หน้า:กฎบัตรสหประชาชาติ.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

๒. ภาคีแห่งสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่าใดๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ตามบทบัญญัติในวรรคหนึ่งแห่งมาตรานี้ ไม่อาจยกเอาสนธิสญญาหรือความตกลงนั้นๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใดๆ ของสหประชาชาติ

มาตรา ๑๐๓

ในกรณีแห่งการขัดแย้งระหว่างข้อผูกพันของสมาชิกสหประชาชาติตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันและตามข้อผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศอื่นใด ข้อผูกพันตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันจักต้องใช้บังคับ

มาตรา ๑๐๔

องค์การจักได้รับประโยชน์ในความสามารถตามกฎหมายในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศ ขององค์การเท่าที่จําเป็นเพื่อการบริหารหน้าที่และการยังให้บรรลุผลสําเร็จในความมุ่งหมายขององค์การ

มาตรา ๑๐๕

๑. องค์การจักได้รับประโยชน์ในเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การเท่าที่จำเป็น เพื่อยังให้บรรลุผลสําเร็จในความมุ่งหมายขององค์การ

๒. ผู้แทนของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ขององค์การจักได้รับประโยชน์ในเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในทํานองเดียวกันเท่าที่จําเป็นสําหรับการบริหารหน้าที่เกี่ยวกับองค์การโดยอิสระ

๓. สมัชชาอาจทําคําแนะนําเพื่อกําหนดรายละเอียดในการนําเอาวรรค ๑ และ ๒ ของมาตรานี้มาใช้บังคับ หรืออาจเสนออนุสัญญาต่อสมาชิกของสหประชาชาติเพื่อความมุ่งหมายนี้

หมวดที่ ๑๗
ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
มาตรา ๑๐๖

ในระหว่างที่ยังมิได้ใช้บังคับความตกลงพิเศษดังที่อ้างถึงในมาตรา ๔๓ ซึ่งตามความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคงจะช่วยให้ตนได้เริ่มบริหารตามความรับผิดชอบของตนในมาตรา ๔๒ ภาคีแห่งปฏิญญา ๔ ประชาชาติซึ่งได้ลงนามกัน ณ กรุงมอสโคว์ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ และฝรั่งเศส จะปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน และเมื่อโอกาสเรียกร้องกับสมาชิกอื่นของสหประชาชาติ ตามบทบัญญัติแห่งวรรค ๕ ของปฏิญญานั้น โดยมุ่งที่จะดําเนินการร่วมกันในนามขององค์การเช่นที่อาจจําเป็นเพื่อความมุ่งหมายที่จะธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

มาตรา ๑๐๗

ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จักทําให้ไม่สมบูรณ์ หรือลบล้างการดําเนินการในความเกี่ยวพันกับรัฐใดๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เป็นศัตรูของรัฐใดๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลที่รับผิดชอบสําหรับการดําเนินการเช่นว่านั้นได้กระทําไป หรือได้ให้อํานาจกระทําไปโดยผลแห่งสงครามนั้น

หมวดที่ ๑๘
การแก้ไข
มาตรา ๑๐๘