หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๓-๓๐ (กลาง).pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๘ –

สำคัญที่มีขึ้นเพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือจำกัดการใช้อำนาจรัฐ เพื่อมิให้ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนตามอำเภอใจ การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนตามหลักการดังกล่าวนั้น จะต้องมีความเหมาะสม มีความจำเป็น และได้สัดส่วนหรือมีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับสิทธิหรือเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น

แม้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับจะมีวัตถุประสงค์หรือความจำเป็นให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่เมื่อเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดจึงต้องพิจารณาว่า มีความเหมาะสม เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณีด้วย แม้การกำหนดโทษทางอาญาดังกล่าวนั้นจะเป็นมาตรการที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการให้บุคคลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประสงค์ให้มารายงานตัวโดยการระบุชื่อเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอันเป็นประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อเทียบเคียงกับกรณีการนำตัวบุคคลที่ยังมิได้มีการกระทำอันเป็นความผิด เพียงแต่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะก่อให้เกิดภัยอันตรายหรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น มีการกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๖ แทนการกำหนดโทษทางอาญา นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงการไม่มารายงานตัวอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ให้ต้องรับโทษทางอาญา กับกรณีบุคคลกระทำความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่น การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับดังกล่าวยังมิใช่เป็นการกระทำอันมีผลร้ายแรงหรือกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองถึงขนาดต้องกำหนดโทษทางอาญาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายอื่นซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสมแก่การกระทำฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว ซึ่งรัฐชอบที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบังคับการให้ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ