หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑๖
ราชกิจจานุเบกษา

ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน
ของ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕
 
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ความเห็น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยมิให้ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด โดยวางข้อสันนิษฐานในคดีอาญาไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เรียกกันว่า ข้อสันนิษฐานความบริสุทธิ์ (presumption of innocence) ของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งเป็นหลักการที่นานาประเทศล้วนยึดถือ ทั้งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่มีการระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ (๑) ว่า "ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี" และในข้อ ๑๔.๒ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – iccpr) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ว่า "บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด"

ส่วนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและศีลธรรมซึ่งผู้สร้างสรรค์พึงได้รับจากผลงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น จึงมีการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์