ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/35

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๑

ใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องสืบมฤดกและพินัยกรรม์แล้ว

ประเภทที่ ๔ พลเมืองฝรั่งเศสตลอดทั่วพระราชอาณาจักร์สยาม และชาวเอเซียในบังคับและอารักขาฝรั่งเศสที่จดทะเบียนก่อนวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ หรือพวกที่อาศัยอยู่ในมณฑลอุดรและอิสาณ แม้จะได้จดทะเบียนที่สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงสยามเมื่อวันเดือนปีใด ๆ ก็ดี ต้องอยู่ใต้อำนาจศาลสยาม แต่เรียกชื่อพิเศษว่า “ศาลต่างประเทศ”

ศาลเหล่านี้เป็นศาลต่างประเทศ

ตามข้อบังคับสำหรับศาลต่างประเทศซึ่งตั้งขึ้นตามสัญญาทางพระราชไมตรีระวางกรุงสยามกับประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕[1] ข้อ ๑๑ กล่าวว่า ศาลซึ่งมีนามต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นศาลต่างประเทศ คือ

(๑)ในมณฑลกรุงเทพฯ นั้น คือ ศาลคดีต่างประเทศ ให้เรียกว่าศาลต่างประเทศในกรุงเทพฯ กับศาลโปริสภาที่ ๑ นับว่าเป็นสาขาของศาลต่างประเทศกรุงเทพฯ ด้วย

(๒)ในมณฑลจันทบุรี นครราชสิมา อิสาณ และพายัพ ให้ถือศาลมณฑลเป็นศาลต่างประเทศ

(๓)ให้ถือศาลจังหวัดที่จังหวัดน่านเป็นศาลต่างประเทศ

แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงยุบมณฑลลงบ้าง ศาลต่างประเทศซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีเหล่านี้จึงได้แก่ศาลดังต่อไปนี้

(๑)ศาลต่างประเทศกรุงเทพฯ มีอำนาจครอบงำทั่วไป เว้นแต่มณฑลที่มีศาลต่างประเทศประจำอยู่

(๒)ศาลโปริสภาแผนกต่างประเทศ มีอำนาจครอบงำตลอดเขตต์ของศาลโปรีสภาทั้งสามศาล

(๓)ศาลต่างประเทศมณฑลจันทบุรี มีอำนาจครอบงำตลอดเขตต์มณฑลนั้น


  1. ดูกฎหมายรัชชกาลที่ ๕ ร.ศ. ๑๒๖ หน้า ๖๖, ๖๗