ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:กอ ๑๒๗ (๒๔๕๑).pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๒๑
วันที่ ๑ มิถุนายน ๑๒๗
ราชกิจจานุเบกษา

ได้กระทำเกินไปกว่าสมควรแก่เหตุก็ดี หรือเกินไปกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นควรมีโทษ แต่ศาลจะลดหย่อนอาญาที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดเช่นนั้นให้เบาลงก็ได้

มาตรา ๕๔

ผู้ใดกระทำความผิดฐานประทุษฐร้ายต่อทรัพย์สมบัติตามที่กล่าวไว้ตั้งแต่มาตรา ๒๘๘ จนถึงมาตรา ๒๙๖ ก็ดี ตั้งแต่มาตรา ๓๐๔ จนถึงมาตรา ๓๒๑ ก็ดี ตั้งแต่มาตรา ๓๒๔ จนถึงมาตรา ๓๒๙ ก็ดี แลในมาตรา ๓๔๐ นั้นก็ดี ถ้ากระทำแก่ทรัพย์ญาติที่สืบสายโลหิตนับโดยตรงขึ้นไป คือ พ่อ, แม่, ปู่, ย่า, ตา, ยาย, ทวด ของมันเองก็ดี นับโดยตรงลงมา คือ ลูก, หลาน, เหลน, ลื่อ ของมันเองก็ดี ท่านว่า มันควรรับอาญาที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดเช่นนั้นแต่กึ่งหนึ่ง

ถ้าแลความเช่นว่ามานี้เปนความผิดที่สามีกระทำต่อภรรยา หรือภรรยากระทำต่อสามี ท่านว่า ไม่มีโทษ

มาตรา ๕๕

เมื่อผู้ใดถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เปนธรรม แลมันบันดาลโทษะขึ้นในขณะนั้น ถ้าแลมันแลกระทำผิดในขณะนั้นไซ้ ท่านให้ลงอาญาตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นแก่มันเพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๕๖

ถ้าเด็กอายุยังไม่ถึงเจ็ดขวบกระทำความผิด ท่านว่า มันยังมิรู้ผิดแลชอบ อย่าให้ลงอาญาแก่มันเลย

มาตรา ๕๗

ถ้าเด็กอายุกว่าเจ็ดขวบขึ้นไป แต่ยังไม่ถึงสิบสี่ขวบ กระทำความผิด ท่านให้ศาลมีอำนาจกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๓ ประการที่จะว่าต่อไปนี้ คือ

(๑)ถ้าเห็นว่า มันยังไม่รู้ผิดชอบ จะให้ปล่อยตัวไปเสียก็ได้ หรือถ้าศาลเห็นว่า มันพอจะเข้าใจความผิดชอบได้อยู่บ้าง ให้ศาลว่ากล่าวให้มันรู้สึกตัว แล้วภาคทัณฑ์ปล่อยตัวไปก็ได้ ฉนี้ ประการหนึ่ง

(๒)มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป แลบังคับเรียกประกันทานบนหรือเรียกแต่ทานบนแก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กนั้นให้สัญญาว่า จะระวังเด็กนั้นให้ประพฤติตนรักษาความเรียบร้อยตลอดเวลาที่ศาลจะกำหนดให้ไม่เกินกว่าสามปี ถ้าผิดทานบน ให้ศาลปรับเปนจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ในทานบนไม่เกินร้อยบาทขึ้นไป ฉนี้ ประการหนึ่ง

(๓)สั่งให้ส่งตัวเด็กนั้นไปไว้ในโรงเรียนดัดสันดานตลอดเวลาที่ศาลจะกำหนดให้ แต่อย่าให้เกินไปกว่าเวลาที่เด็กนั้นมีอายุครบสิบแปดขวบ ประการหนึ่ง