หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน กับผลไม้ ของว่าง และขนม/ประวัติ

จาก วิกิซอร์ซ
ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร


ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ บิดาชื่อหมื่นนราอักษร (ปิ่น) มารดาชื่อหุ่น ปู่ของท่านผู้หญิงชื่อหมวกเป็นคหบดีชาวบางตำหรุ ย่าชื่อคำ เป็นคหปตานีชาวบางยี่ขัน มารดาของท่านผู้หญิงเป็นบุตรหลวงรามณรงค์ (เอม) ซึ่งเป็นบุตรหลวงธรเณนทร์ผู้เป็นน้องเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีตรัสเล่าว่า ภรรยาของหลวงธรเณนทร์ชื่อ เจ้าสุพุทา ภรรยาของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ชื่อเจ้าสุมณฑา เป็นน้องของย่าเจ้าจอมมารดาดวงคำ และเจ้าพระยารัตนาพิพิธกับหลวงธรเณนทร์ รับมาเป็นเอกภรรยา เมื่อกลับจากตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไปราชการสงคราม ณ เมืองเวียงจันทน์ เจ้าพระยาธรรมา (เสือ) บุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) จึงเป็นญาติกับมารดาท่านผู้หญิงทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา ส่วนเจ้าพระยาธรรมา (ละมั่ง) นั้นเป็นบุตรภรรยาอื่นของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ จึงเป็นญาติกับมารดาของท่านผู้หญิงแต่ทางฝ่ายบิดา ท่านผู้หญิงเล่าว่า เจ้าพระยาธรรมา (เสือ) ถึงอสัญกรรมก่อนท่านเกิด ท่านจำได้แต่เจ้าพระยาธรรมา (ละมั่ง) ซึ่งได้ให้ความเมตตาปรานีแก่ท่านเป็นอย่างมาก

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เกิดและอยู่ในบ้านของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ที่ตำบลสำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นบ้านใหญ่ ที่มีทายาทผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายรายด้วยกัน ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมารดาท่านผู้หญิงกลีบนั้น ท่านเพิ่งขายเสียเมื่อทางราชการเริ่มรื้อกำแพงเมืองในแถบนั้น

ในปฐมวัน ท่านผู้หญิงมิได้มีโอกาสวิสาสะกับญาติฝ่ายบิดาเลย อาจเป็นเพราะการคมนาคมไม่สะดวก และเมื่อบิดาของท่านทำการสมรสแล้ก็มาอยู่กับมารดาของท่านที่บ้านตำบลสำราณราษฎร์ ท่านผู้หญิงจึงได้มีการวิสาสะกับญาติฝ่ายมารดาอย่างสนิทสนมตลอดมาโดยเฉพาะเจ้าจอมพุ่ม ในรัชกาลรัชกาลที่ ๓ บุตรีของท่านเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) ซึ่งเป็นบุตรผู้พี่ของมารดาท่านผู้หญิงมีความเมตตารักใคร่ท่านมาก เนื่องจากเห็นว่าท่านเป็นผู้มีลักษณะดีและมีรูปสมบัติ ท่านผู้หญิงเล่าว่าท่านเจ้าจอมพุ่มได้ให้คนสนิทของท่านมารับท่านผู้หญิงจากเรือนมารดาของท่านไปเลี้ยงบนตึกใหญ่ตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน ท่านเจ้าจอมอาบน้ำแต่งตัวเกล้าจุกให้ ให้รับประทานอาหารกลางวันและนอนกลางวันกับท่าน และให้นำตัวกลับมาส่งที่เรือนมารดาต่อเวลานอนกลางคืน

เมื่อท่านผู้หญิงอายุ ๗ ปี เจ้าจอมพุ่มถึงอนิจกรรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจามรีในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเจ้าจอมมารดาเป็นบุตรีของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (ชื่อเจ้าจอมมารดาปุก) จึงทรงรับท่านเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย เมื่อพระองค์เจ้าจามรีสิ้นพระชนม์แล้ว เจ้าดวงคำเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านารีรัตนา และพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ซึ่งนับทางสายเวียงจันทน์เป็นบุตรผู้พี่ของมารดาของท่านผู้หญิงได้ขอตัวท่านไปอยู่ด้วยที่ตำหนัก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีตรัสเล่าประทานธิดาของท่านผู้หญิงอยู่บ่อย ๆ ว่าเมื่อท่านผู้หญิงอยู่ที่ตำหนักของพระองค์ตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงแรกรุ่นนั้น ท่านผู้หญิงเป็นผู้ที่มีรูปร่างหน้าตางดงามและมีอัธยาศัยใจคอน่ารักมาก ท่านเจ้าจอมมารดาจึงดำริที่จะนำขึ้นถวายตัวในรัชกาลที่ ๕ แต่เมื่อบิดาของท่านผู้หญิงกลับไปเยี่ยมบ้าน แล้วบิดาพาหนีเข้าสวนบางยี่ชันไปฝากไว้กับมารดาของท่านเอง บิดาของท่านผู้หญิงได้ถึงแก่กรรมลงในระหว่างนั้น แต่ได้สั่งมารดาของท่านผ้หญิงไว้ว่า เพื่อความปลอดภัยทั้งปวงมิให้รับท่านผู้หญิงกลับเข้าไปอยู่ด้วยในพระนคร จนกว่าจะได้มีครอบครัวเป็นหลักฐาน ท่านผู้หญิงกลับ มหิธร จึงต้องอยู่ในสวนกับย่าของท่านเป็นเวลาประมาณ ๓ ปี และมีโอกาสได้วิสาสะกับญาติทางฝ่ายบิดาเป็นครั้งแรก เมื่อท่านมีอายุ ๑๕ ปีเศษ

เมื่ออยู่ในวังท่านผู้หญิงได้รับการอบรมวิชาการ ตามแบบกุลสตรีในพระบรมมหาราชวังคือ ฝึกหัดกิริยามารยาท ฝึกหัดการเย็บปักถักร้อย การทำดอกไม้ และการปรุงเครื่องหอมทั้งแบบเก่าและแบบสมัยใหม่สำหรับในครั้งนั้น แต่เมื่อต้องไปอยู่ในสวนท่านได้รับการอบรมให้รู้จักการทำกับข้าวของกินแบบโบราณ และให้รู้จักเก็บหอมรอมริบ ท่านผู้หญิงต้องดูแลการเก็บผลไม้ เก็บผัก ตลอดจนตัดใบตองที่ในสวน จัดใส่เรือให้คนใช้นำไปขาย ในยามว่างท่านก็ทำการฝีมือได้ที่ได้รับการฝึกหัดมาจากในวัง เช่น ถักตาชุน ร้อยดอกไม้ และทำเครื่องใบตอง เช่น ห่อของและเย็บกระทงแบบต่าง ๆ ตั้งแต่กระทงใหญ่สำหรับถวายสังฆทานไปจนถึงกระทงเจิม กระทงกระบุง และ กระทงใส่ขนมคำเล็ก ๆ เช่นกระทงขนมตาล นอกจากนี้ยังได้รับสบงจีวรมาเย็บเป็นการหาลำไพ่ด้วย การร้อยมาลัยและทำเครื่องใบตองต่าง ๆ นี้ท่านชอบมาก และได้ทำตลอดมาจนถึงคราวชราภาพและนัยน์ตาเสียท่านจึงหยุดทำสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ในสมัยหลังนี้เมื่อท่านเห็นผู้ใดใช้ชามอ่างหรือปิ่นโตใส่เครื่องสังฆทานถวายพระท่านมักจะบ่นเสมอว่า คนสมัยนี้ไม่รักษาประเพณี ชอบทำอะไรแต่พอสุกเอาเผากินกันทั้งนั้น

ธรรมดาดอกไม้หอมย่อมส่งกลิ่นไปไกลฉันใด คุณงามความดีของท่านผู้หญิงก็ฉันนั้น แม้ท่านจะหมกตัวอยู่ในสวนซึ่งในขณะนั้นเป็นถิ่นอันห่างไกลความเจริญทั้งปวง แต่กิตติศัพท์ความดีความงามของท่านก็กระจายไปไกล คุณหญิงจำเริญประเสริฐศุภกิจ น้องสาวของท่านเจ้าพระยามหิธรสามีท่านเองได้เล่าว่า เมื่อท่านผู้หญิงมีอายุ ๑๘ ปี ท่านเจ้าคุณเพ๊ชรรัตน์ (โมรา ไกรฤกษ์) ผู้เป็นบิดาของเจ้าพระยามหิธรและคุณหญิงจำเริญได้ทราบกิตติศัพท์ความดีและความงามของท่านผู้หญิง ก็ปรารถนาจะได้ไว้เป็นสะใภ้จึงจัดให้คุณหญิงจำเริญประเสริฐภศุกิจซึ่งขณะนั้นมีอายุ ๑๑ ปี และคุณหญิงเอี่ยมจรรยายุตกฤตย์บุตรสะใภ้คนใหญ่กับคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) หลานสาวของท่านเจ้าคุณพากันไปดูตัวท่านผู้หญิงโดยแสร้งทำเป็นทีว่าจะไปขอซื้อผลไม้ที่ในสวน คุณหญิงจำเริญเล่าว่า เมื่อไปถึงบ้านสวนของท่านผู้หญิงก็ได้แลเห็นความสะอาดและความมีระเบียบเรียบร้อยอยู่ทั่วไป ทั้งตัวท่านผู้หญิงเองก็มีรูปร่างหน้าตางดงามและมีกิริยามารยาทเรียบร้อยผิดกับคนทั้งปวงในตำบลนั้น จึงกลับมาเรียนท่านเจ้าคุณเพ็ชรรัตน์ว่า ท่านผู้หญิงเป็นผู้ที่สมควรแก่การที่จะเป็นพี่สะใภ้ของท่าน ท่านเจ้าคุณเพ็ชรรัตน์จึงขอให้ท่านผู้หญิงจับภรรยาพระมหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ผู้เป็นพี่สาวของท่านเจ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอท่านผู้หญิงกลีบให้แก่เจ้าพระยามหิธรผู้บุตรชาย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นคุณละออและเป็นเสมียนอยู่ที่อรรถวิจารณ์ศาลา (คือศาลฎีกา) มีเงินเดือนเพียง ๓๐ บาทเมื่อมีคู่หมั้นแล้วมารดาของท่านผู้หญิงจึงรับตัวกลับมาอยู่ในบ้านที่ตำบลสำราญราษฎร์ตามเดิม เพื่อเตรียมตัวทำการวิวาหมงคล ในระหว่างพรรษานั้นคู่หมั้นของท่านก็ได้บวชเป็นภิกษุและจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ในยามชรา ท่านผู้หญิงมีความสุขมากเมื่อบุตรธิดาขอให้เล่าเรื่องการแต่งงานของท่าน ท่านเล่าว่าพระยามหิธรกับท่านได้หมั้นกันด้วยทองหมั้นหนัก ๒๐ บาท กองทุนแต่งงานฝ่ายละ ๕ ชั่ง มีสินสอด ๒ ชั่ง ผ้าไหว้ ๓ สำรับ ฝ่ายเจ้าบ่าวมาปลูกเรือนหอให้ในที่ของมารดาท่านที่ตำบลสำราญราษฎร์ เป็นเรือนไทยฝาประกน ท่านได้เคยเห็นคู่หมั้นของเมื่อบวชเป็นภิกษุและนั่งเรือยพายมาบิณฑบาต ในคลองหน้าบ้านครั้งหนึ่ง และได้เห็นอีกครั้งหนึ่งก็ในวันแต่งงานเลยทีเดียว ในวันแต่งงานนั้นตัวท่านนุ่งผ้าลายขัดมัน คาดเข็มขัดเงินใส่เสื้อมีเอ็นปลายเอ็วแหลมติดลูกไม้โดยรอบ และห่มแพรจีบสไบเฉียงไม่ได้สวมรองเท้า ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีเหลืองใส่เสื้อราชปะแตน สวมถุงน่องรองเท้า การแต่งงานในสมัยนั้นย่อมเชิญแต่เฉพาะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพของผู้ปกครองทั้งสองฝ่าย การรดน้ำท่านจึงรดที่ศีรษะคู่บ่าวสาวและรดคนละมาก ๆ จนศีรษะเปียกโชกและเสื้อผ้าก็เปียกด้วย ท่านผู้หญิงได้จัดผ้าม่วงสีกรมท่าไว้เป็นผ้าห้อยหอ สำหรับให้เจ้าบ่าวผลัดในเวลาส่งตัวผืนหนึ่ง ผ้าห้อยหอผืนนี้ ท่านได้จัดให้เป็นผ้าห้อยหออีกครั้งหนึ่ง เมื่อดุษฎีบุตรีของท่านแต่งงานกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ภายหลังการแต่งงานของท่าน ๓๖ ปี

ท่านเจ้าพระยามหิธรมีความพอใจในความสามารถของท่านผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เคยเล่าให้ลูก ๆ ฟังว่า ท่านผู้หญิงทำกับข้าวเก่งมีรสมือดี และที่น่าประหลาดที่สุดคือ ฝีมือในการทำน้ำปลามะกอกของท่าน ในมื้อแรกภายหลังการแต่งงานนั้นเหลืองน่ารับประทานมาก ไม่ดำเหมือนน้ำปลามะกอกธรรมดาที่ผู้อื่นทำ เมื่อท่านเจ้าคุณเล่าเช่นนี้ ท่านผู้หญิงก็กล่าวด้วยความถ่อมตนว่า ท่านก็มิได้มีความสามารถพิเศษแต่อย่างใด แต่ที่น้ำปลามะกอกที่ทำให้ท่านเจ้าคุณรับประทานมื้อแรกไม่ดำนั้น อาจจะเป็นศุภนิมิตว่าท่านเจ้าคุณจะมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไปเท่านั้นเอง

เมื่อแต่งงานได้ ๖ เดือน ท่านเจ้าคุณเพ็ชรรัตน์ต้องการให้บุตรชายของท่านกลับไปอยู่บ้านกับท่านที่ตำบลตึกแดงตามเดิม ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร จึงต้องย้ายตามสามีไปอยู่ในบ้านของเจ้าคุณเพ็ชรรัตน์ ขณะนั้นท่านผู้หญิงอายุได้ ๑๙ ปีเศษ ท่านผู้หญิงต้องดูแลบ้านเรือนตลอดจนทำอาหารสำหรับสามีด้วยตนเอง และได้ทำตนให้เป็นที่รักใครเอ็นดูของท่านบิดาและมารดาของสามีเป็นอันมาก นอกจากนั้นยังต้องวางตนให้เข้ากับญาติและผู้อื่นที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ ๑๐๐ คนนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นการลงอาญาข้าคนเป็นของธรรมดาของหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูง แต่ท่านผู้หญิงเป็นผู้มีเมตตาจิตเป็นอันมาก จึงพยายามอ้อนวอนขอท่านเจ้าคุณบิดาของสามีซึ่งเป็นที่เกรงขามของบุตรภริยาตลอดจนคนผู้อยู่ในอำนาจของท่านทั้งหมดนั้น มิให้ลงอาญาแก่ข้าคนได้สำเร็จเป็นหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้คนในบ้านมีความนิยมนับถือและพวกผู้ที่อยู่ในข่ายแห่งการถูกลงอาญาก็มีใจรักใคร และรู้กตัญญูรู้คุณท่านผู้หญิงเป็นอันมาก

เมื่อแต่งงานกันแล้วไม่นาน ท่านเจ้าพระยามหิธรได้เงินเดือนขึ้นเป็น ๔๐ บาท และสอบไล่วิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตเป็นคนแรกของประเทศไทย ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นบำเหน็จทางวิชาการ นอกจากนั้นยังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิและได้เป็นอธิบดีศาลแพ่งเมื่อมีอายุเพียง ๒๓ ปี ครั้นอายุ ๒๕ ปี ก็ได้เป็นปลัดทูลฉลอง และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระจักรปาณี ในระหว่างนั้นท่านผู้หญิงต้องมีภาระเพิ่มขึ้นมากเพราะมีบุตรธิดาเพิ่มขึ้นทุกปี และท่านสามีมีความเจริญในทางราชการขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่านต้องปรับปรุงเวลาทำงานบ้านเพื่อรับรองแขกเหรื่อที่เป็นมิตรสหายและเป็นศิษย์ของสามีในวิชากฎหมายอยู่มิได้เว้นแต่ละวัน บางวันมีแขกมารับประทานอาหารด้วยมื้อละหลาย ๆ คน โดยมิได้ทราบล่วงหน้า ท่านผู้หญิงก็ต้องตระเตรียมพลิกแพลงการประกอบอาหารด้วยความชำนาญแล้วมาร่วมรับประทานด้วย นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณบิดาของสามียังเป็นผู้ที่เคร่งครัดในการฝึกคนในบ้านให้รู้จักมัธยัสถ์และทำตนให้เป็นประโยชน์ ท่านมีเลขอยู่ในสังกัดเป็นจำนวนมากและพวกเลขเหล่านั้นต้องผลัดกันนำมาผลิตผลจากนาจากสวน ได้แก่ข้าวเปลือก ปลาแห้ง มะพร้าว น้ำตาล และกล้วย เป็นต้น มาส่งท่านเป็นประจำตลอดปี ท่านเจ้าคุณบิดาแนะนำให้ท่านผู้หญิงผู้เป็นบุตรสะใภ้รับซื้อ มะพร้าว น้ำตาล และกล้วย ซึ่งเลขของท่านนำมาให้ด้วยราคาถูก และให้นำไปประกอบเป็นขนมเพื่อขายเป็นลำไพ่ของท่านผู้หญิง ท่านผู้หญิงเล่าว่า โดยวิธีนี้ท่านผู้หญิงจึงมิได้มีเวลาอยู่ว่างเลย เพราะนอกจากต้องทำงานอื่น ๆ ในหน้าที่แม่บ้านของข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นปลัดกระทรวงแล้ว ยังต้องจัดทำขนมต่าง ๆ ให้คนนำออกเร่ขายในบริเวณบ้านทุกวัน เพื่อปฏิบัติให้ต้องตามความปรารถนาดีของท่านบิดาของสามีด้วย ซึ่งเหตุให้ท่านเพิ่มความเอ็นดูท่านผู้หญฺงยิ่งขึ้น

เมื่อท่านบิดาของสามีถึงอนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น เจ้าพระยามหิธร ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระจักรปาณีและมีตำแหน่งเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม ต้องทำหน้าที่ผ้จัดการศพร่วมกับพระยาจรรยายุตกฤตย์พี่ชาย ท่านผู้หญิงก็ต้องเป็นแม่งานจัดเตรียมการเกี่ยวกับงานพระราชทานเพลิงศพตลอดจนรับรองแขกซึ่งมีใจเอื้อเฟื้อมาช่วยเหลือเป็นจำนวนมากมาย เพราะขณะนั้นเจ้าพระยามหิธรเป็นปลัดทูกฉลองที่เสนาบดีมอบอำนาจเด็ดขาดให้ในกระทรวงยุติธรรม งานเมรุคราวนี้ได้กระทำอย่างใหญ่โตที่วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส

ภายหลังงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าคุณบิดาแล้ว จึงทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้สามีของท่านผู้หญิงเป็นพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ในขณะนี้ท่านผู้หญิงยังมิได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ท่านจึงยังมิได้เป็นคุณหญิง แม้สามีได้เป็นพระยาแล้ว คนทั้งหลายก็ยังคงเรียกท่านว่า คุณนายกลีบ ทั้งนี้เพราะในครั้งนั้นยังมิได้มีพระราชบัญญัติคำนำนามสตรี นอกจากนั้นฐานะทางชีวิตครอบครัวของท่านก็ยังอาจมีโอกาสผันแปรได้ เนื่องจากในสมัยนั้นชายอาจมีเอกภรรยาได้หลายคน เช่น ภรรยาเดิม ภรรยาแต่งงาน และภรรยาพระราชทาน เป็นต้น เมื่อภริยายังมิได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน สามีมีสิทธิ์ที่จะยกย่องหญิงคนใดเป็นภรรยา อย่างออกหน้าออกตาเมื่อใดก็ได้ แต่ท่านผู้หญิงก็สามารถรักษาฐานะทางครอบครัวของท่านไว้ได้อย่างน่าพิศวง

ระยะนี้ท่านผู้หญิงมีโอกาสวางมือจากการทำขนมขายได้เนื่องจากสิ้นบุญท่านเจ้าคุณบิดาของสามีแล้ว แต่ภาระในสังคมของท่านผู้หญิงย่อมมากขึ้นตามตำแหน่งฐานะของสามี และเนื่องจากท่านสามีเป็นผู้ที่มีความฉลาดเฉียบแหลม และมีนิสัยรักการก้าวหน้า ท่านผู้หญิงจึงต้องปรับปรุงตนให้ก้าวทันสามีอยู่เสมอ ระหว่างนี้ท่านเจ้าคุณสามีได้พาท่านผู้หญิงข้ามฟากมาฝั่งพระนครแล้ว นั่งรถม้าออกไปเยี่ยมญาติมิตร และดูการมหรสพต่าง ๆ บ่อยขึ้น ท่านผู้หญิงกล่าวว่าชาตาชีวิตของท่านเริ่มแจ่มใสรุ่งเรือง แม้แต่จะเล่นไพ่ก็รวยไพ่

ในระหว่างที่สามีเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรมนั้น ท่านผู้หญิงได้เฝ้าแหนและคุ้นเคยกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา เชษฐภคินีของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงเป็นเสนาบดี พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีได้ทรงนำท่านผู้หญิงขึ้นเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีศิวรินทิราบรมราชเทวี และเฝ้าเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่น ๆ ในพระบรมมหาราชวังเนือง ๆ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีตรัสเล่าว่า เพื่อพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีทรงแนะนำ ให้ทรงรู้จักท่านผู้หญิงในฐานะภริยาปลัดทูลฉลองนั้น พระองค์ทรงตกพระทัยมากด้วยไม่ได้ทรงคิดว่าเด็กผู้หญิงผู้เป็นหลานของเจ้าจอมมารดาของพระองค์และที่มารดาพาหนีไปจากตำหนักของพระองค์เมื่อ ๑๐ กว่าปีมานี้เอง จะได้ดีมีเกียรติยศถึงกับเป็นภรรยาเจ้าคุณปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม

ในปลาย พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้เกิดกาฬโรคขึ้นที่ตำบลตึกแดง กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดียุติธรรมจึงทรงชวนให้เจ้าพระยามหิธร และท่านผู้หญิงอพยพไปพักอยู่ที่ตำหนักซึ่งทรงปลูกไว้สำหรับเจ้าจอมมารดาของพระองค์ออกมาพักที่วังเชิงสะพานเทเวศร์เป็นเวลาหลายเดือน

ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น พระยาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงขยายพระนครมาทางทิศเหนือและทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิตเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง เจ้านายฝ่ายในบางพระองค์และเจ้าจอมบางคนที่ได้มีโอกาสย้ายาอยู่ที่พระราชวังสวนดุสิตด้วย เจ้าพระยามหิธรได้ซื้อที่ที่ถนนซังฮี้นอก ซึ่งบัดนี้เรียกว่าถนนราชวิธี และไปปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่ขึ้นที่นั่น บ้านถนนราชวิถีนี้อยู่ใกล้พระราชวังดุสิตและอยู่เยื้องกับสวนนอก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เจ้าจอมมารดาซุ่มในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ซึ่งเป็นบุตรผู้พี่ผู้หนึ่งของเจ้าพระยามหิธร และอยู่ตรงข้ามกับบ้านที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภและพระยาประเสริฐศุภกิจน้องชายทั้ง ๒ ของท่านเจ้าจอมมารดาชุ่มด้วย ท่านผู้หญิงจึงมีโอกาสได้คุ้นเคยกับท่านเจ้าจอมมารดาชุ่ม ตลอดจนญาติอื่น ๆ ของสามีที่บ้านใหม่นี้ ขณะนั้นคุณหญิงจำเริญประเสริฐศุภกิจ ได้ทำการสมรสกับพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) ลูกผู้พี่ของท่านเอง และย้ายมาอยู่บ้านถนนราชวิถีแล้ว ท่านผู้หญิงจึงไปมาหาสู่และไปที่ตำหนักท่านเจ้าจอมมารดาชุ่มในพระราชวังดุสิตอยู่เนือง ๆ ท่านได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเจ้าจอมมารดาชุ่มได้กรุณากราบบังคมทูลเบิกตัวขึ้นเฝ้าในฐานะน้องสะใภ้ผู้หนึ่งของท่าน

ตั้งแต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรง แผ่เมตตาบารมีมาปกเกล้าท่านผู้หญิงเป็นอเนกประการ เมื่อต้นผลไม้ที่ทรงปลูกไว้ในสวนดุสิตออกผลก็โปรดส่งมาพระราชทานเจ้าพระยามหิธรและท่านผู้หญิงเป็นหลายครั้ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ ก็มีของฝากพระราชทานคราวเสด็จกลับจากประเทศชวา ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานของฝากเป็นผ้าสักหลาดอ่อนสำหรับห่มคลุมกันหนาว ๒ ผืนสีแดงและสีเทา มีตรา จ.ป.ร. และเมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปได้รับพระราชทานกระเป๋าถือลูกปัดร้อยอย่างสวย กระเป๋าถือใบนี้ท่านผู้หญิงเขียนกระดาษด้วยลายมือท่านสอดไว้ว่า “ได้รับพระราชทานเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ ที่พระที่นั่งอัมพร” และท่านได้นำออกมาให้หม่อมงามจิตต์ ฉัตรชัย ดู เมื่อหม่อมงามจิตต์มาขอสัมภาษณ์ท่านใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เรวดี ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานตราจตุตถจุลจอมเกล้าฝ่ายใน โดยประการฉะนี้ท่านจึงเพิ่งได้เป็นคุณหญิงโดยสมบูรณ์

ท่านผู้หญิงเล่าว่า เมื่อมีข่าวว่าท่านจะได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าในครั้งนั้น ได้มีท่านผู้มีพระคุณแสดงความเมตตาจะช่วยแต่งตัวเต็มยศให้ท่านถึง ๓ ราย คือ

๑. พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณี ๒. เจ้าจอมมารดาชุ่ม และ ๓. พระองค์เจ้านารีรัตนา และ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยนั้นเจ้านายฝ่ายในถือกันว่า ถ้าผู้ใดมีพระญาติหรือพวกพ้องมีเกียรติยศได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า ท่านเหล่านั้นก็จะพลอยมีหน้ามีตาด้วย ในที่สุดท่านเจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตัดสินให้ท่านผู้หญิงรับพระเมตตาของพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณี โดยให้เหตุผลว่าตัวของท่านเองก็ดี พระองค์เจ้านารีรัตนาและพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีก็ดี นับว่าท่านผู้หญิงเป็นญาติและเป็นพระญาติอยู่แล้ว ส่วนพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีนั้น ทรงเป็นเชษฐภคินีของผู้บังคับบัญชาโดยตรงของสามี จึงมิสมควรที่จะทำให้ทรงน้อยพระทัย การแต่งตัวเต็มยศในสมัยนั้นต้องใส่ถุงเท้ายาวฉลุลวดลาย รองเท้าส้นสูง นุ่งผ้ายกไหมอย่างดีโจงกระเบน ใส่เสื้อแพรอย่างดีแขนยาวคอตั้งติดริบบิ้น และติดลูกไม้อย่างละเอียดโดยเย็บด้วยฝีมือประณีตมาก นอกจากนั้นยังต้องสะพายแพรสีชมพูปักตราจุลจอมเกล้าตามแบบที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วางระเบียบไว้ด้วย สำหรับแพรปักตราจุลตอมเกล้าที่ท่านผู้หญิงใช้ในครั้งนั้นเป็นผืนแพรสะพายจากบ่าซ้ายมารวบสองชายเข้าด้วยกันที่เอวขวา ที่ตอนบ่าตัดเนื้อแพรให้คอดและผายออกตอนอกกับตอนหลัง ส่วนที่รวบตรงเอวนั้นก็ตัดเนื้อแพรให้คอดเช่นเดียวกัน ชายแพรทั้งสองข้างที่ห้อยลงมานั้นกว้างเท่ากับตอนหน้าอกและตอนหลัง และมีรูปดวงตราจตุตถจุลจอมเกล้าปักด้วยไหมและด้วยดิ้นทั้งสองชาย ชายละดวง บนผืนแพรปักด้วยดิ้นเป็นตัวอักษร จ.จ.จ. เป็นระยะ ๆ ตลอดผืน ท่านผู้หญิงเล่าว่าเมื่อเป็นคุณหญิงแล้วก็ต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทุกปี จนได้โปรดเกล้าฯ ให้เลิกเสียภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ การถือน้ำนี้ในรัชกาลที่ ๕ สตรีบรรดาศักดิ์ต้องแต่งเต็มยศขาว คือนุ่งขาวใส่เสื้อขาวสะพายแพรปักและติดตราไปเข้าพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับผู้ที่เป็นหม้ายจึงเข้าไปถือน้ำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ แต่ในรัชกาลต่อ ๆ มาโปรดให้ฝ่ายในทั้งหมดถือน้ำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และแต่งเต็มยศด้วยผ้าสี ไม่ต้องแท่งขาว ส่วนฝ่ายหน้านั้นคงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตลอดมา

เจ้าพระยามหิธรมีม้า รถม้า เรือยนต์ และรถยนต์หลายคัน ซึ่งท่านผู้หญิงต้องใช้เวลาในการดูแลเก็บรักษาเป็นอย่างมาก ม้าเทศตัวงามชื่อแบนดี้ เรือยนต์ชื่อเผด็จคู่ขันลำ ๑ พนันคู่แข่งลำ ๑ รถยนต์คันแรกของท่านนั้นเป็นรถเรโนคันแรกที่มาเมืองไทย กรมหลวงราชบุรีทรงซื้อประทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ และได้นำเข้าประกวดในรัชกาลที่ ๕ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชื่อรถยนต์คันนี้ว่า “กฤษณจักร” เมื่อมีพระราชนิยมในการเล่นรถจักรยาน คราวหนึ่งท่านผู้หญิงก็ต้องแต่งรถจักรยานของสามีด้วยดอกไม้สดทั้งคัน เพื่อเข้าขบวนประกวดแต่งรถจักรยานด้วย

เจ้าพระยามหิธรได้รับราชการโดยความเจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงเกิดเหตุร้ายขึ้นโดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กราบถวายบังคมลาออกจากเสนาบดี เจ้าพระยามหิธรกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรม ๒๘ คน ได้ลงชื่อร่วมกันถวายฎีกาขอลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรีด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัยเป็นอันมาก กรมขุนศิริธัชสังกาดซึ่งทรงพระเมตตาเจ้าพระยามหิธรประหนึ่งโอรสของพระองค์ตกพระทัยมาก ได้รีบเสด็จมาถึงบ้านและทรงบังคับให้เจ้าพระยามหิธรทำหนังสือขอพระมหากรุณาขอถอนหนังสือกราบถวายบังคมลาและขอพระราชทานอภัยโทษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาคุณ และพระขันติคุณ ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภัยโทษ แต่เจ้าพระยามหิธรได้ถูกงดความดีความชอบ คือไม่โปรดพระราชทานพานทองตามที่ได้ทรงกำหนดไว้ว่าจะพระราชทานในปีนั้น

ในระยะนี้ท่านผู้หญิงได้รับความเดือดร้อนทางใจเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นห่วงสามีเกรงจะได้รับพระราชอาญาและยังห่วงว่าอาจจะต้องออกจากราชการในวันหนึ่งวันใดก็ได้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เพราะนอกจากมีสมบัติเดิมอันเป็นที่ดินที่เป็นมรดกแล้ว เจ้าพระยามหิธรก็มีแต่เงินเดือนที่ได้รับพระราชทานเฉพาะในเดือนหนึ่ง ๆ และในขณะนั้นผู้คนในบ้านก็มีอยู่เป็นจำนวนหลายสิบคน ท่านผู้หญิงจึงหวนคิดถึงคำสั่งสอนของท่านเจ้าคุณบิดาของสามีและเริ่มทำการหาลำไพ่โดยการปรุงน้ำอบไทย น้ำปรุง แป้งร่ำ ทำแป้งนวล สีผึ้งสีปาก และน้ำมันตานี จัดใส่หาบให้คนใช้ ออกไปเร่ขายวันละ ๖ หาบ เครื่องสำอางแบบไทยที่ท่านผู้หญิงปรุงขึ้นขายในครั้งนี้สามารถช่วยค่าครองชีพได้บ้าง เพราะบ้านใหม่ของท่านตั้งอยู่ในทำเลใกล้กับพระราชวังดุสิต เมื่อคนใช้นำเครื่องสำอางไปขาย นอกจากชาวบ้านในตำบลสามเสนจะพากันช่วยซื้อแล้ว พวกชาววังทื่อยู่ในพระราชวังดุสิตก็พากันช่วยซื้อวันละมาก ๆ

เมื่อท่านเจ้าคุณและท่านผู้หญิงปรับปรุงบ้านถนนราชวิถีของท่านจนพออยู่ได้อย่างสบายแล้ว ท่านเจ้าคุณได้รับท่านตาลเพ็ชรรัตน์ มารดาของท่านจากบ้านเก่าที่ตำบลตึกแดงมาปลูกเรือนให้อยู่ในบริเวณบ้านใหม่ด้วย ท่านผู้หญิงต้องดูแลปฏิบัติ และในตอนแรก ๆ ได้จัดให้ธิดาของท่านผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่กับคุณย่าเพื่อมิให้ท่านว้าเหว่ ต่อมาพระยาจักรปาณีน้องชายท่านเจ้าคุณ ซึ่งขณะนั้นไปรับราชการอยู่ต่างจังหวัดได้ฝากบุตรไว้กับท่าน ๒ คน ท่านจึงจัดให้ไปอยู่เป็นเพื่อนคุณย่าแทนธิดาของท่าน

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยามหิธรได้ถูกย้ายจากตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรมไปเป็นกรรมการศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลที่รับผิดชอบตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อได้ทรงอ่านคำพิพากษาฎีกา ซึ่งเจ้าพระยามหิธรได้เขียนหลายเรื่อง ก็ได้ทรงเห็นความสามารถและความสุจริตเที่ยงตรงของท่าน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษและพานทองเครื่องยศ ท่านผู้หญิงจึงได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน เลื่อนขึ้นเป็น ตติยจุลจอมเกล้าใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ในการรับพระราชทานเลื่อนชั้นตราจุลจอมเกล้านี้ ท่านผู้หญิงต้องสร้างแพรปักสำหรับเกียรติยศขึ้นใหม่ เพราะแพรปักจุลจอมเกล้านี้ต้องเปลี่ยนลวดลายที่ขอบแพร และเปลี่ยนรูปดวงตราที่ชายแพร ตามชั้นของราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ และผืนแพรสะพายสมัยนั้นก็ใช้แพรผืนตรงไม่คอดอย่างสมัยเมื่อท่านรับพระราชทานตราจตุตถจุลจอมเกล้าฯ

เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้น เพื่อฝึกพลเรือนและเยาวชนให้รู้จักวิธีป้องกันประเทศ ทำนองเดียวกับกองอาสารักษาดินแดนในปัจจุบันเจ้าพระยามหิธรได้สมัครเป็นเสือป่า กองม้าหลวง และปาณีบุตรชายของท่านก็สมัครเป็นลูกเสือ ทั้งเสือป่าและลูกเสือต้องมีการฝึกหัดอบรมทุกสัปดาห์และมีการซ้อมรบทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอำนวยการด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ภรรยาของเสือป่าสมัครเป็นสมาชิกแม่เสือ มีหน้าที่จัดหาครุภัณฑ์เสบียงอาหารและเวชภัณฑ์ ส่งกองเสือป่า ได้โดยโปรดพระราชทานเข็มเครื่องหมายสำหรับแม่เสือ เป็นรูปหน้าเสือเชิญอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ วปร

ท่านผู้หญิงได้สมัครเป็นสมาชิกแม่เสือด้วยตั้งแต่ต้น ในการอบรมเสือป่านั้นทรงอบรมทั้งวิชาการปฏิบัติการและการบันเทิง โดยพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับตำนานชาติไทย พุทธศาสนา พระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ไทยโบราณและความรู้ทั่วไปเป็นตอน ๆ เรียกว่า เทศนาเสือป่าเป็นภาควิชาการ สำหรับภาคปฏิบัติก็ทรงสอนสัญญาณต่าง ๆ ระเบียบแถว การใช้อาวุธ และโปรดให้มีการเดินทางไกล ส่วนภาคบันเทิงนั้นทรงฝึกให้มีการร้องเพลงปลุกใจ เล่นกีฬา และเล่นละคร เมื่อมีพระราชดำรัสว่าเสือป่าต้องเล่นละครเป็น และเจ้าพระยามหิธรกราบบังคมทูลว่าไม่สามารถจะฉลองพระเดชพระคุณได้เพราะเล่นไม่เป็น จึงทรงแต่งบทละคร เรื่องจัดการรับเสด็จขึ้น โดยทรงจัดให้มีตัวละครตัวหนึ่งเป็นเนติบัณฑิตและเป็นผู้พิพากษา โดยประการฉะนี้ เจ้าพระยามหิธรจึงต้องออกแสดงละครเป็นครั้งแรก โดยรับบทเป็นนายสังข์เนติบัณฑิต ท่านผู้หญิงเล่าว่าท่านตื่นเต้นมากที่ได้เห็นสามีแสดงละครอยู่บนเวทีในงานราชคฤหมงคล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๕๑๖ และ ๑๗ สิงหาคม และแสดงสนองพระเดชพระคุณในงานฉลองพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ สวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ทั้ง ๔ ครั้ง ในสมัยใกล้เคียงกันนี้ได้โปรดตั้งสโมสรจิตรลดาขึ้น โดยพระองค์ทรงเป็นนายก และสมาชิก ใช้เครื่องหมายเป็นกระดุมทองรูปสามเหลี่ยมลงยาเป็นลายยันต์ใส่ที่เสื้อชั้นนอกโดยถอดกระดุมธรรมดาเม็ดบนที่ตรงคอออก และใส่กระดุมสามเหลี่ยมนี้แทน สโมสรนี้เป็นที่รวบรวมบรรดาบุคคลสำคัญที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และใช้วิธีการบางอย่างของพวกฟรีเมซันซึ่งเป็นสมาคมลับของอังกฤษ เจ้าพระยามหิธร ได้รับเลือกให้เป็นนายทะเบียนของสโมสรจิตรลดา สโมสรนี้มีการนัดพบปะกัน ที่พระตำหนักจิตรลดาทุกวันเสาร์ ซึ่งมีการรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน และมีการบันเทิงต่าง ๆ เมื่อถึงเวรเลี้ยงของท่านเจ้าคุณ ท่านผู้หญิงก็ต้องอำนวยการ ในเรื่องการจัดอาหาร ซึ่งมักจะพลิกแพลงให้แปลกๆ กันเสมอ การนัดพบโดยปรกติมีเฉพาะสมาชิก แต่ในโอกาสพิเศษก็โปรดให้ครอบครัวไปชมการแสดงของสโมสรได้

นอกจากนี้ได้ทรงจัดงานออกร้านในฤดูหนาว เพื่อหารายได้บำรุงกิจการเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านเจ้าคุณต้องออกร้าน ท่านผู้หญิงก็ต้องจัดการร้าน และคอยรับเสด็จพระราชดำเนินเวลาเสด็จประพาสร้านด้วย

ในต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการใช้นามสกุลกันในหมู่คนไทยเป็นครั้งแรก และพระราชทานนามสกุลให้แก่เจ้าพระยามหิธรและพระยาบุรุษรัตน์ราชพัลลภผู้เป็นทายาทของพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) ว่า “ไกรฤกษ์” แต่ท่านผู้หญิงมิได้ขอพระราชทานนามสกุล เนื่องจากน้องผู้ชายของท่านก็ตายไปเสียแต่ยังรุ่นคงเหลือแต่น้องสาวอยู่ ๒ คน คนหนึ่งชื่อมาลัยเป็นอนุภรรยาเจ้าพระยามหิธร อีกคนหนึ่งชื่อ เปลื้อง ท่านได้เป็นธุระจัดการแต่งงานให้กับหลวงเมธีนฤปกรณ์ (เสียง ดุลยจินดา) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาดุลยธรรมธาดา น้องสาวคนเล็กของท่านจึงเป็นคุณหญิงดุลยธรรมธาดาตามสามี เพราะได้มีพระราชบัญญัติคำนำนามสตรีขึ้นแล้ว คุณหญิงดุลยธรรมธาดาได้ถึงแก่กรรมไปก่อนท่านผู้หญิงประมาณ ๑๕๑๖ ปี แต่นางมาลัยน้องสาวคนใหญ่ของท่านยังมีชีวิตอยู่ และมีบุตรชายกับเจ้าพระยามหิธร ๑ คน ชื่อมาลา ซึ่งท่านผู้หญิงรักใคร่เอ็นดูเสมือนบุตรของท่านเอง

ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตั้งกรมพระนิติศาสตร์ขึ้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าพระยามหิธรฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่สมุหพระนิติศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าพระยามหิธรดำรงตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกา (คือตำแหน่งประธานศาลฎีกาในสมัยนี้) ในระยะนี้นับว่าท่านผู้หญิงได้กลับมีความสุขขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ท่านใช้เวลาปรับปรุงบ้านเรือนและตกแต่งสวนดอกไม้ข้องท่านโดยหาต้นไม้ที่เป็นมงคลและมีชื่อในวรรณคดีมาปลูกไว้ในบ้าน เช่น ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ เกด แก้ว พิกุล บุนนาค สารภี ประยงค์ กาหลง ชงโค โยทะกา มหาหงส์ มะลิลา มะลิซ้อน จำปี จำปา กระดังงา ลำดวน บุหงา ลำเจียก ปีบ สายน้ำผึ้ง จำปาแขก จันทน์กะพ้อ นมแมว เทียนกิ่ง เขี้ยวกระแต ชะลูด และต้นโมก เป็นต้น แต่ดอกพุด และดอกพุทธชาดนั้นไม่เคยขาดต้น เพราะท่านให้เก็บมาสอนให้บุตรหลานและเด็กในบ้านร้อยมาลัยทุกวัน มาลัยดอกพุดที่ท่านผู้หญิงสอนให้เด็กในบ้านร้อยนี้ได้นำไปฝากขายที่ร้านขายดอกไม้เป็นประจำ ส่วนเงินที่ขายได้ท่านก็แจกเป็นค่าขนมของเด็ก ๆ ในบรรดาบุตรหลานที่ท่านหัดให้ทำดอกไม้และร้อยมาลัยนั้นมีผู้ที่สนใจและทำได้ดีจริงอยู่หลายคน เช่น เอิบอร กรุณานนท์ สุมน กลิ่นพยอม ประภัศร์ ปัญจมานนท์ และวลี ยุวบูรณ์ ซึ่งได้สนองพระคุณท่านโดยวลีรับเป็นหัวหน้าผู้จัดดอกไม้ในงานศพของท่านทั้ง ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน

แม้ว่าฐานะทางราชการของท่านสามีจะมั่นคงอย่างยิ่งแล้ว ท่านผู้หญิงก็ยังคงปรุงน้ำอบและเครื่องสำอางอื่น ๆ ใส่หาบให้คนนำไปขายต่อมาอีกเป็นหลายปี นอกจากงานบ้านประจำวันตลอดจนการตัดเย็บเสื้อผ้าให้สามีและลูก ๆ ด้วยตนเองแล้ว ท่านผู้หญิงยังมีงานอดิเรกเพิ่มขึ้นคือ การกลั่นดอกไม้เป็นน้ำหอมและน้ำมันหอม ท่านซื้อเครื่องกลั่นไว้เครื่องหนึ่ง เมื่อถึงหน้าดอกกระดังงาหรือหน้าดอกกุหลาบดอกจันทน์กะพ้อ ท่านก็กลั่นน้ำไว้สำหรับปรุงน้ำอบ โดยสกัดน้ำมันออกเสียก่อน และเก็บน้ำมันนี้ไว้ใช้ปรุงน้ำอบไทยและน้ำปรุงได้ตลอดปี ท่านกล่าวว่าน้ำมันที่กลั่นเองมีกลิ่นหอมดีกว่าน้ำมันที่ซื้อเป็นอันมาก เพราะไม่การเจือปน

เพราะมีการปรุงน้ำอบไทยขายเป็นประจำดังนี้ ท่านผู้หญิงจึงต้องสะสมเครื่องหอมต่าง ๆ ไว้เป็นพิเศษ เช่น ปลูกต้นเตย ต้นเนียม เลี้ยงชะมดและซื้อพิมเสน หญ้าฝรั่น กำยาน น้ำตาลแดง และแก่นจันทน์ ตลอดจนสะสมโถขนาดต่าง ๆ ตะคันและทวน สำหรับอบน้ำอบไว้คราวละมาก ๆ ท่านฟั่นเทียนได้อย่างชำนิชำนาญและทำเทียนอบไว้ใช้เองเสมอ นอกจากนั้นถึงคราวเทศกาลเข้าพรรษาท่านให้เก็บดอกไม้ต่าง ๆ ในบ้านและสอนให้ลูกหลานและคนในบ้านช่วยกันมัดเป็นช่อหลาก ๆ สี ให้ตัดต้นกล้วยมาทำแกนพุ่ม และตัวท่านเองเป็นผู้ปักพุ่มดอกไม้สดได้อย่างประณีตงดงาม พุ่มดอกไม้สดเช่นนี้ ท่านต้องทำปีละประมาณ ๑๐ พุ่ม สำหรับให้ท่านสามีนำไปถวายนมัสการแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า และพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพของท่านทั้งสอง แทนที่จะซื้อพุ่มสีผึ้งซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป เมื่อถึงวันวิสาขะท่านต้องอำนวยการทำโคมวิสาขะของท่านเจ้าคุณจัดแต่งด้วยดอกไม้เพื่อนำไปแขวนที่ระเบียงวัดพระแก้วเป็นพุทธบูชา การปักพุ่มดอกไม้สดและการทำโคมวิสาขะนี้ ท่านผู้หญิงได้กระทำเป็นประจำตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕

ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ทรงพระมหากรุณาคัดเลือกปาณีบุตรชายคนใหญ่ของท่านไปทรงแต่งตั้งเป็นมหาดเล็กรับใช้แล้วได้เป็นมหาดเล็กคนสนิท ถึงกับได้ทรงสอนหนังสืออังกฤษพระราชทานด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดขึ้นก็โปรดให้บุตรผู้นี้ของท่านร่วมแสดงเป็นตัวนางและได้เป็นนางเอกหลายคราว โดยประการฉะนี้ ท่านผู้หญิงจึงได้รับพระมหากรุณา โดยโปรดเกล้าให้ไปดูละครซึ่งบุตรของท่านเป็นผู้แสดงอยู่บ่อย ๆ ทั้งต้องเป็นผู้จัดเครื่องแต่งกายสตรีอย่างงาม ๆ ให้ด้วย ในสมัยนั้นเมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โปรดให้เชิญสตรีบรรดาศักดิ์เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ และดูละครหลวงหรือละครทูลกระหม่อมอัษฎางค์ ที่ที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งบางปีก็เป็นที่วังพญาไท หรือในพระบรมมหาวราชวัง และบางปีก็ทรงจัดขึ้นที่พระราชวังบางปะอิน สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๖๒ และท่านผู้หญิงต้องนุ่งผ้าโจงกระเบนสีขาวใส่เสื้อขาวสะพายแพรขาวไปเฝ้าพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุก ๗ วัน จนถวายพระเพลิง

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งชีวิตของท่านผู้หญิงนั้น ท่านต้องปรับปรุงตนเองให้ทันแก่กาลสมัยอยู่เสมอ แม้แต้ในเรื่องการแต่งกาย เช่นเมื่ออยู่ในปฐมวัยท่านแต่งแบบบุตรหลานผู้มีบรรดาศักดิ์ คือไว้ผมจุก นุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อคอรูดและใส่ปะวะหล่ำกำไลและกำไลเท้า เมื่อเป็นสาวอยู่ในพระบรมมหาราชวังก็ตัดผมสั้น นุ่งผ้าลายขัดมัน โจงกระเบน และห่มผ้าสไบจีบ แบบชาววัง ครั้นต้องไปอยู่สวนท่านก็ใส่เสื้อกระบอกแบบชาวชนบท เมื่อเป็นภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ท่านแต่งอย่างสตรีบรรดาศักดิ์ และใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีพระราชนิยมให้สตรีบรรดาศักดิ์ไว้ผมยาว แล้วเกล้าเป็นมวยแบบชาวตะวันตก ท่านผู้หญิงก็ต้องไว้ผมยาวและขัดฟันจนขาวด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างเมืองเล็ก ๆ เรียกว่าดุสิตธานีขึ้นที่ข้างพระที่นั่งอุดรในพระราชวังดุสิตก่อนและเมื่อทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังพญาไท ก็ทรงขยายกิจการแห่งดุสิตธานีนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อได้ทรงทดลองและปลูกฝังวิธีปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ข้าราชการในพระราชสำนักนี้ขึ้นเป็นกลุ่มแรก โดยโปรดให้สมัครเป็นเป็นทวยนาครของดุสิตธานี เพื่อให้สิทธิ์ออกเสียงในการบริหารธานีนั้นได้ เจ้าพระยามหิธรก็สมัครเป็นทวยนาครด้วย โดยมีอาชีพเป็นข้าราชการ ส่วนพระองค์เองนั้นทรงสมมติพระนามเป็นนายรามณะกรุงเทพฯ ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ ได้ทรงออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง เรียกว่าดุสิตสมิต ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมาก และท่านผู้หญิงได้สมัครเป็นสมาชิกสตรีคนแรก ที่รับหนังสือพิมพ์นี้ ทั้งนี้ก็เพราะโปรดให้ปาณีบุตรของท่านเป็นบรรณาธิการผู้หนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ร่วมกับพระองค์และผู้อื่นอีก ๘ คน เนื่องจากท่านผู้หญิงมีความสนใจในการอ่านหนังสือต่าง ๆ เป็นอันมาก ท่านจึงรับสมัครเป็นสมาชิก ท่านเล่าว่าเพราะใจรักการหนังสือนี้ ท่านเป็นสมาชิกทวีปัญญาสโมสรซึ่งเป็นสโมสรวรรณกรรม จัดตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นมงกุฎราชกุมารด้วย

เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้นได้เกิดอุทกภัยใหญ่ในพระนครและจังหวัดอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นผลให้ชาวนาหลายพันครัวเรือนไม่มีข้าวรับประทาน เมื่อน้ำลดลงแล้วจึงอพยพครอบครัวอาศัยเรือมานั่งขอข้าวอยู่ที่ปลายสะพาน ซึ่งบัดนี้เรียกว่าสะพานกรุงธน

เมื่อท่านผู้หญิงได้เห็นสภาพ “คนอดข้าว” เช่นนั้นก็ทนไม่ได้ ท่านจึงรับเข้ามาเลี้ยงไว้ในบ้านของท่านถึง ๗ ครอบครัว ทั้งพ่อแม่ลูกรวมเป็นจำนวนคนกว่า ๓๐ คน แม่ลูกอ่อนและเด็ก ๆ นั้นท่านเลี้ยงโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ผู้ใหญ่ผู้ชายท่านให้ทำประโยชน์โดยช่วยกันตักน้ำและทำสวนดอกไม้และให้เงินเดือนอยู่หลายเดือนจนถึงฤดูทำนาได้อีก ชาวนาทั้ง ๗ ครอบครัวนั้นจึงกราบลาท่านไปตั้งตัวใหม่ และต่อมามีบางคนได้นำข้าวที่ปลูกได้ใหม่ มาให้ท่านด้วยความกตัญญู แต่บางรายก็ไม่กลับมา

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านเจ้าคุณย้ายไปรับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการซึ่งเป็นตำแหน่งเท่ากับเสนาบดี และต้องเป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ว่ามีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินอย่างยิ่งยวด เพราะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ใช้พระราชอำนาจโดยเด็ดขาดทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เจ้าพระยามหิธรเป็นบุคคลสามัญคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ขณะนั้นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรซึ่งยังทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชเลขาธิการ และราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ ประทับอยู่ที่วังถนนราชวิถีซึ่งอยู่ติดกับบัานของท่าน ท่านผู้หญิงจึงได้มีความคุ้นเคยกับเสด็จในกรมและหม่อมของท่านตลอดจนท่านหญิงผู้เป็นขนิษฐภคินีของพระองค์ด้วย ในระยะนั้นท่านผู้หญิงได้มีโอกาสนั่งโต๊ะหลวง รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำในการเลี้ยงซึ่งพระราชทานเป็นเกียรติแก่ทูตานทูตและบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศบ่อย ๆ เพราะสามีของท่านต้องไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามหน้าที่

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ปาณีบุตรของท่านซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายจ่ายวดและกำลังมีความเจริญรุ่งเรืองในทางราชการเป็นอย่างยิ่งนั้น ได้ประสบอุบัติเหตุในขณะที่กำลังนั่งรถจักรยานยนต์จะมาเยี่ยมบ้านพร้อมด้วยหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ หม่อมทวีวงศ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่จ่ายวดบุตรของท่านถึงแก่มรณกรรม ซึ่งทำให้ท่านผู้หญิงได้รับความวิปโยคแสนสาหัส เนื่องจากมรณกรรมของบุตรเป็นครั้งแรก แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการศพโดยตลอด และเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ทั้งยังได้ทรงเขียนไว้ในหนังสือซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกในงานศพว่า “ตลอดเวลาที่นายจ่ายวดได้รับใช้ข้าพเจ้าอยู่นั้น ได้ทำให้เป็นที่พอใจแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก เพราะนอกจากรับใช้ในฐานอุปัฏฐาก ยังได้เป็นเลขานุการคนสนิทอีกด้วย.........” ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารพระยาจักรปาณีและคุณหญิงจักรปาณียิ่งนัก” ดังนี้แล้ว ท่านผู้หญิงก็ยังไม่สามารถหักห้ามความวิปโยคอันสาหัสนั้นลงได้ ญาติมิตรพากันสังเกตว่าท่านผู้หญิงมีความเศร้าโศกทรุดโทรมและแก่ลงเป็นอันมาก ภายหลังมรณกรรมของบุตรผู้นี้

ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมให้สตรีนุ่งผ้าซิ่นแทนนุ่งผ้าโจงกระเบน ท่านผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยนแบบการแต่งกายอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มนุ่งผ้าซิ่นไปในงานต่าง ๆ เพราะเป็นภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนัก

ใน พ.ศ. ๒๔๖๓๒๔๖๔๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิสุทธิ์ วิจิตราภรณ์ และภูษนาภรณ์บุตรชายทั้งสามไปศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษตามลำดับ ท่านผู้หญิงก็ต้องว้าเหว่ใจอีกครั้งหนึ่ง ท่านจึงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์โดยเริ่มอบรมบุตรหญิงในวิชากิจการบ้านเรือน ท่านทดลองประกอบอาหารแปลก ๆ และเสาะหาผู้มีวุฒิวิเศษ เช่น ในวิชาละเลงขนมเบื้อง วิชาปอกมะปรางเป็นลวดลายแปลก ๆ และขนมไทยโบราณต่าง ๆ เป็นต้นให้มาสอน สำหรับอาหารฝรั่งนั้นท่านเจ้าคุณชอบรับประทานและต้องรับประทานวันละ ๓ สิ่งทุกวัน ท่านจึงต้องจ้างกุ๊กฝีมือดีซึ่งกรมหลวงราชบุรีทรงฝึกไว้แล้วนั้นมาเป็นพ่อครัวฝรั่งเป็นประจำ ท่านเรียนวิชาทำอาหารฝรั่งจากกุ๊กจนชำนาญ และสามารถทำอาหารฝรั่งยาก ๆ เช่น ปาย ได้อย่างอร่อยมาก ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีเตาอบไฟฟ้าตู้เย็นและเครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ นอกจากนั้น ท่านได้จัดให้บุตรหญิงไปรับการอบรมเรื่องขนบประเพณีจากคุณท้าวนารีวรคณารักษ์พี่สาวของท่านเจ้าคุณที่วังเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสิมาทุกวันเสาร์ ที่กลับจากโรงเรียนครึ่งวัน ขณะนั้นคุณท้าวนารีฯ ซึ่งเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ และทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระพี่เลี้ยงทูลกระหม่อมอัษฎางค์และเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในวัง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมากำลังฝึกหัดละครรำที่เรียกกันว่า ละครทูลกระหม่อมอัษฎางค์อยู่ ท่านผู้หญิงและบุตรีของท่านจึงได้รับอิทธิพลจากการละครและดนตรีไทยมาเป็นอันมาก

ในระยะนี้เสนาบดีกระทรวงวังซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากรมพระนิติศาสตร์กราบบังคมทูลว่า ท่านเจ้าพระยามหิธรได้รับราชการในหน้าที่สมุหพระนิติศาสตร์มาเป็นเวลาหลายปี โดยมิได้รับพระราชทานเงินเดือน จึงใคร่ขอพระราชทานบำเหน็จให้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหกหมื่นแปดพันบาท และท่านเจ้าคุณกับท่านผู้หญิงได้ใช้เงินพระราชทานจำนวนนี้ปรับปรุงเคหสถานบ้านเรือนของท่านโดยสร้างตึกใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง ซึ่งท่านทั้งสองได้อยู่มาจนตลอดชีวิต

ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาท่านเจ้าคุณขึ้นเป็นเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลื่อนขึ้นเป็นทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลปีนั้น ในการรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ครั้งนี้ ท่านผู้หญิงไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวย นุ่งผ้ายกไหมแบบผ้าถุง ใส่เสื้อแบบตะวันตกตามสมัยนิยม และสะพายแพรปักตราทุติยจุลจอมเกล้า ซึ่งท่านต้องสร้างขึ้นใหม่อีกผืนหนึ่ง ต่อมาอีกสองปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานเครื่องยศ คือหีบหมากทองคำ กระโถนทองคำ กาน้ำทองคำ และผ้าปักทองแล่ง และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้คุณหญิงมหิธร (กลีบ ไกรฤกษ์) เป็นท่านผู้หญิง” และท่านได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละสี่ชั่ง (สามร้อยยี่สิบบาท) จนตลอดรัชกาลที่ ๖

ในระหว่างนี้ท่านเจ้าคุณต้องไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครวราชสิมา สัปดาห์ละหลายครั้ง เนื่องจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จสู่ทิวงคต และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยามหิธรว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมาตกอยู่ในฐานะรัชทายาท จึงขอให้ท่านเจ้าคุณไปถวายคำแนะนำให้เข้าพระทัยในเรื่องราชการแผ่นดิน ขณะนั้นคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ถึงอนิจกรรมแล้ว และทูลกระหม่อมเพิ่งมีหม่อมห้ามทูลกระหม่อมจึงโปรดให้หม่อมห้ามของพระองค์เป็นผู้จัดส่งผลไม้แปลก ๆ ฝากใส่รถท่านเจ้าคุณมาประทานท่านผู้หญิงอยู่เนือง ๆ ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมาเสด็จทิวงคตลงอีกพระองค์หนึ่ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าดำรัสสั่งให้เจ้าพระยามหิธรไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ตำหนักแพท่าวาสุกรี ซึ่งกำลังประทับแรมอยู่ และดำรัสสั่งให้ท่านเจ้าคุณไปถวายคำแนะนำแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาซึ่งได้ทรงเลื่อนอันดับการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นมาเป็นรัชทายาทแล้ว ท่านเจ้าคุณจึงต้องไปเฝ้าที่วังสุโขทัยสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีก็ได้ทรงพระเมตตาต่อท่านเป็นอันมาก

เมื่อมารดาของท่านเจ้าคุณถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ท่านผู้หญิงได้รับมารดาของท่านเองมาอยู่ด้วย และเนื่องจากมารดาของท่านต้องการจะขายที่ดินตำบลสำราญราษฎร์อันเป็นมรดกที่ได้มาจากบรรพบุรุษ ท่านผู้หญิงก็ไม่ขัดใจแต่ได้ขอรื้อเรือนหอของท่านไปปลูกเป็นหอสวดมนต์ที่วัดน้อยนางหงส์ ตำยลบางยี่ขัน และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดาของท่าน

ในระยะนี้การแต่งกายของท่านผู้หญิงเปลี่ยนไปอีก กล่าวคือ มเหสีเทวีในรัชกาลที่ ๖ โปรดทรงกระโปรงแบบชาวตะวันตกแทนผ้าถุงและผ้าซิ่น ท่านผู้หญิงจึงต้องสวมกระโปรงราตรีแบบชาวตะวันตกไปรับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอยู่บ่อย ๆ

ในการเฉลิมพระชนมพรรษาโปรดให้มีการแต่งแฟนซีในพระราชสำนักหลายครั้ง ท่านผู้หญิงเคยแต่งแฟนซีเป็นสตรีบรรดาศักดิ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่งเป็นหญิงญวน บางปีก็แต่งด้วยเครื่องแต่งกายที่สั่งซื่อมาจากยุโรป เช่น แต่งเป็นดาวพระศุกร์ (วีนัส) และพู่ผัดแป้ง (พาวเดอร์พั๊ฟ) เป็นต้น

เมื่อผลัดแผ่นดินใหม่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ โปรดการแต่งกายแบบไทย ท่านผู้หญิงจึงกลับนุ่งผ้าถุงแบบซิ่นต่อไปดังเดิม และแต่งเช่นนั้นต่อมาจนตลอดชีวิตของท่าน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์ใหม่ ๆ ได้โปรดให้เชิญข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง สมุหเทศาภิบาล อธิบดีและผู้ว่าราชการจังหวัด ผลัดเปลี่ยนกันไปร่วมโต๊ะเสวยคราวละประมาณ ๑๒ คน ทุก ๆ วันเสาร์ เพื่อได้ทรงมีโอกาสทราบความคิดเห็นของข้าราชการผู้ใหญ่เหล่านั้น การพระราชทานเลี้ยงเช่นนี้เป็นงานส่วนพระองค์ และโปรดให้ท่านเจ้าคุณกับท่านผู้หญิงเข้าไปร่วมโต๊ะเสวยในฐานะเป็นเสนาบดีและภรรยาเสนาบดี เช่นเดียวกับเสนาบดีอื่น ๆ ส่วนงานเลี้ยงแขกเมืองนั้น ท่านเจ้าคุณมักต้องนั่งตรงข้ามกับที่ประทับและท่านผู้หญิงต้องจูงกับพระบรมวงศ์ เพราะท่านเจ้าคุณเป็นเสนาบดีอาวุโส แต่ยังคงโปรดให้เรียกว่าราชเลขาธิการอยู่จนถึงวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๗๕ จึงประกาศเปลี่ยนนามราชเลขาธิการเป็นเสนาบดีมุรธาธรเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ แล้ว การละครในกรุงเทพฯ มีไม่มากนัก และท่านผู้หญิงมีใจรักในศิลปะและวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงเรียกครูละครเก่าของคุณท้าวนารีวรคณารักษ์มาหารือและหัดให้เด็ก ๆ ที่ท่านเลี้ยงไว้แสดงละครรำเรื่องต่าง ๆ เช่น ศกุนตลา อิเหนา สังข์ทอง และไกรทอง เป็นต้น ท่านผู้หญิงมีความสุขในการเป็นผู้จัดการละครรำของท่านมาก ท่านให้รัตนาภรณ์ธิดาคนเล็กแสดงเป็นท้าวทุษยันต์ในเรื่องศกุนตลา และต่อมาได้หัดให้อรชรธิดาของท่านเจ้าคุณแสดงเป็นตัวนายโรงสำหรับรุ่นเล็ก ละครรำของท่านผู้หญิงมหิธรนี้รำได้ดีพอใช้ และท่านจัดให้เล่นในห้องรับแขกใหญ่ โดยเชิญญาติมิตรมาดูบ่อย ๆ ตัวท่านเองเป็นผู้สร้างเครื่องละครและกำหนดบทที่จะให้แสดง โดยใช้ดินสอขีดฆ่ากาวงไว้ในหนังสือเป็นตอน ๆ นอกจากฝึกหัดละครแล้ว ท่านผู้หญิงยังสามารถเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่นแบดมินตันได้อย่างดี ส่วนกีฬาในร่มนั้น ท่านเป็นเพื่อนเล่นบิลเลียตกับท่านเจ้าคุณทุกวันภายหลังอาหารค่ำ และแทงได้แม่นยำพอใช้ทีเดียว

ในเดือนมิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อท่านเจ้าคุณตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังไกลกังวล และได้ไปพักอยู่ที่บ้านสนแถว อันเป็นบ้านชายทะเลส่วนตัวของท่านนั้น ท่านผู้หญิงก็ได้ไปพักอยู่ด้วย จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎร์ยึดอำนาจการปกครอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว คณะผู้ทำการเปลี่ยนการปกครอง มีความเห็นว่าเมื่ออำนาจบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวงได้ตกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่หมดสิ้นแล้ว ราชเลขาธิการหรือเสนาบดีมุรธาธรย่อมไม่มีราชการสำคัญที่จะปฏิบัติมากนัก จึงทูลเกล้าถวายความเห็นให้ยุบตำแหน่งเสนาบดีมุรธาธร และให้เปลี่ยนนามราชเลขาธิการเป็นราชเลขานุการ และจะลดฐานะลงให้เทียบเท่ากับปลัดกระทรวง เจ้าพระยามหิธรจึงจำใจต้องกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งราชเลขาธิการ ทั้งที่มีความจงรักภักดีเป็นล้นเกล้าฯ ต่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เสื่อมคลายสักขณะเดียว ขณะนี้บุตรชายทั้งสามของท่านกลับจากต่างประเทศแล้ว แต่ท่านผู้หญิงก็ยังมีห่วงเป็นข้อใหญ่อยู่ คือ ห่วงเรื่องกิจการบ้านเมืองซึ่งได้ผันแปรไปจากวิถีทาง ที่ท่านได้เคยรู้จักมาตลอดชีวิตของท่าน

ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ พระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนการปกครอง และเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีความเห็นว่าท่านเจ้าคุณมีความสามารถในวิชากฎหมายอย่างยอดเยี่ยม จึงขอร้องให้ท่านร่วมในคณะรัฐบาลโดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านผู้หญิงมีอายุครบ ๕ รอบ บุตรธิดาจึงจัดการทำงานฉลองอายุให้แก่ท่าน โดยวิสุทธิ บุตรชายใหญ่ของท่านในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการจัดงาน ซึ่งมีทั้งพิธีสงฆ์ การเลี้ยงญาติมิตรและการบันเทิง เมื่อตกลงกันว่าจะทำรูปนางฟ้าโปรยกลีบดอกไม้เป็นตราที่หน้าโรงละครในการฉลองอายุของท่านนั้น ลูก ๆ ได้หารือกันว่าจะควรทำเป็นกลีบดอกไม้อะไรดี ท่านผู้หญิงจึงแจ้งว่าควรจะเป็นกลีบดอกจำปาเพราะท่านชื่อกลีบจำปา ซึ่งยังความยินดีและประหลาดใจให้แก่บุตรธิดาเป็นอันมากจึงเรียนถามท่านว่า เมื่อท่านชื่อกลีบจำปาเหตุไฉนจึงไม่เห็นมีผู้ใดเรียกท่านเช่นนั้น และลูก ๆ ก็มิได้ทราบมาก่อนเลย ท่านผู้หญิงหัวเราะและตอบว่าท่านเจ้าคุณเป็นผู้ตัดชื่อของท่านให้เหลือเพียงพยางค์เดียวตั้งแต่แรกแต่งงาน โดยให้เหตุผลว่าการมีชื่อยาวเกินกว่าสองพยางค์นั้นเป็นการทำเทียมเจ้านาย

ในปลาย พ.ศ. ๒๔๘๐ รัฐบาลชุดพระยาพหลพลพยุหเสนา กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ท่านเจ้าคุณจึงออกจากราชการและรับพระราชทานบำนาญต่อมาจนตลอดอายุขัย

ในระหวางที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในยุโรปและกำลังลุกลามมายังทวีปอาเซียใน พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น ท่านผู้หญิงได้ป่วยหนัก จนถึงกับท่านเจ้าคุณเริ่มตระเตรียมงานเพื่อการศพ และโทรเลขเรียกบุตรซึ่งกำลังรับราชการอยู่ที่สงขลาให้กลับเข้ามา แต่ด้วยความสามารถของนายแพทย์ใช้ ยูนิพันธุ์ M.D. (Edin) M.R.C.P (Edin) D.T.M. (Liverpool) บุตรเขยคนเล็กของท่าน ท่านผู้หญิงก็กลับหายป่วยได้อย่างประหลาด ต่อจากนี้ท่านได้ใช้เวลาเพื่อความสุขสำราญของท่านเองโดยการไปเที่ยวต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ และสงขลา และพักอยู่กับบุตรธิดาของท่านซึ่งออกเรือนไปแล้วบ้าง ในระหว่างที่ประเทศไทยประสบภัยสงครามและน้ำท่วมกรุงเทพฯ ท่านผู้หญิงต้องอำนวยการขนย้ายสมบัติที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ยังที่ที่ท่านเห็นว่าปลอดภัยที่สุด ทั้งต้องอำนวยการสร้างหลุมหลบภัยเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในบ้านทุกคนด้วย เพราะขณะนี้สุขภาพของท่านเจ้าคุณเสื่อมโทรมลง และท่านผู้หญิงกลับแข็งแรงมากกว่า

เมื่อเสร็จสงครามโลกแล้วท่านผู้หญิงปรารภว่า ลูกหลานหาแม่ครัวยาก ท่านจึงเรียบเรียงหนังสือกับข้าวสอนลูกหลานขึ้นเล่มหนึ่ง โดยบอกคำบอกให้หลานเขียน และพิมพ์ขึ้นแจกผู้ที่มารดน้ำท่าน ในการทำบุญอายุครบ ๗๒ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ หนังสือนี้ผู้ที่ได้รับแจกไปต่างแลเห็นคุณค่าเป็นอย่างมาก เพราะนำไปประกอบอาหารได้อย่างดีจริง ๆ เป็นเหตุให้มีผู้ซึ่งแม้แต่ท่านไม่เคยรู้จักเลยก็ไปหาท่านหรือบุตรีของท่าน และขอหนังสือกับข้าวสอนลูกหลานนี้ไปเป็นสมบัติของตนหลายสิบราย ต่อมาท่านได้พิมพ์หนังสือว่าด้วยการปอกผลไม้ทำของว่างและขนมขึ้นอีกเล่มหนึ่ง โดยวิธีบอกคำบอกให้หลานจดเช่นเดียวกัน การที่สตรีไทยสมัยเก่า ซึ่งแก่ชราจนอายุกว่า ๗๒ ปี และในตอนหลังถึง ๘๐ ปี สามารถเรียบเรียงหนังสือขึ้นเป็นตำราได้ถึง ๒ เล่มเช่นนี้ เป็นของน่าประหลาดที่สุด แต่ก็ได้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว จึงนับว่าท่านผู้หญิงเป็นอัจฉริยบุคคลอันยากที่จะพึงหาได้

ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ วิจิตราภรณ์บุตรชายของท่านซึ่งกำลังรับราชการเป็นผู้พิพากษา มีความเจริญรุ่งโรจน์และกำลังจะได้เลื่อนเป็นชั้นพิเศษได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง ท่านผู้หญิงต้องรับความวิปโยคแสนสาหัสเนื่องจากมรณกรรมของบุตรเป็นครั้งที่สอง แต่โดยเหตุที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่ยึดมั่นในพระธรรมจริง ๆ จึงสามารถข่มความทุกข์ลงได้ ท่านได้ใช้เวลาในระยะนี้อบรมเลี้ยงดูหลานกำพร้าทั้งสองอย่างดีที่สุด เพราะ ม.ล. ประชุมพรภริยาของวิจิตราภรณ์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านั้น ๔๕ ปีแล้ว

ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ เจ้าพระยามหิธรได้ถึงอสัญกรรม แม้ขณะนั้นท่านผู้หญิงมีอายุถึง ๗๙ ปี ก็ยังสามารถเป็นแม่งานอย่างเข้มแข็งจัดงานศพของท่านเจ้าคุณสามีที่ได้ร่วมชีวิตกันมานานถึง ๖๑ ปี เมื่อได้แบ่งมรดกให้บุตรธิดาของท่านเจ้าคุณ โดยยุติธรรมทั่วทุกคนแล้ว ท่านผู้หญิงได้โอนกรรมสิทธิ์บ้านริมแม่น้ำ ตำบลตึกแดงฝั่งธนบุรีอันเป็นบ้านที่ท่านได้อยู่ร่วมกับท่านเจ้าคุณมาตั้งแต่แต่งงานได้ ๖ เดือน ให้เนติบัณฑิตสภาทั้งเป็นมูลนิธิเจ้าพระยามหิธร และท่านผู้หญิงกลีบเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนของเนติบัณฑิตสภาโดยให้เหตุผลว่า ท่านเจ้าพระยามหิธรได้อยู่ร่วมกับท่านที่บ้านนั้นในขณะที่ท่านเจ้าคุณเริ่มเรียนกฎหมายจนสอบไล่กฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิต คนแรกของประเทศไทย การเสียสละทรัพย์สมบัติส่วนตัวเป็นราคาไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาท เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของท่านในครั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวิติยาภรณ์ช้างเผือกให้

เมื่อเสร็จการพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณแล้ว วิสุทธิ์บุตรของท่านซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจักรปาณี ได้ย้ายมาอยู่กับท่านที่บ้านถนนราชวิถี และถนิต จักรปาณีบุตรสะใภ้ของท่านก็ได้ปรนนิบัติดูแลท่านเป็นอย่างดีประดุจมารดาบังเกิดเกล้า

ท่านผู้หญิงมีอายุครบ ๘๐ ปี เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณได้ ๒ เดือน แต่ท่านขอร้องไม่ให้จัดงานฉลองโดยอ้างว่าจะเหน็ดเหนื่อยกันเกินไป บุตรธิดาจึงจัดการฉลองให้ท่านเมื่อท่านมีอายุ ๘๑ ปีเต็ม ในงานนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทรทิพย์นิภา ได้เสด็จมาร่วมด้วยหลายตอน กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตน์บุษบงศ์กับหม่อมเจ้าโอรสธิดาในหม่อมเจิมดิศกุล ก็เสด็จมากันทุกองค์ซึ่งทำให้ท่านมีความปลื้มปีติมาก เพราะท่านกล่าวเสมอว่า หม่อมเจิมดิศกุลเป็นญาติข้างแม่ที่ท่านรักมากเพราะได้คุ้นเคยกันมาแต่วัยรุ่นจนล่วงเข้าวัยชราด้วยกัน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านผู้หญิงได้รับความวิปโยคจากการเสียบุตรที่กำลังมีความเจริญรุ่งเรืองในราชการเป็นครั้งที่สาม โดยวิสุทธิบุตรของท่านซึ่งได้รับพระราชทานบรรคาศักด์เป็นหลวงจักรปาณีนั้น ได้ถึงอนิจกรรมลงโดยกะทันหัน ในครั้งนี้นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธุ์ บุตรเขยซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวได้ให้ท่านรับประทานยาระงับประสาท เพราะเกรงว่าท่านจะไม่สามารถอดทนต่อความทุกข์โทมนัสได้ ในระยะนี้สุขภาพของท่านเริ่มเสื่อมลงเป็นลำดับ หูก็ตึงและนัยน์ตาก็เป็นต้อกระจก มืดมัวลงโดยเร็วทั้งสองข้าง

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ต่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล และมีความปรารถนาที่จะได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อชมพระบารมีอยู่เสมอ แต่ในยามชราท่านเดินไม่ค่อยไหวและนั่งนานก็ไม่ได้ แม้กระนั้นท่านก็ยังขอให้บุตรของท่าน จูงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณสามี และในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิบุตรของท่าน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นประธาน เพราะทรงมีพระมหากรุณาแด่ท่าน ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านได้แต่งตัวเต็มยศเป็นครั้งสุดท้ายเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ขณะนี้นัยน์ตาของท่านเสียมากแล้ว และแลเห็นพระพักตร์ไม่ถนัด แต่ท่านก็แสดงความปลาบปลื้มเป็นอันมากที่ได้แลเห็นพระองค์ ท่านได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อไปรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์ช้างเผือกที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดดำรัสถามถึงนัยน์ตาของท่าน ซึ่งท่านมีความปลาบปลื้มเป็นที่ยิ่งที่ได้ฟังกระแสพระราชดำรัส

ในระหว่างนี้ ภูษนาภรณ์ บุตรชายที่ยังเหลืออยู่คนเดียวของท่านได้รับคำสั่งให้ไปรับราชการ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าสังวรณ์ผู้ภริยาจะเดินทางไปด้วยซึ่งทำให้ท่านค่อยคลายห่วง แต่ผู้ใกล้ชิดทุกคนก็สังเกตได้ว่าท่านผู้หญิงรู้สึกว้าเหว่ใจมาก แม้กระนั้นท่านก็มิได้แสดงความปรารถนาที่จะขอร้องทางการแต่ประการใด เพราะท่านเป็นคนเข้มแข็งและมีคติซึ่งเคยสอนบุตรธิดาอยู่เสมอว่า การปฏิบัติการงานฉลองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด บรรพบุรุษของท่านเคยสอนไว้ว่า แม้พ่อแม่กำลังจะตายก็ต้องไป ถ้าตายแล้วก็ให้เอาผ้าคลุมไว้ และต้องไปปฏิบัติราชการก่อน

ท่านผู้หญิงเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สุภาพเรียบร้อยและเมตตาอารี ท่านให้ความรักใคร่เอ็นดูแก่บุตรธิดาอย่างเสมอหน้ากัน แม้แต่หลานหรือผู้ที่ไม่ใช่ญาติ แต่บิดามารดานำมาฝากไว้ ท่านก็รักใคร่ห่วงใยเหมือนลูกหลาน ใครมีทุกข์ร้อนมาหาท่าน ท่านก็ช่วยเหลือตามอัตภาพทุกรายไป คุณธรรมอันนี้ เห็นประจักษ์ผลในเมื่อท่านชราหรือประสบความทุกข์ร้อนเจ็บไข้ เพราะมีลูกหลานญาติมิตรและบริวารมาปวารณาตัวขอรับใช้ท่านในกิจการต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ เพราะท่านได้เคยเป็นที่พึ่งพำนักของเขามา

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นผู้มีใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก นอกจากการทำบุญตามเทศกาลและกาลสมัยต่าง ๆ แล้ว ท่านยังตักบาตรที่บ้านวันละ ๒๐ องค์ไม่เคยขาด และจัดข้าวหม้อแกงหม้อไปถวายพระทั้งวัดทุกเดือนด้วย ท่านอ่านหนังสือธรรมะต่าง ๆ หมดทุกเล่มที่มีอยู่ในครอบครอง เพราะท่านรักการอ่านหนังสือเป็นอย่างยิ่ง นอกจากธรรมะท่านยังอ่านหนังสือพงศาวดารประวัติศาสตร์ วรรณคดี ประเพณี ตลอดจนข่าวสารการเมืองต่าง ๆ และอ่านราชกิจจานุเบกษาเป็นประจำแม้แต่ตำรากฎหมายต่างๆ ท่านก็สนใจ โดยเฉพาะกฎหมายลักษณะผัวเมียและมรดก ท่านมีความรู้ดีมากไม่แพ้นักกฎหมายบางคน สำหรับหนังสือที่ได้รับแจกจากงานต่าง ๆ ท่านก็อ่านจบเล่มภายในเวลา ๒๓ วัน และเก็บใจความมาเล่าให้บุตรีของท่านฟังได้ด้วย เพราะท่านใช้สายตามากในการอ่านหนังสือเช่นนี้ ในยามชราท่านจึงเป็นต้อกระจก และ ไม่สามารถจะอ่านหนังสือด้วยตนเองได้มาเป็นเวลา ๒๓ ปี ท่านแสดงความรำคาญเป็นอย่างมาก เพราะการอ่านหนังสือเป็นความสุขอย่างยิ่งของท่าน ท่านจึงได้พยายามสืบหาจักษุแพทย์ที่ดี ๆ เพื่อจะให้รักษาให้สายตาท่านกลับดีขึ้น จักษุแพทย์แนะนำให้ท่านไปลอกต้อที่โรงพยายาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพนธ์ ๒๕๐๔ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะท่านชรามาก ท่านป่วยหนักอยู่ที่โรงพยาบาลราว ๑๕ วัน เมื่อเห็นว่าไม่มีทางจะรักษาได้ บุตรธิดาจึงพาท่านกลับมาเยียวยาประคับประคองต่อไปที่บ้านได้อีกราว ๑๕ วัน โดยแพทย์หญิงเสริมศรี หลานยายของท่าน กับนายแพทย์กมล สินธวานนท์ ผู้เป็นสามีได้เป็นผู้ช่วย นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธุ์ อย่างดีที่สุด

ในระหว่างที่ท่านป่วยครั้งสุดท้ายนี้ท่านมีสติดีตลอดเวลา ท่านขอบใจลูกหลานและผู้อื่นทุกคนที่ไปเยี่ยม และให้การปฏิบัติรักษาพยาบาลท่านโดยใช้ถ้อยคำสำนวนได้ไพเราะเหมาะสมเป็นที่น่าชื่นใจแก่ทุก ๆ คนอย่างน่าประหลาดที่สุด ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ถึงอนิจกรรมด้วยอาการอันสงบในท่ามกลางธิดาบุตรสะใภ้และหลาน เมื่อเวลา ๑๘.๑๕ น. ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๐๔ ที่บ้านมหิธร ถนนราชวิถี ในวันรุ่งขึ้นได้รับพระราชทานน้ำอาบศพและได้รับพระราชทานโกศโถ พร้อมด้วยฉัตรเบญจา ๖ ตามเกียรติยศท่านผู้หญิงภรรยาเสนาบดี ในการบำเพ็ญกุศลสัปตมวาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จเจ้าฟ้าเพ็ชรรัตน์ราชสุดาโปรดประทานพวงมาลา พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรประธานองคมนตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระราชวงศ์อื่น ๆ องคมนตรีและรัฐมนตรีหลายท่านได้มาแสดงคารวะต่อศพท่าน สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งประทับพักผ่อนพระอิริยาบทอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงพระเมตตาโปรดประทานลายพระหัตถ์ทรงแสดงความเสียพระทัยมายังบุตรีของท่านผู้หญิง และในงานบำเพ็ญกุศลปัญญสมวาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชีนีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลามาวางที่หน้าโกศศพ ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าหาที่สุดมิได้แก่บุตรธิดาของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาตอนหนึ่งว่า ท่านผู้หญิงเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่งผลให้เห็นได้ชัดในวันนั้นโดยที่ศพของท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

เมื่อท่านเจ้าคุณธรรมวราภรณ์ วัดบวรนิเวศฯ แสดงพระธรรมเทศนาในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุสรณ์ศพ ครั้งที่ ๕ ท่านกล่าวว่า การที่ท่านผู้หญิงสามารถตั้งหลักฐานครอบครัวได้เป็นปึกแผ่น และบำรุงเลี้ยงบุตรธิดาจนสามารถประกอบการงานได้อย่างดีนั้น ก็เพราะท่านผู้หญิงเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสัทธา ๑ ธรรมะ ๑ สัจจะ ๑ และปัญญา ๑ การที่ท่านกล่าวเช่นนี้ ย่อมเป็นความจริงโดยถ่องแท้ เพราะท่านผู้หญิงเป็นผู้มีปัญญา ท่านจึงมองเห็นการไกลและพยายามให้การศึกษาแก่บุตรหลานอย่างดีที่สุดที่สามารถจะทำได้ ขณะที่ถึงอนิจกรรมหลานยายและหลานย่าของท่านกำลังศึกษาวิชาอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาถึง ๖ คน ในจำนวนนี้หลานย่าคนหนึ่ง คือ ปรมาภรณ์ ได้ไปศึกษาวิชาการบัญชีต่อที่อเมริกาโดยทุนส่วนตัวของท่านเอง และหลานย่าอีกคนหนึ่งคือ วินิตา มีความสามารถสอบชิงทุนฟิวริฟอยได้ไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่อเมริกา ท่านผู้หญิงได้เคยรำพึงถึงบุตรทั้ง ๑๒ คนของท่าน และแสดงความพอใจที่บุตรที่อยู่รอดจนเจริญวัยสามารถสร้างตัวเองได้เป็นหลักฐานคือ
๑. จักร ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
๒. ปาณี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายจ่ายวด และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้รับพระราชทานเกียรติยศศพเลื่อนขึ้นเสมอชั้นหัวหมื่น
๓. ศรี ได้เป็นคุณหญิงไชยยศสมบัติ
๔. ศีล ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
๕. วิสุทธิ ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าสืบสกุลท่านบิดา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดคือ ปถมาภรณ์ช้างเผือก ถึงอนิจกรรมเมื่ออายุ ๕๕ ปี
๖. ดุษฎีมาลา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดในขณะนี้คือ ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน
๗. วิจิตราภรณ์ เป็นบุตรชายคนเดียวที่ได้อุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๔๕ ปี
๘. ภูษณาภรณ์ ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปีเศษ ขณะนี้เป็นอัครราชทูตประจำสถานทูตไทยในวอชิงตัน
๙. นิภาภรณ์ ได้ทำการสมรสกับ ศาสตราจารย์จรูญ วิมลศิริ คณบดีคณะบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๐. มัณฑนาภรณ์ ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
๑๑. ดารา เป็นลูกหญิงคนแรกของสกุลไกรฤกษ์ที่ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต และอนุปริญญาวิชาครูพิเศษมัธยม
๑๒. รัตนาภรณ์ ได้อนุปริญญาวิชาครูพิเศษมัธยมและประกาศนียบัตร (Senior Cambridge) School Certificate ธิดาผู้นี้ท่านผู้หญิงเคยเป็นห่วงเพราะเป็นบุตรสุดท้อง แต่ภายหลังท่านก็หายห่วง เพราะได้แลเห็นว่ามีความสามารถตั้งครอบครัวได้ดีมีหลักฐานมั่นคง

เนื่องจากท่านผู้หญิงได้เคยทราบถึงความยุ่งยาก อันเกิดขึ้นจากการไม่ทำพินัยกรรมของผู้มรณะ หรือพินัยกรรมหายอยู่เนือง ๆ ท่านมีความเป็นห่วงว่าบุตรธิดาของท่านจะได้รับความยุ่งยากภายหลัง ท่านจึงพยายามป้องกันความยุ่งยากนั้นโดยได้ทำพินัยกรรมไว้อย่างเรียบร้อย ระบุให้แบ่งสมบัติให้ลูกและหลานทุกคนอย่างใช้ความคิดถี่ถ้วนและยุติธรรม ทั้งได้สั่งให้กันเงินจำนวนหนึ่งไว้ทำศพของท่านด้วย ทั้งนี้เป็นการสมดังคำเทศนาที่ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดราชบพิธแสดงในวันที่เนติบัณฑิตสภามาบำเพ็ญกุศลทักษิณานุสรณ์ให้แก่ท่านผู้หญิงว่า ท่านผู้หญิงเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและรักความยุติธรรม จึงสละสมบัติส่วนตัวของท่านให้แก่เนติบัณฑิตสภาเพื่อเป็นการส่งเสริมสถาบันซึ่งผลิตผู้รักษาความยุติธรรม

ขณะที่ถึงอนิจกรรมท่านผู้หญิงมีอายุได้ ๘๔ ปี ๓ เดือน มีบุตรเหลืออยู่ ๑ คน ธิดา ๔ คน มีหลานยาย ๑๐ คน หลานย่า ๕ คน และมีเหลน ๖ คน

ตั้งแต่วาระแรกที่ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ถึงอนิจกรรม มีบรรดาญาติผู้ใหญ่ผู้น้อยตลอดจนมิตรสหายของบุตรธิดา และผู้ที่มีความคุ้นเคยหรือเคารพนับถือในตัวเท่า แสดงความอาลัยในท่านด้วยประการต่าง ๆ เช่น นำดอกไม้มาแสดงคารวะต่อศพหรือบำเพ็ญกุศลที่หน้าศพของท่านตามศรัทธาของตน บางท่านส่งหนังสือหรือโทรเลขแสดงความเสียใจ และบางท่านก็จัดส่งของมาช่วยในการทำบุญและการเลี้ยงดู ซึ่งบุตรธิดาของท่านผู้หญิงต่างรู้สึกซาบซึ้งในเมตตาคุณเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าถ้าท่านผู้หญิงสามารถจะทราบได้ด้วยญาณใด ท่านก็คงจะขอบคุณและอำนวยพรแด่ท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน

เมื่อถึงคราวที่จะขอรับพระราชทานเพลิงเผาศพท่านผู้หญิงภายหลังการบำเพ็ญกุศลศตมวาร บุตรีของท่านได้กราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการ เชิญพระราชกระแสตอบมาว่า จะเสด็จพระราชดำเนินในการนี้ ทั้งนี้ย่อมยังความปลื้มปิติเป็นล้นเกล้าฯ แก่บุตรธิดาของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ถ้าแม้ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร สามารถทราบเกล้าทราบกระหม่อมถึงพระมหากรุณาธิคุณทั้งนี้ได้ด้วยญาณวิถีทางใด ก็คงจะชื่นชมโสมนัสอย่างหาที่เปรียบมิได้ และคงจะเป็นผู้นำบุตรธิดาทั้งหลายให้ตั้งสัตยาธิษฐานน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เช่นที่ท่านได้เคยกระทำอยู่ทุกค่ำเช้าเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ อันเป็นที่สักการะสูงสุดของมวลชนชาวไทย ได้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นฉัตรแก้วอันไพศาลกั้นเกศพสกนิกรตลอดกาล.

ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
Klip Mahithon (5)
Klip Mahithon (5)