สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน/คำชี้แจง
๑. การเรียงลำดับคำในสารานุกรมนี้ได้ใช้หลักการเรียงตามหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓
๒. การเขียนทับศัพท์อักษรโรมันและเขียนชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ ถือตามหลักประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องบัญญัติศัพท์ ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๘๕ ยกเว้นคำบางคำที่เคยใช้กันมาจนชินแล้ว ก็คงเขียนตามที่เคยใช้กันมา เช่น ตัว J เมื่อถอดเป็นอักษรไทย เท่าที่เคยใช้กันมา เป็น จ. ก็ได้ เป็น ย. ก็มี ในสารานุกรมนี้จะยึดหลักตามที่เคยใช้มาแล้วแต่โบราณ หรือในกรณีเป็นที่สงสัย ก็จะเก็บไว้ทั้งสองแห่ง คือทั้งที่อักษร จ. และ ย. เพื่อสะดวกแก่ผู้ค้น
๓. ชื่อคนและชื่อเมืองในต่างประเทศ ถ้าเคยเรียกขานกันมาจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จะคงเรียกอย่างเดิม เช่น “กวางตุ้ง” ไม่เรียกว่า "แคนตอน" แต่เพื่อประโยชน์แก่ชาวต่างประเทศจะวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่า “(Canton)”
๔. ชื่อคนและชื่อเมืองหรือประเทศเป็นต้น ซึ่งเป็นของชาติใด ถ้าทราบได้ว่าชาตินั้นออกเสียงอย่างไร ก็จะนำเสียงนั้นมาเขียนเป็นคำตั้งไว้ด้วย
๕. ศักราชใช้พุทธศักราชเป็นหลัก
๖. มาตราชั่ง ตวง วัด ใช้มาตราเมตริกเป็นหลัก
๗. คำที่เป็นชื่อย่อยของสิ่งบางอย่างจะไม่แยกเก็บที่คำนั้นๆ เช่น คำ “ข้างกระดาน” หรือ “ต่อ” ซึ่งเป็นชื่อย่อยบอกประเภทของเรือ ไม่แยกเก็บที่คำนั้นๆ แต่จะไปรวมอธิบายที่คำ “เรือ” เว้นแต่คำใดที่อยู่ในความสนใจเป็นพิเศษ และแยกออกอธิบายแล้วจะมีเรื่องอธิบายได้มาก จึงจะแยกออกมาเก็บอธิบายต่างหากจากคำที่เป็นชื่อรวม
๘. คำที่ใช้เป็นคำนำหน้าคำอื่น เช่น “พระ” มีมากด้วยกัน ถ้าจะเก็บที่คำพระทั้งหมด ก็จะเป็นบัญชีเป็นแถวไปตั้งหลายหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำใดที่พอจะแยกออกได้ เช่น พระศรีรัตนศาสดาราม พระสูตร ก็จะเก็บที่ ศรีรัตนศาสดาราม และสูตร ถ้าค้นหาที่คำ “พระ” ไม่พบ ก็ขอให้ค้นที่คำซึ่งเป็นชื่อของสิ่งนั้น ๆ โดยตรง.