การมีสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยามอาจแบ่งออกได้เป็นหกยุค คือ
ยุคที่ ๑ เริ่มมีสภาพนอกอาณาเขตต์
ยุคที่ ๒ คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖ ถึง ๒๔๔๙ (คริศตศักราช ๑๘๓๔ จนถึงคริศตศักราช ๑๙๐๗)
ยุคที่ ๓ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ ถึง ๒๔๖๓ (คริศตศักราช ๑๙๐๗ ถึงคริศตศักราช ๑๙๓๙)
ยุคที่ ๔ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึง ๑๙๒๖)
ยุคที่ ๕ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ถึง ๒๔๗๗
ยุคที่ ๖ คือ สมัยปัจจุบัน
ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า สภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยามมีขึ้นภายหลังประเทศอื่น ๆ ในบูรพทิศ อาทิจีน, ญี่ปุ่น, และตุรกี ปัญหาจึงมีว่า ก็เหตุอันใดเล่าที่ทำให้กรุงสยามต้องยอมให้สภาพนอกอาณาเขตต์หรือสิทธิในการตั้งศาลกงสุลแก่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ในสมัยนั้นพ่อค้ายไทยก็ดี เทศก็ดี ที่มีสำนักอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ย่อมได้รับผลปฏิบัติเสมอทั่วกันหมด กล่าวคือ คนไทยมีสิทธิ์หรือน่าที่อย่างใด คนต่างด้าวก็มีเช่นเดียวกัน ทั้งหลักกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในเวลานั้นก็ดำเนินตามหลักความยุตติธรรมทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อังกฤษและอเมริกันย่อมอนุญาตให้คนของเขาขึ้นศาลสยามตามสัญญาปี ค.ศ. ๑๘๒๖ และ ๑๘๓๓ ที่กล่าวมาแล้ว ตรงกันข้ามกับปรากฎจนทุกวันนี้ว่า เราเอาใจใส่กับเขาเพราะเห็นว่าเขามีฐานะเป็น guest ยิ่งกว่าคนไทยเสียอีก แต่ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้เมื่อได้รับผลปฏิบัติในประเทศต่าง ๆ มีจีนเป็นต้นเป็นพิเศษออกไปอีก ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องการสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพิ่มขึ้นบ้าง