ครั้งนั้นพระฤๅษีจึงได้กระทำพิธีสร้างพระพิมพ์เหล่านี้ถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นการอุปการในพระพุทธศาสนา
ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์บัญจุพระบรมธาตุแลพระพิมพ์เหล่านี้ เดิมณปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ (นับโดยลำดับปีมาถึงศกนี้ได้ ๕๘ ปี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดรฆัง กรุงเทพฯ ขึ้นมาเยี่ยมญาติณเมืองกำแพงเพชร์นี้ ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ ที่ประดิษฐานอยู่ณพระอุโบสถวัดเสด็จได้ความว่า มีเจดีย์โบราณบัญจุพระบรมธาตุอยู่น้ำปิงตะวันตกตรงหน้าเมืองเก่าข้าม ๓ องค์ ขณะนั้นพระยากำแพง (น้อย) ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดแลเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางแลปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดียที่ค้นพบเดิมมี ๓ องค์ ๆ ใหญ่ซึ่งบัญจุพระบรมธาตุอยู่กลาง ชำรุดบ้างทั้ง ๓ องค์
ภายหลังพระยากำแพง (อ่อง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง แซรพอเกรี่ยง (ที่ราษฎรเรียกว่าพญาตะก่า) ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์สามองค์นี้ทำใหม่รวมเป็นองค์เดียว
ขณะที่รื้อพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น ได้พบตรุพระพุทธรูปพิมพ์ แลลานเงินจารึกอักษรขอมกล่าวตำนานการสร้างพระพิมพ์แลลักษณะการสักการบูชาด้วยประการต่าง ๆ พระพิมพ์ชนิดนี้มีผู้ขุดค้นได้ที่เมืองสรรคบุรีครั้งหนึ่ง แต่หามีแผ่นลานเงินไม่ แผ่นลานเงินตำนานนี้ กล่าวว่ามีฉเพาะแต่ในพระเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งน้ำปิงตะวันตกแห่งเดียว มีสำเนาที่ผู้อื่นเขียนไว้ดังนี้