หน้า:กอ ๑๒๗ (๒๔๕๑).pdf/73

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
วันที่ ๑ มิถุนายน ๑๒๗
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๗๘
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๑๙

ผู้ใดได้รับมอบหมายทรัพย์ไว้ในเหตุเหล่านี้ คือ

(๑)โดยฐานมันเปนเสมียนหรือเปนคนใช้ของผู้ที่มอบทรัพย์นั้นก็ดี

(๒)โดยฐานมันเปนผู้จัดการทรัพย์สมบัติของผู้อื่นตามคำสั่งของศาลหรือตามพลการของมันเองก็ดี

(๓)โดยฐานที่มันมีหน้าที่ หรือด้วยศิลปสาตรของมัน หรือในการค้าขายของมัน หรือด้วยกิจธุระของมันก็ดี

ถ้าแลมันบังอาจยักยอกทรัพย์ที่เขามอบหมายไว้กับมันนั้นด้วยประการใดใดอันเปนฐานยักยอกอันต้องอาญาไซ้ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงห้าปี แลให้ปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา ๓๒๐

การฟ้องเอาโทษแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายหมวดนี้นั้น ถ้าเปนฐานกระทำผิดนอกจากที่ว่าไว้ในข้อ ๒ แลข้อ ๓ แห่งมาตรา ๓๑๙ นั้นแล้ว ท่านให้ถือว่า ต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายมาร้องทุกข์ จึงให้เจ้าพนักงานเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าว


มาตรา ๓๒๑

ผู้ใดรู้อยู่ว่า ทรัพย์อย่างใดใดเปนของได้มาโดยการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ถ้าแลมันกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ

(๑)มันซื้อ หรือรับแลกเปลี่ยน หรือรับจำนำทรัพย์นั้นไว้ก็ดี

(๒)มันรับทรัพย์นั้นไว้เปนของกำนันหรือเปนของมอบฝาก หรือรับไว้ด้วยประการใดใดก็ดี

(๓)มันซ่อนเร้น หรือช่วยจำหน่าย หรือช่วยพาเอาทรัพย์นั้นไปเสียให้พ้นก็ดี

ท่านว่า มันมีความผิดฐานรับของโจร ถ้าแลมันมิได้กระทำความผิดในการที่ได้ทรัพย์นั้นมา หรือว่าไม่ได้มีความผิดต้องด้วยลักษณในมาตรา ๑๘๒ ด้วยแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไว้ไม่เกินกว่าห้าปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา ๓๒๒

ผู้ใดรับของโจรโดยมันรู้อยู่แล้วว่า เปนของได้มาโดยฐานชิงทรัพย์ก็ดี หรือฐานปล้นทรัพย์ก็ดี ท่านว่า มันมีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี แลให้ปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงห้าพันบาทด้วยอิกโสดหนึ่ง