ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:จมห ประพาสต้น - ๒๔๗๗.pdf/106

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๘๒

ย่านของวัด สิ่งที่ก่อสร้างภายในเป็นแลงเป็นพื้นเห็นจะซ่อมแซมด้วยอิฐภายหลัง หย่อมต้นเป็นฐานทักษิณอันเดียวยาว จะเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมหรือพระปรางค์อยู่ท้าย กลางเป็นมณฑป ตอนข้างหน้าเป็นวิหารใหญ่ ลักษณเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่กรุงเก่า เห็นจะเอาอย่างไปจากนี้ เหมือนกันกับหมู่พุทธปรางค์ (กรุงเทพฯ) เอาอย่างไปจากวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ต่อมามีระยะกันถึงวิหารใหญ่พระเจดีย์กลมลอมฟางอยู่หลังวิหารอีกหน่อยหนึ่ง หย่อมนี้เห็นจะเป็นชั้นลังกา แต่พระเจดีย์นั้นทำงามมาก ชั้นล่างเป็นซุ้มคูหารอบ มีสิงห์ยืนในคูหา ถัดขึ้นไปอีกชั้น ๑ เป็นคูหาไว้พระพุทธรูปขนาดเดียวกับพระโบโรบุโด ซึ่งเชิญมาไว้ในวัด​พระแก้ว แต่คเนยังไม่ได้ว่าจะเป็นท่าต่าง ๆ หรือไม่ ถัดขึ้นไปจึงถึงองค์พระเจดีย์บัวคว่ำบัวหงายที่รับปากรฆังเป็นบัวหลังเบี้ยสลับกลีบกันงามเข้าทีมาก บัลลังก์มีซุ้มยื่นออกมา ๔ ทิศ ไว้พระ ๔ ปาง ไม่เห็นมีเสารับยอดซึ่งกรมหลวงนริศร์สงสัยว่าจะเป็นทวย ถัดขึ้นไปปล้องไฉนแต่ยอดด้วน ประมาณว่าจะสูงราว ๑๕ วา ต่อนั้นไปเป็นวิหารโถงมีกำแพงแก้ว กำแพงก่อด้วยแลงแต่ปั้นปูนเป็นรูปรามเกียรติ์ ทำให้เห็นชัดได้ว่าเครื่องแต่งตัวอย่างโบราณนั้นไม่ได้นุ่งผ้าแน่แล้ว สวมกางเกง ๒ ชั้น ๆ หนึ่งยาวหุ้มแข้งชั้นนอกเขินเพียงเข่า แล้วคาดผ้าปล่อยชายยาวลงมาทั้งสองชาย จึงสวมเสื้ออย่างน้อยซึ่งมีชายเสื้อทับผ้าคาด แล้วสวมเสื้อแขนสั้นทับอีกชั้น ๑ ในระหว่างชายเสื้อกับเสื้อแขนสั้นคาดเข็มขัด แต่หมวกจะเป็นอย่างไรพิจารณายังไม่เห็นชัดเพราะชำรุดมากเวลาไม่พอ ผู้หญิงก็ดูเหมือนจะนุ่งผ้า ๒ ผืนคล้ายเทวรูปแต่ยัง