สยามแพทยศาสตร์/ส่วนที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
สารบาญ
(๑) ว่าด้วยมนุษย์ที่เกิดเปนหญิงแลชาย น่า
(๒) ว่าด้วยเทวทูตทั้ง ๔ เทวทูตมหัศจรรย์ "
(๓) ว่าด้วยลักษณะธาตุทั้ง ๔ พิการตามฤดู ๔ "
(๔) ว่าด้วยกองเดโชธาตุของมนุษย์พิการ " ๑๐
(๕) ว่าด้วยกองวาโยธาตุพิการแลบอกลักษณะธาตุของมนุษย์ " ๑๑
(๖) ว่าด้วยยารักษาโรค " ๑๓

สยามแพทยศาสตร์

 สิทธิการิยะ พระอาจารย์เจ้าผู้ชื่อว่า ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เปนใหญ่กว่าพรหม ๓๖ ชั้น ท่านผู้นั้นจึงลงมาประดิษฐานจาฤกอักษรไว้เปนต้นว่า เมื่อจะตั้งแผ่นดินใหม่ ครั้งนั้น ก็ให้บังเกิดกัลปพินาศ กล่าวคือ โลกฉิบหายด้วยเพลิงประลัยกัลป์นั้นไหม้ฟ้า แผ่นดิน ภูเขา แลเขาพระสุเมรุสิ้นแล้ว บังเกิดฝนห่าใหญ่ตกลงมาถึง ๗ วัน ๗ คืน แลน้ำท่วมขึ้นไปถึงชั้นพรหมปโรหิต พรหมปโรหิตจึงเล็งลงมาดูก็เหนซึ่งดอกอุบล ๕ ดอกผุดขึ้นมาเหนือน้ำงามหาที่จะอุปมามิได้ ท้าวมหาพรหมจึงบอกแก่พรหมทั้งหลายว่า แผ่นดินใหม่นี้จะบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ พระองค์ เพราะเหนดอกอุบลนั้น ๕ ดอก อันนี้ก็เปนธรรมดาประเวณีวิสัยสังเกตมาทุก ๆ ครั้ง ครั้นบังเกิดบุรพนิมิตรขึ้นแล้ว จึงน้ำค้างเปือกตมก็บังเกิดตกลงมา ๗ วัน ๗ คืน แล้วก็เปนสนับข้นเข้าดุจดังสวะอันลอยอยู่เหนือหลังน้ำโดยเหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ พระอาจารย์เจ้าท่านยกมากล่าวไว้พอเปนสังเขป เมื่อแผ่นดินแลเขาพระสุเมรุตั้งขึ้นแล้วนั้น พระอิศวรผู้เปนเจ้าเธออาราธนาพรหมสององค์ทรงนามว่า พรหมจารี ลงมากินง้วนดิน ครั้นแล้วก็ทรงครรภ์คลอดบุตร์ได้ ๑๒ คน อันพวกนี้เกิดด้วยครรภปรามาส คือว่า เอามือลูบนาภีก็มีครรภ์ เกิดบุตร์แพร่หลายไปทั้ง ๔ ทวีป แตกเปนภาษาต่าง ๆ กัน แต่ชมพูทวีปเรานี้เปนกามราค สร้องเสพเมถุนสังวาศจึงมีครรภ์ สัตว์ที่มาปฏิสนธินั้นเปนชลัมพุชะ สัตว์ที่เกิดเปนฟองฟักนั้นชื่อ อัณฑชะ สัตว์มาปฏิสนธิด้วยเปือกตมนั้นชื่อ สังเสทชะ อุปปาติกะ คือ สัตว์ปฏิสนธิเปนอุปปาติกะ ไม่มีสิ่งใด ๆ ก็เกิดขึ้น อันว่ามนุษย์ทั้งหลาย คือ ปฏิสนธิแล้ว ก็คลอดจากครรภ์มารดา มีกายประเภทต่าง ๆ จากผู้ชายนั้น ๔ ประการ คือ ถันประโยธรนั้นประการ ๑ จริตกิริยานั้นประการ ๑ ประเวณีนั้นประการ ๑ ต่อมเลือดฤดูนั้นประการ ๑ จึงเปน ๔ ประการดังนี้ ฯ

มีพระบาลีดังนี้ โลหิตทหยังชาตัง อันว่าฤดูโลหิตแห่งหญิงมีฤดูมานั้น ให้คลั่งเพ้อไปเจรจาด้วยผี ให้นอนสดุ้งหวาด มักขึ้งมักโกรธไปต่าง ๆ ครั้นฤดูมีออกมาแล้ว ก็หายเภทที่เปนนั้นแล ฯ

ปิตตังชาตัง โลหิตอันเกิดแต่ขั้วดีนั้น เมื่อจะมีฤดูมานั้น ให้คลั่งไคล้เลมอเพ้อเจรจาด้วยผี ให้นอนสดุ้งหวาดไป ครั้นมีฤดูออกมาแล้ว ก็หายเภทนั้นแล ฯ

มังสังชาตัง อันว่าฤดูอันเกิดแต่ผิวเนื้อนั้น ให้นอนร้อนผิวเนื้อผิวหนังให้แดงดุจผลตำลึงสุก บางทีก็ให้ผุดขึ้นทั้งตัวดุจออกหัดแลฟกเปนดังไข้รากสาด เปนไปถึง ๒ วัน ๓ วัน ครั้นมีฤดูออกมาแล้ว ก็คลายไป ฯ

นะหารูชาตัง อันว่าโลหิตอันบังเกิดมาแต่เส้นเอ็นทั้งปวงนั้น เมื่อจะใกล้มีฤดูมา ให้เปนประดุจดังไข้จับ ให้สบัดร้อนสบัดหนาวปวดสีสะเปนกำลัง ครั้นมีฤดูออกมาแล้ว ก็หายไปแล ฯ

อัฏฐิกังชาตัง อันว่าโลหิตอันเกิดมาแต่กระดูกนั้น เมื่อใกล้มีฤดูมา ให้เมื่อยให้ขบไปทุกข้อดังจะขาดจากกัน ให้เจ็บบั้นเอวสันหลังยิ่งนัก มักบิดเกียจคร้านบ่อย ๆ ครั้นมีฤดูออกมาแล้ว ก็หายแล ฯ

สิทธิการิยะ พระครูผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษาโลหิตฤดูแห่งหญิงอันมีฤดูมาแล้วแลกลับแห้งไปก็ดีแต่รุ่นสาวขึ้นมา แลอายุควรจะมีฤดูมาแล้วแลไม่มีฤดูมาตามประเวณี บางทีมีฤดูมาแล้วกลับแห้งไปก็มี บางคนแต่รุ่นสาวได้ ๑๔ ปี ๑๕ ปี ก็ยังไม่มีฤดู ต่อมีผัวแล้วจึงมีฤดูมา หญิงเหล่านี้ ท่านว่า เปนประเวณีโลกทั้งหลายแล ฯ

สิทธิการิยะ อหัง อันว่าข้า ชิวกะโกมารภัจโจ มีนามปรากฏว่า โกมารภัจแพทย์ อภิวันทิตวา ถวายนมัสการแล้ว พุ, ธ, สํ. ซึ่งพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วทั้ง ๓ ประการ เสฏฐัง อันประเสริฐโดยวิเศษ เทวินทัง อันเปนใหญ่แลเปนที่เคารพของเทพยดาทั้งหลาย กิตตะยิสสามิ จักตกแต่งไว้ คันถึง ซึ่งคัมภีร์แพทย์ โรคานิทานัง ชื่อว่า โรคนิทาน ปมุขัง จำเพาะหน้า อิสิสิทธิโน แห่งครูชื่อว่า ฤษีสิทธิดาบศ นาถัตถัง เพื่อจะให้เปนที่พึ่ง โลกัสสะ แก่สัตวโลกทั้งปวง คือ แพทย์ และคนไข้ อิติ คือว่า อิมินา ปกาเรนะ ด้วยประการดังนี้ พระอาจารย์เจ้าจึงชักเอาพระบาลีในคัมภีร์พระบรมัตถธรรมมาว่า ซึ่งบุทคลจะถึงแก่ความตายสิ้นอายุนั้น เทวทูตในธาตุทั้ง ๔ มีพรรณสำแดงออกให้แจ้งปรากฎ โดยมโนทวารวิถีอินทรีย์ประสาททั้งปวง แลธาตุอันใดจะขาดจะหย่อนจะพิการอันตรธานประการใด ๆ ก็ดี มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์มรณญาณสูตรนั้นแล้ว แต่ถึงกระนั้น ต้องอาศัยธาตุเปนหลักเปนประธาน ลักษณะคนตายด้วยบุราณโรคนั้น เทวทูตทั้ง ๔ ก็หากจะแสดงออกให้แจ้งดังกล่าวมานั้น ลักษณะคนตายด้วยปัจจุบันกรรมนั้นก็มีอยู่ต่าง ๆ ถึงดังนั้นก็จริง เทวทูตมหัศจรรย์ก็หากจะแสดงอยู่ แต่แพทย์ที่จะหยั่งรู้หยั่งเหนเปนอันยากยิ่งนัก โกมารแพทย์ผู้ประเสริฐจึงนิพนธ์ลงไว้ในคัมภีร์โรคนิทาน ด้วยมนุษย์ทั้งหลายตายด้วยปิศาจแลไข้เพื่อโอปักกมิกาพาธท่านทุบถองโบยตีบอบช้ำแลต้องราชอาญาแห่งพระมหากระษัตริย์ให้พิฆาฏฆ่าเสียด้วยหอกดาบปืนไหนั้น ตายโดยเร็วโดยด่วน มิได้ตายเปนปรกติ ตายโดยลำดับธาตุลำดับขันธชวน แลธาตุทั้ง ๔ มิได้ล่วงเปนลำดับเลย อันว่าบทคุลตายโดยกำหนดสิ้นอายุปริโยสานเปนปรกตินั้น ธาตุทั้ง ๔ ก็อันตรธานสูญหายเปนลำดับกันไป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่มิได้ขาดสูญหายพร้อมกันทีเดียว ย่อมจะสูญขาดไปแต่ทีละ ๒, ๓, ๔, ๕, สิ่ง ขาดถอยลงไปเปนลำดับ จึงจะให้เปนเพศต่าง ก็มี คือว่า บุทคลเมื่อจะสิ้นอายุของตนนั้น ปถวีธาตุ ๒๐ ก็ย่อมจะขาดไป ๑๙ หทยัง หัวใจก็ยังอยู่ อาโปธาตุทั้ง ๑๒ ขาดไป ๑๑ ปิตตัง ดีก็ยังอยู่ วาโยธาตุ ๖ ขาดไป ๕ อัสสาสปัสสาโส ลมหายใจเข้าออก ก็ยังอยู่ เตโชธาตุ ๔ ขาดไป ๓ สันตัปปัคคิ ไฟธาตุอบอุ่นกาย ก็ยังอยู่ ถ้าว่าธาตุทั้งหลายขาดสูญสิ้นพร้อมกันดังกล่าวมานี้ ท่านย่อมตัดอาการว่า แพทย์ผู้ใดจะเยียวยารักษาสืบไปมิได้เลย ถ้าธาตุทั้ง ๔ จะขาดหย่อนไปแต่ ๑, ๒, ๓, สิ่งดังนั้น ยังจะพยาบาลได้ ให้พิจารณาดูดังกล่าวมานั้นเถิด ฯ

พระอาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในคัมภีร์แพทย์ว่าด้วยธาตุพิการ คือ ตามธรรมดาโลกนิยม ปีหนึ่ง ๑๒ เดือนเปน ๓ ฤดู แต่ในคัมภีร์แพทย์นี้ท่านจัดเปน ๔ ฤดู ฤดูหนึ่ง ๓ เดือน คือ เดือน ๕, ๖, ๗, ทั้ง ๓ เดือนนี้ว่าด้วยเตโชธาตุ ชื่อว่า สันตัปปัคคิพิการ ให้เย็นในอก ให้วิงเวียนในอก มักให้กินอาหารถอย ถ้าบริโภคอาหารอิ่มนัก ให้จุกเสียดขัดในอก อาหารมักพลันแหลก มิได้อยู่ในท้อง ให้อยากบ่อย ๆ จึงให้เกิดลม ๖ จำพวก ๆ หนึ่งชื่อ อุทรันตวาต พักแต่สดือถึงลำคอ จำพวกหนึ่งชื่อ อุรปักขรันตวาต พัดให้นาสิกตึง จำพวกหนึ่งชื่อ อนุวาต พัดให้หายใจขัดไป คือว่า เปนลมจับให้นิ่งไป จำพวกหนึ่งชื่อ มหสกวาต คือ ลมมหาสดมภ์ แลลม ๖ ประการนี้เกิดเพื่อเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยาชื่อกาลาธิจร เอาโกฎสอ ๑ โกฎพุงปลา ๑ ดีปลี ๑ หัวแห้วหมู ๑ เปลือกมูกมัน ๑ ผลผักชี ๑ อบเชย ๑ สะค้าน ๑ ขิง ๑ ผลเอ็น ๑ อำพัน ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำให้เปนผงละลายน้ำร้อนแลน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้เตโชธาตุพิการ ฯ

เดือน ๘, ๙, ๑๐, ทั้ง ๓ เดือนนี้ว่าด้วยวาโยธาตุ ชื่อ "ชรัคคี" พิการ ให้ผอมเหลือง ให้เมื่อยขบทุกข้อทุกลำทั่วสรรพางค์กาย ให้แดกขึ้นแดกลง ให้ลั่นโครก ๆ ให้หาวเรอวิงเวียนหน้าตาหูหนัก มักให้ร้อนในอกในใจ ให้ระทดระทวย ย่อมให้หายใจสั้น ย่อมให้เหม็นปากแลให้หวานปาก มักให้โลหิตออกทางจมูกทางปาก กินอาหารให้รู้จักรศ คือ วาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยาชื่อฤทธิจร เอาดีปลี ๑ แฝกหอม ๑ เปราะหอม ๑ พริกไทย ๑ หัวแห้วหมู ๑ ว่านน้ำ ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน รากกระเทียมเท่ายาทั้งหลาย ตำเปนผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้วาโยธาตุพิการหายแล ฯ

เดือน ๑๑, ๑๒, ๑, ทั้ง ๓ เดือนนี้มักกินอาหารผิดสำแลง อาโปธาตุพิการ ดีพิการ มักให้ขึ้งโกรธ มักให้สดุ้งตกใจ ให้หวาด ฯ เสมหะพิการ กินอาหารไม่รู้จักรศ ฯ หนองพิการ มักให้ไอเปนโลหิต โลหิตพิการ มักให้เพ้อพก ให้ร้อน เหงื่อพิการ มักให้ซูบผอม มันข้นพิการ มัดให้ปวดสีสะ ให้เจ็บตา ให้ขาสั่นไป น้ำตาพิการ มักให้ตามัว แลน้ำตาตกนักแล้วแห้งไป ดวงตานั้นเปนดังเยื่อลำใย น้ำมันเหลวพิการ ให้แล่นออกทั่วตัว ให้ในตาเหลือง ตัวเหลือง มูตร์แลคูถเหลือง บางทีให้ลงให้อาเจียน กลายเปนป่วงลม น้ำลายพิการ ให้ปากเปื่อย บางทีให้เปนยอดเปนเม็ดขึ้นในคอ บางทีเปนไข้ มักให้ปากแห้งคอแห้ง น้ำมูกพิการ ให้ปวดสีสะ เปนหวัด ให้ปวดสมอง ให้น้ำมูกตก ในตามัว ให้วิงเวียนสีสะ ไขข้อพิการ ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก ให้ขัดให้ตึงทุกข้อ มูตร์พิการ ให้ปัสสาวะแดง แลขัดปัสสาวะ ๆ เปนโลหิต เจ็บปวดเปนกำลัง ธาตุน้ำ ๑๒ จำพวกนี้ประมวญเข้าด้วยกันชื่อว่า อาโปธาตุ ถ้าจะแก้ เอารากเจตมูลเพลิง ๑ โกฎสอ ๑ ผลผักชี ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ สะค้าน ๑ หัวแห้วหมู ๑ ลูกพิลังกาสา ๑ รากคัดเค้า ๑ เปลือกมูกมัน ๑ จันทน์ทั้ง ๒ สมุลแว้ง ๑ ถกลังกา ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ รากขัดมอน ๑ เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กิน แก้อาโปธาตุพิการหายแล ฯ

เดือน ๒, ๓, ๔, ไข้ใน ๓ เดือนนี้ นอนผิดเวลา ปถวีธาตุกำเริบ ตั้งแต่เกสา คือ ผมพิการ ให้เจ็บรากผม ให้คันสีสะ ๆ มักหงอก มักเปนรังแค ให้เจ็บหนังสีสะเปนกำลัง ขนพิการ ให้เจ็บทั่วสรรพางค์ทุกขุมขน ให้ขนลุกขนพองทั้งตัว เล็บพิการ ให้เจ็บต้นเล็บ ให้เล็บเขียวเล็บดำช้ำโลหิต เจ็บเสียว ๆ นิ้วมือนิ้วเท้า ฟันพิการ ให้เจ็บไรฟัน บางทีให้เปนรัมนาด บางทีให้เปนโลหิตออกตามไรฟัน ให้ฟันหลุดฟันคลอน หนังพิการ มักให้ร้อนผิวหนังทั่วสรรพางค์กาย บางทีให้เปนผื่นขึ้นทั้งตัวดุจหัวผด ให้ปวดแสบปวดร้อนเปนกำลัง ฯ เนื้อพิการ มักให้นอนสดุ้งไม่สมปฤดี นอนไม่หลับไม่สนิท มักให้ฟกบวมขึ้น บางทผุดขึ้นเปนสีแดงสีเขียวทั้งตัว บางทีเปนลมพิษ สมมติว่าเปนประดง เปนเหือด เปนหัดต่าง ๆ เอ็นพิการ ให้จับสบัดร้อนสบัดหนาว ให้ปวดสีสะเปนกำลัง ท่านเรียกว่า อำพฤกกำเริบ แล กระดูกพิการ ให้เมื่อยในข้อในกระดูก สมองกระดูกพิการ ให้ปวดสีสะเปนกำลัง ม้ามพิการ ให้ม้ามหย่อน มักเปนป้างแล หัวใจพิการ ให้คลั่งไคล้ดุจเปนบ้า ถ้ามิดังนั้น ให้หิวโหยหาแรงมิได้ ให้ทุรนทุรายยิ่งนัก ตับพิการ ให้ตับโตทรุด มักเปนฝีในตับ กาฬขึ้นในตับ พังผืดพิการ ให้เจ็บ ให้จุกเสียด ให้อาเจียน ให้แดกขึ้นแดกลง ปวดขัดเปนกำลัง ปอดพิการ ให้เจ็บปอด ให้เปนพิษ ให้กระหายน้ำเปนกำลัง กินน้ำจนปอดลอยจึงหายอยาก ไส้น้อยพิการ ให้สอึด ให้หาว ให้เรอ ไส้ใหญ่พิการ ให้พะอืดพะอม ให้ท้องขึ้นท้องพอง มักเปนท้องมาน ลมกระสาย บางทีให้ลงท้อง ตกมูก ตกโลหิต ให้เปนไปต่าง ๆ แล อาหารใหม่พิการ ให้ลงแดง ให้ราก มักเปนป่วง ๗ จำพวก อาหารเก่าพิการ กินอาหารไม่มีรศ เปนต้น ที่จะให้เกิดโรคต่าง ๆ เพราะอาหารผิดสำแลง สมองสรสะเมื่ออยู่ดีเปนปรกตินั้น สมองสีสะเราท่านทั้งปวงนี้พร่องจากกระบาลสีสะประมาณเส้นตอกใหญ่ ๆ ถ้าเจ็บปวดพิการไซ้ มันในสมองนั้นก็เดือดขึ้นเต็มกระบาลสีสะ ให้ปวดสีสะเปนกำลัง แก้มิฟัง ให้ในตาแดง ให้คลั่ง เรียกว่า สันนิบาต เมื่อใดได้สุมยา เปนสุขุม มันในสมองยุบลงเปนปรกติแล้ว จึงหายปวดสีสะ แลปถวีธาตุ ๒๐ ประการซึ่งกล่าวมานี้ ใช้ยาอันเดียวตลอดกันสิ้น (๑) คือ ยาชื่อตรีชวาสงข์ แก้ปถวีธาตุพิการ คือ สมอง, กระดูก, ม้าม, ให้เอากระเทียม ๑ ใบสะเดา ๑ ใบคนทิสอ ๑ เปลือกตีนเป็ด ๑ เบญจกูล ๑ จันทน์ทั้ง ๒ สมอทั้ง ๓ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ตรีกฎุก ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ ส่วน เปลือกกันเกรา ๒ ส่วน เปลือกสมุลแว้ง ๓ ส่วน ตำเปนผงละลายน้ำผึ้ง กินแก้ปถวี ๒๐ ประการแล ฯ (๒) ขนานหนึ่ง แก้ปถวีธาตุพิการทั้ง ๓ ประการ คือ พังผืด ๑ พุง ๑ ปอด ๑ พิการ ให้เอาหัวแห้วหมู ๑ แฝกหอม ๑ ใบสะเดา ๑ หญ้าตีนนก ๑ การะบูน ๑ กานพลู ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ เปราะหอม ๑ โกฎสอ ๑ โกฎเขมา ๑ ดอกบุนนาก ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ดอกกรุงเขมา ๑ ผลผักชี ๑ ดอกผักปอด ๑ เนระภูษี ๑ ลูกเอ็น ๑ ดีงูเหลือม ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดปั้นเปนแท่ง ละลายน้ำดอกไม้ แซกชมดพิมเสน น้ำจันทน์ทั้ง ๒ กินแก้ปถวีธาตุ ๓ ประการหายแล ฯ (๓) ขนานหนึ่ง แก้ปถวีธาตุ ๓ ประการ คือ ม้าม, หัวใจ, ตับ, พิการ ให้เอาชมด ๑ พิมเสน ๑ ดอกกรุงเขมา ๑ ลูกเอ็น ๑ ฤษีประสมแล้ว ๑ เปลือกตีนเป็ด ๑ ใบสะเดา ๑ ใบเสนียด ๑ อบเชย ๑ หญ้าตีนนก ๑ สมอทั้ง ๓ มะขามป้อม ๑ ลำพัน ๑ โกฎสอ ๑ ใบกระวาน ๑ ดอกบุนนาก ๑ เปราะหอม ๑ ดอกผักปอด ๑ เกสรบัวทั้ง ๕ ดอกคำไทย ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดเปนแท่งละลายน้ำจันทน์ กินแก้ปถวีธาตุ ๓ ประการหายแล ฯ (๔) ขนานหนึ่ง แก้ปถวีธาตุ ๘ ประการ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, กระดูก, เอ็น, พิการ ให้เอาใบรัก ๑ บรเพ็ด ๑ หัวแห้วหมู ๑ ชิรากากี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ กระเทียม ๑ แฝกหอม ๑ กกลังกา ๑ ชะเอมเทศ ๑ โกฎสอ ๑ โกฎก้านพร้าว ๑ ตรีกฎุก ๑ เปลือกต้นตีนเป็ด ๑ สมอ ๑ ใบสะเดา ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงละลายน้ำผึ้งกินเท่าผลพุดทรา กินเช้ากินเย็น แก้ปถวีธาตุ ๘ จำพวกอันกำเริบดังกล่าวมานั้นหายสิ้นแล ฯ (๕) ขนานหนึ่ง แก้ปถวีธาตุ ๒ ประการ คือ ไส้ใหญ่ไส้น้อยพิการ ให้เอาใบสะเดา ๑ ใบเสนียด ๑ เจตมูลเพลิง ๑ เปลือกมูกมัน ๑ หัวแห้วหมู ๑ โกฎพุงปลา ๑ ผลผักชี ๑ สมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ รากตองแตก ๑ แฝกหอม ๑ บรเพ็ด ๑ ผลกระตอม ๑ กะถินแดง ๑ ขิงแห้ง ๑ ไคร้เครือ ๑ หญ้าตีนนก ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้มด้วยน้ำมะงั่ว น้ำสุราก็ได้ น้ำท่าก็ได้ เมื่อจะกิน ปรุงขันทศกรลง กินแก้ไขตรีโทษในปถวีธาตุ ๒ ประการหายแล ฯ (๖) ขนานหนึ่ง แก้ปถวีธาตุ ๒ ประการ คือ อาหารเก่าอาหารใหม่พิการ ให้เอาเปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยแครง ๑ ผัวแพวแดง ๑ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ การะบูน ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน พริกล่อนเท่ายาทั้งหลาย ตำผงละลายน้ำผึ้งกิน แก้ปถวีธาตุ ๒ ประการ คือ อาการเก่าอาหารใหม่ หายแล ฯ (๗) ขนานหนึ่ง แก้ปถวีธาตุ คือ เยื่อในสมองพิการ ให้เอาสะค้าน ๑ ชาพลู ๑ เจตมูลเพลิง ๑ ขิงแห้ง ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ ผลสมอไทย ๑ ผลสมอพิเภก ๑ ผลสมอเทศ ๑ ผลผักชี ๑ กฤษณา ๑ จันทน์เทศ ๑ ผลมะขามป้อม ๑ ผลพิลังกาสา ๑ หัวแห้วหมู ๑ รากขัดมอน ๑ กกลังกา ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ดีปลี ๑ บาท บรเพ็ด ๒ บาท ต้มกิน แก้ปถวีธาตุ คือ เยื่อในสมองกำเริบเมื่อเหมันตฤดู หายแล ฯ (๘) ยาแก้ปวดสีสะ ให้เอาชะเอมทั้ง ๒ ชมด ๑ พิมเสน ๑ อบเชยเทศ ๑ จันทน์เทศ ๑ เปลือกคนทา ๑ โกฎสอ ๑ ใบสมี ๑ ผลผักชี ๑ ขิง ๑ เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงเลอียด นัตถุ์แก้ปวดสีสะเพื่อเยื่อในสมองพิการหายแล ฯ แล้วจึงแต่งยาสุมสำหรับกัน ให้เอาผักหนอก ๑ ขิงสดแต่น้อย ๑ เอาหอม ๕ หัว เทียนดำ ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมสีสะเมื่อน่าหนาว ดีนักแล ฯ ในคิมหะฤดู คือ น่าร้อน ให้เอาใบเสนียด ๑ งาเม็ด ๑ เทียนดำ ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมกระหม่อมให้สมองยุบหายเร็ว ทั้งแก้ปวดโลหิตซึ่งตกทางจมูกแลไรฟันแลอาเจียนโลหิตหายแล ได้ทำมาแล้ว อย่าสงสัยเลย ฯ เมื่อวสันตฤดูน่าฝน ให้เอาใบหญ้าน้ำดับไฟ ๑ เทียนดำ ๑ ไฟล ๑ หัวหอม ๑ ดอกพิกุล ๑ ผักขวง ๑ ใบหางนกยูง ๑ ฆ้องสามย่าน ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุม แก้ปวดสีสะ จมูกตึง หายแล ฯ

จบลักษณะธาตุทั้ง ๔ พิการตามฤดูโดยสังเขปแต่เท่านี้

บัดนี้ จะแสดงซึ่งเตโชธาตุแลวาโยธาตุพิการต่อไป จะว่าด้วยเตโชธาตุก่อน อันว่าลักษณะเตโชธาตุชื่อว่า ปรินามัคคีพิการ นั้น คือ ๑ ให้ร้อนในอกในใจ ๒ ให้บวมมือแลเท้า ๓ ให้ไอเปนมองคร่อ ๔ ให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้พะอืดพะอม ถ้าจะแก้ ให้เอาผักแพวแดง ๑ โกฎสอ ๑ โกฎเขมา ๑ ชะเอมเทศ ๑ มะขามป้อม ๑ ตะไคร้ต้น ๑ เปราะหอม ๑ รากสวาด ๑ หญ้ารังกา ๑ เอาส่วนเท่ากัน ตำเปนผงละลายน้ำนมโคก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ แก้เตโชธาตุชื่อว่า ปรินามัคคีแตก หายแล ฯ

เตโชธาตุชื่อว่า ปริทัยหัคคีพิการ นั้น คือ ให้มือแลเท้าเย็น ชีพจนไม่เดิน ประการหนึ่ง ชีพจรขาดหลัก ๑ ก็ดี ๒ หลักก็ดี บางทีให้เย็นเปนน้ำ แต่ภายในร้อน ให้รดน้ำมิได้ขาด บางทีให้เย็นแล้วให้เหงื่อตกเปนดังเม็ดเข้าโภช ถ้าจะแก้ ให้เอาเขากระบือเผือกเผาไฟ ๑ หน่อแรด ๑ เปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยแครง ๑ เขี้ยวจรเข้ ๑ หวายตะมอยหรือหวายตะค้าก็ได้ ๑ ยาทั้งนี้เผาไฟ แก่นแสมทเล ๑ ผลจันทน์ ๑ หัวแห้วหมู ๑ รากขัดมอน ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละส่วน เอากระเทียม ๓ ส่วน พริกไทย ๕ ส่วน ตำเปนผงละลายน้ำร้อน แซกพิมเสน กินขับไฟธาตุให้ร้อนตลอดจนปลายมือปลายเท้าชีพจรเดินได้ตลอดแล ขนานหนึ่ง แก้เสโทพิการ คือ เหงื่อตกนัก ให้ตัดเอาต้นนางกุ่มรุ่น ๆ นั้นมาปอกเปลือกเสีย แล้วจึงขูดเอาเยื่อที่ติดกระดูกนั้น ๑ ผลถั่วพคั่ว ๑ แป้งเหล้า ๑ ดินสอพอง ๑ เทียนดำ ๑ พิมเสนแซกให้มาก ประสมกันเข้าก่อนให้ละเอียด แล้วทาตัวคนไข้ เหงื่อหยุด ตัวก็ร้อนออกมาแล ขนานหนึ่ง แก้กระหายน้ำให้ร้อนภายในแลให้หอบ ท่านให้เอาสังข์หนามเผาไฟ ๑ รากบัวหลวง ๑ ฝุ่นจีน ๑ รังหมาล่าเผาไฟ ๑ ชาดก้อน ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกสาระภี ๑ ดอกบุนนาค ๑ เกสรบัวหลวง ๑ การะบูน ๑ รากสลอดน้ำ ๑ รากคันทรง ๑ ก้ามปูทเลเผาไฟ ๑ ดินประสิวขาว ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดเปนแท่งละลายน้ำดอกไม้สด ทั้งกินทั้งพ่น แก้ร้อน แก้กระหายน้ำ เสโทตก ก็หายแล ตำราหนึ่งแปลกเข้ามา ดอกบุนนาก ๑ รากคันทรง ๑ ฯ

อนึ่ง เตโชธาตุชื่อว่า ชรัคคี คือ มัจจุราชนั้นไซ้มาประเล้าประโลมฝูงสัตว์ทั้งหลาย คือ ชายหญิงทั้งปวง เมื่อชีวิตจะออกจากร่างกายแห่งตนนั้น วิปริตไปต่าง ๆ คือ ให้หน้าผากตึง ในตาแลดูไม่รู้จักอะไรแล้วกลับมาเล่า หูตึงแล้วกลับไปได้ยินมาเล่า จมูกไม่รู้จักกลิ่นเหม็นแลหอมแล้วกลับมารู้จักกลิ่นเหม็นแลหอมเล่า ลิ้นไม่รู้จักรศอันใดเลยแล้วก็กลับมารู้จักรศอีกเล่า กายนั้นถูกต้องสิ่งใด ๆ ก็ไม่รู้สึกตัวก็กลับมารู้สึกตัวอีกเล่า แต่แปรไปแปรมาดังนี้ จะเทียบลงมิได้ก่อน ด้วยว่า นางชรานั้นไม่ไปทีเดียว แต่ว่า แตกร้าวทะลายอยู่แล้ว จึงได้ชื่อว่า ชรัคคีนั้นแตก จึงเปนกังกล่าวมานี้ แพทย์พึงรู้เถิด ถ้าจะแก้ ท่านให้เอาบรเพ็ด ๑ ผลพิลังกาสา ๑ ผักแพวแดง ๑ ผลมูกมัน ๑ ใบย่างทราย ๑ เอาส่วนเท่ากัน ตำผงละลายน้ำผึ้งแซกเชือกเถามวกก็ได้ น้ำนมโคก็ได้ กินแก้เตโชชื่อว่า ชรัคคี แตก แล ฯ

อันว่าเตโชธาตุชื่อว่า สันตัปปคิ นั้น ถ้าแตกแล้วเมื่อใด แพทย์ทั้งหลายจะแก้มิได้เลย ตายเปนอันเที่ยงแล ฯ

เตโชธาตุ ๔ จบแต่เท่านี้ ฯ

ปุนะจะปรัง ทีนี้ จะแสดงซึ่งวาโยธาตุ ๖ ต่อไปตามเรื่อง อุทธังคะมาวาตาแตกนั้น คือ ให้ดิ้นรน มือแลเท้าขวักไขว่ ให้พลิกตัวไป ๆ มา ๆ ให้ทุรนทุราย ให้หาวให้เรอบ่อย ๆ ถ้าจะแก้ ท่านให้เอาโกฎสอ ๑ โกฎเขมา ๑ ผลราชดัด ๑ ผลสาระพัดพิษ ๑ ผลมะแว้งทั้ง ๒ รากจิงจ้อทั้ง ๒ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ มหาหิงคุ์ ๑ เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงละลายน้ำมะงั่วก็ได้ น้ำมะนาวก็ได้ น้ำนมโคก็ได้ กินแก้ลมอุทธังคะมาวาตาแตกหายแล ฯ

อนึ่ง ลมอันชื่อว่า อโธคะมาวาต เมื่อแตกนั้น ให้ยกมือแลเท้ามิได้ ให้เมื่อยขบขัดทุกข้อทุกกระดูก ให้เจ็บปวดเปนกำลัง ถ้าจะแก้ ท่านให้เอาเปลือกมูกหลวง ๑ พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ใบสลอดกินลง ๑ ว่านน้ำ ๑ หัวแห้วหมู ๑ หญ้าลังกา ๑ ผักแพวแดง ๑ สมอไทย ๑ รากไคร้เครือ ๑ เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงละลายมูตร์โคดำก็ได้ น้ำส้มซ่าก็ได้ กินแก้ลมชื่อว่า อโธคะมาวาตา แตก หายแล ฯ

ลมชื่อว่า กุจฉิสะยาวาตา แตกนั้น ให้เจ็บท้อง ให้ท้องขึ้น ท้องพอง ให้ลั่นอยู่จ๊อก ๆ ให้เจ็บในอก ให้สวิงสวาย ให้เจ็บแดกขึ้นแดกลง ถ้าจะแก้ ให้เอามหาหิงคุ์ ๑ ลำพันแดง ๑ ดีปลี ๑ เมล็ดในสวาด ๑ ผลราชดัด ๑ ชะเอมเทศ ๑ โกฎสอ ๑ โกฎเขมา ๑ ใบย่างทราย ๑ กรุงเขมา ๑ เอาส่วนเท่ากัน ตำผงละลายน้ำผึ้งก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ กินแก้ลมชื่อว่า กุจฉิสะยาวาตา หายแล ฯ

ลมชื่อว่า โกฏฐาสะยาวาตา แตกนั้น ให้เหม็นเข้า ให้อาเจียน ให้จุกอก ให้เสียดแลแน่นน่าอก ถ้าจะแก้ ให้เอาใบสลอดกินลงต้มด้วยน้ำเกลือ ผึ่งแดดให้แห้ง ๑ ชะเอมเทศ ๑ เจตมูลเพลิง ๑ รากตองแตก ๑ รากจิงจ้อใหญ่ ๑ ขิงแห้ง ๑ ลำพันแดง ๑ พริกไทยอ่อน ๑ ใบหนาด ๑ การะบูน ๑ เอาส่วนเท่ากัน ตำผงละลายน้ำนมโคก็ได้ น้ำผึ้งก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ น้ำมูตร์โคก็ได้ กินแก้ลมชื่อว่า โกฏฐาสะยาวาตา แตก หายแล ฯ

ลมชื่อว่า อังคะมังคานุสารีวาตา คือ ลมพัดอยู่ทั่วสริระกาย ตั้งแต่กระหม่อมตลอดถึงปลายเท้าเปนที่สุด เมื่อแตกนั้น ให้โสตประสาทตึง คนเจรจามิได้ยิน แล้วก็ให้เปนหิ่งห้อยออกจากลูกตา ให้เมื่อยมือแลเท้า เมื่อยแข้งขาทั้ง ๒ ข้างดังกระดูกจะแตก ให้ปวดในกระดูกสันหลังดังว่าเปนฝี ให้สบัดร้อนสบัดหนาว ให้คลื่นเหียนอาเจียนลมเปล่า กินอาหารไม่รู้จักรศ เปนดังนี้ คือ ธาตุลมแตก ถ้าจะแก้ ให้เอาผักเป็ด ๑ ผักเสี้ยนผี ๑ ผักคราด ๑ หญ้ารังกา ๑ ผลผักชีทั้ง ๒ เมล็ดผักกาด ๑ ดอกจงกลณี ๑ สะค้าน ๑ เมล็ดแตงโม ๑ เอาส่วนเท่ากัน ตำเปนผงละลายน้ำผึ้งก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ น้ำสุราก็ได้ กินแก้วาโยธาตุอันชื่อว่า อังคะมังคานุสารีวาตา แตก หายแล ฯ

ลมชื่อว่า อัสสาสะปัสสาสะวาตา นั้น จะได้แตกหามิได้ ลมอันนี้ คือ ลมธาตุอันพัดให้หายใจเข้าแลออก ถ้าสิ้นลมหายใจเข้าแลออก หรือลมหายใจเข้าแลออกขาดแล้วเมื่อใด ก็ตายเมื่อนั้น แสดงซึ่งวาโยธาตุโดยสังเขปจบแต่เท่านี้ ฯ

บัดนี้ จะแสดงซึ่งอาโปธาตุ ๑๒ ประการโดยวิตถารใหม่เล่า ปิตตัง คือ ดี ถ้าพิการหรือแตก ทำให้คนผู้นั้นหาสติมิได้ โทษทั้งนี้เปนเพราะดีพิการ ให้แพทย์พึงรู้เถิด ถ้าจะแก้ ให้เอาเทียนตำหนัก ๒ บาท เทียนตาตั๊กแตนหนัก ๒ บาท เทียนเข้าเปลือกหนัก ๒ บาท เปลือกมะทรางหนัก ๒ บาท เปลือกไข่เน่าหนัก ๒ บาท เทพทาโรหนัก ๒ บาท แซกดีจรเข้ ๑ บดปั้นเปนแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้สดแซกพิมเสน กินแก้ลมเพ้อพกคลั่งไคล้หายแล ฯ ขนานหนึ่ง แก้ลง เอาผลจันทน์ ๑ ผลเบญจกานี ๑ เปลือกมะขามเกราะ ๑ ครั่ง ๑ เปลือกผลทับทิม ๑ เปลือกผลมังคุด ๑ กำยาน ๑ ผลตะบูน ๑ ฝิ่น ๑ เอาส่วนเท่ากัน บดปั้นเปนแท่งละลายน้ำเปลือกผลทับทิม กินแก้ลงหายแล ฯ

เสมหัง คือ เสมหะพิการหรือแตก ให้สบัดร้อนสบัดหนาว ให้จับไข้เปนเวลา บางทีให้ลงเปนโลหิตเปนเสมหะเน่า ให้ปวดมวน ถ้าจะแก้ ให้เอาผลผักชีลา ๑ ลำพัน ๑ เปลือกมูลหลวง ๑ น้ำเต้าขม ๑ กระดอมทั้งห้า ๑ แก่นขี้เหล็ก ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินแก้จับเสียก่อน แล้วจึงแต่งยาแก้เสมหะต่อไปเถิด ถ้าจะแก้เสมหะพิการ ให้ต้มยาชำระเสียก่อน ท่านให้เอาใบมะขามกำมือ ๑ ใบส้มป่อยกำมือ ๑ ฝางเสนกำมือ ๑ เถาวัลย์เปรียงกอบ ๑ หัวแห้วหมู ๑ สมอไทยเท่าอายุคนป่วย หอม ๗ หัวต้ม ๓ เอา ๑ แซกดีเกลือตามธาตุหนักธาตุเบา แล้วจึงให้กินยาแก้บิดทั้งปวงต่อไปเถิด ฯ

ยาแก้บิดเปนเพื่อธาตุพิการ ท่านให้เอาผลมะม่วงกะล่อน ๑ ผลเบญจกานี ๑ ผลจันทน์ ๑ ครั่ง ๑ ดินกิน ๑ เปลือกมะขามขม ๑ เปลือกมังคุด ๑ เทียนดำ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ยางตะเคียน ๑ น้ำประสานทอง ๑ สีเสียดทั้ง ๒ ผิวมะกรูด ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ฝิ่น ๒ สลึง ตำเปนผง แล้วใส่เข้าในผลทับทิม แล้วเอาขี้วัวพอกชั้นหนึ่ง ดินพอกชั้นหนึ่ง สุมไฟแกลบให้สุก แล้วเอาดินออกเสีย บดผลทับทิมปั้นแท่งไว้ละลายด้วยน้ำไพลหรือน้ำปูนใสก็ได้ กินแก้ปวดมวน แก้โลหิตหรือเสมหะเน่า หายแล ฯ ถ้ายังมิหยุด ท่านให้เอายาแก้ดีพิการนั้นมาแก้ ก็ได้เหมือนกัน แล้วจึงแต่งยาบำรุงธาตุที่ชื่อว่า ธาตุบัญจบ ให้กินเถิด ฯ

ถ้าจะทำยาธาตุบัญจบ ท่านให้ถามตัวคนไข้ว่า เกิดวันใด เดือนใด ปีใด ข้างขึ้นหรือข้างแรม เขาบอกแล้ว จึงพิจารณาดูว่า เปนฤดูธาตุอันใด ให้เอายาประจำฤดูธาตุอันนั้นตั้งไว้เปนประธาน แล้วให้คิดถอยหลังลงไป แล้วเอาวันแลเดือนฤดูมนุษย์ปฏิสนธินั้นวันใด เดือนใด ฤดูใด ธาตุอันใด ให้เอายาที่ประจำธาตุแลฤดูนั้นมาประสมกันเข้ากับยาประจำธาตุเมื่อแรกประสูตร์นั้นเปนยา ๒ ขนาน แล้วจึงแซกจันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา ๑ ชลูด ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ ขอนดอก ๑ ยา ๙ สิ่งนี้แซกต้มกินหายแล ฯ

ปุพโพ คือ หนอง พิการหรือแตก ให้ไอเปนกำลัง ให้กายซูบผอมนัก ให้กินอาหารไม่รู้จักรศ มักเปนฝีในท้อง ๗ ประการ ถ้าจะแก้ ให้เอารังมดแดงรัง ๑ ใบมัดกา ๑ เทียนดำ ๑ สมอเทศ ๑ รากตองแตก ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ ตำลึง หัวหอม ๑ ตำลึง ๑ บาท ขมิ้นอ้อยยาวองคุลี ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ แซกดีเกลือตามธาตุหนักแลธาตุเบา ชำระปุพโพร้ายเสียก่อน แล้วจึงแต่งยาประจำธาตุในเสมหะก็ได้ ถ้ามิฟัง ให้แต่งยานี้ ให้เอารากมูกหลวง ๑ ผลราชดัด ๑ ตรีกฎุก ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ รากกะพังโหม ๑ หัวเข้าข้า ๑ หอมแห้ง ๑ เอาส่วนเท่ากัน ตำเปนผงละลายน้ำร้อนก็ได้ สุราก้ได้ น้ำต้มก็ได้ กินหายแล ฯ

โลหิตัง คือ โลหิตพิการหรือแตกก็ดี ท่านกล่าวไว้ว่า โลหิตร้าย แพทย์สมมติว่า เปนไข้กำเดาเพราะโลหิตกำเริบ ถ้าโลหิตแตก ให้ทำพิษต่าง ๆ บางทีให้ปวดสีสะ ให้ในตาแดงเปนสายโลหิต ให้งงสีสะ ให้หนักหน้าผาก เพราะโลหิตกำเริบ ถ้าผุดขึ้นภายนอกให้เปนวงแดง หรือเขียว หรือเหลือง แล้วทำพิษต่าง ๆ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง แพทย์ทั้งปวงสมมติว่า เปนไข้รากสาด อนึ่ง ปานดำ ปานแดง สายฟ้าฟาด จอมปราสาท เข้าไหม้น้อย เข้าไหม้ใหญ่ หงษ์ระทด เปลวไฟฟ้า ประกายดาด ประกายเพลิง ดาวเรือง ฟองสมุท มหาเมฆ มหานิล ลำลาบเพลิง ไฟลามทุ่ง สมมติเรียกชื่อต่าง ๆ เพราะโลหิตแตกกระจายซ่ายออกจากผิวหนังข้างนอก ฝ่ายข้างภายในนั้นเล่า ก็ทำพิษต่าง ๆ บางทีให้ลงเปนโลหิต บางทีให้อาเจียนเปนโลหิต บางทีโลหิตแล่นเข้าจับหัวใจ ให้คลั่งคลุ้มทุรนทุราย ให้เลมอเพ้อพกไป หาสติสมปฤดีมิได้ แพทย์ทั้งปวงสมมติว่า สันนิบาตโลหิต ก็ว่า ทั้งนี้ เปนเพื่อโลหิตสมุฏฐาน บางทีให้ร้อนให้หนาว บางทีให้ชักมือกำเท้ากำ บางทีให้ขัดหนักแลขัดเบา บางทีให้เบาเปนสีแดง สีเหลือง แลดำก็มี ให้เปนไปต่าง ๆ แต่ว่า โลหิตพิการแลแตกอย่างเดียว ถ้าในธาตุน้ำพิการหรือแตกก็ดี เปน๒, ๓, ๔, ๕, ประการแล้ว จะแก้มิได้เลย ผู้นั้นจะถึงแก่ความตายใน ๓ วันนั้น ถ้าแต่ประการใดประการหนึ่ง ๒ หรือ ๓ สิ่งก็ดี ให้แก้ดูก่อน อันโลหิตแตกซ่านออกมาตามผิวหนังนั้น ท่านให้เอายาไข้เหนือมาแก้แลเอายากาฬมาแก้เถิด ถ้าแพทย์จะเอายาที่เผ็ดแลร้อนมา แก้ไม่ได้ ชอบแต่ยาอันเย็นแลสุขุมหรือหอมแลฝาดขมมาแก้ จึงจะระงับ ซึ่งโลหิตกระทำภายในทรวงอกให้ลงโลหิต อาเจียนโลหิต ท่านให้เอายาลักปิดแลยาแก้อติสารมาแก้เถิด ถ้ามิฟัง ให้เอายาในคัมภีร์ธาตุมาแก้เถิด อันว่ายาในคัมภีร์ธาตุนี้ ให้แก้แต่ธาตุ คือ โลหิตแตก ๚ะ๛