หน้า:กอ ๑๒๗ (๒๔๕๑).pdf/72

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
วันที่ ๑ มิถุนายน ๑๒๗
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๗๗
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๑๓

การฟ้องเอาโทษแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายหมวดนี้นั้น ท่านให้ถือว่า ต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายมาร้องทุกข์ จึงให้เจ้าพนักงานเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าว


มาตรา ๓๑๔

ผู้ใดได้รับมอบหมายให้เปนผู้ดูแลรักษาหรือเก็บทรัพย์หรือจัดการทรัพย์อย่างใดใดของผู้อื่น หรือเปนทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเปนเจ้าทรัพย์อยู่ด้วยก็ดี หรือได้รับมอบหมายทรัพย์ไว้เพื่อให้มันใช้โดยเฉภาะในการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งชอบด้วยกฎหมาย หรอในการที่ผู้มอบทรัพย์นั้นได้กำหนดไว้ให้ใช้ก็ดี ถ้าแลมันคิดทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไว้ใช้เอง หรือไว้เปนอาณาประโยชน์ของมันเสียเอง หรือมันเอาไปใช้ให้เปนอาณาประโยชน์ของบุคคลผู้อื่น ท่านว่า มันกระทำการยักยอกอันต้องอาญา มีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา ๓๑๕

ผู้ใดได้รับมอบลายมือชื่อของผู้อื่นไว้เพื่อกิจอย่างใดที่กฎหมายบังคับก็ดี หรือกิจอย่างใดที่ผู้มอบเขาสั่งให้ทำก็ดี ถ้าแลมันบังอาจเอาลายมือชื่อเขาไปใช้ในกิจอย่างอื่นที่อาจจะเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้นั้นไซ้ ท่านว่า มันมีความผิดฐานยักยอกอันต้องอาญา

ถ้าหากว่าเขามิได้ลงลายมือมอบไว้แก่มัน แลมันไปกระทำผิดเช่นว่ามานั้น ท่านให้ลงโทษมันฐานปลอมหนังสือ

มาตรา ๓๑๖

ผู้ใดได้รับความมอบหมายให้เปนผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์อย่างใดใดของมันเองซึ่งต้องอายัดตามกฎหมาย ถ้าแลมันคิดทุจริตปิดบังซ่อนเร้นหรือจำหน่ายหรือเอาทรัพย์นั้นไปเสียให้พ้นก็ดี ท่านว่า มันมีความผิดฐานยักยอกอันต้องอาญา

มาตรา ๓๑๗

ผู้ใดมีเจตนาทุจริต แลยักยอกทรัพย์ซึ่งเขาเอามาส่งไว้แก่มันโดยเขาพลั้งเผลอผิดไปประการใด ท่านว่า มันมีความผิดฐานยักยอกอันต้องอาญา แต่ให้ลงโทษแก่มันตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดเช่นนั้นแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๓๑๘

ผู้ใดเก็บของตกของหายได้ก็ดี หรือมันได้ทรัพย์แผ่นดินก็ดี ถ้าแลมันยักยอกเอาทรัพย์นั้นไว้ ไม่กระทำตามกฎหมายที่บังคับไว้สำหรับการนั้นไซ้ ท่านว่า มันต้องรวางโทษกึ่งอัตราฐานยักยอกอันต้องอาญา