว่า ในพวกนักเลงด้วยกันย่อมรู้อยู่ด้วยกันดีว่า ผู้ใดเปนนักเลงบ้าง ในพวกนักเลงด้วยกัน ถ้าได้คุ้นเคยเปนเพื่อนสาบาลกันแล้ว ไม่มีความซ่อนเร้นปิดบังอันใดกัน แม้ว่านักเลงคนหนึ่งได้ไปทำการปล้นสดมภ์อย่างใด เพื่อนนักเลงที่ไม่ได้ไปด้วยมาไต่ถาม ก็เล่าให้ฟังไม่ปิดบัง

๑๑ถามว่า ผู้ที่เปนนักเลงทำไมจึงรู้ว่า คนอื่นคนใดเปนนักเลง

ตอบว่า นักเลงย่อมหากินในทางที่ต้องมีพรรคพวกด้วยกันทุกคน ถ้าใครยิ่งมีเพื่อนฝูงมาก ทำการโจรกรรมได้คล่องแคล่วกว้างขวางออกไป ก็ยิ่งเปนนักเลงโต เพราะฉนั้น บรรดานักเลงย่อมเปนธรรมดาที่จะขวนขวายหาเพื่อนนักเลงด้วยกันอยู่เสมอ จึงรู้จักกันมาก

๑๒ถามว่า นักเลงอย่างใดที่เปนหัวหน้า และอย่างไดที่ไม่เปนหัวหน้า

ตอบว่า นักเลงคนใดที่มีพวกมาก ก็เปนหัวหน้าอยู่ในถิ่นนั้น นักเลงที่มีพวกน้อย อยู่ในถิ่นเดียวกันหัวหน้า ก็ต้องอยู่ในถ้อยคำของหัวหน้าถิ่นนั้น

๑๓ถามว่า ทำไมนักเลงที่มีพวกน้อยต้องอยู่ในถ้อยคำของหัวหน้า จะเปนนักเลงอยู่เฉย ๆ ไม่ยอมอยู่ในถ้อยคำกันไม่ได้หรือ

ตอบว่า ไม่ได้ ถ้านักเลงที่มีพวกน้อยไม่ยอมอยู่ในถ้อยคำหัวหน้าในถิ่นเดียวกัน หัวหน้าก็ให้พวกพ้องข่มเหงทำอันตรายต่าง ๆ เพราะฉนั้น ผู้เปนหัวหน้าย่อมมีอำนาจที่จะเรียกนักเลงผู้น้อยให้ไปปล้นสดมภ์ที่ใด หรือจะห้ามไม่ให้ทำร้ายที่ใด ก็ห้ามได้เหมือนกัน

๑๔ถามว่า ที่เรียกว่า ถิ่นหนึ่ง ๆ นั้น กำหนดด้วยอย่างไร

ตอบว่า ไม่มีอันใดเปนประมาณ ยกตัวอย่างดังเกาะใหญ่ นับว่า ถิ่นหนึ่ง มีหัวหน้าคนหนึ่ง เชียงรากน้อยอีกถิ่นหนึ่ง คลองสิงหนาทอีกถิ่นหนึ่ง คลองสะอีกถิ่นหนึ่ง ดังนี้เปนตัวอย่าง

๑๕ถามว่า เปนดังนี้ทั่วไปหรือ

ตอบว่า คนเปนนักเลงคงมีอยู่ทุกแห่ง ผิดกันแต่แห่งละมากบ้างน้อยบ้าง มีนักเลงแล้วก็คงมีหัวหน้า เพราะการปล้นสดมภ์ต้องมีพวก จึงต้องมีหัวหน้าผู้นัดแนะ

๑๖ถามว่า นักเลงนั้นเกิดแต่คนจำพวกใด

ตอบว่า นักเลงเกิดแต่คน ๓ จำพวกนี้ คือ คนที่ประพฤติสูบฝิ่นกินสุราจำพวกหนึ่ง คนเล่นเบี้ยจำพวกหนึ่ง คนอยู่ในที่เปลี่ยวถิ่นนักเลงจำพวกหนึ่ง

๑๗ถามว่า คน ๓ จำพวกนี้ที่เปนนักเลงเพราะเหตุไร

ตอบว่า คนสูบฝิ่นกินสุรานั้นย่อมไปเที่ยวสูบฝิ่นกินสุราตามโรงฝิ่นโรงสุรา สูบฝิ่นกินสุราร่วมกับคนที่เปนนักเลงอยู่แล้วเนือง ๆ เมื่อพบปะคุ้นเคยกันในเวลามึนเมาด้วยกันบ่อย ๆ เข้า ก็เลยชอบพอเปนเพื่อนสาบาลให้พวกนักเลงชักพาไปจนกลายเปนนักเลงไปด้วย

คนเล่นเบี้ยนั้น เพราะเล่นเบี้ยเสียทรัพย์แล้วยังไม่รู้สิ้นความอยาก จึงหันลงไปเปนนักเลงโดยประสงค์จะหาทรัพย์มาเล่นเบี้ย

คนอยู่ในที่เปลี่ยวถิ่นนักเลงนั้น ดังเช่นคนที่ออกไปตั้งทำไร่นาอยู่ในที่เปลี่ยว ถูกผู้ร้ายรบกวนรังแกต่าง ๆ ทนไม่ไหว บางทีก็ต้องหันลงเปนนักเลงเสียบ้างพอเปนเครื่องป้องกันตัว เมื่อเข้าในพวกนักเลงแล้ว พวกนักเลงก็เกรงใจไม่กระทำร้าย และคุ้มไปได้ถึงญาติพี่น้องของตน ขอร้องไม่ให้เขากระทำร้ายก็ได้อยู่บ้าง ในข้อนี้ ถึงมิใช่ที่เปลี่ยวที่เปนตำบลบ้านมั่นคง ดังเช่นที่บ้านไม้ตรา เกาะใหญ่ เปนต้น ชาวบ้านเปนนักเลงโดยมากกว่าที่ไม่เปน ในที่เช่นนี้ ถึงคนที่ไม่เปนนักเลงเข้าไปอยู่ ก็มักจะต้องพลอยเปนนักเลงไปด้วย หาไม่ก็อยู่ไม่ได้

๑๘ถามว่า นักเลงที่เริ่มแรกจะเปนผู้ร้ายปล้นสดมภ์นั้น ตั้งต้นก็ไปเข้าพวกผู้ร้ายปล้นสดมภ์ทีเดียวหรือ หรือว่าต้องฝึกหัดกันอย่างไรก่อนบ้าง

ตอบว่า ผู้ร้ายที่เข้าสมัคพรรคพวกกันทำการถึงปล้นสดมภ์มักจะเปนคนที่ชำนาญการโจรกรรมแล้วทั้งนั้น คนใหม่มาทีเดียว ผู้ร้ายไม่ใคร่รับเข้าเปนพรรคพวกทำการปล้นสดมภ์ เพราะเกรงว่า จะไปเงอะงะเสียท่าทางลงในเวลาทำการ อีกประการหนึ่ง ไม่ไว้ใจว่า คนใหม่จะรู้จักรักษาความลับ บางทีแต่พอเมามายเล็กน้อยก็จะไปเที่ยวพูดจากับผู้อื่นให้เขารู้เรื่องราวของพวกเพื่อน เพราะเหตุนี้ ผู้ร้ายจะหาพวกเพื่อนทำการปล้นสดมภ์ต้องเลือกสรรค์เอาแต่คนที่เห็นว่า จะเชื่อใจและไว้ใจได้

๑๙ถามว่า ถ้าเช่นนั้น คนยังไม่เคยทำการปล้นสดมภ์จะเข้าเปนพวกผู้ร้ายปล้นสดมภ์ได้อย่างไร

ตอบว่า บรรดาคนที่จะเปนผู้ร้ายปล้นสดมภ์ เริ่มต้นก็เปนแต่ผู้ร้ายลอบลักโกระบือก่อนทุกคน ลักได้หลาย ๆ ราย จนพวกนักเลงด้วยกันเห็นว่า เปนคนมีฝีมือหรือใจคอกล้าหาญดี จึงชักนำเอามาเข้าเปนพรรคพวกทำการปล้นสดมภ์

๒๐ถามว่า บ้านที่มีนักเลงแต่เพียงน้อย ๆ คน พวกนักเลงไม่เกรงพวกชาวบ้านที่เขาไม่เปนนักเลงหรือ

ตอบว่า พวกนักเลงอยู่โดยปรกติก็เหมือนคนทั้งหลาย ถึงพวกชาวบ้านจะไม่ชอบนักเลง ก็ไม่ใคร่มีใครรู้ว่า นักเลงคนใดไปกระทำร้ายในที่ใด รู้แต่ในพวกนักเลงด้วยกัน ถึงพวกชาวบ้านที่รู้ที่กลัวพวกนักเลงก็มี ชาวบ้านบางพวกที่ได้นักเลงไว้เปนญาติหรือพวกพ้องกลับยินดีที่รู้สึกว่า เปนเครื่องป้องกันโจรผู้ร้ายได้ ก็มีบ้าง

๒๑ถามว่า เมื่อผู้เปนสายมาบอกต่อหัวหน้า ๆ ทำอย่างไร

ตอบว่า หัวหน้าต้องไล่เลียงผู้เปนสายจนเปนที่พอใจว่า มีทรัพย์และเปนโอกาศที่จะปล้นได้ ถ้าเห็นจะปล้นได้ ก็รับกับสายและนัดวันกันทีเดียว คือว่า อีกวันหนึ่งหรือสองวันก็ตาม จะไปประชุมพร้อมกันที่บ้านคนนั้นหรือที่ท้องทุ่งตรงนั้นตามที่ได้ปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันกับผู้เปนสาย

๒๒ถามว่า เมื่อได้นัดกันแล้วอย่างนี้ หัวหน้าทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า ต้องกะจำนวนพวกที่จะพาไปด้วย

๒๓ถามว่า ที่ว่า กะจำนวนพวกเพื่อนที่จะพาไปด้วยนั้น เอาอะไรเปนที่กำหนดว่า รายใดจะเอาพวกไปด้วยเท่าใด

ตอบว่า ธรรมดาผู้ร้ายไม่อยากเอาพวกเพื่อนไปด้วยมาก เพราะถ้ายิ่งไปมาก ส่วนทรัพย์ที่จะแบ่งกันก็จะยิ่งได้น้อยลงไป เพราะฉนั้น ในเบื้องต้น ต้องประมาณทรัพย์ที่คาดว่า จะปล้นได้ และต้องประมาณกำลังแลปืนที่เจ้าทรัพย์หรือเพื่อนบ้านจะมีต่อสู้ป้องกันด้วย คงอยู่ในเรียกจำนวนคนและจำนวนปืนข้างผู้ร้ายให้มีมากกว่าเจ้าทรัพย์สักเท่า ๑ จึงเปนพอ และต้องเรียกทั้งคนในถิ่นนั้นและคนต่างถิ่นสมทบด้วย เพราะคนที่จะเข้าทำการใกล้เจ้าทรัพย์ต้องใช้คนต่างถิ่นเข้าทำการ ถ้าคนถิ่นเดียวกัน เจ้าทรัพย์จะรู้จักจำหน้าได้ อีกประการ ๑ จำนวนคนที่กะนั้นต้องเปนจำนวนคี่ เพราะเหตุที่ถือกันในพวกผู้ร้ายว่า ถ้าไปเปนจำนวนคู่ มักจะเกิดเหตุแก่พวกผู้ร้าย มีตัวอย่างเช่น ไปปล้นที่บางซอ แขวงเมือสุพรรณบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ นี้ ผู้ร้ายไป ๑๒ คน ก็ไปถูกปืนตายลงคนหนึ่ง

ถามว่า ในการเรียกพรรคพวกนั้น ต้องเลือกสรรค์อย่างใดบ้างหรือไม่

ตอบว่า ไม่สู้เลือกสรรค์อันใดนัก ที่ถือเปนสำคัญนั้นเลือกเอาคนที่มีปืนโดยมาก ผู้ใดที่ไม่มีปืน ก็ไม่ใคร่เอา อีกประการหนึ่ง ชอบเลือกคนที่อายุยังหนุ่ม

๒๕ถามว่า อายุคนที่เปนผู้ร้ายนั้นเปนอยู่ได้จนอายุเท่าใด

ตอบว่า คนที่เปนผู้ร้ายอายไม่ใคร่เกิน ๔๐ ถ้าอายุพ้น ๔๐ ขึ้นไปแล้ว ที่ยังทำการปล้นสดมภ์ก็แต่ที่เปนหัวหน้า ถึงกระนั้น ถ้าอายุถึง ๕๐ ขึ้นไปแล้ว อ่อนกำลังลง ก็มักต้องไปหากินอย่างอื่น เช่น รับซื้อหรือถ่ายถอนโคกระบือที่ผู้ร้ายลักไป เปนต้น

๒๖ถามว่า ผู้ร้ายทุกวันนี้ใช้ปืนอย่างใด

ตอบว่า ปืนแก๊บแลปืนประจุท้ายนัดเดียวไม่ใคร่จะใช้เสียแล้ว มักใช้ปืนประจุได้หลายนัด ปืนที่ผู้ร้ายใช้อยู่ทุกวันนี้มี ๔ อย่าง คือ ปืน ๘ นัดประจุทางส้นราง อย่าง ๑ แต่อย่างนี้ก็ไม่ใคร่จะใช้เพราะหนักนัก คงชอบใช้อยู่แต่ ๓ อย่าง คือ ปืน ๗ นัด (เมาเซอร) อย่าง ๑ ปืน ๑๒ นัด (วิลเซสเตอร) อย่าง ๑ ปืน ๑๖ นัด (โคลต์ไลต์นิง) อย่าง ๑ แต่อย่าง ๗ นัดเปนดีกว่าทุกอย่าง เพราะปัสตันแรง อย่าง ๑๒ นัด ๑๖ นัด ปัสตันอยู่ข้างจะอ่อน

๒๗ถามว่า ปืนเหล่านี้ผู้ร้ายซื้อกันที่ไหน

ตอบว่า ปืนเหล่านี้ขายที่แพจอดอยู่ใต้โรงเหล้ากรุงเทพฯ ๒ แพ ในคลองบางกอกน้อยแพ ๑ ที่ร้านแขก วัดเกาะ อีก ๒ ร้าน ราคาบอกละ ๑๒๐ บาท เหมือนกันทั้ง ๓ อย่าง ปัสตันขายลูกละ ๒ สลึง การขายปืนปัสตันเหล่านี้ขายโดยเปิดเผย ไม่ได้ซ่อนเร้น แต่พวกผู้ร้ายที่ไปซื้อย่อมบอกผู้ขายว่า เปนคนค้าขายสามัญ เช่น ค้าเรือข้าว เปนต้น จะซื้อไปป้องกันโจรผู้ร้าย เข้าใจว่า ผู้ขายมิได้รู้สึกว่า ขายให้แก่ผู้ร้าย

๒๘ถามว่า ในการที่เรียกพรรคพวกนั้น เรียกอย่างใด

ตอบว่า ไปตามเองบ้าง ให้คนอื่นไปตามบ้าง ถ้าต้องการคนต่างถิ่น มักจะไปบอกให้พวกหัวหน้าในถิ่นนั้นเรียกคนมา แต่ไม่ได้บอกให้ทราบก่อนว่า จะไปปล้นอะไรที่ไหน เปนแต่บอกเปนนัยให้ทราบว่า มีช่องแล้ว ให้ไปพร้อมกันที่นั้น วันนั้น เวลานั้น

๒๙ถามว่า ที่ไปเรียกพวกผู้ร้ายให้ไปปล้นสดมภ์ ถ้าพวกผู้ร้ายคนใดไม่ไป ได้หรือไม่

ตอบว่า ได้ ไม่เปนการบังคับกวดขันอันใด ถ้าใครจะไม่ไป บอกว่า ไม่ไป ก็ไปเรียกคนอื่น

๓๐ถามว่า ในการเรียกคนนั้น ช้าหรือเร็ว

ตอบว่า ไม่ช้า เรียกในวันเดียวก็พร้อมกัน มักจะเรียกก่อนปล้นเพียงวันหนึ่ง แต่ต้องนัดพร้อมกันในวันที่จะไปทำการทีเดียว ถ้าเรียกคนไว้ช้า ไม่ใคร่อยู่พรักพร้อมกันได้

๓๑ถามว่า ปล้นในถิ่นที่ตัวอยู่เองกับไปปล้นต่างถิ่นผิดกันอย่างไรบ้าง

ตอบว่า ปล้นในถิ่นของตัวกับไปปล้นต่างถิ่นผิดกันดังนี้ คือ

ปล้นในถิ่นของตัวเองนั้น เรื่องสังเกตทางเข้าออกไม่ลำบาก เพราะมักจะเคยไปมารู้ท่าทางอยู่แล้ว แต่ต้องระวังในข้อที่เขาจะจำหน้าได้ เพราะอยู่ใกล้กัน คนรู้จักมาก อีกประการหนึ่ง เมื่อเกิดปล้นสดมภ์แล้ว ต้องระวังอย่าให้ผู้ใหญ่บ้านจับพิรุธได้

ส่วนการที่ไปปล้นต่างถิ่นนั้น ลำบากอยู่ด้วยไม่รู้ลู่ทางที่จะเข้าออกและที่จะหลบหนี เกรงพวกผู้ร้ายเจ้าของถิ่นจะเอาตัวรอด ส่วนตัวไปต่างถิ่นจะหนีไม่พ้น แต่นอกจากนี้ ไม่ต้องกลัวข้ออื่นดังในถิ่นของตนเอง เพราะไปต่างถิ่นแล้ว คนในท้องที่เหล่านั้นไม่ใคร่รู้จัก ถึงเห็นหน้าก็ไม่รู้จักว่า ใครมาแต่ไหน ปล้นแล้วหนีกลับมาถึงบ้านแล้วก็แล้วกัน ไม่มีใครมาตรวจตราติดตาม

๓๒ถามว่า ผู้ร้ายมีอุบายอย่างใดสำหรับแก้ไขความลำบากเหล่านี้อยู่บ้างหรือไม่

ตอบว่า มี คือ ในข้อที่จะไม่ให้เขารู้จักหน้านั้น คนที่จะทำการใกล้เจ้าทรัพย์ มักใช้คนต่างถิ่นที่เจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก ผู้ที่เจ้าทรัพย์รู้จัก เช่น ผู้เปนสาย เปนต้น ทำการแต่ที่ห่าง ดังเช่น คอยระวังทาง เปนต้น บางทีผู้เปนสายที่อยู่ใกล้เจ้าทรัพย์ไม่มาทำการปล้นสดมภ์ด้วย อยู่รับตรวจเสียที่บ้านเรือนหรือช่วยชาวบ้านเอะอะทำเปนไล่ติดตามผู้ร้ายและถึงช่วยยิงผู้ร้ายก็มี แต่คงยิงเสียสูง ๆ ไม่หมายให้ถูก และพาชาวบ้านให้ติดตามไปเสียทางอื่นไม่ให้จับได้ อุบายอิกอย่างหนึ่งนั้น ถ้าจะปล้นในถิ่นของตัวเอง ทำไปลาผู้ใหญ่บ้านว่า จะไปกิจธุระต่างเมือง ๔ วัน ๕ วัน แล้วไปเสียวันหนึ่งจึงกลับเข้ามาปล้น แล้วก็ไปเสียอีกจนครบกำหนด ไม่ให้ผู้ใหญ่บ้านสงสัย อุบายอย่างต่ำนั้น ปล้นแล้วก็กลับไปนอนเสียที่เรือน เมื่อเขาปล้นกันเสร็จแล้ว ผู้ใหญ่บ้านเรียกตรวจ ก็มารับตรวจเหมือนกับคนอื่นไม่ให้สงสัย การที่จะไปปล้นต่างถิ่น ต้องมีพวกไปด้วยหลาย ๆ คน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๓ คน ไปสมทบกับพวกผู้ร้ายในถิ่นนั้น ถ้าฉุกเฉินอย่างใด พวกถิ่นเดียวจะได้ช่วยแก้กันกลับมา ที่จะไปปล้นต่างถิ่นแต่คนเดียว ๒ คนนั้นไม่มี อีกประการหนึ่ง ในเวลาที่จะปล้นในที่ต่างถิ่น ต้องให้ผู้ร้ายเจ้าของถิ่นนำทางเข้าไปจนถึงบ้านเรือน หรือมิฉนั้น ต้องให้ทำอุบายพาไปเดิรดูไว้เสียแต่เวลากลางวันให้รู้ท่าทางเข้าออกไว้เสียก่อน

๓๓ถามว่า ปล้นเรือนกับปล้นโคกระบือ ผู้ร้ายชอบปล้นอย่างไหนมาก

ตอบว่า ปล้นเรือนกับปล้นโคกระบือ ที่ได้ทางเสียผิดกัน ปล้นเรือนสดวกกว่า เพราะปล้นครู่หนึ่งได้ทรัพย์มาแบ่งปันกันแล้วก็เปนเสร็จ ไม่ต้องธุระอันใดต่อไป แต่เสียอยู่ด้วยไม่ใคร่รู้ว่า เจ้าทรัพย์เอาเงินไว้ที่ไหน ถึงขึ้นเรือนได้แล้ว ยังเที่ยวค้นคว้าหาเงินไม่ใคร่จะได้ดังคาด ส่วนปล้นโคกระบือนั้น พอแลเห็นตัวโคกระบือ ก็ประมาณได้ว่า จะได้ทรัพย์เท่าใด แต่มีที่เสียอยู่ที่ปล้นไปแล้วยังต้องพาบุกป่าผ่าพงไปขาย ถ้าขายไม่ได้โดยเร็ว ก็มักจะถูกจับกุม จะซ่อนเร้นของกลางไว้โดยยาก ผิดกันอยู่ดังนี้ แต่ผู้ร้ายทุกวันนี้ดูเหมือนจะชอบปล้นกระบือมากกว่าปล้นเรือน เพราะราคากระบือแพงกว่าแต่ก่อน

๓๔ถามว่า ตีเรือนั้นง่ายหรือยาก

ตอบว่า เดี๋ยวนี้ ตีเรือไม่ใคร่ได้ดังแต่ก่อน เพราะเรือค้าขายมักพ่วงเรือไฟไปเร็วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ตามลำแม่น้ำมีพลตระเวนและตำรวจภูธรตรวจตรา ถ้าผู้ร้ายจะไปตีเรือ จะต้องลงเรือไป ถ้าไปพบพลตระเวนหรือตำรวจภูธร หนีไม่ใคร่พ้น ถึงแม้ยังไม่ได้ปล้นสดมภ์เขา ถ้าไม่มีไต้ไฟ เขาก็เรียกตรวจตรา ถ้าพบปืนผาอาวุธ ก็จะต้องถูกจับ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใคร่พอใจตีเรือ

๓๕ถามว่า ได้ยินข่าวปล้นเรือนเข้าและเรือค้าขายก็มีอยู่บ้าง จะว่าไม่ตีเรืออย่างไร

ตอบว่า การปล้นเรือนั้นผิดกับตีเรือ เพราะเรือที่ถูกปล้นเปนเรือไปเที่ยวจอดอยู่ตามหมู่บ้าน ดังเช่น เรือจีนไปซื้อข้าวจอดซื้ออยู่นี่วันหนึ่งแล้วเลื่อนไปจอดที่โน่นอีกวันหนึ่งสองวันต่อไป ดังนี้ ผู้เปนสายจึงรู้ว่า เรือลำนั้นมีเงินและไปอยู่ที่นั้น ๆ จึงได้นัดกันปล้นได้ เรือที่แล่นขึ้นลงไม่เที่ยวจอดวกเวียนอยู่แห่งละหลาย ๆ วัน ผู้เปนสายรู้ไม่ได้ว่า ลำใดมีเงิน ลำใดไม่มีเงิน จึงไม่ถูกปล้น

๓๖ถามว่า เมื่อเรียกพรรคพวกได้พร้อมแล้ว จะไปปล้น ทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า นัดกันไปประชุมที่ที่พักซึ่งได้สัญญาไว้กับผู้เปนสาย ถ้าพวกมาก ก็แยกกันเดิรไปกองละ ๓ คน ๔ คน ไม่ให้คนอื่นสงสัย ชั่วแต่ให้ไปพร้อมกันณที่พักในเวลาบ่ายในวันที่จะทำการปล้น

๓๗ถามว่า พวกผู้ร้ายเดิรทางไปยังที่พักซึ่งนัดกันนั้น ชอบไปเรือหรือเดิรไป

ตอบว่า เปนธรรมเนียมของผู้ร้าย ถ้าจะไปทำการปล้นสดมภ์ ชอบเดิรบก ถ้าจะต้องข้ามแม่น้ำ ก็ลงเรือพอข้ามฟากไปแล้วก็ขึ้นเดิรบกไปอีก เพราะมีปืนผาอาวุธไปด้วย ไปเรือจะซุกซ่อนหลบหนียากไม่เหมือนเดิรบก ผู้ร้ายจึงไม่ชอบไปเรือ

๓๘ถามว่า ตามคำที่ได้ตอบมาแต่ก่อนว่า ผู้ร้ายย่อมมีอยู่ทุกถิ่นนั้น การที่ไปปล้นต่างถิ่น ไม่เกรงใจผู้ร้ายเจ้าของถิ่นหรือ

ตอบว่า การปล้นสดมภ์ ผู้ร้ายเจ้าของถิ่นมักจะเปนต้นคิด ผู้ร้ายต่างถิ่นเปนแต่ผู้ช่วย เพราะฉนั้น ผู้ร้ายเจ้าของถิ่นคงต้องปล้นด้วยทุกราย แต่บางทีหัวหน้าผู้ร้ายในถิ่นนั้นไม่ปล้นด้วยก็มีบ้าง แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องอนุญาตให้ปล้น จึงจะปล้นได้ ถ้าผู้ร้ายเจ้าของถิ่นไม่ยอมให้ปล้น ก็ไม่กล้าปล้น

๓๙ถามว่า ทำไมผู้ร้ายเจ้าของถิ่นไม่ยอมให้ปล้น จึงไม่กล้าปล้น

ตอบว่า ถ้าผู้ร้ายเจ้าของถิ่นไม่ยอมให้ปล้น ขืนไปปล้นเข้า ผู้ร้ายเจ้าของถิ่นขัดใจ ก็จะบอกให้เจ้าพนักงารจับกุม เกรงกันอยู่ด้วยเหตุดังนี้

๔๐ถามว่า ถ้าดังนั้น การที่เกิดปล้นขึ้นในถิ่นใด พวกนักเลงในถิ่นนั้นย่อมรู้ว่า ใคร ๆ ปล้นทุกรายดังนั้นหรือ

ตอบว่า รู้ทุกราย แต่บางทีจะไม่รู้จักพรรคพวกหมดทุกคน แต่ก็คงรู้ว่า คนนั้น ๆ พาพรรคพวกมาปล้น

๔๑ถามว่า ในการที่ไปประชุมเลี้ยงกันก่อนปล้นนั้น ทำอย่างไรกัน ไปประชุมกันที่ไหน

ตอบว่า ที่ประชุมนั้นเอาเปนกำหนดไม่ได้ แล้วแต่หัวหน้ากับผู้เปนสายจะตกลงนัดกัน บางทีก็ประชุมกันที่บ้านผู้เปนสาย บางทีก็ประชุมกันที่บ้านเพื่อนนักเลงคนใดคนหนึ่งในถิ่นนั้น บางทีก็ประชุมกันกลางทุ่งหมายเอาต้นไม่เปนสำคัญ เครื่องนัดกันแห่งใดแห่งหนึ่งกำหนดที่ประชุมเปนยุติไม่ได้นั้น เพราะต้องประชุมกันให้ห่างที่ซึ่งจะไปปล้นประมาณ ๔๐–๕๐ เส้นหรือกว่านั้น อย่าให้เจ้าทรัพย์รู้ตัว และจะประชุมกันในหมู่บ้านที่มีคนมากก็ไม่ได้ กลัวเขาจะสงสัย จึงต้องนัดประชุมกันในที่ใด ๆ ตามแต่จะเหมาะ

การเลี้ยงดูนั้น เครื่องเลี้ยงไม่มีอะไรเปนสำคัญนอกจากข้าวกับสุรา ส่วนกับแกล้มตามแต่จะหาได้ไม่กำหนด ของเลี้ยงเหล่านี้ผู้เปนสายมักจะหาเตรียมไว้เลี้ยง แต่ถ้าขาดเหลือ ก็ใช้เงินของพวกผู้ร้ายมีติดตัวไปซื้อหาเพิ่มเติม เมื่อไปพร้อมกันแล้วก็เลี้ยงกัน เลี้ยงแล้วจึงทำสัตย์กัน

๔๒ถามว่า ทำไมจึงทำสัตย์กัน

ตอบว่า บรรดานักเลงด้วยกัน ถ้ายังไม่ได้ทำสัตย์เปนเพื่อนสาบาลต่อกันแล้ว ก็ยังไม่ไว้ใจกัน บางทีก็ทำสัตย์สาบาลแต่เวลาแรกคบหากัน แต่บางทีเปนคนต่างถิ่นพึ่งจะมาพบปะกันในเวลาจะทำการปล้นสดมภ์ เพราะฉนั้น เมื่อเลี้ยงดูกันแล้ว ถ้าแลผู้ร้ายที่ประชุมกันนั้นยังมีคนใดที่ยังไม่ได้ทำสัตย์ต่อกัน จึงทำสัตย์ต่อกันในขณะนั้น

๔๓ถามว่า วิธีทำสัตย์นั้นอย่างไร

ตอบว่า เอาสุรารินลงในกลา แล้วเอาเกลือทิ้งลงในกลานั้นหยิบมือหนึ่ง แล้วบรรดาผู้ที่จะทำสัตย์เอานิ้วมือวางลงในสุราคนละนิ้ว ต่างคนต่างว่าคำสัตย์กันดังนี้

"ตัวกูผู้ชื่อ อ้ายนั่น อยู่บ้านนั้น แขวงเมืองนั้น จะผูกสมัครักใคร่กับอ้ายนี่ บ้านนี้ เมืองนี้ ยืดไปเบื้องนี้แลเบื้องหน้า ถ้าไม่ซื่อตรงต่ออ้ายนี่ ให้ดาบองครักษ์และ ๗ หมู่ ๘ หมู่อย่าแคล้วคอกูผู้ชื่อว่า อ้ายนั่น ผู้เกลออ้ายนี่นี้เลย ยืดไปเบื้องนี้เบื้องหน้า รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางใกล้จะบอก ทางไกลจนใจอยู่ รู้ปลิ้นรู้ปลอกรู้แล้วมิบอกอ้ายนี่ผู้เพื่อนผู้เกลออ้ายนั่น พระเจ้าองค์หนึ่งองค์ใดอย่าได้มาตรัสตัวกูผู้ชื่อ อ้ายนั่น ผู้เกลออ้ายนี่นี้ได้เลย ให้ตกนรกหมกไหม้เสมอเถนเทวทัตแสนกัลป์อนันตชาตินี้เถิด"

เมื่อต่างคนต่างว่าอย่างนี้จบแล้ว จึงยกนิ้วที่จุ่มสุราป้ายให้สุราเปื้อนคอหรือแขนเพื่อนสาบาลที่แห่งใดซึ่งหมายจะให้ขาดตรงนั้นในเวลาเมื่อไม่ซื่อตรงต่อกัน แล้วต่างคนต่างก็ดื่มสุราสาบาลนั้น ครั้นสาบาลดังนี้แล้ว ผู้ร้ายซึ่งเปนผู้ใหญ่อยู่ในพวกนั้นจึงตรวจน้ำด้วยสุราสาบาลนั้น เษกคาถาอิมินา จบแล้วให้พรต่อผู้ทำสัตย์ว่า ถ้าซื่อตรงต่อกัน ให้ทำมาค้าขึ้นปีละร้อยชั่งพันชั่ง ถ้าไม่ซื่อตรงต่อกัน ขอให้ฉิบหายตายโหงเปนไปต่าง ๆ นา ๆ เปนเสร็จการทำสัตย์กันเท่านี้ ตั้งแต่เวลาเลี้ยงและทำสัตย์กันแล้ว พวกผู้ร้ายที่เข้าประชุมกันจะหลีกไปเสียโดยลำภังตนไม่ได้จนกระทั่งได้กระทำการปล้นสดมภ์แล้ว ถ้าผู้ใดจะละหลีกไป พวกเพื่อนผู้ร้ายสงสัยก็ยิงเสีย

๔๔ถามว่า ปล้นเรือน ปล้นโคกระบือ มีการประชุมเลี้ยงกันอย่างนี้ก่อนเหมือนกันหรือ

ตอบว่า มีการประชุมเลี้ยงกันอย่างนี้ก่อนเหมือนกัน แต่ลักษณะที่จะปล้นไม่เหมือนกัน

๔๕ถามว่า การปล้นเรือนนั้น ผู้ร้ายมีที่งดเว้นบ้านเรือนอย่างใดที่ไม่ปล้นบ้างหรือไม่

ตอบว่า นอกจากที่รู้ว่าจะปล้นไม่ได้เพราะเจ้าทรัพย์ก็ดี หรือเพื่อบ้านก็ดี เขามีกำลังจะต่อสู้มากกว่ากำลังผู้ร้ายแล้ว ที่งดเว้นมีอยู่แต่บ้านเรือนผู้มีคุณแก่หัวหน้า คือ ที่เขาเคยเลี้ยงดูหรือเคยให้หยิบยืมเงินทองเปนต้น อย่าง ๑ บ้านญาติพี่น้องของพวกนักเลงด้วยกันซึ่งเพื่อนนักเลงขอร้องไม่ให้ทำร้าย อย่าง ๑ กับวัด อิกอย่าง ๑ แต่วัดนั้นไม่สู้แน่นัก เพราะเมื่อคราวพวกผู้ร้ายจะไปปล้นบางซอคราวนี้ มีพวกผู้ร้ายได้ชวนจะให้ไปปล้นวัดแห่งหนึ่ง ว่า พระรับฝากเงินทองเข้าของไว้มาก แต่ผู้ร้ายที่ไปด้วยกันโดยมากว่า กลัวบาป ไม่ยอมปล้นวัด จึงไม่ได้ปล้น ถ้าหากว่าไม่เกิดคัดง้างกันขึ้นเอง ก็เห็นจะได้ปล้นวัดเมื่อคราวนั้น

๔๖ถามว่า วิธีปล้นเรือนทำอย่างไร ขอให้อธิบายวิธีปล้นเรือนก่อน คือ เมื่อเลี้ยงกันแล้ว ทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า เมื่อเลี้ยงกันแล้ว พอเวลาพลบค่ำ ก็ออกเดิรจากที่เลี้ยงตรงไปหลังบ้านที่จะปล้น พอถึงที่ห่างสัก ๑๐ เส้น ก็หยุดพักกันอีกครั้ง ๑

๔๗ถามว่า ทำไมจึงหยุดพักอีกครั้ง ๑

ตอบว่า ที่ต้องหยุดพักอีกครั้งหนึ่งนี้ เพื่อจะจัดเตรียมการที่จะปล้น

๔๘ถามว่า เตรียมอย่างไรบ้าง

ตอบว่า จัดปันหน้าที่ผู้ร้ายที่จะทำการอย่าง ๑ เตรียมตัวอย่าง ๑ ทำพิธีบวงสรวงอย่าง ๑ พักหายเหนื่อยรอเวลาอย่าง ๑

๔๙ถามว่า การจัดปันหน้าที่นั้นจัดอย่างไร

ตอบว่า เมื่อหัวหน้าบอกให้ทราบทั่วกันว่า จะปล้นบ้านใครแล้ว จึงจัดคนสำหรับขึ้นเรือนพวก ๑ นอกจากนั้น จัดเปนพวกระวังทางอีกพวก ๑

๕๐ถามว่า พวกที่ขึ้นเรือนต้องใช้เครื่องมืออย่างไรบ้าง

ตอบว่า ต้องมีคบ มีปืน แต่ปืนเพียงบอกเดียวสองบอกก็พอ นอกจากนั้น มีแต่มีดและขวาน ขวานสำหรับใช้ผ่าหีบและฟันประตู

๕๑ถามว่า ได้ยินเขาพูดกันว่า ผู้ร้ายที่เปนหัวหน้าตัวครูไม่ใคร่ขึ้นเรือนเอง มักจะใช้แต่ลูกแล่งที่เปนคนมุทลุขึ้นเรือน จริงดังนี้หรืออย่างไร

ตอบว่า ที่ว่าหัวหน้าไม่ขึ้นเรือนเองนั้นไม่จริง ที่จริงการขึ้นเรือนเปนการสำคัญ ต้องเปนคนที่มีไหวพริบเข้าใจการปล้นสดมภ์ เพราะเหตุว่าที่จะได้ทรัพย์หรือมิได้อยู่แก่ผู้ขึ้นเรือน ถ้าเปนคนโง่เขลาไม่เคยการ ก็ไม่ใคร่จะได้ทรัพย์ เพราะฉนั้น จึงต้องใช้คนสำคัญขึ้นเรือน ต้องระวังอย่างเดียวแต่อย่าเอาคนที่เจ้าทรัพย์รู้จักขึ้นเรือนเท่านั้น

๕๒ถามว่า ผู้ร้ายปล้นที่ขึ้นเรือนเดี๋ยวนี้ยังมอมหน้าดังแต่ก่อนหรือไม่

ตอบว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช้มอมหน้าดังแต่ก่อน

๕๓ถามว่า ทำไมจึงไม่มอมหน้าดังแต่ก่อน

ตอบว่า ที่ผู้ร้ายไม่มอมหน้าอย่างแต่ก่อนนั้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ประการหนึ่ง ทุกวันนี้ เมื่อมีเหตุปล้นสดมภ์ในตำบลใดแล้ว ผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านตรวจ ถ้ามอมหน้า ล้างหน้าไม่ทันรับตรวจ อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้ร้ายมอมหน้า เจ้าทรัพย์และเจ้าพนักงารที่สืบจับมักสงสัยในถิ่นเดียวกันว่าเปนผู้ร้าย เพราะเหตุที่มอมไม่ให้รู้จักหน้า ถ้าใช้คนต่างถิ่นขึ้นเรือนให้เจ้าทรัพย์เห็นหน้า แต่ไม่รู้ว่าใครมาจากไหน ทั้งเจ้าของบ้านและเจ้าพนักงารจะได้สงสัยว่าเปนผู้ร้ายมาแต่ที่อื่น ไม่ค้นคว้าตรวจจับคนในถิ่นนั้น ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงไม่มอมหน้าดังแต่ก่อน

๕๔ถามว่า พวกระวังทางนั้นมีหน้าที่อย่างไร

ตอบว่า พวกที่ระวังทางนั้นต้องใช้ปืนรายล้อมรอบบ้าน คอยเอาปืนยิงกราดไว้ไม่ให้เพื่อนบ้านเข้ามาช่วย ถ้าปืนมีไปน้อย บางทีก็ใช้จุดประทัดดอกใหญ่แทนพอให้มีเสียงสำทับไว้ให้คนกลัว อย่าให้เข้ามาช่วยกัน

๕๕ถามว่า การเตรียมตัวนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า พวกผู้ร้ายจะเข้าปล้นมีสัญญาเครื่องหมายกันด้วยโพกหัวเหมือนกันทุกคนอย่าง ๑ หรือมิฉนั้นก็สวมเสื้อให้เหมือนกันทุกคนอย่าง ๑ เปนที่สังเกตในเวลาปล้นสดมภ์ชุลมุน จะได้รู้ว่าพวกของตนหรือมิใช่พวกของตน อีกประการ ๑ มีคำพูดสำหรับใช้ต่อกัน คือ เรียกกันว่า อ้ายเสือ เวลาจะเข้าหรือจะขึ้นเรือน ร้องว่า อ้ายเสือเอาวา อ้ายเสือขึ้น ถ้าปล้นแล้วจะกลับร้องว่า อ้ายเสือถอย ถ้าถูกต่อสู้ พวกผู้ร้ายบาดเจ็บ จะปล้นไม่สำเร็จว่า อ้ายเสือล่า เปนสัญญาที่ต้องหนีออกจากบ้านนั้น

๕๖ถามว่า การทำพิธีบวงสรวงนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า เวลาเมื่อไปพักอยู่นั้น เอาเครื่องศัสตราอาวุธเข้าพิงกันเปนกระโจม เอาเครื่องรางแขวนบนกระโจมอาวุธ พวกผู้ร้ายนั่งล้อมกันเปนวง ผู้ที่เปนครูในพวกผู้ร้ายเอาสุราประพรมอาวุธและผู้ร้าย แล้วกล่าวเปนคำบวงสรวงเทวดาใจความว่า ขอบอกแก่พระภูมิเจ้าที่และเทพยดาเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ด้วยการที่มั่วสุมประชุมกันครั้งนี้จะได้คิดขบถประทุษฐร้ายต่อแผ่นดินนั้นหามิได้ ที่จะทำการครั้งนี้เพราะมีความขัดสนยากจนเหลือประมาณ จะขอเอาทรัพย์ที่บ้านนั้น ๆ ไปเลี้ยงชีวิต ขอให้สำเร็จความปราถนาเถิด เปนใจความตามคำบวงสรวงดังนี้ แต่ถ้าไม่มีตัวครูผู้ชำนาญ การบวงสรวงก็ไม่ได้ทำกัน

๕๗ถามว่า ที่พักรอเวลานั้นอย่างไร

ตอบว่า เพราะเดิรมาจากที่เลี้ยงเหน็ดเหนื่อย ต้องพักให้หายเหนื่อยเสียก่อน จึงจะเข้าปล้นได้ อีกประการ ๑ ต้องรอพอเวลาดึกสงัดราว ๒ ยาม จึงเข้าปล้น

๕๘ถามว่า ทำไมจึงปล้นเวลา ๒ ยาม

ตอบว่า การที่จะปล้นเวลาใดนั้นไม่เปนประมาณ ที่สำคัญนั้นต้องรอให้เจ้าทรัพย์และเพื่อนบ้านหลับเสียก่อน และอีกประการ ๑ ต้องให้ผู้ร้ายในถิ่นนั้นกลับไปถึงบ้านได้แต่ในเวลาดึก อย่าให้ทันสว่างที่จะมีผู้คนเห็น ด้วยเหตุเหล่านี้ ผู้ร้ายจึงมักจะปล้นราวเวลา ๒ ยามซึ่งเปนเวลาเจ้าทรัพย์ย่อมหลับแล้วและมีเวลาพอที่ผู้ร้ายจะกลับไปถึงบ้านได้ก่อนสว่าง

๕๙ถามว่า ผู้ร้ายชอบปล้นเดือนหงายหรือเดือนมืด

ตอบว่า ชอบปล้นเวลามีแสงเดือนพอแลเห็นตัวกันได้ ถ้ามืดนัก มักจะไปหลงทำร้ายกันขึ้นเอง

๖๐ถามว่า เมื่อพักอยู่พอได้เวลาแล้ว ทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า ออกเดิรตรงเข้าในบ้าน พวกกองระวังทางก็ออกรายและยิงปืน พวกขึ้นเรือนก็จุดคบตรงขึ้นพังประตูเรือนเข้าไปตรวจค้นหาเจ้าทรัพย์

๖๑ถามว่า ทำไมผู้ร้ายปล้นจึงไปค้นหาเจ้าทรัพย์ก่อน

ตอบว่า ผู้ร้ายปล้นเรือนต้องหมายจับเจ้าทรัพย์ให้ได้ก่อน เพราะผู้ร้ายไม่รู้ว่า เจ้าทรัพย์เอาเงินไว้ที่ไหน ต้องจับตัวเจ้าทรัพย์ทุบตีขู่ให้บอกที่ไว้ทรัพย์ จึงจะได้ทรัพย์โดยง่ายและโดยเร็ว ถ้าเจ้าทรัพย์โดดหนีไปเสียได้ ผู้ร้ายต้องค้นคว้าหาทรัพย์เองไม่ใคร่จะได้มาก

๖๒ถามว่า ที่ผู้ร้ายปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ตายนั้น ถ้าผู้ร้ายต้องการตัวเจ้าทรัพย์เพียงจะถามเอาทรัพย์ ทำไมต้องฆ่าเจ้าทรัพย์เสีย

ตอบว่า ผู้ร้ายปล้นไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเจ้าทรัพย์หรือจะฆ่าผู้หนึ่งผู้ใด ต้องการแต่จะเอาทรัพย์เท่านั้น ที่เจ้าทรัพย์ตายมีแต่ที่ต่อสู้กันกับผู้ร้าย อย่างหนึ่ง หรือมิฉนั้น ทำผู้ร้ายบาดเจ็บ ผู้ร้ายเกิดโทษะ ก็ฆ่าเสียโดยความโกรธ อย่างหนึ่ง และถ้าผู้ร้ายเห็นว่า เจ้าทรัพย์รู้จัก ก็มักจะฆ่าเสีย อีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้ร้ายจะได้ตั้งใจไปฆ่าเจ้าทรัพย์นั้นไม่มีเลย

๖๓ถามว่า ถ้าเจ้าทรัพย์หนีได้ ผู้ร้ายก็อยู่ในเรือนเจ้าทรัพย์แล้ว ทำไมจึงไม่ช่วยกันค้นคว้าเอาทรัพย์ให้ได้จนหมด

ตอบว่า การปล้นเรือนต้องรีบปล้นให้แล้วโดยเร็วที่สุด จะค้นคว้าอยู่ช้านานไม่ได้ เพราะเสียงปืนผู้ร้ายได้ยินไกล เกรงพวกตำรวจภูธร พลตระเวน หรือพวกเพื่อนบ้านที่อยู่ห่าง ๆ จะควบคุมกันมาช่วย จึงต้องรับทำการให้แล้วโดยเร็ว อย่าให้ผู้อยู่ไกลมาช่วยได้

๖๔ถามว่า ถ้าพวกผู้ร้ายถูกบาดเจ็บล้มตายในเวลาปล้น เพื่อนผู้ร้ายทำอย่างไร

ตอบว่า ถ้าถูกบาดเจ็บ ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ถึงล้มตาย ต้องช่วยกันพยุงและแบกหามกันไป ไม่ทิ้ง ถ้าตาย ก็ตัดศีร์ษะเอาไปทิ้งเสียให้ไกล ไม่ให้พวกเจ้าทรัพย์เห็นหน้ารู้ว่าผู้ใดได้

๖๕ถามว่า ถ้าปล้นได้ทรัพย์แล้ว ทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า พวกผู้ร้ายก็พากันกลับออกมากลางทุ่งกลางป่าหลังบ้าน พอถึงที่เปลี่ยน ก็ชุมนุมกันแบ่งทรัพย์ พอแบ่งทรัพย์แล้ว ก็ต่างคนต่างแยกกลับไปบ้าน

๖๖ถามว่า วิธีแบ่งทรัพย์นั้นทำอย่างไร

ตอบว่า เอาทรัพย์ที่ปล้นได้มารวมเปนกลางแล้วแบ่งใช้ค่าอาหารค่าสุราและค่าปัสตันที่ได้ใช้ในวันนั้นเสียก่อน เหลือเท่าไรจึงแบ่งเปนส่วนแจกเท่า ๆ กันทุกคน

๖๗ถามว่า ปล้นเรือนเคยได้ทรัพย์มาก ๆ หรือ

ตอบว่า ไม่ใคร่จะได้มาก เพราะผู้เปนสายไม่ใคร่จะสืบรู้ได้จริงว่า มีเท่าใด และเอาไว้ที่ไหน บางแห่งมีเงินมาก แต่เจ้าของเอาเที่ยวฝังซ่อนไว้เสีย ถ้าจับเจ้าทรัพย์ไม่ได้ ก็ไม่ได้ทรัพย์หมด

๖๘ถามว่า ถ้าผู้เปนสายสืบความมาบอกว่ามีทรัพย์มากมาย แต่ไปปล้นไม่ได้จริงดังว่า พวกผู้ร้ายทำอย่างไรแก่ผู้เปนสายบ้างหรือไม่

ตอบว่า ไม่ได้ทำอะไร เปนแต่ถ้าจับได้ว่าเปนคนเหลวไหล ทีหลังมาบอกความอะไร ก็ไม่ใครเชื่อกัน

๖๙ถามว่า เวลาเมื่อปล้นแล้ว พวกผู้ร้ายหลบหนีไปที่ใด

ตอบว่า ผู้ร้ายในถิ่นนั้น คนใดได้ลาผู้ใหญ่บ้านไว้ว่า จะไปทางไกล ปล้นแล้วก็รีบออกให้พ้นถิ่นเสียในเวลากลางคืน ถ้าไม่ได้ลา ก็รีบกลับไปนอนอยู่เสียที่บ้านเรือน เมื่อผู้ใหญ่บ้านมาไต่ถามตรวจตรา ก็หาพยานบอกว่า ได้นอนอยู่บ้านเรือนในวันนั้น

๗๐ถามว่า ปล้นบ้านเรือน ใช้ขวากไว้ดักคนติดตามหรือไม่

ตอบว่า ปล้นเรือนไม่ต้องใช้ขวาก ใช้ขวากแต่ในการปล้นโคกระบือ

๗๑ถามว่า ทำไมปล้นเรือนจึงไม่ใช้ขวาก

ตอบว่า การใช้ขวากนั้นลำบากอยู่ที่ต้องทำไว้ก่อน และเวลาเอาขวากไปด้วย ถ้าเขาเห็น ก็เปนอันรู้ว่า เปนผู้ร้าย จะแก้ตัวไม่ได้เหมือนปืนผาอาวุธ จึงใช้ขวากแต่ที่จำเปน การปล้นเรือนไม่จำเปนจะต้องใช้ เพราะปล้นแล้ว พวกผู้ร้ายกลับออกมาถึงทุ่งหลังบ้าน ต่างคนก็แยกย้ายกันไป ไม่มีร่องรอยจะติดตามกันได้ แต่ปล้นไล่ต้อนโคกระบือ มีรอยโคกระบือให้เจ้าของติดตามได้ จึงต้องใช้ขวากดักเจ้าของที่ติดตาม

๗๒ถามว่า วิธีปล้นโคกระบือนั้นอย่างไร

ตอบว่า การปล้นโคกระบือเปนสองอย่าง คือ ปล้นโคกระบือที่ขังคอก ต้องปล้นกลางคืน แต่ปล้นไล่ฝูงโคกระบือที่ปละปล่อยไว้ในทุ่งนั้น ปล้นกลางวัน

๗๓ถามว่า ทำไมจึงต้องปล้นกลางคืนอย่างหนึ่ง กลางวันอย่างหนึ่ง

ตอบว่า โคกระบือที่ขังคอกมักจะอยู่ริมบ้าน เข้าไปปล้นกลางวัน เขาเห็นตัว ปล้นไม่ได้ จึงต้องปล้นกลางคืนทำนองปล้นเรือน แต่โคกระบือที่เขาปล่อยเลี้ยงนั้น ถ้าเอาไปเลี้ยงไว้ริม ๆ ป่าพง ก็ปล้นกลางวันได้ เพราะผู้ร้ายเดิรมาในป่าพง เจ้าของไม่เห็นตัว พอโผล่ออก ก็ไล่ต้อนโคกระบือเข้าพงไปทีเดียว

๗๔ถามว่า ผู้ร้ายจะปล้นกระบือในคอกเวลากลางคืนนั้น จัดตระเตรียมการอย่างไร

ตอบว่า จัดเหมือนกับปล้นเรือน ผิดกันแต่เมื่อผู้ร้ายเข้าไปถึงคอกกระบือแล้ว ก็เอาปืนระดมยิงเข้าไปตามห้างที่คนนอนเฝ้า ให้คนเฝ้าตกใจหนีไป แล้วก็เข้าถอดคอกไล่กระบือไป

๗๕ถามว่า เมื่อปล้นได้กระบือไปแล้ว ไปทำอย่างไรต่อไป

ตอบว่า เมื่อต้อนไปถึงที่เปลี่ยว ก็ชุมนุมกันแย่งกระบือที่ปล้นได้

๗๖ถามว่า วิธีแบ่งกระบือที่ปล้นได้นั้นทำอย่างไร

ตอบว่า มีวิธีแบ่งเปน ๒ อย่าง คือ แต่ก่อนมักแบ่งแยกกันไปขาย ใครขายได้เงินเท่าใด ก็เอามารวมกัน แล้วจึงคิดหักทุนและแจกส่วนกำไรกันอย่างแบ่งทรัพย์ที่ปล้นเรือนได้ แต่เดี๋ยวนี้ ใช้วิธีแบ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อต้อนกระบือไปถึงที่ชุมนุมแล้ว ตีราคากระบือทุก ๆ ตัว รวมเปนราคาเงินปล้นได้ในคราวนั้นเท่าใด หักใช้ทุนเท่าใด คงเหลือเปนส่วนแบ่งได้คนละเท่าใด คิดจำนวนเงินทราบดังนี้แล้ว จึงขายกระบือเหล่านั้นตามราคาที่ตีไว้แก่ผู้ร้ายในพวกนั้นเอง แล้วแต่ใครจะรับซื้อไปกี่ตัว ถ้ารับซื้อไปขายได้เกินราคาที่ตี ก็เปนกำไรของผู้ขาย ถ้าไปขายถูกจับกุม ผู้รับซื้อก็ต้องเข้าเนื้อ ผู้รับซอคงต้องเสียตามราคากระบือที่รับซื้อไป

๗๗ถามว่า ปล้นกระบือกลางคืนใช้ขวากหรือไม่

ตอบว่า ไม่ต้องใช้ ใช้แต่ปล้นไล่ฝูงกลางวัน

๗๘ถามว่า ปล้นกระบือกลางคืน ทำไมจึงไม่ต้องใช้ขวาก

ตอบว่า พอต้อนออกมาจากคอกถึงที่แบ่งแล้ว กระบือก็แบ่งแยกย้ายกันไปในเวลากลางคืน ไม่มีร่องรอยเจ้าของจะติดตามได้ถนัด แต่การปล้นไล่ฝูงกระบือในเวลากลางวันนั้น พวกเจ้าของมักจะติดตามไปโดยเร็ว ต้องรีบต้อนหนีไปให้ไกล จึงจะได้แบ่งกันได้ การที่ต้อนกระบือไปทั้งฝูงย่อมมีรอยให้พวกเจ้าของผู้ติดตามสังเกตได้ถนัด จึงต้องใช้ขวากและต้องคิดอ่านกลบเกลื่อนรอยกระบือให้สูญ

๗๙ถามว่า การปล้นไล่ฝูงกระบือกลางวันนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า ต้องนัดประชุมผู้ร้ายเลี้ยงกันอย่างปล้นกลางคืน แต่เลี้ยงกันในเวลาเช้า แล้วก็พากันออกเดิรไปพักหายเหนื่อย รอจนได้เวลาตวัน ๒ โมง ก็ออกเดิรเข้าพงตัดไปยังที่เลี้ยงกระบือ ให้พวกผู้ร้ายต่างถิ่นออกยิงไล่คนเลี้ยงกระบือให้หนีเสียก่อน แล้วต้อนกระบือเข้าพง ต่อกระบือเข้าในพงแล้ว พวกผู้ร้ายจึงจะช่วยกันต้อนไปได้ทั้งหมด และวิธีที่กลบเกลื่อนรอยนั้น คือ ถ้ารู้ว่า ทางกระบือฝูงที่เขาเลี้ยงมีอยู่ทางไหน ถ้าพอจะต้อนเข้าทางใด ก็ต้อนเข้าทางกระบือฝูงไปไกล ๆ แล้วจึงแยกไปเสียทางอื่น เพราะทางกระบือฝูงนั้น กระบือฝูงมักจะเดิรอยู่เสมอ ถ้ากระบือฝูงเดิรเหยียบรอยกระบือที่ต้อนไปพักเดียว รอยก็ปนกันเลือนไป ไม่เปนที่สังเกตของพวกเจ้าของได้

๘๐ถามว่า ปล้นไล่ฝูงโคกระบือ ทำไมจึงปล้นเวลาบ่าย ตอบว่า ถ้าปล้นเวลาเช้า กระบือไปถูกแดดจัดก็หอบเพลีย ต้อนไปไม่ได้ไกล จึงต้องปล้นเวลาบ่าย ไล่ต้อนไปในเวลาแดดอ่อน ต้อนไปได้จนตลอดคืน กระบือไม่หอบ

๗๑ถามว่า ขวากที่ใช้นั้นอย่างไร

ตอบว่า ขวากที่ใช้นั้นเปน ๓ อย่าง คือ ขวากกระจับ อย่าง ๑ ขวากคน อย่าง ๑ ขวากม้า อย่าง ๑ ทำด้วยไม้รวกทั้ง ๓ อย่าง

ขวากกระจับนั้นผูกเปน ๔ คม ทิ้งลงคงมีคมขึ้นตั้งอยู่ ไม่ต้องปัก ใช้ได้ในการปัจจุบันทันด่วน แต่ทำยาก และเอาไปยาก ผู้ร้ายไม่ใคร่ใช้

ขวากคนนั้นมี ๓ ขนาด ขนาดเล็ก สำหรับปักให้ตำเท้าอย่าง ๑ ขนาดกลาง สำหรับปักให้ตำหน้าแข้ง อย่าง ๑ ขนาดยาว สำหรับปักให้ตำโคนขา อย่าง ๑ แต่ขนาดเล็กเปนดีกว่าทุกอย่าง เรียกว่า ขวากขุนด่าน เหลาด้วยไม้รวกแบน ๆ เสี้ยมปลายให้แหลม หยักปลายเปนเงี่ยง ลนไฟเสียพอเปราะ ปักไว้พอเสมอยอดหญ้า พอเหยียบเข้าก็เท้าทลุและหักคาเท้าทีเดียว ผู้ร้ายใช้อย่างนี้มาก อย่างกลาง อย่างใหญ่ ไม่ใคร่ใช้

ขวากม้านั้น เอาไม้รวกทั้งลำมาผ่าปลายเสี้ยมให้แหลม เอาไม้ค้ำถ่างออกเปน ๒ ขา ปักไว้สำหรับให้ตำอกม้าหรือกระบือที่ขี่ตาม แต่ต้องปักที่หญ้าสูง ๆ

๘๒ถามว่า ทางที่ต้อนกระบือไปก็เปนทุ่งกว้าง ทำไมจึงจะรู้ว่า เจ้าของจะเดิรทางนั้น ๆ จะได้ปักขวากดักไว้ให้ถูก

ตอบว่า ทางที่ต้อนฝูงกระบือมักเปนป่าพง เจ้าของต้องเดิรตามรอยโคกระบือที่ต้อนหนีไป จะบุกไปทางอื่นไม่ได้ จึงเปนที่ดักขวากปักได้อย่าง ๑ อีกประการหนึ่ง เมื่อต้อนไปได้ไกลแล้ว มีหนองน้ำหรือมีต้นไม้ที่มีผล ทางที่จะลงหนองน้ำแลทางที่จะเข้าโคนต้นไม้นั้นก็เปนที่ปักขวากได้อีกอย่าง ๑ เพราะเจ้าของติดตามย่อมเหน็ดเหนื่อย เมื่อถึงหนองน้ำ คงจะอยากน้ำ หรือเห็นผลไม้ที่พอจะกินได้ ก็คงจะอยากกิน บางทีเข้าไปถูกขวากในที่ชนิดนี้ก็มี

๘๓ถามว่า ทำไมจึงต้องใช้ขวาก

ตอบว่า เจ้าของเดิรตามได้เร็วกว่าที่จะต้อนกระบือหนี และกำลังกระบือที่จะขับต้อนไปได้พักเดียวไม่เท่าใดนัก เพียงคืนหนึ่งกับครึ่งวันก็หอบอ่อน

๘๔ถามว่า วิธีแบ่งกระบือที่ปล้นไล่ฝูงได้นั้นเปนอย่างไร

ตอบว่า แบ่งเหมือนกับกระบือที่ปล้นได้จากคอกในเวลากลางคืน แต่ต้องไล่ไปจนดึกหรือจนรุ่งเช้าจนเห็นว่า พ้นที่เจ้าของจะติดตามทัน แล้วจึงแบ่งกัน

๘๕ถามว่า การที่ปล้นเรือนกับปล้นโคกระบือนั้น ผู้ร้ายจะได้ประโยชน์ในอย่างไหนมากกว่ากัน

ตอบว่า ถ้าจะว่าโดยส่วนประโยชน์ที่เปนตัวเงินแล้ว ปล้นโคกระบือได้ประโยชน์มากกว่า แต่ปล้นโคกระบือลำบากกว่าปล้นเรือน อยู่ที่ปล้นไปแล้วต้องรีบขายโคกระบือไปให้พ้นมือเสียโดยเร็ว อย่าง ๑ และต้องเลือกทางที่จะต้อนโคกระบือไปขาย อย่าให้ต้องถูกจับกลางทาง อย่าง ๑

๘๖ถามว่า โคกระบือที่ปล้นได้นั้น ขายในแขวงเดียวกัน หรือผู้ร้ายต้องพาไปขายต่างแขวง

ตอบว่า ที่จะขายในแขวงนั้นหรือในเมืองนั้นเองเปนอันไม่มี ต้องพาไปขายต่างเมือง ดังเช่น กระบือที่ปล้นได้ในแขวงเมืองปทุมธานี ต้องพาไปขายในแขวงกรุงเก่า หรือแขวงสุพรรณ นครไชยศรี ถ้ากระบือกรุงเก่า สุพรรณ นครไชยศรี ก็ต้องพามาขายเมืองปทุมธานีแลนนทบุรี ดังนี้เปนตัวอย่าง

๘๗ถามว่า ที่ว่า ผู้ร้ายจะต้องรีบขายโคกระบือที่ปล้นได้ไปเสียโดยเร็วนั้น ทำอย่างไรจึงจะขายได้โดยเร็ว

ตอบว่า ก่อนที่ผู้ร้ายจะปล้นโคกระบือ ต้องสืบสวนให้รู้เสียก่อนว่า ผู้ใดจะรับซื้อ ต่อรู้ว่า ผู้นั้น ๆ จะรับซื้อ จึงปล้น ถ้ายังหาที่ขายไม่ได้ ก็ไม่ปล้น

๘๘ถามว่า คนชนิดไรเปนคนรับซื้อโคกระบือ

ตอบว่า พวกที่เปนหัวหน้านักเลงเปนคนรับซื้อโคกระบือ ผู้ร้ายทุกคน ถงที่เปนนักเลงเก่า ๆ มีภูมิฐานบ้านเรือน บางทีเปนกำนันบ้าง ผู้ใหญ่บ้านบ้าง ที่เปนกรมการชั้นเก่า ๆ ก็มีบ้าง เปนผู้รับซื้อก็มี แต่ผู้รับซื้อโคกระบือผู้ร้ายมีเปนสองชนิด คือ ชนิดหนึ่ง มีมาเท่าใดเปนรับซื้อหมด อีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่สู้กล้านัก มักจะเลือกซื้อ

๘๙ถามว่า คนชนิดใดที่รับซื้อไม่เลือก คนชนิดใดที่เลือกซื้อ

ตอบว่า คนที่มีทรัพย์มาก และเปนคนกว้างขวาง มีพวกพ้องต่างเมืองมาก คนชนิดนี้รับซื้อไม่ใคร่เลือก เพราะมีทุนพอจะซื้อและมีกำลังพอจะเสือกไสส่งโคกระบือไปต่างแขวงต่างเมืองได้โดยเร็ว เสมอรับซื้อไว้ในเวลากลางคืน พอเช้ามืดก็ส่งกระบือต่อไป ไม่ทันให้ผู้ใดรู้เห็นได้ว่า ได้รับซื้อไว้ แต่นักเลงที่กำลังพาหนะน้อย ไม่ใคร่กล้ารับซื้อได้ ดังนั้น จึงต้องเลือก

๙๐ถามว่า ที่เลือกนั้นเลือกอย่างใด

ตอบว่า การที่เลือกนั้น เลือกว่า เปนกระบือปล้นเอามา หรือลักเอามา เรียกว่า กระบือร้อน หรือกระบือเย็น ถ้าเปนกระบือร้อน คือ ที่ปล้นเอามา จะต้องรีบส่งต่อไปโดยเร็ว ผู้ซื้อไม่ใคร่ให้ราคาสูง ถ้าเปนผู้ไม่มีกำลังพาหนะ ก็ไม่กล้ารับซื้อทีเดียว ถ้าเปนกระบือเย็น คือ ลักเอามา พอจะเอาไว้ได้หลายวัน ไม่ต้องรีบร้อนส่งไปที่อื่น ก็ขายง่าย และได้ราคามากขึ้น

๙๑ถามว่า เมื่อผู้ร้ายขายกระบือ ต้องบอกแต่ว่า เปนกระบือร้อนหรือเย็น เท่านั้นหรือ

ตอบว่า ต้องบอกให้เขารู้ถ้วนถี่ว่า เปนกระบือมาแต่บ้านไหน บางไหน เมืองไหน และเปนกระบือของใคร เจ้าของเปนคนมีกำลังพาหนะหรือเปนแต่ราษฎรสามัญ ข้อความเหล่านี้เปนข้อสำคัญที่เขาจะต้องรู้ เขาจะได้รู้ว่า จะต้องส่งต่อไปทางไหนและต้องระวังอย่างไร ต้องบอกที่มาของกระบือให้ทราบกันต่อ ๆ ไปในพวกรับซื้อโคกระบือผู้ร้ายดังนี้จนถึงที่ไกลเห็นเกินการติดตามแล้ว จึงจะได้เอาออกใช้สอยซื้อขายเปนกระบือในท้องที่

๙๒ถามว่า ทำไมโคกระบือที่ปล้นมาจึงขายได้ราคาน้อย ส่วนโคกระบือที่ลักมาจึงขายได้ราคามาก

ตอบว่า โคกระบือที่ปล้นเพราะมีเหตุปล้นสดมภ์ เจ้าพนักงารมักจะติดตาม ถ้าเปนกระบือที่ลอบลักเอามา เจ้าพนักงารไม่ใคร่ติดตาม จึงไม่มีเหตุร้อนรนแก่ผู้รับซื้อเหมือนโคกระบือที่ปล้น อีกประการหนึ่ง โคกระบือที่ปล้นมักจะเปนคราวละมาก ๆ แต่โคกระบือที่ลักนั้นคราวละตัว ๒ ตัว แม้กำลังในพวกเจ้าของที่จะออกติดตามก็ผิดกัน

๙๓ถามว่า ถ้าเช่นนั้น ผู้ที่รับซื้อโคกระบือของผู้ร้ายก็เสมอเปนแต่คนกลางหากำไรในกระบวรรับซื้อขายเช่นนั้นหรือ

ตอบว่า เปนเช่นนั้น ผู้ที่รับซื้อโคกระบือโจรผู้ร้ายที่จะเอาไว้ใช้สอยเองเปนไม่มี เปนแต่รับซื้อไว้แล้วก็ส่งไปขายขึ้นราคาเอากำไรต่อ ๆ กันไป เพราะฉนั้น ราคาโคกระบือที่ผู้ร้ายปล้นสดมภ์หรือลักมา ถ้ายิ่งขายไกลถิ่นเดิมได้เท่าใด ก็ยิ่งได้ราคามากขึ้นทุกที ยิ่งขายใกล้ ก็ยิ่งได้ราคาน้อย

๙๔ถามว่า ถ้าไม่มีผู้เปนใจคอยรับซื้อโคกระบือโจรผู้ร้าย โคกระบือที่ปล้นสดมภ์ไปจะขายอย่างใดได้บ้างหรือไม่

ตอบว่า ถ้าไม่มีนักเลงคอยรับซื้อโคกระบือโจรผู้ร้ายแล้ว โจรผู้ร้ายก็ไม่อาจจะปล้นสดมภ์ลักโคกระบือไปได้ เพราะโคกระบือเปนสัตว์ใหญ่ ปล้นสดมภ์ลักไปแล้วจะซ่อนเร้นไว้ก็ไม่ได้ ถ้าจะพาไปเที่ยวเร่ขาย ก็คงจะเกิดสงสัยจับกุมกันขึ้น ถึงมีนักเลงคอยรับซื้ออยู่อย่างทุกวันนี้ พวกผู้ร้ายที่ปล้นลักโคกระบือไป กว่าจะถึงที่ขายได้ก็แสนลำบาก ต้องบุกป่าผ่าพงไปทางวันหนึ่งสองวันจึงจะถึงที่ขาย

๙๕ถามว่า ที่ต้องระวังอย่าให้ถูกจับกลางทางนั้น คือ ระวังอย่างไร

ตอบว่า การต้อนโคกระบือที่ปล้นเขาไป จะเดิรในท้องทุ่งนาที่เตียนไม่ได้ กลัวเขาจะเห็น ถ้ามีที่ป่าพงพอจะเดิรได้ ต้องเดิรบุกไปในป่าพงที่รก ถ้าจะเดิรที่ทุ่ง ต้องเดิรแต่เวลากลางคืน และต้องระวังหลีกเลี่ยงโรงพักพลตระเวนและตำรวจภูธร และหลีกท้องที่ผู้ใหญ่บ้านที่เปนคนแขงแรงในราชการด้วย

๙๖ถามว่า ทำไมจึงต้องเดิรหลีกเลี่ยงท้องที่ผู้ใหญ่บ้านที่แขงแรงในราชการ

ตอบว่า ถ้าไปเจอผู้ใหญ่บ้านที่แขงแรง เขาตีเกราะเรียกลูกบ้านออกช่วยกันไล่เอาพักเดียว ผู้ร้ายก็ต้องทิ้งโคกระบือ ดังเช่นผู้ร้ายปล้นกระบือไปจากเมืองปทุมธานีเมื่อเดือนกรกฏาคมนี้ จะพากระบือไปขายเมืองสุพรรณบุรี ผ่านไปในท้องที่ผู้ใหญ่บ้านเกด ๆ ตีเกราะเรียกลูกบ้านออกไล่พักเดียว ผู้ร้ายก็ต้องทิ้งกระบือหมด

๙๗ถามว่า ทำไมผู้ร้ายจึงจะรู้ได้ว่า ผู้ใหญ่บ้านคนใดแขงแรง และคนใดไม่แขงแรง

ตอบว่า ข้อนี้ผู้ร้ายต้องสืบสวนอยู่เสมอเพื่อจะให้รู้ว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านคนใดเห็นแก่ราชการแขงแรง คนใดเปนคนอ่อนแอ และคนใดเปนนักเลง ผู้ร้ายยำเกรงผู้ใหญ่บ้านที่แขงแรงฉันใด ก็พอใจผู้ใหญ่บ้านที่เปนนักเลงฉันนั้น เพราะผู้ใหญ่บ้านเปนผู้มีอำนาจว่ากล่าวลูกบ้านได้ ถ้าผู้ใหญ่บ้านเปนใจด้วยผู้ร้าย ผู้ร้ายไปมาอาศรัยผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่มีใครจับกุม

๙๘ถามว่า ผู้ร้ายเกรงกลัวพลตระเวนและตำรวจภูธรกับผู้ใหญ่บ้านที่เปนคนแขงแรงในราชการนั้น จะเกรงทางไหนมากกว่ากัน

ตอบว่า เกรงผู้ใหญ่บ้านที่เปนคนแขงแรงมากกว่า เพราะผู้ใหญ่บ้านมีอยู่ทุกแห่ง และเปนผู้รู้จักผู้คนมาก ถ้าเปนคนแขงแรงแล้ว ก็อาจจะเรียกลูกบ้านออกช่วยเปนกำลังได้มาก ๆ ส่านพลตระเวนและตำรวจภูธรนั้น ผู้ร้ายเกรงมากแต่ในลำแม่น้ำ แต่ส่วนบนบก พลตระเวนตำรวจภูธรโดยปรกติอยู่แต่ตามโรงพัก ผู้ร้ายรู้แห่งว่า โรงพักอยู่ที่ใด ไม่ทำร้ายในที่ใกล้ และไม่ต้อนโคกระบือที่ปล้นสดมภ์ไปใกล้โรงพัก ก็แล้วกัน บางทีโรงพักซึ่งไปตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวนาน ๆ เข้า พวกตำรวจภูธรและพลตระเวนซึ่งประจำโรงพักนั้นไปเที่ยวเตร่เลยชอบพอเปนเพื่อนฝูงกับพวกนักเลงไปก็มี การบนบกที่ผู้ร้ายเกรงตำรวจภูธรและพลตระเวนมากอยู่ แต่เมื่อต้อนฝูงโคกระบือไปมาก ๆ ถ้าตำรวจภูธรหรือพลตระเวนติดตาม ไม่ทิ้งแล้วเอาไปไม่ใคร่ได้ ดังเช่น ปล้นที่บางซอ พวกตำรวจภูธรเมืองสุพรรณติดตามมาจนถึงทุ่งลานเท ผู้ร้ายก็ต้องทิ้งกระบือ เอาไปไม่ได้

๙๙ถามว่า ตำรวจภูธรในเวลากลางคืนเขาก็ออกเดิรตรวจตราอยู่เสมอ จะว่าเขาอยู่แต่โรงพักอย่างไร

ตอบว่า ตำรวจภูธรออกตรวจในเวลากลางคืนจริง แต่เวลาตำรวจภูธรไปตรวจ มักตรงไปถามเหตุการณ์ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ถึงผู้ร้ายจะแอบแฝงอยู่ในหมู่บ้านนั้น ก็พอรู้ตัวมีเวลาหลบหนีไปได้

๑๐๐ถามว่า ในการที่เจ้าพนักงารติดตามสืบจับผู้ร้าย ๆ ต่อสู้เจ้าพนักงารอย่างใดบ้างหรือไม่

ตอบว่า ไม่เคยได้ยินว่า ผู้ร้ายคิดอ่านต่อสู้อย่างใด เห็นคิดแต่จะหนีอย่างเดียว ที่ต่อสู้เห็นมีแต่ร้ายใจฉกรรจ์ เช่น อ้ายรัก ก็ต่อสู้แต่เวลาจวนตัวเมื่อเจ้าพนักงารจะจับ

๑๐๑ถามว่า ได้ยินว่า ผู้ร้ายคิดจะปล้นโรงพักตำรวจภูธรที่ลานเทครั้งหนึ่งจริงหรือ

ตอบว่า ได้ยินแต่อ้ายรักกับอ้ายยวงพูดว่า ๆ ถ้าจะปล้นโรงพักที่ลานเทเอาปืนตำรวจภูธรก็จะได้ เพราะบางเวลา มีตำรวจอยู่รักษาโรงพักนั้นเพียง ๒ คน ๓ คน เปนแต่พูด ๆ อย่างนี้ ไม่ปรากฎว่า ได้คิดอ่านการที่จะปล้นสดมภ์ แต่ที่ได้ถึงคิดอ่านกันจริง มีครั้งหนึ่ง เมื่อเมืองปทุมธานีจับเอาอ้ายเรือมาขังไว้ที่ตรางเมืองปทุม พวกผู้ร้ายได้ประชุมคิดกันว่า จะไปปล้นแหกตรางแก้เอาอ้ายเรือออก แต่ยังไม่ทันทำการ กรุงเก่าจับอ้ายยวง หัวหน้าผู้ต้นคิด ไปได้เสีย ก็เปนอันเลิกกันไป

๑๐๒ถามว่า ถ้าผู้ร้ายรู้ว่า เจ้าพนักงารเขาสืบจับ ผู้ร้ายคิดหลบเลี่ยงหลีกหนีอย่างไร

ตอบว่า ถ้าได้ความว่า เจ้าพนันงารเขารู้ร่องรอย ดังเช่น เขาจับพวกเพื่อนไปได้บ้างแล้ว ผู้ร้ายก็หลบหนีไปอยู่เสียต่างเมือง ที่เปนคนไม่มีภูมิลำเนาอพยพไปอยู่เสียเมืองอื่นทีเดียวก็มี ที่มีไร่นาบ้านเรือนเปนภูมิลำเนามั่นคง ก็หลบไปอยู่เมืองอื่นเสียชั่วคราวหนึ่ง แล้วคอยสืบสวนฟังดู พอเห็นการสืบสวนค่อยซาลง ก็กลับไปเยี่ยมบ้านเปนครั้งเปนคราว แรกไปแต่เวลากลางคืน แล้วค่อยไปในเวลากลางวัน ไป ๆ มา ๆ จนเห็นว่า การสืบสวนสงบสงัดดีแล้ว ก็กลับไปอยู่บ้านดังเก่า เปนดังนี้โดยมาก แต่บางคนหลบหนีแล้วเลยไปเปนผู้ร้ายใจฉกรรจ์ก็มี ดังเช่น อ้ายรัก แต่เดิมก็เปนแต่ผู้ร้ายลักกระบือ ผู้ใหญ่ปั้นจับกระบือได้ อ้ายรักขัดใจ ยิงผู้ใหญ่ปั้นตาย แล้วอ้ายรักก็เลยหนีออกอยู่ที่เปลี่ยวเที่ยวประพฤติตัวเปนผู้ร้ายใจฉกรรจ์ฆ่าฟันผู้คนปล้นสดมภ์มาจนกระทั่งเจ้าพนักงารยิงตายเสียเมื่อเร็ว ๆ นี้

๑๐๓ถามว่า ถ้าเขาจับพวกเพื่อนไปชำระ พวกผู้ร้ายไปติดตามส่งเสียและช่วยเกื้อหนุนกันอย่างไรบ้าง

ตอบว่า เคยทราบว่า พวกผู้ร้ายที่ไปปล้นด้วยกันเข้าไปรับเปนพยานฐานที่ให้เพื่อนที่เขาจับไปได้แก้กันหลุดมาได้มีอยู่บ้าง นอกจากนี้ ไม่ปรากฎว่า ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันอย่างไร ใครถูกจับไปแล้วก็เปนธุระของญาติพี่น้องคนนั้น

๑๐๔ถามว่า ผู้ร้ายที่ลักกระบือเขาปีละตัว ๒ ตัวนั้น คือ พวกผู้ร้ายที่ปล้มสดมภ์นี้หรือพวกอื่น

ตอบว่า ผู้ร้ายลักกระบือนั้นมีมากแทบจะนับไม่ถ้วน เพราะการลักกระบือเหมือนเปนวิชาเบื้องต้นของบรรดาคนที่จะเปนนักเลง ตั้งแต่พอเปนหนุ่มเที่ยวเสพสุรายาฝิ่นหรือเล่นเบี้ยพอใจแตกแล้ว จะต้องการเงิน ก็มักหันเข้าเล่นทางลักกระบือก่อน ต่อบางคนชำนาญการลักกระบือแล้วพอใจจะทำการให้ร้ายแรงต่อไปอีก จึงทำการปล้นสดมภ์ เพราะฉนั้น บรรดาผู้ร้ายปล้นสดมภ์ย่อมชำนาญการลักกระบือทุกคน แต่ถ้าทำการถึงปล้นสดมภ์แล้ว ชอบปล้นมากกว่าลัก เพราะได้มากกว่า แต่ก็คงลักอยู่บ้างในเวลาว่าง ๆ หรือที่ได้โอกาศสบเหมาะไม่ลำบาก ดังเวลาไปเที่ยวเตร่กลับมาเห็นโคปล่อยปละไว้ลับตาคนเลี้ยง ก็จับขับขี่เอามาเสีย แต่ไม่ตั้งความพากเพียรจะลักกระบือ พวกที่พากเพียรเอาเปนธุระในการลักกระบือนั้นมักจะเปนผู้ที่แรกเปนนักเลงหรือคนหากินในกระบวรลักกระบือมานาน ๆ แต่ไม่พอใจจะทำการต่อขึ้นไปถึงปล้นสดมภ์ ก็ยังลักโคกระบืออยู่อย่างนั้น

๑๐๕ถามว่า วิธีลักโคกระบือนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า การลักโคกระบือเปน ๒ อย่าง คือ ลักโคกระบือที่เด็กเอาไปเลี้ยงตามทุ่งเวลากลางวัน อย่างหนึ่ง ถอดคอกลักโคกระบือที่เขาขังไว้ในเวลากลางคืน อย่างหนึ่ง

วิธีลักโคกระบือที่เด็กเลี้ยงตามทุ่งนานั้น นอกจากลักกระบือที่หลงไปลับตาเจ้าของ วิธีลักทำกันอยู่ ๒ อย่าง คือ ต้อนกระบือของตนผ่านไปในฝูงกระบือที่เด็กเลี้ยงเพื่อประสงค์ให้กระบือของเด็กติดฝูงกระบือของตัวไปตัวหนึ่งสองตัว ถ้าเด็กรู้ทัน ก็แล้วไป ถ้าไม่รู้ทัน ก็ต้อนเลยเอาไปขายเสีย นี้เปนวิธีอย่างง่าย อีกอย่างหนึ่งนั้น หาใครเปนสายไปล่อเด็กเลี้ยงกระบือให้ไปอาบน้ำหรือไปมัวเล่นอะไรเสียให้ลับตา ทางนี้ผู้ร้ายก็ลักกระบือไป ๒ ตัว ๓ ตัวตามแต่จะได้

วิธีลักตัดคอกนั้น ต้องมีพวกเพื่อน ๓ คน ๔ คนไปด้วยกันในเวลากลางคืน ไปคอยซุ่มอยู่จนเห็นคนเฝ้ากระบือหลับ จึงลอบเข้าไปตัดคอกลักกระบือไปตามแต่จะได้ ถ้าเจ้าของตื่นหรือรู้ทัน ก็ต้องหนี

การลักกระบือต้องพากเพียรลำบากยากที่จะได้ ถึงจะได้ ก็ไม่ใคร่ได้เท่าใด เพราะฉนั้น พวกผู้ร้ายที่เคยได้ในการปล้นสดมภ์แล้วจึงไม่ใคร่ชอบลักกระบือ

๑๐๖ถามว่า กระบือที่ลักเอาไปได้ เอาไปขายอย่างใด

ตอบว่า กระบือที่ลักเอาไปได้ พาไปเสียพอพ้นถิ่นที่อยู่ของเจ้าของแล้ว ก็ไม่ต้องรีบร้อนพาหนีนัก บางทีก็เอาไปขายแก่นักเลงในถิ่นนั้น บางทีก็เอาไปขายแก่นักเลงซึ่งเปนผู้รับซื้อโคกระบือที่ผู้ร้ายปล้น

๑๐๗ถามว่า ผู้รับซื้อกระบือที่ลัก รับซื้อไว้แล้วทำอย่างไร

ตอบว่า รับซื้อไว้แล้วก็ขายส่งต่อไป แต่ไม่รีบร้อนและไม่ใคร่ส่งไปไกลอย่างโคกระบือที่ผู้ร้ายปล้นมา เพราะเหตุว่า มีทางที่จะหากำไรในกระบวรรับไถ่ถอนอีกอย่าง ๑

๑๐๘ถามว่า วิธีไถ่ถอนโคกระบือนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า วิธีไถ่ถอนโคกระบือนั้น คือ ถ้ากระบือของใครหาย เจ้าของไม่ทราบว่า หายไปไหน จึงไปหาพวกนักเลงในถิ่นนั้นจ้างวานให้ช่วยสืบเสาะ ถ้าเจ้าของเปนนักเลง ก็ออกสืบเสาะเอง สืบถามตามพวกนักเลงต่อ ๆ ไปจนรู้ได้ว่า กระบือไปตกอยู่ที่ผู้รับซื้อคนนั้น ๆ จึงตรงไปหาผู้รับซื้อ บอกว่า เดี๋ยวนี้ กระบือของคนนั้น ๆ หายมาทางนี้ เจ้าของอยากจะขอไถ่ ทราบหรือไม่ว่า กระบือนั้นอยู่ที่ใด และจะไถ่ได้หรือไม่ ผู้รับซื้อทำเปนไถลบอกว่า ได้ยินอยู่ว่า กระบือนั้นมาทางนี้ จะลองไปสืบถามขอไถ่ดู จะให้ค่าไถ่สักเท่าใด เมื่อว่าราคากันตกลงแล้ว นักเลงก็กลับมาบอกเจ้าของกระบือว่า สืบได้ข่าวแล้วว่า กระบือไปอยู่ทางตำบลนั้น ๆ แต่ปดเสียไม่บอกตำบลที่จริงให้เจ้าของทราบ เพราะกลัวเจ้าของจะไปไถ่เสียเอง ตัวนักเลงจะไม่ได้กำไร เมื่อเจ้าของถามว่า เขาจะเอาค่าไถ่เท่าใด นักเลงก็บอกราคาให้เกินไว้สัก ๒๐ บาทหรือ ๓๐ บาท เปนส่วนกำไรของตัวอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเจ้าของตกลงจะไถ่ ถ้านักเลงนั้นไม่ไว้ใจเจ้าของ ก็รับเงินไปไถ่เอง ถ้าไว้ใจว่า เจ้าของจะไม่ฟ้องร้องเอาความ ก็พาเจ้าของไปด้วย ไปหาผู้รับซื้อ ข้างผู้รับซื้อยังทำกระบวรออดแอดต่อไปอีกว่า จะต้องไปพูดจาอ้อนวอนเขาก่อน ขอผัดเพี้ยนไปชั่ววันหรือครึ่งวัน เปนแต่รับเงินไว้ในเวลานั้นแล้วก็กระซิบสั่งให้ลูกสมุนเอากระบือไปผูกไว้ในป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วตัวทำไถลหายไปพอเปนทีเสียหน่อยหนึ่ง แล้วจึงกลับมาบอกว่า ให้ไปตามเอากระบือมาทางนั้น ๆ เถิด ผู้ไถ่เดิรไปก็พบกระบือผูกอยู่กลางป่า จึงแก้จูงกลับมา เมื่อจวนจะถึงบ้านเจ้าของ ต้องปล่อยกระบือนั้นเสียอีกครั้งหนึ่ง บางทีนักเลงจับจูงกระบือนั้นไปส่งต่อกำนันว่า จับกระบือพลัดได้ ไม่ทราบว่ากระบือของใคร ให้กำนันนำส่งอำเภอโฆษนาการ ฝ่ายเจ้าของก็พาตั๋วพิมพ์รูปพรรณไปพิศูจน์ต่ออำเภอขอรับกระบือนั้นมา แต่บางทีเมื่อเอากระบือมาปล่อยไว้หลังบ้านแล้ว เจ้าของทำเปนไปพบ เข้าไปบอกต่อกำนันเปนคำนับว่าเห็นกระบือของตนที่หายมาปล่อยอยู่ไปจับมาได้ก็มี วิธีไถ่กระบือทำกันดังนี้

๑๐๙ถามว่า วิธีไถ่กระบือดูทำกันวกวนเปนกลอุบายมาก ยังไม่เข้าใจชัดว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น เปนต้นว่าเมื่อเจ้าของได้กระบือคืนมาแล้ว ทำไมจึงต้องมาปล่อยและร้องให้โฆษนา

ตอบว่า เพราะเมื่อกระบือหายไป เจ้าของได้ทำกฎหมายตราสินไว้เปนสำคัญ ถ้าไม่ทำอุบายเช่นนั้น ก็กลัวเห็นพิรุธที่รู้เห็นเปนใจในการไถ่ถอนโคกระบือกับผู้ร้าย

๑๑๐ถามว่า ส่วนผู้รับซื้อนั้น ที่จริงก็เปนเพื่อนกับนักเลงที่ไปขอไถ่ ทำไมจึงไม่บอกกันตรง ๆ ต้องปดว่า กระบืออยู่ที่ผู้อื่น และต้องเอาไปผูกไว้ให้ไปได้กลางป่าด้วยเหตุใด

ตอบว่า ที่ผู้รับซื้อต้องปดนักเลงผู้ขอไถ้นั้น เพราะกลัวจะต่อตามราคาเอาค่าไถ่แรง ไม่ได้พอต้องการ อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ไปขอไถ่นั้นบางทีก็ไม่ใช่เปนนักเลงที่คุ้นเคยกันนัก จึงต้องทำอุบายไว้อย่างนั้น ในข้อที่เอาไปผูกไว้ในกลางป่านั้น เพื่อจะไม่ให้มีพยานปรากฎว่า ผู้รับซื้อก็ดี หรือนักเลงที่ไปขอไถ่ก็ดี เกี่ยวข้องได้รับและมอบกระบือตัวนั้นแก่กัน และไม่ปรากฎว่า กระบือนั้นได้อยู่กับผู้รับซื้อด้วย

๑๑๑ถามว่า วิธีถอนกระบือนั้นทำอย่างไร

ตอบว่า คล้ายกับวิธีไถ่ ผิดกันแต่ที่นักเลงผู้ตามกระบือไปลักกระบือของผู้อื่น หรือไปซื้อกระบือที่เขาลักกันมา พาไปแลกเอากระบือที่หายมาให้เจ้าของ ทำอย่างนี้นักเลงผู้ถอนได้กำไรมากขึ้น และผู้รับแลกกระบือก็มักจะได้กระบือดีขึ้นกว่าตัวที่รับซื้อไว้ ถ้าไม่ได้อย่างนั้น ก็ต้องเรียกเงินเติมด้วย

๑๑๒ถามว่า โคกระบือที่ไถ่ถอนกันนั้น ชั่วแต่โคกระบือที่ลัก หรือโคกระบือที่ปล้นสดมภ์ก็ไถ่ถอนกันได้

ตอบว่า ไถ่ถอนกันได้แต่โคกระบือที่ลักเท่านั้น โคกระบือที่ปล้มสดมภ์ต้องรีบส่งไปให้ไกล ไม่มีโอกาศที่จะไถ่ถอนได้

๑๑๓ถามว่า การลักกระบือทีละตัวสองตัว มีคนลักมาก ๆ เช่นนี้ ไม่ถูกกระบือของเพื่อนนักเลงกันเองบ้างหรือ

ตอบว่า ถูกเข้าบ่อย ๆ เพราะกระบือที่เด็กเอาไปเลี้ยงที่กลางทุ่ง ผู้ร้ายไม่ใคร่รู้ว่าเปนกระบือของใครต่อใคร แต่ถ้าลักเอาไปแล้วติดตามไป ถ้ารู้ว่าเปนกระบือกันเอง ก็คืนกระบือและคืนเงินกันตามฐานกันเอง

๑๑๔ถามว่า ได้ยินว่าผู้ร้ายมีวิธีแก้ตำหนิกระบือได้ จริงหรืออย่างไร

ตอบว่า แก้ได้แต่ที่เขา คือ กระบือเขากาง แก้เปนเขารอมได้ อย่างหนึ่ง กระบือเขารอม แก้เปนเขาบัดได้ อย่างหนึ่ง กระบือเขาบัด แก้เปนเขารอมได้ อย่างหนึ่ง แต่กระบือเขารอม จะแก้เปนเขากางดัดออกไป เขาหัก แก้ไม่ได้

๑๑๕ถามว่า วิธีแก้ทำอย่างไร

ตอบว่า เอาดินพอกศีร์ษะกระบือก่อนเพื่อกันร้อน แล้วเอาน้ำมันปลาทาเขาให้ทั่ว เอาไฟลนจนเขาอ่อน แล้วจึงเอาปลอกเหล็กสวมเขา ดัดให้เปนรูปตามความพอใจ

๑๑๖ถามว่า เงินทองที่ผู้ร้ายได้โดยกระบวรโจรกรรม ผู้ร้ายเอาไปใช้สอยอย่างใด

ตอบว่า เงินทองที่ได้มาในการปล้มสดมภ์หรือไปทำโจรกรรมอย่างใด ๆ ไม่เห็นใช้ในการอย่างอื่นนอกจากเปนการกินกับเล่นสองอย่างนี้ ถ้าผู้ร้ายมีเงินติดตัว ก็เที่ยวเตร่เลี้ยงดูกันไปและเล่นเบี้ยไปจนกระทั่งหมดเงิน ในการที่จะซื้อหา ก็มีแต่ซื้อปืนผาอาวุธ เครื่องนุ่งห่ม และซื้อโคกระบือของผู้ร้าย แต่ที่จะเอาไปซื้อหาใช้สอยประกอบการทำมาหากินให้มีกำลังบริบูรณ์ขึ้นในทางที่จะเลี้ยงชีพโดยสุจริตนั้นไม่มี เปนความสัตย์จริงดังนี้

เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นนี้ ตั้งแต่ได้ลงพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ต่อมา ได้สังเกตสืบสวนวิธีผู้ร้ายอื่น ๆ ได้ความว่า อยู่ในวิธีที่กล่าวมานี้โดยมาก จึงเห็นว่า ตามคำให้การของผู้ร้ายที่ให้การไว้นั้นเปนความจริงอันเจ้าพนักงารที่มีหน้าที่สืบจับและไต่สวนโจรผู้ร้ายควรจะสังเกตไว้

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก